วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จะทำอะไรก็ได้ ขอให้ทำจริง ๆ เถอะ

พวกเราคงเคยได้ยินอาชีพต่าง ๆ ที่ไม่น่าจะเอามาเป็นอาชีพได้กันมาเยอะ วันนี้เราเจออีกอาชีพหนึ่งในสกู๊ปหน้า ๑ ไทยรัฐวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๕๑ อ่านแล้วอมยิ้มแล้วก็ชื่นชมไปด้วย เป็นเรื่องของเจ๊จู วัย ๕๔ ปี ที่มีอาชีพรับถอนผมหงอก :)

ตามที่ไทยรัฐเขียน เจ๊จูชอบถอนผมหงอกให้คนรอบข้างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาเห็นคนมีผมหงอกจะรู้สึกคันไม้คันมืออยากถอน ตอนที่เจ๊จูขึ้นรถไฟฟ้าแล้วสังเกตเห็นพนักงานออฟฟิศอายุ ๓๐ กว่า ๆ มีผมหงอกก่อนวัยกันเยอะแยะ เลยคิดจะถอนผมหงอกเป็นอาชีพ

ทั้งที่น้องสาวทักว่าไม่น่าจะเป็นอาชีพได้ แต่เจ๊จูก็อยากลอง ตัดสินใจเช่าพื้นที่ ๔ ตร.ม.ที่ชั้นสองของสหกรณ์พระนคร ซอยอารีย์ ค่าเช่าเดือนละ ๓ พันบาท เปิดกิจการถอนผมหงอก คิดค่าแรงชั่วโมงละ ๘๐ บาท ๒ ชั่วโมง ๑๕๐ บาท

ช่วง ๓ เดือนแรกมีลูกค้าแค่วันละรายสองราย หักค่ากินค่ารถค่าเช่าที่แล้วแทบไม่เหลืออะไร เกือบถอดใจไปเหมือนกัน แต่พอเข้าเดือนที่ ๔ ก็เริ่มมีลูกค้าบอกกันปากต่อปาก ตอนนี้ผ่านมา ๑ ปี เจ๊จูมีลูกค้าเฉลี่ยวันละ ๓-๔ ราย ส่วนใหญ่จะใช้บริการ ๒ ชั่วโมงขึ้นไป บางคนเหมา ๔ ชั่วโมงรวด กิจการดีขนาดต้องมีการโทร.จองคิวเลยทีเดียว

เราลองคิดคร่าว ๆ ตามที่ไทยรัฐเขียน เจ๊จูมีรายรับวันละ ๔๕๐-๖๐๐ บาท (ทำงาน ๘ ชั่วโมง) ตกเดือนละ ๑๓,๕๐๐-๑๘,๐๐๐ บาท หักค่าเช่าแล้วก็ยังเหลือ ๑๐,๕๐๐- ๑๕,๐๐๐ บาท รายได้เยอะกว่าพนักงานออฟฟิศบางคนซะอีกนะ

คนเราถ้าทำอะไรให้จริง ๆ แล้ว มันก็เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ ที่สำคัญต้องมีความตั้งใจจริง ถ้าเจ๊จูเห็นว่า ๓ เดือนแล้วมีรายรับไม่พอค่าใช้จ่าย ถอดใจเลิกไปซะก่อน ก็คงไม่ได้มีอาชีพที่ได้เป็นนายของตัวเองได้แบบนี้ (แถมเป็นอาชีพที่ถูกกับนิสัยของตัวเองอีกตะหาก น่าอิจฉาไหมล่ะนั่น) :)

ที่เราอ่านแล้วอมยิ้มก็เพราะว่า เจ๊จูบอกว่าลูกค้ามีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปลาย ๆ ไปถึง ๔๐ กว่า ๆ แต่ที่เยอะที่สุดคือ อายุ ๓๐ ต้น ๆ พวกที่อายุเยอะ ๆ วัยเกษียณไปแล้วส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นลูกค้า เพราะคิดว่าตัวเองแก่แล้วเลยปล่อยผมหงอกเลยตามเลย

เวลาเจ๊จูเจอพวกที่อายุยังไม่มากแต่มีผมขาวเต็มหัว พอถามว่าทำอาชีพอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นพวกทำงานไอที นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ใช้ความคิดเยอะ เป็นพวกเครียดง่าย เราไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลเรื่องอาชีพของเจ๊จูจะถูกต้อง แต่เรื่องใช้คอมกับความเครียดน่าจะจริง เพราะคนรอบ ๆ ตัวเรา รวมทั้งตัวเราเอง ตอนนี้ก็ผมหงอกตรึมเลยเหมือนกัน

วันก่อนยังสงสัยอยู่ว่าตกลงสมัยนี้คนอายุ ๓๐ กว่า ๆ นี่ถึงวัยผมหงอกแล้วเหรอ ตกลงที่เราบอกว่าเด็กสมัยนี้โตไว ผู้ใหญ่สมัยนี้ก็แก่ไวด้วยเหมือนกันเหรอเนี่ย :P

ปล. เจ๊จูบอกว่า ถอนผมหงอก ดีกว่าย้อมผม เพราะย้อมผมดีให้ดียังไงก็ยังจะเห็นสีขาว ๆ ตรงโคนผม สู้ถอนทิ้งทั้งเส้นไม่ได้ เราดูรูปเจ๊จูวัย ๕๔ ที่ลงในไทยรัฐ ดูผมดำดี ไม่มีหงอก ไม่รู้ว่าเจ๊จูให้ใครถอนผมหงอกให้ หรือว่าย้อมผมกันแน่ :D

ปล. ๒ - รูปทั้ง ๒ รูป เอามาจากเว็บไซต์ไทยรัฐ

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ออทิสติก

เรื่องออทิสติกนี่ เมื่อประมาณสี่ห้าปีที่แล้ว** เป็นเรื่องที่มีให้อ่านให้รู้กันค่อนข้างเยอะ ในเมืองไทยมีเด็กที่เป็นออทิสติกเขียนหนังสือออกมาขายด้วย ถ้าจำไม่ผิดน้องเขาชื่อ นัฐ เราไม่ได้อ่านหนังสือที่เล่มนี้ แต่เคยได้อ่านเรื่องออทิสติกจากบทความในไทม์ เขาบอกลักษณะของคนที่เป็นออทิสติกว่า เป็นคนที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของคนรอบข้างที่แสดงออกทางสีหน้าหรือน้ำเสียงได้ เช่น มีคนออทิสติกคนหนึ่งอายุสามสิบกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ บอกว่า เขาเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้เองว่า เวลาที่คนนิ่วหน้า หมายความว่าคนนั้นรู้สึกไม่พอใจ (รู้เพราะได้อ่านจากหนังสือ)

นอกจากนี้คนที่เป็นออทิสติกจะไม่ชอบการสัมผัสกอดรัด เพราะรู้สึกเหมือนโดนบุกรุกความเป็นส่วนตัว เด็กเป็นออทิสติกจะกรีดร้องโวยวายเวลามีคนมากอดรัดหรือสัมผัส น่าสงสารพ่อแม่ของเด็กออทิสติกที่ไม่สามารถกอดลูกตัวเองได้ เพราะการกอดคือการทำร้ายจิตใจลูกตัวเอง

คนเป็นออติสติกไม่สามารถจินตนาการเป็นตัวเองเป็นคนอื่นหรือมองภาพจากมุมมองของคนอื่นได้ นี่เป็นสาเหตุต่อเนื่องไปว่าคนเป็นออทิสติกจะโกหกไม่เป็น เพราะถ้าเขารู้เห็นอะไร เขาจะคิดว่าคนอื่นก็ต้องรู้เห็นเหมือนเขาด้วยเช่นกัน

และเช่นเดียวกันกับดิสเล็กสิก ออทิสติกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา มีเรื่องซับซ้อนทางคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, หรือศิลปะมากมายที่คนเป็นออทิสติกเข้าใจได้ แต่เขาไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น มีเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ของคนที่เป็นออทิสติกที่เรารับรู้จากการอ่านแล้วก็เลือนๆ ไป แต่ที่มาพูดถึงออทิสติกตอนนี้ ก็เพราะเพิ่งได้อ่านเรื่องของคนเป็นออทิสติกที่ชื่อ “ฆาตกรรมหมาในยามราตรี” เป็นเรื่องแต่งที่คนเขียนทำเหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่เขียนโดยเด็กที่เป็นออทิสติก เขาอธิบายระบบความคิดและพฤติกรรมของเด็กที่เป็นออทิสติกออกมาในรูปของนิยายสืบสวนสอบสวนของเด็ก

เราอ่านฆาตกรรมหมาฯอย่างสนุกสนานและจบในเวลาอันรวดเร็ว แต่พี่สาวเรา (ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ในการให้ยืมหนังสือเล่มนี้) กลับบอกว่าหนังสือเล่มนี้ก็ดี แต่ไม่ได้รู้สึกว่าวางไม่ลง คือว่างก็หยิบมาอ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าต้องหยุดอ่านไปทำอะไร ก็ไม่ได้เดือดร้อนกระวนกระวายอยากรู้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันวางไม่ลง แต่เราก็อ่านจบอย่างเร็ว เพราะว่ามันสนุกดี ในขณะที่เรายังอ่านหนังสือเกี่ยวกับออทิสติกค้างอยู่อีกเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือแปลชื่อ “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” อันนี้คนเขียนเป็นออทิสติกจริงๆ และเขียนเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง

เขาว่าหนังสือเล่มนี้ดังเพราะคนค่อนข้างแปลกใจกับการที่คนเป็นออทิสติกสามารถเขียนเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นเข้าใจได้ เพราะอย่างที่บอกว่า คนเป็นออทิสติกไม่เข้าใจว่าคนอื่นต่างจากเขา เขาจึงไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจความแตกต่างของตัวเองได้ (ยิ่งเขียนก็ยิ่งงงเว้ย...)

เอาเป็นว่า คนเขียน “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” เป็นออทิสติกที่เข้าใจตัวเองแล้ว แล้วก็พยายามถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจด้วย แต่ความที่มันเป็นเรื่องเล่าของตัวเขาเอง มันจึงไม่ได้มีพล็อตที่ขมวดปมตรงนี้ แล้วไปคลายเอาตอนจบ เราก็เลยอ่านแบบเรื่อยๆไม่จบซะที นับเป็นหนังสือที่อ่านแล้วก็ได้ความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นหนังสือที่สนุกจนวางไม่ลง เพราะไม่งั้นก็คงอ่านจนจบไปนานแล้ว

**โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗ (ตอนต่อ ดิสเล็กสิก)**

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

สั้น ๆ กับ แรนดี้ เพาส์ช

ต่อเนื่องมาจากที่คุณ Cookie Monster แวะมาบอกลิงก์ของวิดีโอรายการ The Oprah ที่เชิญแรนดี้ เพาส์ชไปคุยเรื่อง The Last Lecture แบบมีบรรยายไทย (ขอบคุณคุณ Cookie Monster มากค่ะ!) ก็เลยนึกว่าน่าจะอัพเดทเรื่องนี้ซะหน่อย

ความจริงตั้งแต่ตอนที่รู้ข่าวว่าแรนดี้ เสียชีวิตไปแล้วก็ว่าจะมาอัพเดท แต่ก็ไม่ได้อัพเดท...

ดร.แรนดี้ เพาส์ชเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม ๒๐๐๘ สิริรวมอายุ ๔๗ ปี (ประมาณ ๑ ปีหลังจากที่บรรยาย The Last Lecture, เกือบ ๆ ๒ ปีหลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน) ตอนที่แรนดี้เสียชีวิตที่อเมริกาก็เป็นข่าวดังอยู่เหมือนกัน แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีคนรู้จักในวงกว้าง ก็เลยไม่มีข่าวอะไร

ตั้งแต่วิดีโอ The Last Lecture เผยแพร่ออกไปเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๐๐๗ ประเมินว่ามีคนได้ดูวิดีโอนี้ไปแล้วหลายสิบล้านคนทั่วโลก หนังสือ The Last Lecture ที่แรนดี้เขียนร่วมกับ Jeffry Zaslow จากเล็คเชอร์นี้ก็ติดอันดับหนึ่งเบสต์เซลเลอร์ และแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ ๓๐ ภาษาแล้ว

นิตยสารไทม์จัดให้ แรนดี้ เพาส์ช เป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกด้วย...

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ถึงเวลาต้องเลือกข้าง เพราะเป็นกลางคือเป็นทุกข์

ทุกวันนี้เราเบื่อหน่ายเรื่องการเมืองมากกกกก... ไม่ติดตามข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น และพยายามหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องการเมืองในทุกกรณี ใครถามว่าเราเป็นฝ่ายไหน เราก็บอกว่า เราเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหนซักฝ่าย

เราไม่ได้เป็นแฟนรัฐบาลปัจจุบัน (หรือที่เขาว่าเป็นรัฐบาลนอมินีของอดีตนายก) แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับการออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลของพันธมิตร เรามีเหตุผลส่วนตัวของเราที่จะคิดและจะเชื่อแบบนั้น ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็มีเหตุผลที่จะคิดและจะเชื่อเหมือนหรือแตกต่างไปจากเรา

สังคมคงไม่วุ่นวาย ถ้าทุกคนเคารพในสิทธิและวิจารณญาณของคนอื่น ไม่พยายามไปรุกล้ำสิทธิหรือสงสัยในวิจารณญาณของคนอื่น แต่ทุกวันนี้มันวุ่นวาย เพราะทั้งสองฝ่ายคิดว่าตัวเองถูก-อีกฝ่ายผิด และในสังคมต้องมีแต่เรื่องที่ถูกต้อง (หรือแปลว่าเรื่องที่ตนเองเห็นด้วย) เท่านั้น สิ่งที่ผิดต้อง (หรือแปลว่าเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย) ถูกกำจัดไป

สังคมเป็นยังไง ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้น... นั่นคือ ชีวิตของเราก็วุ่นวายไปตามสถานการณ์ทางการเมืองทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันเลย เพราะเราต้องเจอกับคนที่เชียร์อดีตนายกเต็มที่ แบบไม่เห็นความผิดด่างพร้อยอะไรเลย แล้วเราก็ต้องเจอกับคนที่เป็นฝ่ายพันธมิตรเต็มตัว ต้องการกำจัดอดีตนายกให้สิ้นซาก

แรก ๆ เรายังไม่รู้ตัว เวลาคุยกับฝ่ายอดีตนายก เราก็ดันพยายามจะอธิบายให้เข้าใจถึงประเด็นของพันธมิตรที่เห็นว่าอดีตนายกมีข้อเสียยังไง พอคุยกับฝ่ายพันธมิตร เราก็ดันไปพยายามอธิบายว่ารัฐบาลนี้มีความชอบธรรมยังไงที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป และพันธมิตรไม่มีความชอบธรรมยังไงที่จะไปไล่เขาออก

คุยไปทีไรก็เป็นเรื่อง... หลัง ๆ เลยเลิก (เริ่มฉลาดขึ้น?) ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคุยอะไรมา เราทำอย่างเดียวคือ ยิ้ม ๆ แล้วก็ปล่อยให้เขาพูดไปเรื่อย ๆ ไม่สนับสนุน ไม่คัดค้าน ไม่ตอบโต้ จนเขาหมดมุขแล้วซักพักก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หนุ่มเมืองจันท์ เขียนในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับ ๑๔๖๔ วันที่ ๕-๑๑ กันยายน ๒๕๕๑) แนะนำว่า ทุกวันนี้ถ้ามีคนจะชวนคุยเรื่องการเมือง ควรจะถามไปตรง ๆ เลยว่าอยู่ฝ่ายไหน ถ้าอยู่ฝ่ายเดียวกันก็ค่อยคุยกัน แต่ถ้าเป็นคนละฝ่าย ให้เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นทันที

แถมบอกว่าถ้าใครมาบอกว่า “เป็นกลาง” อย่าไปเชื่อ คนเป็นกลางคบไม่ได้ เป็นพวกอีแอบ เราอ่านแล้วฉุนนิดหน่อย หนอย... มาว่าเราเป็นอีแอบ คบไม่ได้ แต่ก็เห็นด้วยกับที่หนุ่มเมืองจันท์บอกว่า เวลาที่เกิดข้อขัดแย้งขึ้นทีไร คนกลางนี่แหละที่ซวยมากที่สุด

หนุ่มเมืองจันท์บอกว่าคนที่ “เป็นกลาง” ไม่มีจริง ยกตัวอย่างทางกายภาพว่า ถ้ามีคนยืนกันอยู่ ๓ คน คนทางซ้าย-คนตรงกลาง-คนทางขวา ถ้าเราเป็นคนที่ยืนทางซ้าย ก็ต้องมองว่าคนตรงกลาง เป็นพวกฝ่ายขวา แต่ถ้าเราเป็นคนที่ยืนทางขวา ก็ต้องมองว่าคนตรงกลางเป็นพวกฝ่ายซ้าย

ชัดเจนจริง ๆ ว่าคนตรงกลางซวยที่สุด เพราะเจอศึก ๒ ด้าน!!

เรามีหลักฐานที่ว่าคนเป็นกลางซวยที่สุด เป็นต้นว่า เขาประท้วง ปิดถนน รถติดวินาศสันตะโร คนเป็นกลางที่อยู่แถว ๆ นั้นซวย เขายึดทำเนียบ ประกาศหยุดงาน ปิดรถไฟ ปิดสนามบิน ปิดท่าเรือ ม็อบสะใจ รัฐบาลไม่สนใจ คนเป็นกลางก็ซวยเพราะเดินทางไม่ได้ ธุรกิจเสียหาย รัฐบาลไม่ชอบใจที่ทำเนียบโดนยึด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเกิน ๕ คน ม็อบอยู่กันเป็นพัน ๆ คนสบายใจ ก็รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ แต่คนเป็นกลางซวย

สถานการณ์บีบคั้นขนาดนี้ ถึงเวลาที่คนเป็นกลางต้องเลือกข้างซะแล้ว หรือเปล่า?!?

ปล. เดือนนี้ที่ทำงานเรามีประชุมกับ Vendor ที่เป็นคนจีน เขาเมลมาบอกว่า ไม่อยากมาประชุมที่กรุงเทพฯ เลย ดูข่าวแล้วท่าทางอันตราย สถานการณ์เลวร้าย-ต่างชาติหมดความเชื่อมั่น เคราะห์หามยามร้ายเราอาจจะต้องถ่อไปประชุมที่จีนแทน แบบนี้คนเป็นกลาง เอ้ย... เราซวย!!

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

เด็กพิเศษ กับ หนังสือคลาสสิก 5 เล่ม

วันก่อนดูรายการ “หนึ่งในพระราชดำริ” ทางโมเดิร์นไนน์ ตอน “เด็กพิเศษ” ซึ่งหมายถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่เด็กอัจฉริยะ เด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (LD - Learning Disability) เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ลูกสามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งคุณหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษบอกว่า ถ้าพ่อแม่ยอมรับว่าลูกมีปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ หมอก็จะสามารถแนะนำวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยเด็กได้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ เพราะต่อให้หมอที่เก่งแค่ไหน นักกิจกรรมที่มีความสามารถแค่ไหน แต่คนที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดก็คือพ่อแม่ นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องให้เวลา อย่าคิดว่าการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษคือการวิ่งร้อยเมตร จะสปีดให้ถึงเส้นชัย มันเป็นไปไม่ได้ ให้นึกว่าเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ต้องสปีด แต่ก็ต้องไม่หยุดวิ่ง...

ในรายการบอกว่าปัจจุบันเด็กที่อยู่ในวัยเรียนมีประมาณ 10 ล้านคน มีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษอยู่ไม่น้อย โดยมีเด็ก LD ประมาณ 6 แสน - 1 ล้านคน เด็กสมาธิสั้นประมาณ 5 แสน และเด็กออทิสติกอย่างน้อย 5 หมื่นคน หมายความว่าอย่างต่ำ ๆ มีเด็กพิเศษประมาณ 1 ล้านกว่าคน หรือในเด็กทุก ๆ 10 คน จะมีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 1 คน

จำนวนตัวเลข 1 ใน 10 อาจจะทำให้พ่อแม่วิตกกังวลว่าลูกตัวเองจะมีปัญหา แต่สิ่งที่พ่อแม่น่าจะวิตกกังวลมากกว่าก็คือ เด็กธรรมดาที่พ่อแม่ปล่อยให้ดูทีวี-เล่นเกมจนติด จะแสดงลักษณะและอาการคล้ายกับเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ช้ากว่าปกติ การไม่ชอบสังคม การจัดการกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ นี่ก็ตรงกับที่เราเคยเล่าเรื่องเด็กติดทีวีที่ได้ดูในรายการจุดเปลี่ยน

สรุปว่าพ่อแม่คงต้องตระหนักด้วยว่าควรจะเลี้ยงลูกกันอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้ลูกที่เป็นเด็กปกติ กลายเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ “การสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” อย่างในบทความ พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย ที่ก็อปปี้มาโพสต์ไปเมื่อวันก่อนน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เห็นผลแล้วเป็นรูปธรรม



หนังสือภาพ 5 เรื่องเอกของโลก

หลังจากที่เราโพสต์เรื่องพัฒนาเด็กด้วยหนังสือไป ก็มีคนบอกว่าเคยได้ยินว่ามูลนิธิซิเมนต์ไทยแนะนำหนังสือภาพคลาสสิกสำหรับเด็ก 5 เล่ม แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรบ้าง เราเสิร์ชเจอแล้วก็ส่งลิงก์ไปให้ แต่พอดีเพื่อนเราที่มาโพสต์คอมเมนต์ไว้ก็พูดถึงเหมือนกัน เราคิดว่าคงมีประโยชน์กับหลายคน เลยก็อปปี้มาโพสต์ไว้ตรงนี้ด้วย

1. แมวล้านตัว (Million of cats)
เรื่องและภาพโดย แวนดา ก๊อก
แปลโดย ชีวัน วิสาสะ
ราคา 40 บาท
“แมวล้านตัว” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2498 และยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีอายุยืนที่สุดของอเมริกาที่ยังมีการตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ภาพต้นฉบับใช้หมึกดำสีเดียว ลายเส้นประณีตและงดงามมาก แมวล้านตัวได้รับการตีความมากมาย ทั้งทางปรัชญา ศาสนา การใช้ชีวิต ความโลภ เสียดสี เหน็บแนม ความเห็นแก่ตัว และความไร้เดียงสาของมนุษย์ รวมถึงนิยามความเป็นมนุษย์และความงามอันหลากหลาย

2. เดินเล่นในป่า (In the forest)
เรื่องและภาพโดย มารี ฮอลล์ เอ็ตส์
แปลโดย อริยา ไพฑูรย์
ราคา 40 บาท
“เดินเล่นในป่า” มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามสไตล์ของ มารี ฮอลล์ เอ็ตส์ คือการใช้ดินสอเพื่อให้ได้ภาพที่ดูอบอุ่นและอ่อนโยน หนังสือของเธอทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากที่เคยเชื่อว่าหนังสือเด็กจะต้องมีสีสันมากมายนั้นต้องเปลี่ยนความคิดไป เพราะหลายเล่มได้รับการพิสูจน์แล้วว่าหนังสือสำหรับเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องมีสีสันสดเจิดจ้าเสมอไป ถ้าหนังสือเล่มนั้นสามารถสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ด้วยเรื่องและภาพที่ดี

3. คอร์ดูรอย (Corduroy)
เรื่องและภาพโดย ดอน ฟรีแมน
แปลโดย อัจฉรา ประดิษฐ์
ราคา 50 บาท
“คอร์ดูรอย” พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2511 ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) และลงสีน้ำ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหว มีอารมณ์ และน่าตื่นเต้น กระทั่งได้รับการกล่าวอย่างชื่นชมว่า ไม่มีใครแกะไม้ให้ตัวละครมีหน้าตาเกลี้ยงเกลาและแสดงอารมณ์ได้มากเท่าภาพตัวละครในหนังสือเล่มนี้

4. มีหมวกมาขายจ้า (Caps for sale)
เรื่องและภาพโดย แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา
แปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์
ราคา 70 บาท
“มีหมวกมาขายจ้า” เป็นนิทานเก่าแก่ของอินเดีย ถูกนำมาทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งแรกเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว และยังคงติดอันดับขายดีจนถึงปัจจุบัน แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา เป็นศิลปินนักออกแบบสามารถทำภาพประกอบได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีอารมณ์ขัน การออกแบบฉากและตัวละครให้ดูใกล้ชิดกับเด็ก ๆ

5. เมล็ดแคร็อท (The Carrot Seed)
เรื่องและภาพโดย รัธ เคิร์ส และ คร็อคเก็ท จอห์นสัน
แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจัดพิมพ์ (8 ก.ค. 51)
“เมล็ดแคร็อท” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่าเรื่องง่าย ๆ ใช้คำเพียง 101 คำ แต่มีความลึกซึ้ง เนื้อหาของเรื่องทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจคำว่า “อดทน รอได้” เป็นอย่างดี Maurice Sandak เจ้าของเรื่อง ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ยกย่องหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “หนังสือภาพเล่มนี้สมบูรณ์แบบจนเรียกว่า เป็นบรรพบุรุษของหนังสือภาพทุกเล่มในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ มันคือการปฏิวัติเล็ก ๆ ของหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของการพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กไปตลอดกาล”

รูปและข้อมูลมาจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย http://www.scgfoundation.org/update/2008-07-17/

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต

โดย มูลนิธิซิเมนต์ไทย - จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๖๑ วันที่ ๑๕-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๔๓

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ไม่ควรต้องนำมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย แต่เหตุใดหลายหน่วยงานจึงมุ่งเน้นในสิ่งเดียวกัน และอีกหลายหน่วยงานที่พยายามเชิญชวนเรียกร้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การเล่านิทาน อ่านหนังสือมีความจำเป็นอย่างไร

บทความต่อจากนี้ไป เป็นข้อมูลที่ได้จากการทำงานจริงในมิติที่ลึกซึ้ง จากโครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)”

ในแวดวงการศึกษาเด็กปฐมวัยและการศึกษาด้านการแพทย์ พบว่าเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงแรกเกิดถึงหกขวบ เป็นวัยที่มีการพัฒนาการสูงที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะสมองของเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงสามขวบ เด็ก ๆ วัยนี้มีความสามารถในการซึมซับ รับรู้และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ดังคำนำของผู้เขียนหนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งเปรียบเหมือนคัมภีร์เล่มหนึ่งในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวไทยยุคนี้เลยก็ว่าได้

ยิ่งเราศึกษามากขึ้นเท่าไร เรายิ่งรู้ว่าความคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องของเด็กเล็กนั้นผิดพลาดมากแค่ไหน เราเคยคิดว่าเรารู้เรื่องเด็กเล็กดีทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าที่จริงเราเกือบไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงให้การศึกษาของเด็กเล็กเริ่มหลังจากอายุ ๓ ขวบ ตอนที่เซลล์สมองก่อร่างสร้างตัวเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่รายงานการศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองบอกว่า “๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์สมองของมนุษย์จะเติบโตเต็มที่ภายในอายุ ๓ ขวบ”

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่าเด็กวัยแรกเกิดถึงหกขวบเป็นวัยที่สำคัญที่สุด เหมาะที่สุดที่จะส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยเฉพาะหนังสือดี ๆ นั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการพัฒนาสมองเด็ก

ทำไมต้องเล่านิทาน อ่านหนังสือ

หนังสือภาพเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านหรือเล่าให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง และให้ดูภาพไปพร้อม ๆ กัน สำหรับเด็กโตหนังสือภาพเป็นสื่อที่ตอบสนองความต้องการของเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหนังสือภาพเป็นสื่อที่หาง่าย ใช้ง่าย แต่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยังมองเห็นว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กมีราคาแพง หากเมื่อมองให้ลึกถึงคุณค่าแล้ว หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ได้มีราคาแพงเกินกว่าคุณประโยชน์มหาศาลที่เด็กจะได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของใช้ฟุ่มเฟือยอื่น ๆ สำหรับเด็ก

โครงการเล่านิทาน อ่าหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) เป็นหนึ่งในโครงการ “พัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือ” ที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ทำงานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยใช้หนังสือที่ดีเป็นเครื่องมือในการทำงาน

จากการ “นำหนังสือดีสู่เด็ก” ในพื้นที่ดำเนินโครงการ มีเจ้าหน้าที่ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดในระยะเก้าเดือน พบว่า เด็ก ๆ จากจำนวน ๑๕๐ คน (ครอบครัว) ซึ่งครอบครัวเหล่านี้มีลักษณะเหมือนครอบครัวในชนบททั่ว ๆ ไป ที่เป็นเกษตรกรซึ่งมีรายได้และการศึกษาไม่มากนัก หรือไม่มีเลย ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะเล่านิทานและอ่านหนังสือให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ

เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการทางด้านภาษาและสื่อสารได้ดี อีกทั้งเด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความโดดเด่นจากกลุ่มที่ไม่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างชัดเจน จากการสังเกตเด็กเมื่อเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นครั้งแรกในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กกลุ่มที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างเข้มข้นจะไม่ติดโทรทัศน์ ถ้าให้เลือกระหว่างหนังสือภาพกับโทรทัศน์ เด็กกลุ่มนี้จะเลือกหนังสือภาพมากกว่า

คุณครูพรทิพย์ ชินวิทย์ ครูพี่เลี้ยงประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เล่าถึง “น้องหม่อน” ซึ่งเริ่มเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวัย ๒ ขวบครึ่ง (ปัจจุบัน ๓ ขวบกว่า) เป็นหนึ่งในเด็กจากจำนวน ๑๕๐ คนว่า

“น้องหม่อนโชคดีมาก มีคุณยายให้ความสนใจ อ่านหนังสือให้ฟังทุก ๆ วัน แถมยังเผื่อแผ่แก่เด็กคนอื่น ๆ ด้วย น้องหม่อนมีพัฒนาการรวดเร็วในทุกด้าน พูดรู้เรื่อง ไม่เคยงอแง และไม่น่าเชื่อเลยว่าอายุขนาดนี้จะเลือกให้ยายซื้อหนังสือ แทนที่จะซื้อของเล่นตามตลาดนัด ครูคิดว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมีคุณยายคอยอ่านหนังสือให้ฟัง มีการพูดคุยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ ยายคงจะสอดแทรกเรื่องที่อยากจะให้น้องหม่อนได้รู้ลงไปในขณะที่เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟังไปด้วย”

คุณสุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงการที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญต่อการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ว่า

“เราเชื่อว่าการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว และกิจกรรมเล่านิทาน อ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ ถึงแม้ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็จะสามารถดูรูปแล้วเล่าเรื่องให้เด็กฟังได้ เด็กปฐมวัยชอบหนังสือภาพ ชอบฟังนิทาน เพราะในหนังสือมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกใจเด็ก โดยเฉพาะหนังสือภาพดี ๆ ที่เขียนโดยนักเขียนที่มีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กก็จะสามารถทำหนังสือออกมาได้ถูกใจเด็กมากที่สุด ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงหนังสือได้ง่าย หนังสือภาพมีทั้งภาพ มีทั้งภาษาและเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หนังสือภาพช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์แก่เด็กเล็ก ๆ มูลนิธิซิเมนต์ไทยอยากมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กปฐมวัยและอยากให้พฤติกรรมนี้แพร่หลายในสังคมไทย

โครงการเล่านิทานอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) นี้ มูลนิธิซิเมนต์ไทยมีความตั้งใจให้เป็นโครงการนำร่อง ทำการศึกษาและค้นหากระบวนการในการนำหนังสือสู่เด็กอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรที่สนใจในพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือได้นำไปใช้ เราร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความชำนาญในด้านนี้ และเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างเกาะติดทุกกระบวน ด้วยความหวังว่าเราจะได้เนื้อหาที่สามารถเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับผู้สนใจร่วมกัน “สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ต่อไป

โครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)” ทำงานอย่างไร

หัวใจสำคัญของโครงการฯ อยู่ที่ หนังสือดี และกระบวนการสร้างความเข้าใจในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังในครอบครัว ในการนำร่องนี้ โครงการได้คัดสรรพื้นที่ต่อยอดจากโครงการดั้งเดิมของสมาคมไทสร้างสรรค์ในพื้นที่ตั้งของห้องสมุดเด็กในชนบท ๓ แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ ห้องสมุดเด็กเวียงเก่า (ภูเวียงเดิม) ห้องสมุดเด็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ และห้องสมุดเด็กบ้านบะยาว ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายครอบครัวที่มีเด็กอายุระหว่าง ๖ เดือน - ๓ ขวบ จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว

เมื่อได้ครอบครัวเป้าหมาย จึงเริ่มกระบวนการสร้างความเข้าใจว่า หนังสือสำหรับเด็กมีลักษณะอย่างไร หนังสือภาพมีความสำคัญอย่างไร และการอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังต้องเริ่มอย่างไร นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างถึงลูกถึงคนอย่างแท้จริง กล่าวคือ เข้าหาทุกครัวเรือน อธิบายกันตัวต่อตัว สาธิตการอ่านหนังสือ ชี้แนะจุดสำคัญกันเล่มต่อเล่มเลยทีเดียว

ในการทำงานขั้นแรกเริ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างยิ่งเพื่อให้เข้าถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อส่งต่อความตั้งใจของมูลนิธิซิเมนต์ไทยในการร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Ignorance is a bliss

เมื่อวาน (๒๖ สิงหาคม) เรามีประชุมตอนแปดโมงครึ่ง ก่อนเข้าประชุมต้องปั่นงานของเมื่อวานซืนที่ทำไม่เสร็จ ออกจากประชุมตอนสิบโมงครึ่ง มาปั่นงานต่อ... พักกลางวันเดินไปกินข้าวคนเดียว เพราะก่อนเที่ยงคุยงานติดพัน น้องที่ปกติไปกินข้าวด้วยกัน ก็เลยไปกินก่อน พอเรากลับจากกินข้าว ก็มาปั่นงานต่ออีก...

ตอนห้าโมงกว่าๆ มีน้องมาถามว่า พี่ๆ เราควรจะต้องเตือนให้พวกฝรั่งรีบกลับบ้านไหม? (ตอนนี้ที่ออฟฟิศมีฝรั่งเพ่นพ่านเต็มออฟฟิศ เพราะได้โปรเจ็คต์ใหม่) เราถามว่าทำไมต้องรีบกลับล่ะ กลัวพวกประท้วงเหรอ น้องตอบว่า ใช่ เราบอกว่า โฮ้ย... ไม่ต้องหรอก ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็ถือว่าให้เขาได้หัดรู้จักเอาตัวรอดมั่ง (ฝรั่งคงไม่โง่ขนาดเดินสุ่มเสี่ยงไปชนม็อบหรอกมั้ง) น้องก็เลยกลับบ้านไป

เราออกจากออฟฟิศทุ่มกว่าๆ เพิ่งได้ฟังข่าววิทยุ ฟังไปก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว ถึงได้รู้ว่า พวกม็อบพันธมิตรบุกยึดสถานี NBT ตั้งแต่เช้ามืด สั่งให้งดออกอากาศรายการ แล้วก็ม็อบกลุ่มอื่นๆ ก็กระจายกันไปยึดทำเนียบ ยึดกระทรวงการคลังด้วย น่าหวาดเสียวว่าจะเกิดความวุ่นวาย ลุกลามจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ถึงขนาดมีข่าวลือปฏิวัติ ข่าวลือว่ารัฐบาลจะใช้กำลังสลายม็อบ ฯลฯ

เราฟังแล้วก็เพิ่งเข้าใจว่า ทำไมน้องเขาถึงมาถามว่า ควรจะต้องเตือนฝรั่งไหม ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าม็อบพันธมิตรกำลังจะเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก แต่ไม่ได้ติดตามข่าว ก็เลยคิดว่าก็คงแค่ปิดถนนให้ชาวบ้านลำบากเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำอะไรวุ่นวายรุนแรง

พอฟังรายการวิทยุต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้ว่าหลายๆ คนที่ได้ติดตามข่าวตั้งแต่เช้า ไม่จะเป็นฝ่ายไหน-สีอะไร หรือไม่มีฝ่ายไม่มีสี ก็น่าจะรู้สึกกังวลและไม่สบายใจกับสถานการณ์ เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะไปจบกันตรงไหน (จะจบได้ไหม) ในขณะที่ตัวเราไม่ได้รับรู้ข่าวสารอะไรเลย รู้สึกสบายอารมณ์มาตลอดวัน (ไม่นับอารมณ์เซ็งเรื่องงานนะ อันนั้นเป็น constant parameter ติดตามข่าวหรือไม่ติดตามข่าว ก็เซ็งพอกัน!!)

บางทีการไม่ต้องรับรู้เรื่องราวอะไร ก็เป็นเรื่องดี ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด ไม่กังวล ยิ่งสมัยนี้สื่อมวลชนชอบเสนอข่าวแบบใส่อารมณ์มากกว่าเสนอข้อเท็จจริง เสนอข่าวแบบเลือกข้าง (ถึงนายกจะเพิ่งประกาศว่า ให้สื่อเลือกข้าง แต่เราว่าหลายๆ สื่อเลือกข้างไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว) คนรับสารหลายๆ คนก็เลือกข้าง ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง คนที่ไม่เข้าข้างไหนอย่างเรา ไม่รู้เลยซะสบายใจกว่า...

ปล. วันก่อนอ่านจดหมายที่มีคนเขียนไปลงในมติชนสุดสัปดาห์ เขาเล่าเรื่องเล่าคดีแม่แย่งลูกให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้หญิงสองคน ต่างอ้างตัวว่าเป็นแม่ของทารกคนหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยไปให้ผู้พิพากษาช่วยตัดสิน ผู้พิพากษาฟังเหตุผลที่ทั้งคู่ยกมาอ้างแล้ว ก็ตัดสินไม่ได้ว่าใครเป็นแม่ตัวจริง ผู้พิพากษาก็เลยบอกว่า ให้แม่สองคนจับทารกไว้ ถ้าใครแย่งทารกไปได้ คนนั้นก็ได้เป็นแม่ของทารกนั้น

แม่สองคนจับทารกไว้คนละข้าง ต่างคนต่างยื้อ ทารกน้อยรู้สึกเจ็บก็ร้องไห้ออกมา ทันทีที่ทารกร้องไห้แม่คนหนึ่งก็เลยปล่อยมือออกทันที แม่คนที่แย่งทารกไปได้ ก็กระหยิ่มยิ้มย่องบอกว่าตัวเองเป็นแม่ของเด็กจริงๆ แต่ผู้พิพากษาบอกว่า อีกคนหนึ่งต่างหากที่เป็นแม่ตัวจริง เพราะไม่มีแม่คนไหนที่จะทนเห็นลูกเจ็บได้ ในขณะที่แม่คนที่แย่งทารกได้ ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย กลับฉวยโอกาสจากความเจ็บปวดของทารก เพื่อให้ได้ตามความต้องการของตัวเอง

ผู้ที่เขียนจดหมายมา ก็สงสัยต่อไปว่า ถ้าทารกนั้น คือประเทศไทย และผู้หญิงสองคนคือสองฝักสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้ทางการเมืองกันอยู่ แล้วใครจะเป็นแม่ตัวจริงกันแน่?? หรือว่ามีแต่แม่ตัวปลอม??

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ดิสเล็กสิก

วันก่อน**อ่านคอลัมน์ของไมเคิล ไรทในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนเรื่องดิสเล็กสิก (dyslexic เป็น adjective ถ้าเป็นคำนาม คือ dyslexia) ว่าตัวเขาเองเป็นดิสเล็กสิกมาตั้งแต่เด็ก ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ เพราะไมเคิล ไรทเป็นชาวอังกฤษที่ไม่รู้ว่าจับพลัดจับผลูยังไงมาอยู่ในเมืองไทย แล้วมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของไทย (และเอเชียอาคเนย์) ดีกว่าคนไทยหลายๆ ล้านคน

ตัวอย่างเช่น เขามีความรู้เรื่องหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงดีพอ ขนาดคิดเคลือบแคลงสงสัยว่า อาจจะไม่ใช่หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นเพิ่งทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง (รายละเอียดเราก็ไม่ค่อยรู้ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในคนหลายล้านคนที่มีความรู้เรื่องไทยน้อยกว่าไมเคิล ไรท)

นอกจากความรู้ศิลปวัฒนธรรม ไมเคิล ไรทเขียนภาษาไทยเป็นน้ำ (ใช้คำว่า “เป็นน้ำ” กับการเขียนได้ไหมนะ) คือไม่ได้เป็นฝรั่งที่พูดไทยได้เฉยๆ แต่เป็นฝรั่งที่เขียนภาษาไทยได้ด้วย อ้อ... ไม่ใช่แค่ “เขียนได้” สิ ต้องเรียกว่า “เขียนเป็น” ตะหาก เขียนได้ดีมากขนาดเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมาย เรียกได้ว่าทักษะในด้านภาษาของไมเคิล ไรทอยู่ในขั้นเยี่ยมยุทธ์ ซึ่งในความรู้สึกเรามันค่อนข้างจะขัดกับการเป็นดิสเล็กสิก

อาการดิสเล็กสิก คืออาการที่สมองมีปัญหาในการแปรภาพที่มองเห็นให้เป็นความหมายที่ควรจะเป็น คนเป็นดิสเล็กสิกจะมองภาพกลับซ้ายเป็นขวาโดยไม่รู้ตัว (เช่น ดูนาฬิกาจากเก้าโมงเช้า เป็นบ่ายสามโมง มองเห็นเลข 3 เหมือนเป็นตัว E) อ่านหนังสือสลับตัว (เช่น “น้อย” นึกว่า “ย้อน”) อ่านหนังสือข้ามบรรทัด ฯลฯ

เด็กที่เป็นดิสเล็กสิก มักถูกมองว่าเป็นเด็กโง่เง่า ทั้งๆ ที่ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา พ่อแม่ครูอาจารย์อาจสงสัยว่าทำไมเด็กโง่จังเลยที่สะกดคำง่ายๆ ไม่ได้ซะที บวกเลขทีไรก็บวกผิด โดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะเด็กมองผิด คำว่า arm ก็นึกว่า mar บวกลบตัวเลขเป็นแถวๆ ก็มองข้ามไปข้ามมา เด็กรู้สึกลำบากสุดท้ายก็หมดความสนใจในการเรียน นอกจากเรื่องการเรียน คนที่เป็นดิสเล็กสิกขั้นรุนแรง จะมีความลำบากในการดำรงชีวิตด้วย อย่างเรื่องการดูเวลาที่ว่าไปแล้ว หรือแม้แต่การขับรถ ก็จะมีปัญหาในการอ่านแผนที่ การมองระยะผิดพลาด หรือเห็นภาพสับสนกับความเป็นจริง

คนเป็นดิสเล็กสิก แก้ไขได้โดยใช้ความอดทนและความเข้าใจของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ไมเคิล ไรท บ่นว่าอาการจะนี้เป็นปัญหาใหญ่ในระบบการเรียนการสอน ถ้าบรรดาครูอาจารย์และคนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่ามีคำว่า ดิสเล็กสิก อยู่ เด็กที่เป็นดิสเล็กสิกก็คือเด็กโง่เง่า ปัญญาอ่อนในสายตาครู เขาบอกว่า ในต่างประเทศเขารู้จักคำว่า ดิสเล็กสิก มาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนในวงการศึกษาไทย มีกี่คนที่รู้จักและเข้าใจความหมายของคำคำนี้

เราเอาคอลัมน์ของไมเคิล ไรทให้พี่สาวเราอ่าน พี่สาวเราก็บอกว่า จริงที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคำว่าดิสเล็กสิก แต่เรารู้จักมันมาหลายปีแล้ว ด้วยความบังเอิญ คือบังเอิญไปเสิร์ชเจอเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเรื่องนี้ ก็อ่านๆ จนเข้าใจ เขามีรายชื่อคนดังที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่เป็นดิสเล็กสิก ประมาณว่าเป็นการพิสูจน์ว่า ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญาและความสามารถ

**โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗

หมายเหตุ - จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตฯ คำว่า dyslexia ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า “ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ” หรือ “ภาวะเสียการอ่านรู้ความ”

ขำได้ก็ดี: สาวกของเวดิล
- เคยได้ยินเรื่องสาวกของเดวิลที่เป็นดิสเล็กสิกไหม?
- เขาขายวิญญาณให้ซานตา
(จากเว็บไซต์ Joke fo the Day)

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แข่งขันหรือเอาชนะ

วันก่อนได้ดูโฆษณาบริษัทสร้างบ้านหรือไงเนี่ยแหละ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ซ้อมเช้าซ้อมเย็น ซ้อมวันฝนตกซ้อมวันแดดออก มุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่ง ดูแล้วก็ฮึกเหิมดี เสียดายที่มันเป็นแค่โฆษณา...

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเริ่มไปเมื่อวันศุกร์ ๐๘-๐๘-๐๘ พวกเราคนไทยตั้งความหวังกับเหรียญทองกีฬามวยกับยกน้ำหนัก เมื่อวานดูน้องเก๋ประภาวดี นักยกน้ำหนักหญิงไทยรุ่น ๕๓ กก. ยกท่าคลีนแอนด์เจิร์คครั้งแรกได้เหรียญทอง ก็ปลื้มไปกับน้องเขาด้วย แต่วันนี้วันดี คำเอี่ยมพลาดเหรียญทองแดงไปอย่างน่าเสียดาย

แต่สำหรับข่าวโอลิมปิกในระดับโลก ผู้คนกำลังจับตามองว่าไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาว่ายน้ำของสหรัฐฯ จะได้เหรียญทองทั้ง ๘ เหรียญ ทำลายสถิติของมาร์ค สปิตซ์ที่ทำไว้ในกีฬาโอลิมปิกที่มิวนิคปี ๑๙๗๒ หรือเปล่า

ก่อนหน้านี้เราอ่านเรื่องชุดกีฬาว่ายน้ำไฮเทคของ Speedo รุ่น LZR Racer ที่สมาคมว่ายน้ำ (FINA) เพิ่งอนุมัติให้ใช้ในการแข่งขันไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

Speedo ทุ่มทุนงานวิจัยมหาศาลทั้งในด้านวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต จนได้ชุดว่ายน้ำที่สามารถลดแรงต้านของน้ำ และช่วยพยุงและปรับตำแหน่งร่างกายของนักว่ายน้ำให้มีแรงต้านน้ำน้อยลง

ชุด LZR Racer ซึ่งมีราคาขาย ๕๕๐ เหรียญ และต้องใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาทีในการสวม (เพราะชุดไม่ได้ใช้การเย็บตะเข็บแบบเดิม แต่ใช้คลื่นอัลตราโซนิคในการเชื่อมตะเข็บ) แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับนักว่ายน้ำ สามารถลดแรงต้านน้ำได้ ๕% และเพิ่มความเร็วตอนออกตัว, ตอนเร่งแซง, และตอนกลับตัวได้ ๔% เทียบกับชุดว่ายน้ำรุ่นเก่า วัสดุที่ใช้ทำชุดก็ยังมีข้อโต้แย้งกันว่าอาจจะผิดกฏของสมาคมว่ายน้ำ เพราะสามารถทำให้นักว่ายน้ำลอยตัวได้มากขึ้นด้วย

หลังจากนักว่ายน้ำที่ Speedo เป็นสปอนเซอร์ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น คนก็ออกมาวิจารณ์กันยกใหญ่ว่าจะแข่งกีฬาหรือจะแข่งเทคโนโลยี (จากต้นปีจนถึงเดือนมีนาคม นักกีฬาว่ายน้ำทำลายสถิติไป ๑๔ รายการ, ๑๓ รายการเป็นนักกีฬาที่ใส่ LZR Racer ข่าวจาก ESPN ตั้งแต่ต้นปีถึงก่อนการแข่งขันโอลิมปิกมีการทำลายสถิติรวม ๕๑ รายการ, ๔๕ รายการเป็นนักกีฬาที่ใส่ชุด LZR Racer)

ฝ่ายสนับสนุนชุดไฮเทค (ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาที่ใช้ชุดของ Speedo) ออกมายอมรับว่า ชุดของ Speedo ดีจริงๆ (รวมทั้งไมเคิล เฟลป์สด้วย) แต่ก็มีหลายคนช่วยเถียงแทนว่า แค่ชุดว่ายน้ำดีๆ จะช่วยให้ชนะไม่ได้ถ้านักว่ายน้ำไม่มีฝีมือพอ (ถึงขนาดประชดว่า ได้ลองใส่ชุดว่ายน้ำนี้แล้ว ก็ยังต้องว่ายเต็มที่เหมือนเดิม เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่เห็นจะลอยไปไหน)

ส่วนฝ่ายต่อต้าน (ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาที่ไม่ได้ใช้ชุดของ Speedo กับบริษัทผู้ผลิตชุดกีฬายี่ห้ออื่น) บอกว่าการใช้ชุดกีฬาแบบนี้ก็เหมือนการโกง (ทีมอิตาลีถึงกับพูดว่า การใช้ชุดแบบนี้ ก็เหมือนกับใช้เทคโนโลยีมาโด๊ปนักกีฬา)

การอนุญาตให้ใช้ชุดว่ายน้ำไฮเทคทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในหมู่นักกีฬา ทั้งด้านความสามารถในการซื้อหาชุดมาใส่ (เราเคยได้ยินมาว่าชุดว่ายน้ำแบบพอดีตัวราวกับเป็นผิวหนังชั้นที่สอง ใส่ครั้งเดียวทิ้ง ไม่แน่ใจว่าชุดรุ่น LZR Racer ราคา ๕๕๐ เหรียญนี่ใส่ได้กี่ครั้ง) และปัญหาสปอนเซอร์ (ทีมนักว่ายน้ำที่มีชุดกีฬายี่ห้ออื่นเป็นสปอนเซอร์ ต้องเลือกเอาว่าจะใส่ชุดของตัวเองแล้วเสี่ยงกับการแพ้คู่แข่งที่ใช้ชุดดีกว่า หรือเปลี่ยนไปใส่ชุดของ Speedo แล้วโดนปรับเพราะไม่ทำตามสัญญากับสปอนเซอร์)

หลายคนยังคิดว่า การใช้เทคโนโลยีขนาดนี้เป็นตัวช่วย ทำให้การทำลายสถิติไร้ความหมาย เพราะสถิติไม่ได้เกิดจากนักกีฬาที่สามารถว่ายน้ำได้เร็วที่สุด แต่เกิดจากนักกีฬาที่ใส่ชุดว่ายน้ำที่ดีที่สุด (ถ้าอยากจะวัดฝีมือของนักว่ายน้ำจริงๆ ให้ทุกคนว่ายน้ำในชุดวันเกิดดีไหม :P)

แต่ไม่ว่าใครจะว่ายังไงก็ตาม คนที่แฮ้ปปี้ที่สุดตอนนี้ก็คือ Speedo เพราะเชื่อได้เลยว่าในโอลิมปิก ๒๐๐๘ พวกเราต้องได้เห็นชุดว่ายน้ำ Speedo เกลื่อน Water Cube ที่ปักกิ่งแน่ๆ (แต่ Speedo อาจจะแฮ้ปปี้ได้ไม่นาน เพราะผู้ผลิตอื่นๆ อย่าง TYR ก็กำลังจะออกชุดว่ายน้ำไฮเทคออกมาสู้แล้วเหมือนกัน!!)

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป (๒) แอลกอฮอล์

สมัยเราเรียนมหา’ลัย เรารู้สึกว่าการกินเหล้าในมหา’ลัยเป็นเรื่องธรรมดา-ยอมรับได้ เวลาเลิกประชุมเชียร์แล้วรุ่นพี่เอาเหล้ามาให้รุ่นน้องกินก็ธรรมดา เวลาเลิกเรียนแล้วพวกเพื่อนๆ ตั้งวงกินเหล้ากันข้างตึกเรียนก็ไม่เห็นแปลกอะไร การที่ผู้หญิงกล้าชนเหล้ากับผู้ชายก็ดูเท่ดีเหมือนกัน เวลาเพื่อนๆ จะนัดกันไปเฮฮาก็ไปนั่งกินเหล้าตามผับ เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในเสบียงหลักที่ต้องเตรียมไปด้วย

ถ้าพูดกันตามจริง เราไม่เคยคิดว่าการกินเหล้ามันเอร็ดอร่อย กินแค่นิดเดียวก็หน้าแดง-มึนงง แต่ความที่คนทั่วๆ ไปดูจะรู้สึกว่าถ้ามีเหล้าเป็นองค์ประกอบจะทำให้บรรยากาศสนุกสนานขึ้น เราก็ไม่ได้ทักท้วงหรือตั้งคำถามว่าจะกินเหล้ากันไปทำไม(วะ) อีกด้านหนึ่งก็มองแบบเด็กๆ ว่ากินเหล้าก็เท่ดี เพราะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ทำไม่ได้ นี่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราทำได้

แต่พอแก่ๆ แล้วเราไม่รู้สึกสนุกกับการไปกินเหล้าอีกต่อไป ไม่ถึงกับต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากทำกิจกรรมที่ปราศจากแอลกอฮอล์มากกว่า เพื่อนชอบนัดกันตามผับหรือคาราโอเกะ สั่งเหล้ามากินไปร้องเพลงไป แต่เรารู้สึกว่ากินข้าวตามร้านอาหาร นั่งคุยกัน เมาธ์ดารา-นินทานาย สนุกกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นเรารู้สึกว่าการกินเหล้ามันไม่มีอะไรดีเลย ทำให้คนเมา-ขาดสติ ทำอะไรที่ไม่ควรทำ ก่อความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น แล้วไหนจะยังสิ้นเปลืองอีก อย่างพวกที่ฐานะไม่ค่อยดี-ไม่มีเงินใช้เหลือเฟือ บางคนหาเช้ากินค่ำ ทำไมเอาเงินไปซื้อเหล้า(วะ) แล้วก็มาบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้

บางคนบอกว่าก็กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุขหรือลืมความทุกข์ได้ แต่เราว่ามันแค่ชั่วแวบเดียว ไม่ถาวร หายเมาแล้วก็กลับไปไม่สุขหรือมีทุกข์เหมือนเดิม อาจจะทุกข์หนักกว่าเพราะจนลงหรือไปก่อเรื่องตอนเมาอีกตะหาก

ตอนนี้มีกฎหมายห้ามกินเหล้าในสถานศึกษา, ในวัด, ในสวนสาธารณะ เราเห็นด้วยเต็มที่โดยเฉพาะในสถานศึกษา แต่ก็นึกสงสัยว่าเป็นเพราะเราแก่แล้วเลยเห็นด้วยหรือเปล่า?

สมมติว่าในมุมมองของเด็กๆ ถ้าเขาเพิ่งเข้ามหา’ลัยปีแรก แล้วปีก่อนหน้ายังกินเหล้ากันในมหา’ลัยได้ พอปีนี้เขาออกกฎหมายห้ามซะแล้ว เด็กๆ จะโอเคไหม? หรือจะรู้สึกว่าโดนจำกัดสิทธิ์? หรือจะคิดว่าเขาโตพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะกินเหล้าหรือไม่กิน ถ้าจะกินก็มีความรับผิดชอบพอที่จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ต้องออกกฎหมายมาบังคับ?

ความคิดเรื่องการกินเหล้าในมหา’ลัยเราเปลี่ยนไปขนาดคิดว่า พวกเด็กนักศึกษารุ่นพี่ “ไม่ควร” เอาเหล้าให้น้องกิน ไม่ว่าจะเป็นการให้ลองเพื่อให้รู้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศ หรือเพื่ออะไรก็ตาม เราคิดกังวลไปถึงขนาดว่า รุ่นพี่ให้รุ่นน้องกินเหล้าแล้วจะดูแลกันยังไง จะมั่นใจได้ไงว่าน้องจะกลับถึงบ้านโดนสวัสดิภาพ

ที่เรามากังวลเรื่องพวกนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนมหา’ลัย(บ้านนอกอย่าง)เราไม่ค่อยมีคนขับรถไปเรียน ยิ่งเด็กปีหนึ่งที่ขับรถไปนี่นับหัวได้เลย ส่วนใหญ่นั่งรถไฟนั่งนรถเมล์กัน ถ้าเลิกเชียร์แล้วเมากลับบ้าน อย่างมากก็ลากขึ้นรถไฟกันไป ไม่ต้องกลัวจะไปขับรถชนกับคนอื่นหรือขับตกทางด่วน แต่สมัยนี้ถ้าเป็นไปได้ ใครๆ ก็จะหารถให้ลูกขับไปเรียน ถ้าพ่อแม่รู้ว่าลูกมีโอกาสกินเหล้าหลังเลิกเรียน เวลารอลูกกลับบ้านใจจะระทึกแค่ไหน

ความคิดแบบนี้เมื่อก่อนไม่เคยมีอยู่ในหัวสมอง ต้องแก่ก่อนใช่ไหมถึงได้คิดแบบนี้?

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินไอเดียเรื่องการทำความดีระดับโครงสร้าง (คิดว่าเรียกประมาณนี้นะ) ปกติถ้าเราลงมือทำความดีอะไรซักอย่าง (เช่น เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา ช่วยคนตาบอดข้ามถนน ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด ทำความดีถวายในหลวง ฯลฯ) เป็นความดีเฉพาะตัวเรา แต่การทำความดีระดับโครงสร้างคือการทำความดีที่ทำให้คนอื่นๆ ได้ทำความดีด้วย

เขายกตัวอย่างว่า ช่วงปีใหม่ผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดออกนโยบายว่า งานเลี้ยงจะต้องไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ยอมให้ของขวัญหรือรับของขวัญที่เป็นแอลกอฮอล์ อันนี้แหละเป็นความดีระดับโครงสร้าง เพราะทุกคนต้องร่วมกันทำความดี เรียกว่าเป็นนโยบายความดีก็ว่าได้ แต่เราลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารของบริษัท ออกมาประกาศว่างานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทจะไม่มีการเลี้ยงแอลกอฮอล์ พนักงานคงไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบายความดี แต่คงมีคนด่าเสียงขรมว่างานเลี้ยงไม่มีแอลกอฮอล์ได้ไง(วะ)

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป (๑) เรื่องดูดวง

เมื่อก่อนเราค่อนข้างเชื่อเรื่องดวงชะตาราศี ชอบอ่านคำทำนายว่าคนเกิดราศีนี้เป็นแบบนี้แบบนั้น อยากดูหมอดู อยากฟังคำทำนายว่าอนาคตเรื่องการเรียน ความรัก การเงิน การเดินทาง ฯลฯ จะเป็นยังไง แต่เราไม่ค่อยได้ดูดวงกับหมอจริงๆ เท่าไหร่ เท่าที่จำได้มีแค่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกไปดูกับแม่ หมอดูเป็นญาติกัน ตอนนั้นเราเรียนมหา’ลัยใกล้ๆ จะจบแล้ว เขาบอกว่าดวงเราจะได้เดินทางไปต่างประเทศ พอเราเรียนจบมหา’ลัยก็ไปเรียนต่ออังกฤษ ๒ ปี

อีกครั้งหนึ่งเป็นตอนที่เรียนจบกลับมาทำงานแล้ว เราถ่อไปดูถึงเพชรบุรี เพราะคนที่ทำงานชวนไป เหมารถตู้ไปกันหลายคน เขาบอกว่าแม่นมากๆ หมอดูว่าดวงเดินทางเราเด่นมากๆ น่าจะได้เดินทางไปต่างประเทศ (อีกแล้ว!) หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทอื่นๆ เลย์ออฟพนักงานกันกันเป็นเบือ แต่บริษัทเราไม่อยากเลย์ออฟ เพราะคิดว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นก็ต้องมาจ้างคนใหม่ เขาเลยก็เลยส่งพนักงานไปทำงานที่ออฟฟิศที่อเมริกาฆ่าเวลา เราก็เลยไปเป็นกะเหรี่ยงทำงานที่อเมริกาปีครึ่ง

จากประสบการณ์ดู ๒ หมอนี้ จะว่าหมอดูแม่นก็แม่น เพราะใครจะไปคิดว่าเราจะได้ไปเรียนต่างประเทศ บ้านเรามีพี่น้อง ๕ คน เราเป็นเดียวที่ได้ไป (ขนาดพี่สาวเราเตรียมตัวจะไปแล้ว แต่กะว่าจะไปพร้อมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตอนหลังเพื่อนยกเลิกไม่ไป พี่เราเลยยกเลิกไม่ไปตามไปด้วย) หรืออย่างไปทำงานที่อเมริกาก็เหมือนกัน คงมีไม่กี่บริษัทที่ พอไม่มีงานให้พนักงานทำ แล้วจะส่งพนักงานไปทำงานที่ออฟฟิศต่างประเทศ ถ้าเป็นสมัยนี้เราว่าเขาคงเลือกจะเลย์ออฟคนมากกว่า

แต่ก็มีเรื่องที่หมอดูไม่แม่นเหมือนกัน แต่เราจำไม่ค่อยได้แล้วว่าเขาดูอะไรไว้มั่ง ก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่คนที่ไปดูหมอดูละมั้ง ที่มักจะจำได้แต่สิ่งที่หมอดูทายถูก ที่ทายไม่ถูกก็ลืมๆ ซะหมด (เราจำได้ได้เลาๆ ว่าเขาทายว่าเราจะได้แต่งงานตอนอายุเท่านั้น-เท่านี้ ซึ่งถ้าหมอดูพนันกับเราเรื่องนี้ หมอดูก็เสียชื่อเสียอนาคต!)

เราไม่รู้ตัวว่าหมดความเชื่อกับเรื่องหมอดูไปตอนไหน คิดว่ามันค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อย จนในช่วงปี (หรืออาจจะสองปี) ที่ผ่านมาเราก็หมดความเชื่อโดยสิ้นเชิง (เรายังอ่านคำทำนาย พวกดวงดาว-ราศี ตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่บ้างนะ แต่ออกแนวอ่านขำๆ อ่านฆ่าเวลา ไม่ได้อ่านเอาสาระ)

อาจเป็นเพราะช่วงปีสองปีนี้มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในชีวิตเราที่ทำให้เรารู้สึก “ตาสว่าง” ขึ้น เริ่มเข้าใจว่าอะไรสำคัญกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน (อะไรที่ไม่ถึงตาย ไม่ได้สำคัญสักเท่าไหร่) อะไรที่ทำให้เรามีความสุข-ความทุกข์ (สุข-ทุกข์ เกิดจากใจเราเป็นหลัก การมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น การรู้จักปล่อยวางหรือ มีสติมีสมาธิกับปัจจุบัน ทำให้เรามีความทุกข์น้อยลง) พอมองเห็นสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น เราก็หมดความรู้สึกอยากจะรู้ว่าอนาคตเป็นยังไง

อืมม์ จะว่าไม่อยากรู้ว่าอนาคตเป็นยังไง ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เรายังอยากรู้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่คิดว่าหมอดูจะบอกเราได้ว่าอนาคตเราเป็นอย่างไร เพราะอนาคตของเราขึ้นอยู่กับการกระทำของเราทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างหาก แต่ถ้ามีหมอดูที่แม่นจริงๆ เขาอาจจะมีวิชาดี มีพลังสมาธิแก่กล้า สามารถ “มองเห็น” อนาคตได้จริงๆ เราก็กลับไม่อยากรู้อีกนั่นแหละ เพราะมันจะสนุกอะไรถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้าเราจะเป็นอะไร

เราว่าการไม่รู้ก็ทำให้เรามีจุดประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกัน มันทำให้แต่ละนาที แต่ละวันมันมีค่าในตัวของมันเอง อันนี้เป็นความคิดที่เราได้จากตอนดูหนังเรื่องหนึ่ง (จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว) เขามีเครื่องที่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่ตอนหลังพระเอกก็ตัดสินใจทำลายเครื่องนี้ไป เพราะเขาบอกว่าถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง เราจะอยู่ไปทำไม (เรานึกว่า ถ้าเรารู้ว่าเราจะอยู่ไปอีกกี่วัน จะตายวันไหน เพราะอะไร ชีวิตคงหมดความตื่นเต้นไปเลย)

วันก่อนเราบังเอิญได้ยินเพื่อนร่วมงานห้องข้างๆ โทรศัพท์คุยกับเพื่อน (คาดว่าเป็นเพื่อนร่วมเรียนด้วยกันในระดับใดระดับหนึ่ง) ได้ความว่าเขาแนะนำหมอดูให้เพื่อนคนนั้น ฟังน้ำเสียงแล้วเหมือนเป็นหมอดูที่ตัวเขาเองไปดูมาแล้ว เรารู้สึกประหลาดใจหน่อยๆ เพราะเพื่อนร่วมงานเราเป็นผู้ชาย อายุเยอะกว่าเรา เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะเป็นที่เชื่อเรื่องหมอดู

เรารู้สึกว่าคนที่จะไปดูหมอดู จริงๆ แล้วเป็นคนที่กำลังต้องการที่พึ่งทางใจ หรือที่ปรึกษามากกว่า พอได้ยินว่าคนข้างห้องไปดูหมอดู ก็ทำให้สงสัยว่า เขาอาจจะกำลังรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควร หรือรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงกับชีวิตหรือหน้าที่การงานอยู่หรือเปล่า ที่น่าสงสัยมากไปกว่านั้นคือ ไม่รู้เราเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ให้เขารู้สึกไม่ค่อยสุขเท่าที่ควรหรือเปล่า

แต่เราคงจะไม่ไปค้นหาคำตอบหรอก เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับอนาคตอ่ะนะ ไม่รู้ น่าจะดีกว่า!!

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โจรกรรมทางวรรณกรรม

เว็บ Reference.com เขียนเรื่อง Plagiarism (เพล้-เจอะ-ริ-ซึ่ม) ว่า
“Plagirism คือ การอวดอ้างหรือทำให้คิดว่าว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ตัวจริง โดยการเอางานเขียนหรือผลงานสร้างสรรค์ของคนอื่น (ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด) มาใช้ในงานของตัวเองโดยไม่มีการให้เครดิตอย่างเหมาะสม...” **

“ในวงการวิชาการ Plagiarism (ไม่ว่าจะกระทำโดยนักศึกษา อาจารย์ หรือนักวิจัย) ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์หรือการทุจริตทางการศึกษา ผู้กระทำผิดจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือหมดความน่าเชื่อถือในวงการศึกษาได้ ในวงการสื่อสารมวลชน Plagiarism คือการขาดจริยธรรมของสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับได้ว่า plagiarise มักจะโดนโทษทางวินัยตั้งแต่ถูกพักงานถึงโดนไล่ออก ทั้งในวงการวิชาการหรือสื่อสารมวลชน คนที่โดนจับได้ว่า plagiarise ผลงานคนอื่นมักจะอ้างว่า “บกพร่องโดยสุจริต” คือ “ลืม” ใส่เครื่องหมายคำพูด หรือ “ลืม” ให้เครดิตเจ้าของตัวจริง ถึงแม้ Plagiarism ในวงการศึกษาและสื่อสารมวลชนจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นร้อยปี แต่การมีอินเทอร์เน็ททำให้การลอกเลียนผลงานของคนอื่นทำได้ง่ายมากขึ้น เพียงแค่การก็อปปี้และเพสต์ (copy and paste) ข้อความจากเว็บหนึ่งไปอีกเว็บหนึ่ง” **

ราชบัณทิตยสถาน บัญญัติคำว่า Plagiarism ไว้ ๒ คำ คือ “โจรกรรมทางวรรณกรรม” (สาขาวิชาวรรณกรรม) กับ “การลอกเลียนวรรณกรรม” (สาขาวิชานิติศาสตร์)

เมื่อเร็วๆ นี้คุณ Golb (เจ้าของบล็อกบ้านสวนที่เวิร์ดเพรส) ก็เพิ่งประสบเหตุการณ์ Plagiarism คือไปเจอะบทความของตัวเองในบล็อกคนอื่นที่ gotoknow.org คุณ Glob ไม่ได้ไปทักท้วงอะไร แต่เอามาเล่าแบบขำๆ (ที่จริงน่าจะเป็นแบบปลงๆ มากกว่า?)

พอมีคนไปทักท้วง แทนที่จะยอมรับก็กลับแก้ตัวแบบที่เราฟังยังไงก็ไม่เข้าใจว่า เป็นบทความที่เพื่อนส่งมาให้ทางเมล บอกว่าเขียนแล้วไม่มีเวลาโพสต์ เลยวานเจ้าของบล็อกช่วยโพสต์ให้ด้วย เธอก็เลยเอามาโพสต์โดยไม่รู้ว่าเป็นบทความของคุณ Golb

ถึงจะพยายามทำความเข้าใจคำแก้ตัวของเจ้าของบล็อกสุดๆ แต่การที่ที่เจ้าของบล็อก “ลืม” ใส่เครื่องหมายคำพูด “ลืม” ให้เครดิตคุณ Golb (อ้อ... ที่จริงต้องเป็น เพื่อนคนที่ส่งเมลมาให้สิเนอะ!) แต่ไม่ลืมเปลี่ยนสรรพนามในบทความจาก “ผม” เป็นชื่อตัวเอง และคำลงท้ายจาก “ครับ” เป็น “ค่ะ” ก็ผิดข้อหา Plagiarism เต็มประตู

สุดท้ายเรื่องนี้จบลงโดยบล็อกเจ้าปัญหาโดนปิด เพราะทาง gotoknow ตรวจเจอว่ามีการก็อปปี้ข้อความจากที่อื่นๆ อีกมากมาย หลังจากตักเตือนแล้วก็ยังมีการก็อปปี้ข้อความจากที่อื่นมาโพสต์อยู่อีก

กรณีของคุณ Golb หรือหลายๆ คนที่โดนก็อปปี้บทความไปโพสต์นี่ชัดเจนว่าเป็น Plagiarism แต่ยังมีเว็บอีกเยอะที่ก่อปัญหา Plagiarism อีกแบบหนึ่ง แม้จะไม่ได้โจรกรรมหรือลอกเลียนกันโต้งๆ แต่ก็ไม่ให้เครดิตอย่างเหมาะสม คือ Online Plagiarism โดยการก็อปปี้ข้อความจากเว็บคนอื่นไปใส่เว็บตัวเองโดยไม่ได้ให้เครดิตกับเว็บต้นฉบับ

Reference.com เขาบอกว่า “สมัยนี้มี Online Plagiarism เพิ่มขึ้นเยอะมาก แรงจูงใจอาจจะเป็นการพยายามดึงให้คนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บตัวเอง โดยขโมยผู้เข้าชมเว็บไซท์ไปจากเว็บต้นฉบับ ทำให้เว็บมีรายได้จากโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น” **

เราเจอเองกับตัวว่า มีคนก็อปปี้เรื่องที่เราแปลให้กับเว็บหนึ่งไปโพสต์ในเว็บของเขา ชื่อของเรายังอยู่ครบถ้วนในฐานะคนแปล แต่คนโพสต์ “ลืม” บอกว่าไปก็อปปี้ข้อความนี้มาจากเว็บไหน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่เขา ๑. ไม่ให้เครดิตกับเว็บที่เราแปลบทความให้ ๒. อาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่าเราแปลเรื่องนั้นให้เว็บของเขา

เราคิดว่าการให้เครดิตเว็บต้นฉบับก็สำคัญ เพราะถ้าบทความที่เราแปลมีคุณภาพถูกใจคนอ่าน คนอ่านก็ควรจะได้รู้ว่าจะไปอ่านบทความทำนองนี้ได้อีกที่เว็บไหน (หรือถ้าบทความไม่ดี คนอ่านก็ควรจะได้รู้ว่าควรจะหลีกเลี่ยงเว็บไซท์ไหน :P)

ที่เขียนมายืดยาวนี่ไม่ใช่อะไรหรอก แค่ต้องการจะบอกว่าถ้าใครจะเอาบทความที่เราเขียนหรือแปลไป “ช่วยเผยแพร่” อย่าก็อปปี้เอาไปแต่บทความกับชื่อ ช่วยบอกด้วยว่าเอาไปจากเว็บไหน เราไม่ได้หวังผลเรื่องรายได้ เพราะนี่ไม่ใช่เว็บการค้า แต่ยังไงก็ช่วยเพิ่มเรทติ้งให้บล็อกของเรามั่งเถอะ คนอ่านยิ่งน้อยๆ อยู่ (ไม่ฮา!) :P

** อ้างอิงข้อมูลจาก
American Psychological Association (APA):
Plagiarism. (n.d.). Wikipedia, the free encyclopedia. Retrieved July 19, 2008, from Reference.com website: http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism.

Chicago Manual Style (CMS):
Plagiarism. Reference.com. Wikipedia, the free encyclopedia. http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism (accessed: July 19, 2008).

Modern Language Association (MLA):
"Plagiarism." Wikipedia, the free encyclopedia. 19 Jul. 2008. Reference.com http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism.

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551

How green is your coffee?

ร้านสตาร์บัคส์มีมีถ้วยกาแฟ (Tumbler) ขาย ลวดลายสีสันสวยงามน่าใช้ (แต่ราคาแพงได้ใจ!!) ถ้าซื้อถ้วยนี้แล้วเอามาซื้อกาแฟในภายหลังจะได้ลดราคา (ในเมืองไทยได้ลด ๑๐ บาท ที่อเมริกาได้ด้ลด ๑๐ เซ็นต์*) ตอนสมัยที่ไปอเมริกาเราก็ซื้อมา ๑ ใบ (ราคาไม่แพงได้ใจเท่าที่ขายในเมืองไทย ที่อเมริกา Tumbler ใบนึงราคาประมาณ ๓ เท่าของราคากาแฟ ๑ แก้ว ในขณะที่เมืองไทยราคาประมาณ ๖-๗ เท่าของราคากาแฟ)

สมัยที่เรายังทำตัวไฮโซ กินกาแฟสตาร์บัคส์ ก็จะพกถ้วยที่ว่านี้ไปใส่กาแฟเอง ก็ได้ลดมาทีละ ๑๐ บาท แต่หลังๆ เราเปลี่ยนไปกินกาแฟยี่ห้ออื่นที่ราคาถูกกว่าสตาร์บัคส์ ก็เลยไม่ได้พกถ้วยไปใส่เอง

ร้านกาแฟที่เราไปอุดหนุนส่วนใหญ่จะใช้ถ้วยกาแฟพลาสติก เราก็ซื้อกินโดยไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากเราได้ปฏิบัติการการลดใช้ถุงพลาสติกมาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มนึกถึงการลดใช้ถ้วยกาแฟพลาสติกมั่ง

แน่นอนว่าไปซื้อที่สตาร์บัคส์ได้ลดราคา ๑๐ บาท แต่กาแฟมันแพงอ่ะ ลองไปสำรวจร้านอื่นๆ ดูมั่งดีกว่า ว่ากาแฟของเขาสีเขียว (รักษ์สิ่งแวดล้อม) แค่ไหน?

๑. บลูคัพ (เอสแอนด์พี)
เรา: วันหลังเอาถ้วยมาใส่เองได้ไหม
พนักงาาน: ได้ค่ะ
พอซื้อกาแฟครั้งถัดๆ ไป เราเอาถ้วยกาแฟ(ยี่ห้อสตาร์บัคส์!)ไปใส่กาแฟเอง พนักงานก็ใส่ให้แต่โดยดี

๒. ทรูคอฟฟี่
เรา: วันหลังเอาถ้วยมาใส่เองได้ไหม
พนักงาน: ... (ไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้มแหยๆ สรุปได้ว่า ทางร้านไม่มีนโยบายแบบนี้**)

๓. ร้านกาแฟรถเข็นข้างออฟฟิศ
เรา: วันหลังเอาถ้วยมาใส่เองได้ไหม
คนขาย: ได้จ้ะ
หลังจากที่เราเอาถ้วยไปใส่กาแฟเองแล้ว วันอื่นๆ เขาก็จะถามว่า “พี่เอาถ้วยมาใส่เองหรือเปล่าจ๊ะ”

๔. แบล็คแคนยอน
เรา: เอาถ้วยมาใส่เองได้ไหมคะ (พร้อมยื่นถ้วยกาแฟให้)
พนักงานรับถ้วยกาแฟของเราไปใส่กาแฟโดยไม่ได้ว่าอะไร

๕. คอฟฟี่เวิลด์
เรา: เอาถ้วยมาใส่เองได้ไหมคะ (พร้อมยื่นถ้วยกาแฟให้)
พนักงานทำหน้างงๆๆ แต่ก็ยอมใส่กาแฟในถ้วยที่เราเตรียมไปเอง

จากเดิมที่เราเป็นย้ายมาแฟนกาแฟทรูคอฟฟี่ (เพราะมีบัตรลด ๓๐%) พอมานึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยลดความถี่ในการซื้อลง หันไปอุดหนุนบลูคัพกับแบล็คแคนยอนแทนบ้าง นี่ถ้าสองร้านนี้มีลดราคาแบบสตาร์บัคส์ด้วย เราจะเลิกซื้อกาแฟของทรูคอฟฟี่แล้วอ่ะ :P

*ปล ๑. ความจริงการลดราคาแค่ ๑๐ บาทต่อราคากาแฟแก้วละ ๖๐-๙๐ บาท ดูจะน้อยเกินไป เทียบกับความยุ่งยากในการต้องพกถ้วยกาแฟไปเอง กินเสร็จก็ต้องล้างเองอีกตะหาก แต่เราก็ยังเต็มใจทำ และอยากชักชวนให้คนอื่นๆ ช่วยกันทำ (เท่าที่ทำได้) เพราะมันไม่ใช่แค่การได้ประหยัดเงิน แต่จะได้ลดปริมาณขยะพลาสติกซึ่งต้องใช้เวลาหลายๆ สิบปีกว่าจะย่อยสลายไปได้

**ปล ๒. เราสังเกตเอาเองว่า ร้านที่มีถ้วยกาแฟ Tumbler ขาย (เช่น เอสแอนด์พี หรือ แบล็คแคนยอน) พนักงานจะไม่ค่อยงงเวลาที่มีคนเอาถ้วยกาแฟไปใส่เอง ส่วนร้านที่ใช้ถ้วยพลาสติกหลายๆ ร้านเราสังเกตว่าเขาจะควบคุมจำนวนขายโดยการนับจำนวนถ้วยที่ใช้ไป (เคยเห็นเขาเขียนตัวเลขตรงก้นถ้วย) เดาว่าร้านพวกนี้ไม่ยอมให้เราเอาถ้วยไปใส่กาแฟเอง เพราะจะทำให้เสียการควบคุมของเขาไป

ปล ๓. เพิ่งไปช็อปปิ้งที่ Big C มา ถ้าบอกพนักงานว่าไม่เอาถุงพลาสติก จะได้เงินค่าโทรศัพท์ ๒ บาท ความจริงน่าจะคืนเป็นเงินสด แต่ก็ยังดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ ที่ไม่มีแคมเปญจูงใจอะไรเลย เล่าให้ฟังไว้ เผื่อยี่ห้ออื่นจะออกแคมเปญทำนองนี้มาสู้มั่ง :)

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ช่วยๆ กันสอนดีไหม

วันก่อนเราไปซื้อหนังสือ แล้วก็เอาไปให้ห่อปกพลาสติกฟรี ตรงแผนกห่อปกมีเจ้าหน้าที่ของร้านกับเด็กแต่งชุดนักศึกษาอีก ๒ คน เราซื้อหนังสือหลายเล่ม มีหนังสือสำหรับเด็กเป็นชุดใส่ในกระเป๋าพลาสติกด้วย เด็กนักศึกษาหยิบไปแล้วก็พูดว่า เอ๊ะ... อันนี้จะทำยังไงเนี่ย แล้วก็หยิบไปวางแยกไว้แบบไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง แล้วก็หยิบหนังสือเล่มอื่นไปห่อแทน

เราก็เลยต้องหยิบกระเป๋าพลาสติกมาเปิดออก หยิบหนังสือออกมาวาง เขาถึงเข้าใจว่า อ้อ... ต้องเอาหนังสือออกมาจากกระเป๋าพลาสติกก่อน ถึงจะห่อปกได้ เฮ้อออ (รอบที่ ๑)

เราสังเกตว่าคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของร้านจะเลือกปกพลาสติกที่ใหญ่กว่าหนังสือ แล้วก็ใช้คัทเตอร์ตัดมุมส่วนที่เกินออก แล้วพับทบด้านบน-ล่าง และด้านหลัง แล้วติดสก็อตเทป ในขณะที่เด็กนักศึกษาคนที่หนึ่งจะใช้วิธีหาปกที่พอดีกับขนาดหนังสือ แล้วก็ทบปลายด้านหลังเข้าไปเฉยๆ (แบบแรกต้องใช้ฝีมือและความประณีตมากกว่า เพราะต้องตัดส่วนเกินออก, พับ, และติดสก็อตเทป) ส่วนเด็กนักศึกษาคนที่สอง หยิบหนังสือไป แล้วก็ถามว่า เล่มนี้มีปกขนาดพอดีไหม นี่แค่วัดขนาด ยังไม่คิดจะทำเลยเหรอเนี่ย เฮ้ออ... (รอบที่ ๒)

มีหนังสือเราเล่มหนึ่งขนาดมันกว้างกว่าพ็อคเก็ตบุคปกติ เราก็คอยดูว่าเด็กนักศึกษาจะห่อยังไง เพราะปกที่ขนาดพอดีกับความสูง ความยาวก็จะสั้นเกินกว่าที่จะพับทบตรงปกหลังได้ เรามองปราดเดียวก็รู้ว่าไม่พอแน่ๆ แต่เขาก็ยังเอาไปห่อ และพยายามทบปลายอยู่หลายรอบ แต่ก็ไม่ได้ สุดท้ายเขาใช้คัทเตอร์ตัดลิ้นด้านในออก ค่อยพับปลายทบเข้ามา จะเอาสก็อตเทปติด ถึงตอนนี้เราทนไม่ไหวก็เลยบอกให้เขาเอาปกขนาดใหญ่กว่าไปห่อ

ในระหว่างนี้เด็กคนที่สองห่อปกหนังสือของคนอื่นเสร็จแล้ว ก็เลยมาเอาหนังสือของเราไปห่อ ปรากกฏว่านอกจากจะใช้เวลานานมากๆ แล้ว คุณน้องยังห่อได้ชุ่ยมากๆๆ ดึงพลาสติกไม่ตึง พับไม่เรียบร้อย ปกก็เลยหลวมๆ จะหลุด แถมตัดมุมไม่เรียบร้อย จนเราต้องบอกให้เจ้าหน้าที่ของร้านช่วยตัดขอบออกให้มันเรียบๆ ในใจคิดว่ารู้งี้ขอปกพลาสติกกลับมาห่อเองคงจะดีกว่า

ระหว่างนี้ก็มีคนอื่นเอาหนังสือมาให้ห่ออีก มีบางเล่มเป็นปกแข็ง เด็กนักศึกษาก็บอกว่าห่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ร้านก็พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ไม่เห็นมีใครห่อได้ซักคน เราฟังแล้วก็รู้สึกเห็นใจ เพราะแค่เท่าที่สังเกตอยู่ไม่กี่นาที เราก็รู้ว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เรื่องจริงๆ ก็แค่ห่อปกหนังสือให้เรียบร้อยก็ยังทำไม่ได้ เฮ้อออ (รอบที่ ๓)

เรากลับมาเล่าให้พี่สาวฟังว่า เนี่ย.. เด็กสมัยนี้ ไปเป็นเด็กฝึกงาน หางานพาร์ทไทม์ทำ เหมือนจะดี ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้การทำงาน แต่เท่าที่เห็น กลับสักแต่ว่าไปทำ แต่ไม่ตั้งใจทำงานให้ดี ขนาดงานที่เหมือนจะง่ายๆ ก็ยังไม่ตั้งใจ แล้วใครจะกล้าวางใจให้ไปทำงานยากๆ

พนักงานประจำเจอเด็กฝึกงานหรือเด็กพาร์ทไทม์แบบนี้ก็คงเซ็ง แทนที่จะได้เด็กมาช่วยแบ่งเบาภาระ ก็เหมือนจะมีภาระเพิ่ม เพราะน้องทำอะไรไม่เป็น และไม่คิดจะขวนขวายทำให้ดีๆ ขึ้นเลย

พี่สาวเราฟังแล้วแทนที่จะหงุดหงิดหรือปลงสังเวชกับเรา กลับบอกว่าแล้วทำไมแกไม่สอนเขาไปล่ะ บอกไปเลยว่า เนี่ย... น้องทำแบบนี้ไม่เรียบร้อยเลย มาพี่(เอ.. หรือต้องเป็นป้า?)จะทำให้ดู สอนเขาว่าทำให้ดีๆ ต้องทำยังไง เราก็เลยนึกได้ว่า การที่เราเอาแต่บ่น หรือหงุดหงิดมันไม่ช่วยอะไร เพราะเด็กพวกนั้นก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองบกพร่องอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราช่วยๆ กันสอน ช่วยๆ กันบอก เด็กพวกนี้ก็น่าจะพัฒนาขึ้นได้ เพราะคุณน้องๆ คงไม่ได้เป็นบัวใต้น้ำกันซะทุกคนไปหรอกเนอะ!

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

ทุ่งทานตะวัน

เมื่อเช้าฟังวิทยุได้ยินเขาบอกว่า ตรงถนนเกษตรนวมินทร์ ช่วงแถวๆ หลังโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มีทุ่งทานตะวันใหญ่เบิ้ม ทางกทม. (หรือเขตฯ?) เขาไปขอความร่วมมือจากหมู่บ้านเสนานิเวศน์ใช้ที่ ๔๕ ไร่ ปลูกต้นทานตะวัน ตอนนี้กำลังออกดอกสีเหลืองทองอร่ามเต็มไปหมด

ฟังแล้วเลยได้คำตอบที่เราเก็บความสงสัย (อยู่เงียบๆ) มาปีกว่าๆ

เพราะช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีที่แล้ว เราขับรถผ่านไปตรงที่เขาพูดถึงนี่แหละ แล้วก็เห็นทุ่งทานตะวันที่ว่านี้ ก็เลยจอดรถถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วก็สงสัยว่าใครหนอ ที่มาปลูกต้นทานตะวันพวกนี้ไว้ และปลูกไปทำไม และฯลฯ

แต่ไม่ว่าใครจะปลูก เราก็ชื่นชม เพราะได้เห็นดอกทานตะวันบานเป็นทุ่ง แล้วชื่นใจ ยิ้มได้ (เพิ่มขึ้นจากการได้ขับรถเต็มสปีดในถนนว่างๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแค่ปีละครั้งตอนสงกรานต์)

ตอนนี้พ้นช่วงสงกรานต์มาแล้ว รถก็กลับมาติดเหมือนเดิม อากาศก็ร้อนยังกะนรก ตามถนนมีอะไรสวยๆ งามๆ ให้ดู ก็ได้คลายร้อน ได้เย็นใจกันบ้างก็ดีเนอะ ใครที่ไม่เคยเห็นทุ่งทานตะวัน อยากจะไปแอ็คท่าถ่ายรูป ก็ไปได้ อยู่ใกล้ๆ แค่นี้ ไม่ต้องขับไปต่างจังหวัดไกลๆ ให้เปลืองน้ำมันแล้ว :)

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

ความรู้กับความบันเทิง

เราเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาเราไปต่างประเทศ เราถึงรู้สึกอยากจะไปเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์ อยากไปดูงานศิลปะ แต่เมืองไทยก็มีพิพิธภัณฑ์ตั้งเยอะแยะ ผลงานศิลปะของเราไม่ได้ไม่ได้น้อยหน้าใครๆ เลย ทำไมเราไม่รู้สึกว่าอยากไปดูอยากไปชมสักเท่าไหร่ หรือว่าเราจะเป็นพวกไม่รักของไทย ไม่ชาตินิยม

พอได้มาอ่านที่อาจารย์นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ก็เพิ่งเข้าใจสาเหตุ ว่าเรายังไม่สามารถให้ความรู้ได้มากพอที่จะสร้างสำนึก สร้างความรู้สึกซาบซึ้งกับคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็น ได้ดูในพิพิธภัณฑ์หรืองานแสดงต่างๆ พอไปเข้าดูพิพิธภัณฑ์ไทย มันเลยไม่รู้สึกสนุก ไม่เห็นคุณค่า ไม่เข้าใจความหมาย

ในสังคมไทยดูเหมือนว่าความรู้กับความบันเทิงเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ความบันเทิงของไทยจึงมีแต่ความไร้สาระ ไม่สมจริงสมจัง ในขณะที่ความรู้ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ หนักหัวสมอง เคร่งเครียด ไปซะงั้น

...ศิลปะและรสนิยมทางศิลปะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่าทักษะและทัศนคติบางด้าน สังคมใดไปฝากศิลปะไว้กับการศึกษามวลชนจึงมักไม่สามารถปลูกฝังรสนิยมอันดีทางศิลปะแก่มวลชนได้

อย่าเพิ่งคิดเอาไปฝากไวก้บครอบครัวนะครับ เพราะฝากกับครอบครัวนั้นถูกแน่ แต่ถูกแบบกำปั้นทุบดิน เนื่องจากครอบครัวของมวลชนเองก็อ่อนแอในเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นในสังคม เพื่อช่วยครอบครัวด้วย เครื่องมือสำคัญก็คือ สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่แทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคนในตลาด

สื่อในเมืองไทยเอื้อต่อการเรียนรู้และเสพย์ศิลปะมากน้อยแค่ไหน ก็เห็นๆ กันอยู่แล้วนะครับ ผมจะไม่พูดถึง

แต่ผมอยากจะพูดถึงสถาบันที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันไปเที่ยวเตร่เยี่ยมเยือน เช่น พิพิธภัณฑ์, สวนสนุก, สถาบันดนตรี, หอศิลป์, มหกรรม, งานนิทรรศการ, งานแสดงสินค้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้มากกว่า

สิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายที่ซ้อนกันอยู่หลายมิติ หากำไรก็ใช่, ให้ความบันเทิงก็ใช่, และที่ไม่ควรขาดอย่างยิ่งก็คือ ให้การเรียนรู้ด้วย เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกันเองนะครับ ถ้าไม่หน้ามืดกับการหากำไรจนเกินไป ก็จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ในอนาคต ไม่ใช่การลงทุนเปล่า

พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ที่แสดงของพร้อมป้ายอธิบายอย่างหยาบๆ เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ (ทุกชนิด) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนุกและให้การเรียนรู้มาก แต่ต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย เช่น สร้างแกนเรื่อง (theme) ที่น่าสนใจขึ้น และมีบริการนำชมเป็นรอบๆ ไป

ใครเข้าชมหอศิลป์ ก็อาจจะซื้อตั๋วเพื่อชม “อิทธพลของ Impressionism ในศิลปะไทย” ซึ่งจะได้ชมภาพของศิลปินไทยหลายท่าน รวมทั้งได้ความรู้ว่าอะไรคือ Impressionism ในทางศิลปะ, อิทธิพลนั้นแสดงออกในภาพเขียนอย่างไร, ยังมีสืบมาถึงปัจจุบันหรือไม่, เทคนิควิธีของการเขียนภาพแบบต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งอาจซักไซ้ผู้นำชมได้อีกมากมายโดยไม่มีคำตอบตายตัว

แกนเรื่องมีมากมายหลายเรื่อง และต้องสร้างขึ้นใหม่ให้น่าสนใจอยู่เสมอ

ผมจึงพูดอยู่บ่อยๆ ว่า หัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์, หอศิลปะ, นิทรรศการ, ฯลฯ นั้นคือวิจัย นอกจากต้องมีความรู้ว่าจะเก็บและตั้งแสดงอย่างไรแล้ว ต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการพอที่จะสร้างแกนเรื่องให้ใหม่สดและอยู่ในความสนใจใคร่รู้ของผู้คนได้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างสถาบันทางดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกสักแห่งหนึ่งเป็นตัวอย่าง นั่นคือ Lincoln Center แห่งนิวยอร์ก

ผู้คนรู้จักศูนย์ลิงคอล์นว่าเป็นโรงแสดงดนตรีอันมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วศูนย์ลิงคอล์นเป็นมากกว่านั้นมาก

ห้องประชุมใหญ่ของที่นี่ชื่อ Avery Fisher Hall อันเป็น “บ้าน” ของ New York Philharmonic Orchestra อันลือชื่อ นอกจากใช้แสดงแล้วยังใช้ฝึกซ้อม วงดนตรีนี้ไม่ห้อยอยู่บนบันไดชั้นบนเฉยๆ แต่ยังพยายามปลูกฝังรสนิยมการฟังดนตรีแก่เยาวชนและคนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยที่ Leonard Bernstein เป็นผู้อำนวยการและอำนวยวง ตัวเขานั่นเองแหละที่จะนำวงมาสอนทุกวันอาทิตย์ และว่ากันว่า เขาเป็นครูชั้นยอดทีเดียว

ที่สังกัดอยู่กับ Lincoln Center ยังมีศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากดนตรีคลาสสิค เช่น สถาบันอุปรากรและบัลเลต์, มีสมาคมภาพยนตร์, มีแจ๊ซ, และเชมเบอร์มิวสิคอยู่ด้วย นอกจากนี้ ก็มีห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่ใหญ่มาก มีพิพิธภัณฑ์การดนตรี และมีการขายทัวร์นำผู้สนใจเข้าชมทั้งศูนย์ได้ด้วย

สถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Lincoln Center คือโรงเรียนดนตรีชื่อ Julliard ซึ่งถือกันว่าโรงเรียนนี้ผลิตนักดนตรีดีที่สุดของโลก นักเรียนดนตรีที่นี่จัดแสดงดนตรีในหอประชุมต่างๆ ของศูนย์เกือบตลอดปี แม้มีชื่อเสียงระดับสุดยอด โรงเรียนดนตรี Julliard ก็ยังจัดสอนภาคพิเศษตอนเย็น ซึ่งเปิดรับคนทั่วไปเข้าเรียนได้ แล้วแต่จะเลือกสนใจเรื่องอะไรของดนตรี แม้แต่นักท่องเที่ยวซึ่งมีเวลาอยู่นิวยอร์กนานพอ ก็สามารถไปลงทะเบียนเลือกเรียนได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดเรื่องเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากบอกกล่าวกิจกรรมของศูนย์หรือวงนิวยอร์กฟิลฮาร์มอนิกแล้ว ยังให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีและศิลปะการแสดงแขนงอื่นอีกมากมายด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถทำตลาดให้เป็นมากกว่าที่ขายของได้ นั่นก็คือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย เพราะชีวิตคนปัจจุบันอยู่ในตลาด หากตลาดไม่ให้การเรียนรู้ ผู้คนจะ “มีการศึกษา” ไม่ได้ ไม่ว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปเป็น ๑๒ หรือ ๒๔ ปี

ตลาดศิลปะที่มีคุณภาพเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีการเรียนรู้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นในชีวิตปรกติของตลาด อันไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะการจัดแสดงเพียงอย่างเดียว เดินเข้าไปชมภาพศิลปะร่วมสมัยในหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยไทย โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตกรรมสมัยใหม่เลย จะไม่ให้ความรู้สึกว่ามีเท้าที่มองไม่เห็นถีบออกมาได้อย่างไร

ตลาดที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้ ย่อมไม่สามารถอุปถัมภ์ศิลปะและวิทยาการที่ดีเลิศได้เป็นธรรมดา และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในตัวตลาดนั้นเองได้ ทั้งยังเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดด้วย เพราะสัมพันธ์กับชีวิตคนยิ่งกว่าโรงเรียน, วัด, หรือภาพเขียนและดนตรีเลิศใดๆ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของการอุปถัมภ์ศิลปะจากอภิชนมาสู่สามัญชนนั้น ต้องมาพร้อมกับการทำให้ความรู้เป็นสมบัติของประชาชนด้วย (popularization of knowledge) แต่นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยใส่ใจตลอดมาตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงได้แต่หงุดหงิดงุ่นง่านไปตามลำพัง เพราะไม่มีใครยอมเผยแพร่แบ่งปันความรู้กันตามที่แกเรียกร้องอยู่เสมอเลย

ตัดตอนมาจาก “ศิลปะในตลาดที่ไม่ได้เรียนรู้” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ – มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๔๐ วันที่ ๒๑-๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

ลดใช้ถุง ช่วย(ไม่ให้)โลกร้อน

ห้างเซ็นทรัลจัดโปรโมชั่น No Bag Day วันที่ ๒๔-๓๐ มีนาคม คนที่เอาถุงมาใส่สินค้าเอง จะได้ลดราคา ๑๐-๓๐% (เฉพาะสินค้าที่ร่วมรายการ) เราไม่ได้จะช่วยโฆษณาให้เซ็นทรัล แต่จะบอกว่าความจริงไอเดียแบบนี้ น่าจะมีคนทำกันเยอะๆ

สมัยที่เราที่เราไปเรียนที่อังกฤษตอนแรกๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่มีถุงก๊อบแก๊บใส่ของให้ ต้องเอาถุงไปใส่ของเอง หรือจะซื้อถุงพลาสติกของเขาก็ได้ ถ้าจำไม่ผิดราคา ๕๐ เพนซ์ จะเป็นถุงพลาสติกหนาๆ คุณป้าๆ ชาวอังกฤษ ซื้อถุงแบบนี้แล้วก็เก็บไว้ใช้หลายๆ ครั้งจนกว่าจะพัง ตอนหลังๆ เขาถึงจะเริ่มมีถุงก๊อบแก๊บให้ฟรี แต่คนก็ยังเอาถุงไปใส่ของกันเอง ไม่รู้ว่าผ่านมา ๑๐ กว่าปีแล้ว เขายังเอาถุงไปใส่ของกันเองอยู่หรือเปล่า

ช่วงนี้เขาหันมารณรงค์ถุงผ้ากัน เรามีมาตรการส่วนตัวด้วยการหิ้วถุงผ้าใบเล็กไปกินข้าวตอนกลางวัน เอาไว้ใส่ผลไม้ที่ซื้อจากรถเข็น เราก็ต้องคอยรบกับพ่อค้าผลไม้ เพราะเขาก็จะคอยหยิบผลไม้ที่ใส่ถุงพลาสติกอยู่แล้ว ไปใส่ในถุงก๊อบแก๊บก่อนจะยื่นให้เราด้วยความเคยชิน เราต้องคอยบอกว่าไม่เอาถุงๆ ทุกครั้งไป ความจริงก็เกรงใจเขาหน่อยๆ เหมือนกันที่ทำให้เขาเสียกระบวนการผลิตอัตโนมัติของเขา แต่เราก็อดสงสารโลกไม่ได้...

มาตรการอื่นๆ ของเราก็อย่างเช่น เวลาไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็เอาถุงผ้าที่บริษัทแจกไปใส่ของ (ปีนี้บริษัทเราเขา “ฮิต” เรื่องปัญหาโลกร้อนกับเขาเหมือนกัน) บริษัทเราเป็นอเมริกัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความมโหฬาร เพราะฉะนั้นถุงผ้าที่แจก ใบใหญ่ขนาดถ้าใส่ของเต็มถุง ก็แทบจะหิ้วไม่ใหว เพราะฉะนั้นเวลาเราไปซื้อของครั้งหนึ่งๆ จะประหยัดถุงก๊อบแก๊บไปได้อย่างน้อย ๒-๓ ถุง

เวลาเราไปซื้อของตามร้านหรือห้างสรรพสินค้า ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่เอาถุง จะให้เขาใส่มาในกระเป๋าถือ หรือถุงผ้าที่เราหิ้วไปเอง (อันนี้ก็ต้องดูจังหวะด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีพนักงานเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเราไม่อยากจะสร้างขยะ จะยืนยันใส่ถุงให้เราท่าเดียว)

โปรโมชั่นอย่างที่เซ็นทรัลทำเนี่ย เราไม่อยากให้มันเป็นแค่แฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความจริงเขาก็จะต้องมีโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากันอยู่เนืองๆ ตลอดปีอยู่แล้ว การลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเพิ่มยอดขายให้ตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน

เรานึกไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือซุปเปอร์สโตร์ ก็น่าจะอะไรทำนองนี้ได้ เช่น ใครเอาถุงมาใส่ของเอง ลดราคาให้เลย ๑-๕% ของยอดซื้อ ยี่ห้อไหนใจป้ำก็ลดให้เยอะหน่อย (แต่ถ้าเอาถุงของคู่แข่งมาใส่ อาจจะลดให้น้อยหน่อย... ฮา!!) ถ้าจะให้ดึงดูดใจมากไปอีก ทำเลนพิเศษให้จ่ายเงินไปเลย ใครเอาถุงมาเอง เข้าช่อง No Bag Lane ได้ลดราคา แถมได้จ่ายเงินเร็ว

ทำแบบนี้ค่อยทำให้คนอยากจะลดใช้ถุง ช่วย(ไม่ให้)โลกร้อนกันหน่อย

ซ้ายหรือขวา?

ได้ฟอร์เวิร์ดเมลจากคนที่ออฟฟิศ บอกว่าให้ลองมองรูปสาวน้อยเต้นระบำคนนี้ดูว่า หมุนตัวไปทางไหน? หมุนตามเข็มนาฬิกา หรือ ทวนเข็มนาฬิกา เป็นแบบทดสอบ เพื่อดูว่าเราใช้สมองข้างไหนเป็นหลักในการตัดสินใจ

(หมายเหตุ: รูปข้างล่างนี้เป็น animated gif แต่เราอัพโหลดรูปในบล็อกเกอร์นี่ แล้วดูเหมือนว่ามันจะไม่ animated เอาเป็นว่าใครไม่เห็นว่ารูปสาวน้อยข้างล่างนี้หมุนตัว... ให้กดไปดูรูป >>ที่นี่)


ถ้าเห็นสาวน้อยหมุนตัวตามเข็มนาฬิกา หมายความว่า ใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก ถ้าเห็นสาวน้อยหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา หมายความว่า ใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก

แล้วก็มี “คำทำนาย” บอกลักษณะนิสัยของคนสองแบบ – พวกสมองซีกซ้าย กับพวกสมองซีกขวา (เราอ่านลักษณะนิสัย ๒ ด้านแล้ว เราว่าไม่น่าจะเรียกว่า ว่า พวกสมองซีกซ้าย หรือ พวกสมองซีกขวา แต่น่าจะเรียกว่า เป็นพวก “ใช้สมอง” กับพวก “ใช้หัวใจ” มากกว่า)

สมองซีกซ้าย (LEFT BRAIN FUNCTIONS)สมองซีกขวา (RIGHT BRAIN FUNCTIONS)
- ใช้เหตุผล (uses logic)- ใช้ความรู้สึก (uses feeling)
- เน้นรายละเอียด (detail oriented)- เน้นภาพรวม (“big picture” oriented)
- เชื่อข้อเท็จจริง (facts rule)- เชื่อจินตนาการ (imagination rules)
- คำพูดและภาษา (words and language)- สัญลักษณ์และรูปภาพ (symbols and images)
- ปัจจุบันกับอดีต (present and past)- ปัจจุบันกับอนาคต (present and future)
- คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (math and science)- ปรัชญาและศาสนา (philosophy & religion)
- เข้าใจความสำคัญหรือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ (can comprehend)- เข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ (can “get it” (i.e. meaning))
- มีความรู้ (knowing)- มีความเชื่อ (believes)
- ยอมรับเพราะความรู้ รับรู้ถึงความมีอยู่และความเป็นจริง (acknowledges)- ยอมรับเพราะความซาบซึ้ง รับรู้ถึงคุณภาพและความสำคัญ (appreciates)
- สนใจลำดับ/รูปแบบ (order/pattern perception)- สนใจมิติและระยะ (spatial perception)
- รู้จักชื่อของสิ่งของ (knows object name)- รู้การทำงานของสิ่งของ (knows object function)
- อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง (reality based)- อยู่บนโลกของความเพ้อฝัน (fantasy based)
- วางกลยุทธ์ (forms strategies)- นำเสนอโอกาสและความน่าจะเป็น (presents possibilities)
- ทำตามหลักการ/ความเหมาะสม/วิถีปฏิบัติ (practical)- ทำตามสิ่งกระตุ้น/แรงจูงใจ/อารมณ์ (impetuous)
- ปลอดภัยไว้ก่อน (safe)- กล้าได้กล้าเสีย (risk taking)

เราดูภาพแล้วก็รู้สึกว่าสนุกดี เพราะครั้งแรกเรามองเห็นสาวน้อยหมุนทวนเข็มนาฬิกา (พวกสมองซีกซ้าย – สำหรับวิศวกรก็เหมาะสมดี!) แต่พอเราหันไปมองทางอื่น แล้วกลับมามองใหม่ สาวน้อยหมุนตามเข็มนาฬิกาไปซะแล้ว และพอมองๆ ไปซักพัก เราก็สามารถจะเปลี่ยนทิศทางการหมุนได้ โดยโฟกัสสายตาไปตรงอื่นแล้ว คิดว่าจะให้สาวน้อยหมุนไปทางไหน แล้วกลับมาโฟกัสที่สาวน้อยอีกทีหนึ่ง

ตอนแรกเราก็เชื่อว่ามันเกี่ยวกับการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาจริงๆ เลยคิดซื่อๆ เอาเองว่า ถ้างั้นเราก็น่าจะ “ฝึก” ใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งได้ โดยการพยายามเลือกทิศทางการหมุนของสาวน้อย

ว่าแต่เรื่องของการทำงานของสมองนี่มันจริงหรือเปล่า เราชักสงสัย ก็เลยไปลองเสิร์ชดูว่ามีคนเขียนอะไรเกี่ยวกับสมองซีกซ้าย-สมองซีกขวาเอาไว้มั่ง ก็ไปเจอเรื่องสาวน้อยหมุนตัวนี้ในบล็อกเกี่ยวกับสมองที่เขียนโดยดร.สตีเวน โนเวลลา ดร. โนเวลลาเป็นอาจารย์แพทย์ด้านสมองสอนอยู่ที่ Yale University School of Medicine

เขาบอกว่า เรื่องสมองซีกซ้ายสมองซีกขวานี้ เป็นความเชื่อฝังใจของคนทั่วไปมานาน และน่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน แน่นอนว่าเรามีสมองสองซีก แต่ละซีกมีหน้าที่ความสามารถในการทำงานด้านต่างๆ แตกต่างกัน แต่มันเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น และทำงานเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร้รอยต่อ

มันเป็นความจริงว่าคนแต่ละคนจะใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งเป็นหลัก แต่เรื่องนี้มีผลกับความถนัด (ซ้ายหรือขวา) และการประมวลผลด้านภาษามากกว่า นอกจากนี้ยังมีความไม่สมมาตรกันของสมองในด้านความทรงจำ คือบางคนอาจจะใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลักในการเก็บความทรงจำ ในขณะที่บางคนอาจจะใช้ซีกขวา

แต่การบอกว่าคนเรามีความสามารถหรือบุคลิกภาพแบบนั้นแบบนี้ เป็นเพราะเราใช้สมองซีกซ้ายหรือสมองซีกขวามากกว่า เป็นเรื่องไร้สาระ

คุณหมอยังบอกต่อไปอีกว่า การมองภาพสาวน้อยคนนี้ (หรือภาพลวงตาอื่นๆ) เป็นแค่การบอกว่าสมองของเราแปรข้อมูลที่ตามองเห็นไปเป็นภาพในสมองอย่างไรเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นทดสอบว่าเราใช้สมองซีกไหนเป็นหลัก หรือ หรือใช้เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพ ได้แต่อย่างใด

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2551

แก่ง่ายตายยาก

พอดีย้อนกลับไปเจอข้อมูลเก่าๆ ที่เราเสิร์ชหาตอนจะเขียนโพสต์เก่าๆ ที่เราเคยสงสัยว่าตกลงอายุเฉลี่ยคนไทยเป็นเท่าไหร่กันแน่

เอาให้ละเอียดๆ หน่อยก็คือ...

จากข้อมูลปี ๒๐๐๖ คนไทยทุกเพศ มีอายุเฉลี่ย ๗๒.๕๕ ปี (ทีแรกจะบอกว่า “คนไทยเพศชายและหญิง” แต่นึกได้ว่าเดี๋ยวนี้มี “เพศทางเลือก” ด้วย เลยใช้ทุกเพศแทนดีกว่า!) ส่วนคนไทยเพศชาย ๗๐.๒๔ ปี คนไทยเพศหญิง ๗๔.๙๘ ปี

จะเห็นว่าโดยเฉลี่ย ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ถึง ๔ ปี

เหตุผลที่เคยได้ฟังมาก็คือ ผู้ชายมักจะใช้ชีวิตด้วยความสุ่มเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เช่น ขับรถเร็วๆ กินเหล้าเยอะๆ สูบบุหรี่ และเที่ยว (ทั้งท่องเที่ยวทั่วไป และเที่ยวสถานอโคจร??) ผู้ชายไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ทำให้อายุไม่ยืนเท่าผู้หญิง

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นความเห็นจากผู้หญิง... แต่ผู้ชายบางคนอาจจะแย้งว่าที่อายุเฉลี่ยของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เพราะ “ผู้หญิงแก่ง่ายและตายยาก” ตะหาก อืมม์... อันนี้ก็น่าคิด... มาลองดูตัวเลขอื่นๆ กันอีกหน่อยดีกว่า

จากข้อมูลปี ๒๐๐๖ มีสถิติจำนวนประชากรเพศชายต่อเพศหญิง ตามช่วงอายุต่างๆ ดังนี้ (ในวงเล็บเป็นคำอธิบายของเราเอง)
แรกเกิด: จำนวนเพศชาย ๑.๐๕ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๑,๐๕๐ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี: จำนวนเพศชาย ๑.๐๔๗ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๑,๐๔๗ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุ ๑๕-๖๔ ปี: จำนวนเพศชาย ๐.๙๗๖ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๙๗๖ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุเกิน ๖๕ ปี: จำนวนเพศชาย ๐.๘๓๔ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๘๓๔ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
จากช่วงแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น มีจำนวนผู้ชายเยอะว่าผู้หญิง แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้หญิงจะเริ่มเยอะกว่าผู้ชาย จากแรกเกิดถึงอายุ ๖๕ ปี ผู้ชาย ๑๐๕๐ คน ตายไปตั้ง ๒๑๖ คน แต่ผู้หญิงยังไม่ตายซักคน แสดงว่า ผู้หญิงแก่ง่ายตายยาก ซ.ต.พ.

ปล. ข้อมูลตัวเลขในโพสต์นี้ ได้จาก The world fact book แต่ข้อสรุปต่างๆ เราโม้เอาเองทั้งสิ้น แหะๆ
ปล. ๒ แถมการ์ตูนจาก http://www.shoecomics.com/ ให้อ่านเล่น

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551

Five Stages of Grief

วันก่อนในซีรีส์ House, M.D. พูดถึง Five Stages of Grief (๕ ช่วงเวลาของความโศกเศร้า) เราฟังไม่ทันแต่ไปเสิร์ชเจอในเน็ท มันเป็นไอเดียของจิตแพทย์ชื่อเอลิซาเบ็ธ คูเบลอร์-รอส (Elizabeth Kübler-Ross) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “On Death and Dying” เมื่อปีค.ศ. ๑๙๖๙

คุณหมอคูเบลอร์-รอสนำเสนอ Kübler-Ross Model ซึ่งเป็นขบวนการที่คนจะจัดการกับความเศร้าโศกและความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง เช่น ในเวลารู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา กำลังจะเผชิญหน้ากับความตาย คนมักจะต้องผ่านช่วงเวลา ๕ ช่วง

๑. ปฏิเสธ (Denial): ช่วงเริ่มต้น “ไม่จริงหรอก... มันเป็นไปไม่ได้”
๒. โกรธ (Anger): “ทำไมถึงเป็นฉัน? ไม่ยุติธรรมเลย”
๓. ต่อรอง (Bargaining): “ยังไงก็ขอให้ได้อยู่จนเห็นลูกเรียนจบ”
๔. หดหู่ (Depresison): “ฉันเศร้าสุดๆ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต”
๕. ยอมรับ (Acceptance): “แล้วมันก็จะโอเค”

คุณหมอคูเบลอร์-รอสบอกว่า นอกจากตอนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายแล้ว คนมักจะผ่านขบวนการแบบนี้ด้วยเหมือนกัน เวลาเกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวง (เช่น ตกงาน สูญเสียรายได้ หรืออิสรภาพ) รวมทั้งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือการหย่าร้าง และแต่ละคนอาจจะไม่ได้ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตามลำดับที่ว่านี้ และไม่จำเป็นจะต้องมีครบทั้งห้าข้อ แต่ทั่วไปมักจะต้องผ่านอย่างน้อย ๒ ช่วงเวลา

ช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินและอ่านเรื่องราวของน.พ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางวิทยุ ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณหมอมากนัก แต่หลังจากคุณหมอเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้รู้เรื่องราวบางส่วนของคุณหมอมากขึ้น (แต่คิดว่ายังรู้น้อยมากเทียบกับผลงานและคุณงามความดีของคุณหมอซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่องระบบบริการสุขภาพของไทย)

มติชนสุดสัปดาห์เอาบันทึกของคุณหมอมาลง คุณหมอเขียนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่ได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดต่างๆ มากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับโรคมะเร็ง

บางกอกโพสต์วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาเอา “บัญญัติ ๑๐ ประการสำหรับนักสู้ (มะเร็ง)” มาลงในคอลัมน์ Health Tips บางคนอาจจะได้เคยผ่านตามาแล้ว เพราะรู้สึกว่าจะเอามาจากหนังสือ “เปลี่ยนมะเร็งให้เป็นพลัง” ของคุณหมอ เราสรุปมาให้อ่าน (อาจจะแปลกๆ แปร่งๆ ซักหน่อย เพราะเราแปลมาจากภาษาอังกฤษ)

๑. หลังจากที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่าตกใจ ทำใจให้สงบ คิดและเสาะหาที่ปรึกษาทางการแพทย์ และวิธีการรักษาทันที
๒. คิดในทางบวก อย่ายึดติดกับความเชื่อที่ว่า เป็นมะเร็งแล้วต้องตาย
๓. เปิดใจกว้างยอมรับทั้งการรักษาจากแพทย์สมัยใหม่และแพทย์แผนโบราณ เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเอง
๔. ทำงานกับแพทย์ผู้รักษาเราเหมือนเป็นทีมเดียวกัน เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับคนไข้มะเร็ง และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
๕. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพมากขึ้น กินอย่างมีสุขภาพมากขึ้น
๖. เข้าใจความสำคัญของสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจ สภาพทางอารมณ์ที่ไม่ดีทำให้สภาพทางร่างกายแย่ไปด้วย
๗. มีความอดทน เพราะคนไข้มะเร็งจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และจะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรง
๘. ดูแลรักษาจิตใจ พยายามปล่อยวางและเรียนรู้ที่จะให้อภัย
๙. ช่วยเหลือผู้อื่น หลังจากฟื้นตัวแล้ว หาโอกาสทำความดีให้กับคนอื่น อาจจะไปเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม
๑๐. มีสติกับความตาย และเตรียมตัวที่จะจัดการสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ

ถ้าย้อนกลับไปดู Five Stages of Grief บัญญัติ ๑๐ ประการของคุณหมอ ข้ามช่วงที่ ๑-๔ พรวดมาที่ช่วงที่ ๕ เลย ซึ่งเราว่าคนที่จะทำแบบนี้ได้เวลาเผชิญหน้ากับความตาย ต้องมีสติและมีใจหนักแน่นมากๆ

คนเราเกิดมาต้องสูญเสีย ต้องเสียใจ และต้องตายกันทุกคน ถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้น ต้องตั้งสติให้ดี จับอารมณ์ให้ได้ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน และพยายามทำใจไปให้ถึงช่วงสุดท้ายให้ได้ แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนความโศกเศร้าสูญเสียให้กลายเป็นพลังได้เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

พอเพียง

วันก่อนเพิ่งอ่านนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนคอลัมน์ การ์ตูนที่รัก ในมติชน บ่นเรื่องการ์ตูนหรือหนังสือที่หน่วยงานราชการทำออกมาส่งเสริมเรื่องราวต่่างๆ (เช่น เศรษฐกิจพอเพียง) ว่ามันไม่สนุก เพราะมักจะโดนกำหนดกรอบมาจากหน่วยงาน คิดสร้างสรรค์แหวกแนวไม่ได้

สิ่งที่ได้ก็เลยเป็นแนวเดิมๆ เช่น เศรษฐกิจพอเพียงก็ภาพซ้ำๆ ของการใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย ออกแนวสอนสั่งไปเรื่อยเจื้อย มันไม่จ๊าบ (วันก่อนดูรายการตาสว่าง แล้วพิธีกรสอนว่า อย่าไปชื่นชมอะไรว่ามัน “จ๊าบ” เพราะมันตกยุคไป ๑๐ ปีเป็นอย่างน้อย... อืมม์ สงสัยต้องชมว่า เก๋ไก๋ไก่เต่า ละมั้ง :) )

เราเห็นด้วยกับคุณหมอประเสริฐ เพราะได้อ่านหนังสือแนวนี้ผ่านๆ มาบ้าง รู้สึกว่าไม่สามารถกระตุกใจ คนที่จะทำตามได้ ก็เป็นเพราะเขาเป็นคนที่มีชีวิตในแนวทางนั้นอยู่แล้ว แต่คนที่ทำไม่ได้ อ่านแล้วก็ไม่น่าจะเอามาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ เพราะมันจับต้องไม่ได้ หรือไกลตัวเกินไป

ช่วงที่ผ่านมาได้เห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเว็บไซท์พอเพียงไลฟ์ ที่บอกว่ามีโฆษณาที่ไม่ขายของ แต่สร้างความพอเพียง สร้างความสุขในสังคม ก็สงสัยอยู่หน่อยๆ ว่าจะเป็นอีหรอบเดียวกับการ์ตูนส่งเสริมแบบที่ว่านี้หรือเปล่า

วันนี้ตอนขับรถกลับบ้าน ได้ฟังวิทยุเขาพูดถึงโฆษณานี้อีกแล้ว ว่าคนทำเป็นสุดยอดฝีมือในวงการโฆษณาและภาพยนตร์ของไทย (๘ คนกับโฆษณา ๘ เรื่อง) ฟังแล้วเลยชักอยากดูว่ามันจะขนาดไหน จะแปลกใหม่ติดหูติดตา สู้โฆษณาขายของได้ไหม (ล่าสุดนี้ได้ดูโฆษณา “อ้ายวี” เราว่าเข้าท่าดี น่าจะได้ใจบรรดาแม่เจ้าประคุณรุนช่องที่เอาแต่เล่น “ฮิห้า” อยู่บ้าง)

เขาพูดถึงโฆษณาชิ้นที่เป็นของคุณเป็นเอก รัตนเรืองว่าเกี่ยวกับ “นมแม่” เราเลยต้องไปดาวน์โหลดมาดู ส่วนตัวดูแล้วก็ไม่รู้ว่า “โดน” ซักเท่าไหร่ อยากรู้ว่าคนอื่นดูแล้วจะรู้สึกยังไง จะสร้างกระแสนมแม่สู้กับโฆษณาหลอกลวงของนมผงนมวัวได้ไหม?

แต่เราว่าโฆษณาชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ก็น่าจะถูกเผยแพร่ส่งต่อๆ กันไปในระดับหนึ่ง เพราะคนมักจะชอบพูดว่า “เรื่องดีๆ ก็ต้องช่วยกันส่งเสริม” และสังคมส่วนใหญ่ก็ช่วยส่งเสริมด้วยการ “บอกคนอื่น” ว่าอันนี้มันดี น่าจะทำตาม ใครทำตามได้จะดีมาก แต่แล้วตัวคนที่บอกต่อส่งต่อก็ลืมไป

เหมือนเวลาคนชื่นชมคนอื่นที่ทำดี เสียสละเพื่อสังคม แต่พอถามย้อนกลับไปว่าทำไมคุณไม่ทำบ้าง ก็บอกว่า “ฉันยังเอาตัวเองไม่รอดเลย แล้วจะไปช่วยเหลือสังคมเป็นคนดี ได้ไง?” เราว่าทำความดี เป็นคนดี เสียสละเืพื่อสังคม ไม่ต้องรอให้พร้อมนะ ตั้งใจดีแล้วลงมือทำได้เลย!


ปล. ทีแรกเราพยายามจะอัพโหลดวิดีโอไฟล์โฆษณานมแม่แต่ไม่สำเร็จ ก็เลยให้ลิงก์เว็บไซท์พอเพียงไลฟ์ไว้ (http://www.porpeanglife.com/2008/ ) ให้คนที่อยากดูไปดูที่นั่นเอง แต่สุดท้ายก็มาอัพโหลดวิดีโอจากออฟฟิศได้สำเร็จ ดูแล้วเห็นว่าไงก็บอกกันได้ ส่วนคนที่ไปเว็บพอเพียงไลฟ์แล้ว ได้ดูอันอื่นๆ แล้วเห็นว่าเป็นไงก็เล่าให้ฟังได้นะ เพราะเราได้ดูแค่อันนี้อันเดียวอะแหละ :P

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วัตถุมงคล

ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ยังไงก็ตาม เราก็ยังเห็นว่าพระพยอมเจ๋งดี...

คราวก่อนโน้นทำคุ้กกี้ “จตุคำ” รุ่นฉุกคิด ๔ คำรวยโคตร ประชดพุทธศาสนิกชนที่แห่กันไปนับถือบูชาเหรียญจตุคามรามเทพกันยกใหญ่เมื่อปีที่แล้ว คราวนี้มาอีกแล้วครับทั่น...

พระพยอมทำโคตรเหรียญ “ตรีรัตนะธรรมมงคล” แจกในวันมาฆะบูชาพรุ่งนี้ (๒๑ ก.พ. ๒๕๕๑) ที่วัดสวนแก้ว ตั้งใจให้พุทธศานิกชนเอาไปเพ่งขบคิดให้เข้าถึงพระธรรม

... จากนั้น พระพยอมกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ได้จัดทำโคตรเหรียญ “ตรีรัตนะธรรมมงคล” ขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลาง ๗ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว หนักครึ่งกิโลกรัม ทำจากดิน ไม่มี มวลสารใดๆ

ด้านหน้าเป็นรูปธรรมจักรเขียนคำว่า “ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ” ส่วนด้านหลังเป็นภาพตรีรัตนะ ประกอบด้วยภาพดอกบัวบานในวงกลม มีเปลวไฟพุ่ง ๓ ยอด หมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดรัตนะคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อยู่บนแท่นวัชรอาสน์

สิ่งที่ทำนี้ไม่ใช่วัตถุพระเครื่องมงคล แต่เป็นพระธรรมมงคล ไม่มีมวลสารใดๆผสมอยู่ เป็นดินเผาล้วนๆ และไม่มีพิธีปลุกเสกอะไรทั้งนั้น

พระพยอมกล่าวอีกว่า เหรียญดังกล่าวนี้มีขนาดใหญ่เท่าพิซซ่าถาดเล็ก หรืออาจจะเรียกว่าโคตรเหรียญก็ได้ เป็นรุ่นแรกที่ทำขึ้นมา ไม่ต้องนำมาห้อยคอ แต่อยากให้เอาไว้ที่บ้าน ไม่ต้องกราบไหว้บูชา แต่เอาไว้เพ่งขบคิดเรื่องอริยมรรค มีองค์แปด

เหรียญรุ่นนี้ไม่ช่วยให้ขลัง แต่ ช่วยให้คิด เพื่อให้ชาวพุทธหันกลับมาเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเรื่องธรรมคุณ เพราะขณะนี้คนส่วนใหญ่หันไปยึดติดวัตถุต่างๆ เช่น องค์จตุคามรามเทพ ที่ทำขึ้นมาถึง ๗๐๐ รุ่น แต่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าสักรุ่นเดียว

นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าต่างๆ ที่คนกำลังเข้าไปยึดติด จึงอยากเตือนสติคนเหล่านั้นให้หันมาหาแกนของพระธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากใครอยากเป็นเจ้าของติดต่อขอรับได้ที่วัดสวนแก้ว ในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๑ ก.พ.นี้
ตัดมาจากข่าวหน้า ๑ ไทยรัฐ: ของเก่า ให้พระพยอม พบทอง [๑๙ ก.พ. ๕๑ - ๐๓:๔๓]

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บัตรเครดิต ๑๐๑

เคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ ๕ ปีก่อน ตั้งแต่สมัยยังเป็นไดอะรี่ไม่ใช่บล็อก ลองย้อนกลับไปอ่านดู เนื้อหาก็ยังไม่ล้าสมัยซะทีเดียว (เก่งเหมือนกันนะคนเขียนเนี่ย ฮ่าๆๆ) เลยเอามาแปะให้อ่านซ้ำ เป็นความรู้พื้นๆ เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต :)

Credit Card 101 Thursday, Jun. 13, 2002

ช่วงที่ผ่านมาในออฟฟิศคุยกันเรื่องบัตรเครดิตค่อนข้างบ่อย เพราะมีธนาคารต่างๆ มาตั้งโต๊ะรับสมัครที่ใต้ตึกบ่อยๆ บางทีก็มีคนมารายงาน “ข้อเสนอดีๆ” ให้ฟัง พวกเราส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตกันคนละใบสองใบกันแล้ว ก็จะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอดีมีน้อง ๒-๓ คนที่เพิ่งจบจากมหาลัยเข้ามาทำงานใหม่ เขาก็ทำท่าสนใจแต่ก็ลังเลว่าจะสมัครดีไหม สมัครกับของธนาคารอะไรดี

เขาซักโน่นถามนี่เยอะแยะ เราก็เลยรู้ว่าคนบางคนก็ยังไม่ค่อยรู้อะไรมากเกี่ยวกับบัตรเครดิต โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยมีบัตร เราก็เลยจัดการเล็คเชอร์ Credit Card ๑๐๑ ให้น้องเขาฟัง

บ้านเราเป็นคนทำการค้า คำว่า “เครดิต” ในความหมายของเตี่ยกับแม่ คือ “ดอกบี้ย” เรา “มีเครดิต” คือ เราสามารถเอาเงินของคนอื่นมาใช้ได้ก่อน แต่ถ้าเรา “ใช้เครดิต” คือ เราจะต้องจ่ายคืนเขาไปภายหลังพร้อมดอกเบี้ย เพราะฉะนั้น “การมีเครดิต” เยอะๆ เป็นเรื่องดี แต่ “การใช้เครดิต”เยอะๆ เป็นเรื่องไม่ดี

เตี่ยกับแม่เป็นคนยุคเงินสดอย่างแท้จริง ไม่ยอมใช้บัตรเครดิตใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะตอนที่เตี่ยกับแม่รู้จักบัตรเครดิตครั้งแรก เราต้องไป “ขอ” ธนาคารทำบัตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี มีร้านค้าอยู่แค่ไม่กี่ร้านที่รับบัตรเครดิต และเวลาจ่ายบัตรเครดิตร้านค้าจะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากราคาสินค้า (ประมาณ ๒-๕%) สรุปว่าการใช้บัตรเครดิตสมัยก่อนไม่มีข้อดีอะไรเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ต้องการ “ใช้เครดิต” ของคนอื่น

แต่สมัยนี้เป็นยุคทองของคนใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง ธนาคารต้องหันมา “อ้อนวอน” ให้คนทำบัตรเครดิต มีข้อเสนอจูงใจต่างๆ นานา ถ้าใครมีบัตรเครดิตที่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้กับธนาคาร ควรรีบโทรไปยกเลิกบัตรโดยด่วน เพราะตอนนี้มีธนาคารหลายที่ ที่พร้อมจะให้เราใช้บัตรเครดิตได้ฟรีตลอดชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไข บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่ใบสมัครได้รับการอนุมัติ บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่เรายื่นใบสมัครด้วยซ้ำ การใช้บัตรก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะใช้ได้แทบทุกที่ เวลาจ่ายเงินก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม แถมตอนเวลาที่มีโปรโมชั่นยังอาจจะได้ของแถมอีกต่างหาก

แต่บัตรเครดิตก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย บัตรเครดิตจะทำให้คนใช้เงินฟุ่มเฟือย เพราะมันสะดวกและไม่เป็นรูปธรรม ลองนึกดูว่าถ้าเราจะซื้อของราคา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าจ่ายด้วยเงินสด เราก็อาจจะต้องไปเบิกเงินจากเอทีเอ็ม (มีเวลาคิดไตร่ตรองว่ามันสมควรซื้อจริงหรือเปล่า) ต้องนับแบ็งค์พันห้าใบและเห็นมันปลิวจากมือเราไปเข้ามือคนขาย (เกิดอาการตกใจหรือเสียดายว่าเงินเยอะจัง) แต่ถ้าจ่ายบัตรเครดิต เราดูราคาปุ๊บตัดสินใจซื้อปั๊บ คนขายพิมพ์สลิปบัตรมาปุ๊บเราก็รับมาเซ็นปั๊บ แค่กระดาษใบเดียว มันไม่ทำให้รู้สึกว่าได้จ่ายเงินออกไปจริงๆ กว่าจะมารู้อีกทีว่าใช้เงินไปก็ตอนที่เขาส่งบิลมาเก็บตังค์

เหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้ ถ้าเราเผลอไปใช้เงินเกินกว่าที่เรามีอยู่ เพราะปกติบัตรเครดิตจะให้วงเงินมากกว่าเงินเดือนของเราประมาณ ๒ เท่า คนที่ไม่รู้จักควบคุมการใช้เงินอาจจะซื้อของจนเต็มวงเงิน พอเขาส่งบิลมาเรียกเก็บก็อ้วกแตกเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

ถ้าเอาเงินไปจ่ายไม่ทัน หรือจ่ายไม่เต็มจำนวนที่เราใช้ไป ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแพงมากขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอาย นอกจากนี้แล้วธนาคารก็ยังพยายามจะโปรโมทให้คนถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ ถอนได้ครั้งละหลายหมื่นบาท ถอนได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ฯลฯ แต่เขามีตัวหนังสือเขียนไว้เล็กนิดเดียวว่าเขาคิดค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ถอนเงิน และคิดดอกเบี้ย (ขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอายอีกเหมือนกัน)

พวกค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยพวกนี้แหละคือสิ่งที่ธนาคารต้องการ เพราะเขาจะได้กำไรจากการใช้บัตรเครดิตของเราก็จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยเป็นหลัก

ถ้าถามเราว่าใช้บัตรเครดิตดีไหม เราก็ว่าดีนะเพราะสะดวก ไม่ต้องพกเงินเยอะๆ แต่เราต้องใช้ให้ฉลาด จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราใช้วิธีคิดว่าบัตรเครดิตเป็นเหมือนกับบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็ม คือ ไม่สนใจวงเงินที่ธนาคารกำหนดให้มา แต่คิดว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหร่ ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิต จ่ายค่าอะไรไปเท่าไหร่ก็ลดจำนวนเงินที่เรามีอยู่ลงไปเท่านั้น เมื่อไหร่ที่เงินหมด ก็ต้องหยุดใช้บัตรแล้ว (เพราะเรากำลังจะเริ่มใช้เงินที่ไม่ใช่ของเรา ซึ่งเป็นเงินที่เราจะต้องคืนเขาไปพร้อมกับดอกเบี้ย)

นอกจากนี้แล้วเราก็จะไม่ถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เวลามีบิลมาเรียกเก็บก็จะจ่ายเงินเต็มจำนวนทุกครั้ง และจ่ายให้ตรงเวลา (มีเทคนิคอีกอันหนึ่งจะแนะนำ คือถ้าเราลืมจริงๆ เอาเงินไปจ่ายไม่ทัน ปกติธนาคาจะคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินช้า (ไม่แน่ใจว่า ๒๐๐ หรือ ๔๐๐ บาท) โดยไม่สนใจว่าจะช้าไปกี่วัน ถ้าบิลของเราครบกำหนดเมื่อวาน แต่เพิ่งนึกได้วันนี้ ให้ลองโทรไปที่ธนาคารแล้วคุยกับเขาดู บอกเขาว่าเราลืม และจะเอาเงินไปจ่ายภายในวันนั้น บางที “อาจจะ” ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ๒๐๐ บาทนั้น แต่เราต้องรีบๆ โทรนะ ไม่ใช่รอไป ๗ วันแล้วค่อยโทร. แต่ทางที่ดีที่สุดคือจ่ายให้ตรงเวลา)

ส่วนจะทำบัตรของธนาคารอะไรดี ก็ต้องดูข้อเสนอที่ได้ ตอนนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ทำบัตรฟรีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมปีแรกเหมือนกันหมด (ปีต่อๆ ไปอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เท่าที่ผ่านมาเรายังไม่เคยต้องเสีย แต่จะใช้เทคนิค (ที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้กัน) โทรไปบอกว่าจะยกเลิกบัตรเพราะไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียม ถ้าเราใช้บัตรนั้นเป็นประจำและจ่ายเงินค่อนข้างตรงเวลา ส่วนใหญ่เขาจะยอมให้เราใช้ต่อโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม)

หลายๆ บัตรมีโปรแกรมสะสมแต้ม บางคนบอกว่าโปรแกรมของธนาคารโน้นดีกว่าธนาคารนี้ ธนาคารนี้ดีกว่าธนาคารนั้น แต่เราว่าไม่ค่อยแตกต่างกันมาก บางธนาคารมีบัตรโคแบรนด์ (Co-Brand) คือ ธนาคารไปร่วมกับห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทำบัตรเครดิตขึ้นมา ก็อาจจะได้ส่วนลดเวลาซื้อของที่ห้างที่ธนาคารไปร่วม แบบนี้ก็เลือกเอาตามใจชอบ เราก็ว่าไม่ค่อยแตกต่างอีกเหมือนกัน ที่เราสนใจมากกว่า คือ วิธีการจ่ายเงิน เรามักจะเลือกธนาคารที่เราสามารถไปจ่ายเงินได้สะดวกเป็นหลัก เพราะถ้าจ่ายเงินไม่สะดวก เรามีโอกาสจะพลาดจ่ายเงินไม่ทันได้

ที่เขียนวันนี้อาจจะน่าเบื่อ แต่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้มี “เด็กๆ” ผ่านเข้ามาอ่านไดอะรี่เราบ้างเหมือนกัน เลยคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะเรื่องพวกนี้ไม่มีสอนที่ไหน (เพราะมันไร้สาระเกินไป ฮ่าๆๆๆ)

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันก่อนฟังวิทยุ เขาคุยกันเรื่องทีวีสาธารณะ มีนักข่าวคนหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ที่เคยทำงานกับบีบีซีในอังกฤษ เขาเล่าว่าหนังสือพิมพ์ในอังกฤษจะไม่ค่อยลงข่าวที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือไม่ดัง เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่ไปจับภาพคนคนนั้นกำลังโดนลากออกมาจากซากรถ โดนหามเข้าโรงพยาบาล ฯลฯ

ส่วนใหญ่เขาจะทำข่าวเป็นเป็นภาพรวม หรือการแสดงให้เห็นผลกระทบต่อสังคมโดยรวม การจุดประเด็นให้เกิดการค้นหาความจริง หรือตั้งคำถามให้เกิดการแก้ไขต่อไป มากกว่าจะนำเสนอเพื่อกระตุ้นอารมณ์หรือความสะใจ

พอลองมามองที่หนังสือพิมพ์ไทยนี่ค่อนข้างจะเป็นตรงกันข้าม เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ส่วนใหญ่ภาพที่นำเสนอออกมา จะใส่อารมณ์ให้ดูเกินความเป็นจริง (รถชนกัน ก็ให้เห็นกันจะจะว่ายับเยินแค่ไหน คนโดดตึก ก็ให้เห็นว่าลงมากองอยู่ท่าไหน) ชี้นำความคิดหรือตัดสินเหตุการณ์ไปก่อนล่วงหน้า (แม่ทำร้ายลูก ก็พาดหัวข่าวว่า แม่ใจโหด, เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ก็เรียกผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย แสดงความสะใจเวลาผู้ต้องสงสัยโดนรุมประชาทัณฑ์) รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวและไม่มีผลกระทบต่อสังคม (อันนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องรักๆ เลิกๆ ของดารา)

เรานึกไม่ออกว่าไอ้การที่เราเห็นหนังสือสือพิมพ์นำเสนอข่าวแบบนี้ ว่ามันไม่เหมาะสมเนี่ย มันไม่เหมาะสมเพราะอะไร แต่คุณนักข่าวบีบีซีคนนั้น เขาบอกว่า ที่หนังสือพิมพ์อังกฤษเขาไม่นำเสนอข่าวแบบนี้ เพราะมัน “ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนในข่าว เราฟังแล้วก็ เออ... ใช่เลยแฮะ

หลายๆ เรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นข่าว หรือเป็นข่าวก็ไม่ต้องโอเวอร์ เพราะมันไม่จรรโลงใจ เห็นแล้วสลดหดหู่ บางคนเขาประสบชะตากรรมต่างๆ ก็แย่พอแล้ว ยังเหมือนมาโดนประจานทางหนังสือพิมพ์อีก

ส่วนเรื่องส่วนตัวของบุคคลก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ซึ่งการพยายามไปล้วงแคะแกะเกาเพื่อนำมาเปิดเผย มักจะสร้างความอึดอัด/อับอายให้กับคนที่เป็นเจ้าของเรื่อง บางข่าวอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเฉพาะเจาะจงกับคนๆ นั้น

อย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวคดีตชด. ในแง่ของข่าว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยออกมา เพราะอาจจะมีคนที่โดนเหตุการณ์แบบเดียวกันอีกมาก แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยคนที่โดนกระทำโดยละเอียดขนาดนั้นก็ได้ เราเห็นภาพเวลาที่คุณผู้หญิง (จำชื่อไม่ได้อีกแล้ว) เขาต้องเล่าเหตุการณ์ ต้องตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็แล้วรู้สึกแย่แทนเขาไปด้วย ทำไมเขาต้องออกมาบอกเล่าอะไรแบบนี้ให้คนทั่วประเทศรับรู้

แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทย ที่บางทีคนก็ต้องยอมแลกศักดิ์ศรีกับความอยู่รอด คุณผู้หญิงที่โดนตชด. ทำร้าย ก็ต้องยอมกล้ำกลืนเล่าเรื่องตัวเองให้คนทั้งประเทศฟัง เพราะในประเทศไทยถ้าเรื่องไหนไม่ดัง เรื่องนั้นก็ไม่ค่อยได้รับการแก้ไข

พวกดาราก็ต้องยอมจัดงานแถลงข่าวงานหมั้นงานแต่งงาน ทนตอบคำถามสอดรู้สอดเห็นของนักข่าว เพื่อแลกกับการไม่โดนรุมด่า เพราะหนังสือพิมพ์สมัยนี้ทำให้กลายเป็นมาตรฐานว่า พวกคุณไม่ควรมีชีวิตส่วนตัว จะแต่งจะเลิกต้องบอกให้คนอื่นเขารู้ ใครไม่จัดงานแถลงข่าว จะโดนมองว่าน่าจะทำอะไรผิด ถึงไม่กล้าออกมาสู้หน้าสื่อ

ในขณะที่หลายๆ คนก็โดนปล้นศักดิ์ศรีไปโดยไม่รู้ตัว (เช่น พวกเหยื่อหรือผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุต่างๆ ที่นักข่าวชอบไปถ่ายภาพเขาในสภาพรุ่งริ่งไม่น่าดูออกมา)

เราว่าถ้าลองนึกถึงใจเขาใจเรา ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนในข่าวเหล่านั้น เราอยากจะให้เรื่องราวเหล่านั้นถูกเปิดเผยไหม และเปิดเผยมากแค่ไหน หรือลองนึกดูว่าถ้าคนในข่าวเป็นสามี, เป็นภรรยา, เป็นลูก, เป็นญาติพี่น้องของเรา เรารู้สึกยังไงถ้าภาพของพวกเข้าปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในรูปแบบนั้นๆ เราคิดว่าถ้าคิดไว้แบบนี้ตลอด หนังสือพิมพ์ไทยอาจจะน่าอ่านมากกว่านี้

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

อย่าตีราคาตัวเองต่ำไป

เรารู้สึกว่าคนไทยไม่ชอบใช้สะพานลอยคนข้ามถนน เวลาข้ามถนนใหญ่ๆ ที่มี ๓-๔ เลน (เช่น ถนนพระราม ๒ ถนนพระราม ๓ ถนนพระราม ๙) ก็บอกว่าเดินสะพานลอยอยู่ไกลบ้าง มันสูงบ้าง เดินแล้วเมื่อย

พอเป็นถนนในเมืองหรือตามย่านชุมชน (ซึ่งส่วนใหญ่สะพานลอยก็อยู่ตรงป้ายรถเมล์หรือตรงตลาดนั่นแหละ ก็ยังขี้เกียจเดินขึ้นบันได เดินข้างล่างเอาก็ได้ อ้างว่ารถมันติดนี่นา ก็เลยไม่รู้ว่าจะสร้างสะพานลอยคนข้ามถนนไปทำไมเยอะแยะ สงสัยเอาไว้ใช้เป็นที่บังแดด

เราค่อนข้างจะเห็นด้วยว่าเมืองไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนเดินถนนมากเท่าคนขับรถ (เมืองไทยน่าจะเป็นที่เดียวในโลก ที่คนข้ามถนนต้องหยุดรอให้รถวิ่งไปก่อน) แต่เราไม่เห็นด้วยเลยเวลาเห็นคนไม่ยอมข้ามถนนตรงทางข้ามหรือไม่ยอมใช้สะพานลอยคนข้าม

จะหาว่าเราเห็นแก่ตัวเพราะเราเป็นคนขับรถมากกว่าคนเดินถนนก็ตาม แต่ถ้าคนเดินถนนเกิดโดนรถชนใต้สะพานลอยขึ้นมา เราออกจะนึกเห็นใจคนขับรถมากกว่าคนเดินถนน

ตามถนนในเมืองที่มีรถติดๆ เวลาข้ามถนนตรงที่ไม่ใช่ทางข้าม คนอาจจะคิดว่าไม่อันตราย เพราะรถมันติด แต่ก็เสี่ยงโดนรถมอเตอร์ไซค์ชน ตามถนนหลายๆ สายอย่างถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน เขาถึงทำแผงเหล็กมากั้นตรงเกาะกลางถนน เราก็เห็นคนปีนข้ามแผงเหล็ก หรือพยายามทำตัวลีบๆ แทรกไประหว่างช่องเล็กๆ ของแผงเหล็ก ทั้งๆ ที่อีกไม่ไกลออกไป ก็มีทางม้าลายหรือสะพานลอยคนข้าม

เวลาเราขับรถไปตามถนนใหญ่ๆ แล้วเจอคนข้ามถนนโดยไม่ยอมใช้สะพานลอย ทั้งที่มันไม่สะดวกเลยที่จะข้าม เพราะรถวิ่งไปมาเยอะมากและวิ่งด้วยความเร็วค่อนข้างสูง บางถนนก็มีขอบถนนคอนกรีตสูงราวเอว แต่เราก็จะได้เห็นความมานะพยายามของคน คืออุตส่าห์ปีนข้ามขอบถนนคอนกรีตอย่างทุลักทุเล ปีนเสร็จก็ยืนตัวลีบติดขอบคอนกรีต คอยจ้องรถที่วิ่งฉิวๆ ผ่านหน้าไป หาจังหวะวิ่งตัดหน้ารถไปอย่างน่าหวาดเสียว

บางคนไม่ได้ข้ามถนนเสี่ยงๆ แบบนี้ตามลำพัง แต่มีการอุ้มลูกจูงหลานพาข้ามถนนไปด้วยอีกต่างหาก แถมบางคนหอบของพะรุงพะรัง ก็ไม่ได้ทำให้ความอุตสาหะในการพยายามปีนข้ามรั้วหรือวิ่งตัดหน้ารถลดลง เราเห็นทีไรก็ได้แต่สงสัยว่าเขาคิดยังไงกัน

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าพวกเขามักง่าย ประมาท หรือขี้เกียจ แต่หลังๆ นี้เราเริ่มคิดว่าหรือบางทีเขาอาจจะเบื่อชีวิต? ทำให้เขาตีราคาชีวิตตัวเองต่ำมาก จนคิดว่ามันคุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการประหยัดเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือการเดินเพิ่มอีก ๒-๓๐๐ เมตร (แทบทุกครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนแบบเสี่ยงๆ แบบนี้ เรามักจะเห็นสะพานลอยคนข้ามถนนอยู่ในระยะไม่เกิน ๑-๒๐๐ เมตร)

หรือไม่อีกทีเขาอาจจะคิดว่าชีวิตตัวเองน่าเบื่อจำเจ ทุกๆ วันก็เลยต้องหาอะไรลุ้นระทึกใจทำ วิ่งข้ามถนนไปก็คิดว่า เอ... วันนี้จะเจอแจ็คพ็อตอะไร... จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์กันหนอ?

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

คิดไม่ทัน?

เวลาเห็นคนใส่เสื้อยืดพะยี่ห้อแบรนด์เนมอะไรสักอย่างอยู่กลางหน้าอก เราจะทันได้คิดกันไหมว่ามันเป็นตลกที่ขำไม่ค่อยออก เพราะคนที่ใส่เสื้อยืดต้องเสียเงินให้บริษัทเจ้าของแบรนด์เนมเพื่อโฆษณายี่ห้อให้เขา แทนที่จะเป็นทางกลับกัน...

และด้วยอภิสิทธิ์ของการได้เป็น “ป้ายโฆษณาเดิน” ได้นี้ ทำให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าราคาจริงๆ ของสินค้าขึ้นไปอีกหลายเท่า

ดังนั้นครั้งต่อไปเวลาคุณใส่รองเท้ากีฬาติดโลโก้ยี่ห้อดังๆ สวมกางเกงที่ปักตัวย่อเบ้อเริ่มเทิ่มอยู่ที่บั้นท้าย หรือเสื้อยืดที่มีแบรนด์เนมติดหราอยู่ ความจริงคือคุณกำลังโฆษณาให้สินค้ายี่ห้อนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ (inadvertently advertise)

คำว่า advertise มามีรากศัพท์จากภาษาลาติน advertere หมายความว่า “หันไปหา” หรือ “ให้ความสนใจ” คำว่า inadvertently ก็มาจากรากศัพท์เดียวกัน

เวลาเราโฆษณาให้สินค้ายี่ห้อนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ (inadvertently advertise) หมายความว่า ด้วยการไม่ให้ความสนใจกับมัน เราก็กำลังให้ความสนใจมัน... :)

ตัดตอนจาก http://wordsmith.org/words/cingular.html

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

แตกแยก

เห็นปกมติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้แล้วอึ้ง... รู้สึกว่าแรงและกระทบกระเทือนความรู้สึก

ถึงเราจะไม่ทันเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ กับ ๖ ตุลา ๑๙ แต่เราก็ยังทันที่จะรับรู้ถึงความรุนแรงและความสูญเสียซึ่งเกิดจากรัฐบาลเผด็จการ สาเหตุที่จุดประกายให้เหตุการณ์ในวันที่ ๖ ตุลา ๑๙ ก็คือการที่จอมพลถนอมเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยบวชเป็นเณรกลับมาเพราะหวังลดกระแสการต่อต้าน

แต่นักศึกษาและประชาชนก็ยังไม่ยอมรับ ชุมนุมประท้วงขับไล่เณรถนอม จนเจ้าหน้าที่รัฐออกมาจับกุมและสังหารกลุ่มผู้ประท้วง กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์วิปโยคที่ไม่น่าจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย

มติชนเอารูปของอดีตนายกทักษิณมาขึ้นปกแบบนี้ในยามที่มีข่าวว่าอดีตนายกจะเดินทางกลับมาประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์ เป็นการแฝงนัยยะว่าการที่อดีตนายกต้องระเห็จออกไปอยู่ต่างประเทศเพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการ และกำลังจะกลับมาเพื่อสร้างความวุ่นวายระลอกใหม่

เป็นการล้อเลียนเทียบเคียงจากเหตุการณ์ในอดีตที่เราไม่เห็นว่าเฉียบคมเลยแม้แต่น้อย... ออกจะเป็นการบ่อนทำลายมากกว่าสร้างสรรค์

มีหลายๆ ปกของมติชนสุดสัปดาห์ที่เราเห็นว่าสุดยอดทั้งในการจับประเด็นและสื่อความหมาย แต่เราว่าฉบับนี้ข้ามเส้น และน่าผิดหวังมากในภาวะที่ประเทศเรากำลังอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความสงบและสามัคคีมากกว่าสร้างความแตกแยก

หรือว่าเราจะคิดมากเกินไป??

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551

คนดูไทยไร้การศีกษา

คราวก่อนโน้นที่เราเขียนเรื่องจัดเรทติ้งทีวีไทย ก็มีความเห็นต่อเนื่องจากการเสวนาระหว่างกรรมการจัดเรทติ้งกับผู้ทำรายการทีวีและผู้จัดละคร ทางคนดูบ่นว่าละครไทยน้ำเน่าและไร้ความสมจริง พระเอกนางเอกไปขึ้นเขาลงห้วย หน้าตาก็ยังขาวผ่อง ชุดสวยปิ๊งตลอด ตัวร้ายวันๆ ก็ไม่ทำงานการอะไร เอาแต่ด่านางเอกกับหาวิธีแย่งพระเอก คนจัดละครก็มาแก้ตัวว่า ตัวร้ายในละครมีอาชีพไม่ได้ เพราะ ถ้าตัวร้ายทำอาชีพอะไร ก็จะมีบุคคลในอาชีพนั้นๆ ออกมาประท้วงว่า อาชีพนั้นๆ ไม่ได้ร้ายอย่างในละคร

เราฟังแล้วก็ขำปนอนาถใจ นี่คนดูทีวีไทยจะปัญญาตื้นเขินขนาดที่จะไม่รู้เลยเหรอว่ามันคือละคร ไม่ใช่เรื่องจริง เราคิดว่าคนดูทีวีมีความรู้ความคิดพอจะตัดสินได้ว่า คนดีคนชั่วมีอยู่ทั่วไปทุกอาชีพ ภาพที่เห็นในละครก็เป็นแค่เรื่องสมมติ ละครก็ต้องใส่สีสันให้มันหวือหวาเกินจริงมันถึงจะมันส์... (แต่บางทีเรื่องจริงก็มีสีสันยิ่งกว่าละครนะ อย่ากรณีรถมินิคูเปอร์ หรือเรื่องนางแบบเป็นเพื่อนกับลูกนักการเมืองที่มีภรรยาแล้วนั่นไง!)

ทางวงการหนังก็วิพากษ์วิจารณ์กันหนักตอนที่คุณลัดดา ตั้งสุภาชัย (ผอ.กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม) ออกมาพูดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์หนังว่า “คนดูหนังส่วนใหญ่ไร้การศึกษา” ถึงต้องมีการเซ็นเซอร์ฉากโป๊ ทำโมเสคบังขวดเหล้า บุหรี่ มีดปืน และอบายมุขทั้งหลาย ดูดเสียงด่าทอ และเซ็นเซอร์ฉากที่ไม่เหมาะสมออกไป (ต่อเนื่องจากการเซ็นเซอร์ฉากพระเล่นกีตาร์ในหนัง แสงศตวรรษ ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับฉากชิซุกะอาบน้ำในการ์ตูนโดเรมอน)

เราฟังแล้วก็อนาถใจอีกรอบ ที่เขาคิดว่าคนดูหนังไทยจะตื้นเขิน ไร้ความคิดขนาดต้องให้ “คนมีการศึกษา” อย่างคุณลัดดาหรือกรรมการเซ็นเซอร์หนังคอยช่วยตัดสินให้ว่าอันนี้มันไม่ดีงาม ต้องตัดทิ้งหรือเอาโมเสคมาบัง

แล้วความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมมันขึ้นอยู่กับอะไร (ขึ้นอยู่กับ “ความรู้สึก” ของคนบางกลุ่มหรือเปล่า ถ้าเรามองย้อนไปอีกวงการหนึ่ง ในเรื่องภาพเขียนภิกษุสันดานกา) และการมองไม่เห็นขวดเหล้า แต่รู้ว่ากำลังกินเหล้า การไม่เห็นปืน แต่รู้ว่าโจรกำลังจะจ่อขมับยิงเผาขน มันช่วยแก้ปัญหาศีลธรรม, อบายมุข และความรุนแรงตรงไหน?

วันนี้มีข่าวสหภาพแรงงานของการบินไทยกับตัวแทนแอร์โฮสเตส ออกมาโวยให้ยุติการฉายละครเรื่อง “สงครามนางฟ้า” เพราะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแอร์โฮสเตส

เราไม่ได้ดูละครเรื่องนี้แต่พอจะรู้เรื่องจากที่ฟังคนอื่นเล่า ประมาณว่าเป็นเรื่องของแอร์โฮสเตสที่ไปชอบกับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว ผู้ชายเลิกกับภรรยาไม่ได้ แอร์โฮสเตสจึงไปแต่งงานกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังตัดใจจากกันไม่ได้ สุดท้ายก็นอกใจคู่สมรสของตัวเอง เป็นละครน้ำเน่าเมียน้อยเมียหลวงที่แสนจะไม่สร้างสรรค์ ไม่เหมาะกับศีลธรรมอันดีงามของไทย (แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะต่างจากละครเรื่องอื่นๆ) และมีฉากด่าทอตบตีแย่งผู้ชายกันดุเดือด (แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะต่างจากละครเรื่องอื่นๆ)

ที่จริงเราว่าละครเรื่องนี้ออกจะดีกว่าละครเรื่องอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะมีความสมจริงสมจังบ้าง... อย่างน้อยตัวละครในเรื่องก็มีอาชีพ ต้องทำมาหากินอย่างคนทั่วไป แต่โชคร้ายที่ตัวละครดันมีอาชีพแอร์โฮสเตส เลยทำให้พวกแอร์โฮสเตสรับไม่ได้ ต้องออกมาประท้วงว่า พวกแอร์ฯไม่มีการด่าทอ ไม่มีการตบตี แย่งผู้ชายกันแบบนั้นหรอก (คนที่จะตบตีแย่งผู้ชาย ร้ายกาจขนาดแม่ค้าตามตลาดอยากจะเอาเปลือกทุเรียนตบหน้า เป็นแอร์โฮสเตสไม่ได้ ต้องเป็นพวกไม่มีอาชีพ เป็นพวกไม่ทำมาหากินอะไร ต่างหาก!!!)

นี่ขนาดคนที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี (เป็นอย่างน้อย) ก็ยังแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงกับความเป็นละคร ที่เขาพูดว่า “คนดูไทยส่วนใหญ่ไร้การศึกษา” เห็นท่าจะเป็นความจริง และคนดูไทยก็คงต้องอาศัยกรรมการเซ็นเซอร์ให้ช่วยตัดฉากที่ไม่เหมาะสม เอาโมเสคมาบังขวดเหล้า, บุหรี่, มีดปืนกันต่อไป

ปล. เราสงสัยว่าในเมื่อพฤติกรรมต่างๆ ที่เห็นกันเจนตาอยู่ในละคร มันไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ขนาดใครๆ ก็ไม่อยากจะให้คนในอาชีพของตัวเองไปกระทำอย่างนั้นแม้แต่ในเรื่องสมมติในละคร รับไม่ได้ขนาดต้องออกมาประท้วงว่าทำให้เสียภาพลักษณ์ แล้วทำไมพวกผู้จัดละครยังจะเอาไปใส่ไว้ในละครกันอยู่ได้? เขาใส่ไปเพราะคนชอบดูหรือ? แล้วถ้าคนดูชอบดู แต่รับไม่ได้ถ้าคนในอาชีพตัวเองประพฤติแบบนั้น มันหมายความว่าอะไร?!?

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์