วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550

รักนะแต่ไม่แสดงออก

วันก่อนได้รับการ์ดจากเพื่อนที่อเมริกา ก่อนเปิดซองก็สงสัยว่ามีโอกาสอะไรพิเศษหรือเปล่าที่ทำให้เราได้การ์ดแผ่นนี้ จะว่าเป็นการ์ดวันเกิดก็เร็วเกินไป จะเป็นการ์ดปีใหม่ไทยก็ผ่านมานานแล้ว เปิดซองออกมาเป็นการ์ดขอบคุณ

เพื่อนเราคลอดลูกเมื่อประมาณ ๒ เดือนที่แล้ว เราก็สั่งของขวัญทางอิน-เทอะร์-เน็ทส่งไปให้ เพื่อนก็บ่นๆ ว่าเกรงใจ แต่เราบอกว่าไม่เป็นไร เราอยากให้ ความจริงก็ได้คุยกันทั้งทางอีเมลและทาง MSN เพื่อนก็ขอบอกขอบใจก่อนหน้านี้แล้วหลายรอบ

ในการ์ดเพื่อนเราเขียนว่า ขอโทษที่ส่งการ์ดขอบคุณช้าไปหน่อย ความที่เป็นแม่มือใหม่ก็เลยวุ่นๆ เพิ่งได้เวลาจัดการอะไรต่ออะไร

เราว่านี่เป็นอีกหนึ่ง “นิสัยอเมริกัน” ที่เพื่อนเราติดมา เพราะคนไทยไม่ค่อยทำอะไรแบบนี้ ในแง่หนึ่งมันก็ยุ่งยากวุ่นวายนะ เสียเวลานะ (คนไทยต้องเอาเวลาไปทำมาหากิน ไม่มีเวลามาทำเรื่องแบบนี้?) แต่นึกในอีกแง่หนึ่งมันก็ดีนะ เป็นมารยาทดี ใครทำอะไรให้เราก็ต้องขอบคุณ

ความจริงคนไทยก็มีมารยาท ใครทำอะไรให้ขอบคุณนะ แต่มันไม่ได้เป็นรูปธรรมขนาดนี้ เราว่าคนไทยเป็นพวกที่ไม่ค่อยแสดงออกในด้านอารมณ์ให้คนอื่นรับรู้ รักก็เก็บไว้ในใจ เกลียดก็เก็บไว้ในอก นอกจากจะเหลืออดเหลือทนจริงๆ ถึงจะได้แสดงกันออกมาทางวาจา หรือการกระทำ

แต่หลังๆ นี้เราสังเกตว่า คนไทยเปิดเผยอารมณ์กันมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่เป็นในด้านลบซะเยอะ คือ หมดความเกรงอกเกรงใจคนอื่น คิดอะไรก็พูดออกไปโพล่งๆ ไม่พอใจใครก็ออกมาประท้วงกันโต้งๆ อ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

แต่พอเป็นด้านดี ด้านบวก ส่วนใหญ่ก็ยังเก็บงำกันไว้ไม่เปิดเผยเท่าที่ควร เป็นประเภทรักนะแต่ไม่แสดงออก ขอบคุณนะแต่เก็บไว้ในใจ ยิ่งคนใกล้ตัวเท่าไหร่ยิ่งละเลย เพราะคิดว่าไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องรักษามารยาท (ลองนึกดูว่า ตัวเองพูด “ขอบคุณ” “ขอโทษ” “รัก” “คิดถึง” “เป็นห่วง” กับคนในครอบครัวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ของเรานี่นึกไม่ออกเลย เป็นพวกหยาบในอารมณ์มากกับคนใกล้ตัว แต่กับคนอื่นก็ยังต้องทำบ้าง เวลาที่เป็นมารยาทปฏิบัติของสังคม)

ตอนนี้สังคมกำลังแรงๆ ร้อนๆ ประทุเป็นไฟ คนไทยลองหันมาเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าเปิดเผยความรู้สึกในด้านบวกกันบ้างดีไหม รักใคร ชื่นชมใคร ขอบคุณใคร ก็บอกให้เขาได้รับรู้แบบเป็นรูปธรรม

เริ่มจากคนในครอบครัว (สำหรับเราอาจจะทำไม่ได้ เพราะมันเขินๆ – it’s easier said than done :P – แต่เอาเป็นว่า ถึงไม่ได้ออกมาเป็นวาจาหรือการกระทำตรงๆ แต่เราก็น่าจะมีวิธีการที่แสดงความรู้สึกดีๆ ให้กันได้ ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง) แล้วกระจายต่อไปคนรอบๆ ตัว เพื่อนๆ คนในที่ทำงาน แล้วก็ไปที่คนอื่นๆ ทั่วไป

เราทำงานกับฝรั่ง เคยได้รับคำชมหรือคำขอบคุณหลายๆ ครั้ง ทุกครั้งก็รุ้สึกดี (ถึงแม้บางทีจะรู้สึกว่า เฮ้ยยยย ไม่ต้องเวอร์ขนาดนั้นก็ได้ แต่อ่านอีเมลแล้วก็ยิ้มได้พักหนึ่ง) มันก็แค่เวลาสองสามนาที กับคำพูดไม่กี่คำหรือตัวหนังสือไม่กี่ตัว แต่สร้างความรู้สึกดีๆ ให้คนได้

เราคิดว่าน่าจะพยายามทำให้บ่อยขึ้น แต่ก็มักจะลืมตัวทุกทีไป แต่เรื่องทุกเรื่องมันฝึกหัดกันได้ หันมาแสดงออกในอารมณ์ชอบ รัก พึงพอใจ ขอบคุณ ให้ออกมาเป็นรูปธรรมกันดีกว่า ส่วนอารมณ์ร้าย เกลียด ไม่รัก อิจฉา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของให้ตัวอิจฉาในละครภาคค่ำที่พะเรทติ้ง “น” เขาเถอะ

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2550

เน็ท หรือ เหน็ท

วันก่อนเพื่อนถามเราว่า Internet ออกเสียงว่าอะไร เราก็งงๆ แต่ก็ตอบไปแบบอัตโนมัติว่า อิน-เทอะร์-เหน็ท เพื่อนบอกว่า ใช่เหรอ... เพราะได้ยินคนออกเสียงว่า อิน-เทอะร์-เน็ท สองคนแล้ว คือคุณปลื้ม กับ ดร. สมเกียรติ (อ่อนวิมล) เราก็เลยไม่แน่ใจ เพราะถ้าเราออกเสียงไม่เหมือนสองคนนี้ และต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ผิด และฝ่ายที่ผิดน่าจะเป็นเรามากกว่า

เราบอกว่าเดี๋ยวจะลองสังเกตว่านายฝรั่งเราออกเสียงยังไงกันแน่ พอดีช่วงนี้นายเราไม่อยู่ เราก็เลยเปิดดิก American Heritage ที่มีออกเสียงให้ฟังได้ด้วย ฟังด้วยหูห่วยๆ ของเรา มันก็เสียงกึ่งๆ นะ แต่เราก็ยังว่าเขาออกเสียงใกล้ไปทาง เหน็ท มากกว่า เน็ท

วันนี้ได้ฟังวิทยุรายการ Good Morning Sweet FM (เจ้าเก่า) คุณอรอุมาเขาพูดเรื่องม็อบขึ้นมาแว้บนึง ยังไม่ทันได้ไปเรื่องม็อบคริสไพล่ไปอธิบายเรื่องเสียงสูงเสียงต่ำในภาษาอังกฤษให้ฟัง เลยได้คำตอบกับคำถามของเพื่อนเราเลยแฮะ

เขาบอกว่า ภาษาอังกฤษ จะมีหลายๆ คำที่คนไทยออกเสียงสูง แต่ฝรั่งออกเสียงต่ำ (หรือกลับกัน) แล้วเขาก็เทียบให้ฟัง เช่น mob กับ mop คำแรกออกเสียง “มอบ” โดยเสียงจะต่ำและลากยาวกว่า ส่วนคำหลังออกเสียง “ม้อพ” เสียงสูงกว่าและสั้นกว่า (และแน่นอนว่าต้องมีเสียง เบอะ กับ เพอะ เล็กๆ ตอนท้าย)

แล้วคริสก็ไล่ตัวสะกดหลายๆ ตัวให้ฟัง อย่างคำว่า food กับ foot คำแรกออกเสียง “ฟูด” เสียงต่ำและลากยาวกว่า ส่วนคำหลังออกเสียง “ฟุ้ท” เสียงสูงกว่าและสั้นกว่า (บวกกับเสียง เดอะ กับ เทอะ เล็กๆ ตอนท้าย)

คำที่สะกดด้วย g จะเป็นเสียงยาว เช่น bag คือ แบ้ก เสียงยาวต่ำ แต่ back แบ๊ค เสียงสูงสั้น หรือ cage ก็เสียงยาว แต่ case เสียงสั้น ฯลฯ

พอเอาหลักการนี้มาจับ เราก็เลยได้คำตอบว่า ทำไมคุณปลื้มกับดร. สมเกียรติ (ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษกว่าเรามากๆๆ) จึงได้ออกเสียง internet ว่า อิน-เทอะร์-เน็ท (ไม่ใช่ เหน็ท)

อีกอันหนึ่งที่คริสพูดขึ้นมาคือ ควรพูดให้ได้ทั้งสำเนียงไทยและฝรั่งและเลือกให้เหมาะสมกับผู้ฟัง ถ้าพูดกับคนไทยก็ต้องบอกว่า มีม็อบอยู่ที่สนามหลวง แต่ถ้าพูดกับฝรั่งก็บอกว่า There is a “มอบ” at Sanam-Luang (หรือ Grand Palace?) ซึ่งเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะได้ไม่เกิดปัญหาคุยกันไม่เข้าใจกันหรือโดนคนหมั่นไส้ (อันแรกเวลาพูดกับฝรั่ง อันหลังเวลาพูดกับคนไทย – เพราะการหมั่นไส้คนอื่น เป็นงานอดิเรกของคนไทย ฝรั่งมีงานอดิเรกอย่างอื่นแล้ว)

แต่ในขณะเดียวกันการทำแบบนี้ก็อาจจะเกิดปัญหา (กับสมองของคนพูดเอง) เพราะบางทีอาจเกิดอาการสับสน สำเนียงตีกัน พูดกับคนไทยไปออกสำเนียงฝรั่ง พูดกับฝรั่งไปออกสำเนียงไทย เลยไม่รู้เรื่องไปหมด

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ฐาน ๖ ของคนดี

แนวปฏิบัติทำความดีที่สมควรมีผู้รับผิดชอบต่อไป
(รายงานพิเศษ โดย บุศรินทร์ ปัทมาคม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ฉบับที่ ๑๓๙๙)

ผู้เขียนได้อ่านรายละเอียดการทำความดีให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยบังเอิญ ได้อ่านจดหมายอวยพรปีใหม่ของศาสตราจารย์กิติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาภูมิสถาปัตย์ ท่านเป็นอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อความอวยพรนั้นมีสาระสำคัญ เพราะท่านไม่ได้ไปลอกเลียนแบบความดีในหนังสือโบราณ หรือหนังสือสอนศาสนาใดๆ

แต่เป็นความดีชนิดที่จับต้องได้

ท่านเลือกค้นคว้าจากความดีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา รวมทั้งพุทธศาสนา และจัดเป็นหมวดหมู่ แนวทางปฏิบัติความดีจัดแบ่งเป็น ๖ กลุ่ม เพื่อจดจำง่าย ดังต่อไปนี้ (ดูข้างล่าง)

ผู้เขียนอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ และคิดว่าถ้าเยาวชนของชาติได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ก็จะเกิดความดีในเชิงปฏิบัติกับทุกระดับชั้น ท่านใช้ภาษาง่าย จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระเบียบ ขอให้โปรดพิจารณาในข้อความของท่าน ผู้เขียนคิดว่าครบถ้วนแล้ว แต่ท่านยังบอกว่า ถ้าเห็นยังขาดส่วนใดก็ขอให้ช่วยเพิ่มเติมเข้าไปอีกก็ได้ ท่านเชิญชวน

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ตรงนี้ ก็เพราะอยากเห็นกระทรวงศึกษาธิการนำไปพิมพ์เผยแพร่แจกโรงเรียนหรือแจกครูไปทั่วประเทศ เพราะเป็นแนวคิดที่สมควรจะปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ อะไรที่เสริมสร้างได้ก็ควรทำ ไม่ใช่จะรอแต่ฟังพระเทศน์หรือรอให้พระสงฆ์ไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนเท่านั้น ครูทุกคนมีความรู้เรื่องความดี และสอนความดีได้

การกระทำของศาสตราจารย์กิติคุณ เดชา บุญค้ำ ที่ได้ลงทุนจัดพิมพ์เผยแพร่ด้วยตนเอง นับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง

ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้นำมาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบโดยทั่วกัน และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณา หากเห็นชอบก็ควรจัดพิมพ์และเผยแพร่ไปให้ถึงครูและเด็กต่อไป

ฐาน ๖ ของคนดี

มีฐานแห่งความเป็นที่น่าเชื่อถือ
มีความซื่อสัตย์ / ไม่โกหกหลอกลวง คดโกง หรือลักขโมย / เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ – ทำตามที่ตนพูด /กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง / สร้างชื่อเสียงในทางที่ดี / มีความจงรักภักดี – ยืนเคียงข้างครอบครัว เพื่อน และประเทศชาติ

มีฐานแห่งความรับผิดชอบ
จงทำในสิ่งที่จะต้องทำ / มีความมานะบากบั่น พยายามทำไปตลอดเวลา / ทำให้ดีที่สุดเสมอ / ควบคุมตัวเองให้ได้ / เป็นผู้มีวินัย / คิดก่อนทำโดยคำนึงถึงผลที่จะตามมา / รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

มีฐานแห่งความเคารพ
เคารพและให้เกียรติผู้อื่น – ทำตามกฎกติกา / มีความอดทนในสิ่งที่แตกต่าง / มีมรรยาทดี ไม่พูดจาหยาบคาย / มีความเกรงใจผู้อื่น / ไม่ข่มขู่ ทุบตีหรือทำร้ายผู้อื่น / รู้จักอดกลั้นอย่างสงบต่อความโกรธ การเยาะเย้ยถากถาง และความขัดแย้ง / แต่งกายสุภาพให้ความเคารพสถานที่ตามกาลเทศะ

มีฐานแห่งความยุติธรรม
เล่นตามกติกา / ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการให้และรับ / มีส่วนในงานกลุ่ม / มีความเปิดเผย รับฟังผู้อื่น / ไม่เอาเปรียบผู้อื่น – ไม่ลัดคิว / ไม่กล่าวโทษผู้อื่นโดยไม่ไตร่ตรอง

มีฐานแห่งความเอื้ออาทร
มีความเมตตา / เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แสดงน้ำใจ / แสดงความขอบคุณ / ให้อภัยแก่ผู้อื่น / ให้ความช่วยเหลือผู้ลำบาก / บริจาคตามอัตภาพ

มีฐานแห่งความเป็นพลเมืองดี
ทำหน้าที่ของตนที่จะช่วยทำให้โรงเรียนและหมู่บ้านของตนดีขึ้น / รับรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง – ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง / เป็นเพื่อนบ้านที่ดี / เชื่อฟังกฎหมายและข้อบังคับ / ให้ความเคารพต่อบ้านเมือง / ช่วยปกป้องศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550

หาเรื่องคุย

เมื่อเช้าขับรถมาทำงาน ฟังรายการวิทยุช่อง ๘๙.๕ รายการ Good Morning Sweet FM พิธีกรคือ Christopher Wright กับ อรอุมา เกษตรพืชผล เป็นรายการเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนเขาจัดรายการสด แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าพิธีกรชายจะเริ่มดังและมีงานรัดตัวมากขึ้น ก็เลยจัดรายการเป็นเทป

คริสบอกว่า คนไทยอยากเก่งภาษาอังกฤษ อยากคุยกับฝรั่ง แต่พอเจอฝรั่งตัวเป็นๆ กลับไม่รู้จะคุยอะไร คุณพิธีกรสาวบอกว่าเป็นเพราะ เขาไม่เก่งภาษาอังกฤษหรือเปล่า ไม่รู้ศัพท์ ก็เลยไม่รู้จะคุยอะไร แต่คริสบอกว่า ส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่หลายๆ คนที่เก่งภาษาอังกฤษ ก็คุยไม่ได้ เพราะไม่มีเรื่องจะคุย

เขาบอกว่าเท่าที่สังเกตคนไทยจะคุยเก่ง น้ำไหลไฟดับ กับคนที่ตัวเองสนิทด้วย แต่พอเป็นคนแปลกหน้า ก็จะไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องอะไร ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน ไม่รู้จะไปต่อทางไหน ส่วนใหญ่ก็เลยได้แค่ Where are you from แล้วก็จบ

การจะคุยกับคนที่ไม่รู้จัก ส่วนหนึ่งจะง่ายขึ้นถ้าเราเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชอบพูดชอบคุย แต่อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ถ้าเราเป็นคนที่มีความรู้ทั่วๆ ไปเยอะ หรือช่างสังเกต หรือสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว สนใจในสิ่งที่คนอื่นๆ ในโลกเขาสนใจ

ถ้าฝรั่งบอกว่ามาจากประเทศอังกฤษ อาจจะถามว่ามาจากเมืองอะไร แมนเชสเตอร์เหรอ เรารู้อะไรเกี่ยวกับเมืองนั้นหรือเปล่า (ทีมฟุตบอล มหาวิทยาลัย ฯลฯ) ก็จะคุยกันต่อไปได้ แม้กระทั่งเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเมืองนั้นเลย ถ้าเป็นคนที่สนใจอยากรู้อยากเห็น ก็จะซักถามพูดคุยกับเขาได้ ที่นั่นเป็นอย่างไร ผู้คนเป็นอย่างไร อาชีพการงาน อาหารการกิน ฯลฯ สามารถชวนคุยได้ยืดยาว

จะว่าไปแล้วเรื่องการพูดคุยกับคนแปลกหน้า มันยาก ไม่ใช่เฉพาะกับชาวต่างชาติหรอกนะ กับคนไทยด้วยกันเอง ก็ด้วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำ ลองหานึกหาเรื่องราวที่เรารู้และคิดว่าคู่สนทนาเราจะสนใจ หรือเรื่องราวที่เราสนใจและคิดว่าคู่สนทนาของเราน่าจะมีความรู้ และคุยด้วยได้ (แต่พยายามหลีกเลี่ยง การเมือง ศาสนา ไว้หน่อยก็ดี อิอิ) พอ “break the ice” ได้คราวนี้ก็ลื่นไหลไปได้ด้วยดี

การพูดคุยกับคนอื่นนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเอง เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนที่เราคุยด้วย เพราะชีวิตของคนแต่ละคน ก็เปรียบได้กับหนังสือเล่มหนึ่งเลยทีเดียว เราสามารถเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องต่างๆ จากประสบการณ์ของเขาได้ บางอย่างก็อาจจะเอามาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงในทันที หรือบางอย่างก็แค่ฟังไว้ประดับความรู้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าสิ่งที่เราฟังไว้แค่ประดับความรู้อาจจะมีประโยชน์กับเราอย่างมหาศาลในวันหน้าก็ได้

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์