วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550

This talk's not for you, it's is for my kids.

เราเขียนเรื่อง “บทเรียนชีวิต” ยังไม่ทันจบ แต่พอดีได้อ่านเรื่องของดร. แรนดี้ เพาส์ช (Dr. Randy Pausch) คิดว่าน่าจะเอามาเล่าให้ฟังคั่นเวลา

ดร. แรนดี้ เพาส์ชเป็นอาจารย์แผนก Computer Science มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ในวัย 46 ปีเขาเป็นโรคมะเร็งที่ตับอ่อนและหมอบอกว่าเขาคงมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่เดือน

มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนมีโครงการที่เรียกว่า “The Journey” ซึ่งเชิญอาจารย์มาเล่าเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้พบเจอและเรียนรู้ในระหว่างการเดินทางของชีวิต โครงการนี้ครั้งหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า “The Last Lecture” เพราะเขาตั้งโจทย์ให้บรรดาวิทยากรลองสมมติว่าถ้าเล็คเชอร์ครั้งนี้เป็นเล็คเชอร์ครั้งสุดท้าย พวกเขาจะพูดหรือจะบอกอะไรกับคนอื่น

เมื่อวันอังคาร (18 กันยา) ที่ผ่านมาดร. แรนดี้ เพาส์ชได้ให้เล็คเชอร์ครั้งสุดท้ายของเขาที่คาร์เนกี้เมลลอน (ต่อไปนี้เราจะเรียกแค่ แรนดี้ แทนที่จะเรียกว่า ดร. แรนดี้ หรือ ดร. เพาส์ช เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้รู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดาๆ ที่จับต้องได้มากกว่า)

ผู้ฟังกว่า 400 คนในหอประชุมได้รับรู้ตั้งแต่แรกว่าสภาพร่างกายจิตใจของแรนดี้เป็นอย่างไร (และเขาเป็นคนอย่างไร เขามองโลกอย่างไร -- สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน) ตั้งแต่ประโยคแรกๆ ของเล็คเชอร์ของเขา

“ถ้าผมไม่ได้ดูหดหู่หรือเศร้าใจเท่าที่ควร ผมต้องขอโทษด้วยที่ทำให้พวกคุณผิดหวัง” เขาบอกว่าเขาไม่ได้กำลังปฏิเสธความจริงว่าเขากำลังจะตายในไม่กี่เดือน แต่เขารู้สึกแข็งแรงดี... แข็งแรงกว่าคนส่วนใหญ่ในห้องประชุมนั้น (ว่าแล้วก็วิดพื้นโชว์ให้ดูซะหนึ่งยก)

“ถ้าใครอยากจะร้องไห้หรือรู้สึกสงสารผม ลองออกมาตรงนี้ วิดพื้นอย่างที่ผมทำเมื่อกี้นี้ แล้วถึงค่อยสงสารผม”

แรนดี้บอกว่าวันนี้เขาจะไม่พูดเรื่องมะเร็ง (เพราะเขาพูดถึงมันมามากเกินพอแล้ว) เขาจะพูดเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านั้น เขาจะไม่พูดเรื่องภรรยาหรือลูกๆ ของเขา ไม่ใช่ เพราะว่ามันไม่สำคัญ เขาบอกว่าเขารู้สึกแข็งแรงดี แต่ยังไม่ดีมากพอที่จะพูดถึงลูกและภรรยาโดยไม่ร้องไห้ สิ่งที่เขาจะพูดก็คือการไปให้ถึงความฝัน

แรนดี้เล่าให้ฟังถึงความฝันต่างๆ ในวัยเด็ก เขาอยากจะสัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เป็นนักออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ เขียนบทความลงใน World Book Encyclopedia เป็นกับตันเคิร์กในสตาร์เทร็ค

แรนดี้จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบราวน์และปริญญาเอกจากคาร์เนกี้เมลลอน ในช่วง 10 ปีที่เป็นอาจารย์ที่คาร์เนกี้เมลลอน เขาช่วยก่อตั้ง Entertainment Technology Center ซึ่งสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบวิดีโอเกมและโปรแกรม interactive ต่างๆ และเริ่มโครงการ Alice ซึ่งใช้โปรแกรม animation ในการสอนนักเรียนให้ได้เรียนวิชา computer programming ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน

แรนดี้ได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก (เพราะเด็กนักเรียนที่เขาสอนชนะประกวดโครงการ Virtual Reality เพื่อจำลองสภาพไร้น้ำหนักของ U.S. Air Force และสิ่งที่ผู้ชนะได้รับก็คือการไปสัมผัสสภาพไร้น้ำหนักจริงๆ) ได้ออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ (The Pirate of Caribbean ซึ่งเขาไปรับทำงานในระหว่างพักการสอน) ได้เขียนบทความใน World Book Encyclopedia เรื่อง Virtual Reality

แรนดี้ได้เล่นฟุตบอลแค่สมัยไฮสคูล เขาไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่สิ่งที่เขาได้จากการไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพคือ ประสบการณ์

Experience is what you get when you don't get what you want.

เขาไม่ได้เป็นกัปตันเคิร์ก แต่เขาได้เจอกับกัปตันเคิร์ก วิลเลียม แชทเนอร์ดาราที่เล่นเป็นกัปตันเคิร์กมาเยี่ยมชมแล็บของเขา (มันสุดยอดที่ได้เจอฮีโรในดวงใจสมัยเด็ก แต่มันสุดยอดกว่าถ้าเขามาหาคุณเพื่อดูผลงานที่คุณทำในแล็บ)

สิ่งต่างๆ ที่เขาได้ทำ ความฝันที่เป็นจริง หนทางไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา (เวลาฝรั่งเจออุปสรรคหรือปัญหา เขาเรียกว่าเจอ brick wall กำแพงอิฐ ขวางหน้า) แรนดี้บอกว่า กำแพงอิฐมันอยู่ตรงนั้นอย่างมีจุดประสงค์ มันทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราต้องการอะไรซักอย่างมากแค่ไหน ให้โอกาสเราได้แสดงว่าเราต้องการมันแค่ไหน เอาไว้หยุดคนที่ไม่ต้องการมันมากพอ เอาไว้หยุด “คนอื่น”

Brick walls are there for a reason. They let us prove how badly we want things. To give a chance to show how badly we want something. To stop people who don't want it badly enough. To stop the “other” people.

กำแพงอิฐหยุดแรนดี้ไม่ได้ กำแพงอิฐหยุดคนที่มุ่งมั่นและตั้งใจจริงไม่ได้

แรนดี้พูดถึงคนที่มีส่วนในความสำเร็จของเขา พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขามาอย่างดี บรรดาอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่เขาได้พบ บทเรียนอื่นๆ ที่เขาเรียนรู้และอยากบอกกับคนอื่นมีทั้ง... ต้องสนุกกับการทำงาน, ต้องทำงานหนัก (เคล็ด “ลับ” ของความสำเร็จ!!), รู้จักรับฟังคนอื่น (โดยเฉพาะคำติ ต้องยอมเปิดใจรับ และนำไปปรับปรุง), การจะได้รับความเคารพจากคนอื่น เราต้องเขาเคารพเขาก่อน, การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ฯลฯ

เราต้องขอบอกว่าเล็คเชอร์ยาว 1 ชั่วโมงกว่าๆ เป็นหนึ่งในเล็คเชอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยฟังมา แรนดี้ปล่อยมุขตลกขำๆ ไปพร้อมกับการบอกเล่าความคิดลึกซึ้งที่เขาได้จากการเดินทางของชีวิตเขา จนเราแทบไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือการเล็คเชอร์ของคนที่มีลูก 3 คน ที่กำลังจะตายในไม่กี่เดือน... จะตายก่อนที่จะได้เห็นลูกตัวเองจบชั้นประถม (ลูกชายคนโตของเขาอายุ 5 ขวบ) มันน่าอัศจรรย์มากที่เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของได้แบบนั้น

เราได้อ่านในบทความที่เขียนถึงเล็คเชอร์ของเขาใน Pittsburgh Post-Gazette แรนดี้บอกว่า เขายังมองโลกในแง่ดีอยู่มาก เวลาเดียวที่เขาจะร้องไห้ก็คือเวลาที่เขาคิดถึงลูกๆ ของเขา ไม่ใช่เพราะว่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูลูกๆ ทำโน่นทำนี่เป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สำเร็จ เสียใจที่ไม่ได้อยู่เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ และเสียใจเขาจากไปโดยทิ้งภาระอันยิ่งใหญ่ไว้กับภรรยาของเขา

ตอนท้ายแรนดี้บอกว่าเล็คเชอร์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับ “การไปให้ถึงความฝัน” แต่มันเกี่ยวกับว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร ถ้าเราดำเนินชีวิตของเรา “อย่างถูกต้อง” กรรมจะเป็นตัวพาเราไปหาความฝันของเราเอง

ประโยคสุดท้ายที่เขาพูดกับผู้ฟังในหอประชุมคือ “การพูดครั้งนี้ไม่ใช่สำหรับพวกคุณหรอกนะ... แต่การพูดนี้สำหรับลูกๆ ของผมต่างหาก”

ปล. เล็คเชอร์ของแรนดี้ เพาส์ชออกอากาศในรายการ Good Morning America เมื่อวันที่ 21 กันยายน เว็บ Wall Street Journal ทำรายงานข่าวเรื่องเล็คเชอร์นี้ เป็นวิดีโอคลิปยาว 4 นาทีกว่าๆ ลองกดฟังได้ข้างล่าง


วิดีโอของเล็คเชอร์ฉบับเต็มมีให้ฟังที่ CMU ยาว 1 ชั่วโมง 45 นาที มีคนอื่นๆ ที่ร่วมงานกับแรนดี้มาพูด รวมทั้งการประกาศสร้างสะพานคนเดินเชื่อมตึกระหว่าง Gates Computer Sciences Building กับ Purnell Center for the Arts เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับแรนดี้ สะพานนี้จะเรียกว่า Randy Pausch Memorial Footbridge เป็นสัญลักษณ์ของผลงานของแรนดี้ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน

ปล. 2 ก่อนที่จะได้ฟังเล็คเชอร์ฉบับเต็ม เรานึกว่าจะมีสคริปท์ ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยมาแบ่งกันอ่าน (เหมือนที่มีหลายๆ คนแปลสุนทรพจน์ของบิล เกทส์ หรือสตีฟ จ็อบส์) แต่พอไปฟังแล้วถึงรู้ว่าทำไมไม่มีสคริปท์ ก็อย่างที่บอกไปว่ายาวตั้งชั่วโมงกว่า ถ้ามีสคริปท์ก็ไม่รู้จะยาวเท่าไหร่ และถ้าเราแปลจริงไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ แถมเราก็ฟังแบบกระพร่องกระแพร่งเต็มที เพราะฟังไปทำงานไป จับรายละเอียดไม่ได้หมดเวลาที่เขาพูดถึงคนโน้นคนนี้ เราตั้งใจว่าจะไปฟังใหม่อีกรอบ (หรือหลายๆ รอบ) แต่ต้องหาจังหวะเหมาะๆ เพราะเขาทำเป็น streaming video ถ้าเน็ทช้าก็จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจะหาวิธีดาวน์โหลดไฟล์มาเก็บที่เครื่องก็ทำไม่เป็น -_-

4 ความคิดเห็น:

nitbert กล่าวว่า...

พอดีเข้าไปอ่านเว็บของแรนดี้อีกรอบ เขาอัพเดทข้อมูลใหม่ ตอนนี้มีลิงก์ให้ดาวน์โหลดวิดีโอได้แล้ว ใครสนใจลองคลิกไปที่นี่ ไฟล์ขนาด 252 MB (สมาชิก “เน็ททาก” โปรดใช้วิจารณญาณก่อนดาวน์โหลด!!)

ส่วนสคริปท์ก็มีให้ดาวน์โหลด ที่นี่ เป็น PDF ขนาด 248 KB (สคริปท์มีแปลเป็นภาษาจีนแล้วด้วย แต่เรายังไม่คิดว่าจะพยายามแปลเป็นภาษาไทยหรอกนะ (ทั้งหมด 26 หน้า เฉพาะส่วนที่แรนดี้พูด 20 หน้า!!)

ทั้งวิดีโอและสคริปท์สามารถเผยแพร่ต่อได้ถ้าไม่ได้ทำเพื่อการค้า

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สำหรับคนที่ชื่นชอบความคิดดีๆ ของแรนดี เพาช์ แวะมาบอกค่ะว่ามี The Last Lecture ที่แรนดี เพาช์ ไปทอล์คในรายการของ Oprah แบบบรรยายไทย (Thai Subtitle) แล้วนะคะ ที่ http://video.google.com/videoplay?docid=-8703933479957779710

Unknown กล่าวว่า...

เคยดูแล้วเหมือนกันค่ะ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ดูแล้วน้ำตาไหลเลย คือหัวเราะจนน้ำตาไหล สงสารอาจารย์จริงๆ อยากเป็นอาจารย์ที่สอนสนุกเหมือน ดร.แรนดี้จัง

nitbert กล่าวว่า...

"เมื่อไม่กี่ปีมานี้" เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก นึกว่าเพิ่งแว้บเดียวที่เขียนเรื่องนี้ ดูวันที่แล้วถึงเห็นว่าผ่านมา ๒ ปีกว่าแล้ว
ตอนนี้เมืองไทยมีหนังสือของดร. แรนดี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วด้วย อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดดีมาก ๆ เหมือนกัน :)

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์