วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ดิสเล็กสิก

วันก่อน**อ่านคอลัมน์ของไมเคิล ไรทในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนเรื่องดิสเล็กสิก (dyslexic เป็น adjective ถ้าเป็นคำนาม คือ dyslexia) ว่าตัวเขาเองเป็นดิสเล็กสิกมาตั้งแต่เด็ก ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ เพราะไมเคิล ไรทเป็นชาวอังกฤษที่ไม่รู้ว่าจับพลัดจับผลูยังไงมาอยู่ในเมืองไทย แล้วมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของไทย (และเอเชียอาคเนย์) ดีกว่าคนไทยหลายๆ ล้านคน

ตัวอย่างเช่น เขามีความรู้เรื่องหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงดีพอ ขนาดคิดเคลือบแคลงสงสัยว่า อาจจะไม่ใช่หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นเพิ่งทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง (รายละเอียดเราก็ไม่ค่อยรู้ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในคนหลายล้านคนที่มีความรู้เรื่องไทยน้อยกว่าไมเคิล ไรท)

นอกจากความรู้ศิลปวัฒนธรรม ไมเคิล ไรทเขียนภาษาไทยเป็นน้ำ (ใช้คำว่า “เป็นน้ำ” กับการเขียนได้ไหมนะ) คือไม่ได้เป็นฝรั่งที่พูดไทยได้เฉยๆ แต่เป็นฝรั่งที่เขียนภาษาไทยได้ด้วย อ้อ... ไม่ใช่แค่ “เขียนได้” สิ ต้องเรียกว่า “เขียนเป็น” ตะหาก เขียนได้ดีมากขนาดเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมาย เรียกได้ว่าทักษะในด้านภาษาของไมเคิล ไรทอยู่ในขั้นเยี่ยมยุทธ์ ซึ่งในความรู้สึกเรามันค่อนข้างจะขัดกับการเป็นดิสเล็กสิก

อาการดิสเล็กสิก คืออาการที่สมองมีปัญหาในการแปรภาพที่มองเห็นให้เป็นความหมายที่ควรจะเป็น คนเป็นดิสเล็กสิกจะมองภาพกลับซ้ายเป็นขวาโดยไม่รู้ตัว (เช่น ดูนาฬิกาจากเก้าโมงเช้า เป็นบ่ายสามโมง มองเห็นเลข 3 เหมือนเป็นตัว E) อ่านหนังสือสลับตัว (เช่น “น้อย” นึกว่า “ย้อน”) อ่านหนังสือข้ามบรรทัด ฯลฯ

เด็กที่เป็นดิสเล็กสิก มักถูกมองว่าเป็นเด็กโง่เง่า ทั้งๆ ที่ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา พ่อแม่ครูอาจารย์อาจสงสัยว่าทำไมเด็กโง่จังเลยที่สะกดคำง่ายๆ ไม่ได้ซะที บวกเลขทีไรก็บวกผิด โดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะเด็กมองผิด คำว่า arm ก็นึกว่า mar บวกลบตัวเลขเป็นแถวๆ ก็มองข้ามไปข้ามมา เด็กรู้สึกลำบากสุดท้ายก็หมดความสนใจในการเรียน นอกจากเรื่องการเรียน คนที่เป็นดิสเล็กสิกขั้นรุนแรง จะมีความลำบากในการดำรงชีวิตด้วย อย่างเรื่องการดูเวลาที่ว่าไปแล้ว หรือแม้แต่การขับรถ ก็จะมีปัญหาในการอ่านแผนที่ การมองระยะผิดพลาด หรือเห็นภาพสับสนกับความเป็นจริง

คนเป็นดิสเล็กสิก แก้ไขได้โดยใช้ความอดทนและความเข้าใจของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ไมเคิล ไรท บ่นว่าอาการจะนี้เป็นปัญหาใหญ่ในระบบการเรียนการสอน ถ้าบรรดาครูอาจารย์และคนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่ามีคำว่า ดิสเล็กสิก อยู่ เด็กที่เป็นดิสเล็กสิกก็คือเด็กโง่เง่า ปัญญาอ่อนในสายตาครู เขาบอกว่า ในต่างประเทศเขารู้จักคำว่า ดิสเล็กสิก มาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนในวงการศึกษาไทย มีกี่คนที่รู้จักและเข้าใจความหมายของคำคำนี้

เราเอาคอลัมน์ของไมเคิล ไรทให้พี่สาวเราอ่าน พี่สาวเราก็บอกว่า จริงที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคำว่าดิสเล็กสิก แต่เรารู้จักมันมาหลายปีแล้ว ด้วยความบังเอิญ คือบังเอิญไปเสิร์ชเจอเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเรื่องนี้ ก็อ่านๆ จนเข้าใจ เขามีรายชื่อคนดังที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่เป็นดิสเล็กสิก ประมาณว่าเป็นการพิสูจน์ว่า ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญาและความสามารถ

**โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗

หมายเหตุ - จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตฯ คำว่า dyslexia ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า “ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ” หรือ “ภาวะเสียการอ่านรู้ความ”

ขำได้ก็ดี: สาวกของเวดิล
- เคยได้ยินเรื่องสาวกของเดวิลที่เป็นดิสเล็กสิกไหม?
- เขาขายวิญญาณให้ซานตา
(จากเว็บไซต์ Joke fo the Day)

ไม่มีความคิดเห็น:

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์