วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

พลังที่เหนือกว่าคำว่า “รัก”

จากคอลันม์ “เมนูข้อมูล” โดย นายดาต้า มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 28 ส.ค. - 3 ก.ย. 2552 ปีที่ 29 ฉบับ 1515

คล้ายว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ปัญหาครอบครัวจะเกิดจากลูก โดยเฉพาะที่เป็นวัยรุ่นคิดว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก อยากให้ลูกเป็นเหมือนกับที่พ่อแม่คิด ในขณะที่ลูกต้องการเติบโตไปอีกทาง

ความไม่เข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิเสธซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความโกรธ ความน้อยใจ อันจะนำมาซึ่งความเหินห่าง และแยกตัวออกจากกันมากขึ้น

พ่อแม่ยังติดในสังคมเก่า ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่น้ำเสียงของสังคมเรียกร้องให้ช่วยกันสร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว

แต่เสียงเรียกร้องนั้นดูเหมือนว่าจะมุ่งไปที่การโทษฝ่ายเดียว คือ พ่อ แม่

พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่ทำความเข้าใจลูก ปล่อยให้ลูกขาดความอบอุ่น ขาดความรัก หรือรักลูกไม่ถูกทาง ตามใจไปเสียทุกอย่าง ทำตัวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน

เพราะลูกเป็นเด็กจึงได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องถูกสังคมเรียกร้อง

ที่ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากสังคมยุคใหม่มีลูกน้อยคน ค่าของลูกจึงท่วมท้น เกินกว่าที่พ่อแม่จะปล่อยให้ลิ้นไรลอบย้ำ ทุกส่ิงทุกอย่างยอมได้เพื่อลูก

นี่เป็นช่องทางให้นักการตลาดแห่งยุคบริโภคนิยมใช้วิธีกระตุ้นความอยากให้เด็ก เพื่อให้เด็กเรียกร้องให้พ่อแม่ซื้อ

สร้างวัตถุนิยมให้เป็นลัทธิครอบงำความคิดเด็ก

ให้อยากได้ไม่รู้จบสิ้น ไม่รู้พื้นฐานของตัวเอง อยากได้เกินฐานะ

ความยากลำบากของพ่อแม่ยุคนี้คือ หาไม่พอให้ลูกใช้

ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับลูก ไม่ใช่ว่าไม่เห็นว่าปล่อยอย่างนี้แล้วลูกเสียหาย

แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ เสียงดังไม่เท่ากับการรุกของนักการตลาดแห่งยุคบริโภคนิยมที่ผ่านมาทางสื่อมวลชนสารพัด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “สวนดุสิตโพล” สำรวจความคิดของแม่ที่มีต่อลูก

ร้อยละ 31.27 บอกว่าเด็กถูกครอบงำด้วยสื่อและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 25.64 บอกว่าเด็กยุคนี้กล้าแสดงออกมากเกินไป ไม่มีสัมมาคารวะ ก้าวร้าว ใช้คำพูดคำจาไม่เหมาะสม ร้อยละ 19.51 เห็นว่าขาดผู้ใหญ่ชี้แนะ หรือให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ร้อยละ 12.32 เห็นว่าเป็นพวกวัตถุนิยม ฟุ้งเฟ้อ ตามเพื่อน ทำตัวตามกระแส ร้อยละ 11.26 เห็นว่าเด็กห่างเหินศีลธรรม ไม่ได้รับการขัดเกลาทางด้านจิต

คนเป็นแม่เข้าใจหมดว่าเกิดอะไรกับลูก

แต่ทั้งที่เข้าใจแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เสียงของพ่อแม่ดังไม่เท่าเสียงของกระแส

อยากจะบอกลูก แต่ไม่มีวิธีบอกที่ชี้นำความคิดได้เท่ากับนักการตลาดมืออาชีพ

เพราะรักมาก ไม่อยากทำให้ลูกต้องกระทบกระเทือนใจ จึงทำให้ลูกไม่เกรง ไม่กลัว อยากจะได้อะไรก็เรียกร้องเอาโดยไม่ฟัง เหตุที่ขาดสัมมาคารวะก็เพราะรักมาก ไม่กล้าทำโทษเมื่อทำผิด

ที่สุดผลผลิตของยุคนี้ จึงได้เด็กที่ใช้จ่ายตามกระแส เพราะการปลุกเร้าของนักการตลาดมืออาชีพ ที่มีจิตวิทยามวลชนมากกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่จะสู้ได้

ครอบครัวส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายตามกระแสของลูก

ที่ตามมาคือลูกขาดความนับถือพ่อแม่ เพราะเห็นพ่อแม่ไม่มีปัญญาสนองให้ตัวเท่ากับที่พ่อแม่เพื่อนสนองให้

เด็กที่ไม่มีศีลธรรม และคำสั่งสอนที่ดีเป็นเกราะคุ้มกัน

ทั้งที่เป็นลูกยุคที่พ่อแม่รักดังไข่ในหิน อยากให้เติบโตไปในวิถีที่ดีงาม

กลับเป็นยุคที่ฟอนเฟะที่สุด ลูก ๆ ทำตัวเหลวแหลกให้พ่อแม่ช้ำใจ

ขณะที่สังคมก็ยังก่นประณามพ่อแม่ว่าไม่ให้ความรัก ไม่ให้ความอบอุ่นกับลูก

นักการตลาดเห็นแก่ได้ ที่กระตุ้นให้เด็กอยากได้ไม่รู้จักหยุด กลายเป็นนักการตลาดมือทองที่สังคมปรบมือให้ด้วยความยอมรับนับถือ

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์