วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

สั้น ๆ กับ แรนดี้ เพาส์ช

ต่อเนื่องมาจากที่คุณ Cookie Monster แวะมาบอกลิงก์ของวิดีโอรายการ The Oprah ที่เชิญแรนดี้ เพาส์ชไปคุยเรื่อง The Last Lecture แบบมีบรรยายไทย (ขอบคุณคุณ Cookie Monster มากค่ะ!) ก็เลยนึกว่าน่าจะอัพเดทเรื่องนี้ซะหน่อย

ความจริงตั้งแต่ตอนที่รู้ข่าวว่าแรนดี้ เสียชีวิตไปแล้วก็ว่าจะมาอัพเดท แต่ก็ไม่ได้อัพเดท...

ดร.แรนดี้ เพาส์ชเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม ๒๐๐๘ สิริรวมอายุ ๔๗ ปี (ประมาณ ๑ ปีหลังจากที่บรรยาย The Last Lecture, เกือบ ๆ ๒ ปีหลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน) ตอนที่แรนดี้เสียชีวิตที่อเมริกาก็เป็นข่าวดังอยู่เหมือนกัน แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีคนรู้จักในวงกว้าง ก็เลยไม่มีข่าวอะไร

ตั้งแต่วิดีโอ The Last Lecture เผยแพร่ออกไปเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๐๐๗ ประเมินว่ามีคนได้ดูวิดีโอนี้ไปแล้วหลายสิบล้านคนทั่วโลก หนังสือ The Last Lecture ที่แรนดี้เขียนร่วมกับ Jeffry Zaslow จากเล็คเชอร์นี้ก็ติดอันดับหนึ่งเบสต์เซลเลอร์ และแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ ๓๐ ภาษาแล้ว

นิตยสารไทม์จัดให้ แรนดี้ เพาส์ช เป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกด้วย...

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ถึงเวลาต้องเลือกข้าง เพราะเป็นกลางคือเป็นทุกข์

ทุกวันนี้เราเบื่อหน่ายเรื่องการเมืองมากกกกก... ไม่ติดตามข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น และพยายามหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องการเมืองในทุกกรณี ใครถามว่าเราเป็นฝ่ายไหน เราก็บอกว่า เราเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหนซักฝ่าย

เราไม่ได้เป็นแฟนรัฐบาลปัจจุบัน (หรือที่เขาว่าเป็นรัฐบาลนอมินีของอดีตนายก) แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับการออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลของพันธมิตร เรามีเหตุผลส่วนตัวของเราที่จะคิดและจะเชื่อแบบนั้น ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็มีเหตุผลที่จะคิดและจะเชื่อเหมือนหรือแตกต่างไปจากเรา

สังคมคงไม่วุ่นวาย ถ้าทุกคนเคารพในสิทธิและวิจารณญาณของคนอื่น ไม่พยายามไปรุกล้ำสิทธิหรือสงสัยในวิจารณญาณของคนอื่น แต่ทุกวันนี้มันวุ่นวาย เพราะทั้งสองฝ่ายคิดว่าตัวเองถูก-อีกฝ่ายผิด และในสังคมต้องมีแต่เรื่องที่ถูกต้อง (หรือแปลว่าเรื่องที่ตนเองเห็นด้วย) เท่านั้น สิ่งที่ผิดต้อง (หรือแปลว่าเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย) ถูกกำจัดไป

สังคมเป็นยังไง ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้น... นั่นคือ ชีวิตของเราก็วุ่นวายไปตามสถานการณ์ทางการเมืองทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันเลย เพราะเราต้องเจอกับคนที่เชียร์อดีตนายกเต็มที่ แบบไม่เห็นความผิดด่างพร้อยอะไรเลย แล้วเราก็ต้องเจอกับคนที่เป็นฝ่ายพันธมิตรเต็มตัว ต้องการกำจัดอดีตนายกให้สิ้นซาก

แรก ๆ เรายังไม่รู้ตัว เวลาคุยกับฝ่ายอดีตนายก เราก็ดันพยายามจะอธิบายให้เข้าใจถึงประเด็นของพันธมิตรที่เห็นว่าอดีตนายกมีข้อเสียยังไง พอคุยกับฝ่ายพันธมิตร เราก็ดันไปพยายามอธิบายว่ารัฐบาลนี้มีความชอบธรรมยังไงที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป และพันธมิตรไม่มีความชอบธรรมยังไงที่จะไปไล่เขาออก

คุยไปทีไรก็เป็นเรื่อง... หลัง ๆ เลยเลิก (เริ่มฉลาดขึ้น?) ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคุยอะไรมา เราทำอย่างเดียวคือ ยิ้ม ๆ แล้วก็ปล่อยให้เขาพูดไปเรื่อย ๆ ไม่สนับสนุน ไม่คัดค้าน ไม่ตอบโต้ จนเขาหมดมุขแล้วซักพักก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หนุ่มเมืองจันท์ เขียนในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับ ๑๔๖๔ วันที่ ๕-๑๑ กันยายน ๒๕๕๑) แนะนำว่า ทุกวันนี้ถ้ามีคนจะชวนคุยเรื่องการเมือง ควรจะถามไปตรง ๆ เลยว่าอยู่ฝ่ายไหน ถ้าอยู่ฝ่ายเดียวกันก็ค่อยคุยกัน แต่ถ้าเป็นคนละฝ่าย ให้เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นทันที

แถมบอกว่าถ้าใครมาบอกว่า “เป็นกลาง” อย่าไปเชื่อ คนเป็นกลางคบไม่ได้ เป็นพวกอีแอบ เราอ่านแล้วฉุนนิดหน่อย หนอย... มาว่าเราเป็นอีแอบ คบไม่ได้ แต่ก็เห็นด้วยกับที่หนุ่มเมืองจันท์บอกว่า เวลาที่เกิดข้อขัดแย้งขึ้นทีไร คนกลางนี่แหละที่ซวยมากที่สุด

หนุ่มเมืองจันท์บอกว่าคนที่ “เป็นกลาง” ไม่มีจริง ยกตัวอย่างทางกายภาพว่า ถ้ามีคนยืนกันอยู่ ๓ คน คนทางซ้าย-คนตรงกลาง-คนทางขวา ถ้าเราเป็นคนที่ยืนทางซ้าย ก็ต้องมองว่าคนตรงกลาง เป็นพวกฝ่ายขวา แต่ถ้าเราเป็นคนที่ยืนทางขวา ก็ต้องมองว่าคนตรงกลางเป็นพวกฝ่ายซ้าย

ชัดเจนจริง ๆ ว่าคนตรงกลางซวยที่สุด เพราะเจอศึก ๒ ด้าน!!

เรามีหลักฐานที่ว่าคนเป็นกลางซวยที่สุด เป็นต้นว่า เขาประท้วง ปิดถนน รถติดวินาศสันตะโร คนเป็นกลางที่อยู่แถว ๆ นั้นซวย เขายึดทำเนียบ ประกาศหยุดงาน ปิดรถไฟ ปิดสนามบิน ปิดท่าเรือ ม็อบสะใจ รัฐบาลไม่สนใจ คนเป็นกลางก็ซวยเพราะเดินทางไม่ได้ ธุรกิจเสียหาย รัฐบาลไม่ชอบใจที่ทำเนียบโดนยึด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเกิน ๕ คน ม็อบอยู่กันเป็นพัน ๆ คนสบายใจ ก็รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ แต่คนเป็นกลางซวย

สถานการณ์บีบคั้นขนาดนี้ ถึงเวลาที่คนเป็นกลางต้องเลือกข้างซะแล้ว หรือเปล่า?!?

ปล. เดือนนี้ที่ทำงานเรามีประชุมกับ Vendor ที่เป็นคนจีน เขาเมลมาบอกว่า ไม่อยากมาประชุมที่กรุงเทพฯ เลย ดูข่าวแล้วท่าทางอันตราย สถานการณ์เลวร้าย-ต่างชาติหมดความเชื่อมั่น เคราะห์หามยามร้ายเราอาจจะต้องถ่อไปประชุมที่จีนแทน แบบนี้คนเป็นกลาง เอ้ย... เราซวย!!

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

เด็กพิเศษ กับ หนังสือคลาสสิก 5 เล่ม

วันก่อนดูรายการ “หนึ่งในพระราชดำริ” ทางโมเดิร์นไนน์ ตอน “เด็กพิเศษ” ซึ่งหมายถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่เด็กอัจฉริยะ เด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (LD - Learning Disability) เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ลูกสามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งคุณหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษบอกว่า ถ้าพ่อแม่ยอมรับว่าลูกมีปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ หมอก็จะสามารถแนะนำวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยเด็กได้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ เพราะต่อให้หมอที่เก่งแค่ไหน นักกิจกรรมที่มีความสามารถแค่ไหน แต่คนที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดก็คือพ่อแม่ นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องให้เวลา อย่าคิดว่าการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษคือการวิ่งร้อยเมตร จะสปีดให้ถึงเส้นชัย มันเป็นไปไม่ได้ ให้นึกว่าเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ต้องสปีด แต่ก็ต้องไม่หยุดวิ่ง...

ในรายการบอกว่าปัจจุบันเด็กที่อยู่ในวัยเรียนมีประมาณ 10 ล้านคน มีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษอยู่ไม่น้อย โดยมีเด็ก LD ประมาณ 6 แสน - 1 ล้านคน เด็กสมาธิสั้นประมาณ 5 แสน และเด็กออทิสติกอย่างน้อย 5 หมื่นคน หมายความว่าอย่างต่ำ ๆ มีเด็กพิเศษประมาณ 1 ล้านกว่าคน หรือในเด็กทุก ๆ 10 คน จะมีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 1 คน

จำนวนตัวเลข 1 ใน 10 อาจจะทำให้พ่อแม่วิตกกังวลว่าลูกตัวเองจะมีปัญหา แต่สิ่งที่พ่อแม่น่าจะวิตกกังวลมากกว่าก็คือ เด็กธรรมดาที่พ่อแม่ปล่อยให้ดูทีวี-เล่นเกมจนติด จะแสดงลักษณะและอาการคล้ายกับเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ช้ากว่าปกติ การไม่ชอบสังคม การจัดการกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ นี่ก็ตรงกับที่เราเคยเล่าเรื่องเด็กติดทีวีที่ได้ดูในรายการจุดเปลี่ยน

สรุปว่าพ่อแม่คงต้องตระหนักด้วยว่าควรจะเลี้ยงลูกกันอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้ลูกที่เป็นเด็กปกติ กลายเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ “การสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” อย่างในบทความ พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย ที่ก็อปปี้มาโพสต์ไปเมื่อวันก่อนน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เห็นผลแล้วเป็นรูปธรรม



หนังสือภาพ 5 เรื่องเอกของโลก

หลังจากที่เราโพสต์เรื่องพัฒนาเด็กด้วยหนังสือไป ก็มีคนบอกว่าเคยได้ยินว่ามูลนิธิซิเมนต์ไทยแนะนำหนังสือภาพคลาสสิกสำหรับเด็ก 5 เล่ม แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรบ้าง เราเสิร์ชเจอแล้วก็ส่งลิงก์ไปให้ แต่พอดีเพื่อนเราที่มาโพสต์คอมเมนต์ไว้ก็พูดถึงเหมือนกัน เราคิดว่าคงมีประโยชน์กับหลายคน เลยก็อปปี้มาโพสต์ไว้ตรงนี้ด้วย

1. แมวล้านตัว (Million of cats)
เรื่องและภาพโดย แวนดา ก๊อก
แปลโดย ชีวัน วิสาสะ
ราคา 40 บาท
“แมวล้านตัว” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2498 และยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีอายุยืนที่สุดของอเมริกาที่ยังมีการตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ภาพต้นฉบับใช้หมึกดำสีเดียว ลายเส้นประณีตและงดงามมาก แมวล้านตัวได้รับการตีความมากมาย ทั้งทางปรัชญา ศาสนา การใช้ชีวิต ความโลภ เสียดสี เหน็บแนม ความเห็นแก่ตัว และความไร้เดียงสาของมนุษย์ รวมถึงนิยามความเป็นมนุษย์และความงามอันหลากหลาย

2. เดินเล่นในป่า (In the forest)
เรื่องและภาพโดย มารี ฮอลล์ เอ็ตส์
แปลโดย อริยา ไพฑูรย์
ราคา 40 บาท
“เดินเล่นในป่า” มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามสไตล์ของ มารี ฮอลล์ เอ็ตส์ คือการใช้ดินสอเพื่อให้ได้ภาพที่ดูอบอุ่นและอ่อนโยน หนังสือของเธอทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากที่เคยเชื่อว่าหนังสือเด็กจะต้องมีสีสันมากมายนั้นต้องเปลี่ยนความคิดไป เพราะหลายเล่มได้รับการพิสูจน์แล้วว่าหนังสือสำหรับเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องมีสีสันสดเจิดจ้าเสมอไป ถ้าหนังสือเล่มนั้นสามารถสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ด้วยเรื่องและภาพที่ดี

3. คอร์ดูรอย (Corduroy)
เรื่องและภาพโดย ดอน ฟรีแมน
แปลโดย อัจฉรา ประดิษฐ์
ราคา 50 บาท
“คอร์ดูรอย” พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2511 ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) และลงสีน้ำ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหว มีอารมณ์ และน่าตื่นเต้น กระทั่งได้รับการกล่าวอย่างชื่นชมว่า ไม่มีใครแกะไม้ให้ตัวละครมีหน้าตาเกลี้ยงเกลาและแสดงอารมณ์ได้มากเท่าภาพตัวละครในหนังสือเล่มนี้

4. มีหมวกมาขายจ้า (Caps for sale)
เรื่องและภาพโดย แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา
แปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์
ราคา 70 บาท
“มีหมวกมาขายจ้า” เป็นนิทานเก่าแก่ของอินเดีย ถูกนำมาทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งแรกเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว และยังคงติดอันดับขายดีจนถึงปัจจุบัน แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา เป็นศิลปินนักออกแบบสามารถทำภาพประกอบได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีอารมณ์ขัน การออกแบบฉากและตัวละครให้ดูใกล้ชิดกับเด็ก ๆ

5. เมล็ดแคร็อท (The Carrot Seed)
เรื่องและภาพโดย รัธ เคิร์ส และ คร็อคเก็ท จอห์นสัน
แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจัดพิมพ์ (8 ก.ค. 51)
“เมล็ดแคร็อท” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่าเรื่องง่าย ๆ ใช้คำเพียง 101 คำ แต่มีความลึกซึ้ง เนื้อหาของเรื่องทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจคำว่า “อดทน รอได้” เป็นอย่างดี Maurice Sandak เจ้าของเรื่อง ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ยกย่องหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “หนังสือภาพเล่มนี้สมบูรณ์แบบจนเรียกว่า เป็นบรรพบุรุษของหนังสือภาพทุกเล่มในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ มันคือการปฏิวัติเล็ก ๆ ของหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของการพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กไปตลอดกาล”

รูปและข้อมูลมาจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย http://www.scgfoundation.org/update/2008-07-17/

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์