วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ดูแลสุขภาพ

เมื่อคืนดูรายการตาสว่าง เขาเชิญอาจารย์ สาทิสอินทรกำแหง ที่ทำเกี่ยวกับพวกชีวจิตมาออกรายการ พร้อมกับผู้ร่วมรายการอีก 3 คนที่เป็นมะเร็งที่รักษากับอจ.ด้วยแนวทางชีวจิตแล้วหาย

คนหนึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกว่าก่อนรักษาแบบชีวจิต ทำคีโมไป 2 คอร์ส คอร์สแรกทำเสร็จ (8 ครั้ง) คอร์สที่สองทำได้ถึงครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 นี่แหละ แล้วก็ไม่ทำต่อ เขาบอกว่า ตอนนั้นร่างกายอ่อนแอมากๆ รู้ตัวเลยว่าถ้าทำอีกครั้งต้องตายแน่ๆ เพราะคีโมฆ่าทั้งเซลล์มะเร็ง และฆ่าเขาด้วย

เขาบอกว่าหมอพูดกับเขาว่า “ถ้าคุณมีเรื่องอะไรสำคัญๆ ก็ให้รีบทำนะ” เขาได้ยินแล้วก็นึกในใจว่า “เฮ้ย... แบบนี้มันตายชัดๆ” ก็เลยเลิกคีโม แล้วหันไปหาชีวจิต ตอนนี้อยู่มาได้ 2 ปีกว่าๆ แล้ว เขาไม่ได้ไปตรวจนับเซลล์มะเร็งต่อ แต่รู้สึกสบายดีมากๆ ต่างจากตอนที่ทำคีโมมาก ตอนนั้นทั้งอ่อนแอ ทั้งทุกข์ทรมานจนนึกว่าไม่กลัวตายแล้ว (เพราะตายน่าจะสบายกว่า) ร่างกายแข็งแรงดี สามารถวิ่งมินิมาราธอน 10 กม. ได้สบายๆ

อีกคนหนึ่งเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผ่าตัดออก แล้วต่อมาตรวจเจอว่าว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก ก็ตัดออกแล้วหันมารักษาแบบชีวจิต เขาบอกว่าตอนแรกหมอก็จะให้รักษาโดยทำคีโมเหมือนกัน แต่ลูกๆ บอกว่าไม่ยอม ให้ลองไปรักษาทางชีวจิตดีกว่า สุดท้ายก็หาย อีกคนเป็นมะเร็งที่ลิ้น ตรวจเจอเร็ว ก็รักษาได้ (คนนี้เราไม่ค่อยได้ฟังเขาเล่า เพราะเปลี่ยนช่องกลับไปกลับมา ไม่รู้มากกว่าเขารักษายังไง)

ในรายการเขาไม่ได้คุยลงไปในรายละเอียดการรักษามากนักว่า แต่ละคนต้องทำอะไรบ้าง หรือต้องอึดทนแค่ไหน กว่าจะผ่านวันร้ายๆ กว่าจะหายดีและมีสุขภาพดีแบบนี้ได้ แต่เรามั่นใจว่าคงไม่ง่ายๆ เหมือนการรักษาแผนปัจจุบันที่ใช้ผ่าตัด ให้คีโม ฉายรังสี เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและพฤติกรรม ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง - จากหลังเท้าเป็นหน้ามือเลยก็ว่าได้ - แต่เราคิดว่านี่ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ - ถ้าคิดว่าร่างกายและสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต สำคัญมากกว่า เงินทอง ชื่อเสียง ความสุขสบายต่างๆ - คนที่ป่วยน่าจะยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจลงมือทำ อจ.สาทิสเองก็บอกว่า มันก็ไม่ได้ง่าย ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ หรอก

ถึงเราจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกินน้ำอาร์ซี การทำดีท็อกซ์ รำกระบอง ที่ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จที่เขาแนะนำให้กับคนที่จะใช้แนวทางชีวจิต (ถามว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย เราก็ตอบไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดจริงๆ ว่าเขาทำอะไรยังไง เอาเป็นว่าเป็นความไม่ค่อยเห็นด้วยอันเนื่องมาจากอคติและความโง่เขลาส่วนตัว) แต่คำแนะนำในการดูแลตัวเองที่เขาใช้คีย์เวิร์ดช่วยจำง่ายๆ ว่า “5 เล็ก” กับ “5 ใหญ่” ก็น่าจะเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเรา และช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้ในระดับหนึ่ง เขาแนะนำไว้แบบนี้

5 เล็ก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราเอง ร่างกายของเราเอง คือ 1. การกิน - กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 2. การนอน - นอนหลับให้สนิท และนอนให้เพียงพอ 3. การทำงาน - ทำงานอย่าเครียด ถ้างานที่เครียด ไม่สนุก ก็ต้องพยายาม มองหามุมมองดีๆ ในงานนั้นๆ จะทำให้ทำงานอย่างมีความสุข 4. พักผ่อน อันนี้ก็คือ เพื่อลดความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงาน บางคนอาจคิดว่าต้องเสียเงินเสียทอง ไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัด ต่างประเทศ อันนั้นอาจจะดีต่อความคิดและจิตใจ แต่ถ้าจะให้ดีต่อร่างกาย การพักผ่อนง่ายๆ คือ การหายใจให้เต็มปอด ยืดตัวตรง หลังตรง หายใจถูกวิธี ร่างกายจะมีแรง 5. การออกกำลังกาย - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรให้เหงื่อออกและชีพจรเต้น 120 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เพราะร่างกายจะหลั่งเอ็นดอร์ฟิน และ “โกรธ” ฮอร์โมนออกมา (ไม่ใช่ ฮอร์โมนความโกรธนะ แต่เป็น growth ตะหาก) ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีกำลัง

5 ใหญ่ เป็นเรื่องภายนอก เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา คือ 1. ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ 2. ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอดี 3. ใช้ชีวิตอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรักกันอย่างพี่น้อง 4. สร้างความเป็นเลิศทางสุขภาพ (หมายถึง ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่ใช่อยากจะแข็งแรงดี ไม่มีโรค แต่ก็ปล่อยไปตามยถากรรม อยากกินอะไรก็กิน ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ) 5. ใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน (อันนี้เพื่อให้เกิดความผาสุกในบ้านเมืองและประเทศชาติ)

เราว่า ถ้าทุกคนพยายามทำ 5 เล็กได้ เราจะมีประชากรที่มีสุขภาพดี ลดปริมาณเงินทองหรืองบประมาณรัฐที่จะต้องเอาไปใช้รักษาคนป่วย และถ้าทุกคนทำ 5 ใหญ่ให้ได้ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขมวลรวมสูงมากๆ

ทีนี้โยงจากเรื่องข้างบนอีกหน่อย พอดีช่วงนี้เป็นช่วงตรวจสุขภาพประจำปีที่บริษัทของเรา คนส่วนใหญ่ไปตรวจแล้วก็ไม่ได้อยู่รอฟังผลตรวจ พอประมาณสัปดาห์หนึ่งเขาก็จะส่งรายงานผลมาให้ที่บริษัท บางคนก็อ่านผลเข้าใจ แต่บางคนก็ไม่รู้เรื่องเลย เรื่องความดัน น้ำตาล โคเลสเตอรอล ฯลฯ แบบนี้บางทีตรวจร่างกายมาแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลคุ้มค่าเท่าไหร่ สักแต่ว่าไปตรวจแล้วก็ได้รายงานเป็นเล่มๆ มา

พอดีวันนี้เราได้ฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องการดูแลสุขภาพมา เป็น Power Point Presentation เรื่อง “การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง” โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผอ. ศูนย์แพทย์อาชีวเวชศาสตร์กรุงเทพ เขาสรุปคำอธิบายเกือบทั้งหมดของรายการตรวจสุขภาพประจำปีเอาไว้ มีรายละเอียดดีมากๆ จนเราคิดว่าโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลน่าจะเอาไปพิมพ์แนบกับรายงานการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเป็นความรู้ที่คนที่ตรวจสุขภาพประจำปีควรจะได้รู้

แต่อย่างว่านะ บางคนก็อาจจะไม่สนใจ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาพสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนหนุ่มๆ สาวๆ และคนที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ เราได้ดูโฆษณาของโรงพยาบาล ที่เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ คุยกัน เขาจะบอกว่า ให้แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดี จะได้หาคู่ครองได้ ให้ทำโน่นทำนี่ แต่ไม่เห็นมีใครเตือนให้ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี (เหมือนที่เขาบอกว่า แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ อ่ะนะ เราจะไม่รู้คุณค่าของสุขภาพดี จนกว่าเราจะไม่มีมันแล้ว อันนี้เรื่องจริงเลย)

กับอีกเรื่องหนึ่งคือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมอุดมปัญญา คนไม่ค่อยสนใจจะไขว่คว้าหาความรู้ (บางทีไม่ต้องใฝ่หาด้วย ขนาดป้อนให้ก็ยังไม่รับ) โดยเฉพาะเรื่องที่เรื่องที่มันยุ่งยากซับซ้อน เรื่องที่มีสาระ หรือเรื่องที่ไม่เฮฮาบันเทิง ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราโดยตรง แต่พอเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา (เรียกง่ายๆ ว่า เรื่องของชาวบ้าน) กลับสนใจและอยากรู้มากเป็นพิเศษ อ้าว... ออกนอกเรื่องไปโน่นได้ไงแฮะ เอาเป็นว่าใครอยากเข้าใจว่า คำศัพท์ต่างๆ ที่เห็นในรายงานตรวจสุขภาพมีความหมายและความสำคัญยังไง ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่นี่เลย

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เมื่อไหร่จะได้เกษียณ

เมื่อไม่นานมานี้เพื่อนเราส่งลิงก์มาให้ไปทดลองคำนวณเงินออมหลังเกษียณที่ http://www.sec.or.th/th/educate/manage/rmf/cal/section2.php

เมื่อตอนที่เรากำลังจะเริ่มลงทุนในกองทุน เราก็เคยเห็นโปรแกรมช่วยคำนวณแบบนี้ที่เว็บของบางบลจ. อยู่บ้าง แต่ตอนโน้นเราเจอคำถามแรกว่าจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ และคำถามต่อมาว่าหลังเกษียณจะอยู่ไปอีกกี่ปี ก็ไม่ค่อยอยากคิดเท่าไหร่ เพราะฟังดูแล้วรู้สึกเหมือนต้องวางแผนตายไปในตัว แต่หลังๆ นี้เราเริ่มทำใจได้กับการตาย พอเพื่อนบอกลิงก์ก็เลยไปทดลองกรอกเล่นๆ ซะหน่อย

ครั้งแรกเรากรอกไปว่าจะเกษียณตอนอายุ ๕๐ แล้วอยู่ต่ออีก ๒๐ ปี (คิดว่าตายตอน ๗๐ น่าจะกำลังดี อยู่นานไปจะกลายเป็นแก่กะโหลกกะลา) แต่ผลการคำนวณแสดงว่าเงินติดลบอยู่ประมาณ ๒ ล้าน ถ้าเราอยากจะมีชีวิตระเริงอยู่หลังเกษียณ ๒๐ ปี เราจะต้องเถือกทำงานไปอีก ๕ ปี (แต่จะได้ยืดอายุไปอีกหน่อยหนึ่ง ไปตายตอนอายุ ๗๕ ปี) ก็โอเค ถือว่าพอรับได้...

เมื่อวันก่อนเราได้ยินข่าวในทีวี เขาบอกว่าคนสมัยนี้อายุยืนขึ้น โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนชาติอื่นๆ แล้วเราก็เห็นเขาขึ้นตัวเลขแว้บๆ ว่า ผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๘๕ กว่าๆ ผู้ชาย ๗๙ เห็นแล้วตกตะลึงตึงตึง...

ก็ขนาดเราวางแผนว่าจะตายตอนอายุ ๗๕ ปี เรายังต้องทำงานถึงอายุ ๕๕ ปี แล้วนี่ถ้าเราต้องอยู่ไปจนถึง ๘๕ เท่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิง จะต้องทำงานไปถึงอายุเท่าไหร่ฟระ คิดแล้วเหนื่อยใจ...

แต่แทนที่จะตั้งใจทำงานเก็บเงิน เราก็ไปกูเกิ้ลหาข้อมูลต่อ ปรากฏว่าไอ้ตัวเลขที่เห็น ๘๕/๗๙ เป็นอายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นตะหาก ส่วนอายุเฉลี่ยของคนไทยปีที่ผ่านมาคือ ผู้หญิง ๗๔.๙๘ ผู้ชาย ๗๐.๒๔ (ยังไงผู้ชายก็ตายไวกว่าผู้หญิงแฮะ)

เราเห็นแล้วก็โล่งใจไปหน่อยหนึ่ง แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ค่อยได้ เพราะดันไปเจอบทความอีกอันหนึ่งที่วิเคราะห์ว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ คนที่มีอายุยืน ก็จะมีโอกาสมีอายุยืนมากขึ้น เช่น คนที่มีอายุได้ถึง ๖๐ ปีในปี ๒๐๐๖ อาจจะมีโอกาสอยู่ได้อีก ๒๐ ปี แต่คนได้ที่มีอายุถึง ๖๐ ปีในปี ๒๐๑๖ อาจจะมีโอกาสอยู่ได้อีก ๓๐ ปี เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคนรู้จักดูแลตัวเองมากขึ้น

เพราะฉะนั้นอีก ๕ ปีหรือ ๑๐ ปีข้างหน้า เขาอาจจะมาประกาศว่าอายุเฉลี่ยคนไทยเป็น ๘๕ ปีอย่างที่เรากลัวก็ได้

รู้แบบนี้แล้ว สงสัยต้องปรับแผนเกษียณใหม่อีกรอบหนึ่ง เพราะถ้าหากว่าวางแผนเกษียณ (และวางแผนตาย) ไว้ แล้วเกิด “โชคดี” อายุยืนกว่าที่วางแผนขึ้นมา จะกลายเป็น “โชคร้าย” ต้องลำบากทำงานหาเงินตอนแก่อีก จะเซ็งไปกันใหญ่

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ภัยจากจอสี่เหลี่ยม

เมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน ได้ดูรายการ “จุดเปลี่ยน” ทางช่อง ๙ เขาเอาปัญหาเด็กติดทีวีมาให้ดู โอ้โห... ดูแล้วหนาว!!!

เขามีสถิติและความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่เกี่ยวกับทีวี บอกว่าเด็กๆ ดูทีวีกันเฉลี่ยวันละประมาณ ๔ ชั่วโมง (มีบางคนที่ดูเยอะๆ ถึง ๗-๘ ชั่วโมงด้วยซ้ำ) ประมาณว่ากลับจากโรงเรียนก็ดูทีวี พ่อแม่บอกว่าปล่อยให้เด็กดูทีวี เพื่อที่พ่อแม่จะได้มีเวลาไปทำอะไรๆ อย่างอื่น เช่น ทำงาน ไม่ต้องคอยเฝ้า ใช้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก แถมพ่อแม่บางคนคิดว่า ลูกดูทีวีจะช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น เด็กเล็กๆ ดูทีวี จะได้รู้จักพูดได้เยอะๆ ฯลฯ

แล้วเขาก็ให้เรารู้จักเด็กที่ติดทีวีอย่างหนัก ชื่อน้องโอเว่นอายุประมาณ ๕ ขวบ อยู่กับอาม่าที่ต้องทำงานทั้งวัน ก็เลยเปิดทีวีให้น้องโอเว่นดู น้องจะได้ไม่กวนเวลาทำงาน ปรากฏว่าน้องโอเว่นติดทีวีอย่างหนัก ขนาดเวลาปิดทีวีปุ๊บ น้องร้องไห้ลงไปดิ้นที่พื้น เขาไปคุยกับครูของน้องโอเว่นที่โรงเรียน พาน้องโอเว่นไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพและพัฒนาการ

พบว่ามีพัฒนาการโดยรวมช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน การพูด ก็เพิ่งพูดได้แค่เป็นคำๆ ไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (เวลาไปโรงเรียนก็จะไปเล่นคนเดียว ไม่ชอบเล่นกับเพื่อน) มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ โวยวาย ร้องไห้รุนแรง (โดยเฉพาะเวลาปิดทีวี)

วิธีการที่หมอแนะนำให้แก้ไข (ก่อนจะสายเกินไป) ก็คือ จำกัดการดูทีวี ให้อาม่าพูดคุยกับน้องโอเว่นมากขึ้น เล่นกับน้อง ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น สอนอ่านเขียนหนังสือ เวลาผ่านไป ๒ เดือน น้องโอเว่นหายก็ติดทีวีได้ แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกเพื่อไล่ให้ทันเพื่อนๆ ในด้านพัฒนาการต่างๆ ทางสังคม โชคดีที่น้องโอเว่นได้รับการรักษาก่อน ถ้าปล่อยไว้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป

นี่แค่การดูทีวีเฉยๆ นะ ดูแต่รายการที่คนทั่วไปคิดว่าไม่มีพิษมีภัย อย่างการ์ตูน โฆษณาต่างๆ ยังไม่ได้มีเนื้อหาพะเรทติ้งที่สุ่มเสี่ยงอะไรเลย ยังก่อผลร้ายขนาดนี้ แต่พวกที่ทำรายการทีวีไม่สร้างสรรค์ก็ยังออกมาเถียงคอเป็นเอ็นว่า รายการทีวีไม่ได้ชี้นำ ไม่ได้สร้างปัญหาให้สังคมซะหน่อย

รายการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นตอนต่อเนื่อง เกี่ยวกับเด็กติดเกม เราไม่ได้ดู แต่คิดว่าน่าจะอันตรายพอกัน (หรือจะมากกว่า? เพราะเคยได้ยินข่าวเด็กติดเกม เล่นต่อเนื่องไม่หยุดจนตายที่ต่างประเทศ) อยากให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ดูรายการนี้เยอะๆ เวลจะเปิดการ์ตูนให้ลูกดู จะซื้อเกมให้ลูกเล่น ได้ตระหนักถึงพิษภัยแบบนี้ จะได้ยับยั้งชั่งใจกันบ้าง

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์