วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต

โดย มูลนิธิซิเมนต์ไทย - จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๖๑ วันที่ ๑๕-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๔๓

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ไม่ควรต้องนำมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย แต่เหตุใดหลายหน่วยงานจึงมุ่งเน้นในสิ่งเดียวกัน และอีกหลายหน่วยงานที่พยายามเชิญชวนเรียกร้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การเล่านิทาน อ่านหนังสือมีความจำเป็นอย่างไร

บทความต่อจากนี้ไป เป็นข้อมูลที่ได้จากการทำงานจริงในมิติที่ลึกซึ้ง จากโครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)”

ในแวดวงการศึกษาเด็กปฐมวัยและการศึกษาด้านการแพทย์ พบว่าเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงแรกเกิดถึงหกขวบ เป็นวัยที่มีการพัฒนาการสูงที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะสมองของเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงสามขวบ เด็ก ๆ วัยนี้มีความสามารถในการซึมซับ รับรู้และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ดังคำนำของผู้เขียนหนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งเปรียบเหมือนคัมภีร์เล่มหนึ่งในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวไทยยุคนี้เลยก็ว่าได้

ยิ่งเราศึกษามากขึ้นเท่าไร เรายิ่งรู้ว่าความคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องของเด็กเล็กนั้นผิดพลาดมากแค่ไหน เราเคยคิดว่าเรารู้เรื่องเด็กเล็กดีทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าที่จริงเราเกือบไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงให้การศึกษาของเด็กเล็กเริ่มหลังจากอายุ ๓ ขวบ ตอนที่เซลล์สมองก่อร่างสร้างตัวเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่รายงานการศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองบอกว่า “๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์สมองของมนุษย์จะเติบโตเต็มที่ภายในอายุ ๓ ขวบ”

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่าเด็กวัยแรกเกิดถึงหกขวบเป็นวัยที่สำคัญที่สุด เหมาะที่สุดที่จะส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยเฉพาะหนังสือดี ๆ นั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการพัฒนาสมองเด็ก

ทำไมต้องเล่านิทาน อ่านหนังสือ

หนังสือภาพเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านหรือเล่าให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง และให้ดูภาพไปพร้อม ๆ กัน สำหรับเด็กโตหนังสือภาพเป็นสื่อที่ตอบสนองความต้องการของเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหนังสือภาพเป็นสื่อที่หาง่าย ใช้ง่าย แต่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยังมองเห็นว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กมีราคาแพง หากเมื่อมองให้ลึกถึงคุณค่าแล้ว หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ได้มีราคาแพงเกินกว่าคุณประโยชน์มหาศาลที่เด็กจะได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของใช้ฟุ่มเฟือยอื่น ๆ สำหรับเด็ก

โครงการเล่านิทาน อ่าหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) เป็นหนึ่งในโครงการ “พัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือ” ที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ทำงานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยใช้หนังสือที่ดีเป็นเครื่องมือในการทำงาน

จากการ “นำหนังสือดีสู่เด็ก” ในพื้นที่ดำเนินโครงการ มีเจ้าหน้าที่ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดในระยะเก้าเดือน พบว่า เด็ก ๆ จากจำนวน ๑๕๐ คน (ครอบครัว) ซึ่งครอบครัวเหล่านี้มีลักษณะเหมือนครอบครัวในชนบททั่ว ๆ ไป ที่เป็นเกษตรกรซึ่งมีรายได้และการศึกษาไม่มากนัก หรือไม่มีเลย ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะเล่านิทานและอ่านหนังสือให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ

เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการทางด้านภาษาและสื่อสารได้ดี อีกทั้งเด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความโดดเด่นจากกลุ่มที่ไม่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างชัดเจน จากการสังเกตเด็กเมื่อเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นครั้งแรกในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กกลุ่มที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างเข้มข้นจะไม่ติดโทรทัศน์ ถ้าให้เลือกระหว่างหนังสือภาพกับโทรทัศน์ เด็กกลุ่มนี้จะเลือกหนังสือภาพมากกว่า

คุณครูพรทิพย์ ชินวิทย์ ครูพี่เลี้ยงประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เล่าถึง “น้องหม่อน” ซึ่งเริ่มเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวัย ๒ ขวบครึ่ง (ปัจจุบัน ๓ ขวบกว่า) เป็นหนึ่งในเด็กจากจำนวน ๑๕๐ คนว่า

“น้องหม่อนโชคดีมาก มีคุณยายให้ความสนใจ อ่านหนังสือให้ฟังทุก ๆ วัน แถมยังเผื่อแผ่แก่เด็กคนอื่น ๆ ด้วย น้องหม่อนมีพัฒนาการรวดเร็วในทุกด้าน พูดรู้เรื่อง ไม่เคยงอแง และไม่น่าเชื่อเลยว่าอายุขนาดนี้จะเลือกให้ยายซื้อหนังสือ แทนที่จะซื้อของเล่นตามตลาดนัด ครูคิดว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมีคุณยายคอยอ่านหนังสือให้ฟัง มีการพูดคุยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ ยายคงจะสอดแทรกเรื่องที่อยากจะให้น้องหม่อนได้รู้ลงไปในขณะที่เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟังไปด้วย”

คุณสุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงการที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญต่อการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ว่า

“เราเชื่อว่าการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว และกิจกรรมเล่านิทาน อ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ ถึงแม้ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็จะสามารถดูรูปแล้วเล่าเรื่องให้เด็กฟังได้ เด็กปฐมวัยชอบหนังสือภาพ ชอบฟังนิทาน เพราะในหนังสือมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกใจเด็ก โดยเฉพาะหนังสือภาพดี ๆ ที่เขียนโดยนักเขียนที่มีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กก็จะสามารถทำหนังสือออกมาได้ถูกใจเด็กมากที่สุด ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงหนังสือได้ง่าย หนังสือภาพมีทั้งภาพ มีทั้งภาษาและเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หนังสือภาพช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์แก่เด็กเล็ก ๆ มูลนิธิซิเมนต์ไทยอยากมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กปฐมวัยและอยากให้พฤติกรรมนี้แพร่หลายในสังคมไทย

โครงการเล่านิทานอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) นี้ มูลนิธิซิเมนต์ไทยมีความตั้งใจให้เป็นโครงการนำร่อง ทำการศึกษาและค้นหากระบวนการในการนำหนังสือสู่เด็กอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรที่สนใจในพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือได้นำไปใช้ เราร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความชำนาญในด้านนี้ และเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างเกาะติดทุกกระบวน ด้วยความหวังว่าเราจะได้เนื้อหาที่สามารถเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับผู้สนใจร่วมกัน “สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ต่อไป

โครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)” ทำงานอย่างไร

หัวใจสำคัญของโครงการฯ อยู่ที่ หนังสือดี และกระบวนการสร้างความเข้าใจในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังในครอบครัว ในการนำร่องนี้ โครงการได้คัดสรรพื้นที่ต่อยอดจากโครงการดั้งเดิมของสมาคมไทสร้างสรรค์ในพื้นที่ตั้งของห้องสมุดเด็กในชนบท ๓ แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ ห้องสมุดเด็กเวียงเก่า (ภูเวียงเดิม) ห้องสมุดเด็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ และห้องสมุดเด็กบ้านบะยาว ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายครอบครัวที่มีเด็กอายุระหว่าง ๖ เดือน - ๓ ขวบ จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว

เมื่อได้ครอบครัวเป้าหมาย จึงเริ่มกระบวนการสร้างความเข้าใจว่า หนังสือสำหรับเด็กมีลักษณะอย่างไร หนังสือภาพมีความสำคัญอย่างไร และการอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังต้องเริ่มอย่างไร นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างถึงลูกถึงคนอย่างแท้จริง กล่าวคือ เข้าหาทุกครัวเรือน อธิบายกันตัวต่อตัว สาธิตการอ่านหนังสือ ชี้แนะจุดสำคัญกันเล่มต่อเล่มเลยทีเดียว

ในการทำงานขั้นแรกเริ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างยิ่งเพื่อให้เข้าถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อส่งต่อความตั้งใจของมูลนิธิซิเมนต์ไทยในการร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Thank you nidbert.
I ordered Book Start set from Books for Children Foundation, it for 0-3 years children too.
5 books from this project (scgfoundation.org) will be listed for my daughter too.

randy

nitbert กล่าวว่า...

Randy, I posted the details of those 5 books in my next post. I thought about buying them as a gift for new baby... but wanted to wait until the last book comes out.

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์