วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

วันนี้ที่บริษัทเรามีรถมารับบริจาคเลือด คนในบริษัทก็ไปบริจาคกันพอประมาณ รวมกับคนบริษัทอื่นๆ ในตึกเห็นว่าได้ไปประมาณร้อยห้าสิบถุง เราอยากบริจาคมาก แต่เขาไม่รับบริจาค เพราะเรากินยาฆ่าเชื้ออยู่ เสียดายอยู่เหมือนกัน

ตอนเย็นเราขับรถกลับบ้านฟังข่าวเขาบอกว่ารพ.มหาราชนครเชียงใหม่ขาดแคลนเลือดอย่างหนักจนต้องเลื่อนผ่าตัดคนไข้ไป ๔๐ กว่ารายเพราะไม่มีเลือด รพ.ต้องรับคนไข้จากจังหวัดในภาคเหนือ แต่คนบริจาคเลือดส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่ในจังหวัดเชียงใหม่กับญาติผู้ป่วยที่บริจาคเติมส่วนที่ใช้ เขาก็เลยต้องประกาศเชิญชวนคนภาคเหนือไปบริจาคเลือด

ความจริงปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เราได้ยินว่าสภากาชาดไทยพยายามให้คนบริจาคเลือดให้ได้ ๘๐ ล้านซีซี เป็นการชวนคนไทยทำความดีเพื่อถวายในหลวง เลือด ๑ ถุงรู้สึกจะ ๔๐๐ ซีซี ๘๐ ล้านซีซี ก็คือ ๒ แสนถุง นั่นคือสภากาชาดต้องการรับบริจาคเลือดประมาณ ๑ หมื่น ๖ พันถุงต่อเดือนหรือ ๖๕๐ ถุงต่อวัน

แต่ที่เราอ่านเจอจากคนที่เคยไปช่วยที่สภากาชาดเขาบอกว่า สภากาชาดต้องการเลือดประมาณวันละ ๑,๕๐๐ ถุงสำหรับใช้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และแจกจ่ายให้ต่างจังหวัดถ้ากาชาดจังหวัดนั้นๆ มีเลือดไม่พอ ส่วนใหญ่สภากาชาดได้รับบริจาคเลือดไม่พอ ตลอดปีมีแค่ ๔ เดือนที่ได้รับบริจาคเลือดได้เตามเป้าหมาย คือเดือนกรกฎาคม สิงหาคม พฤศจิกายน และธันวาคม (สังเกตว่าเป็นช่วงวันแม่-วันพ่อ จนเจ้าหน้าที่อยากจะให้ทุกวันเป็นวันพ่อ-วันแม่ คนจะได้มาบริจาคเลือดกันเยอะๆ)

ตั้งแต่เกิดสึนามิและเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาการขาดแคลนเลือดก็ยิ่งวิกฤตหนัก วันนี้เราเลยมาเชิญชวนกันไปบริจาคเลือดสร้างกุศล คนที่เคยบริจาคแล้ว ถ้าไม่ได้บริจาคมานาน หรือครบกำหนด ๓ เดือนแล้ว ก็หาเวลาไปช่วยกันบริจาคหน่อย

คนที่ไม่เคยบริจาคมาก่อน ก็ไม่ต้องกลัวเข็ม (เราก็กลัวเข็ม เวลาเขาจะเจาะก็ไม่ต้องดู จะได้ไม่เสียว) ไม่ต้องกลัวเจ็บ (จะบอกว่าไม่เจ็บก็โกหก เจ็บเท่าๆ กับโดนหยิกอ่ะ ทนได้) ไม่ต้องกลัวติดเชื้อ (เข็มเขาใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ไม่ต้องกลัวเลือดหมด ไม่ต้องกลัวอ้วน

นอกจากบริจาคเลือด ได้ช่วยคน เป็นกุศล ยังมีประโยชน์อื่นอีกด้วย เพราะเราอ่านจากบล็อกแก็งค์ เขาบอกว่าคนที่บริจาคเลือดเกิน ๒๔ ครั้งจะได้สิทธิ์รักษาพยาบาลเหมือนกับข้าราชการคนหนึ่ง เขาเล่าว่ารุ่นพี่เขาต้องผ่าตัดเพราะลิ้นหัวใจรั่วที่รพ.จุฬาฯ ค่าใช้จ่ายปกติแสนกว่าบาท แต่เพราะเป็นผู้บริจาคเลือด จ่ายเงินไปแค่ ๙,๘๐๐ บาท

เราเพิ่งดูบัตรรับบริจาคเลือดของเรา ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นครั้งที่ ๒๕ (อย่าตกใจว่าทำไมเยอะ เพราะจะตกใจกว่าถ้ารู้ว่าเราเริ่มบริจาคเลือดครั้งแรกเมื่อ ๑๘ ๑๕ ปีที่แล้ว และเลือดเราเคยโกอินเตอร์ด้วย) ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ถ้าเรามีกรรมเก่า เกิดป่วยขึ้นมาจริงๆ การบริจาคเลือดก็อาจจะตอบแทนทันใจแบบบุญออนไลน์ได้เหมือนกัน

คนที่จะไปบริจาคเลือดดูข้อมูลการบริจาคและสถานที่รับบริจาคได้ที่นี่ ถ้าจะไปบริจาคที่สภากาชาดที่ถนนอังรีดูนังต์ เราแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะบริจาคสเต็มเซลล์ไปด้วยเลย เขาจะได้เก็บตัวอย่างสเต็มเซลล์ไปด้วย (รถรับบริจาคเคลื่อนที่ไม่มีชุดเก็บตัวอย่างสเต็มเซลล์)

ตัวอย่างสเต็มเซลล์เก็บแค่ครั้งเดียว (ทำไปพร้อมๆ กับบริจาคเลือดธรรมดา แต่เขาจะเก็บเลือดเพิ่มอีก ๑ หลอด) เพื่อเอาไปเก็บในฐานข้อมูล เอาไว้ไปตรวจสอบกับคนที่ป่วยเป็นโรคเลือดต่างๆ ที่ต้องการสเต็มเซลล์ที่ตรงกันกับเรา ซึ่งมีโอกาสตรงกันน้อยมาก ถ้าเราฟลุคมีสเต็มเซลล์ตรงกับคนที่กำลังต้องการบริจาค สภากาชาดจะติดต่อให้เราไปบริจาคให้ทีหลัง ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นกุศลที่สูงขึ้นไปอีก ประมาณเดียวกับถูกล็อตเตอร์รี่เลยเชียวหละ

แหมม... ตอบไปด้ายยย...

เราพยายามจะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ้าง เพื่อรักษาสภาพการใช้งานไม่ให้สนิมเกาะเกินไป แต่เราขี้เกียจอ่านข่าว ก็เลยอ่าน Outlook กับการ์ตูนในบางกอกโพสต์ฉบับวันอาทิตย์เป็นประจำ ที่เลือกฉบับวันอาทิตย์ก็เพราะการ์ตูนเยอะดี เป็นการ์ตูนสีด้วย ส่วนใน Outlook จะว่าไปก็อ่านอยู่แค่ ๒ คอลัมน์หลักๆ คือ Humour ของ Dave Barry กับ Postscript ของ Roger Crutchley (กับดูคอลัมน์อาหารของคุณปริสนา บุญสินสุข แบบผ่านๆ – อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นพาสต้า น่ากินมั่กๆ)

เราคิดว่า Dave Barry เป็นนักข่าวอเมริกัน เขาจะเอาเรื่องข่าวในอเมริกามาเขียนขำๆ ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเล็กๆ รายงานประหลาดๆ แบบที่อ่านแล้วงงว่ามันเป็นข่าวได้ไง หรือมันเป็นข่าวจริงๆ หรือเปล่า ส่วน Roger Crutchley ซึ่งเป็นคนอังกฤษที่มาอยู่เมืองไทยนานมากๆ แล้ว เขาจะเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางทีก็เป็นเรื่องเมืองไทย บางทีก็เป็นเรื่องในอังกฤษ ก็จะออกแนวๆ ขำๆ ประชดๆ (ตามสไตล์คนอังกฤษ)

เรื่องที่ Old Crutch (อันนี้คือชื่อที่ Roger ใช้เรียกตัวเอง) เอามาเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐) เราอ่านแล้วฮามากๆ เขาไปเอามาจากหนังสือชื่อ “Dumb Britain” ซึ่งรวบรวมคำถามคำตอบจากรายการทีวีและวิทยุในอังกฤษ ก็เข้าใจแหละนะว่าเวลาไปตอบคำถามออกรายการ มันก็อาจจะมีตื่นเต้น จนคิดอะไรไม่ออก แต่ก็แบบว่าอ่ะนะ

ลองอ่านดูละกันว่ามัน “แหม... ตอบไปด้ายยย...” หรือเปล่า

พิธีกร: บอกชื่อหนังที่แสดงโดย Bob Hoskins ซึ่งเป็นชื่อของภาพวาดที่มีชื่อเสียงของเลโอนาร์โด ดาวินชีด้วย
ผู้เข้าแข่งขัน: Who Framed Roger Rabbit?

พิธีกร: What is a female sheep called?
ผู้เข้าแข่งขัน: Er ... a goat?

พิธีกร: วาฬอะไรที่ขึ้นต้นด้วย S และมีขนาดใหญ่ได้ถึง ๘๐ ตัน?
ผู้เข้าแข่งขัน: อืมม์ ...
พิธีกร: มันขึ้นต้นด้วยตัว S และเสียงคล้องจองกับ “perm”
ผู้เข้าแข่งขัน: Shark?

พิธีกร: Cambridge, Atkins และ Cabbage Soup เป็นประเภทของอะไร?
ผู้เข้าแข่งขัน: มหาวิทยาลัย?

พิธีกร: คุณก้าวเข้าไปในสิ่งนี้ และมันจะพาคุณขึ้นและลงไปยังชั้นต่างๆ
ผู้เข้าแข่งขัน: Dog poo?

พิธีกร: เมืองใดในทวีปยุโรปที่มี Opera house แห่งแรกในปีค.ศ. ๑๖๓๗?
ผู้เข้าแข่งขัน: ซิดนีย์?

พิธีกร: อดีตอาณานิคมของอังกฤษที่ใดที่ถูกคืนให้กับจีนในปี ๑๙๙๗?
ผู้เข้าแข่งขัน: ลอนดอน?

พิธีกร: ปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใดก่อนจะเป็นเอกราช?
ผู้เข้าแข่งขัน: บัลแกเรีย?

พิธีกร: มีกษัตริย์ของอังกฤษกี่พระองค์ที่มีชื่อว่าเฮนรี่?
ผู้เข้าแข่งขัน: เอ่อ... ฉันรู้ว่ามีพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ เอ่อ... เอ่อ.. สาม?

พิธีกร: เหนือทางเข้าของสถานที่แห่งใดที่มีประโยค “Abandon all hope, ye who enter here”?
ผู้เข้าแข่งขัน: โบสถ์?
พิธีกร: เอ่อ... เสียใจด้วย ไม่ใช่ นรก

พิธีกร: บอกชื่อคนที่เป็นประธานาธิบดีของอิตาลีจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙
ผู้เข้าแข่งขัน: ดอน คอร์ลีโอเน?

พิธีกร: ใครเป็นคนแรกที่เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์?
ผู้เข้าแข่งขัน: หลุยส์ อาร์มสตรอง?

พิธีกร: เขาได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งคาวบอย เขาชื่อว่า “รอย” อะไร?
ผู้เข้าแข่งขัน: คีน?

ปล. สำหรับคนที่ต้องการตัวช่วย
- หนังของ Bob Hoskins เรื่อง Mona Lisa
- แกะตัวเมีย คือ ewe
- วาฬที่ขึ้นต้นด้วยตัว S หนัก ๘๐ ตัน คือ Sperm whale
- Cambridge, Atkins และ Cabbage Soup คือชื่อของวิธีการไดเอ็ท (ลดน้ำหนัก) แต่ถึงเราจะไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่มหาวิทยาลัย Cabbage Soup นี่ไม่ใช่แน่ๆ
- ใครๆ ก็รู้ว่า ลิฟท์ คือ สิ่งที่คุณก้าวเข้าไป และพาคุณขึ้นลงไปชั้นต่างๆ แต่ “อึหมา” เป็นประดิษฐกรรมใหม่?
- เวนิซ คือ เมืองในทวีปยุโรปที่มี Opera house แห่งแรกในปีค.ศ. ๑๖๓๗
- อังกฤษคืน ฮ่องกง ให้จีนในปี ๑๙๙๗
- ปากีสถานเป็นอาณานิคมของ อังกฤษ ก่อนจะเป็นเอกราช
- อังกฤษมีพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ และมีกษัตริย์ชื่อเฮนรี่ ๘ พระองค์
- ใครเป็นประธานาธิบดีของอิตาลีไม่รู้ แต่เรารู้ว่า ดอน คอร์ลีโอเน คือ ก็อดฟาเธอร์!
- เรารู้ว่าหลุยส์ อาร์มสตรอง คือนักร้องที่ร้องเพลง What a wonderful world แต่นึกอยู่ตั้งนานว่า งั้นอะไรอาร์มสตรองที่ขึ้นไปบนดวงจันทร์ ติดอยู่ที่ริมฝีปาก รำคาญทนไม่ได้ต้องอาศัยพี่กูเกิ้ล... นีล อาร์มสตรอง คือคำตอบสุดท้าย!
- ราชาแห่งคาวบอย คือ Roy Rogers

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คนไทยเอาเวลาไปทำอะไร?

อาทิตย์ที่แล้วฟังวิทยุช่อง ๙๖.๕ เขาพูดเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ว่าคนไทยทุกเพศทุกวัยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ ๒ เล่ม (เทียบกับประเทศแถวๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์หรือเวียดนาม เขาอ่านกันเฉลี่ยปีละ ๕๐-๖๐ เล่ม) เขาถามว่าทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสือ ตัวเราเองตอบว่า “ไม่ค่อยมีเวลา”

อาทิตย์นี้ฟังรายการเดิม เขาพูดเรื่องการออกกำลังกายของคนไทย บอกว่าจากการสำรวจพบว่าคนไทยที่ออกกำลังกายเป็นประจำ (สัปดาห์ละ ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย) มีแค่ ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ไม่ออกกำลังกายเลยมี ๒๕ เปอร์เซ็นต์ คนจัดรายการบอกต่ออีกว่า ในประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ (อีกแล้ว) เขาออกกำลังกายเป็นประจำกันถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ พอถามเหตุผลว่าทำไมคนไทยไม่ออกกำลังกาย ข้อแรกคือ “ไม่มีเวลา” ข้อถัดมาคือ ไม่สนใจ (ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องออกกำลังกาย)

เวลาแต่ละคนก็มีเท่าๆ กัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง แล้วคนไทยเอาเวลาไปทำอะไรกันหนอ หนังสือก็ไม่อ่าน ออกกำลังกายก็ไม่ออก จะว่าทำงานหนัก ที่ออฟฟิศเราก็โดนบ่นว่าคนไทยทำไมวันหยุดนักขัตฤกษ์มันเยอะจัด (ปีละ ๑๔ วัน) ของอเมริกามีวันหยุดแค่ ๘ วันเอง แล้วเด็กไทยก็ถูกปล่อยไว้กับทีวี โรงเรียนสอนพิเศษ ร้านเกม จะว่าคนไทยเอาเวลาไปเลี้ยงลูกใกล้ชิดกับครอบครัวก็ไม่น่าใช่

เมื่อปีที่แล้วเราเริ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการเดินวันละ ๓๐ นาที พยายามเดินให้ได้อาทิตย์ละ ๓ ครั้ง บางอาทิตย์ก็ไม่ได้ บางอาทิตย์ก็เกิน แต่โดยรวมๆ แล้วก็ถือว่าสม่ำเสมอ คุณภาพชีวิตดีขึ้นเยอะ ไม่เป็นหวัดบ่อยๆ (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราเป็นเหมือนตัวดักจับไวรัส ถ้ามีใครในออฟฟิศเป็นหวัด เราเป็นด้วย แถมอาการหนักว่า) ผลตรวจสุขภาพปีล่าสุดก็ดีกว่าปีก่อน (ไขมัน น้ำตาลลดลง ทั้งที่ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินเลย)

สรุปว่า เราขอชักชวนให้หันมาออกกำลังกายกันดีกว่า อย่ามัวเอาเวลาไปตามข่าวว่าใครเป็นคนผ่อนรถ ใครเอาไปให้ใครขับอยู่เลย ส่วนเรื่องอ่านหนังสือ เราคิดว่าถ้าเราจะเป็นคนที่ชักชวนคนอื่น เราคงต้องลองทำดูก่อนว่า ทำได้ไหม ทำแล้วดีไหม

เอาเป็นว่าถึงตัวเองจะบอกว่าไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ “ไม่ค่อยมีเวลา” (เพราะมัวแต่ดูทีวี ท่องเน็ท เขียนบล็อก ปั่นเว็บบอร์ด) แต่ก็จะลองดูสักตั้งหนึ่งว่า ต่อจากนี้ไปจะอ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละ ๑ เล่ม ปีหนึ่งมี ๕๒ สัปดาห์ เราก็อ่านหนังสือได้ปีละ ๕๒ เล่ม เดี๋ยวปีหน้าเวลาประมาณนี้ จะมารายงานว่าทำได้สำเร็จแค่ไหน คนอื่นจะลองทำไปพร้อมๆ กันก็ได้ ได้ผลยังไงมาเล่าให้ฟังบ้างก็ดี

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ลมหนาว

เมื่อเช้ารู้สึกว่าลมหนาวมาถึงกรุงเทพฯ แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะมีไอเย็นๆ ลอดหน้าต่างเข้ามา พาลให้อยากจะซุกตัวในผ้าห่มต่ออีกซักชั่วโมงสองชั่วโมง -_-”

ใครที่ยังไม่ทันสังเกต เพราะยังปิดหน้าต่าง เปิดแอร์ ลองเปิดหน้าต่างให้ลมเย็นๆ เข้ามาในห้องดูบ้าง กลิ่นลมหนาวหอมชื่นใจ ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ขี้ร้อนจนเกินไป บางทีช่วงนี้อาจจะไม่ต้องอาศัยแอร์หรือพัดลมเลยด้วยซ้ำ (ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยลดภาวะโลกร้อน)

อากาศเย็นๆ พาลให้ขี้เกียจ สมองไม่แล่น ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เอาเรื่องที่อ่านในมติชนสุดสัปดาห์มาเล่าให้ฟังดีกว่า :)

คอลัมน์เมนูข้อมูลในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ “ไปให้ไกลกว่า ‘ปานกลาง’” พูดถึงผลสำรวจของสภาการศึกษาแห่งชาติในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไรกับการศึกษาไทย ณ วันนี้” ร้อยละ ๘๔.๕ พอใจกับการศึกษาในปัจจุบัน ฟังดูแล้วช่างขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปที่บ่นกันว่าการศึกษาของไทยแย่ลงๆ จนถึงขั้นสิ้นหวัง

งั้นลงไปดูในรายละเอียดของผลสำรวจกันหน่อย พบว่า “พอใจมาก” มีแค่ร้อยละ ๑๙.๙ “พอใจปานกลาง” ร้อยละ ๕๖.๓ “พอใจน้อย” ร้อยละ ๘ และ “ไม่พอใจร้อย” ละ ๑๕.๕ (คนทำสำรวจต้องการชี้นำอะไรหรือเปล่า จึงกำหนดตัวเลือกคำไว้เช่นนี้?)

จะเห็นว่าคนที่ “พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๙.๙ เยอะกว่าคนที่ “ไม่พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๕.๕ อยู่แค่เล็กน้อย ส่วนคนที่ “พอใจกลางๆ” ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของการแสดงความเห็นของคนไทยหรือเปล่า ที่มักจะเลือกตรงกลางๆ เอาไว้ก่อน เพราะปลอดภัยดี

ถ้าผู้บริหารการศึกษาจะบอกว่าคนส่วนใหญ่พอใจกับระบบการศึกษาในปัจจุบันก็พอจะกล้อมแกล้มพูดไปได้ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่โอกาสในการแข่งขันเป็นของผู้ที่เหนือกว่า ความพอใจปานกลางร้อยละ ๕๖.๓ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารการศึกษาควรจะพึงพอใจแล้วหรือ เมื่อรู้ว่าโลกทุกวันนี้ไม่เหลือไว้ให้คนที่ได้อันดับกลางๆ มีแต่ผู้ที่เหนือกว่าเท่านั้นที่จะมีที่ยืนได้ เมื่อบริษัทรับสมัครงาน ส่วนใหญ่ก็จะรับผู้ที่ดีที่สุดเข้าทำงาน คนระดับกลางๆ แทบไม่มีโอกาสได้ทำงาน

ถ้าหากคิดว่าการให้การศึกษาคือการให้อนาคต ผู้บริหารควรจะต้องบริหารการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร “ชั้นนำ” ออกมา ไม่ใช่พอใจกับการผลิตบุคลากร “ระดับปานกลาง” เพราะเท่ากับผลิตคนออกมาให้ตกงานหรือทำงานต่ำกว่าวุฒิ ซึ่งเป็นความสูญเปล่า การผลิตบุคลากรชั้นนำจะทำไม่ได้เลย หากสถาบันหรือผู้บริหารการศึกษามีความรู้สึกว่าแค่ความพอใจปานกลางก็เป็นความสำเร็จแล้ว...

จากการศึกษา มาต่ออีกเรื่องหนึ่ง... เรื่องการทำงาน

คอลัมน์เมนูข้อมูล ฉบับวันที่ ๕-๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ “น่ารักจริงๆ ประเทศไทย” พูดเรื่องที่ว่าค่าแรงของคนไทยสูงกว่าจีนหรือเวียดนาม แต่ความรู้ความสามารถของเราเริ่มจะสู้เขาไม่ได้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต ราคาสินค้าไทยแพงกว่า เป็นปัญหาในการแข่งขันในตลาดโลก สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความสามารถที่ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากกว่า

แต่พอมาดูผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่อง “ความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากรปี ๒๕๕๐” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำไปวางแผนพัฒนาและช่วยเหลือผู้อยู่ในวัยแรงงานซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ประชากรในวัยนี้มี ๕๐.๘ ล้านคน มีแค่ ๙.๒๕ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๘.๒ ที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถของตน ที่เหลืออีก ๔๑.๕๗ ล้านคนหรือร้อยละ ๘๑.๘ ไม่ต้องการพัฒนา

ในบรรดาคนว่างงานซึ่งมีจำนวน ๕.๙ แสนคน เมื่อถามว่าจะหางานได้อย่างไร ร้อยละ ๗๑.๗ อยากให้รัฐช่วยหางานให้ทำ ร้อยละ ๑๕ ขอทุนจากรัฐเพื่อประกอบอาชีพ ร้อยละ ๕.๘ ขอเข้าพัฒนาฝีมือแรงงาน ร้อยละ ๓.๘ ขอให้สนับสนุนอาชีพทางเกษตร ร้อยละ ๓.๘ ขอให้ช่วยเหลือเงินค่าเรียนบุตร ร้อยละ ๑ ขอข้อมูลตลาดแรงงาน

ข้อมูลนี้บอกได้ชัดเจนว่าคนไทยส่วนใหญ่ รักสบาย ไม่ต้องการการพัฒนา หากจะพัฒนาก็เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีงานทำก็มุ่งแบมือขอความช่วยเหลือเป็นหลัก ตอนนี้โลกก้าวไปไกลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การแข่งขันต้องการความรู้ความสามารถที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พี่น้องไทยเรา ไม่สนใจการพัฒนาตัวเอง มุ่งแต่จะสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเรียกร้อง และรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่น

อ่านแล้วไม่รู้ว่าจะรู้สึกหนาวหรือรู้สึกร้อนดี...

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๖ (จบ)

มาถึงตอนจบของบทเรียนชีวิต (ซะที -_-") จากที่เขียนมาไม่ค่อยมีคนมาเขียนคอมเมนต์กันเท่าไหร่ เราคุยกับพี่สาวเราแล้ว ก็เห็นตรงกันว่า คนที่เป็นพ่อแม่อ่านแล้วน่าจะรู้สึกเหนื่อย (ทำไมเลี้ยงลูกมันยากขนาดนี้...) แต่ถ้ามองกันดีๆ เรื่องทั้งหมดนี้มันคือ “หน้าที่ของพ่อแม่” ในการเลี้ยงและดูแลลูก

แต่บางทีพ่อแม่สมัยนี้ก็ลืมตัว... ยกหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกให้กับครูที่โรงเรียน หวังให้ครูสอนให้ลูกเติบโตเป็นคนดี เอาหน้าที่การดูแลลูกไปให้พี่เลี้ยง หวังว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ ทิ้งหน้าที่เลี้ยงดูลูกไว้กับทีวี, เกม, หนังสือการ์ตูน หวังว่าลูกจะได้เก็บทักษะความรู้ปรัชญาชีวิตจากสิ่งเหล่านั้น ปล่อยหน้าที่ปกป้องลูกไว้กับรัฐ หวังว่ารัฐจะช่วยจัดการสิ่งเลวร้ายให้หมดไปจากสังคม แต่มันเป็นความหวังที่เป็นไปได้ยาก

ถ้าลองไล่ดูตามรายการที่พ่อแม่จะต้องสอนลูกที่เราเขียนแปลมา ๕ ตอน (รวมตอนนี้ด้วยก็เป็น ๖ ตอน) มันอาจจะดูเยอะ แต่เราว่าถ้าพ่อแม่ได้มีเวลาใกล้ชิดกับลูก สั่งสอนลูกตามสมควรโดยไม่ต้องคิดว่านี่เรากำลังสอนลูกเรื่องการเงิน เรื่องความคิด เรื่องความสุข ฯลฯ แค่สอนลูกในสิ่งที่ดีและทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก พ่อแม่ก็ได้สอนลูกในเรื่องที่เขียนมานี้ไปโดยอัตโนมัติ (และสอนหลายๆ หัวข้อพร้อมกัน)

อย่าลืมว่าเด็กๆ เรียนรู้จากตัวอย่าง เลียนแบบสิ่งที่เขาใกล้ชิด พบเห็น เจอะเจอ เพราะฉะนั้นพ่อแม่อยากจะให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวเองให้เป็นอย่างนั้นก่อน

อ่ะ... มาอ่านเรื่อง สอนลูกเรื่องความสุข อันเป็นตอนจบกันดีกว่า

๑. อยู่กับปัจจุบัน – อันที่จริงความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันเป็นธรรมชาติสำหรับเด็กๆ ยิ่งเราโตขึ้นเท่าไร ความสามารถ (หรือทักษะ) ในการอยู่กับปัจจุบันจะยิ่งลดลงตามลำดับ ผู้ใหญ่มักคิดถึงแต่อนาคตกับอดีต และปล่อยให้ปัจจุบันหลุดลอยไปจากชีวิต

ควรพยายามสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้ ตรงหน้าเรา อดีตที่ผ่านไปแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ เรียนรู้จากมันแล้วนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน อนาคตยังมาไม่ถึง เราจะวิตกกังวลหรือคาดหวังอะไรก็ไม่มีประโยขน์ คิดถึงอนาคตเพื่อที่จะวางแผนว่าจะทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร

๒. มีความสุขกับชีวิต – เด็กๆ มักไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องนี้ แต่พ่อแม่ก็อาจจะมีส่วนช่วยสอนให้เขาตระหนักรู้ถึงความสำคัญและวิธีการที่จะมีความสุขกับชีวิตของตัวเองให้ได้

บางทีผู้ใหญ่หลายคนอาจจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเด็กในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา การตั้งความคาดหวังและเป้าหมายที่เหมาะสม พ่อแม่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการที่จะมีความสุขกับชีวิตอย่างเหมาะสมและพอเพียง

เราเคยฟังที่คุณ “หนูดี” วนิษา เรซ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับเข่าคุย” เธอบอกว่าเธอเคยมีความสุขกับทำให้ได้ตามเป้าหมายใหญ่ๆ ในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตอนเรียนก็อยากเรียนเก่งๆ เข้ามหาวิทยลัยดีๆ ได้ พอทำงานก็อยากประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า ได้เลื่อนตำแหน่ง ทำงานได้เงินเยอะๆ จากนั้นก็อยากซื้อบ้านซื้อรถ

กว่าจะได้มีความสุข เราจะต้องไปถึงเป้าหมายใหญ่ๆ ที่ตั้งเอา ซึ่งในชีวิตก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง จะเปรียบไปก็เหมือนกับเรามี “กล่องความสุข” การตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ก็คือมีกล่องความสุขใบใหญ่ๆ เมื่อเราหาของมาใส่กล่องได้เต็มกล่องแต่ละครั้ง ก็จะมีความสุข แล้วเราก็เปลี่ยนไปหากล่องใบใหม่ (ซึ่งใหญ่กว่าเดิม)

แต่อีกวิธีหนึ่งที่เราจะมีความสุขได้มาก คือ ทำกล่องความสุขของเราให้เล็กลง รับรู้ความสุขง่ายๆ เช่น การได้กลับบ้านไปกินข้าวกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก การได้อ่านหนังสือ สอนลูกทำการบ้าน การไปเที่ยวหย่อนใจที่ต่างๆ เรื่องพวกนี้ทำให้เราสามารถมีความสุขได้ง่ายๆ บ่อยๆ ตลอดเวลา

๓. ค้นหาเป้าหมาย – การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป้าหมายที่สูงส่งในด้านจิตวิญญาณอย่าง การบรรลุธรรมหรือเข้าใจในแก่นศาสนา หรือเป้าหมายใกล้ๆ ตัวอย่าง การตั้งใจทำให้ครอบครัวมีความสุข หรือแม้แต่การไล่ตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป้าหมายในชีวิตทำให้เรารู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร และจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร

พ่อแม่ควรจะช่วยชี้นำลูกในการค้นหาเป้าหมายให้กับชีวิต ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการกำหนดเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่นๆ ในสังคม

๔. สร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง - วิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ลูกรู้จักพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งให้ยาวนาน คือ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง สอนให้เขาเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์ ซึ่งมีจะทั้งช่วงที่ดีและช่วงที่เลวร้าย สอนให้เขารู้จักจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล

สิ่งที่สำคัญมากในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี คือ การพูดคุยสื่อสารกัน การยอมรับฟังความคิดเห็น การให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักประนีประนอม การให้อภัยซึ่งกันและกัน การไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๕

กลับมาเรื่องบทเรียนชีวิตกันอีกที ตอนที่ ๕ แล้วเหลืออีกตอนเดียวก็จะจบแล้ว (เย้!) ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง อ่านโลด...

สอนลูกเรื่องในชีวิตประจำวัน

๑. รถยนต์ – สอนให้ลูกรู้ว่าทำไมถึงต้องมีรถ (ไม่ใช่เพราะมันเท่ดี!) ให้รู้ข้อดีข้อเสียของการมีรถ (สะดวกแต่ก็มีค่าใช้จ่าย เป็นภาระและความรับผิดชอบ) เมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อรถ ก็ให้คำแนะนำในการซื้อรถที่เหมาะกับการใช้งาน สอนเรื่องการดูแลรถ ให้เข้าใจการทำงานของเครื่องยนต์อย่างง่ายๆ รู้ว่าอะไรที่มักจะพังหรือเสียหายได้ง่าย จะดูแล, ซ่อมแซมหรือแก้ไขได้อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงควรจะรู้ นอกจากนี้พ่อแม่ควรสอนเรื่องวินัยในการขับรถ สอนให้มีน้ำใจและมารยาทบนท้องถนน

ฝรั่งเขียนเฉพาะเรื่องรถยนต์ แต่ในเมืองไทยอาจจะรวมเรื่องรถจักรยานยนต์เข้าไปด้วย เรื่องรถ+รถจักรยานยนต์นี่ พ่อแม่คนไทยสมัยนี้ พอลูกเข้ามหาวิทยาลัยก็มักจะซื้อรถให้ลูก บ้างก็ว่าจำเป็น บ้างก็คิดว่าให้เป็นรางวัล แต่ละครอบครัวก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ แต่เราคิดว่าที่สำคัญพ่อแม่ควรสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบให้มากๆ รู้จักรับผิดชอบกับค่าใช้จ่าย (มีลิมิตค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำรับผิดชอบต่อสังคม (ขับรถให้ดีๆ ไม่ใช่ไปเที่ยวซิ่งปาดหน้าคนอื่น เอารถไปซิ่งแข่งตามถนนว่างๆ เวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ไม่ได้เสียหายเฉพาะตัวเอง แต่เสียหายถึงคนอื่นด้วย) นอกจากนี้แล้วที่สำคัญ “อย่าทำผิดกฎหมายและกฎจราจร”

เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับพ่อแม่ที่ให้ลูกขับรถก่อนจะมีใบขับขี่ได้ตามกฎหมาย ใครจะบอกว่าแค่ขับใกล้ๆ ขับโดยมีพ่อแม่อยู่ด้วยหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คือการทำผิดกฏหมาย ความจริงพ่อแม่ที่ไม่ต้องการจะตามใจลูก หรือต้องการจะปฏิเสธคำรบเร้าอยากจะได้รถของลูกๆ นี่เป็นคำขาดที่ดีที่สุดที่ลูกไม่มีทางปฏิเสธ >> “มันยังไม่ถึงเวลา” “มันผิดกฎหมาย”

ลูกๆ อาจจะบอกว่า เพื่อนๆ เขาก็มีกัน พ่อแม่ของ... เขายังให้... ขับรถเลย พ่อแม่ต้องยึดมั่นกับจุดยืนนี้ การทำอะไรๆ ที่ผิดกฏหมายเพราะคนอื่นเขาก็ทำกัน หรือเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นการสอนลูกโดยอัตโนมัติว่ามันโอเคที่จะทำผิดกฎหมาย ความเคยชินว่าการผิดกฏเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องโอเค ต่อไปก็ผิดเรื่องใหญ่ๆ ได้ไม่ลำบาก

๒. งานในบ้าน – สอนให้รู้จักดูแลซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ในบ้าน ดูแลรักษาให้สิ่งของต่างๆ ใช้การได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องระบบท่อน้ำ (เปลี่ยนก๊อกน้ำ เปลี่ยนสายฝักบัว) ระบบไฟฟ้า (เปลี่ยนหลอดไฟ เช็คฟิวส์ ตู้ไฟ) ระบบแอร์ (ทำความสะอาดแผ่นกรอง) เรื่องทั่วๆ ไป (เปลี่ยนกลอนประตู ติดชั้นวางของ ตัดหญ้า ฯลฯ) เป็นเรื่องที่ลูกน่าจะได้รู้ และเป็นกิจกรรมที่ดีที่พ่อแม่จะได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก สอนให้เขารู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างถูกวิธีและปลอดภัย

๓. การทำความสะอาด – สมัยนี้เรามักจะมีแม่บ้านหรือคนรับใช้คอยซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ฯลฯ แต่พ่อแม่ก็ควรสอนให้ลูกรู้วิธีทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้ารีดผ้า และควรให้ลูกรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ทำความสะอาดหรือรักษาห้องตัวเองให้มีระเบียบ กินข้าวแล้วเก็บจานให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไปไว้ในตะกร้ารอซัก ฯลฯ

๔. การจัดการ – สอนให้ลูกวิธีการเก็บเอกสารอย่างมีระเบียบ เก็บสิ่งของให้เป็นที่เป็นทาง รู้จักทำลิสต์ของสิ่งที่ต้องทำ รู้ว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่ต้องทำเป็นประจำ รู้จักจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำ และรู้จักแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม

อ่านตอนสุดท้าย สอนลูกเรื่องความสุข

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ภิกษุสันดานกา

เรื่องนี้เป็นข่าวมาพักใหญ่แล้ว แต่ก็เห็นว่ายังมีความเคลื่อนไหวอยู่ เลยเขียนถึงซะหน่อย

เราเห็นพระสงฆ์ออกมาประท้วงภาพพระที่มีปากเป็นกา (เป็นภาพวาดที่ชนะเลิศการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติประจำปี 2550 ประเภทจิตรกรรม) ว่าลบหลู่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าจะประท้วงกันทำไม ในเมื่อใครๆ ก็รับรู้ว่าทุกวันนี้ในแวดวงพระสงฆ์ (ที่บวชเป็นพระอยู่ในวัดจริงๆ นะ ไม่ใช่พระปลอมที่โกนหัว นุ่งผ้าเหลืองมาหลอกต้มชาวบ้าน) ก็มีพระที่ไม่ทำตามพระวินัยอยู่เยอะแยะมากมาย อาศัยผ้าเหลืองทำประโยชน์ให้ตัวเอง เป็นพระสันดานกาอย่างในภาพจริงๆ

เราว่าศิลปินที่วาดภาพ (อาจารย์อนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะคณะสถาปัตยกรรม สาขาวิจิตรศิลป์ ลาดกระบัง) ก็แค่ใช้ศิลปะมาสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น แทนที่พระสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพระพุทธศาสนาจะออกมาประท้วง น่าจะออกมาขอบคุณอาจารย์อนุพงษ์ ด้วยซ้ำ ที่กล้าออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่สร้างสรรค์แบบนี้ ควรยอมรับความจริงและหาทางแก้ไข หาทางกำจัดภิกษุสันดานกาให้หมดไปจากประเทศไทยจะดีกว่า

เราว่าเรื่องนี้เป็นเหมือนเรื่องแย่ๆ นิสัยแย่ๆ ที่มีอยู่ดาดดื่นในสังคมไทย เป็นเรื่องที่เรารู้ว่ามันมีอยู่จริง เห็นอยู่ทุกวัน (แต่ไม่แก้ไข... เพราะแก้ไขไม่ได้? หรือไม่คิดจะแก้?) แล้วพอมีใครจุดประเด็นขึ้นมา ก็ไปว่าเขาว่าลบหลู่ ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ไม่ให้ความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนไทยขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉา เรื่องเมืองไทยมีคอรัปชั่น โสเภณีฯลฯ

ดูเหมือนว่าพวกเรากำลังหลอกตัวเองว่า สิ่งต่างๆ ในบ้านเราเมืองเรามันจะถูกทำลายเสียหายแปดเปื้อน เพราะว่ามีคนออกมาพูดว่ามันแย่ และการที่ไม่มีคนออกมาพูดว่ามันแย่ สิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองนี้มันจะดีขึ้นเองโดยปาฏิหารย์ ถ้าเราเอาแต่จ้องจะประท้วงทุกคนที่มาวิจารณ์ปัญหาและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็ไม่น่าแปลกใจที่วันนี้เราจะต้องกลัวว่าจะตามหลังเวียดนาม หรือวันหน้าพม่าจะแซงเรา

ปล. ความจริงเรื่อง “ภิกษุสันดานกา” เนี่ย ยังดีที่หลายๆ คนก็ดูเหมือนจะยังใช้สติกันอยู่ อย่างเช่นวันก่อนเราฟังว่าอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติก็บอกว่า จะไม่งดการแสดงภาพตามที่ต่างๆ ตามที่โดนประท้วง เพราะไม่คิดว่าเป็นการลบหลู่ รวมทั้งพระพยอมกัลยาโนก็ออกมาบอกว่า เข้าใจความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ผู้ที่ถูกติเตียนควรยอมรับความจริงกันบ้าง

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์