วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

คิดไม่ทัน?

เวลาเห็นคนใส่เสื้อยืดพะยี่ห้อแบรนด์เนมอะไรสักอย่างอยู่กลางหน้าอก เราจะทันได้คิดกันไหมว่ามันเป็นตลกที่ขำไม่ค่อยออก เพราะคนที่ใส่เสื้อยืดต้องเสียเงินให้บริษัทเจ้าของแบรนด์เนมเพื่อโฆษณายี่ห้อให้เขา แทนที่จะเป็นทางกลับกัน...

และด้วยอภิสิทธิ์ของการได้เป็น “ป้ายโฆษณาเดิน” ได้นี้ ทำให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าราคาจริงๆ ของสินค้าขึ้นไปอีกหลายเท่า

ดังนั้นครั้งต่อไปเวลาคุณใส่รองเท้ากีฬาติดโลโก้ยี่ห้อดังๆ สวมกางเกงที่ปักตัวย่อเบ้อเริ่มเทิ่มอยู่ที่บั้นท้าย หรือเสื้อยืดที่มีแบรนด์เนมติดหราอยู่ ความจริงคือคุณกำลังโฆษณาให้สินค้ายี่ห้อนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ (inadvertently advertise)

คำว่า advertise มามีรากศัพท์จากภาษาลาติน advertere หมายความว่า “หันไปหา” หรือ “ให้ความสนใจ” คำว่า inadvertently ก็มาจากรากศัพท์เดียวกัน

เวลาเราโฆษณาให้สินค้ายี่ห้อนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ (inadvertently advertise) หมายความว่า ด้วยการไม่ให้ความสนใจกับมัน เราก็กำลังให้ความสนใจมัน... :)

ตัดตอนจาก http://wordsmith.org/words/cingular.html

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

แตกแยก

เห็นปกมติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้แล้วอึ้ง... รู้สึกว่าแรงและกระทบกระเทือนความรู้สึก

ถึงเราจะไม่ทันเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ กับ ๖ ตุลา ๑๙ แต่เราก็ยังทันที่จะรับรู้ถึงความรุนแรงและความสูญเสียซึ่งเกิดจากรัฐบาลเผด็จการ สาเหตุที่จุดประกายให้เหตุการณ์ในวันที่ ๖ ตุลา ๑๙ ก็คือการที่จอมพลถนอมเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยบวชเป็นเณรกลับมาเพราะหวังลดกระแสการต่อต้าน

แต่นักศึกษาและประชาชนก็ยังไม่ยอมรับ ชุมนุมประท้วงขับไล่เณรถนอม จนเจ้าหน้าที่รัฐออกมาจับกุมและสังหารกลุ่มผู้ประท้วง กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์วิปโยคที่ไม่น่าจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย

มติชนเอารูปของอดีตนายกทักษิณมาขึ้นปกแบบนี้ในยามที่มีข่าวว่าอดีตนายกจะเดินทางกลับมาประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์ เป็นการแฝงนัยยะว่าการที่อดีตนายกต้องระเห็จออกไปอยู่ต่างประเทศเพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการ และกำลังจะกลับมาเพื่อสร้างความวุ่นวายระลอกใหม่

เป็นการล้อเลียนเทียบเคียงจากเหตุการณ์ในอดีตที่เราไม่เห็นว่าเฉียบคมเลยแม้แต่น้อย... ออกจะเป็นการบ่อนทำลายมากกว่าสร้างสรรค์

มีหลายๆ ปกของมติชนสุดสัปดาห์ที่เราเห็นว่าสุดยอดทั้งในการจับประเด็นและสื่อความหมาย แต่เราว่าฉบับนี้ข้ามเส้น และน่าผิดหวังมากในภาวะที่ประเทศเรากำลังอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความสงบและสามัคคีมากกว่าสร้างความแตกแยก

หรือว่าเราจะคิดมากเกินไป??

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551

คนดูไทยไร้การศีกษา

คราวก่อนโน้นที่เราเขียนเรื่องจัดเรทติ้งทีวีไทย ก็มีความเห็นต่อเนื่องจากการเสวนาระหว่างกรรมการจัดเรทติ้งกับผู้ทำรายการทีวีและผู้จัดละคร ทางคนดูบ่นว่าละครไทยน้ำเน่าและไร้ความสมจริง พระเอกนางเอกไปขึ้นเขาลงห้วย หน้าตาก็ยังขาวผ่อง ชุดสวยปิ๊งตลอด ตัวร้ายวันๆ ก็ไม่ทำงานการอะไร เอาแต่ด่านางเอกกับหาวิธีแย่งพระเอก คนจัดละครก็มาแก้ตัวว่า ตัวร้ายในละครมีอาชีพไม่ได้ เพราะ ถ้าตัวร้ายทำอาชีพอะไร ก็จะมีบุคคลในอาชีพนั้นๆ ออกมาประท้วงว่า อาชีพนั้นๆ ไม่ได้ร้ายอย่างในละคร

เราฟังแล้วก็ขำปนอนาถใจ นี่คนดูทีวีไทยจะปัญญาตื้นเขินขนาดที่จะไม่รู้เลยเหรอว่ามันคือละคร ไม่ใช่เรื่องจริง เราคิดว่าคนดูทีวีมีความรู้ความคิดพอจะตัดสินได้ว่า คนดีคนชั่วมีอยู่ทั่วไปทุกอาชีพ ภาพที่เห็นในละครก็เป็นแค่เรื่องสมมติ ละครก็ต้องใส่สีสันให้มันหวือหวาเกินจริงมันถึงจะมันส์... (แต่บางทีเรื่องจริงก็มีสีสันยิ่งกว่าละครนะ อย่ากรณีรถมินิคูเปอร์ หรือเรื่องนางแบบเป็นเพื่อนกับลูกนักการเมืองที่มีภรรยาแล้วนั่นไง!)

ทางวงการหนังก็วิพากษ์วิจารณ์กันหนักตอนที่คุณลัดดา ตั้งสุภาชัย (ผอ.กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม) ออกมาพูดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์หนังว่า “คนดูหนังส่วนใหญ่ไร้การศึกษา” ถึงต้องมีการเซ็นเซอร์ฉากโป๊ ทำโมเสคบังขวดเหล้า บุหรี่ มีดปืน และอบายมุขทั้งหลาย ดูดเสียงด่าทอ และเซ็นเซอร์ฉากที่ไม่เหมาะสมออกไป (ต่อเนื่องจากการเซ็นเซอร์ฉากพระเล่นกีตาร์ในหนัง แสงศตวรรษ ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับฉากชิซุกะอาบน้ำในการ์ตูนโดเรมอน)

เราฟังแล้วก็อนาถใจอีกรอบ ที่เขาคิดว่าคนดูหนังไทยจะตื้นเขิน ไร้ความคิดขนาดต้องให้ “คนมีการศึกษา” อย่างคุณลัดดาหรือกรรมการเซ็นเซอร์หนังคอยช่วยตัดสินให้ว่าอันนี้มันไม่ดีงาม ต้องตัดทิ้งหรือเอาโมเสคมาบัง

แล้วความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมมันขึ้นอยู่กับอะไร (ขึ้นอยู่กับ “ความรู้สึก” ของคนบางกลุ่มหรือเปล่า ถ้าเรามองย้อนไปอีกวงการหนึ่ง ในเรื่องภาพเขียนภิกษุสันดานกา) และการมองไม่เห็นขวดเหล้า แต่รู้ว่ากำลังกินเหล้า การไม่เห็นปืน แต่รู้ว่าโจรกำลังจะจ่อขมับยิงเผาขน มันช่วยแก้ปัญหาศีลธรรม, อบายมุข และความรุนแรงตรงไหน?

วันนี้มีข่าวสหภาพแรงงานของการบินไทยกับตัวแทนแอร์โฮสเตส ออกมาโวยให้ยุติการฉายละครเรื่อง “สงครามนางฟ้า” เพราะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแอร์โฮสเตส

เราไม่ได้ดูละครเรื่องนี้แต่พอจะรู้เรื่องจากที่ฟังคนอื่นเล่า ประมาณว่าเป็นเรื่องของแอร์โฮสเตสที่ไปชอบกับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว ผู้ชายเลิกกับภรรยาไม่ได้ แอร์โฮสเตสจึงไปแต่งงานกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังตัดใจจากกันไม่ได้ สุดท้ายก็นอกใจคู่สมรสของตัวเอง เป็นละครน้ำเน่าเมียน้อยเมียหลวงที่แสนจะไม่สร้างสรรค์ ไม่เหมาะกับศีลธรรมอันดีงามของไทย (แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะต่างจากละครเรื่องอื่นๆ) และมีฉากด่าทอตบตีแย่งผู้ชายกันดุเดือด (แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะต่างจากละครเรื่องอื่นๆ)

ที่จริงเราว่าละครเรื่องนี้ออกจะดีกว่าละครเรื่องอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะมีความสมจริงสมจังบ้าง... อย่างน้อยตัวละครในเรื่องก็มีอาชีพ ต้องทำมาหากินอย่างคนทั่วไป แต่โชคร้ายที่ตัวละครดันมีอาชีพแอร์โฮสเตส เลยทำให้พวกแอร์โฮสเตสรับไม่ได้ ต้องออกมาประท้วงว่า พวกแอร์ฯไม่มีการด่าทอ ไม่มีการตบตี แย่งผู้ชายกันแบบนั้นหรอก (คนที่จะตบตีแย่งผู้ชาย ร้ายกาจขนาดแม่ค้าตามตลาดอยากจะเอาเปลือกทุเรียนตบหน้า เป็นแอร์โฮสเตสไม่ได้ ต้องเป็นพวกไม่มีอาชีพ เป็นพวกไม่ทำมาหากินอะไร ต่างหาก!!!)

นี่ขนาดคนที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี (เป็นอย่างน้อย) ก็ยังแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงกับความเป็นละคร ที่เขาพูดว่า “คนดูไทยส่วนใหญ่ไร้การศึกษา” เห็นท่าจะเป็นความจริง และคนดูไทยก็คงต้องอาศัยกรรมการเซ็นเซอร์ให้ช่วยตัดฉากที่ไม่เหมาะสม เอาโมเสคมาบังขวดเหล้า, บุหรี่, มีดปืนกันต่อไป

ปล. เราสงสัยว่าในเมื่อพฤติกรรมต่างๆ ที่เห็นกันเจนตาอยู่ในละคร มันไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ขนาดใครๆ ก็ไม่อยากจะให้คนในอาชีพของตัวเองไปกระทำอย่างนั้นแม้แต่ในเรื่องสมมติในละคร รับไม่ได้ขนาดต้องออกมาประท้วงว่าทำให้เสียภาพลักษณ์ แล้วทำไมพวกผู้จัดละครยังจะเอาไปใส่ไว้ในละครกันอยู่ได้? เขาใส่ไปเพราะคนชอบดูหรือ? แล้วถ้าคนดูชอบดู แต่รับไม่ได้ถ้าคนในอาชีพตัวเองประพฤติแบบนั้น มันหมายความว่าอะไร?!?

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

เต้นกินรำกิน

เมื่อวานดูรายการ “จับเข่าคุย” เวลาใหม่ เขาเชิญครอบครัวศรีณรงค์มา คุณพ่อ อาจารย์สุทิน ศรีณรงค์ เป็นผู้ก่อตั้งวง Bangkok Symphony Orchestra และวาทยกรแห่งวงดุริยางค์เยาวชนไทย ลูกชายทวีเวท (เป้) ศรีณรงค์ เป็นนักไวโอลิน ได้ทุนจากสมเด็จพระพี่นางไปเรียนไวโอลินที่อังกฤษและอเมริกา ลูกสาวคนถัดมาอุทัยศรี (ป่าน) ศรีณรงค์ เป็นนักเชลโลก็ได้ทุนจากสมเด็จพระพี่นางเหมือนกัน ส่วนลูกสาวคนสุดท้องพินทุสร (ปุย) ศรีณรงค์ เป็นนักไวโอลินเหมือนกัน แต่ดูเหมือนตอนนี้กำลังคิดจะเบนเข็มไปทางรัฐศาสตร์มากกว่าเป็นนักดนตรีอาชีพอย่างพี่ๆ

เป้ พี่ชายคนโตเป็นคนแรกที่คิดจะมุ่งมั่นเอาจริงกับการเป็นนักดนตรี ตอนจบม. ๓ ได้ทุนของบริทิชเคาน์ซิลไปเรียนมัธยมที่อังกฤษ แต่ต่อมาฟองสบู่แตกตอนกำลังเรียนมหาวิทยาลัย ก็เลยมีคนทำเรื่องขอทุนจากสมเด็จพระพี่นาง เป็นคนแรกที่ได้ทุนจากท่าน (รู้สึกจะเป็นทุนส่วนพระองค์ ต่อมาภายหลังถึงได้มีกองทุนเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือนักดนตรีคลาสสิก) ตอนที่พระพี่นางจะพระราชทานทุนให้ท่านก็ถามว่า จะให้ท่านให้เท่าไหร่ และจะช่วยเหลือตัวเองได้เท่าไหร่ คือท่านก็อยากจะให้ช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อน

เป้เรียนจนจบปริญญาตรีและไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกาด้วยทุนของสมเด็จพระพี่นาง และเรียนปริญญาเอกด้วยทุนตัวเอง (ไม่แน่ใจว่าเรียนจบปริญญาเอกแล้วหรือยัง อาจจะใกล้จบแล้ว หรือเพิ่งจบได้หมาดๆ เพราะเห็นบอกว่าอยู่ที่นิวยอร์ก) เพราะเขาบอกว่าก็นึกถึงคำพูดของพระพี่นางที่บอกว่าให้ช่วยเหลือตัวเองก่อน เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (หาทุนจากมหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยอาจารย์ และแสดงไวโอลิน) ก็คิดว่าเอาทุนส่วนนี้ไปให้น้องๆ รุ่นหลังๆ จะดีกว่า

เวลาที่ฟังเป้พูด เห็นชัดว่าเขาเป็นคนที่มุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังมากกับการเล่นดนตรี เขาบอกว่าคนอาจจะมองว่า มันคือการเต้นกินรำกิน แต่ที่จริงอย่างพิธิกร ก็คือเป็นนักข่าวกิน ไทเกอร์ วู้ดก็เล่นกอล์ฟกิน จริงๆ แล้วมันก็คืออาชีพ คุณพ่ออาจารย์สุทินก็บอกว่า คนชอบพูดว่าเป็นนักดนตรี อาชีพไม่มั่นคง ตัวอาจารย์ก็เล่นอยู่กับวง BSO มาตลอด ก็มีงานให้เล่นตลอดเวลา ไม่เห็นเคยว่างเลย จนตอนนี้จะเกษียณแล้ว คนก็ยังบอกว่าไม่มั่นคง ที่มั่นคงคือ รับราชการ กินเงินเดือนเจ็ดพันแปดพัน แต่เบิกค่ายาได้ อันนั้นคือมั่นคง

เราเห็นด้วยกับอาจารย์สุทินที่สุดที่บอกว่า คนเราถ้ามีฝีมือจริงๆ ไม่อดตายหรอก ถ้าเราเก่งอะไรสักอย่าง ให้เก่งจริงๆ ก็เป็นอาชีพได้

เราดูได้อีกรายการหนึ่งทางช่องเก้า เขาสัมภาษณ์คนที่ได้ทุนจากสมเด็จพระพี่นางไปเรียนดนตรีคลาสสิก ดูแล้วทึ่งจริงๆ ที่เขาให้โอกาสคนทั่วไปมากมายขนาดนั้น คนที่มาพูดคนหนึ่งดูท่าทางเป็นคนต่างจังหวัด ยังพูดเหน่อๆ อยู่เลย แต่เป็นนักดนตรีคลาสสิกระดับยอดของไทย (ไม่ได้ดูถูกคนต่างจังหวัดนะ เพราะเราก็ต่างจังหวัดเหมือนกัน) มันดูขัดๆ กับภาพที่เราจะชินๆ กันว่า ดนตรีคลาสสิกต้องเป็นของคนชั้นสูง

นี่ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน คนที่มีความสามารถก็คงไม่ได้พัฒนามากนัก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพี่นางจริงๆ แต่ในอีกทางหนึ่งก็น่าเสียดาย ที่ประเทศเราไม่มีการสนับสนุนให้กว้างขวางและจริงจังมากกว่านี้ เพราะเราว่าคงมีคนที่มีความสามารถและมีความฝันอีกมากมายที่ขาดโอกาส สุดท้ายก็ต้องละทิ้งความฝันไปทำอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปก่อน

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2551

ไอเดียดีจากจิตแพทย์

เราฟังรายการ “มองชีวิตมีชีวา” ทางวิทยุช่อง ๙๖.๕ ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นเวลาขับรถกลับบ้านพอดี รู้สึกชื่นชมวิทยากรประจำท่านหนึ่งคือ นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่มักจะมีมุมมองในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแต่ก็น่าสนใจ

คุณหมอมักจะเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านปฏิบัติเป็นประจำ ที่เรารู้สึกว่าน่าทำตาม บางคนอาจจะคิดว่ามันเล็กๆ น้อยๆ ไม่สำคัญ แต่เราคิดว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละดี เพราะเราค่อยๆ ทำ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมาก ไม่ต้องทุ่มเทมากเกินกำลัง

แค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย

เมื่อวานเราได้ฟังคุณหมออุดมศิลป์พูดเรื่องที่ว่า เวลาท่านตรวจคนไข้ (คุณหมอเป็นจิตแพทย์) ท่านจะไม่ได้นั่งรออยู่ในห้องแล้วให้พยาบาลเรียกคนไข้เข้ามา แต่จะถือการ์ดคนไข้นอก ออกไปตรงบริเวณที่คนไข้นั่งรอ แล้วก็เรียกชื่อคนไข้ ท่านบอกว่าการวินิจฉัยโรคของท่านเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นเลย

คุณหมอจะสังเกตเวลาคนไข้ตอบสนองต่อเสียงเรียก ถ้าเป็นคนไข้ไฮเปอร์ ก็อาจจะแทบกระโดดออกมาทันทีที่สิ้นเสียงเรียก ส่วนคนไข้ที่ซึมเศร้าอาจจะต้องให้เรียกซ้ำสองรอบสามรอบ การเดินเหินของคนไข้ก็บอกได้ถึงสภาพร่างกายและสุขภาพโดยทั่วไป ท่านจะสังเกตไปถึงขนาดว่า คนไข้มากับใคร เป็นพ่อแม่ สามีภรรยา หรือญาติพีน้อง เวลานั่งรอนั่งรอกันอย่างไร นั่งใกล้ชิดกันหรือนั่งคนละมุมห้อง ก็บอกถึงสภาพความสัมพันธ์ของคนไข้กับผู้อื่นได้

หลังจากที่ตรวจคนไข้เสร็จแล้ว คุณหมอก็จะเดินออกไปส่งคนไข้ถึงประตูห้องทุกคน ถือเป็นการให้เกียรติคนไข้ ที่เลือกจะมารักษากับท่าน คุณหมอบอกว่าคนไข้ก็คงรู้สึกดีที่ท่านทำแบบนั้น แล้วก็ถือโอกาสมองดูคนไข้คนอื่นๆ ที่รออยู่ไปด้วย อาจจะมีการส่งยิ้มหรือทักทายคนไข้ที่ยังไม่ถึงคิวนิดหน่อย ก็จะช่วยลดความกระวนกระวายในระหว่างรอไปได้บ้าง

คุณหมอบอกว่าการที่คุณหมอเดินมาเรียกคนไข้เองและส่งคนไข้เอง ที่จริงแล้วตัวคุณหมอเองได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะท่านได้ขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่ต้องนั่งจุ้มปุ๊กอยู่ตลอดเวลาทำงานของท่าน คือ เช้า ๓ ชั่วโมง เย็น ๓ ชั่วโมง

ท่านยังบอกอีกว่า เวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้า เมื่อยขบจริงๆ บางทีท่านก็จะขอเวลานอกซัก ๕ นาที แล้วก็ไปที่ช่องบันได เดินขึ้นบันไดซัก ๕ ชั้น ลง ๕ ชั้น แล้วก็กลับมาตรวจต่อ นับว่าท่านเข้าใจหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะกับอาชีพของท่าน แถมยังได้ประโยชน์กับคนอื่นอีกด้วย

เรานึกถึงวันทำงานของเรา แทบจะไม่ได้เดินไปไหนเลย ยิ่งมีอีเมลก็ยิ่งทำให้ไม่ต้องขยับตัวออกจากเก้าอี้ เพราะโต้ตอบงานผ่านอีเมล หลังๆ นี้ถ้ามีโอกาสที่เราจะใช้วิธีเดินไปคุยเรื่องงานแทนการส่งอีเมลได้ เราก็จะเดินไปคุยแทน แต่วันๆ หนึ่งเราก็ยังเดินไม่มาก บางวันเดินไปแค่หนึ่งพันเก้า (นี่รวมเดินไปกินข้าวตอนกลางวันแล้วด้วยนะ) เคยได้ยินเขาแนะนำว่าถ้าสามารถเดินได้วันละ ๑ หมื่นก้าว ก็ได้ออกแรงพอๆ กับออกกำลังกาย ๓๐ นาทีแล้ว แต่ที่เราเดินออกกำลังกายบนลู่วิ่ง ๓๐ นาทีได้ประมาณ ๔ พันก้าวเท่านั้น

ความจริงเรื่องเดินขึ้นลงบันได เราก็ทำอยู่บ้าง เวลาไปห้างสรรพสินค้าเราก็เดินบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อน เวลาไปออกกำลังกายเสร็จ เราก็จะเดินลงบันได (ขาขึ้นไม่ได้เดิน เพราะเรามักจะไปสาย ถ้าต้องรีบวิ่งขึ้นบันได ๑๑ ชั้น อาจขาดใจตายได้) แต่ที่ออฟฟิศเราไม่ได้ใช้บันได เพราะชั้นที่เราทำงานไม่มีบันไดธรรมดา เขาจะมีบันไดธรรมดาถึงแค่ชั้นที่จอดรถ (ชั้น ๙) หลังจากนั้นจะเป็นบันไดหนีไฟ ซึ่งประตูจากช่องบันไดหนีไฟเป็นประตูเปิดทางเดียว คือเปิดออกจากออฟฟิศออกไปช่องบันไดหนีไฟได้ แต่จากช่องบันไดหนีไฟ เปิดเข้ามาออฟฟิศไม่ได้

แต่เมื่อวานเราเพิ่งนึกได้ว่าเราสามารถเดินขึ้นบันไดมาจนสุดชั้นจอดรถ (๙ ชั้น) แล้วก็ค่อยมาต่อลิฟท์อีก ๕ ชั้นเข้าออฟฟิศ วันนี้ไปกินข้าวเสร็จก็เลยเดินขึ้นบันไดมา ได้เดินเพิ่มขึ้นอีกร้อยกว่าเก้า :)

คุ้มค่า รักษาความสะอาด และรักษาสิ่งแวดล้อม

อีกเรื่องที่เราฟังคุณหมออุดมศิลป์พูดในรายการ แล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ดี ก็คือ การใช้กระดาษเช็ดมือ

ท่านบอกว่าเวลาท่านเข้าห้องน้ำ พอล้างมือเสร็จแล้ว เช็ดมือด้วยกระดาษแล้ว ท่านก็มักจะเอากระดาษที่เช็ดมือแล้ว ไปเช็ดน้ำที่กระเซ็นรอบๆ อ่างล้างมือก่อน แล้วค่อยทิ้ง ท่านนอกว่าช่วยรักษาความสะอาดของห้องน้ำ คนที่มาใช้ทีหลังก็จะรู้สึกสบายใจสบายตา

นับว่าเป็นการทำประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนอื่นโดยที่ไม่ต้องออกแรงอะไรมากมาย แล้วก็ยังได้ใช้กระดาษเช็ดมืออย่างคุ้มค่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หลังจากฟังเรื่องนี้แล้ว เวลาเราล้างมือและเช็ดมือด้วยกระดาษแล้ว เราก็เอากระดาษเช็ดรอบๆ อ่างล้างมือด้วยเหมือนกัน :)

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551

ข่าวดี

เขียนเรื่อง CSR ของไทยรัฐไปแล้ว วันก่อนเราได้อ่านข่าว CSR ดีๆ เหมือนกัน ลงข่าวในนสพ.ไทยรัฐนี่แหละ เสียดายที่ไม่ได้ลงหน้า ๑ แต่ก็ยังดีที่เป็นข่าวค่อนข้างใหญ่ของหน้ากีฬา เป็น CSR ของสยามสปอร์ต

คือสยามสปอร์ตร่วมกับ กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) จัดให้มีการสอนว่ายน้ำให้เด็กยากจนฟรี เนื่องจากสถิติการตายของเด็กไทย อันดับ ๑ คือ อุบัติเหตุจากการจมน้ำ (ปีละกว่า ๑,๕๐๐ คน) เขาก็เลยทำโครงการ “สอนน้องว่ายน้ำ” เทิดพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มีเป้าหมายจะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจมน้ำให้เหลือแค่ครึ่งเดียว

นอกจากการสอนว่ายน้ำแล้วยังมีการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ห่างไกล ที่ไม่สามารถเดินทางมาเรียนได้ ได้อ่านและศึกษาด้วยตัวเอง เพื่อนำไปใช้เอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันได้

โครงการนี้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑ และเริ่มสอนวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่เว็บไซต์ของสยามสปอร์ต http://www.siamsport.co.th/25501227-065.html หรือ โทร. ๐๒-๕๐๓๔๐๕๐-๑

ข่าวร้าย

อ่านเจอเรื่อง “สูบส้วมมหาภัย” มีคนแจ้งตำรวจว่าจับรถสูบส้วมแถวๆ อ. พานทอง จ. ชลบุรี ปรากฏว่าเป็นการสูบส้วมเพื่อการกระทำบังหน้า จริงๆ แล้วเขาต้องการกำจัดสารเคมีอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม

รถสูบส้วมจะมารับสูบอุจจาระตามบ้านแค่ครึ่งหนึ่ง แล้วก็เอาไปเติมสารเคมีที่เป็นของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกครึ่งหนึ่ง แล้วก็เอาไปปล่อยทิ้งตามที่ดินว่างๆ ตามข้างทาง หรือมีชาวบ้านขอไปทำปุ๋ยเพราะคิดว่าเป็นอุจจาระ

ที่เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ก็เพราะมีชาวบ้านหลายคนเกิดเจ็บป่วยด้วยอาการประหลาด ระบบหายใจผิดปกติ บางส่วนที่ขอเอาไปทำปุ๋ย ปรากฏว่า ต้นหญ้า ต้นข้าวในนา ต้นไม้ในสวน ยืนต้นแห้งตาย

ตำรวจจับรถสูบส้วมได้แล้วเอาปฏิกูลในรถไปตรวจกลายเป็น Oil Coolant (เป็นส่วนผสมระหว่างน้ำมันหรือไฮโดรคาร์บอนกับน้ำ) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามผลิต, นำเข้า, ส่งออก, หรือมีไว้ในครอบครอง

ที่น่ากลัวคือ รถสูบส้วมที่โดนจับได้อาจจะไม่ใช่รายเดียวที่ทำแบบนี้ เพราะการกำจัดสารเคมีอันตรายมีค่าใช้จ่ายสูง โรงงานอุตสาหกรรมที่มักง่ายและเห็นแก่ตัวก็อาจจะเลียนแบบ หรือคิดวิธี(ไม่)สร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงกับชาวบ้านขึ้นมาได้อีก

เรื่องนี้ทำให้เราคิดต่อไปถึงเรื่องปัญหาโรงไฟฟ้าที่กำลังเป็นกระแสก่อนหน้านี้ คือเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้ยินคนออกมาพูดสนับสนุนกันค่อนข้างหนาหู เพราะความที่ราคาน้ำมันพุ่งพรวดๆ ทุกวัน บวกกับกระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บอกว่าสกปรกและอันตราย ใครๆ ก็ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาเลยบอกว่านิวเคลียร์คือทางแก้ เป็นเชื้อเพลิงสะอาด อย่างโน้นอย่างนี้

เราในฐานะคนที่อยู่ในวงการโรงไฟฟ้า เรายืนยันได้เลยว่า สามารถทำโรงไฟฟ้าถ่านหินให้สะอาดได้เท่าๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในด้านเทคโนโลยีมันเป็นไปได้ ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย แต่ต้องทำความเข้าใจกันว่าโลกนี้ไม่มีของฟรี

จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาด ก็ต้องใช้ต้นทุนการก่อสร้างแพงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ/น้ำมัน (เพราะต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดของเสียและมลภาวะจะสูงกว่า) แต่ถ่านหินก็ราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ/น้ำมัน (ซึ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่า) ดังนั้นการเลือกว่าจะใช้เชื้อเพลิงอะไร จึงเป็นเรื่องของการคำนวณหาจุดคุ้มทุน และปัจจัยอื่นๆ (เช่น ปริมาณสำรองของน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ/ถ่านหิน ที่จะมีใช้ต่อไปในอนาคต ฯลฯ)

แต่ทั้งนั้นและทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าที่สะอาด ไม่ได้หมายความว่าสร้างเสร็จแล้วเสร็จเลย มันมีกฏเกณฑ์และมาตรการมากมายที่ต้องทำตาม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ครอบคลุมไปหมด ไม่ว่าเชื้อเพลิงอะไร จะถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงสะอาดแค่ไหน ก็ยังต้องมีกฏเกณฑ์ที่ต้องทำตาม

ปัญหาของโรงไฟฟ้า (และโรงงานอุตสาหกรรม) “สกปรก” ในเมืองไทยไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีการก่อสร้างหรือเงินทุน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เหมาะสม

ในความเห็นส่วนตัวเรา ถ้าโรงไฟฟ้าสร้างด้วยมาตรฐานไทย (ที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น) และยัง operate ตามมาตรฐานคนไทย (ที่มีแต่คนมักง่าย เห็นแก่ตัว คิดสั้นๆ มองแคบๆ) ให้เลือกกี่ทีเราก็ยังเลือกโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยังหวังด้วยว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่ได้สร้างขึ้นในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่...

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์