วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วัตถุมงคล

ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ยังไงก็ตาม เราก็ยังเห็นว่าพระพยอมเจ๋งดี...

คราวก่อนโน้นทำคุ้กกี้ “จตุคำ” รุ่นฉุกคิด ๔ คำรวยโคตร ประชดพุทธศาสนิกชนที่แห่กันไปนับถือบูชาเหรียญจตุคามรามเทพกันยกใหญ่เมื่อปีที่แล้ว คราวนี้มาอีกแล้วครับทั่น...

พระพยอมทำโคตรเหรียญ “ตรีรัตนะธรรมมงคล” แจกในวันมาฆะบูชาพรุ่งนี้ (๒๑ ก.พ. ๒๕๕๑) ที่วัดสวนแก้ว ตั้งใจให้พุทธศานิกชนเอาไปเพ่งขบคิดให้เข้าถึงพระธรรม

... จากนั้น พระพยอมกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ได้จัดทำโคตรเหรียญ “ตรีรัตนะธรรมมงคล” ขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลาง ๗ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว หนักครึ่งกิโลกรัม ทำจากดิน ไม่มี มวลสารใดๆ

ด้านหน้าเป็นรูปธรรมจักรเขียนคำว่า “ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ” ส่วนด้านหลังเป็นภาพตรีรัตนะ ประกอบด้วยภาพดอกบัวบานในวงกลม มีเปลวไฟพุ่ง ๓ ยอด หมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดรัตนะคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อยู่บนแท่นวัชรอาสน์

สิ่งที่ทำนี้ไม่ใช่วัตถุพระเครื่องมงคล แต่เป็นพระธรรมมงคล ไม่มีมวลสารใดๆผสมอยู่ เป็นดินเผาล้วนๆ และไม่มีพิธีปลุกเสกอะไรทั้งนั้น

พระพยอมกล่าวอีกว่า เหรียญดังกล่าวนี้มีขนาดใหญ่เท่าพิซซ่าถาดเล็ก หรืออาจจะเรียกว่าโคตรเหรียญก็ได้ เป็นรุ่นแรกที่ทำขึ้นมา ไม่ต้องนำมาห้อยคอ แต่อยากให้เอาไว้ที่บ้าน ไม่ต้องกราบไหว้บูชา แต่เอาไว้เพ่งขบคิดเรื่องอริยมรรค มีองค์แปด

เหรียญรุ่นนี้ไม่ช่วยให้ขลัง แต่ ช่วยให้คิด เพื่อให้ชาวพุทธหันกลับมาเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเรื่องธรรมคุณ เพราะขณะนี้คนส่วนใหญ่หันไปยึดติดวัตถุต่างๆ เช่น องค์จตุคามรามเทพ ที่ทำขึ้นมาถึง ๗๐๐ รุ่น แต่ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าสักรุ่นเดียว

นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าต่างๆ ที่คนกำลังเข้าไปยึดติด จึงอยากเตือนสติคนเหล่านั้นให้หันมาหาแกนของพระธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากใครอยากเป็นเจ้าของติดต่อขอรับได้ที่วัดสวนแก้ว ในวันมาฆบูชา วันที่ ๒๑ ก.พ.นี้
ตัดมาจากข่าวหน้า ๑ ไทยรัฐ: ของเก่า ให้พระพยอม พบทอง [๑๙ ก.พ. ๕๑ - ๐๓:๔๓]

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บัตรเครดิต ๑๐๑

เคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ ๕ ปีก่อน ตั้งแต่สมัยยังเป็นไดอะรี่ไม่ใช่บล็อก ลองย้อนกลับไปอ่านดู เนื้อหาก็ยังไม่ล้าสมัยซะทีเดียว (เก่งเหมือนกันนะคนเขียนเนี่ย ฮ่าๆๆ) เลยเอามาแปะให้อ่านซ้ำ เป็นความรู้พื้นๆ เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต :)

Credit Card 101 Thursday, Jun. 13, 2002

ช่วงที่ผ่านมาในออฟฟิศคุยกันเรื่องบัตรเครดิตค่อนข้างบ่อย เพราะมีธนาคารต่างๆ มาตั้งโต๊ะรับสมัครที่ใต้ตึกบ่อยๆ บางทีก็มีคนมารายงาน “ข้อเสนอดีๆ” ให้ฟัง พวกเราส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตกันคนละใบสองใบกันแล้ว ก็จะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอดีมีน้อง ๒-๓ คนที่เพิ่งจบจากมหาลัยเข้ามาทำงานใหม่ เขาก็ทำท่าสนใจแต่ก็ลังเลว่าจะสมัครดีไหม สมัครกับของธนาคารอะไรดี

เขาซักโน่นถามนี่เยอะแยะ เราก็เลยรู้ว่าคนบางคนก็ยังไม่ค่อยรู้อะไรมากเกี่ยวกับบัตรเครดิต โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยมีบัตร เราก็เลยจัดการเล็คเชอร์ Credit Card ๑๐๑ ให้น้องเขาฟัง

บ้านเราเป็นคนทำการค้า คำว่า “เครดิต” ในความหมายของเตี่ยกับแม่ คือ “ดอกบี้ย” เรา “มีเครดิต” คือ เราสามารถเอาเงินของคนอื่นมาใช้ได้ก่อน แต่ถ้าเรา “ใช้เครดิต” คือ เราจะต้องจ่ายคืนเขาไปภายหลังพร้อมดอกเบี้ย เพราะฉะนั้น “การมีเครดิต” เยอะๆ เป็นเรื่องดี แต่ “การใช้เครดิต”เยอะๆ เป็นเรื่องไม่ดี

เตี่ยกับแม่เป็นคนยุคเงินสดอย่างแท้จริง ไม่ยอมใช้บัตรเครดิตใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะตอนที่เตี่ยกับแม่รู้จักบัตรเครดิตครั้งแรก เราต้องไป “ขอ” ธนาคารทำบัตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี มีร้านค้าอยู่แค่ไม่กี่ร้านที่รับบัตรเครดิต และเวลาจ่ายบัตรเครดิตร้านค้าจะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากราคาสินค้า (ประมาณ ๒-๕%) สรุปว่าการใช้บัตรเครดิตสมัยก่อนไม่มีข้อดีอะไรเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ต้องการ “ใช้เครดิต” ของคนอื่น

แต่สมัยนี้เป็นยุคทองของคนใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง ธนาคารต้องหันมา “อ้อนวอน” ให้คนทำบัตรเครดิต มีข้อเสนอจูงใจต่างๆ นานา ถ้าใครมีบัตรเครดิตที่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้กับธนาคาร ควรรีบโทรไปยกเลิกบัตรโดยด่วน เพราะตอนนี้มีธนาคารหลายที่ ที่พร้อมจะให้เราใช้บัตรเครดิตได้ฟรีตลอดชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไข บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่ใบสมัครได้รับการอนุมัติ บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่เรายื่นใบสมัครด้วยซ้ำ การใช้บัตรก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะใช้ได้แทบทุกที่ เวลาจ่ายเงินก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม แถมตอนเวลาที่มีโปรโมชั่นยังอาจจะได้ของแถมอีกต่างหาก

แต่บัตรเครดิตก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย บัตรเครดิตจะทำให้คนใช้เงินฟุ่มเฟือย เพราะมันสะดวกและไม่เป็นรูปธรรม ลองนึกดูว่าถ้าเราจะซื้อของราคา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าจ่ายด้วยเงินสด เราก็อาจจะต้องไปเบิกเงินจากเอทีเอ็ม (มีเวลาคิดไตร่ตรองว่ามันสมควรซื้อจริงหรือเปล่า) ต้องนับแบ็งค์พันห้าใบและเห็นมันปลิวจากมือเราไปเข้ามือคนขาย (เกิดอาการตกใจหรือเสียดายว่าเงินเยอะจัง) แต่ถ้าจ่ายบัตรเครดิต เราดูราคาปุ๊บตัดสินใจซื้อปั๊บ คนขายพิมพ์สลิปบัตรมาปุ๊บเราก็รับมาเซ็นปั๊บ แค่กระดาษใบเดียว มันไม่ทำให้รู้สึกว่าได้จ่ายเงินออกไปจริงๆ กว่าจะมารู้อีกทีว่าใช้เงินไปก็ตอนที่เขาส่งบิลมาเก็บตังค์

เหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้ ถ้าเราเผลอไปใช้เงินเกินกว่าที่เรามีอยู่ เพราะปกติบัตรเครดิตจะให้วงเงินมากกว่าเงินเดือนของเราประมาณ ๒ เท่า คนที่ไม่รู้จักควบคุมการใช้เงินอาจจะซื้อของจนเต็มวงเงิน พอเขาส่งบิลมาเรียกเก็บก็อ้วกแตกเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

ถ้าเอาเงินไปจ่ายไม่ทัน หรือจ่ายไม่เต็มจำนวนที่เราใช้ไป ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแพงมากขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอาย นอกจากนี้แล้วธนาคารก็ยังพยายามจะโปรโมทให้คนถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ ถอนได้ครั้งละหลายหมื่นบาท ถอนได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ฯลฯ แต่เขามีตัวหนังสือเขียนไว้เล็กนิดเดียวว่าเขาคิดค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ถอนเงิน และคิดดอกเบี้ย (ขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอายอีกเหมือนกัน)

พวกค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยพวกนี้แหละคือสิ่งที่ธนาคารต้องการ เพราะเขาจะได้กำไรจากการใช้บัตรเครดิตของเราก็จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยเป็นหลัก

ถ้าถามเราว่าใช้บัตรเครดิตดีไหม เราก็ว่าดีนะเพราะสะดวก ไม่ต้องพกเงินเยอะๆ แต่เราต้องใช้ให้ฉลาด จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราใช้วิธีคิดว่าบัตรเครดิตเป็นเหมือนกับบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็ม คือ ไม่สนใจวงเงินที่ธนาคารกำหนดให้มา แต่คิดว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหร่ ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิต จ่ายค่าอะไรไปเท่าไหร่ก็ลดจำนวนเงินที่เรามีอยู่ลงไปเท่านั้น เมื่อไหร่ที่เงินหมด ก็ต้องหยุดใช้บัตรแล้ว (เพราะเรากำลังจะเริ่มใช้เงินที่ไม่ใช่ของเรา ซึ่งเป็นเงินที่เราจะต้องคืนเขาไปพร้อมกับดอกเบี้ย)

นอกจากนี้แล้วเราก็จะไม่ถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เวลามีบิลมาเรียกเก็บก็จะจ่ายเงินเต็มจำนวนทุกครั้ง และจ่ายให้ตรงเวลา (มีเทคนิคอีกอันหนึ่งจะแนะนำ คือถ้าเราลืมจริงๆ เอาเงินไปจ่ายไม่ทัน ปกติธนาคาจะคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินช้า (ไม่แน่ใจว่า ๒๐๐ หรือ ๔๐๐ บาท) โดยไม่สนใจว่าจะช้าไปกี่วัน ถ้าบิลของเราครบกำหนดเมื่อวาน แต่เพิ่งนึกได้วันนี้ ให้ลองโทรไปที่ธนาคารแล้วคุยกับเขาดู บอกเขาว่าเราลืม และจะเอาเงินไปจ่ายภายในวันนั้น บางที “อาจจะ” ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ๒๐๐ บาทนั้น แต่เราต้องรีบๆ โทรนะ ไม่ใช่รอไป ๗ วันแล้วค่อยโทร. แต่ทางที่ดีที่สุดคือจ่ายให้ตรงเวลา)

ส่วนจะทำบัตรของธนาคารอะไรดี ก็ต้องดูข้อเสนอที่ได้ ตอนนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ทำบัตรฟรีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมปีแรกเหมือนกันหมด (ปีต่อๆ ไปอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เท่าที่ผ่านมาเรายังไม่เคยต้องเสีย แต่จะใช้เทคนิค (ที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้กัน) โทรไปบอกว่าจะยกเลิกบัตรเพราะไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียม ถ้าเราใช้บัตรนั้นเป็นประจำและจ่ายเงินค่อนข้างตรงเวลา ส่วนใหญ่เขาจะยอมให้เราใช้ต่อโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม)

หลายๆ บัตรมีโปรแกรมสะสมแต้ม บางคนบอกว่าโปรแกรมของธนาคารโน้นดีกว่าธนาคารนี้ ธนาคารนี้ดีกว่าธนาคารนั้น แต่เราว่าไม่ค่อยแตกต่างกันมาก บางธนาคารมีบัตรโคแบรนด์ (Co-Brand) คือ ธนาคารไปร่วมกับห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทำบัตรเครดิตขึ้นมา ก็อาจจะได้ส่วนลดเวลาซื้อของที่ห้างที่ธนาคารไปร่วม แบบนี้ก็เลือกเอาตามใจชอบ เราก็ว่าไม่ค่อยแตกต่างอีกเหมือนกัน ที่เราสนใจมากกว่า คือ วิธีการจ่ายเงิน เรามักจะเลือกธนาคารที่เราสามารถไปจ่ายเงินได้สะดวกเป็นหลัก เพราะถ้าจ่ายเงินไม่สะดวก เรามีโอกาสจะพลาดจ่ายเงินไม่ทันได้

ที่เขียนวันนี้อาจจะน่าเบื่อ แต่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้มี “เด็กๆ” ผ่านเข้ามาอ่านไดอะรี่เราบ้างเหมือนกัน เลยคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะเรื่องพวกนี้ไม่มีสอนที่ไหน (เพราะมันไร้สาระเกินไป ฮ่าๆๆๆ)

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันก่อนฟังวิทยุ เขาคุยกันเรื่องทีวีสาธารณะ มีนักข่าวคนหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ที่เคยทำงานกับบีบีซีในอังกฤษ เขาเล่าว่าหนังสือพิมพ์ในอังกฤษจะไม่ค่อยลงข่าวที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือไม่ดัง เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่ไปจับภาพคนคนนั้นกำลังโดนลากออกมาจากซากรถ โดนหามเข้าโรงพยาบาล ฯลฯ

ส่วนใหญ่เขาจะทำข่าวเป็นเป็นภาพรวม หรือการแสดงให้เห็นผลกระทบต่อสังคมโดยรวม การจุดประเด็นให้เกิดการค้นหาความจริง หรือตั้งคำถามให้เกิดการแก้ไขต่อไป มากกว่าจะนำเสนอเพื่อกระตุ้นอารมณ์หรือความสะใจ

พอลองมามองที่หนังสือพิมพ์ไทยนี่ค่อนข้างจะเป็นตรงกันข้าม เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ส่วนใหญ่ภาพที่นำเสนอออกมา จะใส่อารมณ์ให้ดูเกินความเป็นจริง (รถชนกัน ก็ให้เห็นกันจะจะว่ายับเยินแค่ไหน คนโดดตึก ก็ให้เห็นว่าลงมากองอยู่ท่าไหน) ชี้นำความคิดหรือตัดสินเหตุการณ์ไปก่อนล่วงหน้า (แม่ทำร้ายลูก ก็พาดหัวข่าวว่า แม่ใจโหด, เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ก็เรียกผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย แสดงความสะใจเวลาผู้ต้องสงสัยโดนรุมประชาทัณฑ์) รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวและไม่มีผลกระทบต่อสังคม (อันนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องรักๆ เลิกๆ ของดารา)

เรานึกไม่ออกว่าไอ้การที่เราเห็นหนังสือสือพิมพ์นำเสนอข่าวแบบนี้ ว่ามันไม่เหมาะสมเนี่ย มันไม่เหมาะสมเพราะอะไร แต่คุณนักข่าวบีบีซีคนนั้น เขาบอกว่า ที่หนังสือพิมพ์อังกฤษเขาไม่นำเสนอข่าวแบบนี้ เพราะมัน “ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนในข่าว เราฟังแล้วก็ เออ... ใช่เลยแฮะ

หลายๆ เรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นข่าว หรือเป็นข่าวก็ไม่ต้องโอเวอร์ เพราะมันไม่จรรโลงใจ เห็นแล้วสลดหดหู่ บางคนเขาประสบชะตากรรมต่างๆ ก็แย่พอแล้ว ยังเหมือนมาโดนประจานทางหนังสือพิมพ์อีก

ส่วนเรื่องส่วนตัวของบุคคลก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ซึ่งการพยายามไปล้วงแคะแกะเกาเพื่อนำมาเปิดเผย มักจะสร้างความอึดอัด/อับอายให้กับคนที่เป็นเจ้าของเรื่อง บางข่าวอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเฉพาะเจาะจงกับคนๆ นั้น

อย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวคดีตชด. ในแง่ของข่าว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยออกมา เพราะอาจจะมีคนที่โดนเหตุการณ์แบบเดียวกันอีกมาก แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยคนที่โดนกระทำโดยละเอียดขนาดนั้นก็ได้ เราเห็นภาพเวลาที่คุณผู้หญิง (จำชื่อไม่ได้อีกแล้ว) เขาต้องเล่าเหตุการณ์ ต้องตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็แล้วรู้สึกแย่แทนเขาไปด้วย ทำไมเขาต้องออกมาบอกเล่าอะไรแบบนี้ให้คนทั่วประเทศรับรู้

แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทย ที่บางทีคนก็ต้องยอมแลกศักดิ์ศรีกับความอยู่รอด คุณผู้หญิงที่โดนตชด. ทำร้าย ก็ต้องยอมกล้ำกลืนเล่าเรื่องตัวเองให้คนทั้งประเทศฟัง เพราะในประเทศไทยถ้าเรื่องไหนไม่ดัง เรื่องนั้นก็ไม่ค่อยได้รับการแก้ไข

พวกดาราก็ต้องยอมจัดงานแถลงข่าวงานหมั้นงานแต่งงาน ทนตอบคำถามสอดรู้สอดเห็นของนักข่าว เพื่อแลกกับการไม่โดนรุมด่า เพราะหนังสือพิมพ์สมัยนี้ทำให้กลายเป็นมาตรฐานว่า พวกคุณไม่ควรมีชีวิตส่วนตัว จะแต่งจะเลิกต้องบอกให้คนอื่นเขารู้ ใครไม่จัดงานแถลงข่าว จะโดนมองว่าน่าจะทำอะไรผิด ถึงไม่กล้าออกมาสู้หน้าสื่อ

ในขณะที่หลายๆ คนก็โดนปล้นศักดิ์ศรีไปโดยไม่รู้ตัว (เช่น พวกเหยื่อหรือผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุต่างๆ ที่นักข่าวชอบไปถ่ายภาพเขาในสภาพรุ่งริ่งไม่น่าดูออกมา)

เราว่าถ้าลองนึกถึงใจเขาใจเรา ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนในข่าวเหล่านั้น เราอยากจะให้เรื่องราวเหล่านั้นถูกเปิดเผยไหม และเปิดเผยมากแค่ไหน หรือลองนึกดูว่าถ้าคนในข่าวเป็นสามี, เป็นภรรยา, เป็นลูก, เป็นญาติพี่น้องของเรา เรารู้สึกยังไงถ้าภาพของพวกเข้าปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในรูปแบบนั้นๆ เราคิดว่าถ้าคิดไว้แบบนี้ตลอด หนังสือพิมพ์ไทยอาจจะน่าอ่านมากกว่านี้

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

อย่าตีราคาตัวเองต่ำไป

เรารู้สึกว่าคนไทยไม่ชอบใช้สะพานลอยคนข้ามถนน เวลาข้ามถนนใหญ่ๆ ที่มี ๓-๔ เลน (เช่น ถนนพระราม ๒ ถนนพระราม ๓ ถนนพระราม ๙) ก็บอกว่าเดินสะพานลอยอยู่ไกลบ้าง มันสูงบ้าง เดินแล้วเมื่อย

พอเป็นถนนในเมืองหรือตามย่านชุมชน (ซึ่งส่วนใหญ่สะพานลอยก็อยู่ตรงป้ายรถเมล์หรือตรงตลาดนั่นแหละ ก็ยังขี้เกียจเดินขึ้นบันได เดินข้างล่างเอาก็ได้ อ้างว่ารถมันติดนี่นา ก็เลยไม่รู้ว่าจะสร้างสะพานลอยคนข้ามถนนไปทำไมเยอะแยะ สงสัยเอาไว้ใช้เป็นที่บังแดด

เราค่อนข้างจะเห็นด้วยว่าเมืองไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนเดินถนนมากเท่าคนขับรถ (เมืองไทยน่าจะเป็นที่เดียวในโลก ที่คนข้ามถนนต้องหยุดรอให้รถวิ่งไปก่อน) แต่เราไม่เห็นด้วยเลยเวลาเห็นคนไม่ยอมข้ามถนนตรงทางข้ามหรือไม่ยอมใช้สะพานลอยคนข้าม

จะหาว่าเราเห็นแก่ตัวเพราะเราเป็นคนขับรถมากกว่าคนเดินถนนก็ตาม แต่ถ้าคนเดินถนนเกิดโดนรถชนใต้สะพานลอยขึ้นมา เราออกจะนึกเห็นใจคนขับรถมากกว่าคนเดินถนน

ตามถนนในเมืองที่มีรถติดๆ เวลาข้ามถนนตรงที่ไม่ใช่ทางข้าม คนอาจจะคิดว่าไม่อันตราย เพราะรถมันติด แต่ก็เสี่ยงโดนรถมอเตอร์ไซค์ชน ตามถนนหลายๆ สายอย่างถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน เขาถึงทำแผงเหล็กมากั้นตรงเกาะกลางถนน เราก็เห็นคนปีนข้ามแผงเหล็ก หรือพยายามทำตัวลีบๆ แทรกไประหว่างช่องเล็กๆ ของแผงเหล็ก ทั้งๆ ที่อีกไม่ไกลออกไป ก็มีทางม้าลายหรือสะพานลอยคนข้าม

เวลาเราขับรถไปตามถนนใหญ่ๆ แล้วเจอคนข้ามถนนโดยไม่ยอมใช้สะพานลอย ทั้งที่มันไม่สะดวกเลยที่จะข้าม เพราะรถวิ่งไปมาเยอะมากและวิ่งด้วยความเร็วค่อนข้างสูง บางถนนก็มีขอบถนนคอนกรีตสูงราวเอว แต่เราก็จะได้เห็นความมานะพยายามของคน คืออุตส่าห์ปีนข้ามขอบถนนคอนกรีตอย่างทุลักทุเล ปีนเสร็จก็ยืนตัวลีบติดขอบคอนกรีต คอยจ้องรถที่วิ่งฉิวๆ ผ่านหน้าไป หาจังหวะวิ่งตัดหน้ารถไปอย่างน่าหวาดเสียว

บางคนไม่ได้ข้ามถนนเสี่ยงๆ แบบนี้ตามลำพัง แต่มีการอุ้มลูกจูงหลานพาข้ามถนนไปด้วยอีกต่างหาก แถมบางคนหอบของพะรุงพะรัง ก็ไม่ได้ทำให้ความอุตสาหะในการพยายามปีนข้ามรั้วหรือวิ่งตัดหน้ารถลดลง เราเห็นทีไรก็ได้แต่สงสัยว่าเขาคิดยังไงกัน

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าพวกเขามักง่าย ประมาท หรือขี้เกียจ แต่หลังๆ นี้เราเริ่มคิดว่าหรือบางทีเขาอาจจะเบื่อชีวิต? ทำให้เขาตีราคาชีวิตตัวเองต่ำมาก จนคิดว่ามันคุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการประหยัดเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือการเดินเพิ่มอีก ๒-๓๐๐ เมตร (แทบทุกครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนแบบเสี่ยงๆ แบบนี้ เรามักจะเห็นสะพานลอยคนข้ามถนนอยู่ในระยะไม่เกิน ๑-๒๐๐ เมตร)

หรือไม่อีกทีเขาอาจจะคิดว่าชีวิตตัวเองน่าเบื่อจำเจ ทุกๆ วันก็เลยต้องหาอะไรลุ้นระทึกใจทำ วิ่งข้ามถนนไปก็คิดว่า เอ... วันนี้จะเจอแจ็คพ็อตอะไร... จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์กันหนอ?

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์