วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ไทยรัฐกับ CSR

สองสามวันนี้เห็นคอลัมนิสต์ในไทยรัฐพร้อมใจกันพูดถึงคุณกำพล วัชรพลกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เราอ่านคร่าวๆ ก็เป็นการชื่นชมความดีของคุณกำพลที่คืนกำไรสู่สังคมด้วยการสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาตั้ง ๗๐ กว่าโรงทั่วประเทศ รวมทั้งให้ทุนการศึกษากับเด็กนักเรียนยากจน เขาบอกว่านับเป็น CSR โครงการแรกๆ ของเมืองไทยเลยเชียว

CSR คือ Corporate Social Responsibility หรือการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นกระแสที่องค์กรใหญ่ๆ กำลังพยายามทำกันอยู่ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจดีต่อสังคมจริงๆ หรือจะเพราะโดนกดดันจากสังคม หรือจะต้องการสร้างภาพก็ตามที

เราก็ชื่นชมกับเรื่องสร้างโรงเรียน เรื่องให้ทุนการศึกษากับเด็กยากจนะ แต่ถ้าคนของไทยรัฐจะคิดถึงสังคมกันจริงๆ น่าจะทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ ที่ช่วยกันนำพาสังคมไปในทางที่ถูกที่ควรด้วย

การเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทยติดต่อกันยาวนาน ย่อมมีอิทธิพลอย่างล้นเหลือ สามารถชี้นำมวลชนได้ การทำธุรกิจก็ต้องหวังกำไร ต้องนำเสนอเรื่องที่ “ตลาด” สนใจ แต่เราว่าทุกวันนี้ไทยรัฐก็ตลาดเกินไป เสนอแต่ข่าวที่คิดว่าจะขายได้อย่างเดียว ที่สร้างสรรค์จรรโลงใจมีน้อย

เราเคยได้ยินคนที่ไปทำงานวิจัยที่เยอรมันอยู่ห้าหกเดือน เขาเล่าว่าชอบหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนที่เยอรมัน เพราะไม่มีอาชญากรรมเยอะแยะ ไม่มีภาพน่าหวาดเสียว มีแต่ข่าวดีๆ อย่างตอนนี้สามารถปรับปรุงรถไฟให้วิ่งได้เร็วขึ้นไปอีกเท่านั้นเท่านี้กม.ต่อชั่วโมง บางคนอาจจะเถียงว่า ก็เมืองไทยมันมีแต่ข่าวแย่ๆ ข่าวร้ายๆ แต่เราก็ยังเชื่อว่าสื่อมวลชนสามารถนำเสนอในมุมมองที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ได้

เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องนำเสนอเลย เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์ แล้วยังสร้างค่านิยมไปในทางที่ผิด (เช่น ข่าวฉาวของดารา รูปเกือบเปลือยของดาราทุกวันอาทิตย์ ฯลฯ) จะบอกว่าคนชอบดู คนอยากรู้ก็เลยนำเสนอ เราว่ามันง่ายเกินไป ปัดความรับผิดชอบเกินไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ ลูกเรามันไม่ชอบไปโรงเรียน มันชอบอยู่บ้าน นอนอ่านการ์ตูน เล่นเกม คุยโทรศัพท์กับเพื่อนทั้งวัน เราจะปล่อยให้มันทำเรื่องที่มันชอบ หรือจะบังคับให้มันทำเรื่องที่เหมาะที่ควร?

สไปเดอร์แมนเขาบอกว่า “With Great Power, Comes Great Responsibility” ไทยรัฐมีอำนาจเยอะ มีอิทธิพลเยอะ ก็มีความรับผิดชอบเยอะด้วย

เราว่าถ้าไทยรัฐอยากจะทำ CSR อยากจะคืนกำไรให้กับสังคม ก็แค่ช่วยปรับเปลี่ยนแนวการนำเสนอข่าว ลองทำหนังสือพิมพ์ที่พ่อแม่ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะให้ลูกอ่าน ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะกลายเป็นคนชินชากับความรุนแรง ไม่สร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับคนในสังคม แค่นี้สามารถให้ของขวัญให้คนไทย โดยไม่ต้องเสียเงินซักบาท

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

... อย่าขับ

ตอนนี้ใกล้ปีใหม่ คนใช้รถใช้ถนนกันเยอะ ทั้งขับกลับบ้านต่างจังหวัด ขับไปเที่ยว เขาก็ออกมารณรงค์ลดอุบัติเหตุ (แบบไฟไหม้ฟาง?) กันอีกแล้ว

ตอนนี้การรณรงค์ “เมาไม่ขับ” ค่อนข้างจะติดหูคนทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติเราว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะพวกที่ดื่มเหล้าส่วนใหญ่ ไม่เห็นมีใครยอมรับว่าเมากันซักคน

ในโฆษณาทางวิทยุที่บอกว่า กินเหล้าไปแก้วหนึ่ง พวงมาลัยจะเล็กลง กินอีกแก้วคันเร่งจะจม กินอีกแก้วเบรคจะลึก กินอีกแก้วกระจกจะฝ้า กินอีกแก้วกระโปรงหน้ารถจะยุบเข้ามา แล้วไปจบที่โรงพยาบาล ฯลฯ อันนั้นน่ะของจริง

แต่คนกินเหล้า พอเหล้าเข้าปากแล้วก็จำกันไม่ได้ว่ากินไปแล้วกี่แก้ว ตอนกินไปก็รู้สึกว่าแค่กรึ่มๆ ยางม่ายมาววว...กันทั้งนั้น แต่ไอ้อาการกรึ่มๆ นี่แหละที่ทำให้คนประมาทจนเกิดอุบัติเหตุมานักต่อนักแล้ว เราว่าถ้าไม่อยากจะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า “ดื่มไม่ขับ” ดีกว่านะ

นอกจากดื่มไม่ขับแล้ว สำหรับคนไม่ดื่ม เราขอนำเสนอ “ง่วงไม่ขับ” เพราะจริงๆ แล้วอาการง่วงจนหลับในระหว่างขับรถนี่มันอันตรายสุดๆ เหมือนกัน เราเคยมีประสบการณ์แล้วขอบอกว่าน่าหวาดเสียวมากกกก

กำลังขับรถอยู่แล้ววูบไปประมาณ ๑-๒ วินาที สะดุ้งขึ้นมาแล้วเห็นรถเฉออกไปข้างๆ โชคดีที่เป็นถนนไม่มีรถสวนและกว้างหลายเลน เลยไม่ไปเฉี่ยวชนกับใครหรืออะไรเข้า แต่ใครจะรู้ว่าโชคดีจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร ถ้ามีรถคันอื่นอยู่ข้างๆ มีรถตัดหน้า ฯลฯ เฮ้อออ... ไม่อยากจะคิด

ถ้าจะต้องขับรถไกลๆ แล้วง่วงนอน ควรจะหาที่จอดรถนอนพักซักงีบก่อน แต่ถ้าไปคนเดียว จอดนอนพักไม่สะดวก กลัวมิจฉาชีพ อย่างน้อยก็ควรจอดตามปั๊ม ลงไปยืดเส้นยืดสาย ล้างหน้าล้างตาซะหน่อย แล้วค่อยไปต่อ

อีกวิธีหนึ่งที่เราใช้สู้อาการง่วงได้แล้วค่อนข้างเวิร์ก คือ หาคนคุยด้วย (มีคนบอกว่าเปิดเพลงดังๆ ก็ช่วยได้ แต่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่) ถ้าไม่มีคนนั่งไปด้วย ก็ใช้โทรศัพท์ให้เป็นประโยชน์ โทรหาคนอื่น คุยเป็นเพื่อนๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายง่วง (แต่อาจจะไปขัดกับอีกเรื่องหนึ่งที่เขารณรงค์กันคือ “โทรไม่ขับ” เอาเป็นว่าถ้าจะโทรแก้ง่วง กรุณาใช้อุปกรณ์ Hand-free ด้วย)

เรานึกว่าน่าจะมีแค่ “ดื่ม” กับ “ง่วง” (และ “โทร”) ที่ต้องรณรงค์ไม่ให้ขับรถ แต่วันก่อนไปอ่านเจอในรีดเดอร์ไดเจสต์ เลยได้เพิ่มมาอีกข้อหนึ่ง คือ “จามไม่ขับ” เพราะเขาบอกว่า เวลาที่เราจาม ปฏิกริยาอัตโนมัติระหว่างจามคือหลับตา

ในการจามตาเราจะหลับไปประมาณ ๑-๒ วินาที ซึ่งในเวลาเท่านี้ก็นานพอๆ กับหลับใน และพอที่จะเกิดอุบัติเหตุแล้ว เพราะเวลาเราขับรถที่ความเร็ว ๙๐ กม.ต่อชั่วโมง เวลา ๒ วินาทีที่เราจามและหลับตาอยู่ รถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ๕๐ เมตร

เขาเตือนว่า ถ้าเป็นหวัดจามบ่อยๆ หรือมีอาการแพ้อากาศ ให้เตรียมกระดาษทิชชู่ไว้ใกล้มือ และถ้าเริ่มมีอาการฟุดๆ ฟิดๆ ให้ลดความเร็วลง ขับชิดซ้าย จะปลอดภัยกว่า...

ทั้งหมดนี้ เราขอรณรงค์ให้ตระหนักกันไว้ทุกครั้งที่จะขับรถ ขอให้ทำกันไปตลอดปี ไม่ใช่แค่ช่วง ๗ วันอันตราย ๑๐ วันตายหมดอย่างที่ฮิตๆ กัน!!!

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ฝรั่งมองไทย

วันก่อนมีเด็กในบริษัทส่งลิงก์ Presentation เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาให้ มันเป็นสไลด์ที่เอาไว้พรีเซนต์ให้ฝรั่งที่ออฟฟิศที่ต่างประเทศฟัง เขาจะได้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมไทยและคนไทย ประมาณว่าจะได้ช่วยให้ทำงานด้วยกันได้สะดวกขึ้น เราอ่านเร็วๆ แล้วมีมุมมองที่ “น่าสนใจ” หลายข้อ

การศึกษา
คำว่าการศึกษา หมายถึง การ “ให้” ความรู้ ไม่ใช่ “แลกเปลี่ยน” ความรู้
- ระบบการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารทางเดียว ครูเป็นผู้สอน นักเรียนเป็นผู้ฟังและเรียนรู้
- เพราะระบบอาวุโส นักเรียนมักจะไม่ตั้งคำถามหรือท้าทายความคิดความเห็นของครู
- เน้นที่การยอมรับและท่องจำเนื้อหามากกว่า การสำรวจ ทดลองทำ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ครอบครัว
ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวขยายและรักพวกพ้อง – ทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน
- คำว่า “ครอบครัว” ของคนไทยหมายรวมถึงทุกคน ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันจริงๆ หรือญาติญาติพี่น้อง
- ความคิดเห็นของพ่อแม่มีความสำคัญ และมักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
- การขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาจากผู้ที่อาวุโสกว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งปัญหาส่วนตัวและธุรกิจการงาน
- การมีพวกพ้องและได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ

คุณสมบัติและค่านิยมของคนไทย
- เป็นกันเองและสุภาพ
- ง่ายๆ ไม่เรื่องมาก
- ชอบความสนุกสนาน
- ให้ความสำคัญกับภาพพจน์และหน้าตา
- ตั้งรับและประนีประนอม
- เคารพความมีอาวุโส ระบบชนชั้น และอำนาจปกครอง

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ - ความสัมพันธ์เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ
- คนไทยชอบตกลงธุรกิจกับคนรู้จักมากกว่า พอใจคนที่ยอมใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ และจะสนับสนุนช่วยเหลือคนเหล่านั้นมากกว่า
- ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้การงานสำเร็จได้รวดเร็วและราบรื่นขึ้นเสมอ

การสื่อสารกับคนไทย
- ระมัดระวังในการใช้ภาษา และพูดจาให้ชัดเจน
- พูดช้าๆ หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์แสลง และคำที่ยืดยาวเกินจำเป็น
- ต้องคอยตรวจสอบว่ามีความเข้าใจตรงกัน
- วิจารณ์ในที่ส่วนตัว
- อดทน
- ให้เน้นที่คน และอย่าพูดจาชื่นชมเกินจริง
- ละเอียดอ่อนต่อเรื่องทางวัฒนธรรม
- คอยสังเกตสิ่งที่ไม่ใช่คำพูด

วัฒนธรรมไทย - เวลา
- ความตรงต่อเวลาไม่ใช่คุณธรรมประจำใจ
- ความล่าช้าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
- การไม่ตรงต่อเวลาไม่ใช่ความผิด ดังนั้นจึงไม่มีบทลงโทษ

การประนีประนอม คือ วิถีไทย
- เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ควรเลือกข้อสรุปที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
- การประนีประนอมและสร้างความสมานฉันท์และสันติ สง่างามกว่า การบีบบังคับเพื่อเอาชนะ
- การโอนอ่อนผ่อนตาม สำคัญกว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นจึงควรจะต้อง
- รักษาหน้าผู้อื่น ไม่เผชิญหน้า และ สงบปากสงบคำ
- อย่าพูดจาดูถูกหรือทำให้เขาเสียหน้าในที่สาธารณะหรือต่อหน้ากลุ่มเพื่อน
- รักษาความสัมพันธ์อันดี และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
- คนไทยจะไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อเหตุการณ์ แต่จะเก็บความรู้สึกเอาไว้หลังรอยยิ้ม

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550

อานุภาพสาวผมบลอนด์ร้ายลึก

อานุภาพสาวผมบลอนด์ร้ายลึก สกัดสติปัญญาชายหนุ่มตกฮวบ [ไทยรัฐ ๑๒ ธ.ค. ๕๐]
นักวิทยาศาสตร์ทดลองพบว่าสาวผมบลอนด์นั้นมีอานุภาพร้ายลึก ถึงขนาดทำให้ชายหนุ่มที่ดูรูปภาพของเธอทำคะแนนทดสอบลดลงฮวบฮาบ

หนังสือพิมพ์ เดลี เทเลกราฟ ในอังกฤษรายงานผลการทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ปารีส เอ็กซ์นองแตร์ ในฝรั่งเศสที่ได้ทดสอบความสามารถของผู้ชายในเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป หลังจากที่ให้ชายหนุ่มเหล่านั้นดูรูปของหญิงสาวที่มีสีผมแตกต่างกัน ผลปรากฏว่าตลอดการทดลองทั้งสองครั้ง ชายหนุ่มที่ได้ดูรูปภาพสาวผมบลอนด์ทำคะแนนทดสอบได้ต่ำที่สุด

“นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนเราเผชิญหน้ากับภาพเหมารวมทั่วไป โดยประพฤติเลียนแบบตามนั้น” เธียร์รี เมเยอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม ผู้ร่วมการศึกษากล่าว สำหรับกรณีสาวผมบลอนด์นี้มีศักยภาพทำให้คนเราทำตัวไปในทางที่โง่ลง เพราะว่าเป็นการเลียนแบบภาพเหมารวมของสาวผมบลอนด์ว่าโง่ในระดับจิตไร้สำนึก.

ข้อสังเกต
๑. “ภาพเหมารวมของสาวผมบลอนด์ว่าโง่ในระดับจิตไร้สำนึก” << สาวผมบลอนด์น่าจะรวมตัวกันฟ้องผู้ทำการทดลองเรื่องนี้นะ
๒. ผลการทดลองนี้ไม่น่าจะเชื่อถือได้ ข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องทำการทดลอง คือ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทำตัวไปในทางที่โง่ลงอยู่แล้ว เวลาเห็นสาวสวย ไม่ว่าสาวนั้นผมสีอะไร
๓. ระดับความโง่ของผู้ชายจะแปรผันตรงกับระดับความสวยของผู้หญิงเหล่านั้น และจะแปรผกผันกับปริมาณเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมใส่
๔. แค่การดูภาพที่มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อยังมีอานุภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนขนาดนี้ แล้วการดูภาพที่แสดงพฤติกรรมอย่างโจ่งแจ้งทางสื่อมวลชน ข่าวหนังสือพิมพ์ ละครทีวี จะขนาดไหน เราชักจะเห็นด้วยแล้วที่ละครน้ำเน่าต่างๆ ต้องพะเรตติ้ง น.๑๘

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ฮีโร่กับสารบัญชีวิต

วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่ดีมากๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่ว่าดีมากๆ เพราะเป็นคนที่เราชื่นชมมากๆ คนหนึ่ง คือพี่เก้ง จิระ มะลิกุล เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ที่พี่เก้งจะทำ คือเรื่อง “เหมืองแร่” บทประพันธ์ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ

พี่เก้งบอกว่า อ่านเรื่องชุดเหมืองแร่ตั้งแต่ยังเด็กๆ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่จำได้และประทับใจ และต่อมาตอนโตได้มาอ่านอีก ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อยากจะเอามาทำเป็นหนังมากๆ แต่ในหนังสือคุณอาจินต์เคยเขียนไว้ประมาณว่า เขามองเห็นภาพของ “เหมืองแร่” เป็นแอ็คชั่นที่ผ่านการอ่านผ่านตัวหนังสือไม่ใช่ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งแบบนี้ก็เป็นการบอกกลายๆ ว่า ไม่ขาย

ตอนหลังพี่เก้งก็ไปรอคุณอาจินต์ในงานเปิดตัวหนังสือของ “เชิด ทรงศรี” เรื่อง “นั่งคุยกับความตาย” (เขียนเป็นตอนๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ก่อนจะเอามารวมเล่มขาย) พอเข้าไปก็คุยกับคุณอาจินต์ว่าประทับใจหนังสืออย่างไร มองว่าเรื่องราวในหนังสือมีความเป็นแอ็คชั่นที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นหนังได้อย่างไร (ซึ่งเรื่องราวที่เขายกขึ้นมา เป็นประมาณว่าแสดงความเป็น “แฟนนานุแฟน” และ “อิน” กับเรื่องเหมืองแร่เอามากๆ)

คุณอาจินต์ฟังจบแล้วพูดมาสั้นๆ ๕ คำว่า “ผมขายให้คุณ” (อ้าว... นี่มันแค่ ๔ คำเองอ่ะ คำพูดจริงๆ ว่าอะไรจำไม่ได้อ่ะ จำได้แต่ว่า ๕ คำ และตกลงว่าคุณอาจินต์ขายเรื่องเหมืองแร่ให้พี่เก้ง :P) หลังจากได้เรื่องเหมืองแร่มา พี่เก้งก็ทำบทขึ้นมาแล้วก็ไปคุยกับคุณอาจินต์ คุณอาจินต์บอกว่า ผมขายเรื่องให้คุณแล้วคุณจะไปทำอย่างไรเป็นสิทธิ์ของคุณ ผมขอดูบทแรกอย่างเดียว อยากรู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง

พี่เก้งมีความประทับใจกับเรื่องราวการเรียนรู้ของตัวละคร (คุณอาจินต์) มาก ในการที่ต้องไปใช้ชีวิต ๔ ปีที่เหมืองแร่ในจังหวัดพังงา หลังจากโดนรีไทร์จากคณะวิศวะ เป็นเหมือนกับการถูกส่งไปดัดสันดาน เป็นยุคสมัยที่จังหวัดพังงามีความกันดารพอๆกับเมืองจีน (ผู้ชายที่ถูกส่งไปพังงา เกิน ๓ ปี เมียมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะมีสามีใหม่ กันดารประมาณนั้น) เป็นยุคสมัยที่ลูกผู้ชายพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำ และ เกียรติยศ เป็นเรื่องที่คุณต้อง “ขุด” ขึ้นมาเอง

เรื่องเหมืองแร่ก็มีแค่นี้ แต่ที่อยากจะเล่าคือมีคำถามอื่นๆ ที่คนสัมภาษณ์ถามพี่เก้ง แล้วพี่เก้งตอบถูกใจเรา อย่างคำถามเรื่องประมาณว่า มีใครเป็นฮีโร่ที่คิดว่าจะเอาเป็นแบบอย่างหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ในการทำงาน พี่เก้งเล่าว่า เขาเคยมีคนที่เป็นฮีโร่ในใจเขา แล้วไปเจอคนนี้ตัวเป็นๆ ก็แอบไปด้อมๆ มองๆ ส่องเข้าไปในรถเขา ดูว่าฮีโร่ของตัวเองฟังเพลงอะไร อ่านหนังสืออะไร แต่ปรากฏว่า พี่ฮีโร่ไม่ได้ฟังเพลงแบบที่เขาชอบ ไม่ได้อ่านหนังสือประเภทที่เขาอ่าน ก็บอกว่า ฮีโร่ ไม่ได้มีไว้ให้เขาปฏิบัติตัวตาม แต่มีไว้เป็นคำเรียกคนที่รู้สึกชื่นชอบชื่นชมในผลงาน อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นการชื่นชมฮีโร่อย่างมีสติโดยแท้จริง

เขาพูดเรื่องผลงานหรือความสำเร็จว่า เป็นเหมือนกับสารบัญของชีวิต ถ้าสิ่งไหนอันไหนที่เขาตั้งใจทำแล้ว ประสบความสำเร็จก็น่าภูมิใจ แต่ถ้าอันไหนที่ทำได้ไม่ดี หรือไม่ได้ตั้งใจทำให้ดี เราก็ไม่ค่อยอยากจะเอ่ยถึง อยากจะเปิดข้ามบทนั้น–ตอนนั้นไป ดังนั้นในการ ทำงานก็ตั้งใจว่า จะให้มีแต่บทที่อยากจะเปิดไปอ่าน อยากจะบันทึกไว้ในสารบัญ มากกว่าที่จะให้มีบทที่เราอยากเปิดข้ามมันไป มานึกถึงชีวิตเราเอง ก็มีบางช่วงบางตอนที่เรารู้สึกไม่ภูมิใจ รู้สึกพ่ายแพ้ล้มเหลว และไม่อยากจะเอ่ยไม่อยากจะจำเหมือนกัน แถมไอ้ส่วนที่ประสบความสำเร็จภูมิใจเสนอก็ไม่ค่อยมี สารบัญชีวิตเราสั้นน่าดูเลย

สูตรสำเร็จของความสำเร็จ

วันนี้ขับรถกลับบ้าน ฟังรายการไอทีทางช่อง ๑๐๐.๕ อย่างเคย ทันได้ฟังสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทซีทีเอเชีย เป็นบริษัทที่ขายซอฟท์แวร์ (ไม่แน่ใจว่าขายฮาร์ดแวร์ด้วยหรือเปล่า) ที่จัดการเกี่ยวกับ Multimedia Messaging Control (อะไรประมาณนั้น) เท่าที่ฟังทัน เขาบอกว่า จะเป็นการจัดการทั้งข้อความที่เป็นเสียง (คนโทรศัพท์เข้ามาหาเรา ฝากข้อความได้) ที่เป็นอีเมล และที่เป็นภาพ ที่ต่างจากระบบฝากข้อความทั่วไปคือ ข้อความเสียงจะมาปรากฏบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเราต้องการฟอร์เวิร์ดข้อความให้คนอื่น ก็ส่งเป็นไฟล์เสียงผ่านอีเมลไปหาคนอื่นได้ (อะไรประมาณเนี้ย)

คอนเซ็ปต์นี้ เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้แล้วตอนที่ยังทำหน้าที่ไอทีโคฯ มีบริษัทที่เราใช้ตู้ PBX (สลับสายโทรศัพท์+จัดการ Voice Mail) มาพรีเซนต์ให้ฟังเหมือนกัน (ก่อนหน้านี้รู้สึกจะเป็นของ AT&T แล้วตอนหลังโดน Lucent ซื้อไป ตอนนี้ตู้ก็เลยติดโลโก้ของ Lucent) แต่บริษัทเราไม่ได้ใช้เพราะต้องอัพเกรดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อีกหลายแสน ก็เลยใช้แค่ระบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่เราฟังคุณเฉลิมพล (ผู้บริหารซีทีเอเชีย) เล่าให้ฟังว่าทำอะไร เราว่าเขามีแนวความคิดที่น่าสนใจมาก

เขาบอกว่า บริษัทของเขาเป็นคนไทยล้วน แต่ต้องพรีเซนต์ตัวเองให้เหมือนไม่ใช่คนไทย เพราะลูกค้าคนไทยเห็นแล้วไม่ค่อยเชื่อถือคนไทยด้วยกัน พวกโบรชัวร์ต่างๆ ต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นบริษัทฝรั่ง เขาบอกว่าเขาเคยไปทำโร้ดโชว์ตั้งบูธตามงานคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในต่างประเทศ ก็ล้มเหลวไม่ได้เรื่อง เพราะภาพพจน์ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ส่งออกข้าว ส่งออกผลไม้อาหารการกิน ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ขายซอฟท์แวร์ ตอนหลังเขาต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเปิดตลาดจากบริษัทในไทยที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ พิสูจน์ให้บริษัทในไทยเห็นว่าซอฟท์แวร์ใช้งานได้ดี ระบบใช้งานได้ดี ราคาถูก แล้วขยายไปขายต่อให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ

คนจัดรายการให้แนะนำว่าทำยังไงถึงสร้างชื่อได้ ทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ คำตอบของเขาคือ “ต้องอดทน มุ่งมั่น และพึ่งตัวเอง” คำตอบนี้เก่าจริงๆ ได้ยินจนเบื่อแล้วอ่ะ ไปถามคำถามนี้กับเจ้าสัวใหญ่ที่ในอดีตมีแค่เสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ก็ได้คำตอบแบบนี้เหมือนกัน เหมือนไม่ใช่ของใหม่ ก็น่าจะรู้ๆ กันหมด แต่ทำไมทำไม่ได้อย่างเขา ก็คงเป็นประมาณว่า ที่ว่า “อดทน” ต้องอดทนแค่ไหน ขีดจำกัดของคนมันก็ไม่เท่ากัน ที่ว่า “มุ่งมั่น” ต้องมุ่งมั่นแค่ไหน (คุณเฉลิมพล บอกว่า คนไทยฉลาดมีไอคิวสูง แต่ไม่มุ่งมั่นพอ ทำให้เวลาเจออุปสรรคเจอปัญหา ก็เลือกไปทางง่าย ไปทางสบาย)

คนจัดรายการถามว่า เท่าที่เจอปัญหาที่ต้องต่อสู้ ต้องแก้ไขมากมาย คิดว่าต้องการให้รัฐสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างไร คุณเฉลิมพลบอกว่า ในการจะประสบความสำเร็จในธุรกิจซอฟท์แวร์นี้ มันต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก จะให้รัฐบาลช่วยโน่นช่วยนี่ไม่ได้ ที่รัฐบาลช่วยก็เป็นเรื่องดี (อย่างบริษัทเขาได้บีโอไอก็ได้ส่วนลดทางภาษี) แต่ยังไงก็ต้องพึ่งตัวเอง (เราว่าถ้าทุกคนคิดแบบคุณคนนี้ ประเทศไทยไม่มีคนจน)

เขายังบอกอีกว่า การทำธุรกิจต้องทำเป็นทีม มีพาร์ทเนอร์ที่มีความเป็นมืออาชีพในทุกทาง บริษัทของเขาก่อตั้งกันมากับเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน และไปเรียนต่อที่ USC ด้วยกัน เพื่อนเขาเป็นคนดูแลด้านเทคนิค ส่วนเขาดูด้านกลยุทธ์การตลาด ด้านเทคนิคต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ดี แล้วก็ต้องมีด้านการตลาดเพื่อที่จะรู้จักขายรู้จักหาช่องทางนำเสนอไปหาลูกค้า ได้ยินว่าบริษัทเขากำลังไปได้ดี ฟังการพูดการจาของเขา แล้วรู้สึกชื่นชมความมีวิสัยทัศน์ และไม่แปลกใจที่เขาประสบความสำเร็จ

ในรายการเดียวกัน หลังจากเล่าเรื่องบริษัทซีทีเอเชียไปแล้ว เขาเล่าเรื่องดร.หนุ่มๆ จากจุฬา (ที่จริงได้ดร.จากต่างประเทศนะ) รวมตัวกันเปิดโรงเรียนกวดวิชาไอฟาสต์ (คิดว่าประมาณนี้นะ เขาไม่ได้สะกดให้ฟัง เลยไม่รู้ว่าจริงๆ จะสะกดยังไง) โดยเริ่มเปิดตัวจากการสอนฟิสิกส์ในโรงหนัง (อีจีวีลาดพร้าว) ไอเดียก็คือเป็นการสอนแบบกึ่งบันเทิง เอาไอทีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน

พวกดร.ที่ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา เขาบอกว่าที่อยากทำก็เพราะในปัจจุบันคะแนนสอบของเด็กนักเรียนคือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นข้อสอบปรนัย ๔ คำตอบ กาคำตอบแบบเดาสุ่มไม่ใช้สมองเลย ก็มีโอกาสถูก ๑ ใน ๔ คือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แสดงว่าระบบการเรียนของเรามีปัญหา เรียนหรือไม่เรียนก็ได้คะแนนพอๆ กัน เขาเลยอยากจะนำเสนอแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่คิดว่า (หรือหวังว่า) จะทำให้การเรียนรู้ได้ผลมากขึ้น

เราเห็นด้วยว่า “มีปัญหา” แต่เราสงสัยว่า มันเกิดจากระบบการเรียนการสอนที่น่าเบื่อ เน้นการท่องจำจริงๆ หรือ เราสงสัยว่า ระบบการเรียนการสอนแบบโบราณมันไม่ได้ผลจริงๆ หรือ ถ้ามันจริง ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยโบราณมันเกิดจากอะไร

เรามองแบบคนหัวโบราณ ก็ต้องบอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ค่านิยมของคนสมัยนี้ พ่อแม่สมัยนี้บอกว่า ไม่บังคับลูก ให้ลูกได้เรียนอย่างที่ชอบ ให้เป็นคนดีก็พอแล้ว ชีวิตไม่มีแรงกดดัน ไม่ต้องพยายามอะไรเลย จนกลายเป็นความเฉื่อย รักสบาย ไม่อดทน (อ๋อ เรื่องเรียนมันน่าเบื่อ ยากลำบาก เดี๋ยวมีคนคิดวิธีการเรียนแบบบันเทิงขึ้นมาให้ ชีวิตมันมีจะแต่บันเทิงหรือไง ลำบากกันไม่เป็นแล้ว) แล้วก็เลี้ยงลูกมาแบบพ่อแม่อยู่ค้ำฟ้า จะทำให้ลูกหมดทุกอย่าง อาหารป้อนให้ถึงปาก เงินทองข้าวของเครื่องใช้หยิบให้ถึงมือ นี่ถ้าความรู้มันฟีดตรงใส่สมองเข้าไปได้ก็คงทำกันไปแล้ว นี่แหละความเจริญและการพัฒนายุคนี้

ปล. เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่เคยเขียนไว้ และโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ คงจะหายแปลกใจว่าทำไมหนังเหมืองแร่ฉายตั้งหลายปีแล้ว ทำไมพี่เก้งเพิ่งมาให้สัมภาษณ์ไป “เมื่อวันก่อน” :)

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทเรียนจากขโมยขึ้นบ้าน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องตื่นเต้นและน่าหวาดเสียวเกิดขึ้น คือมีขโมยขึ้นบ้านเราและเข้ามาถึงในห้องนอนเรา มันเลือกหยิบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าใบเล็กใบน้อยที่เราเก็บในลิ้นชักหัวเตียง ตามโต๊ะตู้ต่างๆ ไป เอาไปรื้อนอกบ้านและเลือกเอาแต่เงินกับของที่มันอยากได้ไป แล้วก็ทิ้งของที่ไม่มีประโยชน์สำหรับมันไว้ มันรื้อเจอกุญแจรถ ก็เลยขับรถไปด้วย แต่โชคยังดีที่มันออกจากหมู่บ้านไม่ได้ เพราะหน้าหมู่บ้านมียาม ก็เลยได้แต่กระเป๋าสตางค์ มือถือ และนาฬิกาไป

ตอนเราตื่นมารู้ตัวว่ากระเป๋าหายก็ตกใจ พอเห็นว่ารถหายก็ยิ่งโคตรตกใจ พอรู้ว่ารถไม่หายก็ใจชื้น แต่พอคิดไปนานๆ ก็ใจเสีย เพราะหมู่บ้านเรามียาม ขโมยเข้ามาในหมู่บ้านได้ เข้ามาถึงในบ้านเราได้ เข้ามาถึงในห้องนอนเราได้ ขับรถเราไปได้ มันรู้ลู่ทางต่างๆ ในบ้านหมดแล้ว น่าหวาดเสียวว่ามันจะย้อนกลับมาอีก น่าสงสัยว่าจะมีใครในหมู่บ้านรู้เห็นเป็นใจหรือเปล่า นอกจากบ้านเราแล้ว มันยังเข้าไปขโมยที่บ้านหลังอื่นอีก ๒ หลัง มีแต่คนถามว่าหมู่บ้านมียาม ทำไมขโมยเข้ามาได้ อันนี้ก็ต้องสืบสวนสอบสวนกันต่อไป

ที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขโมยมันไม่หยิบข้าวของอะไรอื่นของเราเลย (กล้องวิดีโอ โน้ตบุ๊ค ไอพ็อดของหลาน) เหมือนจะมุ่งหาแต่สตางค์อย่างเดียว ราวกับมันรู้ว่าถ้าหิ้วของพะรุงพะรังเดินผ่านตู้ยามคงจะผิดสังเกตได้ง่าย ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่าจะเป็นคนที่เคยเข้านอกออกในหมู่บ้านมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็พยายามจะขโมยรถเราออกไป ซึ่งถ้ามันเคยเข้านอกออกในมาแล้ว มันก็ต้องรู้ว่าจะขับรถผ่านตู้ยาม ต้องผ่านกล้องวงจรปิด ก็ไม่น่าคิดจะเอารถไปเสียแต่แรก คิดไปคิดมาแล้วก็คิดไม่ตก

ความหวังสูงสุดของเราก็คือ ตำรวจจะเข้ามาสืบสวนเอาจริงเอาจัง จนจับตัวคนร้ายได้ แต่ถ้าไม่สมหวัง ถัดมาก็หวังว่าการที่มีตำรวจมาสืบสวน จะเป็นการขู่ขวัญขโมย ให้มันรู้ว่าถ้าย้อนกลับมาอีกเอ็งเจอดีแน่ ให้มันไม่กล้าย้อนกลับมาขโมยซ้ำอีก

คนที่ได้ฟังเรื่องนี้หลายๆ คนตั้งข้อสังเกตว่า ขโมยใช้ยาสลบหรือเปล่า เพราะมันเข้ามาในห้องนอนเรา เดินไปทั่ว รื้อค้นเอากระเป๋าไปได้โดยเราไม่รู้ตัวเลย แต่เราคิดว่าไม่ใช่ เราว่าแค่นอนหลับธรรมดาโดยไม่ได้คิดว่าต้องระแวดระวังอะไร พี่สาวเราอยู่คนละหมู่บ้าน เคยโดนขโมยขึ้นบ้านเหมือนกัน บอกว่าขโมยก็เข้ามาเดินในบ้าน เข้าไปค้นทุกห้องโดยไม่มีใครรู้ตัวเหมือนกัน

เวลาที่คนเราหลับสนิทๆ แล้ว (เวลาไพรม์ไทม์ช่วงตีสามตีสี่) ถ้าไม่มีเสียงเอะอะโวยวายจริงๆ ก็ไม่น่าจะตื่น เรานึกถึงเวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน บางทีเราตื่นมาเข้าห้องน้ำหรือกินน้ำ ปิดเปิดประตูเสียงดังก๊อกแก๊ก เพื่อนที่นอนด้วยกันก็ไม่เห็นตื่น หรือกลับกันถ้าเพื่อนตื่นมาเข้าห้องน้ำ/กินน้ำ เราก็ไม่ตื่นเหมือนกัน สรุปว่า ไม่น่าจะมียาสลบ

ถัดมาทุกคนก็แสดงความเห็นตรงกันว่า โชคแล้วที่เราไม่ตื่น ไม่รู้ตัว เพราะถ้ารู้ตัวตื่นขึ้นมาจ๊ะเอ๋กับขโมย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะโดนทำร้ายหรือเปล่า ทุกคนพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า ถ้า(โชคร้ายซ้ำซ้อน)เกิดมีคนเข้ามาขโมย(อีก) แล้วเราเกิดรู้ตัว ตื่นขึ้นมาเจอขโมยพอดี ให้เงียบๆ เอาไว้ แกล้งทำเป็นหลับต่อไป อย่าเอะอะโวยวายหรือเสียดายของ เราไม่มีทางรู้ว่ามันมีอาวุธอะไรมาด้วยหรือเปล่า มันเหี้ยมโหดแค่ไหน เกิดเราเอะอะโวยวายขึ้นมา มันเอามีดมาแทง เอาปืนมายิง จะซวยหนักขึ้นไปอีก

สรุปว่าให้ท่องไว้ว่า ตั้งสติ อย่าโวยวาย แกล้งหลับ ขโมยมันเข้ามาเงียบๆ ก็ปล่อยให้มันไปเงียบๆ อันนี้ก็เป็นในทางทฤษฎีนะ ในทางปฏิบัติก็แล้วแต่คนว่าจะรวบรวมสติได้แค่ไหน บางทีคนอาจจะตกใจตื่น งัวเงียขี้ตา โวยวายออกไปไม่รู้ตัว อันนั้นก็ถือซะว่าแล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำมาเก่าก่อนก็แล้วกัน

มีบางคนก็ทักว่า เรากำลังดวงซวยดวงตกหรือเปล่า อันนี้เราไม่ใช่หมอลักษณ์ ก็เลยฟันธงไม่ได้ แต่ที่ฟันธงได้ คือ เราประมาท เราคิดว่าหมู่บ้านเราน่าจะปลอดภัย คิดว่ามียามเฝ้าหน้าหมู่บ้าน คงไม่มีคนแปลกหน้าเข้ามาได้ เวลาเราล็อกบ้านล็อกห้องนอนก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร ล็อกแค่กุญแจลูกบิดอย่างเดียว รถเราก็จอดไว้หน้าบ้าน ไม่ได้เอาเข้ามาจอดในบ้าน เพราะคิดว่าเป็นถนนในหมู่บ้าน ไม่มีใครเข้าออกพลุกพล่าน ความเป็นจริงก็คือ บ้านเราไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด เศรษฐกิจแย่ลง ขโมยขโจรก็ชุกชุมขึ้น ยามก็ไม่ได้เข้มงวดกับคนเข้าออกซักเท่าไหร่

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ต้องไม่ประมาท เลิกคิดว่าบ้านเราปลอดภัย ล็อกบ้านล็อกห้องนอนให้แน่นหนาให้เป็นนิสัย ล็อกกุญแจลูกบิดแล้ว ก็ต้องใส่กลอนทุกอันด้วย (กุญแจลูกบิดเป็น “ขนม” สำหรับขโมยมือโปรที่ใช้กุญแจผี การใส่กลอนไม่ได้ป้องกันขโมย ๑๐๐% แต่เพิ่มความลำบากให้มัน หวังว่ามันจะคิดว่า เวลาก็มีไม่มาก ไปเข้าบ้านที่เข้าง่ายๆ ดีกว่า) รถก็เอาเข้ามาจอดในบ้าน เปิดไฟหน้าบ้านทิ้งไว้บางดวง ให้มีแสงสว่างบ้าง สเต็ปต่อๆ ไปก็คือ ต้องพยายามหารือกับคนในหมู่บ้านเรื่องยามและการรักษาความปลอดภัย

อีกอันที่เราได้คิดจากเหตุการณ์นี้ คือ ตอนที่เราเช็คดูว่ามีอะไรหายไปบ้าง ทีแรกเรานึกว่าสายสร้อยกับแหวนที่เราไม่ได้ใส่นานมากๆ แล้วหายไปด้วย วูบหนึ่งก็รู้สึกเสียดาย แต่อีกแป๊บหนึ่งก็คิดได้ว่า ตอนที่มันยังไม่หาย เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีอยู่ ซุกไว้ในลิ้นชักเฉยๆ โดยไม่ได้มีประโยชน์โภชน์ผลต่อใครเลย คิดได้ว่า ของต่างๆ ตั้งมากตั้งมาย ถ้าไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ ก็ไม่รู้จะอยากได้อยากมีไปทำไม มันสุขแค่แวบเดียวตอนที่ได้รู้ว่ามี ได้รู้ว่าเป็นเจ้าของ เท่านั้นเอง แถมพอตอนนึกว่าหายก็รู้สึกทุกข์ ทุกข์ไปจนกว่าจะตั้งสติได้ และตัดความรู้สึกเสียดายออกไป ขโมยขึ้นบ้านก็ทำให้ได้ปลงไปด้วยแฮะ

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

วันนี้ที่บริษัทเรามีรถมารับบริจาคเลือด คนในบริษัทก็ไปบริจาคกันพอประมาณ รวมกับคนบริษัทอื่นๆ ในตึกเห็นว่าได้ไปประมาณร้อยห้าสิบถุง เราอยากบริจาคมาก แต่เขาไม่รับบริจาค เพราะเรากินยาฆ่าเชื้ออยู่ เสียดายอยู่เหมือนกัน

ตอนเย็นเราขับรถกลับบ้านฟังข่าวเขาบอกว่ารพ.มหาราชนครเชียงใหม่ขาดแคลนเลือดอย่างหนักจนต้องเลื่อนผ่าตัดคนไข้ไป ๔๐ กว่ารายเพราะไม่มีเลือด รพ.ต้องรับคนไข้จากจังหวัดในภาคเหนือ แต่คนบริจาคเลือดส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่ในจังหวัดเชียงใหม่กับญาติผู้ป่วยที่บริจาคเติมส่วนที่ใช้ เขาก็เลยต้องประกาศเชิญชวนคนภาคเหนือไปบริจาคเลือด

ความจริงปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เราได้ยินว่าสภากาชาดไทยพยายามให้คนบริจาคเลือดให้ได้ ๘๐ ล้านซีซี เป็นการชวนคนไทยทำความดีเพื่อถวายในหลวง เลือด ๑ ถุงรู้สึกจะ ๔๐๐ ซีซี ๘๐ ล้านซีซี ก็คือ ๒ แสนถุง นั่นคือสภากาชาดต้องการรับบริจาคเลือดประมาณ ๑ หมื่น ๖ พันถุงต่อเดือนหรือ ๖๕๐ ถุงต่อวัน

แต่ที่เราอ่านเจอจากคนที่เคยไปช่วยที่สภากาชาดเขาบอกว่า สภากาชาดต้องการเลือดประมาณวันละ ๑,๕๐๐ ถุงสำหรับใช้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และแจกจ่ายให้ต่างจังหวัดถ้ากาชาดจังหวัดนั้นๆ มีเลือดไม่พอ ส่วนใหญ่สภากาชาดได้รับบริจาคเลือดไม่พอ ตลอดปีมีแค่ ๔ เดือนที่ได้รับบริจาคเลือดได้เตามเป้าหมาย คือเดือนกรกฎาคม สิงหาคม พฤศจิกายน และธันวาคม (สังเกตว่าเป็นช่วงวันแม่-วันพ่อ จนเจ้าหน้าที่อยากจะให้ทุกวันเป็นวันพ่อ-วันแม่ คนจะได้มาบริจาคเลือดกันเยอะๆ)

ตั้งแต่เกิดสึนามิและเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาการขาดแคลนเลือดก็ยิ่งวิกฤตหนัก วันนี้เราเลยมาเชิญชวนกันไปบริจาคเลือดสร้างกุศล คนที่เคยบริจาคแล้ว ถ้าไม่ได้บริจาคมานาน หรือครบกำหนด ๓ เดือนแล้ว ก็หาเวลาไปช่วยกันบริจาคหน่อย

คนที่ไม่เคยบริจาคมาก่อน ก็ไม่ต้องกลัวเข็ม (เราก็กลัวเข็ม เวลาเขาจะเจาะก็ไม่ต้องดู จะได้ไม่เสียว) ไม่ต้องกลัวเจ็บ (จะบอกว่าไม่เจ็บก็โกหก เจ็บเท่าๆ กับโดนหยิกอ่ะ ทนได้) ไม่ต้องกลัวติดเชื้อ (เข็มเขาใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ไม่ต้องกลัวเลือดหมด ไม่ต้องกลัวอ้วน

นอกจากบริจาคเลือด ได้ช่วยคน เป็นกุศล ยังมีประโยชน์อื่นอีกด้วย เพราะเราอ่านจากบล็อกแก็งค์ เขาบอกว่าคนที่บริจาคเลือดเกิน ๒๔ ครั้งจะได้สิทธิ์รักษาพยาบาลเหมือนกับข้าราชการคนหนึ่ง เขาเล่าว่ารุ่นพี่เขาต้องผ่าตัดเพราะลิ้นหัวใจรั่วที่รพ.จุฬาฯ ค่าใช้จ่ายปกติแสนกว่าบาท แต่เพราะเป็นผู้บริจาคเลือด จ่ายเงินไปแค่ ๙,๘๐๐ บาท

เราเพิ่งดูบัตรรับบริจาคเลือดของเรา ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นครั้งที่ ๒๕ (อย่าตกใจว่าทำไมเยอะ เพราะจะตกใจกว่าถ้ารู้ว่าเราเริ่มบริจาคเลือดครั้งแรกเมื่อ ๑๘ ๑๕ ปีที่แล้ว และเลือดเราเคยโกอินเตอร์ด้วย) ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ถ้าเรามีกรรมเก่า เกิดป่วยขึ้นมาจริงๆ การบริจาคเลือดก็อาจจะตอบแทนทันใจแบบบุญออนไลน์ได้เหมือนกัน

คนที่จะไปบริจาคเลือดดูข้อมูลการบริจาคและสถานที่รับบริจาคได้ที่นี่ ถ้าจะไปบริจาคที่สภากาชาดที่ถนนอังรีดูนังต์ เราแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะบริจาคสเต็มเซลล์ไปด้วยเลย เขาจะได้เก็บตัวอย่างสเต็มเซลล์ไปด้วย (รถรับบริจาคเคลื่อนที่ไม่มีชุดเก็บตัวอย่างสเต็มเซลล์)

ตัวอย่างสเต็มเซลล์เก็บแค่ครั้งเดียว (ทำไปพร้อมๆ กับบริจาคเลือดธรรมดา แต่เขาจะเก็บเลือดเพิ่มอีก ๑ หลอด) เพื่อเอาไปเก็บในฐานข้อมูล เอาไว้ไปตรวจสอบกับคนที่ป่วยเป็นโรคเลือดต่างๆ ที่ต้องการสเต็มเซลล์ที่ตรงกันกับเรา ซึ่งมีโอกาสตรงกันน้อยมาก ถ้าเราฟลุคมีสเต็มเซลล์ตรงกับคนที่กำลังต้องการบริจาค สภากาชาดจะติดต่อให้เราไปบริจาคให้ทีหลัง ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นกุศลที่สูงขึ้นไปอีก ประมาณเดียวกับถูกล็อตเตอร์รี่เลยเชียวหละ

แหมม... ตอบไปด้ายยย...

เราพยายามจะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ้าง เพื่อรักษาสภาพการใช้งานไม่ให้สนิมเกาะเกินไป แต่เราขี้เกียจอ่านข่าว ก็เลยอ่าน Outlook กับการ์ตูนในบางกอกโพสต์ฉบับวันอาทิตย์เป็นประจำ ที่เลือกฉบับวันอาทิตย์ก็เพราะการ์ตูนเยอะดี เป็นการ์ตูนสีด้วย ส่วนใน Outlook จะว่าไปก็อ่านอยู่แค่ ๒ คอลัมน์หลักๆ คือ Humour ของ Dave Barry กับ Postscript ของ Roger Crutchley (กับดูคอลัมน์อาหารของคุณปริสนา บุญสินสุข แบบผ่านๆ – อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นพาสต้า น่ากินมั่กๆ)

เราคิดว่า Dave Barry เป็นนักข่าวอเมริกัน เขาจะเอาเรื่องข่าวในอเมริกามาเขียนขำๆ ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเล็กๆ รายงานประหลาดๆ แบบที่อ่านแล้วงงว่ามันเป็นข่าวได้ไง หรือมันเป็นข่าวจริงๆ หรือเปล่า ส่วน Roger Crutchley ซึ่งเป็นคนอังกฤษที่มาอยู่เมืองไทยนานมากๆ แล้ว เขาจะเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางทีก็เป็นเรื่องเมืองไทย บางทีก็เป็นเรื่องในอังกฤษ ก็จะออกแนวๆ ขำๆ ประชดๆ (ตามสไตล์คนอังกฤษ)

เรื่องที่ Old Crutch (อันนี้คือชื่อที่ Roger ใช้เรียกตัวเอง) เอามาเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐) เราอ่านแล้วฮามากๆ เขาไปเอามาจากหนังสือชื่อ “Dumb Britain” ซึ่งรวบรวมคำถามคำตอบจากรายการทีวีและวิทยุในอังกฤษ ก็เข้าใจแหละนะว่าเวลาไปตอบคำถามออกรายการ มันก็อาจจะมีตื่นเต้น จนคิดอะไรไม่ออก แต่ก็แบบว่าอ่ะนะ

ลองอ่านดูละกันว่ามัน “แหม... ตอบไปด้ายยย...” หรือเปล่า

พิธีกร: บอกชื่อหนังที่แสดงโดย Bob Hoskins ซึ่งเป็นชื่อของภาพวาดที่มีชื่อเสียงของเลโอนาร์โด ดาวินชีด้วย
ผู้เข้าแข่งขัน: Who Framed Roger Rabbit?

พิธีกร: What is a female sheep called?
ผู้เข้าแข่งขัน: Er ... a goat?

พิธีกร: วาฬอะไรที่ขึ้นต้นด้วย S และมีขนาดใหญ่ได้ถึง ๘๐ ตัน?
ผู้เข้าแข่งขัน: อืมม์ ...
พิธีกร: มันขึ้นต้นด้วยตัว S และเสียงคล้องจองกับ “perm”
ผู้เข้าแข่งขัน: Shark?

พิธีกร: Cambridge, Atkins และ Cabbage Soup เป็นประเภทของอะไร?
ผู้เข้าแข่งขัน: มหาวิทยาลัย?

พิธีกร: คุณก้าวเข้าไปในสิ่งนี้ และมันจะพาคุณขึ้นและลงไปยังชั้นต่างๆ
ผู้เข้าแข่งขัน: Dog poo?

พิธีกร: เมืองใดในทวีปยุโรปที่มี Opera house แห่งแรกในปีค.ศ. ๑๖๓๗?
ผู้เข้าแข่งขัน: ซิดนีย์?

พิธีกร: อดีตอาณานิคมของอังกฤษที่ใดที่ถูกคืนให้กับจีนในปี ๑๙๙๗?
ผู้เข้าแข่งขัน: ลอนดอน?

พิธีกร: ปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใดก่อนจะเป็นเอกราช?
ผู้เข้าแข่งขัน: บัลแกเรีย?

พิธีกร: มีกษัตริย์ของอังกฤษกี่พระองค์ที่มีชื่อว่าเฮนรี่?
ผู้เข้าแข่งขัน: เอ่อ... ฉันรู้ว่ามีพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ เอ่อ... เอ่อ.. สาม?

พิธีกร: เหนือทางเข้าของสถานที่แห่งใดที่มีประโยค “Abandon all hope, ye who enter here”?
ผู้เข้าแข่งขัน: โบสถ์?
พิธีกร: เอ่อ... เสียใจด้วย ไม่ใช่ นรก

พิธีกร: บอกชื่อคนที่เป็นประธานาธิบดีของอิตาลีจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙
ผู้เข้าแข่งขัน: ดอน คอร์ลีโอเน?

พิธีกร: ใครเป็นคนแรกที่เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์?
ผู้เข้าแข่งขัน: หลุยส์ อาร์มสตรอง?

พิธีกร: เขาได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งคาวบอย เขาชื่อว่า “รอย” อะไร?
ผู้เข้าแข่งขัน: คีน?

ปล. สำหรับคนที่ต้องการตัวช่วย
- หนังของ Bob Hoskins เรื่อง Mona Lisa
- แกะตัวเมีย คือ ewe
- วาฬที่ขึ้นต้นด้วยตัว S หนัก ๘๐ ตัน คือ Sperm whale
- Cambridge, Atkins และ Cabbage Soup คือชื่อของวิธีการไดเอ็ท (ลดน้ำหนัก) แต่ถึงเราจะไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่มหาวิทยาลัย Cabbage Soup นี่ไม่ใช่แน่ๆ
- ใครๆ ก็รู้ว่า ลิฟท์ คือ สิ่งที่คุณก้าวเข้าไป และพาคุณขึ้นลงไปชั้นต่างๆ แต่ “อึหมา” เป็นประดิษฐกรรมใหม่?
- เวนิซ คือ เมืองในทวีปยุโรปที่มี Opera house แห่งแรกในปีค.ศ. ๑๖๓๗
- อังกฤษคืน ฮ่องกง ให้จีนในปี ๑๙๙๗
- ปากีสถานเป็นอาณานิคมของ อังกฤษ ก่อนจะเป็นเอกราช
- อังกฤษมีพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ และมีกษัตริย์ชื่อเฮนรี่ ๘ พระองค์
- ใครเป็นประธานาธิบดีของอิตาลีไม่รู้ แต่เรารู้ว่า ดอน คอร์ลีโอเน คือ ก็อดฟาเธอร์!
- เรารู้ว่าหลุยส์ อาร์มสตรอง คือนักร้องที่ร้องเพลง What a wonderful world แต่นึกอยู่ตั้งนานว่า งั้นอะไรอาร์มสตรองที่ขึ้นไปบนดวงจันทร์ ติดอยู่ที่ริมฝีปาก รำคาญทนไม่ได้ต้องอาศัยพี่กูเกิ้ล... นีล อาร์มสตรอง คือคำตอบสุดท้าย!
- ราชาแห่งคาวบอย คือ Roy Rogers

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คนไทยเอาเวลาไปทำอะไร?

อาทิตย์ที่แล้วฟังวิทยุช่อง ๙๖.๕ เขาพูดเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ว่าคนไทยทุกเพศทุกวัยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ ๒ เล่ม (เทียบกับประเทศแถวๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์หรือเวียดนาม เขาอ่านกันเฉลี่ยปีละ ๕๐-๖๐ เล่ม) เขาถามว่าทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสือ ตัวเราเองตอบว่า “ไม่ค่อยมีเวลา”

อาทิตย์นี้ฟังรายการเดิม เขาพูดเรื่องการออกกำลังกายของคนไทย บอกว่าจากการสำรวจพบว่าคนไทยที่ออกกำลังกายเป็นประจำ (สัปดาห์ละ ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย) มีแค่ ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ไม่ออกกำลังกายเลยมี ๒๕ เปอร์เซ็นต์ คนจัดรายการบอกต่ออีกว่า ในประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ (อีกแล้ว) เขาออกกำลังกายเป็นประจำกันถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ พอถามเหตุผลว่าทำไมคนไทยไม่ออกกำลังกาย ข้อแรกคือ “ไม่มีเวลา” ข้อถัดมาคือ ไม่สนใจ (ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องออกกำลังกาย)

เวลาแต่ละคนก็มีเท่าๆ กัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง แล้วคนไทยเอาเวลาไปทำอะไรกันหนอ หนังสือก็ไม่อ่าน ออกกำลังกายก็ไม่ออก จะว่าทำงานหนัก ที่ออฟฟิศเราก็โดนบ่นว่าคนไทยทำไมวันหยุดนักขัตฤกษ์มันเยอะจัด (ปีละ ๑๔ วัน) ของอเมริกามีวันหยุดแค่ ๘ วันเอง แล้วเด็กไทยก็ถูกปล่อยไว้กับทีวี โรงเรียนสอนพิเศษ ร้านเกม จะว่าคนไทยเอาเวลาไปเลี้ยงลูกใกล้ชิดกับครอบครัวก็ไม่น่าใช่

เมื่อปีที่แล้วเราเริ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการเดินวันละ ๓๐ นาที พยายามเดินให้ได้อาทิตย์ละ ๓ ครั้ง บางอาทิตย์ก็ไม่ได้ บางอาทิตย์ก็เกิน แต่โดยรวมๆ แล้วก็ถือว่าสม่ำเสมอ คุณภาพชีวิตดีขึ้นเยอะ ไม่เป็นหวัดบ่อยๆ (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราเป็นเหมือนตัวดักจับไวรัส ถ้ามีใครในออฟฟิศเป็นหวัด เราเป็นด้วย แถมอาการหนักว่า) ผลตรวจสุขภาพปีล่าสุดก็ดีกว่าปีก่อน (ไขมัน น้ำตาลลดลง ทั้งที่ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินเลย)

สรุปว่า เราขอชักชวนให้หันมาออกกำลังกายกันดีกว่า อย่ามัวเอาเวลาไปตามข่าวว่าใครเป็นคนผ่อนรถ ใครเอาไปให้ใครขับอยู่เลย ส่วนเรื่องอ่านหนังสือ เราคิดว่าถ้าเราจะเป็นคนที่ชักชวนคนอื่น เราคงต้องลองทำดูก่อนว่า ทำได้ไหม ทำแล้วดีไหม

เอาเป็นว่าถึงตัวเองจะบอกว่าไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ “ไม่ค่อยมีเวลา” (เพราะมัวแต่ดูทีวี ท่องเน็ท เขียนบล็อก ปั่นเว็บบอร์ด) แต่ก็จะลองดูสักตั้งหนึ่งว่า ต่อจากนี้ไปจะอ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละ ๑ เล่ม ปีหนึ่งมี ๕๒ สัปดาห์ เราก็อ่านหนังสือได้ปีละ ๕๒ เล่ม เดี๋ยวปีหน้าเวลาประมาณนี้ จะมารายงานว่าทำได้สำเร็จแค่ไหน คนอื่นจะลองทำไปพร้อมๆ กันก็ได้ ได้ผลยังไงมาเล่าให้ฟังบ้างก็ดี

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ลมหนาว

เมื่อเช้ารู้สึกว่าลมหนาวมาถึงกรุงเทพฯ แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะมีไอเย็นๆ ลอดหน้าต่างเข้ามา พาลให้อยากจะซุกตัวในผ้าห่มต่ออีกซักชั่วโมงสองชั่วโมง -_-”

ใครที่ยังไม่ทันสังเกต เพราะยังปิดหน้าต่าง เปิดแอร์ ลองเปิดหน้าต่างให้ลมเย็นๆ เข้ามาในห้องดูบ้าง กลิ่นลมหนาวหอมชื่นใจ ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ขี้ร้อนจนเกินไป บางทีช่วงนี้อาจจะไม่ต้องอาศัยแอร์หรือพัดลมเลยด้วยซ้ำ (ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยลดภาวะโลกร้อน)

อากาศเย็นๆ พาลให้ขี้เกียจ สมองไม่แล่น ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เอาเรื่องที่อ่านในมติชนสุดสัปดาห์มาเล่าให้ฟังดีกว่า :)

คอลัมน์เมนูข้อมูลในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ “ไปให้ไกลกว่า ‘ปานกลาง’” พูดถึงผลสำรวจของสภาการศึกษาแห่งชาติในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไรกับการศึกษาไทย ณ วันนี้” ร้อยละ ๘๔.๕ พอใจกับการศึกษาในปัจจุบัน ฟังดูแล้วช่างขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปที่บ่นกันว่าการศึกษาของไทยแย่ลงๆ จนถึงขั้นสิ้นหวัง

งั้นลงไปดูในรายละเอียดของผลสำรวจกันหน่อย พบว่า “พอใจมาก” มีแค่ร้อยละ ๑๙.๙ “พอใจปานกลาง” ร้อยละ ๕๖.๓ “พอใจน้อย” ร้อยละ ๘ และ “ไม่พอใจร้อย” ละ ๑๕.๕ (คนทำสำรวจต้องการชี้นำอะไรหรือเปล่า จึงกำหนดตัวเลือกคำไว้เช่นนี้?)

จะเห็นว่าคนที่ “พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๙.๙ เยอะกว่าคนที่ “ไม่พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๕.๕ อยู่แค่เล็กน้อย ส่วนคนที่ “พอใจกลางๆ” ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของการแสดงความเห็นของคนไทยหรือเปล่า ที่มักจะเลือกตรงกลางๆ เอาไว้ก่อน เพราะปลอดภัยดี

ถ้าผู้บริหารการศึกษาจะบอกว่าคนส่วนใหญ่พอใจกับระบบการศึกษาในปัจจุบันก็พอจะกล้อมแกล้มพูดไปได้ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่โอกาสในการแข่งขันเป็นของผู้ที่เหนือกว่า ความพอใจปานกลางร้อยละ ๕๖.๓ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารการศึกษาควรจะพึงพอใจแล้วหรือ เมื่อรู้ว่าโลกทุกวันนี้ไม่เหลือไว้ให้คนที่ได้อันดับกลางๆ มีแต่ผู้ที่เหนือกว่าเท่านั้นที่จะมีที่ยืนได้ เมื่อบริษัทรับสมัครงาน ส่วนใหญ่ก็จะรับผู้ที่ดีที่สุดเข้าทำงาน คนระดับกลางๆ แทบไม่มีโอกาสได้ทำงาน

ถ้าหากคิดว่าการให้การศึกษาคือการให้อนาคต ผู้บริหารควรจะต้องบริหารการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร “ชั้นนำ” ออกมา ไม่ใช่พอใจกับการผลิตบุคลากร “ระดับปานกลาง” เพราะเท่ากับผลิตคนออกมาให้ตกงานหรือทำงานต่ำกว่าวุฒิ ซึ่งเป็นความสูญเปล่า การผลิตบุคลากรชั้นนำจะทำไม่ได้เลย หากสถาบันหรือผู้บริหารการศึกษามีความรู้สึกว่าแค่ความพอใจปานกลางก็เป็นความสำเร็จแล้ว...

จากการศึกษา มาต่ออีกเรื่องหนึ่ง... เรื่องการทำงาน

คอลัมน์เมนูข้อมูล ฉบับวันที่ ๕-๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ “น่ารักจริงๆ ประเทศไทย” พูดเรื่องที่ว่าค่าแรงของคนไทยสูงกว่าจีนหรือเวียดนาม แต่ความรู้ความสามารถของเราเริ่มจะสู้เขาไม่ได้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต ราคาสินค้าไทยแพงกว่า เป็นปัญหาในการแข่งขันในตลาดโลก สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความสามารถที่ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากกว่า

แต่พอมาดูผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่อง “ความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากรปี ๒๕๕๐” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำไปวางแผนพัฒนาและช่วยเหลือผู้อยู่ในวัยแรงงานซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ประชากรในวัยนี้มี ๕๐.๘ ล้านคน มีแค่ ๙.๒๕ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๘.๒ ที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถของตน ที่เหลืออีก ๔๑.๕๗ ล้านคนหรือร้อยละ ๘๑.๘ ไม่ต้องการพัฒนา

ในบรรดาคนว่างงานซึ่งมีจำนวน ๕.๙ แสนคน เมื่อถามว่าจะหางานได้อย่างไร ร้อยละ ๗๑.๗ อยากให้รัฐช่วยหางานให้ทำ ร้อยละ ๑๕ ขอทุนจากรัฐเพื่อประกอบอาชีพ ร้อยละ ๕.๘ ขอเข้าพัฒนาฝีมือแรงงาน ร้อยละ ๓.๘ ขอให้สนับสนุนอาชีพทางเกษตร ร้อยละ ๓.๘ ขอให้ช่วยเหลือเงินค่าเรียนบุตร ร้อยละ ๑ ขอข้อมูลตลาดแรงงาน

ข้อมูลนี้บอกได้ชัดเจนว่าคนไทยส่วนใหญ่ รักสบาย ไม่ต้องการการพัฒนา หากจะพัฒนาก็เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีงานทำก็มุ่งแบมือขอความช่วยเหลือเป็นหลัก ตอนนี้โลกก้าวไปไกลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การแข่งขันต้องการความรู้ความสามารถที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พี่น้องไทยเรา ไม่สนใจการพัฒนาตัวเอง มุ่งแต่จะสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเรียกร้อง และรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่น

อ่านแล้วไม่รู้ว่าจะรู้สึกหนาวหรือรู้สึกร้อนดี...

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๖ (จบ)

มาถึงตอนจบของบทเรียนชีวิต (ซะที -_-") จากที่เขียนมาไม่ค่อยมีคนมาเขียนคอมเมนต์กันเท่าไหร่ เราคุยกับพี่สาวเราแล้ว ก็เห็นตรงกันว่า คนที่เป็นพ่อแม่อ่านแล้วน่าจะรู้สึกเหนื่อย (ทำไมเลี้ยงลูกมันยากขนาดนี้...) แต่ถ้ามองกันดีๆ เรื่องทั้งหมดนี้มันคือ “หน้าที่ของพ่อแม่” ในการเลี้ยงและดูแลลูก

แต่บางทีพ่อแม่สมัยนี้ก็ลืมตัว... ยกหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกให้กับครูที่โรงเรียน หวังให้ครูสอนให้ลูกเติบโตเป็นคนดี เอาหน้าที่การดูแลลูกไปให้พี่เลี้ยง หวังว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ ทิ้งหน้าที่เลี้ยงดูลูกไว้กับทีวี, เกม, หนังสือการ์ตูน หวังว่าลูกจะได้เก็บทักษะความรู้ปรัชญาชีวิตจากสิ่งเหล่านั้น ปล่อยหน้าที่ปกป้องลูกไว้กับรัฐ หวังว่ารัฐจะช่วยจัดการสิ่งเลวร้ายให้หมดไปจากสังคม แต่มันเป็นความหวังที่เป็นไปได้ยาก

ถ้าลองไล่ดูตามรายการที่พ่อแม่จะต้องสอนลูกที่เราเขียนแปลมา ๕ ตอน (รวมตอนนี้ด้วยก็เป็น ๖ ตอน) มันอาจจะดูเยอะ แต่เราว่าถ้าพ่อแม่ได้มีเวลาใกล้ชิดกับลูก สั่งสอนลูกตามสมควรโดยไม่ต้องคิดว่านี่เรากำลังสอนลูกเรื่องการเงิน เรื่องความคิด เรื่องความสุข ฯลฯ แค่สอนลูกในสิ่งที่ดีและทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก พ่อแม่ก็ได้สอนลูกในเรื่องที่เขียนมานี้ไปโดยอัตโนมัติ (และสอนหลายๆ หัวข้อพร้อมกัน)

อย่าลืมว่าเด็กๆ เรียนรู้จากตัวอย่าง เลียนแบบสิ่งที่เขาใกล้ชิด พบเห็น เจอะเจอ เพราะฉะนั้นพ่อแม่อยากจะให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวเองให้เป็นอย่างนั้นก่อน

อ่ะ... มาอ่านเรื่อง สอนลูกเรื่องความสุข อันเป็นตอนจบกันดีกว่า

๑. อยู่กับปัจจุบัน – อันที่จริงความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันเป็นธรรมชาติสำหรับเด็กๆ ยิ่งเราโตขึ้นเท่าไร ความสามารถ (หรือทักษะ) ในการอยู่กับปัจจุบันจะยิ่งลดลงตามลำดับ ผู้ใหญ่มักคิดถึงแต่อนาคตกับอดีต และปล่อยให้ปัจจุบันหลุดลอยไปจากชีวิต

ควรพยายามสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้ ตรงหน้าเรา อดีตที่ผ่านไปแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ เรียนรู้จากมันแล้วนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน อนาคตยังมาไม่ถึง เราจะวิตกกังวลหรือคาดหวังอะไรก็ไม่มีประโยขน์ คิดถึงอนาคตเพื่อที่จะวางแผนว่าจะทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร

๒. มีความสุขกับชีวิต – เด็กๆ มักไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องนี้ แต่พ่อแม่ก็อาจจะมีส่วนช่วยสอนให้เขาตระหนักรู้ถึงความสำคัญและวิธีการที่จะมีความสุขกับชีวิตของตัวเองให้ได้

บางทีผู้ใหญ่หลายคนอาจจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเด็กในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา การตั้งความคาดหวังและเป้าหมายที่เหมาะสม พ่อแม่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการที่จะมีความสุขกับชีวิตอย่างเหมาะสมและพอเพียง

เราเคยฟังที่คุณ “หนูดี” วนิษา เรซ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับเข่าคุย” เธอบอกว่าเธอเคยมีความสุขกับทำให้ได้ตามเป้าหมายใหญ่ๆ ในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตอนเรียนก็อยากเรียนเก่งๆ เข้ามหาวิทยลัยดีๆ ได้ พอทำงานก็อยากประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า ได้เลื่อนตำแหน่ง ทำงานได้เงินเยอะๆ จากนั้นก็อยากซื้อบ้านซื้อรถ

กว่าจะได้มีความสุข เราจะต้องไปถึงเป้าหมายใหญ่ๆ ที่ตั้งเอา ซึ่งในชีวิตก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง จะเปรียบไปก็เหมือนกับเรามี “กล่องความสุข” การตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ก็คือมีกล่องความสุขใบใหญ่ๆ เมื่อเราหาของมาใส่กล่องได้เต็มกล่องแต่ละครั้ง ก็จะมีความสุข แล้วเราก็เปลี่ยนไปหากล่องใบใหม่ (ซึ่งใหญ่กว่าเดิม)

แต่อีกวิธีหนึ่งที่เราจะมีความสุขได้มาก คือ ทำกล่องความสุขของเราให้เล็กลง รับรู้ความสุขง่ายๆ เช่น การได้กลับบ้านไปกินข้าวกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก การได้อ่านหนังสือ สอนลูกทำการบ้าน การไปเที่ยวหย่อนใจที่ต่างๆ เรื่องพวกนี้ทำให้เราสามารถมีความสุขได้ง่ายๆ บ่อยๆ ตลอดเวลา

๓. ค้นหาเป้าหมาย – การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป้าหมายที่สูงส่งในด้านจิตวิญญาณอย่าง การบรรลุธรรมหรือเข้าใจในแก่นศาสนา หรือเป้าหมายใกล้ๆ ตัวอย่าง การตั้งใจทำให้ครอบครัวมีความสุข หรือแม้แต่การไล่ตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป้าหมายในชีวิตทำให้เรารู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร และจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร

พ่อแม่ควรจะช่วยชี้นำลูกในการค้นหาเป้าหมายให้กับชีวิต ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการกำหนดเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่นๆ ในสังคม

๔. สร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง - วิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ลูกรู้จักพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งให้ยาวนาน คือ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง สอนให้เขาเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์ ซึ่งมีจะทั้งช่วงที่ดีและช่วงที่เลวร้าย สอนให้เขารู้จักจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล

สิ่งที่สำคัญมากในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี คือ การพูดคุยสื่อสารกัน การยอมรับฟังความคิดเห็น การให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักประนีประนอม การให้อภัยซึ่งกันและกัน การไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๕

กลับมาเรื่องบทเรียนชีวิตกันอีกที ตอนที่ ๕ แล้วเหลืออีกตอนเดียวก็จะจบแล้ว (เย้!) ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง อ่านโลด...

สอนลูกเรื่องในชีวิตประจำวัน

๑. รถยนต์ – สอนให้ลูกรู้ว่าทำไมถึงต้องมีรถ (ไม่ใช่เพราะมันเท่ดี!) ให้รู้ข้อดีข้อเสียของการมีรถ (สะดวกแต่ก็มีค่าใช้จ่าย เป็นภาระและความรับผิดชอบ) เมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อรถ ก็ให้คำแนะนำในการซื้อรถที่เหมาะกับการใช้งาน สอนเรื่องการดูแลรถ ให้เข้าใจการทำงานของเครื่องยนต์อย่างง่ายๆ รู้ว่าอะไรที่มักจะพังหรือเสียหายได้ง่าย จะดูแล, ซ่อมแซมหรือแก้ไขได้อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงควรจะรู้ นอกจากนี้พ่อแม่ควรสอนเรื่องวินัยในการขับรถ สอนให้มีน้ำใจและมารยาทบนท้องถนน

ฝรั่งเขียนเฉพาะเรื่องรถยนต์ แต่ในเมืองไทยอาจจะรวมเรื่องรถจักรยานยนต์เข้าไปด้วย เรื่องรถ+รถจักรยานยนต์นี่ พ่อแม่คนไทยสมัยนี้ พอลูกเข้ามหาวิทยาลัยก็มักจะซื้อรถให้ลูก บ้างก็ว่าจำเป็น บ้างก็คิดว่าให้เป็นรางวัล แต่ละครอบครัวก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ แต่เราคิดว่าที่สำคัญพ่อแม่ควรสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบให้มากๆ รู้จักรับผิดชอบกับค่าใช้จ่าย (มีลิมิตค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำรับผิดชอบต่อสังคม (ขับรถให้ดีๆ ไม่ใช่ไปเที่ยวซิ่งปาดหน้าคนอื่น เอารถไปซิ่งแข่งตามถนนว่างๆ เวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ไม่ได้เสียหายเฉพาะตัวเอง แต่เสียหายถึงคนอื่นด้วย) นอกจากนี้แล้วที่สำคัญ “อย่าทำผิดกฎหมายและกฎจราจร”

เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับพ่อแม่ที่ให้ลูกขับรถก่อนจะมีใบขับขี่ได้ตามกฎหมาย ใครจะบอกว่าแค่ขับใกล้ๆ ขับโดยมีพ่อแม่อยู่ด้วยหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คือการทำผิดกฏหมาย ความจริงพ่อแม่ที่ไม่ต้องการจะตามใจลูก หรือต้องการจะปฏิเสธคำรบเร้าอยากจะได้รถของลูกๆ นี่เป็นคำขาดที่ดีที่สุดที่ลูกไม่มีทางปฏิเสธ >> “มันยังไม่ถึงเวลา” “มันผิดกฎหมาย”

ลูกๆ อาจจะบอกว่า เพื่อนๆ เขาก็มีกัน พ่อแม่ของ... เขายังให้... ขับรถเลย พ่อแม่ต้องยึดมั่นกับจุดยืนนี้ การทำอะไรๆ ที่ผิดกฏหมายเพราะคนอื่นเขาก็ทำกัน หรือเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นการสอนลูกโดยอัตโนมัติว่ามันโอเคที่จะทำผิดกฎหมาย ความเคยชินว่าการผิดกฏเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องโอเค ต่อไปก็ผิดเรื่องใหญ่ๆ ได้ไม่ลำบาก

๒. งานในบ้าน – สอนให้รู้จักดูแลซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ในบ้าน ดูแลรักษาให้สิ่งของต่างๆ ใช้การได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องระบบท่อน้ำ (เปลี่ยนก๊อกน้ำ เปลี่ยนสายฝักบัว) ระบบไฟฟ้า (เปลี่ยนหลอดไฟ เช็คฟิวส์ ตู้ไฟ) ระบบแอร์ (ทำความสะอาดแผ่นกรอง) เรื่องทั่วๆ ไป (เปลี่ยนกลอนประตู ติดชั้นวางของ ตัดหญ้า ฯลฯ) เป็นเรื่องที่ลูกน่าจะได้รู้ และเป็นกิจกรรมที่ดีที่พ่อแม่จะได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก สอนให้เขารู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างถูกวิธีและปลอดภัย

๓. การทำความสะอาด – สมัยนี้เรามักจะมีแม่บ้านหรือคนรับใช้คอยซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ฯลฯ แต่พ่อแม่ก็ควรสอนให้ลูกรู้วิธีทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้ารีดผ้า และควรให้ลูกรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ทำความสะอาดหรือรักษาห้องตัวเองให้มีระเบียบ กินข้าวแล้วเก็บจานให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไปไว้ในตะกร้ารอซัก ฯลฯ

๔. การจัดการ – สอนให้ลูกวิธีการเก็บเอกสารอย่างมีระเบียบ เก็บสิ่งของให้เป็นที่เป็นทาง รู้จักทำลิสต์ของสิ่งที่ต้องทำ รู้ว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่ต้องทำเป็นประจำ รู้จักจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำ และรู้จักแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม

อ่านตอนสุดท้าย สอนลูกเรื่องความสุข

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ภิกษุสันดานกา

เรื่องนี้เป็นข่าวมาพักใหญ่แล้ว แต่ก็เห็นว่ายังมีความเคลื่อนไหวอยู่ เลยเขียนถึงซะหน่อย

เราเห็นพระสงฆ์ออกมาประท้วงภาพพระที่มีปากเป็นกา (เป็นภาพวาดที่ชนะเลิศการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติประจำปี 2550 ประเภทจิตรกรรม) ว่าลบหลู่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าจะประท้วงกันทำไม ในเมื่อใครๆ ก็รับรู้ว่าทุกวันนี้ในแวดวงพระสงฆ์ (ที่บวชเป็นพระอยู่ในวัดจริงๆ นะ ไม่ใช่พระปลอมที่โกนหัว นุ่งผ้าเหลืองมาหลอกต้มชาวบ้าน) ก็มีพระที่ไม่ทำตามพระวินัยอยู่เยอะแยะมากมาย อาศัยผ้าเหลืองทำประโยชน์ให้ตัวเอง เป็นพระสันดานกาอย่างในภาพจริงๆ

เราว่าศิลปินที่วาดภาพ (อาจารย์อนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะคณะสถาปัตยกรรม สาขาวิจิตรศิลป์ ลาดกระบัง) ก็แค่ใช้ศิลปะมาสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น แทนที่พระสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพระพุทธศาสนาจะออกมาประท้วง น่าจะออกมาขอบคุณอาจารย์อนุพงษ์ ด้วยซ้ำ ที่กล้าออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่สร้างสรรค์แบบนี้ ควรยอมรับความจริงและหาทางแก้ไข หาทางกำจัดภิกษุสันดานกาให้หมดไปจากประเทศไทยจะดีกว่า

เราว่าเรื่องนี้เป็นเหมือนเรื่องแย่ๆ นิสัยแย่ๆ ที่มีอยู่ดาดดื่นในสังคมไทย เป็นเรื่องที่เรารู้ว่ามันมีอยู่จริง เห็นอยู่ทุกวัน (แต่ไม่แก้ไข... เพราะแก้ไขไม่ได้? หรือไม่คิดจะแก้?) แล้วพอมีใครจุดประเด็นขึ้นมา ก็ไปว่าเขาว่าลบหลู่ ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ไม่ให้ความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนไทยขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉา เรื่องเมืองไทยมีคอรัปชั่น โสเภณีฯลฯ

ดูเหมือนว่าพวกเรากำลังหลอกตัวเองว่า สิ่งต่างๆ ในบ้านเราเมืองเรามันจะถูกทำลายเสียหายแปดเปื้อน เพราะว่ามีคนออกมาพูดว่ามันแย่ และการที่ไม่มีคนออกมาพูดว่ามันแย่ สิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองนี้มันจะดีขึ้นเองโดยปาฏิหารย์ ถ้าเราเอาแต่จ้องจะประท้วงทุกคนที่มาวิจารณ์ปัญหาและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็ไม่น่าแปลกใจที่วันนี้เราจะต้องกลัวว่าจะตามหลังเวียดนาม หรือวันหน้าพม่าจะแซงเรา

ปล. ความจริงเรื่อง “ภิกษุสันดานกา” เนี่ย ยังดีที่หลายๆ คนก็ดูเหมือนจะยังใช้สติกันอยู่ อย่างเช่นวันก่อนเราฟังว่าอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติก็บอกว่า จะไม่งดการแสดงภาพตามที่ต่างๆ ตามที่โดนประท้วง เพราะไม่คิดว่าเป็นการลบหลู่ รวมทั้งพระพยอมกัลยาโนก็ออกมาบอกว่า เข้าใจความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ผู้ที่ถูกติเตียนควรยอมรับความจริงกันบ้าง

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550

This talk's not for you, it's is for my kids.

เราเขียนเรื่อง “บทเรียนชีวิต” ยังไม่ทันจบ แต่พอดีได้อ่านเรื่องของดร. แรนดี้ เพาส์ช (Dr. Randy Pausch) คิดว่าน่าจะเอามาเล่าให้ฟังคั่นเวลา

ดร. แรนดี้ เพาส์ชเป็นอาจารย์แผนก Computer Science มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ในวัย 46 ปีเขาเป็นโรคมะเร็งที่ตับอ่อนและหมอบอกว่าเขาคงมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่เดือน

มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนมีโครงการที่เรียกว่า “The Journey” ซึ่งเชิญอาจารย์มาเล่าเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้พบเจอและเรียนรู้ในระหว่างการเดินทางของชีวิต โครงการนี้ครั้งหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า “The Last Lecture” เพราะเขาตั้งโจทย์ให้บรรดาวิทยากรลองสมมติว่าถ้าเล็คเชอร์ครั้งนี้เป็นเล็คเชอร์ครั้งสุดท้าย พวกเขาจะพูดหรือจะบอกอะไรกับคนอื่น

เมื่อวันอังคาร (18 กันยา) ที่ผ่านมาดร. แรนดี้ เพาส์ชได้ให้เล็คเชอร์ครั้งสุดท้ายของเขาที่คาร์เนกี้เมลลอน (ต่อไปนี้เราจะเรียกแค่ แรนดี้ แทนที่จะเรียกว่า ดร. แรนดี้ หรือ ดร. เพาส์ช เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้รู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดาๆ ที่จับต้องได้มากกว่า)

ผู้ฟังกว่า 400 คนในหอประชุมได้รับรู้ตั้งแต่แรกว่าสภาพร่างกายจิตใจของแรนดี้เป็นอย่างไร (และเขาเป็นคนอย่างไร เขามองโลกอย่างไร -- สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน) ตั้งแต่ประโยคแรกๆ ของเล็คเชอร์ของเขา

“ถ้าผมไม่ได้ดูหดหู่หรือเศร้าใจเท่าที่ควร ผมต้องขอโทษด้วยที่ทำให้พวกคุณผิดหวัง” เขาบอกว่าเขาไม่ได้กำลังปฏิเสธความจริงว่าเขากำลังจะตายในไม่กี่เดือน แต่เขารู้สึกแข็งแรงดี... แข็งแรงกว่าคนส่วนใหญ่ในห้องประชุมนั้น (ว่าแล้วก็วิดพื้นโชว์ให้ดูซะหนึ่งยก)

“ถ้าใครอยากจะร้องไห้หรือรู้สึกสงสารผม ลองออกมาตรงนี้ วิดพื้นอย่างที่ผมทำเมื่อกี้นี้ แล้วถึงค่อยสงสารผม”

แรนดี้บอกว่าวันนี้เขาจะไม่พูดเรื่องมะเร็ง (เพราะเขาพูดถึงมันมามากเกินพอแล้ว) เขาจะพูดเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านั้น เขาจะไม่พูดเรื่องภรรยาหรือลูกๆ ของเขา ไม่ใช่ เพราะว่ามันไม่สำคัญ เขาบอกว่าเขารู้สึกแข็งแรงดี แต่ยังไม่ดีมากพอที่จะพูดถึงลูกและภรรยาโดยไม่ร้องไห้ สิ่งที่เขาจะพูดก็คือการไปให้ถึงความฝัน

แรนดี้เล่าให้ฟังถึงความฝันต่างๆ ในวัยเด็ก เขาอยากจะสัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เป็นนักออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ เขียนบทความลงใน World Book Encyclopedia เป็นกับตันเคิร์กในสตาร์เทร็ค

แรนดี้จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบราวน์และปริญญาเอกจากคาร์เนกี้เมลลอน ในช่วง 10 ปีที่เป็นอาจารย์ที่คาร์เนกี้เมลลอน เขาช่วยก่อตั้ง Entertainment Technology Center ซึ่งสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบวิดีโอเกมและโปรแกรม interactive ต่างๆ และเริ่มโครงการ Alice ซึ่งใช้โปรแกรม animation ในการสอนนักเรียนให้ได้เรียนวิชา computer programming ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน

แรนดี้ได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก (เพราะเด็กนักเรียนที่เขาสอนชนะประกวดโครงการ Virtual Reality เพื่อจำลองสภาพไร้น้ำหนักของ U.S. Air Force และสิ่งที่ผู้ชนะได้รับก็คือการไปสัมผัสสภาพไร้น้ำหนักจริงๆ) ได้ออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ (The Pirate of Caribbean ซึ่งเขาไปรับทำงานในระหว่างพักการสอน) ได้เขียนบทความใน World Book Encyclopedia เรื่อง Virtual Reality

แรนดี้ได้เล่นฟุตบอลแค่สมัยไฮสคูล เขาไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่สิ่งที่เขาได้จากการไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพคือ ประสบการณ์

Experience is what you get when you don't get what you want.

เขาไม่ได้เป็นกัปตันเคิร์ก แต่เขาได้เจอกับกัปตันเคิร์ก วิลเลียม แชทเนอร์ดาราที่เล่นเป็นกัปตันเคิร์กมาเยี่ยมชมแล็บของเขา (มันสุดยอดที่ได้เจอฮีโรในดวงใจสมัยเด็ก แต่มันสุดยอดกว่าถ้าเขามาหาคุณเพื่อดูผลงานที่คุณทำในแล็บ)

สิ่งต่างๆ ที่เขาได้ทำ ความฝันที่เป็นจริง หนทางไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา (เวลาฝรั่งเจออุปสรรคหรือปัญหา เขาเรียกว่าเจอ brick wall กำแพงอิฐ ขวางหน้า) แรนดี้บอกว่า กำแพงอิฐมันอยู่ตรงนั้นอย่างมีจุดประสงค์ มันทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราต้องการอะไรซักอย่างมากแค่ไหน ให้โอกาสเราได้แสดงว่าเราต้องการมันแค่ไหน เอาไว้หยุดคนที่ไม่ต้องการมันมากพอ เอาไว้หยุด “คนอื่น”

Brick walls are there for a reason. They let us prove how badly we want things. To give a chance to show how badly we want something. To stop people who don't want it badly enough. To stop the “other” people.

กำแพงอิฐหยุดแรนดี้ไม่ได้ กำแพงอิฐหยุดคนที่มุ่งมั่นและตั้งใจจริงไม่ได้

แรนดี้พูดถึงคนที่มีส่วนในความสำเร็จของเขา พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขามาอย่างดี บรรดาอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่เขาได้พบ บทเรียนอื่นๆ ที่เขาเรียนรู้และอยากบอกกับคนอื่นมีทั้ง... ต้องสนุกกับการทำงาน, ต้องทำงานหนัก (เคล็ด “ลับ” ของความสำเร็จ!!), รู้จักรับฟังคนอื่น (โดยเฉพาะคำติ ต้องยอมเปิดใจรับ และนำไปปรับปรุง), การจะได้รับความเคารพจากคนอื่น เราต้องเขาเคารพเขาก่อน, การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ฯลฯ

เราต้องขอบอกว่าเล็คเชอร์ยาว 1 ชั่วโมงกว่าๆ เป็นหนึ่งในเล็คเชอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยฟังมา แรนดี้ปล่อยมุขตลกขำๆ ไปพร้อมกับการบอกเล่าความคิดลึกซึ้งที่เขาได้จากการเดินทางของชีวิตเขา จนเราแทบไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือการเล็คเชอร์ของคนที่มีลูก 3 คน ที่กำลังจะตายในไม่กี่เดือน... จะตายก่อนที่จะได้เห็นลูกตัวเองจบชั้นประถม (ลูกชายคนโตของเขาอายุ 5 ขวบ) มันน่าอัศจรรย์มากที่เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของได้แบบนั้น

เราได้อ่านในบทความที่เขียนถึงเล็คเชอร์ของเขาใน Pittsburgh Post-Gazette แรนดี้บอกว่า เขายังมองโลกในแง่ดีอยู่มาก เวลาเดียวที่เขาจะร้องไห้ก็คือเวลาที่เขาคิดถึงลูกๆ ของเขา ไม่ใช่เพราะว่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูลูกๆ ทำโน่นทำนี่เป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สำเร็จ เสียใจที่ไม่ได้อยู่เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ และเสียใจเขาจากไปโดยทิ้งภาระอันยิ่งใหญ่ไว้กับภรรยาของเขา

ตอนท้ายแรนดี้บอกว่าเล็คเชอร์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับ “การไปให้ถึงความฝัน” แต่มันเกี่ยวกับว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร ถ้าเราดำเนินชีวิตของเรา “อย่างถูกต้อง” กรรมจะเป็นตัวพาเราไปหาความฝันของเราเอง

ประโยคสุดท้ายที่เขาพูดกับผู้ฟังในหอประชุมคือ “การพูดครั้งนี้ไม่ใช่สำหรับพวกคุณหรอกนะ... แต่การพูดนี้สำหรับลูกๆ ของผมต่างหาก”

ปล. เล็คเชอร์ของแรนดี้ เพาส์ชออกอากาศในรายการ Good Morning America เมื่อวันที่ 21 กันยายน เว็บ Wall Street Journal ทำรายงานข่าวเรื่องเล็คเชอร์นี้ เป็นวิดีโอคลิปยาว 4 นาทีกว่าๆ ลองกดฟังได้ข้างล่าง


วิดีโอของเล็คเชอร์ฉบับเต็มมีให้ฟังที่ CMU ยาว 1 ชั่วโมง 45 นาที มีคนอื่นๆ ที่ร่วมงานกับแรนดี้มาพูด รวมทั้งการประกาศสร้างสะพานคนเดินเชื่อมตึกระหว่าง Gates Computer Sciences Building กับ Purnell Center for the Arts เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับแรนดี้ สะพานนี้จะเรียกว่า Randy Pausch Memorial Footbridge เป็นสัญลักษณ์ของผลงานของแรนดี้ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน

ปล. 2 ก่อนที่จะได้ฟังเล็คเชอร์ฉบับเต็ม เรานึกว่าจะมีสคริปท์ ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยมาแบ่งกันอ่าน (เหมือนที่มีหลายๆ คนแปลสุนทรพจน์ของบิล เกทส์ หรือสตีฟ จ็อบส์) แต่พอไปฟังแล้วถึงรู้ว่าทำไมไม่มีสคริปท์ ก็อย่างที่บอกไปว่ายาวตั้งชั่วโมงกว่า ถ้ามีสคริปท์ก็ไม่รู้จะยาวเท่าไหร่ และถ้าเราแปลจริงไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ แถมเราก็ฟังแบบกระพร่องกระแพร่งเต็มที เพราะฟังไปทำงานไป จับรายละเอียดไม่ได้หมดเวลาที่เขาพูดถึงคนโน้นคนนี้ เราตั้งใจว่าจะไปฟังใหม่อีกรอบ (หรือหลายๆ รอบ) แต่ต้องหาจังหวะเหมาะๆ เพราะเขาทำเป็น streaming video ถ้าเน็ทช้าก็จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจะหาวิธีดาวน์โหลดไฟล์มาเก็บที่เครื่องก็ทำไม่เป็น -_-

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๔

วันนี้มาต่อตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม ในบทความต้นฉบับเขาเขียนเรื่องนี้ไว้ ๕ หัวข้อ แต่เราเอามารวบให้เหลือ ๓ หัวข้อซะงั้น :P ที่จริงจะสรุปให้สั้นกว่านี้อีกก็ได้ สรุปเหลือข้อเดียวว่า เป็นการสอนให้ลูกรู้จักคิดถึงคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว (เราเคยดูรายการ “ดิ ไอคอน ปรากฏการณ์คน” วันที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาออกรายการ ท่านบอกว่า “การมีศีลธรรม หมายถึง การคิดถึงคนอื่นก่อนคิดถึงตัวเอง ทำเพื่อคนอื่นก่อนทำเพื่อตัวเอง” สั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความดีแท้ๆ)

สอนลูกเรื่องสังคม

๑. ต่อต้านการแข่งขันชิงดีชิงเด่น – ตอนเป็นเด็กเราถูกสอนให้แข่งขันกับคนอื่น ในโลกของผู้ใหญ่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกัน และผลลัพธ์ก็คือการหักหลังกัน การแทงข้างหลัง ความขุ่นข้องหมองใจ และความรู้สึกเลวร้ายอื่นๆ ในทำนองนั้น

แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกแข่งขัน ควรสอนเขาว่ามีที่ว่างสำหรับทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เขาไม่จำเป็นต้องชนะคนอื่นเพื่อเป็นคนเดียวที่ประสบความสำเร็จ สอนให้เขารู้ว่าถ้าเขารู้จักช่วยเหลือคนอื่น ตัวเขาเองจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะคนอื่นก็จะเต็มใจช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทน สอนให้เขารู้ว่าการสร้างพันธมิตรดีกว่าการสร้างศัตรู สอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือเกื้อกูลและทำงานเป็นทีมก่อนจะให้สอนให้เขารู้จักการแข่งขัน

นอกจากการแข่งขันเพื่อเอาชนะแล้ว เราอยากจะเห็นสังคมไทยปราศจากความอิจฉาริษยาและหมั่นไส้คนอื่น ความอิจฉา คือ ความไม่พอใจที่เห็นคนอื่นดีกว่าเรา โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงดีกว่าเรา

พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูก ถ้าพ่อแม่ยังเห็นคนข้างบ้านดีกว่าแล้วอิจฉา ยังเห็นเพื่อนร่วมงานก้าวหน้ากว่าแล้วอิจฉา เห็นลูกคนอื่นเรียนเก่งกว่าแล้วอิจฉา ลูกก็จะติดนิสัยนั้นมาด้วย เวลาที่เห็นคนอื่นดีกว่า พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกดูว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะดีเหมือนเขาได้ มีอะไรที่เขาทำแล้วเรายังไม่ได้ทำ ควรเปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นแรงผลักดัน/แรงบันดาลใจ

๒. ความรักและความมีเมตตา – ความมีเมตตา คือการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจในความทุกข์ยากของคนอื่น และพยายามช่วยให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์หรือความลำบาก ความรักเป็นสิ่งที่คู่กับความมีเมตตา แต่ความรักต่างจากความเมตตาตรงที่ ถ้าเรามีความเมตตาต่อผู้อื่น เราไม่อยากเห็นเขามีความทุกข์ยาก เราจะพยายามช่วยกำจัดความทุกข์ยากออกไป ถ้าเรามีความรักต่อผู้อื่น เราจะอยากเห็นเขามีความสุขด้วย เราจะรู้สึกยินดีที่เขามีความสุข

๓. การรับฟังคนอื่นและการสนทนา – ในโรงเรียนมักจะไม่สอนให้เด็กรับฟังอื่น เมื่อเด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีทักษะของการรับฟังคนอื่น สังคมก็วุ่นวาย เพราะมีแต่คนพูดๆๆ แต่ไม่มีคนฟัง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักรับฟังคนอื่นอย่างจริงจังตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก และเข้าใจความรู้สึกของคนพูด

การสนทนาเป็นสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ได้กับการรับฟังคนอื่น และเช่นเดียวกันโรงเรียนไม่ได้ก็สอนศิลปะในการสนทนา เด็กๆ ถูกสอนว่าการสนทนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ คือ การสนทนา ไม่ใช่ การเล็คเชอร์ พ่อแม่จะต้องสอนทักษะของการสนทนา (ซึ่งหมายถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน) โดยการกระทำ เมื่ออยู่ในบ้านพ่อแม่ควรพยายามพูดคุยกับลูกๆ แทนที่จะบอกหรือสั่งให้พวกเขาทำอะไรๆ

อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

คลายเครียด

โพสต์เรื่องหนักๆ มาหลายตอน มาคลายเครียดด้วยการ์ตูนกันดีกว่า :)

ช่วงที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าภาษาอังกฤษเราชักจะฝืดๆ เต็มที ก็เลยตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทุกวัน ก็เลยหยิบนสพ.ที่บริษัทกลับบ้านไปทุกเย็น (ฝึกภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องลงทุน) ผ่านไป ๑ สัปดาห์อ่านยังอ่านฉบับแรกที่หยิบกลับไปไม่จบ ก็เลยเปลี่ยนเป็นหยิบเฉพาะฉบับวันอาทิตย์ (เพราะมีสกูปพิเศษเยอะดี)

แต่ฉบับวันอาทิตย์ฉบับเดียวอ่านไป ๑ สัปดาห์ก็ยังไม่จบ สุดท้ายเราก็เลยหยิบแค่ Section Outlook กลับบ้านไป อ่านได้สัปดาห์ละ ๒-๓ คอลัมน์ (กับ Section การ์ตูน) เล่น Sudoku กับ Crossword (กลัวเป็นอัลไซเมอร์ เลยต้องพยายามเล่นเกมกระตุ้นสมอง)

การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์จะมีหลายช่องกว่าวันธรรมดา บางทีเราอ่านแล้วก็ไม่เก็ทว่ามันขำยังไง อย่างอันที่เอามาโพสต์นี่ ผ่านไป ๒ อาทิตย์ถึงนึกได้ว่าต้องการจะสื่ออะไร (เวรกรรม!) เพราะเพิ่งสังเกตเห็นว่าอีตาหนุ่มเสื้อฟ้าขยับปาก... :P


(Comic strip จาก Monty วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ - คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่กว่านี้)

ปล. ถ้าใครไม่เก็ท จะให้ช่วยเฉลยมุขก็บอกได้นะ :)

บทเรียนชีวิต ๓

ตอนต่อของต่อเรื่องบทเรียนที่พ่อแม่ควรสอนลูก (เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน) หลังจากตอนแรก สอนลูกเรื่องการเงิน และตอนที่สอง สอนลูกเรื่องการคิด วันนี้มาตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ หัวข้อเหล่านี้เป็นสิ่งพ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก เพื่อช่วยให้เขาประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตเมื่อเขาโตขึ้น

สอนลูกเรื่องความสำเร็จ

๑. การคิดบวก – ในขณะที่การคิดแบบวิเคราะห์เป็นทักษะที่สำคัญมาก แต่การมองโลกในทางบวกก็สำคัญมากเช่นกัน แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ ในโลกอาจจะเลวร้าย ชีวิตอาจจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ สอนให้ลูกพยายามหาทางแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่น่าพึงพอใจ แทนที่จะเอาเวลาไปบ่นคร่ำครวญ

สอนให้เขารู้ว่าบางครั้งก็มีปัญหาบางอย่างที่ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ไขได้ (แต่ก่อนอื่นเขาจะต้องได้พยายามคิดแก้ไขปัญหานั้นอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้) เขาก็ควรจะรู้จักปล่อยวางและยอมรับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และกำจัดความคิดในทางลบเกี่ยวกับตัวเองออกไป

๒. แรงจูงใจ – สอนให้ลูกรู้ว่า กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ ความมีวินัยเพียงอย่างเดียว แต่ แรงจูงใจ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่ควรสอนให้เขารู้จักสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกดีๆ ที่จะได้รับเมื่อเขาสามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ลองสอนให้ลูกเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่สามารถทำสำเร็จได้ไม่ยาก แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่สิ่งที่ยากและท้าทายความสามารถมากขึ้น

เรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้มีอยู่น้อยมากๆ เราไม่ค่อยเห็นว่าเด็กสมัยนี้จะอยากทำอะไร (ที่ไม่ใช่เพื่อความบันเทิง) ถ้าไม่มีใครมาบอกหรือสั่งให้ทำ และกระทั่งมีคนบอกหรือสั่งให้ทำแล้ว ก็ยังต้องคอยชักจูงชี้นำตลอดเวลา ในความรู้สึกเราพ่อแม่สมัยนี้ กำลังเลี้ยงลูกเหมือนเป็นเด็กพิการ ต้องคอยปกป้องดูแล ตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้ พ่อแม่อาจจะลืมนึกไปว่า ลูกต้องโตขึ้น พ่อแม่ต้องแก่ตัวลง ไม่สามารถจะอยู่ปกป้องดูแลลูกไปได้ตลอดชีวิต พ่อแม่น่าจะให้เขาได้เผชิญอุปสรรคและความยากลำบากในขณะที่พ่อแม่ยังอยู่คอยช่วยชี้นำเขาได้ ให้เขามีโอกาสได้ฝึกหัด เพื่อที่เขาจะได้พร้อมรับมือกับปัญหาในเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว

๓. นิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง – นี่เป็นปัญหาที่เราแทบทุกคนต้องเจอในฐานะผู้ใหญ่ เพราะแน่นอนว่าย่อมมีบางเวลาที่เราไม่อยากทำงาน รู้สึกเกียจคร้าน ไม่อยากทำงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ อยากจะทำแต่เรื่องสนุกสนาน แต่เราทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ พ่อแม่ควรจะสอนให้เขารู้ว่าจะบังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ได้อย่างไร อธิบายให้เขาเข้าใจต้นเหตุและผลที่จะตามมาของการผลัดวันประกันพรุ่ง และวิธีการแก้ไข

เรื่องที่ควรจะฝึกตั้งแต่เล็กๆ คือ ความรับผิดชอบในการเรียน (การทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ) การแบ่งเวลาระหว่างเรื่องที่เป็นหน้าที่กับเรื่องที่เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานบันเทิง (การเล่นเกมส์ อ่านหนังสือการ์ตูน ดูทีวี หรือเล่นกีฬา) ต้องให้ลูกรู้จักจัดการเวลาอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยปละละเลยจนสายเกินไป (อย่าปล่อยให้ลูกเล่นเกมส์หรือดูทีวีจนดึก ทำให้ไม่ได้ทำการบ้านหรือนอนตื่นสายไปโรงเรียนสาย ฯลฯ)

๔. ความรักและศรัทธาอย่างแรงกล้า – หนึ่งในวิธีที่จะประสบความสำเร็จคือ การค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะทำ และทำให้มันเป็นสิ่งที่สามารถเลี้ยงชีพได้ ลูกของคุณอาจจะยังไม่รู้ว่าเขารักที่จะทำอะไรตอนที่เขายังอายุน้อยๆ แต่พ่อแม่ต้องให้โอกาสเขาได้ค้นหาสิ่งที่เขาอยากจะทำ และวิธีที่จะสามารถก้าวไปตามความรักและความฝันของเขาได้

ในบทความต้นฉบับเขาเขียนเรื่องความสำเร็จไว้แค่นี้ แต่เราอยากจะเสริมเรื่อง “ความอดทน” และ “การทำงานหนัก” ไว้ด้วย

สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบความสบาย ชอบของฟรี ชอบของที่ได้มาง่ายๆ เวลาที่เราบอกเล่าเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จ เราไม่ค่อยเน้นถึง “หนทาง” ที่แต่ละคนต้องฝ่าฟัน แต่เน้น “ปลายทาง” คือ ความสะดวกสบายหลังจากประสบสำเร็จแล้ว ทำให้ใครๆ ก็อยากจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หลายๆ คนก็พยายามจะหาเคล็ดลับของความสำเร็จ และหวังว่ามันจะต้องเป็นเคล็ดลับที่ง่ายๆ สบายๆ ด้วย

เราว่าความสำเร็จไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ความจริงที่ชัดเจน คือ ต้องมีความอดทน และทำงานหนัก แต่คนมักไม่อยากจะยอมรับความจริงแบบนี้ เพราะมันเหนื่อย มันลำบาก มีแต่คนที่อยากจะประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำ ไม่ต้องทุ่มเท ไม่ต้องอดทน

คนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม อยู่นับครั้งไม่ถ้วน การมีแรงจูงใจ การมีความรักอย่างแรงกล้าในสิ่งที่จะทำ การคิดบวก อาจจะช่วยเรามีแรงที่จะล้มแล้วลุกได้หลายๆ ครั้ง แต่คำตอบสุดท้ายของการไปสู่ความสำเร็จก็คือ ต้องอดทนและทำงานหนัก

อ่านต่อ ตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๒

ต่อจากตอนที่แล้ว วันนี้มาว่ากันเรื่อง การคิด

สอนลูกเรื่องการคิด

๑. การคิดแบบวิเคราะห์ – เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนไม่ได้สอน ทุกวันนี้เราถูกสอนให้เป็นหุ่นยนต์ ถูกสอนให้ฟังครูโดยไม่ตั้งคำถาม ถูกสอนให้ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นบอกโดยไม่ต้องคิดมาก ถูกสอนให้เป็นลูกจ้างที่ดีและหุบปากเอาไว้ ถ้าคุณเป็นนายจ้างคุณอาจจะอยากได้ลูกจ้างแบบนี้ และถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณก็อาจจะอยากให้ประชาชนเป็นแบบนี้ แต่คุณอยากให้ลูกของคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ให้เขาเป็นเด็กนักเรียน/ลูกจ้าง/ประชาชนที่ไม่รู้จักตั้งคำถาม พาซื่อ ไม่รู้ทันโลก ถ้าคุณคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าไม่ใช่ คุณต้องหัดให้เขาเป็นคนช่างสงสัย ให้เขารู้จักถามว่า “ทำไม” จนเป็นนิสัย และสอนให้เขารู้จักค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง สอนให้เขารู้จักตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว

ในการสอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์รู้จักตั้งคำถาม พ่อแม่เองต้องเปิดใจกว้างกับความคิดและเหตุผลของลูก ในการกระตุ้นให้กล้าท้าทายอำนาจเหนือกว่าพ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะโดนท้าทายความคิดด้วยเช่นกัน ต้องสอนให้รู้จักกล้าแสดงความคิดเห็นโดยใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ต้องมั่นใจในตัวเองแต่ไม่ก้าวร้าว เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สอนให้เขายึดมั่นคุณธรรมและความถูกต้อง

๒. การอ่าน - แน่นอนว่าพวกเราถูกสอนให้อ่าน แต่โรงเรียนมักทำให้การอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ เราควรสอนให้ลูกรู้จักความอัศจรรย์แห่งโลกจินตนาการ สอนให้เขาได้เรียนรู้และเติบโตจากการอ่าน สอนวิธีค้นหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต และให้เขารู้จักประเมินความน่าเชื่อถือ ใช้เหตุผล และชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงของสิ่งที่เขาได้อ่าน

การอ่านกับการคิดแบบวิเคราะห์เป็นทักษะที่แยกออกจากกันไม่ได้ การอ่านเยอะๆ เป็นการสะสมข้อมูลให้เราสามารถคิดแบบวิเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้การคิดแบบวิเคราะห์ในการอ่านเรื่องต่างๆ ทั้งสองทักษะควรใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ (อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ, อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน)

ในบทความต้นฉบับเขาพูดเรื่องการคิดไว้แค่ ๒ อย่าง แต่ความที่เพิ่งจะอ่านเจอกระทู้ในพันทิป เรื่องที่มีคนบ่นว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่มีความรู้แต่ไม่มีความคิด (หรือไม่มีความสามารถในการคิดที่จะเอาความรู้มาประยุกต์ใช้) เขาพบว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องรอให้คนมาบอกว่าจะทำอะไรอย่างไร เราว่าตรงนี้ก็เป็นส่วนที่น่าจะเสริมเข้าไปในการสอนให้ลูกรู้จักการคิดแบบวิเคราะห์ด้วยเหมือนกัน

นั่นคือ พ่อแม่ควรจะต้องสอดแทรกเรื่องของการประยุกต์ความรู้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันเข้าไปด้วย แต่หลายๆ คนก็อาจจะแย้งว่ามีหลายๆ วิชา (เช่น คณิตศาสตร์ยากๆ หรือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ที่ตัวเองเรียนไป ก็ไม่เห็นจะได้เอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของเราก็คือ มีบางอาชีพที่จะต้องใช้ความรู้ตรงนั้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ เราเรียนไปเพราะเรายังไม่รู้ว่าเราจะไปเป็นคนพวกนั้นหรือเปล่าในอนาคต เพราะฉะนั้นก็เรียนไว้ก่อน

แต่ถ้าเจอลูกย้อนกลับมาว่า มั่นใจว่าคงไม่ได้มีอาชีพที่ต้องใช้วิชาเหล่านั้นแหงๆ แล้วจะเรียนไปทำไม ก็ตอบ(กำปั้นทุบดินอีกที)ไปว่า หลายๆ ครั้งเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ไม่ต้องการทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบ มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะนักเรียน เป็นการฝึกตนเองเพื่อสร้างวินัยเพื่อให้เราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญที่มีความรับผิดชอบ :)

ส่วนในเรื่องที่บ่นกันว่าเด็กสมัยนี้ต้องให้มีคนคอยบอกตลอดเวลาว่าต้องทำอะไรอย่างไร เราคิดว่าเป็นผลมาจากการที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกได้มีโอกาสฝึกการคิดแบบวิเคราะห์ แต่สอนให้ลูกเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งอาจจะเป็นการทำไปแบบไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าลูกเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่วางแผนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว คอยแก้ปัญหาให้หมดทุกอย่าง ลูกก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย การจะที่ลูกจะสามารถคิดอะไรๆ เองได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยบอก พ่อแม่ต้องมีเรื่องให้เขารับผิดชอบบ้าง ให้เขาได้เผชิญปัญหา และแก้ปัญหาเอง บางครั้งพ่อแม่ต้องทนที่จะเห็นลูกล้มเหลว ผิดหวัง ลำบากบ้าง เพราะนั่นคือชีวิตจริงที่ลูกจะต้องเจอเมื่อเขาโตขึ้น

อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๑

เราไปอ่านเจอบทความเรื่อง “๒๗ ทักษะที่ลูกควรรู้แต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน” (27 Skills Your Child Needs to Know that She's Not Getting In School) จากบล็อก The Best Article Everyday

เราว่าพ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกแบบทุ่มเทจัดการชีวิตให้หมดทุกอย่าง ลูกไม่ต้องรับผิดชอบไม่ต้องเอาใจใส่เรื่องอะไรเลยจนกว่าจะเรียนจบ ทำให้เด็กสมัยนี้เคยชินกับการมีคนทำอะไรให้ทุกอย่าง พ่อแม่กลัวลูกลำบาก กลายเป็นพ่อแม่สอนให้ลูกเป็นคนรักสบาย โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ได้มาฟรีๆ พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ให้ความรับผิดชอบที่เหมาะกับวัยของเขา ไม่ใช่รอให้เรียนจบมหาวิทยาลัยหรืออายุ ๒๕ ปี แล้วเพิ่งมานึกได้ว่าถึงเวลาลูกต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว

เด็กต้องค่อยๆ เติบโต ไม่ใช่นอนหลับไปแล้วพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เลย เด็กที่ไม่เคยทำอะไรมาเลยตลอดชีวิต เรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องเริ่มทำงานหาเงิน ต้องเริ่มรับผิดชอบตัวเอง ก็ไม่พร้อมที่จะทำ บางคนก็ดิ้นรนทำไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่บางคนไม่มีความอดทน-ไม่มีความรับผิดชอบมากพอ ก็ซื้อเวลาโดยการไปเรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอก หรือกลายเป็นคนจับจด กลายเป็นคนล้มเหลว ฯลฯ

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไปมุ่งมั่นที่ตระเตรียมสิ่งของทางวัตถุให้กับลูก แล้วก็โยนเรื่องสำคัญๆ อย่างการ “สอนลูกให้เป็นคน” ไปให้ครู โยนเรื่องการ “ดูแลปกป้องลูก” ให้กับรัฐ แต่ความจริงก็คือพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก อบรมสั่งสอนโดยการทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นคนที่จะต้องสอนบทเรียนชีวิตต่างๆ ให้ลูก พ่อแม่ดำเนินชีวิตอย่างไร ลูกก็ทำตามอย่างนั้น

ในบทความที่เราอ่านเจอ เขาแบ่งทักษะที่พ่อแม่ควรจะสอนลูก (เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน) ออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ การเงิน การคิด ความสำเร็จ สังคม เรื่องในชีวิตประจำวัน และความสุข

เราว่าอ่านดูแล้วก็น่าสนใจดี หลายๆ ข้อเป็นลักษณะนิสัยที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้กับลูก แต่หลายๆ ข้อก็เป็นแค่เรื่องที่พวกเขาจะต้องทำเวลาที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ คนเขียนก็แนะนำเหมือนที่เราเขียนไปข้างบนว่า การสอนเรื่องเหล่านี้ให้ลูก ไม่ใช่สอนเขาโดยการบอกการสั่งหรืออ้างตำรา แต่พ่อแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างให้กับลูก ควรจะพูดคุยกับเขา และให้เขาได้ทดลองลงมือทำจริงๆ

เราเอาหัวข้อกับแนวความคิดที่เขาเขียนมา บางทีก็เพิ่มเติมความเห็นของเราเข้าไป บางทีก็ตัดส่วนที่เราไม่เห็นด้วย หรือส่วนที่ไม่น่าจะเข้ากันได้กับวัฒธรรมไทยออกไป วันนี้ว่ากันเรื่อง “การเงิน” แล้วจะค่อยๆ ทยอยเขียนเรื่องอื่นต่อไป ใครที่อยากจะอ่านต้นฉบับจริง ก็คลิกตามลิงก์ข้างบนไปอ่านได้เลย (อ่านต้นฉบับอาจจะดีกว่า เพราะคนเขียนน่าจะมีและวุฒิภาวะมากกว่าเรา และอคติน้อยกว่าเรา :P)

สอนลูกเรื่องการเงิน
๑. การออม – กฎง่ายๆ คือ “ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้” แต่กระทั่งผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ไม่เข้าใจกฎนี้ หรือเข้าใจแต่ทำไม่ได้ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักเก็บเงินค่าขนมหรือเงินที่หามาได้ส่วนหนึ่งไว้ในธนาคารตั้งแต่ยังเล็กๆ สอนให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออม ต้องออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย ก่อนที่จะเอาเงินไปใช้หรือซื้ออะไรที่เขาอยากได้

๒. การทำบัญชีรายรับรายจ่าย – กระทั่งพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังลำบากและทุกข์ใจกับเรื่องนี้ เพราะเราขาดความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการทำให้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องง่าย พ่อแม่อาจจะรอให้ลูกเข้าสู่วัยรุ่นก่อนแล้วค่อยสอนเรื่องนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องดี เพราะมันจะแสดงให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมคณิตศาสตร์พื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เราอาจจะไม่ต้องคาดหวังให้ลูกบันทึกรายรับรายจ่ายทุกบาททุกสตางค์ แต่อย่างน้อยจะต้องให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าตัวเองจับจ่ายใช้สอยเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง ใช้จ่ายในเรื่องที่สมควรหรือไม่ ใช้จ่ายเกินตัวหรือเปล่า พ่อแม่น่าจะได้อาศัยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยในการใช้เงินให้กับลูก

๓. การชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ – ลองเอาใบเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในบ้านให้ลูกไปชำระ และบอกให้เขาจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด สมัยนี้อาจจะสอนลูกทั้งการจ่ายเงินจริงๆ หรือชำระเงินออนไลน์ สอนให้เขารู้จักเทคนิคที่จะช่วยให้ชำระเงินค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลา เช่น พยายามจ่ายเงินทันทีที่ได้รับใบเรียกเก็บเงิน หรือใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติ การหัดให้ลูกไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังอาจจะช่วยให้ลูกได้รู้คุณค่าของเงิน และเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ

๔. การลงทุน – พ่อแม่สมัยนี้มักสอนให้ลูกใช้เงินก่อนสอนให้ลูกหาเงิน สอนให้เขารู้ว่าการลงทุนคืออะไรและสำคัญอย่างไร ให้เขาเรียนรู้ว่าลงทุนอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง สอนให้เขารู้จักหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ให้รู้ว่าการลงทุนทำให้เงินงอกเงยขึ้นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเริ่มสอนลูกในช่วงวัยรุ่น

๕. หนี้และบัตรเครดิต - เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่หลวงสำหรับผู้ใหญ่จำนวนมาก พ่อแม่ควรสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบการเงินของตัวเอง อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็อย่ามีหนี้เกินตัว สอนให้เขารู้จักข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต รู้จักใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ

๖. การเกษียณ – คำถามที่คนมักจะถกเถียงกันคือ “เราควรจะทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพี่อเก็บเงินก้อนใหญ่ตามเป้าหมายแล้วเกษียณ หรือจะทำงานและหยุดพักเป็นช่วงๆ” นี่เป็นเรื่องที่แต่คนจะเลือกตามความพอใจ แต่พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้และเข้าใจทางเลือกเหล่านี้ เข้าใจว่าแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอะไร พวกเขาควรเรียนรู้ว่าทำไมการลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่ยังหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญ สามารถคำนวณความแตกต่างของดอกผลที่จะงอกเงยขึ้นจากดอกเบี้ยทบต้น

๗. การบริจาคเพื่อการกุศล – สอนให้เขารู้จักการแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อการกุศล และพยายามทำให้เขารู้จักบริจาคเป็นนิสัย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความรับผิดชอบในทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พ่อแม่ต้องน่าจะสอนให้เขารู้จักเสียสละทั้งเวลาและเงินทองเพื่อการกุศล

อ่านต่อ ตอนที่ ๒ สอนลูกเรื่องการคิด
อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ
อ่านต่อ ตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม
อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องในชีวิตประจำวัน
อ่านต่อ ตอนที่ ๖ (จบ) สอนลูกเรื่องความสุข

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ดูแลสุขภาพ

เมื่อคืนดูรายการตาสว่าง เขาเชิญอาจารย์ สาทิสอินทรกำแหง ที่ทำเกี่ยวกับพวกชีวจิตมาออกรายการ พร้อมกับผู้ร่วมรายการอีก 3 คนที่เป็นมะเร็งที่รักษากับอจ.ด้วยแนวทางชีวจิตแล้วหาย

คนหนึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกว่าก่อนรักษาแบบชีวจิต ทำคีโมไป 2 คอร์ส คอร์สแรกทำเสร็จ (8 ครั้ง) คอร์สที่สองทำได้ถึงครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 นี่แหละ แล้วก็ไม่ทำต่อ เขาบอกว่า ตอนนั้นร่างกายอ่อนแอมากๆ รู้ตัวเลยว่าถ้าทำอีกครั้งต้องตายแน่ๆ เพราะคีโมฆ่าทั้งเซลล์มะเร็ง และฆ่าเขาด้วย

เขาบอกว่าหมอพูดกับเขาว่า “ถ้าคุณมีเรื่องอะไรสำคัญๆ ก็ให้รีบทำนะ” เขาได้ยินแล้วก็นึกในใจว่า “เฮ้ย... แบบนี้มันตายชัดๆ” ก็เลยเลิกคีโม แล้วหันไปหาชีวจิต ตอนนี้อยู่มาได้ 2 ปีกว่าๆ แล้ว เขาไม่ได้ไปตรวจนับเซลล์มะเร็งต่อ แต่รู้สึกสบายดีมากๆ ต่างจากตอนที่ทำคีโมมาก ตอนนั้นทั้งอ่อนแอ ทั้งทุกข์ทรมานจนนึกว่าไม่กลัวตายแล้ว (เพราะตายน่าจะสบายกว่า) ร่างกายแข็งแรงดี สามารถวิ่งมินิมาราธอน 10 กม. ได้สบายๆ

อีกคนหนึ่งเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผ่าตัดออก แล้วต่อมาตรวจเจอว่าว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก ก็ตัดออกแล้วหันมารักษาแบบชีวจิต เขาบอกว่าตอนแรกหมอก็จะให้รักษาโดยทำคีโมเหมือนกัน แต่ลูกๆ บอกว่าไม่ยอม ให้ลองไปรักษาทางชีวจิตดีกว่า สุดท้ายก็หาย อีกคนเป็นมะเร็งที่ลิ้น ตรวจเจอเร็ว ก็รักษาได้ (คนนี้เราไม่ค่อยได้ฟังเขาเล่า เพราะเปลี่ยนช่องกลับไปกลับมา ไม่รู้มากกว่าเขารักษายังไง)

ในรายการเขาไม่ได้คุยลงไปในรายละเอียดการรักษามากนักว่า แต่ละคนต้องทำอะไรบ้าง หรือต้องอึดทนแค่ไหน กว่าจะผ่านวันร้ายๆ กว่าจะหายดีและมีสุขภาพดีแบบนี้ได้ แต่เรามั่นใจว่าคงไม่ง่ายๆ เหมือนการรักษาแผนปัจจุบันที่ใช้ผ่าตัด ให้คีโม ฉายรังสี เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและพฤติกรรม ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง - จากหลังเท้าเป็นหน้ามือเลยก็ว่าได้ - แต่เราคิดว่านี่ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ - ถ้าคิดว่าร่างกายและสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต สำคัญมากกว่า เงินทอง ชื่อเสียง ความสุขสบายต่างๆ - คนที่ป่วยน่าจะยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจลงมือทำ อจ.สาทิสเองก็บอกว่า มันก็ไม่ได้ง่าย ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ หรอก

ถึงเราจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกินน้ำอาร์ซี การทำดีท็อกซ์ รำกระบอง ที่ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จที่เขาแนะนำให้กับคนที่จะใช้แนวทางชีวจิต (ถามว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย เราก็ตอบไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดจริงๆ ว่าเขาทำอะไรยังไง เอาเป็นว่าเป็นความไม่ค่อยเห็นด้วยอันเนื่องมาจากอคติและความโง่เขลาส่วนตัว) แต่คำแนะนำในการดูแลตัวเองที่เขาใช้คีย์เวิร์ดช่วยจำง่ายๆ ว่า “5 เล็ก” กับ “5 ใหญ่” ก็น่าจะเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเรา และช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้ในระดับหนึ่ง เขาแนะนำไว้แบบนี้

5 เล็ก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราเอง ร่างกายของเราเอง คือ 1. การกิน - กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 2. การนอน - นอนหลับให้สนิท และนอนให้เพียงพอ 3. การทำงาน - ทำงานอย่าเครียด ถ้างานที่เครียด ไม่สนุก ก็ต้องพยายาม มองหามุมมองดีๆ ในงานนั้นๆ จะทำให้ทำงานอย่างมีความสุข 4. พักผ่อน อันนี้ก็คือ เพื่อลดความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงาน บางคนอาจคิดว่าต้องเสียเงินเสียทอง ไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัด ต่างประเทศ อันนั้นอาจจะดีต่อความคิดและจิตใจ แต่ถ้าจะให้ดีต่อร่างกาย การพักผ่อนง่ายๆ คือ การหายใจให้เต็มปอด ยืดตัวตรง หลังตรง หายใจถูกวิธี ร่างกายจะมีแรง 5. การออกกำลังกาย - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรให้เหงื่อออกและชีพจรเต้น 120 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เพราะร่างกายจะหลั่งเอ็นดอร์ฟิน และ “โกรธ” ฮอร์โมนออกมา (ไม่ใช่ ฮอร์โมนความโกรธนะ แต่เป็น growth ตะหาก) ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีกำลัง

5 ใหญ่ เป็นเรื่องภายนอก เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา คือ 1. ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ 2. ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอดี 3. ใช้ชีวิตอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรักกันอย่างพี่น้อง 4. สร้างความเป็นเลิศทางสุขภาพ (หมายถึง ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่ใช่อยากจะแข็งแรงดี ไม่มีโรค แต่ก็ปล่อยไปตามยถากรรม อยากกินอะไรก็กิน ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ) 5. ใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน (อันนี้เพื่อให้เกิดความผาสุกในบ้านเมืองและประเทศชาติ)

เราว่า ถ้าทุกคนพยายามทำ 5 เล็กได้ เราจะมีประชากรที่มีสุขภาพดี ลดปริมาณเงินทองหรืองบประมาณรัฐที่จะต้องเอาไปใช้รักษาคนป่วย และถ้าทุกคนทำ 5 ใหญ่ให้ได้ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขมวลรวมสูงมากๆ

ทีนี้โยงจากเรื่องข้างบนอีกหน่อย พอดีช่วงนี้เป็นช่วงตรวจสุขภาพประจำปีที่บริษัทของเรา คนส่วนใหญ่ไปตรวจแล้วก็ไม่ได้อยู่รอฟังผลตรวจ พอประมาณสัปดาห์หนึ่งเขาก็จะส่งรายงานผลมาให้ที่บริษัท บางคนก็อ่านผลเข้าใจ แต่บางคนก็ไม่รู้เรื่องเลย เรื่องความดัน น้ำตาล โคเลสเตอรอล ฯลฯ แบบนี้บางทีตรวจร่างกายมาแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลคุ้มค่าเท่าไหร่ สักแต่ว่าไปตรวจแล้วก็ได้รายงานเป็นเล่มๆ มา

พอดีวันนี้เราได้ฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องการดูแลสุขภาพมา เป็น Power Point Presentation เรื่อง “การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง” โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผอ. ศูนย์แพทย์อาชีวเวชศาสตร์กรุงเทพ เขาสรุปคำอธิบายเกือบทั้งหมดของรายการตรวจสุขภาพประจำปีเอาไว้ มีรายละเอียดดีมากๆ จนเราคิดว่าโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลน่าจะเอาไปพิมพ์แนบกับรายงานการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเป็นความรู้ที่คนที่ตรวจสุขภาพประจำปีควรจะได้รู้

แต่อย่างว่านะ บางคนก็อาจจะไม่สนใจ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาพสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนหนุ่มๆ สาวๆ และคนที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ เราได้ดูโฆษณาของโรงพยาบาล ที่เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ คุยกัน เขาจะบอกว่า ให้แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดี จะได้หาคู่ครองได้ ให้ทำโน่นทำนี่ แต่ไม่เห็นมีใครเตือนให้ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี (เหมือนที่เขาบอกว่า แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ อ่ะนะ เราจะไม่รู้คุณค่าของสุขภาพดี จนกว่าเราจะไม่มีมันแล้ว อันนี้เรื่องจริงเลย)

กับอีกเรื่องหนึ่งคือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมอุดมปัญญา คนไม่ค่อยสนใจจะไขว่คว้าหาความรู้ (บางทีไม่ต้องใฝ่หาด้วย ขนาดป้อนให้ก็ยังไม่รับ) โดยเฉพาะเรื่องที่เรื่องที่มันยุ่งยากซับซ้อน เรื่องที่มีสาระ หรือเรื่องที่ไม่เฮฮาบันเทิง ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราโดยตรง แต่พอเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา (เรียกง่ายๆ ว่า เรื่องของชาวบ้าน) กลับสนใจและอยากรู้มากเป็นพิเศษ อ้าว... ออกนอกเรื่องไปโน่นได้ไงแฮะ เอาเป็นว่าใครอยากเข้าใจว่า คำศัพท์ต่างๆ ที่เห็นในรายงานตรวจสุขภาพมีความหมายและความสำคัญยังไง ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่นี่เลย

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เมื่อไหร่จะได้เกษียณ

เมื่อไม่นานมานี้เพื่อนเราส่งลิงก์มาให้ไปทดลองคำนวณเงินออมหลังเกษียณที่ http://www.sec.or.th/th/educate/manage/rmf/cal/section2.php

เมื่อตอนที่เรากำลังจะเริ่มลงทุนในกองทุน เราก็เคยเห็นโปรแกรมช่วยคำนวณแบบนี้ที่เว็บของบางบลจ. อยู่บ้าง แต่ตอนโน้นเราเจอคำถามแรกว่าจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ และคำถามต่อมาว่าหลังเกษียณจะอยู่ไปอีกกี่ปี ก็ไม่ค่อยอยากคิดเท่าไหร่ เพราะฟังดูแล้วรู้สึกเหมือนต้องวางแผนตายไปในตัว แต่หลังๆ นี้เราเริ่มทำใจได้กับการตาย พอเพื่อนบอกลิงก์ก็เลยไปทดลองกรอกเล่นๆ ซะหน่อย

ครั้งแรกเรากรอกไปว่าจะเกษียณตอนอายุ ๕๐ แล้วอยู่ต่ออีก ๒๐ ปี (คิดว่าตายตอน ๗๐ น่าจะกำลังดี อยู่นานไปจะกลายเป็นแก่กะโหลกกะลา) แต่ผลการคำนวณแสดงว่าเงินติดลบอยู่ประมาณ ๒ ล้าน ถ้าเราอยากจะมีชีวิตระเริงอยู่หลังเกษียณ ๒๐ ปี เราจะต้องเถือกทำงานไปอีก ๕ ปี (แต่จะได้ยืดอายุไปอีกหน่อยหนึ่ง ไปตายตอนอายุ ๗๕ ปี) ก็โอเค ถือว่าพอรับได้...

เมื่อวันก่อนเราได้ยินข่าวในทีวี เขาบอกว่าคนสมัยนี้อายุยืนขึ้น โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนชาติอื่นๆ แล้วเราก็เห็นเขาขึ้นตัวเลขแว้บๆ ว่า ผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๘๕ กว่าๆ ผู้ชาย ๗๙ เห็นแล้วตกตะลึงตึงตึง...

ก็ขนาดเราวางแผนว่าจะตายตอนอายุ ๗๕ ปี เรายังต้องทำงานถึงอายุ ๕๕ ปี แล้วนี่ถ้าเราต้องอยู่ไปจนถึง ๘๕ เท่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิง จะต้องทำงานไปถึงอายุเท่าไหร่ฟระ คิดแล้วเหนื่อยใจ...

แต่แทนที่จะตั้งใจทำงานเก็บเงิน เราก็ไปกูเกิ้ลหาข้อมูลต่อ ปรากฏว่าไอ้ตัวเลขที่เห็น ๘๕/๗๙ เป็นอายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นตะหาก ส่วนอายุเฉลี่ยของคนไทยปีที่ผ่านมาคือ ผู้หญิง ๗๔.๙๘ ผู้ชาย ๗๐.๒๔ (ยังไงผู้ชายก็ตายไวกว่าผู้หญิงแฮะ)

เราเห็นแล้วก็โล่งใจไปหน่อยหนึ่ง แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ค่อยได้ เพราะดันไปเจอบทความอีกอันหนึ่งที่วิเคราะห์ว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ คนที่มีอายุยืน ก็จะมีโอกาสมีอายุยืนมากขึ้น เช่น คนที่มีอายุได้ถึง ๖๐ ปีในปี ๒๐๐๖ อาจจะมีโอกาสอยู่ได้อีก ๒๐ ปี แต่คนได้ที่มีอายุถึง ๖๐ ปีในปี ๒๐๑๖ อาจจะมีโอกาสอยู่ได้อีก ๓๐ ปี เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคนรู้จักดูแลตัวเองมากขึ้น

เพราะฉะนั้นอีก ๕ ปีหรือ ๑๐ ปีข้างหน้า เขาอาจจะมาประกาศว่าอายุเฉลี่ยคนไทยเป็น ๘๕ ปีอย่างที่เรากลัวก็ได้

รู้แบบนี้แล้ว สงสัยต้องปรับแผนเกษียณใหม่อีกรอบหนึ่ง เพราะถ้าหากว่าวางแผนเกษียณ (และวางแผนตาย) ไว้ แล้วเกิด “โชคดี” อายุยืนกว่าที่วางแผนขึ้นมา จะกลายเป็น “โชคร้าย” ต้องลำบากทำงานหาเงินตอนแก่อีก จะเซ็งไปกันใหญ่

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ภัยจากจอสี่เหลี่ยม

เมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน ได้ดูรายการ “จุดเปลี่ยน” ทางช่อง ๙ เขาเอาปัญหาเด็กติดทีวีมาให้ดู โอ้โห... ดูแล้วหนาว!!!

เขามีสถิติและความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่เกี่ยวกับทีวี บอกว่าเด็กๆ ดูทีวีกันเฉลี่ยวันละประมาณ ๔ ชั่วโมง (มีบางคนที่ดูเยอะๆ ถึง ๗-๘ ชั่วโมงด้วยซ้ำ) ประมาณว่ากลับจากโรงเรียนก็ดูทีวี พ่อแม่บอกว่าปล่อยให้เด็กดูทีวี เพื่อที่พ่อแม่จะได้มีเวลาไปทำอะไรๆ อย่างอื่น เช่น ทำงาน ไม่ต้องคอยเฝ้า ใช้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก แถมพ่อแม่บางคนคิดว่า ลูกดูทีวีจะช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น เด็กเล็กๆ ดูทีวี จะได้รู้จักพูดได้เยอะๆ ฯลฯ

แล้วเขาก็ให้เรารู้จักเด็กที่ติดทีวีอย่างหนัก ชื่อน้องโอเว่นอายุประมาณ ๕ ขวบ อยู่กับอาม่าที่ต้องทำงานทั้งวัน ก็เลยเปิดทีวีให้น้องโอเว่นดู น้องจะได้ไม่กวนเวลาทำงาน ปรากฏว่าน้องโอเว่นติดทีวีอย่างหนัก ขนาดเวลาปิดทีวีปุ๊บ น้องร้องไห้ลงไปดิ้นที่พื้น เขาไปคุยกับครูของน้องโอเว่นที่โรงเรียน พาน้องโอเว่นไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพและพัฒนาการ

พบว่ามีพัฒนาการโดยรวมช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน การพูด ก็เพิ่งพูดได้แค่เป็นคำๆ ไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (เวลาไปโรงเรียนก็จะไปเล่นคนเดียว ไม่ชอบเล่นกับเพื่อน) มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ โวยวาย ร้องไห้รุนแรง (โดยเฉพาะเวลาปิดทีวี)

วิธีการที่หมอแนะนำให้แก้ไข (ก่อนจะสายเกินไป) ก็คือ จำกัดการดูทีวี ให้อาม่าพูดคุยกับน้องโอเว่นมากขึ้น เล่นกับน้อง ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น สอนอ่านเขียนหนังสือ เวลาผ่านไป ๒ เดือน น้องโอเว่นหายก็ติดทีวีได้ แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกเพื่อไล่ให้ทันเพื่อนๆ ในด้านพัฒนาการต่างๆ ทางสังคม โชคดีที่น้องโอเว่นได้รับการรักษาก่อน ถ้าปล่อยไว้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป

นี่แค่การดูทีวีเฉยๆ นะ ดูแต่รายการที่คนทั่วไปคิดว่าไม่มีพิษมีภัย อย่างการ์ตูน โฆษณาต่างๆ ยังไม่ได้มีเนื้อหาพะเรทติ้งที่สุ่มเสี่ยงอะไรเลย ยังก่อผลร้ายขนาดนี้ แต่พวกที่ทำรายการทีวีไม่สร้างสรรค์ก็ยังออกมาเถียงคอเป็นเอ็นว่า รายการทีวีไม่ได้ชี้นำ ไม่ได้สร้างปัญหาให้สังคมซะหน่อย

รายการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นตอนต่อเนื่อง เกี่ยวกับเด็กติดเกม เราไม่ได้ดู แต่คิดว่าน่าจะอันตรายพอกัน (หรือจะมากกว่า? เพราะเคยได้ยินข่าวเด็กติดเกม เล่นต่อเนื่องไม่หยุดจนตายที่ต่างประเทศ) อยากให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ดูรายการนี้เยอะๆ เวลจะเปิดการ์ตูนให้ลูกดู จะซื้อเกมให้ลูกเล่น ได้ตระหนักถึงพิษภัยแบบนี้ จะได้ยับยั้งชั่งใจกันบ้าง

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เป้าหมายกับทัศนคติ

ความจริงตั้งใจไว้ว่าที่บล็อกนี้ จะไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเขียน (เพราะกลัวเจอโจทก์) แต่พอดีมีเรื่องเพื่อนที่เรารู้สึกว่าน่าจะเอามาเขียนได้ (นินทาเพื่อนไม่เป็นไร ฮ่าๆ) ก็เลยขอเขียนเรื่องส่วนตัว (ของเพื่อน) ซะหน่อย เหตุจุดประกายเกิดจากการที่มีเพื่อนคนหนึ่งมาบ่นเพื่อนอีกคนให้ฟังด้วยความกลุ้มใจว่า ทำไม๊... ทำไม เพื่อนถึงชอบตัดสินใจทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา

เราฟังเขาบ่นยาวยืดแล้ว ก็สรุปว่า คนสองคนนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น คนหนึ่งก็ตัดสินใจไปอย่างหนึ่ง อีกคนก็ตัดสินใจไปทางตรงกันข้าม ต่างฝ่ายต่างก็คิดในมุมของตัวเองว่าที่ทำนี่แหละถูกต้องดีแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจ รับไม่ได้กับการตัดสินใจการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง

คนหนึ่งเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ไม่ว่าเรื่องงานเรื่องส่วนตัว มีเป้าหมายแล้ว ก็ “มุ่งมั่น” ที่จะประสบความสำเร็จทุกเป้าหมาย ส่วนอีกคนหนึ่งดูจะเหมือนจะไม่เคยตั้งเป้าหมายในชีวิตเลย ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว เพราะเขามี “ความเชื่อมั่น” อยู่ลึกๆ ว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เหมือนคนอื่นๆ

ในด้านความสามารถแล้ว เราคิดว่าทั้งสองคนนี้มีศักยภาพที่จะสำเร็จในเป้าหมายของตัวเองได้พอๆ กัน แต่ความแตกต่างคือ คนหนึ่ง “มุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จในทุกอย่าง” แต่อีกคนหนึ่ง “เชื่อมั่นว่าจะล้มเหลวในทุกอย่าง”

ถ้ามองจากภายนอกคนทั่วไปก็คงคิดว่าคนทั้งสองคนนี้ก็ดูจะรับมือกับสถานการณ์ ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในด้านจิตใจแล้วเราคิดว่า ทั้งสองคนต้องดิ้นรนพอๆ กัน เพราะในชีวิตของคนเรา มีแพ้มีชนะปะปนกันไป ไม่มีใครที่จะชนะได้ตลอด หรือแพ้ได้ตลอด

คนที่ต้องการประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง เจอ “เรื่องไม่กี่เรื่อง” ที่ตัวเองทำไม่สำเร็จ (หรือยังไม่สำเร็จ) ก็กลุ้มใจ หงุดหงิด รำคาญ คิดแต่จะแก้ปัญหา จะเอาชนะอุปสรรคให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยได้นึกถึง “เรื่องส่วนใหญ่” ที่ตัวเองจัดการได้ดี

การไม่ยอมปล่อยวางเรื่องบางเรื่อง ไม่ยอมรับว่าเป้าหมายบางอย่างเราก็ไม่มีวันจะไปถึงได้ การไม่ใช้เวลาชื่นชมความสำเร็จของตัวเองมากเท่าที่ควร ทำให้ชีวิตของคนซึ่งคนภายนอกมองว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง กลายเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ยังต้องแก้ มีแต่เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึงในความรู้สึกของเจ้าตัว

สำหรับคนที่เชื่อมั่นว่าจะล้มเหลวตลอดเวลา (ความจริงที่บอกว่า เขาเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลยก็อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว แต่น่าจะเป็นว่าเขาไม่กล้าที่จะตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิต เพราะตัวเองปักใจเชื่อไปแล้วว่า ตั้งไปก็ไม่มีทางสำเร็จ) เขาก็ยังสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คนทั่วไปอาจจะไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่ล้มเหลวในชีวิต

ในสายตาของเจ้าตัว เขากลับคิดถึงความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตของเขา ว่าได้มาเพราะ “ฟลุค” บ้าง “โชคดีที่มีคนช่วยบ้าง” ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็คิดตอกย้ำความรู้สึกตัวเองว่า “เห็นไหม เราไม่มีความสามารถจริงๆ ก็สมควรแล้วที่เราจะทำไม่สำเร็จ”

เราคิดว่าถ้าเพื่อนเราจะเริ่มให้เครดิตตัวเองมากขึ้น ว่าความสำเร็จเกิดจากความสามารถของเขาด้วย ค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่า ตัวเองมีโอกาสประบความสำเร็จได้เท่าๆ กับคนอื่น (หรือมากกว่า) และในเรื่องที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็กล้าที่จะคิดว่า มันสำเร็จได้ ไม่ใช่ ไปเตรียมใจที่จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำ เพราะมันเป็นการสะกดจิตตัวเอง และยังกลายเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่มุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคอีกด้วย

เราไม่แน่ใจว่าที่เราเขียนมานี้จะเป็นการวิเคราะห์ที่ตรงประเด็นหรือเปล่า จะเป็นสิ่งที่เพื่อนต้องการได้ยินหรือเปล่า และที่สำคัญสุดเพื่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือเปล่า (เพราะที่จริงก็อายุก็ป่านนี้เข้าไปแล้ว มันก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง) แต่ก็เขียนไปก่อน... ตามอุดมการณ์ของบล็อกนี้คือ ถ้าเราไม่แคร์ แล้วใครจะแคร์ล่ะฟระ? :)

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ธรรมชาติเอาคืน

ตอนนี้ที่อังกฤษน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะภาคกลาง เขาบอกว่าเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ ๖๐ ปี (หรืออะไรประมาณนั้น) ในขณะเดียวกันทางยุโรปตะวันออกก็เจอภัยร้อนภัยแล้ง เขาบอกว่านักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวตามป่าตามภูเขาก็เจอไฟป่า ต้องหนีตายลงมาตามชายหาด

อาทิตย์ก่อนเราดูทีวี เขามีข่าวอากาศโคตรร้อนที่อิตาลี ร้อนขนาดตอกไข่ใส่กระโปรงหน้ารถแล้วสุก พี่สาวเราบอกว่ากระโปรงหน้ารถมันก็ร้อนอยู่แล้ว เพราะเครื่องยนต์ร้อน เออ... ก็เป็นไปได้ แต่เขามีภาพว่ามันร้อนขนาดยางมะตอยที่ราดถนนละลาย สาวอิตาลีใส่รองเท้าส้นเข็ม เดินไปแล้วส้นรองเท้าจมลงไปในพื้นถนน อันนี้จะบอกว่าไม่ร้อนก็ไม่ไหวแล้ว

ในขณะเดียวกันก็มีข่าวหิมะตกที่ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๒ ปี คนออกมาเล่นหิมะกันยกใหญ่ ก็น่าตื่นเต้นดี แต่เรารู้สึกว่าน่ากลัวอยู่ในที เพราะรู้สึกว่าอากาศมันชักจะวิปริตเกินขนาด (นึกถึงหนังเรื่อง The day after tomorrow) เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยก็อ่วมอรทัยกับอุทกภัย แล้วเมื่อต้นปีก็เจอไฟป่า (บวกกับการเผาป่าแบบไม่มีความรู้) จนเชียงใหม่เชียงรายและอีกหลายๆ จังหวัดกลายเป็นเมืองในหมอก (ควันพิษ)

ตอนที่ An Inconvenient Truth ออกมา คนก็ตื่นตัวเรื่องโลกร้อน เวลาเกิดภัยพิบัติตามที่ต่างๆ คนก็วิตกกังวล และเริ่มจะหันมาใส่ใจธรรมชาติ แต่พอเหตุการณ์ผ่านไปความรู้สำนึกก็ชักจางไป เราอยากให้พวกสื่อมวลชนออกมาย้ำกันบ่อยๆ คนจะได้ไม่ลืมดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

วันก่อนเราไปกินสลัดซิซเลอร์ เพื่อนก็บอกว่า ตอนนี้โลกร้อน เอาจานเดิมไปตักสลัดดีกว่า (จะได้ไม่เปลืองต้องล้างจานเยอะ) ทุกวันนี้เราก็ไม่ค่อยได้เปิดแอร์นอน เปิดหน้าต่าง แล้วก็เปิดพัดลมแทน มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ประหยัดตรงไหนได้ก็ประหยัด ลดตรงไหนได้ก็ลด อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปใช้ ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยหลายๆ คนทำมันก็เยอะขึ้นเอง

เรื่องประหยัดเรื่องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า อย่าไปคิดว่าของเขาของเรา บางคนอยู่บ้านประหยัด แต่พอไปที่ทำงานหรือตามที่สาธารณะ ก็ไม่ใส่ใจ นึกว่าที่เสียเปล่าฟุ่มเฟือยไปมันไม่ใช่ของของเรา ไม่เดือดร้อน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นของประเทศของเรา เป็นของโลกของเรา อย่าทำร้ายโลก ทำร้ายธรรมชาติมากไปกว่านี้ เพราะเวลาธรรมชาติเอาคืน เขาเอาคืนทีเดียวหมด ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นใครหน้าไหน ประเทศไหน เดือดร้อนกันไปทั้งโลกนั่นแหละนะ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ - วิถีแห่งความสุข

เราได้ฟังสัมภาษณ์คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่ง Open ครั้งหนึ่ง เขาพูดว่าเขารู้สึกว่าหลังจากทำงานมานานๆ ปัญหาที่เขาต้องเผชิญมากๆ คือ ต้องพยายามทนรับกับ “สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” ให้ได้ เขาบ่นว่า บางทีทำงานกับคนเยอะๆ (โดยเฉพาะคนใหญ่ๆ โตๆ) คุยประชุมกันทีเป็นชั่วโมงๆ งานไม่ไปถึงไหน ไม่มีใครยอมตัดสินใจ ฯลฯ น่าโมโหหงุดหงิด เพราะ “มันไม่ได้ดั่งใจ”

เราฟังแล้วคิดว่า ไม่ใช่เฉพาะในการทำงานเท่านั้น ที่เราต้องทนกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่ที่จริงคือเราต้อง “ทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” แทบจะทุกขณะของการดำเนินชีวิต

ลองมองดูดีๆ ชีวิตคนเรา มีเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจเยอะมาก มีเรื่องที่ได้ดั่งใจเราน้อยมาก ตั้งแต่เด็กๆ ก็ ทำไมต้องไปเรียน ทำไมดูทีวีอ่านการ์ตูนทั้งวันไม่ได้ ทำไมพ่อแม่ไม่ให้ค่าขนมเยอะกว่านี้ ทำไมสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยคณะที่อยากเรียน ทำไมเรียนได้เกรดน้อย ทำไมต้องทำงาน ทำไมเงินเดือนน้อย ทำไมหัวหน้าไม่เห็นความดี ทำไมลูกน้องขี้เกียจทำงาน ทำไมสามีไม่รวย ทำไมลูกงอแง ทำไมฝนตก ทำไมรถติด ทำไมเราต้องเกิด แก่ เจ็บตาย ทำไม.... ทำไม... ฯลฯ

ตราบใดที่เรามีความต้องการและผลลัพธ์มันไม่เป็นตามที่เราต้องการ ก็คือ มันไม่ได้ดั่งใจเรา ถ้าทนไม่ได้เราก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นการทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจให้ได้ ก็คือ วิถีแห่งความสุข

ใน 1 ชีวิตเราจะเผชิญอยู่แค่ 2 สิ่ง คือ “สิ่งที่ได้ดั่งใจ” กับ “สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” ถ้าเวลาเจอกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แล้วเราทนได้ – เราก็ไม่ทุกข์ แล้วเวลาเจอสิ่งที่ได้ดั่งใจเรา – เราก็สุข โดยรวมชีวิตเราก็จะมีแต่สุขกับสุข เหมือนถูกหวย 2 เด้ง

แต่อย่าเพิ่งคิดว่า การทนรับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ หมายความว่าให้เราไม่ต้องสนใจอะไรเลย งอมืองอเท้า ยอมรับชะตากรรมกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนะ

เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ ให้พยายามตัดอารมณ์ทิ้งไป หยุดบ่น หยุดคร่ำครวญ หรือโทษโชคชะตาฟ้าลิขิต ฯลฯ แล้วพยายามมองทะลุเข้าไปหาต้นตอ พิจารณาว่าสาเหตุของมันคืออะไร คิดว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถแก้ไขหรือควบคุมให้สิ่งเหล่านั้นมันได้ดั่งใจเรา พยายามแก้ไขในจุดเหล่านั้น แต่ถ้าพิจารณารอบด้านแล้ว แก้ไขเต็มที่แล้ว ก็ยังแก้ไม่ได้ คราวนี้ก็ถึงค่อยทำใจยอมรับกับมัน

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

อย่าโดนสะกดจิต

เคยได้ยินเรื่องนี้กันหรือเปล่า ที่บริษัทผลิตยาสีฟันยี่ห้อดังพยายามจะคิดวิธีเพิ่มยอดขาย ก็ให้พนักงานระดมสมองกันคิดหาไอเดียใหม่ๆ หลังจากที่กลยุทธ์เดิมๆ เช่น การโหมโฆษณา ลดแลกแจกแถม ส่งกล่องชิงรางวัล ฯลฯ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ก็มีคนเสนอไอเดียขึ้นมาว่า ให้ทำปากหลอดยาสีฟันให้ใหญ่ขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่บีบยาสีฟัน ก็มักจะบีบปรื้ดยาวเท่าแปรงสีฟัน ถ้าปากหลอดใหญ่ขึ้น แปรงฟันแต่ละครั้งก็จะใช้ยาสีฟันมากขึ้น ยาสีฟันก็จะหมดเร็ว คนก็ต้องซื้อบ่อยๆ

ตอนที่เราได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรก เขาเอามาเล่ากันว่าเป็น “ความสำเร็จ” ของการคิดแก้ปัญหาแบบ “คิดนอกกรอบ” แต่เรากลับสงสัยว่าการคิดแบบนี้ เป็นการคิดแบบเอาแต่ได้เกินไปหรือเปล่า?

คนขายของต้องพยายามหาวิธีทำให้คนบริโภคของเขามากขึ้นๆ อยู่เรื่อยๆ ไป บางทีเราก็รู้เท่าทันกลเม็ดของเขา บางทีก็รู้ไม่ทัน (บางทีต้องสังเกตดีๆ ถึงจะรู้) อย่างโทรศัพท์มือถือ มีโปรโมชั่นประเภทยิ่งโทรนานยิ่งคุ้ม ยิ่งโทรมากยิ่งคุ้ม ฯลฯ จริงๆ ต้องย้ำเตือนกันว่า ไม่มีอะไรที่ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้ม มีแต่ยิ่งใช้มากยิ่งเปลืองมาก

เหมือนที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในอเมริกา พยายามจะ super size ทุกอย่างใน “เมนูสุดคุ้ม” แทนที่จะขายน้ำอัดลมถ้วยเล็ก ก็ขายถ้วยใหญ่ กำหนดราคาต่างกันเล็กน้อย ให้คนซื้อคิดว่า เพิ่มเงินอีกนิดเดียว ได้ปริมาณเยอะกว่าเยอะ ดูแล้วคุ้มค่าเงินกว่า แต่ที่จริงมันเกินกว่าที่เราจะบริโภคเข้าไปได้ สุดท้ายก็เหลือทิ้ง นอกจากเราจะเปลืองเงินแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรโลกแบบสุรุ่ยสุร่าย บริโภคเกินความจำเป็นอีกด้วย

ล่าสุดเราเจออีกแล้ว... โฆษณาครีมนวดผมยี่ห้อหนึ่ง เขาพยายามย้ำว่า “ใช้ทุกครั้งหลังสระ” (ให้นางแบบคนหนึ่ง มีผมสวยสะดุดตากว่าคนอื่นๆ จนกระทั่ง ช่างภาพต้องขอถ่ายรูปเดี่ยว นางแบบคนนี้ผมสวยกว่าคนอื่น เพราะใช้ครีมนวดผม “ทุกครั้งหลังสระ”)

ถ้าคนอื่นดูแล้วไม่สังเกตก็แล้วไป แต่เราดันไปสังเกต (จับผิด) ว่าเป็นความพยายามเพิ่มยอดขายครีมนวดผมโดย “การสะกดจิต” ผู้บริโภค

เขาคงได้ผลวิจัยมาว่า คนส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้ครีมนวดผมทุกครั้งที่สระผม (อย่างน้อยก็เราคนหนึ่งหละ เพราะไม่รู้สึกว่าจำเป็น ผมไม่ได้แห้งจนต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งที่สระ บางทีเป็นหลายๆ อาทิตย์ไม่ได้ใช้เลยด้วยซ้ำ) เลยต้องออกโฆษณามาสะกดจิตว่า ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ...ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ... ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ...

ผู้ใช้อย่างเราก็ต้องมานั่งคิดเอาเองว่า มันจำเป็นจริงๆ เหรอ ที่ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ?

เราไปนึกถึงอีกโฆษณาหนึ่งที่เป็นเรื่องของหมอ (หรือหมอฟัน?) ที่ไปอยู่ต่างจังหวัด และใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ ด้วยแรงบันดาลใจจาก “หลอดยาสีพระทนต์” ของในหลวงที่บีบจนบี้แบน ขนาดในหลวงยังทรงใช้ของอย่างประหยัดมัธยัสถ์ คุณหมอในโฆษณาก็อยู่อย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น (สังเกตว่าคุณหมอก็บีบยาสีฟันนิดเดียว)

สิ่งที่เราใช้ๆ อยู่ทุกวันนี้ ต้องผลิตต้องสร้างมาจากสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ้น พวกคนขายของก็เอาแต่มุ่งเน้นการขาย นึกถึงแต่ยอดขายผลกำไร โดยไม่คิดถึงสังคมหรือโลก พวกเราก็ต้องคอยเตือนสติกันเองว่า ให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด บริโภคอย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น

เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เรากำลังทำเพื่อลูกๆ หลานๆ ของเราในอนาคต ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อโลกด้วย

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ฉ.ฉิ่ง น.หนู ท.ทหาร

ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องจัดเรทติ้งรายการทีวีกันเยอะ ทีวีเมืองไทยมีระบบเรทติ้งมาพักใหญ่แล้ว (จำระยะเวลาไม่ได้แน่ เหมือนได้ยินแว่วๆ ว่า ๙ เดือนแล้ว) แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไร เดิมเขากำหนดว่า รายการที่มีความรุนแรง ภาษาไม่สุภาพ เนื้อหาไม่เหมาะสม ก็ให้ได้เรทติ้ง น.หนู (แนะนำ คือ ไม่เหมาะจะให้เด็กดูตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ) หรือ ฉ.ฉิ่ง (เฉพาะ)

เราเห็นละครที่ฉายช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวก็ติดเรทติ้ง น.หนู กันทั้งนั้น กลายเป็นว่าการจัดเรทติ้งไม่ได้ทำให้คนทำรายการ พยายามทำรายการให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น แต่แค่ทำให้พวกเราได้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ในช่วงหนึ่งทุ่ม-สามทุ่ม ทีวีเมืองไทยมีรายการที่ไม่เหมาะกับเด็กมากขนาดไหน (เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์) ที่น่าขำปนเศร้ามากกว่า คือ รายการทีวีตอนดึกๆ ยังมีรายการ ท.ทหาร (ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วไป) เยอะกว่าตอนค่ำซะอีก

เรื่องเรทติ้งมาฮ็อตอีกรอบก็เพราะคราวนี้เขาจะเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ว่า นอกจากจะจัดเรทติ้งแล้วยังมีการกำหนดช่วงเวลาฉายด้วย คือ รายการที่ได้เรทติ้งน. ขึ้นไป จะต้องไปฉายหลัง ๓ ทุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่ คนทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น กว่าพ่อแม่จะกลับบ้าน ก็มืดค่ำ ถ้าปล่อยให้ทีวีฉายรายการน.หนูช่วงหัวค่ำ พ่อแม่ยังไม่กลับมาถึงบ้าน ก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้รับคำแนะนำจากใคร) และรายการฉ.ฉิ่งเริ่มฉายได้หลังสี่ทุ่ม

ปรากฏว่าพวกผู้จัดรายการออกมาโวยวายกันยกใหญ่ ว่าจะทำให้รายการไม่มีคนดู ไม่มีสปอนเซอร์ พวกผู้จัดรายการอยู่ไม่ได้ ฯลฯ พวกที่โดนผลกระทบเต็มๆ ก็มีแต่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าที่ฉายช่วงหนึ่งทุ่ม-สี่ทุ่มนั่นแหละ

ปกติเราก็ดูละครหลังข่าวนะ แต่ดูเป็นบางเรื่องและที่จริงเราก็ชอบ “ละครน้ำเน่า” นะ แต่คำว่า “น้ำเน่า” ของเรา คือ มีฉากกุ๊กกิ๊กโรแมนติก นางเอกต้องสวย พระเอกต้องหล่อ ถึงชีวิตมีอุปสรรค แต่สุดท้ายพระเอกกับนางเอกต้องลงเอยกันด้วยดี เราเรียกแบบนี้ว่าน้ำเน่า เพราะในชีวิตจริงชีวิตมันยุ่งยาก ซับซ้อน ลำบากกว่านั้นเยอะ

ยกตัวอย่างเรื่อง “รักเธอทุกวัน” ที่เพิ่งจบไป พล็อตเรื่องน้ำเน่ามาก พระเอกรวย นางเอกจน แต่ความแตกต่างด้านฐานะไม่สามารถแบ่งแยกความรักได้ แต่ในความน้ำเน่า ยังมีเรื่องดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมจิตใจได้ พระเอกรักนางเอกมากๆ รักเดียวใจเดียว รักนางเอกตั้งแต่แรกเจอและรักทุกวันสมชื่อเรื่อง นางเอกก็เป็นคนดี จิตใจดีงาม มีความตั้งใจมุ่งมั่นและพยายามทำตามความฝันของตัวเอง (คือเป็นช่างตัดผมที่มีชื่อเสียง หาเงินมาปลูกบ้านให้ได้ตามที่พ่อแม่ตั้งใจไว้)

เราว่าละครเรื่องนี้สามารถทำออกมาให้เป็นเรทติ้ง ท.ทหารได้สบายๆ การสร้างอุปสรรคให้พระเอก/นางเอก ไม่จำเป็นต้องให้ตัวอิจฉามาด่าทอ ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด ไม่จำเป็นต้องมีตัวร้ายที่เกลียดชังริษยาพระเอกนางเอกอย่างไร้เหตุผลและความสมจริง มีฉากหนึ่งที่เรารับไม่ได้เลยคือ ตอนที่ตัวร้ายจะเอาน้ำกรดไปสาดหน้านางเอก (เราเคยดูรายการสัมภาษณ์คนที่เป็นเหยื่อโดนน้ำกรดสาดหน้า น้ำกรดกัดเนื้อลึกลงไปถึงกระดูก เป็นแผลเหวอะหวะ ขนาดรักษาแผลหายแล้ว แต่แผลเป็นก็ยังดูน่าหวาดเสียวและสลดใจมากๆ) โชคดีที่ตัวร้ายซุ่มซ่ามทำขวดน้ำกรดตกแตก นางเอกเลยรอดไม่โดนน้ำกรดสาด แต่ตัวร้ายก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำชั่ว คว้าหม้อแบบที่ใส่กุ้งอบวุ้นเส้นจากร้านอาหารข้างถนน มาตีหัวนางเอกจนสลบและมีผลกับสมองจนตาบอด เราว่าฉากแบบนี้ควรจะโดนตัดทิ้งไปตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้ว

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่เราดูก็คือ “รักแท้แซ่บหลาย” (เพิ่งจบไปเหมือนกัน) เราไม่ได้ดูตอนแรกๆ แต่จับเรื่องได้ประมาณว่านางเอกเป็นแม่ค้าขายปลาร้า น้องสาวเรียนเมืองนอก แล้วพ่อแม่ตายเลยต้องกู้หนี้ยืมสินมาส่งให้น้องเรียนจนจบ น้องสาวมีแฟนเป็นลูกเจ้าของโรงแรม ก็เลยอายไม่ยอมบอกว่าครอบครัวตัวเองขายปลาร้า หลอกว่าขายผ้าไหมส่งออก กะว่าหลังจากได้แต่งงานกันแล้วเรื่องก็จะจบ แต่ความแตกซะก่อน แฟนของน้องสาวก็เลยโกรธและเลิกกันไป (แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาคืนดีกันตามสไตล์ละครน้ำเน่าอยู่แล้ว)

ข้อคิดดีๆ ของเรื่องนี้ ก็คือ ตัวนางเอกที่รักในอาชีพของตัวเอง เป็นแม่ค้าปลาร้าที่ตั้งใจและมุ่งมั่น พยายามทำของดีมีคุณภาพออกมาขาย มีหนี้สินก็ไม่คิดจะเบี้ยว และไม่ยอมแพ้ พยายามจะหาเงินมาใช้หนี้ด้วยวิธีสุจริต

ละครน้ำเน่าพวกนี้ ตอนที่เป็นฉากธรรมดาๆ เราก็ดูอย่างสบายใจ แต่พอถึงฉากที่มีตัวอิจฉาออกมากรี๊ดๆ ด่ากันฉอดๆ ทำตัวไม่สร้างสรรค์ เว่อร์จนเกินเหตุ เราจะเบื่อมากจนบางทีต้องเปลี่ยนไปดูช่องอื่น พวกผู้จัดละครเขาบอกว่า “ต้องใส่ฉากพวกนี้เข้าไป เพราะคนดูชอบดู” เราไม่แน่ใจว่าที่มันเป็นความจริงหรือเขาคิดเอาเอง โอเค... คงมีคนส่วนหนึ่งที่ชอบดูจริงๆ ดูแล้วมันสะใจดี แต่น่าจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบดู แต่จำใจดูเพราะเขาไม่มีทางเลือก เปิดไปช่องไหนก็แย่เหมือนกันไปหมด ทีนี้จริงๆ แล้วคนดูกลุ่มไหนมากกว่ากันล่ะ?

วันก่อนเราฟังรายการวิทยุ “แทนคุณ จิตต์อิสระ” ให้ความเห็นที่น่าคิดว่า ผู้จัดรายการโวยวายว่า การกำหนดช่วงเวลาฉาย คือการที่รัฐบาลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดูรายการทีวี แต่พวกเขาน่าจะได้ลองคิดในมุมกลับด้วยว่า การที่ผู้จัดรายการทำละครออกมา (ไม่สร้างสรรค์) เหมือนกันหมดทุกช่อง ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มที่ไม่อยากดูรายการแบบนี้เหมือนกัน เพราะเขาไม่มีสิทธิจะเลือกดูรายการแบบอื่นเลย

เราว่าเรื่องนี้มันเป็น “วงจรอุบาทว์” คนทำรายการบอกว่า ต้องทำแบบนี้ก็เพราะคนดูชอบดู แต่ที่คนชอบดูรายการแบบนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการโดนสะกดจิต ได้ดูแต่เรื่องทำนองเดียวกันซ้ำๆๆๆๆ จนฝังในจิตใต้สำนึก หรือคนดูจำต้องดูเพราะไม่มีอะไรดีๆ ดู

เราจะตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริโภคสื่อตัดสินใจประท้วงไม่ยอมดูรายการที่ไม่สร้างสรรค์พวกนี้ หรือ คนทำรายการมีจิตสำนึกที่จะผลิตรายการที่สร้างสรรค์มากขึ้น เราว่ามันยากทั้งสองทาง เพราะคนจำนวนมากก็ยังอยากบริโภคสิ่งที่ตอบสนองกิเลส คนบางส่วนก็โดนสะกดจิต ส่วนที่เหลือก็ได้แต่บ่นหรือไม่ก็เลิกดูไปเลย จะหวังทางผู้ผลิตก็ยาก เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ รายได้มหาศาล ที่ได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า สังคมจะเลวร้ายหรือแย่ลงยังไง

เราไพล่ไปนึกถึงที่ ดร. สมเกียรติ (อ่อนวิมล) พูดเรื่องอยากทำนิตยสารดีๆ อย่างไทม์ แต่หานายทุนไม่ได้ เพราะนายทุนบอกว่าขายคนไทยไม่ได้หรอก ดร. สมเกียรติ บอกว่า อย่าไปดูถูกคนอ่าน คนที่มีความคิดและต้องการบริโภคสิ่งดีๆ ยังมีอยู่เยอะ และถึงกระทั่งว่าคนอ่านมีไม่เยอะ ในฐานะคนเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อควรเป็นคนนำตลาด นำมวลชนไปในทางที่สร้างสรรค์ สื่อสามารถยกระดับการบริโภคของคนได้ แต่เท่าที่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นการลดระดับของผู้บริโภค นำพากันไปในทางเสื่อมทั้งสิ้น

วันก่อนเราอ่านความเห็นของคนหนึ่งในนสพ. เขาบอกว่าความจริงเขาไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่หรอกว่า รายการทีวีจะเรทติ้งอะไร ฉ.ฉิ่ง น.หนู หรือ ท.ทหาร แต่ถ้าคนทำรายการ ตั้งใจว่าจะทำสิ่งดีๆ ทำด้วยเจตนาที่ดี มีสำนึกที่ดี รายการมันก็จะออกมาดี แถมเรื่องร้ายๆ ในสังคมนี้ มันไม่ได้มีแค่ในทีวี นอกจากละครน้ำเน่าในทีวีแล้ว เรื่องอื่นก็น่าห่วงเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ที่เราเคยคุยกับพี่สาวเรื่องทำนองนี้ พี่สาวเราบอกว่า อยากจะเขียนจดหมายไปหาคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล บอกว่า ไหนๆ ไทยรัฐก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศ มีนโยบายสร้างทำเพื่อสังคม ไปสร้างโรงเรียนให้ตั้ง ๗๐-๘๐ โรง ไทยรัฐน่าจะตัดสินใจเลิกลงรูปดาราโป๊ๆ ทุกวันอาทิตย์ เลิกเสนอข่าวความรุนแรง ลงเรื่องคนไปไหว้อะไรต่ออะไรขอหวย ฯลฯ คือนำตลาดไปในทางที่สร้างสรรค์ เราบอกว่า ทำยากนะ พี่เราบอกว่า แต่เขาทำได้ถ้าเลือกจะทำ เพราะเขาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จมากแล้ว

เรากลับคิดไปในอีกทางหนึ่งว่า เราอยากเขียนจดหมายไปหาผู้จัดละครต่างๆ ว่า ทำไมไม่ลองทำละคร ทำรายการที่สร้างสรรค์ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีการทำร้ายกันทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ส่งเสริมค่านิยมดีๆ ให้คนรู้จักทำงานหนัก แข่งขันกันอย่างยุติธรรม เราเชื่อว่ายังมีคนอยากดูอีกเยอะ

ละครซิทคอมหลายๆ เรื่องดูสนุกโดยไม่ต้องอาศัยตัวอิจฉาที่วันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่แต่งตัวโป๊ๆ ทำท่าร้ายกาจด่าทอคนอื่น และยั่วยวนพระเอก เกมโชว์/ทอล์คโชว์หลายๆ รายการดูสนุกโดยไม่ต้องให้พิธีกรพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือเล่นเกมไร้สาระ เรายังเชื่อว่าคนไทยเก่งกาจ มีสติปัญญามากพอที่ทำรายการทำละครที่มีคุณภาพได้ แต่พี่เราก็บอกว่า ทำยากเหมือนกัน เพราะก็ต้องไปเกี่ยวพันกับเจ้าของเวลา สปอนเซอร์ ฯลฯ

เท่าที่เราเขียนๆ ที่บล็อกนี้มา ผลตอบรับน้อยมากๆๆ (แทบไม่มีคนคอมเมนต์เลย... เดาว่าอาจจะไม่มีคนอ่านจนจบ) แต่ถ้าที่เราเขียนไปวันนี้มีคนอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองช่วยแสดงความเห็นกันหน่อยได้ไหม ว่าถ้าเราจะล่ารายชื่อให้ได้ซักปริมาณหนึ่ง แล้วทำจดหมาย (ไม่ว่าจะไปถึงไทยรัฐ หรือผู้จัดละคร) ว่าไม่เอาแล้วรูปโป๊ๆ ในหนังสือพิมพ์ หรือละครน้ำเน่าในทีวี จะมีใครสนใจมาร่วมลงชื่อกับเราบ้างไหม

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์