วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๑

เราไปอ่านเจอบทความเรื่อง “๒๗ ทักษะที่ลูกควรรู้แต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน” (27 Skills Your Child Needs to Know that She's Not Getting In School) จากบล็อก The Best Article Everyday

เราว่าพ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกแบบทุ่มเทจัดการชีวิตให้หมดทุกอย่าง ลูกไม่ต้องรับผิดชอบไม่ต้องเอาใจใส่เรื่องอะไรเลยจนกว่าจะเรียนจบ ทำให้เด็กสมัยนี้เคยชินกับการมีคนทำอะไรให้ทุกอย่าง พ่อแม่กลัวลูกลำบาก กลายเป็นพ่อแม่สอนให้ลูกเป็นคนรักสบาย โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ได้มาฟรีๆ พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ให้ความรับผิดชอบที่เหมาะกับวัยของเขา ไม่ใช่รอให้เรียนจบมหาวิทยาลัยหรืออายุ ๒๕ ปี แล้วเพิ่งมานึกได้ว่าถึงเวลาลูกต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว

เด็กต้องค่อยๆ เติบโต ไม่ใช่นอนหลับไปแล้วพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เลย เด็กที่ไม่เคยทำอะไรมาเลยตลอดชีวิต เรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องเริ่มทำงานหาเงิน ต้องเริ่มรับผิดชอบตัวเอง ก็ไม่พร้อมที่จะทำ บางคนก็ดิ้นรนทำไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่บางคนไม่มีความอดทน-ไม่มีความรับผิดชอบมากพอ ก็ซื้อเวลาโดยการไปเรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอก หรือกลายเป็นคนจับจด กลายเป็นคนล้มเหลว ฯลฯ

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไปมุ่งมั่นที่ตระเตรียมสิ่งของทางวัตถุให้กับลูก แล้วก็โยนเรื่องสำคัญๆ อย่างการ “สอนลูกให้เป็นคน” ไปให้ครู โยนเรื่องการ “ดูแลปกป้องลูก” ให้กับรัฐ แต่ความจริงก็คือพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก อบรมสั่งสอนโดยการทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นคนที่จะต้องสอนบทเรียนชีวิตต่างๆ ให้ลูก พ่อแม่ดำเนินชีวิตอย่างไร ลูกก็ทำตามอย่างนั้น

ในบทความที่เราอ่านเจอ เขาแบ่งทักษะที่พ่อแม่ควรจะสอนลูก (เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน) ออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ การเงิน การคิด ความสำเร็จ สังคม เรื่องในชีวิตประจำวัน และความสุข

เราว่าอ่านดูแล้วก็น่าสนใจดี หลายๆ ข้อเป็นลักษณะนิสัยที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้กับลูก แต่หลายๆ ข้อก็เป็นแค่เรื่องที่พวกเขาจะต้องทำเวลาที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ คนเขียนก็แนะนำเหมือนที่เราเขียนไปข้างบนว่า การสอนเรื่องเหล่านี้ให้ลูก ไม่ใช่สอนเขาโดยการบอกการสั่งหรืออ้างตำรา แต่พ่อแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างให้กับลูก ควรจะพูดคุยกับเขา และให้เขาได้ทดลองลงมือทำจริงๆ

เราเอาหัวข้อกับแนวความคิดที่เขาเขียนมา บางทีก็เพิ่มเติมความเห็นของเราเข้าไป บางทีก็ตัดส่วนที่เราไม่เห็นด้วย หรือส่วนที่ไม่น่าจะเข้ากันได้กับวัฒธรรมไทยออกไป วันนี้ว่ากันเรื่อง “การเงิน” แล้วจะค่อยๆ ทยอยเขียนเรื่องอื่นต่อไป ใครที่อยากจะอ่านต้นฉบับจริง ก็คลิกตามลิงก์ข้างบนไปอ่านได้เลย (อ่านต้นฉบับอาจจะดีกว่า เพราะคนเขียนน่าจะมีและวุฒิภาวะมากกว่าเรา และอคติน้อยกว่าเรา :P)

สอนลูกเรื่องการเงิน
๑. การออม – กฎง่ายๆ คือ “ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้” แต่กระทั่งผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ไม่เข้าใจกฎนี้ หรือเข้าใจแต่ทำไม่ได้ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักเก็บเงินค่าขนมหรือเงินที่หามาได้ส่วนหนึ่งไว้ในธนาคารตั้งแต่ยังเล็กๆ สอนให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออม ต้องออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย ก่อนที่จะเอาเงินไปใช้หรือซื้ออะไรที่เขาอยากได้

๒. การทำบัญชีรายรับรายจ่าย – กระทั่งพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังลำบากและทุกข์ใจกับเรื่องนี้ เพราะเราขาดความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการทำให้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องง่าย พ่อแม่อาจจะรอให้ลูกเข้าสู่วัยรุ่นก่อนแล้วค่อยสอนเรื่องนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องดี เพราะมันจะแสดงให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมคณิตศาสตร์พื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เราอาจจะไม่ต้องคาดหวังให้ลูกบันทึกรายรับรายจ่ายทุกบาททุกสตางค์ แต่อย่างน้อยจะต้องให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าตัวเองจับจ่ายใช้สอยเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง ใช้จ่ายในเรื่องที่สมควรหรือไม่ ใช้จ่ายเกินตัวหรือเปล่า พ่อแม่น่าจะได้อาศัยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยในการใช้เงินให้กับลูก

๓. การชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ – ลองเอาใบเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในบ้านให้ลูกไปชำระ และบอกให้เขาจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด สมัยนี้อาจจะสอนลูกทั้งการจ่ายเงินจริงๆ หรือชำระเงินออนไลน์ สอนให้เขารู้จักเทคนิคที่จะช่วยให้ชำระเงินค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลา เช่น พยายามจ่ายเงินทันทีที่ได้รับใบเรียกเก็บเงิน หรือใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติ การหัดให้ลูกไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังอาจจะช่วยให้ลูกได้รู้คุณค่าของเงิน และเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ

๔. การลงทุน – พ่อแม่สมัยนี้มักสอนให้ลูกใช้เงินก่อนสอนให้ลูกหาเงิน สอนให้เขารู้ว่าการลงทุนคืออะไรและสำคัญอย่างไร ให้เขาเรียนรู้ว่าลงทุนอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง สอนให้เขารู้จักหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ให้รู้ว่าการลงทุนทำให้เงินงอกเงยขึ้นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเริ่มสอนลูกในช่วงวัยรุ่น

๕. หนี้และบัตรเครดิต - เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่หลวงสำหรับผู้ใหญ่จำนวนมาก พ่อแม่ควรสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบการเงินของตัวเอง อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็อย่ามีหนี้เกินตัว สอนให้เขารู้จักข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต รู้จักใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ

๖. การเกษียณ – คำถามที่คนมักจะถกเถียงกันคือ “เราควรจะทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพี่อเก็บเงินก้อนใหญ่ตามเป้าหมายแล้วเกษียณ หรือจะทำงานและหยุดพักเป็นช่วงๆ” นี่เป็นเรื่องที่แต่คนจะเลือกตามความพอใจ แต่พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้และเข้าใจทางเลือกเหล่านี้ เข้าใจว่าแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอะไร พวกเขาควรเรียนรู้ว่าทำไมการลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่ยังหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญ สามารถคำนวณความแตกต่างของดอกผลที่จะงอกเงยขึ้นจากดอกเบี้ยทบต้น

๗. การบริจาคเพื่อการกุศล – สอนให้เขารู้จักการแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อการกุศล และพยายามทำให้เขารู้จักบริจาคเป็นนิสัย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความรับผิดชอบในทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พ่อแม่ต้องน่าจะสอนให้เขารู้จักเสียสละทั้งเวลาและเงินทองเพื่อการกุศล

อ่านต่อ ตอนที่ ๒ สอนลูกเรื่องการคิด
อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ
อ่านต่อ ตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม
อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องในชีวิตประจำวัน
อ่านต่อ ตอนที่ ๖ (จบ) สอนลูกเรื่องความสุข

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆเลยครับผม :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้สึกงุนงงสับสนกับการออมว่าควรจะ "เหลือจึงออม" หรือจะ "กันไว้ออม" ดี แต่มาพักหลังนี้ หายสับสน...สิ้น

ก็เงินจะกินยังไม่มีเลยครับ พี่น้อง

รออ่านบทต่อไปอยู่นะครับ ชอบอ่านอคติเป็นพิเศษ

nitbert กล่าวว่า...

คุณ golb, โดยส่วนตัวคิดว่า ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความสามารถเฉพาะตัวนะคะ (ซึ่งใครจะลอกเลียนแบบใคร ก็ตามสบาย)

แต่ที่จริงถ้า "ตั้งใจจะออม" แล้ว จะ "เหลือจึงออม" หรือ "กันไว้ออม" ก็ไม่น่าจะแตกต่างนะคะ :)

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์