วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๒

ต่อจากตอนที่แล้ว วันนี้มาว่ากันเรื่อง การคิด

สอนลูกเรื่องการคิด

๑. การคิดแบบวิเคราะห์ – เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนไม่ได้สอน ทุกวันนี้เราถูกสอนให้เป็นหุ่นยนต์ ถูกสอนให้ฟังครูโดยไม่ตั้งคำถาม ถูกสอนให้ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นบอกโดยไม่ต้องคิดมาก ถูกสอนให้เป็นลูกจ้างที่ดีและหุบปากเอาไว้ ถ้าคุณเป็นนายจ้างคุณอาจจะอยากได้ลูกจ้างแบบนี้ และถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณก็อาจจะอยากให้ประชาชนเป็นแบบนี้ แต่คุณอยากให้ลูกของคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ให้เขาเป็นเด็กนักเรียน/ลูกจ้าง/ประชาชนที่ไม่รู้จักตั้งคำถาม พาซื่อ ไม่รู้ทันโลก ถ้าคุณคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าไม่ใช่ คุณต้องหัดให้เขาเป็นคนช่างสงสัย ให้เขารู้จักถามว่า “ทำไม” จนเป็นนิสัย และสอนให้เขารู้จักค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง สอนให้เขารู้จักตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว

ในการสอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์รู้จักตั้งคำถาม พ่อแม่เองต้องเปิดใจกว้างกับความคิดและเหตุผลของลูก ในการกระตุ้นให้กล้าท้าทายอำนาจเหนือกว่าพ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะโดนท้าทายความคิดด้วยเช่นกัน ต้องสอนให้รู้จักกล้าแสดงความคิดเห็นโดยใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ต้องมั่นใจในตัวเองแต่ไม่ก้าวร้าว เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สอนให้เขายึดมั่นคุณธรรมและความถูกต้อง

๒. การอ่าน - แน่นอนว่าพวกเราถูกสอนให้อ่าน แต่โรงเรียนมักทำให้การอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ เราควรสอนให้ลูกรู้จักความอัศจรรย์แห่งโลกจินตนาการ สอนให้เขาได้เรียนรู้และเติบโตจากการอ่าน สอนวิธีค้นหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต และให้เขารู้จักประเมินความน่าเชื่อถือ ใช้เหตุผล และชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงของสิ่งที่เขาได้อ่าน

การอ่านกับการคิดแบบวิเคราะห์เป็นทักษะที่แยกออกจากกันไม่ได้ การอ่านเยอะๆ เป็นการสะสมข้อมูลให้เราสามารถคิดแบบวิเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้การคิดแบบวิเคราะห์ในการอ่านเรื่องต่างๆ ทั้งสองทักษะควรใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ (อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ, อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน)

ในบทความต้นฉบับเขาพูดเรื่องการคิดไว้แค่ ๒ อย่าง แต่ความที่เพิ่งจะอ่านเจอกระทู้ในพันทิป เรื่องที่มีคนบ่นว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่มีความรู้แต่ไม่มีความคิด (หรือไม่มีความสามารถในการคิดที่จะเอาความรู้มาประยุกต์ใช้) เขาพบว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องรอให้คนมาบอกว่าจะทำอะไรอย่างไร เราว่าตรงนี้ก็เป็นส่วนที่น่าจะเสริมเข้าไปในการสอนให้ลูกรู้จักการคิดแบบวิเคราะห์ด้วยเหมือนกัน

นั่นคือ พ่อแม่ควรจะต้องสอดแทรกเรื่องของการประยุกต์ความรู้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันเข้าไปด้วย แต่หลายๆ คนก็อาจจะแย้งว่ามีหลายๆ วิชา (เช่น คณิตศาสตร์ยากๆ หรือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ที่ตัวเองเรียนไป ก็ไม่เห็นจะได้เอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของเราก็คือ มีบางอาชีพที่จะต้องใช้ความรู้ตรงนั้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ เราเรียนไปเพราะเรายังไม่รู้ว่าเราจะไปเป็นคนพวกนั้นหรือเปล่าในอนาคต เพราะฉะนั้นก็เรียนไว้ก่อน

แต่ถ้าเจอลูกย้อนกลับมาว่า มั่นใจว่าคงไม่ได้มีอาชีพที่ต้องใช้วิชาเหล่านั้นแหงๆ แล้วจะเรียนไปทำไม ก็ตอบ(กำปั้นทุบดินอีกที)ไปว่า หลายๆ ครั้งเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ไม่ต้องการทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบ มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะนักเรียน เป็นการฝึกตนเองเพื่อสร้างวินัยเพื่อให้เราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญที่มีความรับผิดชอบ :)

ส่วนในเรื่องที่บ่นกันว่าเด็กสมัยนี้ต้องให้มีคนคอยบอกตลอดเวลาว่าต้องทำอะไรอย่างไร เราคิดว่าเป็นผลมาจากการที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกได้มีโอกาสฝึกการคิดแบบวิเคราะห์ แต่สอนให้ลูกเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งอาจจะเป็นการทำไปแบบไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าลูกเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่วางแผนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว คอยแก้ปัญหาให้หมดทุกอย่าง ลูกก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย การจะที่ลูกจะสามารถคิดอะไรๆ เองได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยบอก พ่อแม่ต้องมีเรื่องให้เขารับผิดชอบบ้าง ให้เขาได้เผชิญปัญหา และแก้ปัญหาเอง บางครั้งพ่อแม่ต้องทนที่จะเห็นลูกล้มเหลว ผิดหวัง ลำบากบ้าง เพราะนั่นคือชีวิตจริงที่ลูกจะต้องเจอเมื่อเขาโตขึ้น

อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่มีลูก ไม่คิดจะมีลูก แต่มาขอเรียนบทเรียนชีวิตด้วยคนครับ 8-)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ด้วยๆ ไม่อยากมีลูก แต่มีคนอยากอุ้มหลานแล้วอ่ะ ปวดหัว ปวดหู ชะมัด

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์