วันนี้มาต่อตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม ในบทความต้นฉบับเขาเขียนเรื่องนี้ไว้ ๕ หัวข้อ แต่เราเอามารวบให้เหลือ ๓ หัวข้อซะงั้น :P ที่จริงจะสรุปให้สั้นกว่านี้อีกก็ได้ สรุปเหลือข้อเดียวว่า เป็นการสอนให้ลูกรู้จักคิดถึงคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว (เราเคยดูรายการ “ดิ ไอคอน ปรากฏการณ์คน” วันที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาออกรายการ ท่านบอกว่า “การมีศีลธรรม หมายถึง การคิดถึงคนอื่นก่อนคิดถึงตัวเอง ทำเพื่อคนอื่นก่อนทำเพื่อตัวเอง” สั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความดีแท้ๆ)
สอนลูกเรื่องสังคม
๑. ต่อต้านการแข่งขันชิงดีชิงเด่น – ตอนเป็นเด็กเราถูกสอนให้แข่งขันกับคนอื่น ในโลกของผู้ใหญ่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกัน และผลลัพธ์ก็คือการหักหลังกัน การแทงข้างหลัง ความขุ่นข้องหมองใจ และความรู้สึกเลวร้ายอื่นๆ ในทำนองนั้น
แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกแข่งขัน ควรสอนเขาว่ามีที่ว่างสำหรับทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เขาไม่จำเป็นต้องชนะคนอื่นเพื่อเป็นคนเดียวที่ประสบความสำเร็จ สอนให้เขารู้ว่าถ้าเขารู้จักช่วยเหลือคนอื่น ตัวเขาเองจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะคนอื่นก็จะเต็มใจช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทน สอนให้เขารู้ว่าการสร้างพันธมิตรดีกว่าการสร้างศัตรู สอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือเกื้อกูลและทำงานเป็นทีมก่อนจะให้สอนให้เขารู้จักการแข่งขัน
นอกจากการแข่งขันเพื่อเอาชนะแล้ว เราอยากจะเห็นสังคมไทยปราศจากความอิจฉาริษยาและหมั่นไส้คนอื่น ความอิจฉา คือ ความไม่พอใจที่เห็นคนอื่นดีกว่าเรา โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงดีกว่าเรา
พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูก ถ้าพ่อแม่ยังเห็นคนข้างบ้านดีกว่าแล้วอิจฉา ยังเห็นเพื่อนร่วมงานก้าวหน้ากว่าแล้วอิจฉา เห็นลูกคนอื่นเรียนเก่งกว่าแล้วอิจฉา ลูกก็จะติดนิสัยนั้นมาด้วย เวลาที่เห็นคนอื่นดีกว่า พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกดูว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะดีเหมือนเขาได้ มีอะไรที่เขาทำแล้วเรายังไม่ได้ทำ ควรเปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นแรงผลักดัน/แรงบันดาลใจ
๒. ความรักและความมีเมตตา – ความมีเมตตา คือการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจในความทุกข์ยากของคนอื่น และพยายามช่วยให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์หรือความลำบาก ความรักเป็นสิ่งที่คู่กับความมีเมตตา แต่ความรักต่างจากความเมตตาตรงที่ ถ้าเรามีความเมตตาต่อผู้อื่น เราไม่อยากเห็นเขามีความทุกข์ยาก เราจะพยายามช่วยกำจัดความทุกข์ยากออกไป ถ้าเรามีความรักต่อผู้อื่น เราจะอยากเห็นเขามีความสุขด้วย เราจะรู้สึกยินดีที่เขามีความสุข
๓. การรับฟังคนอื่นและการสนทนา – ในโรงเรียนมักจะไม่สอนให้เด็กรับฟังอื่น เมื่อเด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีทักษะของการรับฟังคนอื่น สังคมก็วุ่นวาย เพราะมีแต่คนพูดๆๆ แต่ไม่มีคนฟัง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักรับฟังคนอื่นอย่างจริงจังตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก และเข้าใจความรู้สึกของคนพูด
การสนทนาเป็นสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ได้กับการรับฟังคนอื่น และเช่นเดียวกันโรงเรียนไม่ได้ก็สอนศิลปะในการสนทนา เด็กๆ ถูกสอนว่าการสนทนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ คือ การสนทนา ไม่ใช่ การเล็คเชอร์ พ่อแม่จะต้องสอนทักษะของการสนทนา (ซึ่งหมายถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน) โดยการกระทำ เมื่ออยู่ในบ้านพ่อแม่ควรพยายามพูดคุยกับลูกๆ แทนที่จะบอกหรือสั่งให้พวกเขาทำอะไรๆ
อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน
วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น