วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๖ (จบ)

มาถึงตอนจบของบทเรียนชีวิต (ซะที -_-") จากที่เขียนมาไม่ค่อยมีคนมาเขียนคอมเมนต์กันเท่าไหร่ เราคุยกับพี่สาวเราแล้ว ก็เห็นตรงกันว่า คนที่เป็นพ่อแม่อ่านแล้วน่าจะรู้สึกเหนื่อย (ทำไมเลี้ยงลูกมันยากขนาดนี้...) แต่ถ้ามองกันดีๆ เรื่องทั้งหมดนี้มันคือ “หน้าที่ของพ่อแม่” ในการเลี้ยงและดูแลลูก

แต่บางทีพ่อแม่สมัยนี้ก็ลืมตัว... ยกหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกให้กับครูที่โรงเรียน หวังให้ครูสอนให้ลูกเติบโตเป็นคนดี เอาหน้าที่การดูแลลูกไปให้พี่เลี้ยง หวังว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ ทิ้งหน้าที่เลี้ยงดูลูกไว้กับทีวี, เกม, หนังสือการ์ตูน หวังว่าลูกจะได้เก็บทักษะความรู้ปรัชญาชีวิตจากสิ่งเหล่านั้น ปล่อยหน้าที่ปกป้องลูกไว้กับรัฐ หวังว่ารัฐจะช่วยจัดการสิ่งเลวร้ายให้หมดไปจากสังคม แต่มันเป็นความหวังที่เป็นไปได้ยาก

ถ้าลองไล่ดูตามรายการที่พ่อแม่จะต้องสอนลูกที่เราเขียนแปลมา ๕ ตอน (รวมตอนนี้ด้วยก็เป็น ๖ ตอน) มันอาจจะดูเยอะ แต่เราว่าถ้าพ่อแม่ได้มีเวลาใกล้ชิดกับลูก สั่งสอนลูกตามสมควรโดยไม่ต้องคิดว่านี่เรากำลังสอนลูกเรื่องการเงิน เรื่องความคิด เรื่องความสุข ฯลฯ แค่สอนลูกในสิ่งที่ดีและทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก พ่อแม่ก็ได้สอนลูกในเรื่องที่เขียนมานี้ไปโดยอัตโนมัติ (และสอนหลายๆ หัวข้อพร้อมกัน)

อย่าลืมว่าเด็กๆ เรียนรู้จากตัวอย่าง เลียนแบบสิ่งที่เขาใกล้ชิด พบเห็น เจอะเจอ เพราะฉะนั้นพ่อแม่อยากจะให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวเองให้เป็นอย่างนั้นก่อน

อ่ะ... มาอ่านเรื่อง สอนลูกเรื่องความสุข อันเป็นตอนจบกันดีกว่า

๑. อยู่กับปัจจุบัน – อันที่จริงความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันเป็นธรรมชาติสำหรับเด็กๆ ยิ่งเราโตขึ้นเท่าไร ความสามารถ (หรือทักษะ) ในการอยู่กับปัจจุบันจะยิ่งลดลงตามลำดับ ผู้ใหญ่มักคิดถึงแต่อนาคตกับอดีต และปล่อยให้ปัจจุบันหลุดลอยไปจากชีวิต

ควรพยายามสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้ ตรงหน้าเรา อดีตที่ผ่านไปแล้ว เราแก้ไขไม่ได้ เรียนรู้จากมันแล้วนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน อนาคตยังมาไม่ถึง เราจะวิตกกังวลหรือคาดหวังอะไรก็ไม่มีประโยขน์ คิดถึงอนาคตเพื่อที่จะวางแผนว่าจะทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร

๒. มีความสุขกับชีวิต – เด็กๆ มักไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องนี้ แต่พ่อแม่ก็อาจจะมีส่วนช่วยสอนให้เขาตระหนักรู้ถึงความสำคัญและวิธีการที่จะมีความสุขกับชีวิตของตัวเองให้ได้

บางทีผู้ใหญ่หลายคนอาจจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเด็กในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา การตั้งความคาดหวังและเป้าหมายที่เหมาะสม พ่อแม่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการที่จะมีความสุขกับชีวิตอย่างเหมาะสมและพอเพียง

เราเคยฟังที่คุณ “หนูดี” วนิษา เรซ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับเข่าคุย” เธอบอกว่าเธอเคยมีความสุขกับทำให้ได้ตามเป้าหมายใหญ่ๆ ในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตอนเรียนก็อยากเรียนเก่งๆ เข้ามหาวิทยลัยดีๆ ได้ พอทำงานก็อยากประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า ได้เลื่อนตำแหน่ง ทำงานได้เงินเยอะๆ จากนั้นก็อยากซื้อบ้านซื้อรถ

กว่าจะได้มีความสุข เราจะต้องไปถึงเป้าหมายใหญ่ๆ ที่ตั้งเอา ซึ่งในชีวิตก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง จะเปรียบไปก็เหมือนกับเรามี “กล่องความสุข” การตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ก็คือมีกล่องความสุขใบใหญ่ๆ เมื่อเราหาของมาใส่กล่องได้เต็มกล่องแต่ละครั้ง ก็จะมีความสุข แล้วเราก็เปลี่ยนไปหากล่องใบใหม่ (ซึ่งใหญ่กว่าเดิม)

แต่อีกวิธีหนึ่งที่เราจะมีความสุขได้มาก คือ ทำกล่องความสุขของเราให้เล็กลง รับรู้ความสุขง่ายๆ เช่น การได้กลับบ้านไปกินข้าวกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก การได้อ่านหนังสือ สอนลูกทำการบ้าน การไปเที่ยวหย่อนใจที่ต่างๆ เรื่องพวกนี้ทำให้เราสามารถมีความสุขได้ง่ายๆ บ่อยๆ ตลอดเวลา

๓. ค้นหาเป้าหมาย – การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป้าหมายที่สูงส่งในด้านจิตวิญญาณอย่าง การบรรลุธรรมหรือเข้าใจในแก่นศาสนา หรือเป้าหมายใกล้ๆ ตัวอย่าง การตั้งใจทำให้ครอบครัวมีความสุข หรือแม้แต่การไล่ตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป้าหมายในชีวิตทำให้เรารู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร และจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร

พ่อแม่ควรจะช่วยชี้นำลูกในการค้นหาเป้าหมายให้กับชีวิต ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการกำหนดเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่นๆ ในสังคม

๔. สร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง - วิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ลูกรู้จักพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งให้ยาวนาน คือ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง สอนให้เขาเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์ ซึ่งมีจะทั้งช่วงที่ดีและช่วงที่เลวร้าย สอนให้เขารู้จักจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล

สิ่งที่สำคัญมากในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี คือ การพูดคุยสื่อสารกัน การยอมรับฟังความคิดเห็น การให้เกียรติซึ่งกันและกัน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักประนีประนอม การให้อภัยซึ่งกันและกัน การไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"ตามประสาพ่อ แม่ ลูก" ไม่ค่อยเห็นใช้กันแล้วนะครับสมัยนี้ คงอายกัน ชอบไอเดียกล่องความสุขมากครับ เดี๋ยวต้องกลับไปซอยของตัวเองให้มันเล็กลงบ้าง

แต่ชอบที่สุดก็คงไม่พ้น..คุณหนูดี :D

nitbert กล่าวว่า...

เอ.. ทำไม "ตามประสาพ่อ แม่ ลูก" ถึงต้องอายล่ะคะ?

คุณหนูดีเดี๋ยวนี้ดังใหญ่แล้ว มีโฆษณาเลยได้เห็นหน้าบ่อยๆ แต่เราไม่ชอบ (คนอาไร้ ทั้งสวยทั้งฉลาด เชอะ...) อิจฉาหนะ 555

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มันเหมือนคนร่วมบ้านมากกว่าครอบครัวน่ะครับ ต่างคนต่างอยู่ ไม่พูดคุย ไม่สังสรรค์ ไม่กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันสักเท่าไหร่

แต่วันนี้เจ้าของบ้าน 'เชอะ' ได้อารมณ์จริงๆ อ่านแล้วคอแทบเคล็ด 555

nitbert กล่าวว่า...

สงสัยเป็นเพราะ 'เชอะ' ออกมาจากใจมั้งคะ เลยได้อารมณ์เป็นเพิเศษ 5555

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ค่อยๆอ่านไล่หลังมาทีละตอนค่ะ
เลยต้องมาขอบคุณตอนจบ
เป็นเรื่องที่ดีที่เก็บไว้สอนตัวเองค่ะ
ปล.อยู่ไกลบ้าน คุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดคอยสอนค่ะ -.-"

nitbert กล่าวว่า...

คุณ miuhung ขอบคุณมากค่ะที่มาทักทาย ยินดีที่เรื่องที่เขียน(แปล)ไปยังมีคนอ่านอยู่ :)

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์