วันก่อนดูรายการ “หนึ่งในพระราชดำริ” ทางโมเดิร์นไนน์ ตอน “เด็กพิเศษ” ซึ่งหมายถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่เด็กอัจฉริยะ เด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (LD - Learning Disability) เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ
พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ลูกสามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งคุณหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษบอกว่า ถ้าพ่อแม่ยอมรับว่าลูกมีปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ หมอก็จะสามารถแนะนำวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยเด็กได้
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ เพราะต่อให้หมอที่เก่งแค่ไหน นักกิจกรรมที่มีความสามารถแค่ไหน แต่คนที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดก็คือพ่อแม่ นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องให้เวลา อย่าคิดว่าการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษคือการวิ่งร้อยเมตร จะสปีดให้ถึงเส้นชัย มันเป็นไปไม่ได้ ให้นึกว่าเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ต้องสปีด แต่ก็ต้องไม่หยุดวิ่ง...
ในรายการบอกว่าปัจจุบันเด็กที่อยู่ในวัยเรียนมีประมาณ 10 ล้านคน มีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษอยู่ไม่น้อย โดยมีเด็ก LD ประมาณ 6 แสน - 1 ล้านคน เด็กสมาธิสั้นประมาณ 5 แสน และเด็กออทิสติกอย่างน้อย 5 หมื่นคน หมายความว่าอย่างต่ำ ๆ มีเด็กพิเศษประมาณ 1 ล้านกว่าคน หรือในเด็กทุก ๆ 10 คน จะมีเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 1 คน
จำนวนตัวเลข 1 ใน 10 อาจจะทำให้พ่อแม่วิตกกังวลว่าลูกตัวเองจะมีปัญหา แต่สิ่งที่พ่อแม่น่าจะวิตกกังวลมากกว่าก็คือ เด็กธรรมดาที่พ่อแม่ปล่อยให้ดูทีวี-เล่นเกมจนติด จะแสดงลักษณะและอาการคล้ายกับเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการมีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารที่ช้ากว่าปกติ การไม่ชอบสังคม การจัดการกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ นี่ก็ตรงกับที่เราเคยเล่าเรื่องเด็กติดทีวีที่ได้ดูในรายการจุดเปลี่ยน
สรุปว่าพ่อแม่คงต้องตระหนักด้วยว่าควรจะเลี้ยงลูกกันอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้ลูกที่เป็นเด็กปกติ กลายเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ “การสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” อย่างในบทความ พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย ที่ก็อปปี้มาโพสต์ไปเมื่อวันก่อนน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เห็นผลแล้วเป็นรูปธรรม
หนังสือภาพ 5 เรื่องเอกของโลก
หลังจากที่เราโพสต์เรื่องพัฒนาเด็กด้วยหนังสือไป ก็มีคนบอกว่าเคยได้ยินว่ามูลนิธิซิเมนต์ไทยแนะนำหนังสือภาพคลาสสิกสำหรับเด็ก 5 เล่ม แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรบ้าง เราเสิร์ชเจอแล้วก็ส่งลิงก์ไปให้ แต่พอดีเพื่อนเราที่มาโพสต์คอมเมนต์ไว้ก็พูดถึงเหมือนกัน เราคิดว่าคงมีประโยชน์กับหลายคน เลยก็อปปี้มาโพสต์ไว้ตรงนี้ด้วย
1. แมวล้านตัว (Million of cats)
เรื่องและภาพโดย แวนดา ก๊อก
แปลโดย ชีวัน วิสาสะ
ราคา 40 บาท
“แมวล้านตัว” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2498 และยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีอายุยืนที่สุดของอเมริกาที่ยังมีการตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ภาพต้นฉบับใช้หมึกดำสีเดียว ลายเส้นประณีตและงดงามมาก แมวล้านตัวได้รับการตีความมากมาย ทั้งทางปรัชญา ศาสนา การใช้ชีวิต ความโลภ เสียดสี เหน็บแนม ความเห็นแก่ตัว และความไร้เดียงสาของมนุษย์ รวมถึงนิยามความเป็นมนุษย์และความงามอันหลากหลาย
2. เดินเล่นในป่า (In the forest)
เรื่องและภาพโดย มารี ฮอลล์ เอ็ตส์
แปลโดย อริยา ไพฑูรย์
ราคา 40 บาท
“เดินเล่นในป่า” มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามสไตล์ของ มารี ฮอลล์ เอ็ตส์ คือการใช้ดินสอเพื่อให้ได้ภาพที่ดูอบอุ่นและอ่อนโยน หนังสือของเธอทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากที่เคยเชื่อว่าหนังสือเด็กจะต้องมีสีสันมากมายนั้นต้องเปลี่ยนความคิดไป เพราะหลายเล่มได้รับการพิสูจน์แล้วว่าหนังสือสำหรับเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องมีสีสันสดเจิดจ้าเสมอไป ถ้าหนังสือเล่มนั้นสามารถสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ด้วยเรื่องและภาพที่ดี
3. คอร์ดูรอย (Corduroy)
เรื่องและภาพโดย ดอน ฟรีแมน
แปลโดย อัจฉรา ประดิษฐ์
ราคา 50 บาท
“คอร์ดูรอย” พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2511 ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) และลงสีน้ำ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหว มีอารมณ์ และน่าตื่นเต้น กระทั่งได้รับการกล่าวอย่างชื่นชมว่า ไม่มีใครแกะไม้ให้ตัวละครมีหน้าตาเกลี้ยงเกลาและแสดงอารมณ์ได้มากเท่าภาพตัวละครในหนังสือเล่มนี้
4. มีหมวกมาขายจ้า (Caps for sale)
เรื่องและภาพโดย แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา
แปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์
ราคา 70 บาท
“มีหมวกมาขายจ้า” เป็นนิทานเก่าแก่ของอินเดีย ถูกนำมาทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งแรกเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว และยังคงติดอันดับขายดีจนถึงปัจจุบัน แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา เป็นศิลปินนักออกแบบสามารถทำภาพประกอบได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีอารมณ์ขัน การออกแบบฉากและตัวละครให้ดูใกล้ชิดกับเด็ก ๆ
5. เมล็ดแคร็อท (The Carrot Seed)
เรื่องและภาพโดย รัธ เคิร์ส และ คร็อคเก็ท จอห์นสัน
แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจัดพิมพ์ (8 ก.ค. 51)
“เมล็ดแคร็อท” เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่าเรื่องง่าย ๆ ใช้คำเพียง 101 คำ แต่มีความลึกซึ้ง เนื้อหาของเรื่องทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจคำว่า “อดทน รอได้” เป็นอย่างดี Maurice Sandak เจ้าของเรื่อง ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย ยกย่องหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “หนังสือภาพเล่มนี้สมบูรณ์แบบจนเรียกว่า เป็นบรรพบุรุษของหนังสือภาพทุกเล่มในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ มันคือการปฏิวัติเล็ก ๆ ของหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของการพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กไปตลอดกาล”
รูปและข้อมูลมาจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย http://www.scgfoundation.org/update/2008-07-17/
วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
8 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากนะนิจสำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์ เอาไว้เราจะบอกเปาเปาว่าป้านิจเป็นคนแนะนำหนังสือพวกนี้ให้นะ :)
บอกเปาเปาว่า พี่สาว แนะนำมา :D
"เลี้ยงลูกด้วยหนังสือ" เห็นด้วยอย่างยิ่ง
แต่ทำได้ยาก เพราะบ้านเราหนังสือแพงโคตร
ถ้าเห็นแก่อนาคตของชาติจริง ๆ รัฐต้องงดหรือลดภาษีกระดาษ ... นี่ท่าจะยากกว่าเยอะ
หรือจะ "ซื้อเสียงด้วยหนังสือ" ก็น่าจะเข้าท่า ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง สส.ได้เสียง ประชาชนได้สมอง
คุณ golb ต้องย้อนกลับไปอ่านตอนที่แล้ว...
>>>ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยังมองเห็นว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กมีราคาแพง หากเมื่อมองให้ลึกถึงคุณค่าแล้ว หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ได้มีราคาแพงเกินกว่าคุณประโยชน์มหาศาลที่เด็กจะได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของใช้ฟุ่มเฟือยอื่น ๆ สำหรับเด็ก<<<
หวังพึ่งคนอื่นยากยิ่งนัก เปลี่ยนเป็น “ทำบุญด้วยหนังสือ” ไปก่อนละกัน (เดี๋ยวเขาพิมพ์ครบ ๕ เล่มเมื่อไหร่ จะซื้อแจกตามห้องสมุดต่าง ๆ ซัก หน่อย)
เปรียบกับของใช้ฟุ่มเฟือยน่ะ ใช่ครับ
แต่กับปากท้องแล้ว คุณ nitbert คงเดาได้ว่าพ่อแม่จะเลือกอะไร ในภาวะค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตคนไทยในเวลานี้
เรื่องนี้รัฐไม่ใช่ที่พึ่งครับ รัฐต้องบริการ
ไม่เพียงแค่หนังสือราคาถูก ต้องมีห้องสมุดประกบตามสาขา 7-Eleven เลย ไกลกันดารนักก็ทำเป็นโมบายไลบรารี่ก็ได้ แต่ต้องมาตรฐานระดับ Museum Siam นะครับ ต่ำกว่านั้นมันจะกลายเป็นสุสานไปซะเปล่า
งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ขอแค่ หนึ่งเทอม(สี่ปี)ของรัฐบาลไม่ต้องซื้ออาวุธเลย บวกกับอีกซักสี่ห้าเปอร์เซ็นต์จากกำไรของ ปตท. แค่นี้ก็พอถมถืดแล้ว
มีอยู่โครงการนึงเห็นแวบ ๆ ทางทีวี ชื่ออะไรของใครไม่รู้ครับ ที่นิมนต์พระมาบิณฑบาตรหนังสืออ่ะ ผมว่าเจ๋งดี เปลี่ยนจากพระมาเป็นเด็กช้อปหนังสือฟรีน่าจะดี
:)
เห็นด้วยกับคุณ golb แค่ส่วนเดียว... เป็นความจริงที่มีคนจำนวนมากพอสมควร ที่มีรายได้น้อย และไม่พร้อมจะใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเพราะแค่ค่ากินค่าอยู่ก็แย่แล้ว
แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่ง ที่บอกว่าเงินไม่พอใช้ รายได้น้อย แต่กลับเอาเงินไปซื้อเหล้า-บุหรี่-เล่นหวย ผ่อนโทรศัพท์มือถือ ผ่อนทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
แล้วก็มีคนฐานะปานกลางไปจนถึงดีจำนวนหนึ่ง ก็มัวแต่ไปแข่งขันด้านวัตถุกัน ซื้อของเล่นแพง ๆ ไฮเทคให้ลูก
เรื่องหวังพึ่งรัฐบาลนี่ขอไม่คอมเมนต์ดีกว่า เพราะมองไม่เห็นความหวังแม้แต่น้อย... -_-"
อันนี้ยอมเลย..ทำให้คนไทยรู้คุณค่าของหนังสือนี่ยากกว่าลดราคาหนังสือเป็นไหน ๆ
ทำสวนง่ายกว่าเยอะ ได้อ่านต้นไม้ อ่านแดด อ่านลม ฟรี ๆ ทุกวัน
:)
บางคนก็โชคดี ได้ทำสวน ชมไม้ดอกไม้ใบ
แต่บางคนก็ต้องก้มหน้าก้มตา “ไถนา” เอ้ย... นั่งจับเจ่าอยู่หน้าคอมฯ ต่อไป :P
แสดงความคิดเห็น