วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ลมหนาว

เมื่อเช้ารู้สึกว่าลมหนาวมาถึงกรุงเทพฯ แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะมีไอเย็นๆ ลอดหน้าต่างเข้ามา พาลให้อยากจะซุกตัวในผ้าห่มต่ออีกซักชั่วโมงสองชั่วโมง -_-”

ใครที่ยังไม่ทันสังเกต เพราะยังปิดหน้าต่าง เปิดแอร์ ลองเปิดหน้าต่างให้ลมเย็นๆ เข้ามาในห้องดูบ้าง กลิ่นลมหนาวหอมชื่นใจ ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ขี้ร้อนจนเกินไป บางทีช่วงนี้อาจจะไม่ต้องอาศัยแอร์หรือพัดลมเลยด้วยซ้ำ (ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยลดภาวะโลกร้อน)

อากาศเย็นๆ พาลให้ขี้เกียจ สมองไม่แล่น ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เอาเรื่องที่อ่านในมติชนสุดสัปดาห์มาเล่าให้ฟังดีกว่า :)

คอลัมน์เมนูข้อมูลในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ “ไปให้ไกลกว่า ‘ปานกลาง’” พูดถึงผลสำรวจของสภาการศึกษาแห่งชาติในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไรกับการศึกษาไทย ณ วันนี้” ร้อยละ ๘๔.๕ พอใจกับการศึกษาในปัจจุบัน ฟังดูแล้วช่างขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปที่บ่นกันว่าการศึกษาของไทยแย่ลงๆ จนถึงขั้นสิ้นหวัง

งั้นลงไปดูในรายละเอียดของผลสำรวจกันหน่อย พบว่า “พอใจมาก” มีแค่ร้อยละ ๑๙.๙ “พอใจปานกลาง” ร้อยละ ๕๖.๓ “พอใจน้อย” ร้อยละ ๘ และ “ไม่พอใจร้อย” ละ ๑๕.๕ (คนทำสำรวจต้องการชี้นำอะไรหรือเปล่า จึงกำหนดตัวเลือกคำไว้เช่นนี้?)

จะเห็นว่าคนที่ “พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๙.๙ เยอะกว่าคนที่ “ไม่พอใจมาก” จำนวนร้อยละ ๑๕.๕ อยู่แค่เล็กน้อย ส่วนคนที่ “พอใจกลางๆ” ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของการแสดงความเห็นของคนไทยหรือเปล่า ที่มักจะเลือกตรงกลางๆ เอาไว้ก่อน เพราะปลอดภัยดี

ถ้าผู้บริหารการศึกษาจะบอกว่าคนส่วนใหญ่พอใจกับระบบการศึกษาในปัจจุบันก็พอจะกล้อมแกล้มพูดไปได้ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่โอกาสในการแข่งขันเป็นของผู้ที่เหนือกว่า ความพอใจปานกลางร้อยละ ๕๖.๓ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารการศึกษาควรจะพึงพอใจแล้วหรือ เมื่อรู้ว่าโลกทุกวันนี้ไม่เหลือไว้ให้คนที่ได้อันดับกลางๆ มีแต่ผู้ที่เหนือกว่าเท่านั้นที่จะมีที่ยืนได้ เมื่อบริษัทรับสมัครงาน ส่วนใหญ่ก็จะรับผู้ที่ดีที่สุดเข้าทำงาน คนระดับกลางๆ แทบไม่มีโอกาสได้ทำงาน

ถ้าหากคิดว่าการให้การศึกษาคือการให้อนาคต ผู้บริหารควรจะต้องบริหารการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร “ชั้นนำ” ออกมา ไม่ใช่พอใจกับการผลิตบุคลากร “ระดับปานกลาง” เพราะเท่ากับผลิตคนออกมาให้ตกงานหรือทำงานต่ำกว่าวุฒิ ซึ่งเป็นความสูญเปล่า การผลิตบุคลากรชั้นนำจะทำไม่ได้เลย หากสถาบันหรือผู้บริหารการศึกษามีความรู้สึกว่าแค่ความพอใจปานกลางก็เป็นความสำเร็จแล้ว...

จากการศึกษา มาต่ออีกเรื่องหนึ่ง... เรื่องการทำงาน

คอลัมน์เมนูข้อมูล ฉบับวันที่ ๕-๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ “น่ารักจริงๆ ประเทศไทย” พูดเรื่องที่ว่าค่าแรงของคนไทยสูงกว่าจีนหรือเวียดนาม แต่ความรู้ความสามารถของเราเริ่มจะสู้เขาไม่ได้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต ราคาสินค้าไทยแพงกว่า เป็นปัญหาในการแข่งขันในตลาดโลก สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความสามารถที่ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากกว่า

แต่พอมาดูผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่อง “ความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากรปี ๒๕๕๐” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำไปวางแผนพัฒนาและช่วยเหลือผู้อยู่ในวัยแรงงานซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ประชากรในวัยนี้มี ๕๐.๘ ล้านคน มีแค่ ๙.๒๕ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๘.๒ ที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถของตน ที่เหลืออีก ๔๑.๕๗ ล้านคนหรือร้อยละ ๘๑.๘ ไม่ต้องการพัฒนา

ในบรรดาคนว่างงานซึ่งมีจำนวน ๕.๙ แสนคน เมื่อถามว่าจะหางานได้อย่างไร ร้อยละ ๗๑.๗ อยากให้รัฐช่วยหางานให้ทำ ร้อยละ ๑๕ ขอทุนจากรัฐเพื่อประกอบอาชีพ ร้อยละ ๕.๘ ขอเข้าพัฒนาฝีมือแรงงาน ร้อยละ ๓.๘ ขอให้สนับสนุนอาชีพทางเกษตร ร้อยละ ๓.๘ ขอให้ช่วยเหลือเงินค่าเรียนบุตร ร้อยละ ๑ ขอข้อมูลตลาดแรงงาน

ข้อมูลนี้บอกได้ชัดเจนว่าคนไทยส่วนใหญ่ รักสบาย ไม่ต้องการการพัฒนา หากจะพัฒนาก็เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีงานทำก็มุ่งแบมือขอความช่วยเหลือเป็นหลัก ตอนนี้โลกก้าวไปไกลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การแข่งขันต้องการความรู้ความสามารถที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พี่น้องไทยเรา ไม่สนใจการพัฒนาตัวเอง มุ่งแต่จะสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเรียกร้อง และรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่น

อ่านแล้วไม่รู้ว่าจะรู้สึกหนาวหรือรู้สึกร้อนดี...

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้สึก "ชา" ดีไหมครับ? เอิ๊กกกกก...

ผมถือคตินี้มานานหลายปีแล้ว สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม (ผมคิดต่อเอาเองว่า กรรมคือการกระทำ เพราะฉะนั้นใครทำอะไรก็จะได้สิ่งนั้น จะได้ปลง)

ไม่ฮิ้วววว...

nitbert กล่าวว่า...

งั้นคงต้องรู้สึกทั้ง "ชิน" และ "ชา" เลยมั้งคะคุณ mymoney -_-"

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์