ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องจัดเรทติ้งรายการทีวีกันเยอะ ทีวีเมืองไทยมีระบบเรทติ้งมาพักใหญ่แล้ว (จำระยะเวลาไม่ได้แน่ เหมือนได้ยินแว่วๆ ว่า ๙ เดือนแล้ว) แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไร เดิมเขากำหนดว่า รายการที่มีความรุนแรง ภาษาไม่สุภาพ เนื้อหาไม่เหมาะสม ก็ให้ได้เรทติ้ง น.หนู (แนะนำ คือ ไม่เหมาะจะให้เด็กดูตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ) หรือ ฉ.ฉิ่ง (เฉพาะ)
เราเห็นละครที่ฉายช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวก็ติดเรทติ้ง น.หนู กันทั้งนั้น กลายเป็นว่าการจัดเรทติ้งไม่ได้ทำให้คนทำรายการ พยายามทำรายการให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น แต่แค่ทำให้พวกเราได้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ในช่วงหนึ่งทุ่ม-สามทุ่ม ทีวีเมืองไทยมีรายการที่ไม่เหมาะกับเด็กมากขนาดไหน (เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์) ที่น่าขำปนเศร้ามากกว่า คือ รายการทีวีตอนดึกๆ ยังมีรายการ ท.ทหาร (ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วไป) เยอะกว่าตอนค่ำซะอีก
เรื่องเรทติ้งมาฮ็อตอีกรอบก็เพราะคราวนี้เขาจะเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ว่า นอกจากจะจัดเรทติ้งแล้วยังมีการกำหนดช่วงเวลาฉายด้วย คือ รายการที่ได้เรทติ้งน. ขึ้นไป จะต้องไปฉายหลัง ๓ ทุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่ คนทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น กว่าพ่อแม่จะกลับบ้าน ก็มืดค่ำ ถ้าปล่อยให้ทีวีฉายรายการน.หนูช่วงหัวค่ำ พ่อแม่ยังไม่กลับมาถึงบ้าน ก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้รับคำแนะนำจากใคร) และรายการฉ.ฉิ่งเริ่มฉายได้หลังสี่ทุ่ม
ปรากฏว่าพวกผู้จัดรายการออกมาโวยวายกันยกใหญ่ ว่าจะทำให้รายการไม่มีคนดู ไม่มีสปอนเซอร์ พวกผู้จัดรายการอยู่ไม่ได้ ฯลฯ พวกที่โดนผลกระทบเต็มๆ ก็มีแต่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าที่ฉายช่วงหนึ่งทุ่ม-สี่ทุ่มนั่นแหละ
ปกติเราก็ดูละครหลังข่าวนะ แต่ดูเป็นบางเรื่องและที่จริงเราก็ชอบ “ละครน้ำเน่า” นะ แต่คำว่า “น้ำเน่า” ของเรา คือ มีฉากกุ๊กกิ๊กโรแมนติก นางเอกต้องสวย พระเอกต้องหล่อ ถึงชีวิตมีอุปสรรค แต่สุดท้ายพระเอกกับนางเอกต้องลงเอยกันด้วยดี เราเรียกแบบนี้ว่าน้ำเน่า เพราะในชีวิตจริงชีวิตมันยุ่งยาก ซับซ้อน ลำบากกว่านั้นเยอะ
ยกตัวอย่างเรื่อง “รักเธอทุกวัน” ที่เพิ่งจบไป พล็อตเรื่องน้ำเน่ามาก พระเอกรวย นางเอกจน แต่ความแตกต่างด้านฐานะไม่สามารถแบ่งแยกความรักได้ แต่ในความน้ำเน่า ยังมีเรื่องดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมจิตใจได้ พระเอกรักนางเอกมากๆ รักเดียวใจเดียว รักนางเอกตั้งแต่แรกเจอและรักทุกวันสมชื่อเรื่อง นางเอกก็เป็นคนดี จิตใจดีงาม มีความตั้งใจมุ่งมั่นและพยายามทำตามความฝันของตัวเอง (คือเป็นช่างตัดผมที่มีชื่อเสียง หาเงินมาปลูกบ้านให้ได้ตามที่พ่อแม่ตั้งใจไว้)
เราว่าละครเรื่องนี้สามารถทำออกมาให้เป็นเรทติ้ง ท.ทหารได้สบายๆ การสร้างอุปสรรคให้พระเอก/นางเอก ไม่จำเป็นต้องให้ตัวอิจฉามาด่าทอ ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด ไม่จำเป็นต้องมีตัวร้ายที่เกลียดชังริษยาพระเอกนางเอกอย่างไร้เหตุผลและความสมจริง มีฉากหนึ่งที่เรารับไม่ได้เลยคือ ตอนที่ตัวร้ายจะเอาน้ำกรดไปสาดหน้านางเอก (เราเคยดูรายการสัมภาษณ์คนที่เป็นเหยื่อโดนน้ำกรดสาดหน้า น้ำกรดกัดเนื้อลึกลงไปถึงกระดูก เป็นแผลเหวอะหวะ ขนาดรักษาแผลหายแล้ว แต่แผลเป็นก็ยังดูน่าหวาดเสียวและสลดใจมากๆ) โชคดีที่ตัวร้ายซุ่มซ่ามทำขวดน้ำกรดตกแตก นางเอกเลยรอดไม่โดนน้ำกรดสาด แต่ตัวร้ายก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำชั่ว คว้าหม้อแบบที่ใส่กุ้งอบวุ้นเส้นจากร้านอาหารข้างถนน มาตีหัวนางเอกจนสลบและมีผลกับสมองจนตาบอด เราว่าฉากแบบนี้ควรจะโดนตัดทิ้งไปตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้ว
หรืออีกเรื่องหนึ่งที่เราดูก็คือ “รักแท้แซ่บหลาย” (เพิ่งจบไปเหมือนกัน) เราไม่ได้ดูตอนแรกๆ แต่จับเรื่องได้ประมาณว่านางเอกเป็นแม่ค้าขายปลาร้า น้องสาวเรียนเมืองนอก แล้วพ่อแม่ตายเลยต้องกู้หนี้ยืมสินมาส่งให้น้องเรียนจนจบ น้องสาวมีแฟนเป็นลูกเจ้าของโรงแรม ก็เลยอายไม่ยอมบอกว่าครอบครัวตัวเองขายปลาร้า หลอกว่าขายผ้าไหมส่งออก กะว่าหลังจากได้แต่งงานกันแล้วเรื่องก็จะจบ แต่ความแตกซะก่อน แฟนของน้องสาวก็เลยโกรธและเลิกกันไป (แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาคืนดีกันตามสไตล์ละครน้ำเน่าอยู่แล้ว)
ข้อคิดดีๆ ของเรื่องนี้ ก็คือ ตัวนางเอกที่รักในอาชีพของตัวเอง เป็นแม่ค้าปลาร้าที่ตั้งใจและมุ่งมั่น พยายามทำของดีมีคุณภาพออกมาขาย มีหนี้สินก็ไม่คิดจะเบี้ยว และไม่ยอมแพ้ พยายามจะหาเงินมาใช้หนี้ด้วยวิธีสุจริต
ละครน้ำเน่าพวกนี้ ตอนที่เป็นฉากธรรมดาๆ เราก็ดูอย่างสบายใจ แต่พอถึงฉากที่มีตัวอิจฉาออกมากรี๊ดๆ ด่ากันฉอดๆ ทำตัวไม่สร้างสรรค์ เว่อร์จนเกินเหตุ เราจะเบื่อมากจนบางทีต้องเปลี่ยนไปดูช่องอื่น พวกผู้จัดละครเขาบอกว่า “ต้องใส่ฉากพวกนี้เข้าไป เพราะคนดูชอบดู” เราไม่แน่ใจว่าที่มันเป็นความจริงหรือเขาคิดเอาเอง โอเค... คงมีคนส่วนหนึ่งที่ชอบดูจริงๆ ดูแล้วมันสะใจดี แต่น่าจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบดู แต่จำใจดูเพราะเขาไม่มีทางเลือก เปิดไปช่องไหนก็แย่เหมือนกันไปหมด ทีนี้จริงๆ แล้วคนดูกลุ่มไหนมากกว่ากันล่ะ?
วันก่อนเราฟังรายการวิทยุ “แทนคุณ จิตต์อิสระ” ให้ความเห็นที่น่าคิดว่า ผู้จัดรายการโวยวายว่า การกำหนดช่วงเวลาฉาย คือการที่รัฐบาลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดูรายการทีวี แต่พวกเขาน่าจะได้ลองคิดในมุมกลับด้วยว่า การที่ผู้จัดรายการทำละครออกมา (ไม่สร้างสรรค์) เหมือนกันหมดทุกช่อง ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มที่ไม่อยากดูรายการแบบนี้เหมือนกัน เพราะเขาไม่มีสิทธิจะเลือกดูรายการแบบอื่นเลย
เราว่าเรื่องนี้มันเป็น “วงจรอุบาทว์” คนทำรายการบอกว่า ต้องทำแบบนี้ก็เพราะคนดูชอบดู แต่ที่คนชอบดูรายการแบบนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการโดนสะกดจิต ได้ดูแต่เรื่องทำนองเดียวกันซ้ำๆๆๆๆ จนฝังในจิตใต้สำนึก หรือคนดูจำต้องดูเพราะไม่มีอะไรดีๆ ดู
เราจะตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริโภคสื่อตัดสินใจประท้วงไม่ยอมดูรายการที่ไม่สร้างสรรค์พวกนี้ หรือ คนทำรายการมีจิตสำนึกที่จะผลิตรายการที่สร้างสรรค์มากขึ้น เราว่ามันยากทั้งสองทาง เพราะคนจำนวนมากก็ยังอยากบริโภคสิ่งที่ตอบสนองกิเลส คนบางส่วนก็โดนสะกดจิต ส่วนที่เหลือก็ได้แต่บ่นหรือไม่ก็เลิกดูไปเลย จะหวังทางผู้ผลิตก็ยาก เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ รายได้มหาศาล ที่ได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า สังคมจะเลวร้ายหรือแย่ลงยังไง
เราไพล่ไปนึกถึงที่ ดร. สมเกียรติ (อ่อนวิมล) พูดเรื่องอยากทำนิตยสารดีๆ อย่างไทม์ แต่หานายทุนไม่ได้ เพราะนายทุนบอกว่าขายคนไทยไม่ได้หรอก ดร. สมเกียรติ บอกว่า อย่าไปดูถูกคนอ่าน คนที่มีความคิดและต้องการบริโภคสิ่งดีๆ ยังมีอยู่เยอะ และถึงกระทั่งว่าคนอ่านมีไม่เยอะ ในฐานะคนเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อควรเป็นคนนำตลาด นำมวลชนไปในทางที่สร้างสรรค์ สื่อสามารถยกระดับการบริโภคของคนได้ แต่เท่าที่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นการลดระดับของผู้บริโภค นำพากันไปในทางเสื่อมทั้งสิ้น
วันก่อนเราอ่านความเห็นของคนหนึ่งในนสพ. เขาบอกว่าความจริงเขาไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่หรอกว่า รายการทีวีจะเรทติ้งอะไร ฉ.ฉิ่ง น.หนู หรือ ท.ทหาร แต่ถ้าคนทำรายการ ตั้งใจว่าจะทำสิ่งดีๆ ทำด้วยเจตนาที่ดี มีสำนึกที่ดี รายการมันก็จะออกมาดี แถมเรื่องร้ายๆ ในสังคมนี้ มันไม่ได้มีแค่ในทีวี นอกจากละครน้ำเน่าในทีวีแล้ว เรื่องอื่นก็น่าห่วงเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้ที่เราเคยคุยกับพี่สาวเรื่องทำนองนี้ พี่สาวเราบอกว่า อยากจะเขียนจดหมายไปหาคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล บอกว่า ไหนๆ ไทยรัฐก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศ มีนโยบายสร้างทำเพื่อสังคม ไปสร้างโรงเรียนให้ตั้ง ๗๐-๘๐ โรง ไทยรัฐน่าจะตัดสินใจเลิกลงรูปดาราโป๊ๆ ทุกวันอาทิตย์ เลิกเสนอข่าวความรุนแรง ลงเรื่องคนไปไหว้อะไรต่ออะไรขอหวย ฯลฯ คือนำตลาดไปในทางที่สร้างสรรค์ เราบอกว่า ทำยากนะ พี่เราบอกว่า แต่เขาทำได้ถ้าเลือกจะทำ เพราะเขาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จมากแล้ว
เรากลับคิดไปในอีกทางหนึ่งว่า เราอยากเขียนจดหมายไปหาผู้จัดละครต่างๆ ว่า ทำไมไม่ลองทำละคร ทำรายการที่สร้างสรรค์ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีการทำร้ายกันทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ส่งเสริมค่านิยมดีๆ ให้คนรู้จักทำงานหนัก แข่งขันกันอย่างยุติธรรม เราเชื่อว่ายังมีคนอยากดูอีกเยอะ
ละครซิทคอมหลายๆ เรื่องดูสนุกโดยไม่ต้องอาศัยตัวอิจฉาที่วันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่แต่งตัวโป๊ๆ ทำท่าร้ายกาจด่าทอคนอื่น และยั่วยวนพระเอก เกมโชว์/ทอล์คโชว์หลายๆ รายการดูสนุกโดยไม่ต้องให้พิธีกรพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือเล่นเกมไร้สาระ เรายังเชื่อว่าคนไทยเก่งกาจ มีสติปัญญามากพอที่ทำรายการทำละครที่มีคุณภาพได้ แต่พี่เราก็บอกว่า ทำยากเหมือนกัน เพราะก็ต้องไปเกี่ยวพันกับเจ้าของเวลา สปอนเซอร์ ฯลฯ
เท่าที่เราเขียนๆ ที่บล็อกนี้มา ผลตอบรับน้อยมากๆๆ (แทบไม่มีคนคอมเมนต์เลย... เดาว่าอาจจะไม่มีคนอ่านจนจบ) แต่ถ้าที่เราเขียนไปวันนี้มีคนอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองช่วยแสดงความเห็นกันหน่อยได้ไหม ว่าถ้าเราจะล่ารายชื่อให้ได้ซักปริมาณหนึ่ง แล้วทำจดหมาย (ไม่ว่าจะไปถึงไทยรัฐ หรือผู้จัดละคร) ว่าไม่เอาแล้วรูปโป๊ๆ ในหนังสือพิมพ์ หรือละครน้ำเน่าในทีวี จะมีใครสนใจมาร่วมลงชื่อกับเราบ้างไหม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
7 ความคิดเห็น:
เราเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่นของบล๊อกนี้เลยหละค่ะ
อ่านทุกเรื่องไม่เคยพลาด(ขอบคุณfeed..)
แต่ก็ไม่เคยคอมเมนต์เลยอย่างที่ว่าจริงๆ
พออ่านถึงบรรทัดนั้น เลยต้องลงมาเริ่มเขียนคอมเมนต์ เพื่ออยากคอมเมนต์ต่อไปเืรื่อยๆค่ะ
หากว่า จะมีการรณรงค์เพือให้เกิดเรื่องสร้างสรรค์ดีๆ
ในสังคมไทยอย่างนี้จริงๆ นอกจากจะอยากร่วมลงรายชื่อด้วยแล้ว
อยากจะช่วยเผยแพร่ด้วยจ้ะ
เรื่องดีๆ ทำไมจะไม่อยากทำ.. เนาะ ^^
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ขอทำนายว่าน่าจะมีคนเปิดอ่านเรื่องนี้ทั้งหมดประมาณ 50 คน แต่มีคนอ่านจนถึงบรรดทัดสุดท้ายประมาณ 20 คน อีก 30 คนทนอ่านไม่ไหว เพราะยาวเกินไป ในบรรดาคนที่อ่านจนจบจะมีไม่เกิน 5 คนที่หลวมตัวแสดงความคิดเห็น ฟันธง 5555
เราแสดงสิทธิของผู้บริโภคได้ง่ายๆ ด้วยการเลิกดู เลิกซื้อและเลิกอ่าน จากประสบการณ์ของผมเชื่อว่าป่วยการเปล่าที่จะไปเรียกร้องอะไรจากพวก ... เหล่านั้น (กรุณาเติมคำในช่องว่างตามที่เห็นสมควร) เวลาตักบาตรก็กรวดน้ำคว่ำขันพบกันชาติเดียวไปเถอะครับ
แต่ก็นั่นแหละ if we don't care, who will? (ผมชอบจริงๆนะเนี่ยสโลแกนนี้ นึกว่าสโลแกนของตัวเองเจ๋งแล้ว มาเจออันนี้ต้องขอซูฮก ชอบวิธีคิดจริงๆ)
mama aiko ฟันธงได้ตรงกว่าหมอลักษณ์ -_-"
ขอบคุณ gung กับคุณ mymoney มาก ที่มาช่วยแสดงความคิดเห็น
อืมม์ ยอมรับว่าเสียกำลังใจเหมือนกัน ที่เขียนแล้วไม่มีคนตอบสนองเท่าไหร่ แต่คิดว่าคงเป็นความผิดของเราเอง ที่เขียนยาวซะขนาดนั้น ใครจะไปมีเวลาอ่านจนจบ
ตอนนี้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่เขียนเรื่องอะไรที่ยาวเกินไป เพราะจากที่ต้องการจะสร้าง impact มันก็ไม่ impact ซะแล้ว เพราะคนอ่านอ่านได้ 2 paragraph ก็หลับซะแล้ว
ถึงเสียกำลังใจ แต่จะยังสู้ต่อไป ถ้าเราไม่แคร์ แล้วใครจะแคร์ละเว้ย.... (เนอะคุณ mymoney อิอิ) :)
แม่ไอโกะ นี่สมเป็นผู้มีประสบการณ์โชกโชนจริงๆว่ะ 555
เราเลิกดูช่อง 3 5 7 9 และ iTV ไปนานมากแล้ว ดูแล้วเศร้า เราว่าผู้คนถูกน้อมนำไปในทางเลวร้ายเพราะละครน้ำเน่าจริง ๆ เพราะทั้งเรื่องไม่เคยพูดถึงคุณค่าของการทำงานเลย วัน ๆ เห็นแทร่ดไปแทร่ดมาทั้งพระเอกนางเอกและนางอิจฉา ประเด็นหลักของทุกเรื่องคือแย่งผู้ชายกัน ฉะนั้นไม่ว่าเป็นนางเอกหรือนางอิจฉามันก็มีแนวทางการดำเนินชีวิตเดียวกันนั่นแหละ
ประเทศละครหลังข่าวมันอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้หนอ เคยรู้เรื่องโลกร้อนหรือค่าเงินบาทแข็งกับเขาบ้างไหม มันถึงมุ่งเน้นแต่จะเพิ่มประชากรอย่างเดียวไม่วอกแวก
วันก่อน ฟังวิทยุ เขาบอกว่า มีผู้จัดละครออกมาแสดงความเห็นว่า ตัวร้ายในละคร มีอาชีพไม่ได้ เพราะถ้าตัวร้ายทำอาชีพอะไร จะมีบุคคลในอาชีพนั้นๆ ออกมาประท้วงว่า อาชีพนั้นๆ ไม่ได้ร้ายอย่างในละคร
ฟังแล้วกลุ้มหนักไปอีก คนไทยมันตื้นเขิน และฉาบฉวยกันขนาดนั้นแล้ว
แล้วก็คิดต่อไปว่า ถ้าเขาเขียนบทละครอย่างมีเหตุมีผล ตัวร้าย ก็ร้ายด้วยเหตุด้วยผล จะมีคนออกมาประท้วงได้ไหม สงสัยๆๆ
แสดงความคิดเห็น