วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไข่ปลอมจากจีน - อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต กับ จรรยาบรรณของสื่อ

วันนี้ข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของนสพ.ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยเป็นข่าวเกี่ยวกับไข่ปลอมที่ระบาดในเมืองจีน เราไม่ได้อ่านข่าวนี้ แต่ฟังทางวิทยุตอนขับรถมาทำงานตอนเช้า ได้ยินปุ๊บก็ร้อง ฮ้า!! อยู่ในใจ ทำไข่ปลอมขายเนี่ยนะ... (พอดีขับรถอยู่คนเดียวอ่ะนะ จะร้องฮ้า!! ดัง ๆ ก็ไม่รู้จะร้องให้ใครฟัง แค่ร้องในใจก็พอแล้ว อิอิ)

เราเข้าใจได้ว่าเมืองจีนชอบทำของปลอมออกมาขาย ทำของแบรนด์เนม อิเล็คทรอนิกส์ต่าง ๆ ปลอมก็มีเหตุผลดี เพราะของจริงราคาแพงเพราะค่าแบรนด์หรือค่าดีไซน์ ต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบไม่แพง คนจีนทำปลอมมาขายก็ได้กำไรดี แต่ไข่เป็นสินค้าเกษตร ราคาขายปกติก็ไม่ได้แพงอยู่แล้ว จะปลอมไปทำเบื๊อกอะไร?

ฟังแล้วเราไม่เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ถ้าเห็นเรื่องนี้ทางอินเทอร์เน็ต เราก็ฟันธงไปเลยว่านี่มัน hoax (เรื่องโกหกชัด ๆ) แต่พอนสพ.ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยเอามาลงข่าวหน้าหนึ่ง เราก็ต้องหาข้อมูลซะหน่อย เครื่องมือในการตามล่าหาความจริงของเราก็คืออินเทอร์เน็ตกับพี่กูเกิ้ลนั่นแหละ

เราเจอว่าข่าวคล้าย ๆ กันนี้ เป็นข่าวที่ลงในเว็บข่าวของสนุก (Sanook!) ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ค. โดยอ้างข้อมูลจาก The Standard (www.thestandard.com.hk) กับ China.org.cn

เราตามลิงก์ไปที่ The Standard ก็เจอว่าเขาลงเรื่องนี้ตั้งแต่ ๑๗ ก.พ. ๒๐๐๙ ส่วน China.org.cn อ้างไปถึงข่าววันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๐๐๙ ของ Xinhua News Agency สาวไปได้แค่นี้ก็ต้องหยุด เพราะไม่มีแหล่งอ้างอิงอะไรเพิ่มเติม เพราะเขาก็อ้างกันไปอ้างกันมาวนเวียนกันอยู่อย่างนั้น

เราไม่สามารถหาอะไรมาหักล้างได้เต็ม ๆ ว่าข่าวนี้เป็นเรื่องโกหก แต่เว็บข่าวของจีน ๓-๔ แห่งนั่นก็ไม่ทำให้เรารู้สึกเชื่อได้สนิทใจว่าเป็นข่าวจริง ที่สุดท้ายเราขอฟันธงว่านี่เป็นเรื่องโกหก เพราะ

๑. ข่าวนี้เอามาจากเว็บจีนตั้งแต่เดือน ก.พ. ทำไมใช้เวลาตั้ง ๖ เดือนถึงมาดังในเมืองไทย

๒. ในข่าวจากนสพ.เขาบอกว่าต้นทุนไข่ปลอมแค่ไม่ถึง ๒๐ สตางค์ แต่ราคาขายประมาณ ๑-๑.๒ บาท โอ้ว... กำไรตั้งฟองละบาท โอเคคิดว่าเมืองจีนมีประชากรเยอะ การบริโภคไข่ก็น่าจะเยอะกว่าไทย แต่ต้องขายซักกี่ฟองดีล่ะถึงจะคุ้มค่าปลอมไข่ พันฟอง หมื่นฟอง แสนฟอง? เราดูวิธีการทำไข่ปลอม (ที่ในข่าวเขาบอกว่ามีให้ดูเกลื่อนอินเทอร์เน็ต) มันเสียเวลาและแรงงานน่าดู กว่าจะได้ไข่ไก่ปลอมซัก ๑ ฟอง

๓. เราเสิร์ชเจอว่า ฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องการทำไข่ปลอมในเมืองจีนเป็นเรื่องโกหก!!! โดยข่าวลือเกี่ยวกับไข่ปลอมทำนองนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งกะปี ๒๐๐๔ โดยอ้างจากสำนักข่าวซินหัว ซึ่งตอนนั้นเขาบอกว่าถ้าเอาไข่ไปปรุงก็จะรู้ทันทีว่าเป็นไข่ปลอม แต่ฟอร์เวิร์ดเมลเวอร์ชั่นหลัง ๆ ไข่ปลอมก็พัฒนาขึ้น จนใกล้เคียงกับไข่จริงมากจนกระทั่งกินเข้าไปแล้วก็ยังแยกแทบไม่ออก (ไข่ปลอมพัฒนา หรือข่าวโกหกพัฒนา??)

เราได้บทเรียนอะไรจากข่าวนี้?? ก็จากชื่อหัวข้อนั่นเลย... สมัยนี้อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลมาก มากขนาดสามารถวิวัฒนาการวิธีปลอมไข่ให้ก้าวหน้ามากขึ้น เอ้ย... มากขนาดทำให้คนเชื่อเรื่องอะไรต่ออะไรโดยไม่ใช้การวิเคราะห์ ทั้งที่หลาย ๆ เรื่องมันไร้ความน่าเชื่อถือสิ้นดี

นอกจากนี้สื่อมวลชนก็ไม่ทำให้เราผิดหวังเลย เพราะสามารถจะนำเสนอข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องพินิจพิเคราะห์ ไม่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เป็นผู้ที่สามารถใช้ความสามารถของอินเทอร์เน็ตและคำสั่ง copy & paste ได้เต็มศักยภาพ (แต่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณภาพ และไร้ความรับผิดชอบ) ที่สุด

นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่สื่อมวลชนกระแสหลักถูกข่าวโกหกจากอินเทอร์เน็ต หลอกให้เชื่อจนเสียเครดิต (เอ... แต่ที่จริงเขามีเครดิตกันด้วยเหรอฮะ???) ที่เราจำได้แม่น ๆ ก็ตอนที่รายการทีวีตอนเช้าที่มีสาว ๆ หลาย ๆ คนมาเล่าเรื่องมีสาระบ้างไร้สาระบ้างให้คนฟัง ก็เคยพลาดท่าประกาศว่า ขวดใส่น้ำที่ทำด้วยพลาสติกเพ็ท เอามาใช้ซ้ำ ๆ แล้วจะทำให้เป็นมะเร็ง พูดกันซะจนคนกลัวขี้หดตดหาย ต้องวิ่งแจ้นไปซื้อขวดพลาสติกอย่างอื่นมาใส่น้ำแทน (เอ... แล้วพลาสติกแบบอื่น มันไม่เป็นมะเร็งหรือไง?) สุดท้ายต้องมีคุณหมอมาเตือนสติว่า เรื่องจริงมันคืออะไร

สรุปว่าอย่าคิดว่า อินเทอร์เน็ตคือพระเจ้า และอย่าคิดว่าสื่อมวลชนจะเชื่อถือได้... สุดท้ายแล้วที่พึ่งได้ที่สุด ก็คือ สติและปัญญาของตัวเราเอง

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สนามบินดีที่สุดในโลกประจำปี ๒๐๐๙

เมื่อเดือนที่แล้วเราฟังรายการวิทยุช่อง ๑๐๖ ที่แอนดรู บิ๊กส์จัดกับกฤษณะ ช่วงสองทุ่มกว่า ๆ แอนดรูเล่าเรื่องการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกของ SkyTrax ปี ๒๐๐๙ อันดับ ๑-๓ เป็นสนามบินของเอเชีย (คือ อินชอน ของเกาหลี, เช็คแล้ปก๊อก ของฮ่องกง, และชางงี ของสิงคโปร์, ตามลำดับ)

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิไม่ติดท็อปเทน (สกายแทร็กซ์จัดให้สุวรรณภูมิเป็นสนามบิน ๓ ดาว ในขณะที่สนามบินท็อปเท็นได้ ๔-๕ ดาว) อยากรู้รายละเอียดว่าเขาจัดอันดับจากอะไร ก็คงต้องไปหาข้อมูลจากสกายแทร็กซ์เอา แต่จากความเห็นของเรา นี่คือเหตุผลว่าทำไมสนามบินสุวรรณภูมิจะไม่ติดอันดับ

๑. ห้องโถงด้านนอก บริเวณเช็คอิน เข้าไปแล้วรู้สึกเหมือนไปสถานีขนส่งหมอชิต คนเยอะมาก เก้าอี้นั่งน้อย เก้าอี้ก็นั่งไม่สบายเอามาก ๆ เป็นเหล็กแข็ง ๆ เย็น ๆ สังเกตว่า หลัง ๆ นี้เขาเอาเบาะมาใส่ คงจะให้นั่งสบายขึ้น แต่ขอโทษเหอะ look cheap อ่ะ

๒. ห้องน้ำมีน้อยจุด และแต่ละจุดมีน้อยห้อง เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่พบเจอห้องน้ำ ถึงแม้ปวดแค่นิดหน่อยก็ให้เข้าไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าระหว่างการเดินทางข้างหน้า จะมีห้องน้ำหรือเปล่า

๓. ที่บอกว่าระหว่างการเดินทางในข้อสอง ไม่ได้หมายถึงการเดินทางบนเครื่องบิน แต่หมายถึงการเดินทางจากเคาน์เตอร์เช็คอิน ผ่านตม. (หรือจุดตรวจความปลอดภัยในกรณีเดินทางในประเทศ) ไปยังประตูทางขึ้นเครื่องบิน ถ้าคนเคยเดินจากตรงกลางสุด ไปขึ้นเครื่องที่ประตูท้าย ๆ สุดของสนามบิน แล้วก็จะเข้าใจว่าทำไมสายการบินนกแอร์เอาเรื่องขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมืองไม่ต้องเดินไกล มาเป็นจุดขาย (ระยะทางเกิน ๑ กม.)

๔. แท็กซี่ มีคนบ่นว่าที่ดอนเมืองมีมาเฟียแท็กซี่ แต่ที่สุวรรณภูมิไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แท็กซี่ป้ายดำสามารถเข้ามาจนเกือบจะถึงสายพานรับกระเป๋าเลยมั้ง แถมเมื่อช่วงปีที่แล้ว เราเจอว่าผู้โดยสารปกติไม่สามารถขึ้นลิฟท์หรือใช้บันไดเลือนจากชั้นอื่น ๆ ไปชั้นผู้โดยสารขาออกได้ ถ้าไม่โชว์พาสปอร์ตว่าเป็นผู้โดยสารจริง ๆ สอบถามไปมา ได้ความว่า เขาป้องกันแท็กซี่ป้ายดำจะมาจอดรถที่ชั้นอื่น ๆ แล้วลงลิฟท์หรือขึ้นบันไดเลื่อนไปดักรับผู้โดยสาร โอ้แม่เจ้า... จะป้องกันโจรเข้าไปขโมยของในบ้าน ก็ล็อกประตูบ้านแล้วเจ้าของบ้านเองก็เข้าบ้านไม่ได้ด้วย

๕. ความสะอาดยังต้องปรับปรุงอีกมาก เคาน์เตอร์บริการยังเห็นฝุ่นจับหนาตึ้บ ตามทางเดินยังเห็นเศษขยะ ความที่สถาปนิกเขาออกแบบให้เป็นปูนเปลือย (ที่ทำไม่เรียบร้อยซะด้วย) พอไม่ได้รักษาความสะอาดให้เนี้ยบ ๆ ดูแล้วรู้สึกเหมือนยังก่อสร้างไม่เสร็จ หรือสร้างมานานจนใกล้พังแล้วมากกว่า

๖. ดิวตี้ฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฟังดูน่าจะเป็นข้อดีไม่ใช่เหรอ แต่อันนี้เป็นคอมเมนต์จากฝรั่งที่เราไปอ่านเจอ เขาบ่นกันว่า เพราะเราดันออกแบบให้มีดิวตี้ฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (เขาประชดนะ) อยู่ระหว่างตม. กับประตูขึ้นเครื่อง เวลาจะไปขึ้นเครื่องที ก็เหมือนต้อง "ข้ามมหาสมุทรของร้านค้าดิวตี้ฟรี" (ที่ดูราคาแล้วก็ไม่ใช่ว่าดิวตี้ฟรีเท่าไหร่ด้วย) อันนี้ทำให้ไพล่ไปนึกถึงข้อกล่าวหาเรื่องสนามบินเอื้อประโยชน์ให้คิงพาวเวอร์มากเกินอีกแน่ะ


รูปข้างบนนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับสนามบิน แต่พอดีไปเจอในเว็บโดยบังเอิญ เคยได้ยินพวกฝรั่งออกเสียงภูเก็ตว่า ฟูเก็ต แล้วมีบางคนล้อว่าออกเสียงว่า f*** it ด้วย โฆษณานี้เขาเอาจริงเลยแฮะ อิอิ

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์