วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ให้ลูกกู้เงินเรียน

วันก่อนฟังวิทยุช่อง ๙๖.๕ ดร. วิกรม กรมดิษฐ์ เป็นวิทยากร มีคนถามคำถามว่า มีลูก ๓ คน ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ลูกทะเลาะกันเรื่องเงิน ประมาณว่าได้เงินไม่เท่ากัน ก็บ่นโวยวาย จะทำยังไงดี

ดร. วิกรมบอกว่า ถ้าเขาเป็นพ่อแม่ เขาจะไม่ให้เงินลูกเรียน แต่จะให้ลูกไปกู้เงินเรียน ใครอยากได้มาก ได้น้อยเท่าไหร่ ก็เบิกได้ตามใจชอบ แต่พอเรียนจบ ทำงานแล้วก็ต้องมาผ่อนใช้กันเอง ทีนี้ลูกจะไม่มีทางบ่นว่า ได้เงินมาก ได้เงินน้อย เพราะใครอยากจะรับผิดชอบเท่าไหร่ ก็แล้วแต่คนนั้น เขาบอกว่า พ่อแม่สมัยนี้เลี้ยงลูกเป็นลูกบังเกิดเกล้า ให้เงินลูก แล้วยังโดนทวงบุญคุณ

เราว่าถ้าพ่อแม่ทั่วๆ ไป ให้เงินลูกใช้ตามใจชอบมาเป็นสิบปี อยู่ๆ จะมาบอกลูกว่า เอาหละจะหยุดให้เงินแล้วนะ ให้ไปกู้เงินธนาคารมาใช้จ่าย มาเรียนหนังสือ ก็ดูจะสุดโต่งไปสักหน่อย แต่ถ้าพ่อแม่อยากจะสร้างวินัยในการใช้เงินให้ลูกๆ ก็อาจจะลองเอาไอเดียนี้ไปปรับใช้ได้ เช่น แทนที่จะให้ลูกกู้เงินธนาคาร ก็ให้ลูกกู้เงินพ่อแม่นี่แหละ จดบัญชีกันทุกอาทิตย์ ทุกเดือน ว่าเบิกไปทีละเท่าไหร่ๆ

พอเรียนจบก็มาสรุปบัญชีกันว่าใช้เงินไปเท่าไหร่ แล้วก็บอกลูกด้วยว่า ทำงานได้เงินเดือนแล้วก็ต้องเอาเงินเดือนมาผ่อนใช้คืน ส่วนเงินที่พ่อแม่ได้จากลูกมา จะเอาไปเก็บออมไว้ให้ลูกในอนาคต หรือพ่อแม่จะเอาคืนจริงๆ ก็สุดแท้แต่ความต้องการของพ่อแม่

ตอนสมัยเราเรียนหนังสือ แม่เราก็จดบัญชีเอาไว้ รู้สึกจะเริ่มตั้งแต่สมัยที่เราเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ตอน ม. ๑ ไม่แน่ใจว่าจดไปจนเราเรียนจบปริญญาตรี หรือจดต่อไปถึงตอนที่เราไปเรียนเมืองนอกด้วย ระหว่างเรียนแม่ก็จะคอยขู่ๆ ว่า เดี๋ยวว่างๆ ต้องเอามารวมบัญชีดู ว่าเราเป็นหนี้แม่อยู่เท่าไหร่ สุดท้ายจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้รวมบัญชี แต่การที่เรารู้ว่าแม่จดบัญชีไว้ทุกบาททุกสตางค์ที่เราเบิกเอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นค่ากิน/ใช้/เที่ยว ค่าหนังสือ ค่าเทอม ค่ากิจกรรมเกี่ยวกับการเรียน ก็มีส่วนทำให้เรารู้ค่าของเงิน

อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกรู้จักค่าของเงิน ก็คือ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง อย่าคิดว่าเงินเล็กๆ น้อยๆ ลูกขอก็ให้ง่ายๆ บางทีเงินเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่มีเหตุผลในการใช้ ถึงแม้ให้ลูกไปแล้วจะไม่ได้ทำให้พ่อแม่จนลง แต่ก็จะสร้างนิสัยการใช้เงินแบบไม่ระมัดระวังให้ลูก เท่ากับเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์