วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550

This talk's not for you, it's is for my kids.

เราเขียนเรื่อง “บทเรียนชีวิต” ยังไม่ทันจบ แต่พอดีได้อ่านเรื่องของดร. แรนดี้ เพาส์ช (Dr. Randy Pausch) คิดว่าน่าจะเอามาเล่าให้ฟังคั่นเวลา

ดร. แรนดี้ เพาส์ชเป็นอาจารย์แผนก Computer Science มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ในวัย 46 ปีเขาเป็นโรคมะเร็งที่ตับอ่อนและหมอบอกว่าเขาคงมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่เดือน

มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนมีโครงการที่เรียกว่า “The Journey” ซึ่งเชิญอาจารย์มาเล่าเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้พบเจอและเรียนรู้ในระหว่างการเดินทางของชีวิต โครงการนี้ครั้งหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า “The Last Lecture” เพราะเขาตั้งโจทย์ให้บรรดาวิทยากรลองสมมติว่าถ้าเล็คเชอร์ครั้งนี้เป็นเล็คเชอร์ครั้งสุดท้าย พวกเขาจะพูดหรือจะบอกอะไรกับคนอื่น

เมื่อวันอังคาร (18 กันยา) ที่ผ่านมาดร. แรนดี้ เพาส์ชได้ให้เล็คเชอร์ครั้งสุดท้ายของเขาที่คาร์เนกี้เมลลอน (ต่อไปนี้เราจะเรียกแค่ แรนดี้ แทนที่จะเรียกว่า ดร. แรนดี้ หรือ ดร. เพาส์ช เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้รู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดาๆ ที่จับต้องได้มากกว่า)

ผู้ฟังกว่า 400 คนในหอประชุมได้รับรู้ตั้งแต่แรกว่าสภาพร่างกายจิตใจของแรนดี้เป็นอย่างไร (และเขาเป็นคนอย่างไร เขามองโลกอย่างไร -- สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน) ตั้งแต่ประโยคแรกๆ ของเล็คเชอร์ของเขา

“ถ้าผมไม่ได้ดูหดหู่หรือเศร้าใจเท่าที่ควร ผมต้องขอโทษด้วยที่ทำให้พวกคุณผิดหวัง” เขาบอกว่าเขาไม่ได้กำลังปฏิเสธความจริงว่าเขากำลังจะตายในไม่กี่เดือน แต่เขารู้สึกแข็งแรงดี... แข็งแรงกว่าคนส่วนใหญ่ในห้องประชุมนั้น (ว่าแล้วก็วิดพื้นโชว์ให้ดูซะหนึ่งยก)

“ถ้าใครอยากจะร้องไห้หรือรู้สึกสงสารผม ลองออกมาตรงนี้ วิดพื้นอย่างที่ผมทำเมื่อกี้นี้ แล้วถึงค่อยสงสารผม”

แรนดี้บอกว่าวันนี้เขาจะไม่พูดเรื่องมะเร็ง (เพราะเขาพูดถึงมันมามากเกินพอแล้ว) เขาจะพูดเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านั้น เขาจะไม่พูดเรื่องภรรยาหรือลูกๆ ของเขา ไม่ใช่ เพราะว่ามันไม่สำคัญ เขาบอกว่าเขารู้สึกแข็งแรงดี แต่ยังไม่ดีมากพอที่จะพูดถึงลูกและภรรยาโดยไม่ร้องไห้ สิ่งที่เขาจะพูดก็คือการไปให้ถึงความฝัน

แรนดี้เล่าให้ฟังถึงความฝันต่างๆ ในวัยเด็ก เขาอยากจะสัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เป็นนักออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ เขียนบทความลงใน World Book Encyclopedia เป็นกับตันเคิร์กในสตาร์เทร็ค

แรนดี้จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบราวน์และปริญญาเอกจากคาร์เนกี้เมลลอน ในช่วง 10 ปีที่เป็นอาจารย์ที่คาร์เนกี้เมลลอน เขาช่วยก่อตั้ง Entertainment Technology Center ซึ่งสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบวิดีโอเกมและโปรแกรม interactive ต่างๆ และเริ่มโครงการ Alice ซึ่งใช้โปรแกรม animation ในการสอนนักเรียนให้ได้เรียนวิชา computer programming ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน

แรนดี้ได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก (เพราะเด็กนักเรียนที่เขาสอนชนะประกวดโครงการ Virtual Reality เพื่อจำลองสภาพไร้น้ำหนักของ U.S. Air Force และสิ่งที่ผู้ชนะได้รับก็คือการไปสัมผัสสภาพไร้น้ำหนักจริงๆ) ได้ออกแบบเครื่องเล่นของดีสนีย์แลนด์ (The Pirate of Caribbean ซึ่งเขาไปรับทำงานในระหว่างพักการสอน) ได้เขียนบทความใน World Book Encyclopedia เรื่อง Virtual Reality

แรนดี้ได้เล่นฟุตบอลแค่สมัยไฮสคูล เขาไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่สิ่งที่เขาได้จากการไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพคือ ประสบการณ์

Experience is what you get when you don't get what you want.

เขาไม่ได้เป็นกัปตันเคิร์ก แต่เขาได้เจอกับกัปตันเคิร์ก วิลเลียม แชทเนอร์ดาราที่เล่นเป็นกัปตันเคิร์กมาเยี่ยมชมแล็บของเขา (มันสุดยอดที่ได้เจอฮีโรในดวงใจสมัยเด็ก แต่มันสุดยอดกว่าถ้าเขามาหาคุณเพื่อดูผลงานที่คุณทำในแล็บ)

สิ่งต่างๆ ที่เขาได้ทำ ความฝันที่เป็นจริง หนทางไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ แต่มีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา (เวลาฝรั่งเจออุปสรรคหรือปัญหา เขาเรียกว่าเจอ brick wall กำแพงอิฐ ขวางหน้า) แรนดี้บอกว่า กำแพงอิฐมันอยู่ตรงนั้นอย่างมีจุดประสงค์ มันทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราต้องการอะไรซักอย่างมากแค่ไหน ให้โอกาสเราได้แสดงว่าเราต้องการมันแค่ไหน เอาไว้หยุดคนที่ไม่ต้องการมันมากพอ เอาไว้หยุด “คนอื่น”

Brick walls are there for a reason. They let us prove how badly we want things. To give a chance to show how badly we want something. To stop people who don't want it badly enough. To stop the “other” people.

กำแพงอิฐหยุดแรนดี้ไม่ได้ กำแพงอิฐหยุดคนที่มุ่งมั่นและตั้งใจจริงไม่ได้

แรนดี้พูดถึงคนที่มีส่วนในความสำเร็จของเขา พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขามาอย่างดี บรรดาอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่เขาได้พบ บทเรียนอื่นๆ ที่เขาเรียนรู้และอยากบอกกับคนอื่นมีทั้ง... ต้องสนุกกับการทำงาน, ต้องทำงานหนัก (เคล็ด “ลับ” ของความสำเร็จ!!), รู้จักรับฟังคนอื่น (โดยเฉพาะคำติ ต้องยอมเปิดใจรับ และนำไปปรับปรุง), การจะได้รับความเคารพจากคนอื่น เราต้องเขาเคารพเขาก่อน, การคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ฯลฯ

เราต้องขอบอกว่าเล็คเชอร์ยาว 1 ชั่วโมงกว่าๆ เป็นหนึ่งในเล็คเชอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยฟังมา แรนดี้ปล่อยมุขตลกขำๆ ไปพร้อมกับการบอกเล่าความคิดลึกซึ้งที่เขาได้จากการเดินทางของชีวิตเขา จนเราแทบไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือการเล็คเชอร์ของคนที่มีลูก 3 คน ที่กำลังจะตายในไม่กี่เดือน... จะตายก่อนที่จะได้เห็นลูกตัวเองจบชั้นประถม (ลูกชายคนโตของเขาอายุ 5 ขวบ) มันน่าอัศจรรย์มากที่เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของได้แบบนั้น

เราได้อ่านในบทความที่เขียนถึงเล็คเชอร์ของเขาใน Pittsburgh Post-Gazette แรนดี้บอกว่า เขายังมองโลกในแง่ดีอยู่มาก เวลาเดียวที่เขาจะร้องไห้ก็คือเวลาที่เขาคิดถึงลูกๆ ของเขา ไม่ใช่เพราะว่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ดูลูกๆ ทำโน่นทำนี่เป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สำเร็จ เสียใจที่ไม่ได้อยู่เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ และเสียใจเขาจากไปโดยทิ้งภาระอันยิ่งใหญ่ไว้กับภรรยาของเขา

ตอนท้ายแรนดี้บอกว่าเล็คเชอร์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับ “การไปให้ถึงความฝัน” แต่มันเกี่ยวกับว่าเราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร ถ้าเราดำเนินชีวิตของเรา “อย่างถูกต้อง” กรรมจะเป็นตัวพาเราไปหาความฝันของเราเอง

ประโยคสุดท้ายที่เขาพูดกับผู้ฟังในหอประชุมคือ “การพูดครั้งนี้ไม่ใช่สำหรับพวกคุณหรอกนะ... แต่การพูดนี้สำหรับลูกๆ ของผมต่างหาก”

ปล. เล็คเชอร์ของแรนดี้ เพาส์ชออกอากาศในรายการ Good Morning America เมื่อวันที่ 21 กันยายน เว็บ Wall Street Journal ทำรายงานข่าวเรื่องเล็คเชอร์นี้ เป็นวิดีโอคลิปยาว 4 นาทีกว่าๆ ลองกดฟังได้ข้างล่าง


วิดีโอของเล็คเชอร์ฉบับเต็มมีให้ฟังที่ CMU ยาว 1 ชั่วโมง 45 นาที มีคนอื่นๆ ที่ร่วมงานกับแรนดี้มาพูด รวมทั้งการประกาศสร้างสะพานคนเดินเชื่อมตึกระหว่าง Gates Computer Sciences Building กับ Purnell Center for the Arts เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับแรนดี้ สะพานนี้จะเรียกว่า Randy Pausch Memorial Footbridge เป็นสัญลักษณ์ของผลงานของแรนดี้ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน

ปล. 2 ก่อนที่จะได้ฟังเล็คเชอร์ฉบับเต็ม เรานึกว่าจะมีสคริปท์ ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยมาแบ่งกันอ่าน (เหมือนที่มีหลายๆ คนแปลสุนทรพจน์ของบิล เกทส์ หรือสตีฟ จ็อบส์) แต่พอไปฟังแล้วถึงรู้ว่าทำไมไม่มีสคริปท์ ก็อย่างที่บอกไปว่ายาวตั้งชั่วโมงกว่า ถ้ามีสคริปท์ก็ไม่รู้จะยาวเท่าไหร่ และถ้าเราแปลจริงไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ แถมเราก็ฟังแบบกระพร่องกระแพร่งเต็มที เพราะฟังไปทำงานไป จับรายละเอียดไม่ได้หมดเวลาที่เขาพูดถึงคนโน้นคนนี้ เราตั้งใจว่าจะไปฟังใหม่อีกรอบ (หรือหลายๆ รอบ) แต่ต้องหาจังหวะเหมาะๆ เพราะเขาทำเป็น streaming video ถ้าเน็ทช้าก็จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจะหาวิธีดาวน์โหลดไฟล์มาเก็บที่เครื่องก็ทำไม่เป็น -_-

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๔

วันนี้มาต่อตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม ในบทความต้นฉบับเขาเขียนเรื่องนี้ไว้ ๕ หัวข้อ แต่เราเอามารวบให้เหลือ ๓ หัวข้อซะงั้น :P ที่จริงจะสรุปให้สั้นกว่านี้อีกก็ได้ สรุปเหลือข้อเดียวว่า เป็นการสอนให้ลูกรู้จักคิดถึงคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว (เราเคยดูรายการ “ดิ ไอคอน ปรากฏการณ์คน” วันที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาออกรายการ ท่านบอกว่า “การมีศีลธรรม หมายถึง การคิดถึงคนอื่นก่อนคิดถึงตัวเอง ทำเพื่อคนอื่นก่อนทำเพื่อตัวเอง” สั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความดีแท้ๆ)

สอนลูกเรื่องสังคม

๑. ต่อต้านการแข่งขันชิงดีชิงเด่น – ตอนเป็นเด็กเราถูกสอนให้แข่งขันกับคนอื่น ในโลกของผู้ใหญ่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกัน และผลลัพธ์ก็คือการหักหลังกัน การแทงข้างหลัง ความขุ่นข้องหมองใจ และความรู้สึกเลวร้ายอื่นๆ ในทำนองนั้น

แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกแข่งขัน ควรสอนเขาว่ามีที่ว่างสำหรับทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เขาไม่จำเป็นต้องชนะคนอื่นเพื่อเป็นคนเดียวที่ประสบความสำเร็จ สอนให้เขารู้ว่าถ้าเขารู้จักช่วยเหลือคนอื่น ตัวเขาเองจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะคนอื่นก็จะเต็มใจช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทน สอนให้เขารู้ว่าการสร้างพันธมิตรดีกว่าการสร้างศัตรู สอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือเกื้อกูลและทำงานเป็นทีมก่อนจะให้สอนให้เขารู้จักการแข่งขัน

นอกจากการแข่งขันเพื่อเอาชนะแล้ว เราอยากจะเห็นสังคมไทยปราศจากความอิจฉาริษยาและหมั่นไส้คนอื่น ความอิจฉา คือ ความไม่พอใจที่เห็นคนอื่นดีกว่าเรา โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงดีกว่าเรา

พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูก ถ้าพ่อแม่ยังเห็นคนข้างบ้านดีกว่าแล้วอิจฉา ยังเห็นเพื่อนร่วมงานก้าวหน้ากว่าแล้วอิจฉา เห็นลูกคนอื่นเรียนเก่งกว่าแล้วอิจฉา ลูกก็จะติดนิสัยนั้นมาด้วย เวลาที่เห็นคนอื่นดีกว่า พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกดูว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะดีเหมือนเขาได้ มีอะไรที่เขาทำแล้วเรายังไม่ได้ทำ ควรเปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นแรงผลักดัน/แรงบันดาลใจ

๒. ความรักและความมีเมตตา – ความมีเมตตา คือการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจในความทุกข์ยากของคนอื่น และพยายามช่วยให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์หรือความลำบาก ความรักเป็นสิ่งที่คู่กับความมีเมตตา แต่ความรักต่างจากความเมตตาตรงที่ ถ้าเรามีความเมตตาต่อผู้อื่น เราไม่อยากเห็นเขามีความทุกข์ยาก เราจะพยายามช่วยกำจัดความทุกข์ยากออกไป ถ้าเรามีความรักต่อผู้อื่น เราจะอยากเห็นเขามีความสุขด้วย เราจะรู้สึกยินดีที่เขามีความสุข

๓. การรับฟังคนอื่นและการสนทนา – ในโรงเรียนมักจะไม่สอนให้เด็กรับฟังอื่น เมื่อเด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีทักษะของการรับฟังคนอื่น สังคมก็วุ่นวาย เพราะมีแต่คนพูดๆๆ แต่ไม่มีคนฟัง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักรับฟังคนอื่นอย่างจริงจังตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก และเข้าใจความรู้สึกของคนพูด

การสนทนาเป็นสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ได้กับการรับฟังคนอื่น และเช่นเดียวกันโรงเรียนไม่ได้ก็สอนศิลปะในการสนทนา เด็กๆ ถูกสอนว่าการสนทนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ คือ การสนทนา ไม่ใช่ การเล็คเชอร์ พ่อแม่จะต้องสอนทักษะของการสนทนา (ซึ่งหมายถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน) โดยการกระทำ เมื่ออยู่ในบ้านพ่อแม่ควรพยายามพูดคุยกับลูกๆ แทนที่จะบอกหรือสั่งให้พวกเขาทำอะไรๆ

อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550

คลายเครียด

โพสต์เรื่องหนักๆ มาหลายตอน มาคลายเครียดด้วยการ์ตูนกันดีกว่า :)

ช่วงที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าภาษาอังกฤษเราชักจะฝืดๆ เต็มที ก็เลยตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทุกวัน ก็เลยหยิบนสพ.ที่บริษัทกลับบ้านไปทุกเย็น (ฝึกภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องลงทุน) ผ่านไป ๑ สัปดาห์อ่านยังอ่านฉบับแรกที่หยิบกลับไปไม่จบ ก็เลยเปลี่ยนเป็นหยิบเฉพาะฉบับวันอาทิตย์ (เพราะมีสกูปพิเศษเยอะดี)

แต่ฉบับวันอาทิตย์ฉบับเดียวอ่านไป ๑ สัปดาห์ก็ยังไม่จบ สุดท้ายเราก็เลยหยิบแค่ Section Outlook กลับบ้านไป อ่านได้สัปดาห์ละ ๒-๓ คอลัมน์ (กับ Section การ์ตูน) เล่น Sudoku กับ Crossword (กลัวเป็นอัลไซเมอร์ เลยต้องพยายามเล่นเกมกระตุ้นสมอง)

การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์จะมีหลายช่องกว่าวันธรรมดา บางทีเราอ่านแล้วก็ไม่เก็ทว่ามันขำยังไง อย่างอันที่เอามาโพสต์นี่ ผ่านไป ๒ อาทิตย์ถึงนึกได้ว่าต้องการจะสื่ออะไร (เวรกรรม!) เพราะเพิ่งสังเกตเห็นว่าอีตาหนุ่มเสื้อฟ้าขยับปาก... :P


(Comic strip จาก Monty วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ - คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่กว่านี้)

ปล. ถ้าใครไม่เก็ท จะให้ช่วยเฉลยมุขก็บอกได้นะ :)

บทเรียนชีวิต ๓

ตอนต่อของต่อเรื่องบทเรียนที่พ่อแม่ควรสอนลูก (เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน) หลังจากตอนแรก สอนลูกเรื่องการเงิน และตอนที่สอง สอนลูกเรื่องการคิด วันนี้มาตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ หัวข้อเหล่านี้เป็นสิ่งพ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก เพื่อช่วยให้เขาประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตเมื่อเขาโตขึ้น

สอนลูกเรื่องความสำเร็จ

๑. การคิดบวก – ในขณะที่การคิดแบบวิเคราะห์เป็นทักษะที่สำคัญมาก แต่การมองโลกในทางบวกก็สำคัญมากเช่นกัน แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ ในโลกอาจจะเลวร้าย ชีวิตอาจจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ สอนให้ลูกพยายามหาทางแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่น่าพึงพอใจ แทนที่จะเอาเวลาไปบ่นคร่ำครวญ

สอนให้เขารู้ว่าบางครั้งก็มีปัญหาบางอย่างที่ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ไขได้ (แต่ก่อนอื่นเขาจะต้องได้พยายามคิดแก้ไขปัญหานั้นอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้) เขาก็ควรจะรู้จักปล่อยวางและยอมรับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และกำจัดความคิดในทางลบเกี่ยวกับตัวเองออกไป

๒. แรงจูงใจ – สอนให้ลูกรู้ว่า กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ ความมีวินัยเพียงอย่างเดียว แต่ แรงจูงใจ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่ควรสอนให้เขารู้จักสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง ให้เขาได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกดีๆ ที่จะได้รับเมื่อเขาสามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ลองสอนให้ลูกเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่สามารถทำสำเร็จได้ไม่ยาก แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่สิ่งที่ยากและท้าทายความสามารถมากขึ้น

เรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้มีอยู่น้อยมากๆ เราไม่ค่อยเห็นว่าเด็กสมัยนี้จะอยากทำอะไร (ที่ไม่ใช่เพื่อความบันเทิง) ถ้าไม่มีใครมาบอกหรือสั่งให้ทำ และกระทั่งมีคนบอกหรือสั่งให้ทำแล้ว ก็ยังต้องคอยชักจูงชี้นำตลอดเวลา ในความรู้สึกเราพ่อแม่สมัยนี้ กำลังเลี้ยงลูกเหมือนเป็นเด็กพิการ ต้องคอยปกป้องดูแล ตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้ พ่อแม่อาจจะลืมนึกไปว่า ลูกต้องโตขึ้น พ่อแม่ต้องแก่ตัวลง ไม่สามารถจะอยู่ปกป้องดูแลลูกไปได้ตลอดชีวิต พ่อแม่น่าจะให้เขาได้เผชิญอุปสรรคและความยากลำบากในขณะที่พ่อแม่ยังอยู่คอยช่วยชี้นำเขาได้ ให้เขามีโอกาสได้ฝึกหัด เพื่อที่เขาจะได้พร้อมรับมือกับปัญหาในเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว

๓. นิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง – นี่เป็นปัญหาที่เราแทบทุกคนต้องเจอในฐานะผู้ใหญ่ เพราะแน่นอนว่าย่อมมีบางเวลาที่เราไม่อยากทำงาน รู้สึกเกียจคร้าน ไม่อยากทำงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ อยากจะทำแต่เรื่องสนุกสนาน แต่เราทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ พ่อแม่ควรจะสอนให้เขารู้ว่าจะบังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ได้อย่างไร อธิบายให้เขาเข้าใจต้นเหตุและผลที่จะตามมาของการผลัดวันประกันพรุ่ง และวิธีการแก้ไข

เรื่องที่ควรจะฝึกตั้งแต่เล็กๆ คือ ความรับผิดชอบในการเรียน (การทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ) การแบ่งเวลาระหว่างเรื่องที่เป็นหน้าที่กับเรื่องที่เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานบันเทิง (การเล่นเกมส์ อ่านหนังสือการ์ตูน ดูทีวี หรือเล่นกีฬา) ต้องให้ลูกรู้จักจัดการเวลาอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยปละละเลยจนสายเกินไป (อย่าปล่อยให้ลูกเล่นเกมส์หรือดูทีวีจนดึก ทำให้ไม่ได้ทำการบ้านหรือนอนตื่นสายไปโรงเรียนสาย ฯลฯ)

๔. ความรักและศรัทธาอย่างแรงกล้า – หนึ่งในวิธีที่จะประสบความสำเร็จคือ การค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะทำ และทำให้มันเป็นสิ่งที่สามารถเลี้ยงชีพได้ ลูกของคุณอาจจะยังไม่รู้ว่าเขารักที่จะทำอะไรตอนที่เขายังอายุน้อยๆ แต่พ่อแม่ต้องให้โอกาสเขาได้ค้นหาสิ่งที่เขาอยากจะทำ และวิธีที่จะสามารถก้าวไปตามความรักและความฝันของเขาได้

ในบทความต้นฉบับเขาเขียนเรื่องความสำเร็จไว้แค่นี้ แต่เราอยากจะเสริมเรื่อง “ความอดทน” และ “การทำงานหนัก” ไว้ด้วย

สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบความสบาย ชอบของฟรี ชอบของที่ได้มาง่ายๆ เวลาที่เราบอกเล่าเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จ เราไม่ค่อยเน้นถึง “หนทาง” ที่แต่ละคนต้องฝ่าฟัน แต่เน้น “ปลายทาง” คือ ความสะดวกสบายหลังจากประสบสำเร็จแล้ว ทำให้ใครๆ ก็อยากจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หลายๆ คนก็พยายามจะหาเคล็ดลับของความสำเร็จ และหวังว่ามันจะต้องเป็นเคล็ดลับที่ง่ายๆ สบายๆ ด้วย

เราว่าความสำเร็จไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ความจริงที่ชัดเจน คือ ต้องมีความอดทน และทำงานหนัก แต่คนมักไม่อยากจะยอมรับความจริงแบบนี้ เพราะมันเหนื่อย มันลำบาก มีแต่คนที่อยากจะประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำ ไม่ต้องทุ่มเท ไม่ต้องอดทน

คนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม อยู่นับครั้งไม่ถ้วน การมีแรงจูงใจ การมีความรักอย่างแรงกล้าในสิ่งที่จะทำ การคิดบวก อาจจะช่วยเรามีแรงที่จะล้มแล้วลุกได้หลายๆ ครั้ง แต่คำตอบสุดท้ายของการไปสู่ความสำเร็จก็คือ ต้องอดทนและทำงานหนัก

อ่านต่อ ตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๒

ต่อจากตอนที่แล้ว วันนี้มาว่ากันเรื่อง การคิด

สอนลูกเรื่องการคิด

๑. การคิดแบบวิเคราะห์ – เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนไม่ได้สอน ทุกวันนี้เราถูกสอนให้เป็นหุ่นยนต์ ถูกสอนให้ฟังครูโดยไม่ตั้งคำถาม ถูกสอนให้ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นบอกโดยไม่ต้องคิดมาก ถูกสอนให้เป็นลูกจ้างที่ดีและหุบปากเอาไว้ ถ้าคุณเป็นนายจ้างคุณอาจจะอยากได้ลูกจ้างแบบนี้ และถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณก็อาจจะอยากให้ประชาชนเป็นแบบนี้ แต่คุณอยากให้ลูกของคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ให้เขาเป็นเด็กนักเรียน/ลูกจ้าง/ประชาชนที่ไม่รู้จักตั้งคำถาม พาซื่อ ไม่รู้ทันโลก ถ้าคุณคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าไม่ใช่ คุณต้องหัดให้เขาเป็นคนช่างสงสัย ให้เขารู้จักถามว่า “ทำไม” จนเป็นนิสัย และสอนให้เขารู้จักค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง สอนให้เขารู้จักตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว

ในการสอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์รู้จักตั้งคำถาม พ่อแม่เองต้องเปิดใจกว้างกับความคิดและเหตุผลของลูก ในการกระตุ้นให้กล้าท้าทายอำนาจเหนือกว่าพ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะโดนท้าทายความคิดด้วยเช่นกัน ต้องสอนให้รู้จักกล้าแสดงความคิดเห็นโดยใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ต้องมั่นใจในตัวเองแต่ไม่ก้าวร้าว เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สอนให้เขายึดมั่นคุณธรรมและความถูกต้อง

๒. การอ่าน - แน่นอนว่าพวกเราถูกสอนให้อ่าน แต่โรงเรียนมักทำให้การอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ เราควรสอนให้ลูกรู้จักความอัศจรรย์แห่งโลกจินตนาการ สอนให้เขาได้เรียนรู้และเติบโตจากการอ่าน สอนวิธีค้นหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต และให้เขารู้จักประเมินความน่าเชื่อถือ ใช้เหตุผล และชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงของสิ่งที่เขาได้อ่าน

การอ่านกับการคิดแบบวิเคราะห์เป็นทักษะที่แยกออกจากกันไม่ได้ การอ่านเยอะๆ เป็นการสะสมข้อมูลให้เราสามารถคิดแบบวิเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้การคิดแบบวิเคราะห์ในการอ่านเรื่องต่างๆ ทั้งสองทักษะควรใช้หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ (อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา, อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ, อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา, อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้, อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน)

ในบทความต้นฉบับเขาพูดเรื่องการคิดไว้แค่ ๒ อย่าง แต่ความที่เพิ่งจะอ่านเจอกระทู้ในพันทิป เรื่องที่มีคนบ่นว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่มีความรู้แต่ไม่มีความคิด (หรือไม่มีความสามารถในการคิดที่จะเอาความรู้มาประยุกต์ใช้) เขาพบว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องรอให้คนมาบอกว่าจะทำอะไรอย่างไร เราว่าตรงนี้ก็เป็นส่วนที่น่าจะเสริมเข้าไปในการสอนให้ลูกรู้จักการคิดแบบวิเคราะห์ด้วยเหมือนกัน

นั่นคือ พ่อแม่ควรจะต้องสอดแทรกเรื่องของการประยุกต์ความรู้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันเข้าไปด้วย แต่หลายๆ คนก็อาจจะแย้งว่ามีหลายๆ วิชา (เช่น คณิตศาสตร์ยากๆ หรือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) ที่ตัวเองเรียนไป ก็ไม่เห็นจะได้เอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของเราก็คือ มีบางอาชีพที่จะต้องใช้ความรู้ตรงนั้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ เราเรียนไปเพราะเรายังไม่รู้ว่าเราจะไปเป็นคนพวกนั้นหรือเปล่าในอนาคต เพราะฉะนั้นก็เรียนไว้ก่อน

แต่ถ้าเจอลูกย้อนกลับมาว่า มั่นใจว่าคงไม่ได้มีอาชีพที่ต้องใช้วิชาเหล่านั้นแหงๆ แล้วจะเรียนไปทำไม ก็ตอบ(กำปั้นทุบดินอีกที)ไปว่า หลายๆ ครั้งเราก็ต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ไม่ต้องการทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบ มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะนักเรียน เป็นการฝึกตนเองเพื่อสร้างวินัยเพื่อให้เราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญที่มีความรับผิดชอบ :)

ส่วนในเรื่องที่บ่นกันว่าเด็กสมัยนี้ต้องให้มีคนคอยบอกตลอดเวลาว่าต้องทำอะไรอย่างไร เราคิดว่าเป็นผลมาจากการที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกได้มีโอกาสฝึกการคิดแบบวิเคราะห์ แต่สอนให้ลูกเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งอาจจะเป็นการทำไปแบบไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าลูกเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่วางแผนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว คอยแก้ปัญหาให้หมดทุกอย่าง ลูกก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย การจะที่ลูกจะสามารถคิดอะไรๆ เองได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยบอก พ่อแม่ต้องมีเรื่องให้เขารับผิดชอบบ้าง ให้เขาได้เผชิญปัญหา และแก้ปัญหาเอง บางครั้งพ่อแม่ต้องทนที่จะเห็นลูกล้มเหลว ผิดหวัง ลำบากบ้าง เพราะนั่นคือชีวิตจริงที่ลูกจะต้องเจอเมื่อเขาโตขึ้น

อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550

บทเรียนชีวิต ๑

เราไปอ่านเจอบทความเรื่อง “๒๗ ทักษะที่ลูกควรรู้แต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน” (27 Skills Your Child Needs to Know that She's Not Getting In School) จากบล็อก The Best Article Everyday

เราว่าพ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกแบบทุ่มเทจัดการชีวิตให้หมดทุกอย่าง ลูกไม่ต้องรับผิดชอบไม่ต้องเอาใจใส่เรื่องอะไรเลยจนกว่าจะเรียนจบ ทำให้เด็กสมัยนี้เคยชินกับการมีคนทำอะไรให้ทุกอย่าง พ่อแม่กลัวลูกลำบาก กลายเป็นพ่อแม่สอนให้ลูกเป็นคนรักสบาย โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ได้มาฟรีๆ พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ให้ความรับผิดชอบที่เหมาะกับวัยของเขา ไม่ใช่รอให้เรียนจบมหาวิทยาลัยหรืออายุ ๒๕ ปี แล้วเพิ่งมานึกได้ว่าถึงเวลาลูกต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว

เด็กต้องค่อยๆ เติบโต ไม่ใช่นอนหลับไปแล้วพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เลย เด็กที่ไม่เคยทำอะไรมาเลยตลอดชีวิต เรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องเริ่มทำงานหาเงิน ต้องเริ่มรับผิดชอบตัวเอง ก็ไม่พร้อมที่จะทำ บางคนก็ดิ้นรนทำไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ แต่บางคนไม่มีความอดทน-ไม่มีความรับผิดชอบมากพอ ก็ซื้อเวลาโดยการไปเรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอก หรือกลายเป็นคนจับจด กลายเป็นคนล้มเหลว ฯลฯ

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไปมุ่งมั่นที่ตระเตรียมสิ่งของทางวัตถุให้กับลูก แล้วก็โยนเรื่องสำคัญๆ อย่างการ “สอนลูกให้เป็นคน” ไปให้ครู โยนเรื่องการ “ดูแลปกป้องลูก” ให้กับรัฐ แต่ความจริงก็คือพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก อบรมสั่งสอนโดยการทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นคนที่จะต้องสอนบทเรียนชีวิตต่างๆ ให้ลูก พ่อแม่ดำเนินชีวิตอย่างไร ลูกก็ทำตามอย่างนั้น

ในบทความที่เราอ่านเจอ เขาแบ่งทักษะที่พ่อแม่ควรจะสอนลูก (เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน) ออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ การเงิน การคิด ความสำเร็จ สังคม เรื่องในชีวิตประจำวัน และความสุข

เราว่าอ่านดูแล้วก็น่าสนใจดี หลายๆ ข้อเป็นลักษณะนิสัยที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้กับลูก แต่หลายๆ ข้อก็เป็นแค่เรื่องที่พวกเขาจะต้องทำเวลาที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ คนเขียนก็แนะนำเหมือนที่เราเขียนไปข้างบนว่า การสอนเรื่องเหล่านี้ให้ลูก ไม่ใช่สอนเขาโดยการบอกการสั่งหรืออ้างตำรา แต่พ่อแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างให้กับลูก ควรจะพูดคุยกับเขา และให้เขาได้ทดลองลงมือทำจริงๆ

เราเอาหัวข้อกับแนวความคิดที่เขาเขียนมา บางทีก็เพิ่มเติมความเห็นของเราเข้าไป บางทีก็ตัดส่วนที่เราไม่เห็นด้วย หรือส่วนที่ไม่น่าจะเข้ากันได้กับวัฒธรรมไทยออกไป วันนี้ว่ากันเรื่อง “การเงิน” แล้วจะค่อยๆ ทยอยเขียนเรื่องอื่นต่อไป ใครที่อยากจะอ่านต้นฉบับจริง ก็คลิกตามลิงก์ข้างบนไปอ่านได้เลย (อ่านต้นฉบับอาจจะดีกว่า เพราะคนเขียนน่าจะมีและวุฒิภาวะมากกว่าเรา และอคติน้อยกว่าเรา :P)

สอนลูกเรื่องการเงิน
๑. การออม – กฎง่ายๆ คือ “ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้” แต่กระทั่งผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ไม่เข้าใจกฎนี้ หรือเข้าใจแต่ทำไม่ได้ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักเก็บเงินค่าขนมหรือเงินที่หามาได้ส่วนหนึ่งไว้ในธนาคารตั้งแต่ยังเล็กๆ สอนให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออม ต้องออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย ก่อนที่จะเอาเงินไปใช้หรือซื้ออะไรที่เขาอยากได้

๒. การทำบัญชีรายรับรายจ่าย – กระทั่งพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังลำบากและทุกข์ใจกับเรื่องนี้ เพราะเราขาดความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการทำให้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องง่าย พ่อแม่อาจจะรอให้ลูกเข้าสู่วัยรุ่นก่อนแล้วค่อยสอนเรื่องนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องดี เพราะมันจะแสดงให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมคณิตศาสตร์พื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เราอาจจะไม่ต้องคาดหวังให้ลูกบันทึกรายรับรายจ่ายทุกบาททุกสตางค์ แต่อย่างน้อยจะต้องให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าตัวเองจับจ่ายใช้สอยเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง ใช้จ่ายในเรื่องที่สมควรหรือไม่ ใช้จ่ายเกินตัวหรือเปล่า พ่อแม่น่าจะได้อาศัยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยในการใช้เงินให้กับลูก

๓. การชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ – ลองเอาใบเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในบ้านให้ลูกไปชำระ และบอกให้เขาจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด สมัยนี้อาจจะสอนลูกทั้งการจ่ายเงินจริงๆ หรือชำระเงินออนไลน์ สอนให้เขารู้จักเทคนิคที่จะช่วยให้ชำระเงินค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลา เช่น พยายามจ่ายเงินทันทีที่ได้รับใบเรียกเก็บเงิน หรือใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติ การหัดให้ลูกไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังอาจจะช่วยให้ลูกได้รู้คุณค่าของเงิน และเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ

๔. การลงทุน – พ่อแม่สมัยนี้มักสอนให้ลูกใช้เงินก่อนสอนให้ลูกหาเงิน สอนให้เขารู้ว่าการลงทุนคืออะไรและสำคัญอย่างไร ให้เขาเรียนรู้ว่าลงทุนอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง สอนให้เขารู้จักหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ให้รู้ว่าการลงทุนทำให้เงินงอกเงยขึ้นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเริ่มสอนลูกในช่วงวัยรุ่น

๕. หนี้และบัตรเครดิต - เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่หลวงสำหรับผู้ใหญ่จำนวนมาก พ่อแม่ควรสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบการเงินของตัวเอง อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็อย่ามีหนี้เกินตัว สอนให้เขารู้จักข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต รู้จักใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ

๖. การเกษียณ – คำถามที่คนมักจะถกเถียงกันคือ “เราควรจะทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพี่อเก็บเงินก้อนใหญ่ตามเป้าหมายแล้วเกษียณ หรือจะทำงานและหยุดพักเป็นช่วงๆ” นี่เป็นเรื่องที่แต่คนจะเลือกตามความพอใจ แต่พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้และเข้าใจทางเลือกเหล่านี้ เข้าใจว่าแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอะไร พวกเขาควรเรียนรู้ว่าทำไมการลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่ยังหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญ สามารถคำนวณความแตกต่างของดอกผลที่จะงอกเงยขึ้นจากดอกเบี้ยทบต้น

๗. การบริจาคเพื่อการกุศล – สอนให้เขารู้จักการแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อการกุศล และพยายามทำให้เขารู้จักบริจาคเป็นนิสัย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความรับผิดชอบในทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พ่อแม่ต้องน่าจะสอนให้เขารู้จักเสียสละทั้งเวลาและเงินทองเพื่อการกุศล

อ่านต่อ ตอนที่ ๒ สอนลูกเรื่องการคิด
อ่านต่อ ตอนที่ ๓ สอนลูกเรื่องความสำเร็จ
อ่านต่อ ตอนที่ ๔ สอนลูกเรื่องสังคม
อ่านต่อ ตอนที่ ๕ สอนลูกเรื่องในชีวิตประจำวัน
อ่านต่อ ตอนที่ ๖ (จบ) สอนลูกเรื่องความสุข

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์