วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บัตรทางด่วนประเทศไทย

การทางพิเศษยกเลิกบัตรทางด่วนแบบเก่า เขาก็เรียกบัตรคืน ถ้าไม่ไปคืนเองในเวลาราชการที่เกษตร กรอกเอกสารแล้วยื่นตามด่านต่าง ๆ ได้ เขาจะคืนเงินเข้าบัญชีธนาคาร

เรายื่นเรื่องไปเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ได้เงินคืนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ใช้เวลาแค่ ๕ เดือนครึ่ง (กับการโทรไปตามเรื่องอีกประมาณ ๓-๔ รอบ)

ตอนแรก ๆ ที่โทรไปตามเรื่องเขาบอกว่าได้เงินคืนช้า เพราะคนทำเรื่องคืนกันเยอะ สงสัยว่าเขาเพิ่งมารู้ตอนที่เรียกบัตรคืนนี่หรือไง ว่าออกบัตรไปทั้งหมดกี่ใบ

ครั้งสุดท้ายที่เราโทรไป เขาบอกว่าที่เราได้เงินช้า เพราะชื่อที่กรอกตอนขอเงินคืน ไม่ตรงกับชื่อคนที่ซื้อบัตร อ้าว... แล้วไงอ่ะ แล้วจะจ่ายเงินคืนไหม เขาบอกว่าจ่ายคืน อ้าว... แล้วแบบนี้เสียเวลาจะตรวจโน่นนี่ไปทำไมกัน

ไม่เข้าใจว่าเครื่องอ่านบัตรก็มีอยู่ทุกด่าน ทำไมไม่อ่านบัตรแล้วก็คืนเงินสดตรงนั้นไปเลย หรือจะคืนเป็นคูปองเป็นเช็คอะไรก็ว่ากันไป

บัตรแบบใหม่ทีแรกบอกว่าจะเปิดใช้เดือนพ.ย. แต่ข่าวล่าสุดก็ว่าเลื่อนไปปีหน้า คนที่จ่ายเงินซื้อบัตรไปแล้วไปขอเงินคืนได้ แต่ไม่บอกว่าปีไหนจะได้เงินคืน โชคดีจริง ๆ ที่เราไม่บ้าจี้ไปซื้อบัตรใหม่กับเขา เฮ้อ...

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เศรษฐกิจถดถอยไม่ต้องท้อแท้

เมื่อคืนฟังพ็อดคาสต์ของอังกฤษ ชื่อ The Naked Scientists เป็นรายการที่เอาเรื่องเกี่ยวกับวงการวิทยาศาสตร์มาเล่าให้ฟัง

(นอกเรื่องนิดหนึ่ง ตั้งแต่เพื่อนเราแนะนำให้ฟังพ็อดคาสต์ไทย “ช่างคุย” เราก็เลยมีโอกาสฟังพ็อดคาสต์ของที่อื่น ๆ ด้วย แต่ฟังพ็อดคาสต์อยู่ตั้งน้านนน... กว่าจะรู้ว่า พ็อดคาสต์ แปลว่าอะไร

Podcast ก็คงล้อมาจากคำว่า broadcast หรือการกระจายเสียง คำว่าพ็อด เขียน Pod เราก็นึกถึงอะไรที่มันเป็นกระเปาะ ๆ เป็นฝัก ๆ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับอะไรที่เอามาฟังเลย แต่ที่จริงมันเป็นตัวย่อตะหาก POD = Play On Demand = เล่นตามใจ

PODcast ก็คือการกระจายเสียงที่คนฟังจะดาวน์โหลดมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เหมือน broadcast ที่ออกอากาศตามเวลา ถ้าไม่ได้ฟังเวลาที่ออกอากาศ ก็อดฟังไปเลย เอ.. เราเขียนว่า “ฟัง” แต่ที่จริงพ็อดคาสต์เป็นวิดีโอก็มี เอาเป็นว่าฟังกะได ดูกะไดนะ .. (อืมม ไอ้มุข “กะได” นี่จะมีใครเก็ทกับเราไหมฟระ))

อ่ะ... กลับมาเรื่องเศรษฐกิจถดถอย The Naked Scientists เล่าว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ตีพิมพ์ผลงานเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ บอกว่าเศรษฐกิจถดถอย (recession) อาจจะดีกับสุขภาพของเรา

นักวิจัยเขาย้อนไปดูอัตราการตายของประชากรในช่วง The Great Depression (ช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐) ในศตวรรษ ๑๙๒๐ เศรษฐกิจสหรัฐบูมมาก ๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์ Black Tuesday ๒๙ ตุลาคม ๑๙๒๙ (เหมือนเลขหวยยังไงชอบกล) ตลาดหุ้นสหรัฐเจ๊งรูดในวันเดียว ปีถัดมากิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงฮวบ อัตราการว่างงานพุ่งปรี๊ด

เขาก็คิดกันว่ามันน่าจะมีผลต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของคน แต่พอไปดูสถิติการตายของคนช่วงปี ๑๙๒๐ ถึง ๑๙๔๐ ปรากฏว่าในปีที่เศรษฐกิจบูม อัตราการตายของคนก็เพิ่มสูงไปด้วย สวนกับความรู้สึกที่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน ไม่มีเงินกินใช้ น่าจะตายเยอะกว่าไหม

มีคนตั้งสมมติฐานว่า อาจจะเป็นเพราะผลลัพธ์มันเกิดช้า คือ ตอนช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนอยู่กันแบบอด ๆ อยาก ๆ ไม่ดูแลสุขภาพ ใช้เวลาอีกพักหนึ่ง กว่าจะมาแสดงผลทำให้คนป่วยเสียชีวิตก็เป็นตอนเศรษฐกิจฟื้นพอดี แต่สมมติฐานนี้ตกไป เพราะอัตราการตายมันไม่สอดคล้องกับช่วงฟุบ-ช่วงเฟื่องของเศรษฐกิจ

นักวิจัยสรุปว่าเวลาเศรษกิจดี มันดีกับกระเป๋าตังค์ แต่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะเราต้องทำงานหนักขึ้น ก็เครียด เหนื่อย ล้า แล้วก็มีตังค์เหลือเฟือพอที่จะเอาไปซื้อสิ่งทำร้ายสุขภาพอย่างเหล้า/บุหรี่ นอกจากนั้นช่วงเศรษฐกิจดี คนก็มีตังค์ซื้อรถ รถวิ่งกันเต็มถนน เกิดมลภาวะ เกิดอุบัติเหตุ คนก็ตายเยอะขึ้นอีก

สรุปว่าเศรษฐกิจแย่ก็มีข้อดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ดีต่อสุขภาพของเรา คิดซะว่าได้หยุดพักเครื่อง หาเงินได้น้อย ก็พยายามกินอยู่อย่างพอเพียง ก็ไม่แย่จนเกินไปนะ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เราเล่นเกมส์ หรือ บริษัทเกมส์เล่นเรา

ช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา เราเข้าไปติดกับเกมส์ออนไลน์ใน facebook อย่างหนึบหนับ ก่อนหน้านี้เคยสมัครสมาชิก facebook ไว้ตั้งนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับมัน เพราะไม่เข้าใจว่าต้องจะเข้าไปทำอะไร

ในช่วงที่เราติดเกมส์หนึบหนับ ได้เข้าเว็บ facebook บ่อย ๆ ก็เลยสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ใช้ facebook ไว้อัพเดทสถานะของตัวเองว่ากำลังทำอะไร อัพโหลดรูปต่าง ๆ ไว้ให้เพื่อน ๆ ดู แล้วก็จะมีเพื่อน ๆ มาคอมเมนต์ ก็ประมาณว่าเอาไว้ใช้สังสรรค์ออนไลน์นั่นเอง

เราแทบไม่ได้อัพเดทสถานะเลย เพราะไม่รู้ว่าจะประกาศไปทำไม รูปก็ไม่เคยอัพเดท เพราะไม่รู้ว่าจะโชว์ไปทำไม เพื่อนก็มีไม่เยอะอีกตะหาก (เคยสมัคร Hi5 แล้วมีเพื่อนไม่ถึงห้าคนอ่ะ ทำเว็บเขาเสียชื่อมาก ๆ)

แต่ที่เราหลวมตัวไปเล่นเกมส์ นี่แหละที่ทำให้เป็นเรื่อง ทำเอาเสียงานเสียการ สองสามวีคเอ็นด์ที่ผ่านมา เราเอาแต่นั่งคลิก ๆ เป็นบ้าเป็นหลัง ยังดีที่ออฟฟิศบล็อคเว็บเกมส์ ไม่งั้นเราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะห้ามใจไม่เล่นเกมส์เวลางานได้หรือเปล่า

เรากำลังคิดว่าจะเลิกเล่นเกมส์ใน facebook ก่อนที่จะนรกไปมากกว่านี้ กำลังทำใจอยู่ว่าจะค่อย ๆ เลิกหรือหักดิบดี ก็พอดีไทม์ฉบับล่าสุดเขียนเรื่องเกม Mafia Wars (หนึ่งในเกมส์สุดฮิตใน facebook ซึ่งเราก็เล่นกับเขาด้วย - เป็นเกมที่เราเป็นมาเฟีย และหาเงินจากจ็อบผิดกฏหมายต่าง ๆ) เขาบอกว่าแต่ละเดือนมีคนเข้าไปเล่น Mafia Wars ประมาณ ๒๕ ล้านคน

โอ้แม่เจ้า... มากกว่าประชากรของประเทศออสเตรเลียซะอีก!!! (และจากข้อมูลจาก wolframalpha มากกว่าจำนวนประชากรของ 193 ประเทศในโลกนี้ด้วย)

เกมส์ออนไลน์พวกนี้ทำให้คนติดได้ เพราะเล่นฟรี (ถ้าไม่คิดมูลค่าของเวลาเป็นชั่วโมง ๆ ที่หายไปโดยไม่รู้ตัว) เล่นง่ายไม่ต้องใช้สมองอะไรมาก เล่นยังไงไม่มีทางแพ้ เพราะได้แต้ม ได้ของรางวัลฟรีอยู่เรื่อย แถมได้รางวัลจากเล่นเกมกับเพื่อน มีการส่งของขวัญให้เพื่อน และให้เพื่อนส่งของขวัญกลับมาให้เรา เป็นเกมที่เล่นได้ไม่มีวันจบ เพราะบริษัทเกมจะเพิ่ม level ขึ้นไปเรื่อย ๆ

ในแต่ละเกมจะมีแต้มหรือเงินเสมือนที่ใช้ซื้อของต่าง ๆ ในเกมได้ ทำให้ผู้เล่นเลื่อนระดับขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ถ้าใครต้องการเงินเสมือนมากกว่าที่มีอยู่ก็สามารถจ่ายเงินจริง (ผ่านบัตรเครดิต หรือ Paypal) เพื่อซื้อแต้มหรือเงินเสมือนเพิ่มได้ เราไม่เคยคิดจะจ่ายเงินจริงเพื่อเล่นเกม และคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเล่นฟรีเหมือนกัน ก็เลยสงสัยว่าแล้วบริษัทเกมส์จะได้อะไร

เราลองเสิร์ชพี่กูเกิ้ลเล่น ๆ ปรากฏว่าเราคิดผิดถนัด เพราะไปเจอว่าบริษัท Zynga (ผู้ผลิตเกมส์ Mafia Wars,  FarmVille เกมที่ให้คนเข้าไปปลูกผัก เลี้ยงสัตว์, CafeWorld ที่ให้คนเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำอาหารขาย ฯลฯ  ซึ่งเป็นเกมที่ให้เล่นฟรีได้ในเว็บ Social Networking อย่าง facebook, MySpace) คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เกิน ๑๐๐ ล้านเหรียญ

แสดงว่ามีคนที่ยอมจ่ายเงินจริง ๆ เพื่อซื้อของปลอม ๆ ในเกม และมีจำนวนมากเสียด้วย...

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือบริษัท Zynga ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี ๒๐๐๗ สามารถทำกำไรได้ภายใน ๓ เดือนหลังจากก่อตั้ง (กันยายน ๒๐๐๗) ในขณะที่เว็บไซท์อย่าง facebook หรือ twitter ปัจจุบันก็ยังหารายได้เป็นกอบเป็นกำไม่ได้

ยอดล่าสุดที่มีรายงานออกมา มีคนเข้าไปเล่นเกมของ Zynga ตามเว็บ Social Networking ทั้งหลายประมาณ ๕.๕ ล้านคนต่อวัน ๓๐-๗๐ ล้านคนต่อเดือน (แต่ละเว็บรายงานตัวเลขไม่เท่ากัน คาดว่าอาจจะเป็นที่ช่วงเวลาที่รายงานด้วย ตัวเลขที่รายงานล่า ๆ สุดน่าจะสูงกว่าตัวเลขเมื่อต้นปี)

Zynga พยายามจะบอกว่าไม่ได้มีรายได้เยอะขนาดนั้น (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลัวว่าจะมีคนเข้าไปแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาด) แต่ยังไงรายได้ก็ไม่น่าจะต่ำว่า ๓๐-๕๐ ล้านเหรียญต่อปี กลายเป็นว่าที่พวกเราคิดว่าได้เข้าไปเล่นเกมส์กันฟรี ๆ ที่จริงแล้วกำลังโดนบริษัทเกมส์เล่นพวกเราเข้าให้เต็มเปาซะแล้ว...

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Leadership Training

วันก่อนที่บริษัทจัดคลาส  Leadership Training ไม่ค่อยอยากเข้าเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่เข้าต้องบอกเหตุผลว่าทำไมไม่เข้า (คนที่มาเทรนเป็นฝรั่ง อุตส่าห์บินจากออฟฟิศที่อเมริกามาสอน) ก็เลยต้องตกกระไดพลอยโจนเข้าไป “โดนอบรม” 

เขาสอนเรื่อง Development Style ของลูกน้อง ว่าแบ่งตาม Skill/Knowledge กับ Motivation/Commitment ได้ ๔ ประเภท คือ D1 - Low/High, D2 - Low/Low, D3 - High/Low, D4 - High/High (แปลง่าย ๆ ก็คือ ไม่เก่งแต่ตั้งใจ, ไม่เก่งและไม่ตั้งใจ, เก่งแต่ไม่ตั้งใจ, เก่งและตั้งใจ)

หัวหน้าต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าลูกน้องตัวเองอยู่ในประเภทไหน และเป้าหมายของหัวหน้าคือ ทำให้ลูกน้องเป็น D4 ให้ได้ ลูกน้องที่มักจะล้มเหลวคือพวก D2/D3 ส่วนพวก D1 ถึงจะไม่เก่ง แต่โอกาสล้มเหลวน้อยกว่าเยอะ

เขาบอกว่า อุปสรรคของความสำเร็จในองค์กร ไม่ได้เกิดจากคนไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำงาน แต่คนไม่ยอมทำงานเท่าที่มีความรู้ความสามารถ (อืมม์ อันนี้ ฟังแล้วโดนนนน...ไปเต็ม ๆ)

ส่วน Leadership Style คือลักษณะการนำหรือสอนลูกน้อง แบ่งตาม Telling/Directing กับ Questioning/Supporting เป็น ๔ ประเภทเหมือนกัน คือ S1 - High/Low, S2 - High/High, S3 - Low/High, S4 - Low/Low (แปลง่าย ๆ ก็คือ ให้ความรู้แต่ไม่ต้องให้กำลังใจ-แรงจูงใจ, ให้ความรู้และให้กำลังใจ-แรงจูงใจ, ไม่ต้องให้ความรู้แต่ให้กำลังใจหรือแรงจูงใจ, ไม่ต้องให้ความรู้และไม่ต้องไม่ต้องให้กำลังใจ-แรงจูงใจ)

Leadership Style ก็จะแมชท์กับ Development Style พอดี

เขาบอกว่าคนเป็น Leader/Supervisor จำเป็นต้องรู้ว่า เวลาไหนควรจะสอนหรือให้ความรู้กับลูกน้อง (เวลาที่ลูกน้องไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ) แต่ที่สำคัญกว่า คือ ต้องรู้ว่าเวลาไหนที่ควรจะเลิกสอน (เวลาที่ลูกน้องรู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว - สอนมาก ๆ ลูกน้องรำคาญ, หรือลูกน้องไม่ได้อยากให้สอน - สอนไปมันก็ไม่ฟัง)

เขาบอกว่าคนทำงานส่วนใหญ่จะเริ่มจาก D1 แล้วพอทำงานมาซักพักหนึ่ง ก็จะเก่งขึ้น (เป็น D4) ถ้าให้ทำงานเดิมซ้ำไปเรื่อย ๆ อาจจะเบื่อ และกลายเป็น D3 ไป บริษัทก็เลยมักจะต้องโปรโมทคนเก่ง ๆ ให้ได้ทำงานตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ๆ

คนนั้นก็จะกลายเป็น D1 อีก (ตื่นเต้นกับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ๆ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนั้น) ถ้าหัวหน้าสอนเขาให้เขามีความรู้มีประสบการณ์มากขึ้น ก็สามารถจะกลายเป็น D4 ในตำแหน่งใหม่ได้ แต่ถ้าหัวหน้าให้ความรู้เขาไม่พอ ก็อาจจะหมดกำลังใจ รู้สึกว่างานยากเกินไป หรือคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ จะกลายเป็น D2 แล้วก็ล้มเหลวหรือเลิกกลางคัน

แต่ถ้าโปรโมทคนไปทำในตำแหน่งที่เขาไม่อยากทำ ก็เท่ากับส่งลูกน้องให้ไปเป็น D2 แบบนี้ก็เจ๊งลูกเดียว!!

ในคลาสมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะ ฟังแล้วก็เพลิน ๆ ดี เห็นบอกว่าเอาเนื้อหาจาก The One Minute Manager มาสอน คนสอนก็ฮาดี ทำให้ไม่ง่วง เสียแต่เราไม่ได้อยากจะลีดใคร ก็เลยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปตามเรื่อง... :P

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์