วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

ทุ่งทานตะวัน

เมื่อเช้าฟังวิทยุได้ยินเขาบอกว่า ตรงถนนเกษตรนวมินทร์ ช่วงแถวๆ หลังโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มีทุ่งทานตะวันใหญ่เบิ้ม ทางกทม. (หรือเขตฯ?) เขาไปขอความร่วมมือจากหมู่บ้านเสนานิเวศน์ใช้ที่ ๔๕ ไร่ ปลูกต้นทานตะวัน ตอนนี้กำลังออกดอกสีเหลืองทองอร่ามเต็มไปหมด

ฟังแล้วเลยได้คำตอบที่เราเก็บความสงสัย (อยู่เงียบๆ) มาปีกว่าๆ

เพราะช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีที่แล้ว เราขับรถผ่านไปตรงที่เขาพูดถึงนี่แหละ แล้วก็เห็นทุ่งทานตะวันที่ว่านี้ ก็เลยจอดรถถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วก็สงสัยว่าใครหนอ ที่มาปลูกต้นทานตะวันพวกนี้ไว้ และปลูกไปทำไม และฯลฯ

แต่ไม่ว่าใครจะปลูก เราก็ชื่นชม เพราะได้เห็นดอกทานตะวันบานเป็นทุ่ง แล้วชื่นใจ ยิ้มได้ (เพิ่มขึ้นจากการได้ขับรถเต็มสปีดในถนนว่างๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแค่ปีละครั้งตอนสงกรานต์)

ตอนนี้พ้นช่วงสงกรานต์มาแล้ว รถก็กลับมาติดเหมือนเดิม อากาศก็ร้อนยังกะนรก ตามถนนมีอะไรสวยๆ งามๆ ให้ดู ก็ได้คลายร้อน ได้เย็นใจกันบ้างก็ดีเนอะ ใครที่ไม่เคยเห็นทุ่งทานตะวัน อยากจะไปแอ็คท่าถ่ายรูป ก็ไปได้ อยู่ใกล้ๆ แค่นี้ ไม่ต้องขับไปต่างจังหวัดไกลๆ ให้เปลืองน้ำมันแล้ว :)

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

ความรู้กับความบันเทิง

เราเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาเราไปต่างประเทศ เราถึงรู้สึกอยากจะไปเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์ อยากไปดูงานศิลปะ แต่เมืองไทยก็มีพิพิธภัณฑ์ตั้งเยอะแยะ ผลงานศิลปะของเราไม่ได้ไม่ได้น้อยหน้าใครๆ เลย ทำไมเราไม่รู้สึกว่าอยากไปดูอยากไปชมสักเท่าไหร่ หรือว่าเราจะเป็นพวกไม่รักของไทย ไม่ชาตินิยม

พอได้มาอ่านที่อาจารย์นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ก็เพิ่งเข้าใจสาเหตุ ว่าเรายังไม่สามารถให้ความรู้ได้มากพอที่จะสร้างสำนึก สร้างความรู้สึกซาบซึ้งกับคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็น ได้ดูในพิพิธภัณฑ์หรืองานแสดงต่างๆ พอไปเข้าดูพิพิธภัณฑ์ไทย มันเลยไม่รู้สึกสนุก ไม่เห็นคุณค่า ไม่เข้าใจความหมาย

ในสังคมไทยดูเหมือนว่าความรู้กับความบันเทิงเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ความบันเทิงของไทยจึงมีแต่ความไร้สาระ ไม่สมจริงสมจัง ในขณะที่ความรู้ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ หนักหัวสมอง เคร่งเครียด ไปซะงั้น

...ศิลปะและรสนิยมทางศิลปะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่าทักษะและทัศนคติบางด้าน สังคมใดไปฝากศิลปะไว้กับการศึกษามวลชนจึงมักไม่สามารถปลูกฝังรสนิยมอันดีทางศิลปะแก่มวลชนได้

อย่าเพิ่งคิดเอาไปฝากไวก้บครอบครัวนะครับ เพราะฝากกับครอบครัวนั้นถูกแน่ แต่ถูกแบบกำปั้นทุบดิน เนื่องจากครอบครัวของมวลชนเองก็อ่อนแอในเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นในสังคม เพื่อช่วยครอบครัวด้วย เครื่องมือสำคัญก็คือ สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่แทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคนในตลาด

สื่อในเมืองไทยเอื้อต่อการเรียนรู้และเสพย์ศิลปะมากน้อยแค่ไหน ก็เห็นๆ กันอยู่แล้วนะครับ ผมจะไม่พูดถึง

แต่ผมอยากจะพูดถึงสถาบันที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันไปเที่ยวเตร่เยี่ยมเยือน เช่น พิพิธภัณฑ์, สวนสนุก, สถาบันดนตรี, หอศิลป์, มหกรรม, งานนิทรรศการ, งานแสดงสินค้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้มากกว่า

สิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายที่ซ้อนกันอยู่หลายมิติ หากำไรก็ใช่, ให้ความบันเทิงก็ใช่, และที่ไม่ควรขาดอย่างยิ่งก็คือ ให้การเรียนรู้ด้วย เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกันเองนะครับ ถ้าไม่หน้ามืดกับการหากำไรจนเกินไป ก็จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ในอนาคต ไม่ใช่การลงทุนเปล่า

พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ที่แสดงของพร้อมป้ายอธิบายอย่างหยาบๆ เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ (ทุกชนิด) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนุกและให้การเรียนรู้มาก แต่ต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย เช่น สร้างแกนเรื่อง (theme) ที่น่าสนใจขึ้น และมีบริการนำชมเป็นรอบๆ ไป

ใครเข้าชมหอศิลป์ ก็อาจจะซื้อตั๋วเพื่อชม “อิทธพลของ Impressionism ในศิลปะไทย” ซึ่งจะได้ชมภาพของศิลปินไทยหลายท่าน รวมทั้งได้ความรู้ว่าอะไรคือ Impressionism ในทางศิลปะ, อิทธิพลนั้นแสดงออกในภาพเขียนอย่างไร, ยังมีสืบมาถึงปัจจุบันหรือไม่, เทคนิควิธีของการเขียนภาพแบบต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งอาจซักไซ้ผู้นำชมได้อีกมากมายโดยไม่มีคำตอบตายตัว

แกนเรื่องมีมากมายหลายเรื่อง และต้องสร้างขึ้นใหม่ให้น่าสนใจอยู่เสมอ

ผมจึงพูดอยู่บ่อยๆ ว่า หัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์, หอศิลปะ, นิทรรศการ, ฯลฯ นั้นคือวิจัย นอกจากต้องมีความรู้ว่าจะเก็บและตั้งแสดงอย่างไรแล้ว ต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการพอที่จะสร้างแกนเรื่องให้ใหม่สดและอยู่ในความสนใจใคร่รู้ของผู้คนได้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างสถาบันทางดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกสักแห่งหนึ่งเป็นตัวอย่าง นั่นคือ Lincoln Center แห่งนิวยอร์ก

ผู้คนรู้จักศูนย์ลิงคอล์นว่าเป็นโรงแสดงดนตรีอันมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วศูนย์ลิงคอล์นเป็นมากกว่านั้นมาก

ห้องประชุมใหญ่ของที่นี่ชื่อ Avery Fisher Hall อันเป็น “บ้าน” ของ New York Philharmonic Orchestra อันลือชื่อ นอกจากใช้แสดงแล้วยังใช้ฝึกซ้อม วงดนตรีนี้ไม่ห้อยอยู่บนบันไดชั้นบนเฉยๆ แต่ยังพยายามปลูกฝังรสนิยมการฟังดนตรีแก่เยาวชนและคนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยที่ Leonard Bernstein เป็นผู้อำนวยการและอำนวยวง ตัวเขานั่นเองแหละที่จะนำวงมาสอนทุกวันอาทิตย์ และว่ากันว่า เขาเป็นครูชั้นยอดทีเดียว

ที่สังกัดอยู่กับ Lincoln Center ยังมีศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากดนตรีคลาสสิค เช่น สถาบันอุปรากรและบัลเลต์, มีสมาคมภาพยนตร์, มีแจ๊ซ, และเชมเบอร์มิวสิคอยู่ด้วย นอกจากนี้ ก็มีห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่ใหญ่มาก มีพิพิธภัณฑ์การดนตรี และมีการขายทัวร์นำผู้สนใจเข้าชมทั้งศูนย์ได้ด้วย

สถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Lincoln Center คือโรงเรียนดนตรีชื่อ Julliard ซึ่งถือกันว่าโรงเรียนนี้ผลิตนักดนตรีดีที่สุดของโลก นักเรียนดนตรีที่นี่จัดแสดงดนตรีในหอประชุมต่างๆ ของศูนย์เกือบตลอดปี แม้มีชื่อเสียงระดับสุดยอด โรงเรียนดนตรี Julliard ก็ยังจัดสอนภาคพิเศษตอนเย็น ซึ่งเปิดรับคนทั่วไปเข้าเรียนได้ แล้วแต่จะเลือกสนใจเรื่องอะไรของดนตรี แม้แต่นักท่องเที่ยวซึ่งมีเวลาอยู่นิวยอร์กนานพอ ก็สามารถไปลงทะเบียนเลือกเรียนได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดเรื่องเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากบอกกล่าวกิจกรรมของศูนย์หรือวงนิวยอร์กฟิลฮาร์มอนิกแล้ว ยังให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีและศิลปะการแสดงแขนงอื่นอีกมากมายด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถทำตลาดให้เป็นมากกว่าที่ขายของได้ นั่นก็คือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย เพราะชีวิตคนปัจจุบันอยู่ในตลาด หากตลาดไม่ให้การเรียนรู้ ผู้คนจะ “มีการศึกษา” ไม่ได้ ไม่ว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปเป็น ๑๒ หรือ ๒๔ ปี

ตลาดศิลปะที่มีคุณภาพเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีการเรียนรู้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นในชีวิตปรกติของตลาด อันไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะการจัดแสดงเพียงอย่างเดียว เดินเข้าไปชมภาพศิลปะร่วมสมัยในหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยไทย โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตกรรมสมัยใหม่เลย จะไม่ให้ความรู้สึกว่ามีเท้าที่มองไม่เห็นถีบออกมาได้อย่างไร

ตลาดที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้ ย่อมไม่สามารถอุปถัมภ์ศิลปะและวิทยาการที่ดีเลิศได้เป็นธรรมดา และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในตัวตลาดนั้นเองได้ ทั้งยังเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดด้วย เพราะสัมพันธ์กับชีวิตคนยิ่งกว่าโรงเรียน, วัด, หรือภาพเขียนและดนตรีเลิศใดๆ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของการอุปถัมภ์ศิลปะจากอภิชนมาสู่สามัญชนนั้น ต้องมาพร้อมกับการทำให้ความรู้เป็นสมบัติของประชาชนด้วย (popularization of knowledge) แต่นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยใส่ใจตลอดมาตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงได้แต่หงุดหงิดงุ่นง่านไปตามลำพัง เพราะไม่มีใครยอมเผยแพร่แบ่งปันความรู้กันตามที่แกเรียกร้องอยู่เสมอเลย

ตัดตอนมาจาก “ศิลปะในตลาดที่ไม่ได้เรียนรู้” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ – มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๔๐ วันที่ ๒๑-๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์