วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สิทธิหรือหน้าที่

วันก่อนอ่านเรื่องเซอร์เอ็ดเวิร์ด ดาวน์ส อดีตวาทยกรของวงบีบีซีฟิลฮาร์โมนิกที่ตัดสินใจให้หมอปลิดชีวิตตัวเองไปพร้อม ๆ กับภรรยาอดีตนักบัลเลต์ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับและตับอ่อน

Euthanasia หรือ Assisted Suicide (การุณยฆาต หรือ การที่แพทย์ช่วยจบชีวิตคนไข้อย่างสงบ) ในประเทศอังกฤษถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เซอร์ริชาร์ดและภรรยาไปใช้บริการของคลินิก Dignitas ในสวิตเซอร์แลนด์

Euthanasia เป็นเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก มีแค่ไม่กี่ประเทศที่ทำได้อย่างถูกกฎหมาย เนเธอร์แลนด์ยอมให้แพทย์ช่วยจบชีวิตให้คนไข้ในกรณีที่มีความเจ็บป่วยต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส รัฐโอเรกอนต้องมีแพทย์สองคนให้ความเห็นตรงกันว่าคนไข้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน

กรณีของเซอร์ริชาร์ดเป็นที่ถกเถียงกันมากกว่าปกติ เพราะถึงแม้เซอร์เอ็ดเวิร์ดวัย ๘๕ ปีจะสุขภาพไม่ดีนัก (เริ่มสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน) แต่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษา

สิ่งที่เซอร์เอ็ดเวิร์ดจะต้องเผชิญ คือความทุกข์ทรมานทางใจที่ต้องมีชีวิตโดยปราศจากคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมานานถึง ๕๔ ปี

หลายคนคิดว่าความทุกข์ทางใจก็ทรมานแสนสาหัสเหมือนกัน (บางคนมองเรื่องนี้เป็นความรักโรแมนติกด้วยซ้ำ) จึงเห็นด้วยกับการตัดสินใจของเซอร์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งก็หมายความว่าไม่ควรจำกัด Euthansia อยู่แค่กรณีความเจ็บป่วยทางกาย

ฝ่ายสนับสนุน Euthanasia คิดว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ แต่จากสถิติที่ผ่านมา ๑ ใน ๓ ของเหตุผลที่ผู้ป่วยตัดสินใจเลือก Euthanasia คือ ไม่อยากเป็นภาระกับลูกหลาน คนรัก หรือครอบครัว

คำถามเกิดที่ตามมา (ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน) คือ ถ้า Euthanasia เป็นเรื่องถูกกฏหมายโดยไม่มีข้อจำกัดอย่างที่ใช้ ๆ กัน เวลาที่ผู้ป่วยตัดสินใจเลือก Euthanasia จริง ๆ แล้ว มันเป็นการใช้สิทธิเลือกความตาย หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องเลือกความตาย?

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ลายมือ

วันก่อนอ่านบทความใน Time ว่าคนที่เกิดหลังปี ๑๙๘๐ แทบจะไม่เขียนภาษาอังกฤษแบบตัวเขียน (Cursive Writing) กันแล้ว เขียนกันแต่ตัวพิมพ์ (Print Writing หรือ Manuscript)

เขาบอกว่าไม่แน่ว่าในอนาคต Cursive อาจจะเหมือนภาษาลาติน คือกลายเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว คนทั่วไปอ่านกันไม่ออก (เขาบอกว่า Declaration of Independence จะกลายเป็นเอกสารที่คนอเมริกันทั่วไปอ่านไม่ออก)

สมัยเด็ก ๆ เราเคยเรียนคัดลายมือตัวเขียนภาษาอังกฤษด้วยปากกาคอแร้ง ต้องจุ่มหมึกยี่ห้อ Pilot เขียนไปก็ต้องมีกระดาษคอยซับน้ำหมึกไม่ให้เลอะ (ต้องเป็นพวกอายุ ๓๐ อัพนะ ถึงจะเคยมีประสบการณ์แบบนี้) เลยลองคว้ากระดาษปากกา มาเขียน A-Z ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก

ปรากฏว่ามีบางตัวที่ต้องนึกอยู่พักใหญ่ มีขูดขีดฆ่าประมาณเดียวกับลายมือเด็กป. ๑ มีหลาย ๆ ตัวที่จำไม่ได้ว่าเขียนยังไง (เช่น Q หรือ Z) ตัวอักษรตัวใหญ่เขียนยากตัวเล็ก

จะว่าไปไม่ใช่แต่ตัวเขียนภาษาอังกฤษ การเขียนด้วยมือกลายเป็นสิ่งที่เราทำไม่ถนัดไปแล้ว เพราะวัน ๆ ไม่ค่อยได้เขียนอะไร (นอกจากเขียนสลิปฝากเงินธนาคาร จ่าหน้าซองจดหมาย เขียนโน้ตเตือนตัวเอง ซึ่งบางทีก็อ่านด้วยความประหลาดใจว่า ตรูเขียนอะไรไปฟระ)

คนสมัยนี้เขียนน้อยลง ลายมือแย่ลง ก็ต้องโทษคอมพิวเตอร์นี่แหละ ดีไม่ดี ไม่ใช่แต่ภาษาอังกฤษตัวเขียนที่จะตายไป การเขียนด้วยมือในภาษาอื่น ๆ ก็อาจจะตายไปได้เหมือนกันนะ

ข้างล่างนี้เป็นตารางของตัวเขียน A-Z สำหรับคนที่จำไม่ได้ว่าแต่ละตัวขียนยังไงมั่ง เดี๋ยวจะคาใจเหมือนเรา

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์