วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พัฒนาเด็กด้วยหนังสือ การลงทุนเพื่ออนาคต

โดย มูลนิธิซิเมนต์ไทย - จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๖๑ วันที่ ๑๕-๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๔๓

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ไม่ควรต้องนำมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย แต่เหตุใดหลายหน่วยงานจึงมุ่งเน้นในสิ่งเดียวกัน และอีกหลายหน่วยงานที่พยายามเชิญชวนเรียกร้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การเล่านิทาน อ่านหนังสือมีความจำเป็นอย่างไร

บทความต่อจากนี้ไป เป็นข้อมูลที่ได้จากการทำงานจริงในมิติที่ลึกซึ้ง จากโครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)”

ในแวดวงการศึกษาเด็กปฐมวัยและการศึกษาด้านการแพทย์ พบว่าเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงแรกเกิดถึงหกขวบ เป็นวัยที่มีการพัฒนาการสูงที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะสมองของเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงสามขวบ เด็ก ๆ วัยนี้มีความสามารถในการซึมซับ รับรู้และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ดังคำนำของผู้เขียนหนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งเปรียบเหมือนคัมภีร์เล่มหนึ่งในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวไทยยุคนี้เลยก็ว่าได้

ยิ่งเราศึกษามากขึ้นเท่าไร เรายิ่งรู้ว่าความคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องของเด็กเล็กนั้นผิดพลาดมากแค่ไหน เราเคยคิดว่าเรารู้เรื่องเด็กเล็กดีทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าที่จริงเราเกือบไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงให้การศึกษาของเด็กเล็กเริ่มหลังจากอายุ ๓ ขวบ ตอนที่เซลล์สมองก่อร่างสร้างตัวเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่รายงานการศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองบอกว่า “๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเซลล์สมองของมนุษย์จะเติบโตเต็มที่ภายในอายุ ๓ ขวบ”

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่าเด็กวัยแรกเกิดถึงหกขวบเป็นวัยที่สำคัญที่สุด เหมาะที่สุดที่จะส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยเฉพาะหนังสือดี ๆ นั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการพัฒนาสมองเด็ก

ทำไมต้องเล่านิทาน อ่านหนังสือ

หนังสือภาพเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านหรือเล่าให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง และให้ดูภาพไปพร้อม ๆ กัน สำหรับเด็กโตหนังสือภาพเป็นสื่อที่ตอบสนองความต้องการของเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหนังสือภาพเป็นสื่อที่หาง่าย ใช้ง่าย แต่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยังมองเห็นว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กมีราคาแพง หากเมื่อมองให้ลึกถึงคุณค่าแล้ว หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ได้มีราคาแพงเกินกว่าคุณประโยชน์มหาศาลที่เด็กจะได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของใช้ฟุ่มเฟือยอื่น ๆ สำหรับเด็ก

โครงการเล่านิทาน อ่าหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) เป็นหนึ่งในโครงการ “พัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือ” ที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ทำงานเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยใช้หนังสือที่ดีเป็นเครื่องมือในการทำงาน

จากการ “นำหนังสือดีสู่เด็ก” ในพื้นที่ดำเนินโครงการ มีเจ้าหน้าที่ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดในระยะเก้าเดือน พบว่า เด็ก ๆ จากจำนวน ๑๕๐ คน (ครอบครัว) ซึ่งครอบครัวเหล่านี้มีลักษณะเหมือนครอบครัวในชนบททั่ว ๆ ไป ที่เป็นเกษตรกรซึ่งมีรายได้และการศึกษาไม่มากนัก หรือไม่มีเลย ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะเล่านิทานและอ่านหนังสือให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ

เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการทางด้านภาษาและสื่อสารได้ดี อีกทั้งเด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความโดดเด่นจากกลุ่มที่ไม่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างชัดเจน จากการสังเกตเด็กเมื่อเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นครั้งแรกในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กกลุ่มที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างเข้มข้นจะไม่ติดโทรทัศน์ ถ้าให้เลือกระหว่างหนังสือภาพกับโทรทัศน์ เด็กกลุ่มนี้จะเลือกหนังสือภาพมากกว่า

คุณครูพรทิพย์ ชินวิทย์ ครูพี่เลี้ยงประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เล่าถึง “น้องหม่อน” ซึ่งเริ่มเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวัย ๒ ขวบครึ่ง (ปัจจุบัน ๓ ขวบกว่า) เป็นหนึ่งในเด็กจากจำนวน ๑๕๐ คนว่า

“น้องหม่อนโชคดีมาก มีคุณยายให้ความสนใจ อ่านหนังสือให้ฟังทุก ๆ วัน แถมยังเผื่อแผ่แก่เด็กคนอื่น ๆ ด้วย น้องหม่อนมีพัฒนาการรวดเร็วในทุกด้าน พูดรู้เรื่อง ไม่เคยงอแง และไม่น่าเชื่อเลยว่าอายุขนาดนี้จะเลือกให้ยายซื้อหนังสือ แทนที่จะซื้อของเล่นตามตลาดนัด ครูคิดว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมีคุณยายคอยอ่านหนังสือให้ฟัง มีการพูดคุยสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ ยายคงจะสอดแทรกเรื่องที่อยากจะให้น้องหม่อนได้รู้ลงไปในขณะที่เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟังไปด้วย”

คุณสุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงการที่มูลนิธิซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญต่อการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ว่า

“เราเชื่อว่าการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว และกิจกรรมเล่านิทาน อ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำได้ ถึงแม้ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็จะสามารถดูรูปแล้วเล่าเรื่องให้เด็กฟังได้ เด็กปฐมวัยชอบหนังสือภาพ ชอบฟังนิทาน เพราะในหนังสือมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกใจเด็ก โดยเฉพาะหนังสือภาพดี ๆ ที่เขียนโดยนักเขียนที่มีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กก็จะสามารถทำหนังสือออกมาได้ถูกใจเด็กมากที่สุด ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงหนังสือได้ง่าย หนังสือภาพมีทั้งภาพ มีทั้งภาษาและเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หนังสือภาพช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์แก่เด็กเล็ก ๆ มูลนิธิซิเมนต์ไทยอยากมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กปฐมวัยและอยากให้พฤติกรรมนี้แพร่หลายในสังคมไทย

โครงการเล่านิทานอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ) นี้ มูลนิธิซิเมนต์ไทยมีความตั้งใจให้เป็นโครงการนำร่อง ทำการศึกษาและค้นหากระบวนการในการนำหนังสือสู่เด็กอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรที่สนใจในพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือได้นำไปใช้ เราร่วมกับสมาคมไทสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความชำนาญในด้านนี้ และเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างเกาะติดทุกกระบวน ด้วยความหวังว่าเราจะได้เนื้อหาที่สามารถเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับผู้สนใจร่วมกัน “สร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ต่อไป

โครงการ “เล่านิทาน อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐-๓ ขวบ)” ทำงานอย่างไร

หัวใจสำคัญของโครงการฯ อยู่ที่ หนังสือดี และกระบวนการสร้างความเข้าใจในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังในครอบครัว ในการนำร่องนี้ โครงการได้คัดสรรพื้นที่ต่อยอดจากโครงการดั้งเดิมของสมาคมไทสร้างสรรค์ในพื้นที่ตั้งของห้องสมุดเด็กในชนบท ๓ แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ ห้องสมุดเด็กเวียงเก่า (ภูเวียงเดิม) ห้องสมุดเด็กบ้านหัวนา ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ และห้องสมุดเด็กบ้านบะยาว ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายครอบครัวที่มีเด็กอายุระหว่าง ๖ เดือน - ๓ ขวบ จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว

เมื่อได้ครอบครัวเป้าหมาย จึงเริ่มกระบวนการสร้างความเข้าใจว่า หนังสือสำหรับเด็กมีลักษณะอย่างไร หนังสือภาพมีความสำคัญอย่างไร และการอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังต้องเริ่มอย่างไร นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างถึงลูกถึงคนอย่างแท้จริง กล่าวคือ เข้าหาทุกครัวเรือน อธิบายกันตัวต่อตัว สาธิตการอ่านหนังสือ ชี้แนะจุดสำคัญกันเล่มต่อเล่มเลยทีเดียว

ในการทำงานขั้นแรกเริ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างยิ่งเพื่อให้เข้าถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อส่งต่อความตั้งใจของมูลนิธิซิเมนต์ไทยในการร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Ignorance is a bliss

เมื่อวาน (๒๖ สิงหาคม) เรามีประชุมตอนแปดโมงครึ่ง ก่อนเข้าประชุมต้องปั่นงานของเมื่อวานซืนที่ทำไม่เสร็จ ออกจากประชุมตอนสิบโมงครึ่ง มาปั่นงานต่อ... พักกลางวันเดินไปกินข้าวคนเดียว เพราะก่อนเที่ยงคุยงานติดพัน น้องที่ปกติไปกินข้าวด้วยกัน ก็เลยไปกินก่อน พอเรากลับจากกินข้าว ก็มาปั่นงานต่ออีก...

ตอนห้าโมงกว่าๆ มีน้องมาถามว่า พี่ๆ เราควรจะต้องเตือนให้พวกฝรั่งรีบกลับบ้านไหม? (ตอนนี้ที่ออฟฟิศมีฝรั่งเพ่นพ่านเต็มออฟฟิศ เพราะได้โปรเจ็คต์ใหม่) เราถามว่าทำไมต้องรีบกลับล่ะ กลัวพวกประท้วงเหรอ น้องตอบว่า ใช่ เราบอกว่า โฮ้ย... ไม่ต้องหรอก ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็ถือว่าให้เขาได้หัดรู้จักเอาตัวรอดมั่ง (ฝรั่งคงไม่โง่ขนาดเดินสุ่มเสี่ยงไปชนม็อบหรอกมั้ง) น้องก็เลยกลับบ้านไป

เราออกจากออฟฟิศทุ่มกว่าๆ เพิ่งได้ฟังข่าววิทยุ ฟังไปก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว ถึงได้รู้ว่า พวกม็อบพันธมิตรบุกยึดสถานี NBT ตั้งแต่เช้ามืด สั่งให้งดออกอากาศรายการ แล้วก็ม็อบกลุ่มอื่นๆ ก็กระจายกันไปยึดทำเนียบ ยึดกระทรวงการคลังด้วย น่าหวาดเสียวว่าจะเกิดความวุ่นวาย ลุกลามจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ถึงขนาดมีข่าวลือปฏิวัติ ข่าวลือว่ารัฐบาลจะใช้กำลังสลายม็อบ ฯลฯ

เราฟังแล้วก็เพิ่งเข้าใจว่า ทำไมน้องเขาถึงมาถามว่า ควรจะต้องเตือนฝรั่งไหม ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าม็อบพันธมิตรกำลังจะเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก แต่ไม่ได้ติดตามข่าว ก็เลยคิดว่าก็คงแค่ปิดถนนให้ชาวบ้านลำบากเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำอะไรวุ่นวายรุนแรง

พอฟังรายการวิทยุต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้ว่าหลายๆ คนที่ได้ติดตามข่าวตั้งแต่เช้า ไม่จะเป็นฝ่ายไหน-สีอะไร หรือไม่มีฝ่ายไม่มีสี ก็น่าจะรู้สึกกังวลและไม่สบายใจกับสถานการณ์ เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะไปจบกันตรงไหน (จะจบได้ไหม) ในขณะที่ตัวเราไม่ได้รับรู้ข่าวสารอะไรเลย รู้สึกสบายอารมณ์มาตลอดวัน (ไม่นับอารมณ์เซ็งเรื่องงานนะ อันนั้นเป็น constant parameter ติดตามข่าวหรือไม่ติดตามข่าว ก็เซ็งพอกัน!!)

บางทีการไม่ต้องรับรู้เรื่องราวอะไร ก็เป็นเรื่องดี ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด ไม่กังวล ยิ่งสมัยนี้สื่อมวลชนชอบเสนอข่าวแบบใส่อารมณ์มากกว่าเสนอข้อเท็จจริง เสนอข่าวแบบเลือกข้าง (ถึงนายกจะเพิ่งประกาศว่า ให้สื่อเลือกข้าง แต่เราว่าหลายๆ สื่อเลือกข้างไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว) คนรับสารหลายๆ คนก็เลือกข้าง ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง คนที่ไม่เข้าข้างไหนอย่างเรา ไม่รู้เลยซะสบายใจกว่า...

ปล. วันก่อนอ่านจดหมายที่มีคนเขียนไปลงในมติชนสุดสัปดาห์ เขาเล่าเรื่องเล่าคดีแม่แย่งลูกให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้หญิงสองคน ต่างอ้างตัวว่าเป็นแม่ของทารกคนหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยไปให้ผู้พิพากษาช่วยตัดสิน ผู้พิพากษาฟังเหตุผลที่ทั้งคู่ยกมาอ้างแล้ว ก็ตัดสินไม่ได้ว่าใครเป็นแม่ตัวจริง ผู้พิพากษาก็เลยบอกว่า ให้แม่สองคนจับทารกไว้ ถ้าใครแย่งทารกไปได้ คนนั้นก็ได้เป็นแม่ของทารกนั้น

แม่สองคนจับทารกไว้คนละข้าง ต่างคนต่างยื้อ ทารกน้อยรู้สึกเจ็บก็ร้องไห้ออกมา ทันทีที่ทารกร้องไห้แม่คนหนึ่งก็เลยปล่อยมือออกทันที แม่คนที่แย่งทารกไปได้ ก็กระหยิ่มยิ้มย่องบอกว่าตัวเองเป็นแม่ของเด็กจริงๆ แต่ผู้พิพากษาบอกว่า อีกคนหนึ่งต่างหากที่เป็นแม่ตัวจริง เพราะไม่มีแม่คนไหนที่จะทนเห็นลูกเจ็บได้ ในขณะที่แม่คนที่แย่งทารกได้ ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย กลับฉวยโอกาสจากความเจ็บปวดของทารก เพื่อให้ได้ตามความต้องการของตัวเอง

ผู้ที่เขียนจดหมายมา ก็สงสัยต่อไปว่า ถ้าทารกนั้น คือประเทศไทย และผู้หญิงสองคนคือสองฝักสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้ทางการเมืองกันอยู่ แล้วใครจะเป็นแม่ตัวจริงกันแน่?? หรือว่ามีแต่แม่ตัวปลอม??

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ดิสเล็กสิก

วันก่อน**อ่านคอลัมน์ของไมเคิล ไรทในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนเรื่องดิสเล็กสิก (dyslexic เป็น adjective ถ้าเป็นคำนาม คือ dyslexia) ว่าตัวเขาเองเป็นดิสเล็กสิกมาตั้งแต่เด็ก ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ เพราะไมเคิล ไรทเป็นชาวอังกฤษที่ไม่รู้ว่าจับพลัดจับผลูยังไงมาอยู่ในเมืองไทย แล้วมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของไทย (และเอเชียอาคเนย์) ดีกว่าคนไทยหลายๆ ล้านคน

ตัวอย่างเช่น เขามีความรู้เรื่องหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงดีพอ ขนาดคิดเคลือบแคลงสงสัยว่า อาจจะไม่ใช่หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นเพิ่งทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง (รายละเอียดเราก็ไม่ค่อยรู้ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในคนหลายล้านคนที่มีความรู้เรื่องไทยน้อยกว่าไมเคิล ไรท)

นอกจากความรู้ศิลปวัฒนธรรม ไมเคิล ไรทเขียนภาษาไทยเป็นน้ำ (ใช้คำว่า “เป็นน้ำ” กับการเขียนได้ไหมนะ) คือไม่ได้เป็นฝรั่งที่พูดไทยได้เฉยๆ แต่เป็นฝรั่งที่เขียนภาษาไทยได้ด้วย อ้อ... ไม่ใช่แค่ “เขียนได้” สิ ต้องเรียกว่า “เขียนเป็น” ตะหาก เขียนได้ดีมากขนาดเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมาย เรียกได้ว่าทักษะในด้านภาษาของไมเคิล ไรทอยู่ในขั้นเยี่ยมยุทธ์ ซึ่งในความรู้สึกเรามันค่อนข้างจะขัดกับการเป็นดิสเล็กสิก

อาการดิสเล็กสิก คืออาการที่สมองมีปัญหาในการแปรภาพที่มองเห็นให้เป็นความหมายที่ควรจะเป็น คนเป็นดิสเล็กสิกจะมองภาพกลับซ้ายเป็นขวาโดยไม่รู้ตัว (เช่น ดูนาฬิกาจากเก้าโมงเช้า เป็นบ่ายสามโมง มองเห็นเลข 3 เหมือนเป็นตัว E) อ่านหนังสือสลับตัว (เช่น “น้อย” นึกว่า “ย้อน”) อ่านหนังสือข้ามบรรทัด ฯลฯ

เด็กที่เป็นดิสเล็กสิก มักถูกมองว่าเป็นเด็กโง่เง่า ทั้งๆ ที่ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา พ่อแม่ครูอาจารย์อาจสงสัยว่าทำไมเด็กโง่จังเลยที่สะกดคำง่ายๆ ไม่ได้ซะที บวกเลขทีไรก็บวกผิด โดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะเด็กมองผิด คำว่า arm ก็นึกว่า mar บวกลบตัวเลขเป็นแถวๆ ก็มองข้ามไปข้ามมา เด็กรู้สึกลำบากสุดท้ายก็หมดความสนใจในการเรียน นอกจากเรื่องการเรียน คนที่เป็นดิสเล็กสิกขั้นรุนแรง จะมีความลำบากในการดำรงชีวิตด้วย อย่างเรื่องการดูเวลาที่ว่าไปแล้ว หรือแม้แต่การขับรถ ก็จะมีปัญหาในการอ่านแผนที่ การมองระยะผิดพลาด หรือเห็นภาพสับสนกับความเป็นจริง

คนเป็นดิสเล็กสิก แก้ไขได้โดยใช้ความอดทนและความเข้าใจของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ไมเคิล ไรท บ่นว่าอาการจะนี้เป็นปัญหาใหญ่ในระบบการเรียนการสอน ถ้าบรรดาครูอาจารย์และคนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่ามีคำว่า ดิสเล็กสิก อยู่ เด็กที่เป็นดิสเล็กสิกก็คือเด็กโง่เง่า ปัญญาอ่อนในสายตาครู เขาบอกว่า ในต่างประเทศเขารู้จักคำว่า ดิสเล็กสิก มาตั้งสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนในวงการศึกษาไทย มีกี่คนที่รู้จักและเข้าใจความหมายของคำคำนี้

เราเอาคอลัมน์ของไมเคิล ไรทให้พี่สาวเราอ่าน พี่สาวเราก็บอกว่า จริงที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคำว่าดิสเล็กสิก แต่เรารู้จักมันมาหลายปีแล้ว ด้วยความบังเอิญ คือบังเอิญไปเสิร์ชเจอเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเรื่องนี้ ก็อ่านๆ จนเข้าใจ เขามีรายชื่อคนดังที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่เป็นดิสเล็กสิก ประมาณว่าเป็นการพิสูจน์ว่า ดิสเล็กสิกไม่เกี่ยวกับสติปัญญาและความสามารถ

**โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗

หมายเหตุ - จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตฯ คำว่า dyslexia ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า “ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ” หรือ “ภาวะเสียการอ่านรู้ความ”

ขำได้ก็ดี: สาวกของเวดิล
- เคยได้ยินเรื่องสาวกของเดวิลที่เป็นดิสเล็กสิกไหม?
- เขาขายวิญญาณให้ซานตา
(จากเว็บไซต์ Joke fo the Day)

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แข่งขันหรือเอาชนะ

วันก่อนได้ดูโฆษณาบริษัทสร้างบ้านหรือไงเนี่ยแหละ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ซ้อมเช้าซ้อมเย็น ซ้อมวันฝนตกซ้อมวันแดดออก มุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่ง ดูแล้วก็ฮึกเหิมดี เสียดายที่มันเป็นแค่โฆษณา...

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเริ่มไปเมื่อวันศุกร์ ๐๘-๐๘-๐๘ พวกเราคนไทยตั้งความหวังกับเหรียญทองกีฬามวยกับยกน้ำหนัก เมื่อวานดูน้องเก๋ประภาวดี นักยกน้ำหนักหญิงไทยรุ่น ๕๓ กก. ยกท่าคลีนแอนด์เจิร์คครั้งแรกได้เหรียญทอง ก็ปลื้มไปกับน้องเขาด้วย แต่วันนี้วันดี คำเอี่ยมพลาดเหรียญทองแดงไปอย่างน่าเสียดาย

แต่สำหรับข่าวโอลิมปิกในระดับโลก ผู้คนกำลังจับตามองว่าไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาว่ายน้ำของสหรัฐฯ จะได้เหรียญทองทั้ง ๘ เหรียญ ทำลายสถิติของมาร์ค สปิตซ์ที่ทำไว้ในกีฬาโอลิมปิกที่มิวนิคปี ๑๙๗๒ หรือเปล่า

ก่อนหน้านี้เราอ่านเรื่องชุดกีฬาว่ายน้ำไฮเทคของ Speedo รุ่น LZR Racer ที่สมาคมว่ายน้ำ (FINA) เพิ่งอนุมัติให้ใช้ในการแข่งขันไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

Speedo ทุ่มทุนงานวิจัยมหาศาลทั้งในด้านวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต จนได้ชุดว่ายน้ำที่สามารถลดแรงต้านของน้ำ และช่วยพยุงและปรับตำแหน่งร่างกายของนักว่ายน้ำให้มีแรงต้านน้ำน้อยลง

ชุด LZR Racer ซึ่งมีราคาขาย ๕๕๐ เหรียญ และต้องใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาทีในการสวม (เพราะชุดไม่ได้ใช้การเย็บตะเข็บแบบเดิม แต่ใช้คลื่นอัลตราโซนิคในการเชื่อมตะเข็บ) แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับนักว่ายน้ำ สามารถลดแรงต้านน้ำได้ ๕% และเพิ่มความเร็วตอนออกตัว, ตอนเร่งแซง, และตอนกลับตัวได้ ๔% เทียบกับชุดว่ายน้ำรุ่นเก่า วัสดุที่ใช้ทำชุดก็ยังมีข้อโต้แย้งกันว่าอาจจะผิดกฏของสมาคมว่ายน้ำ เพราะสามารถทำให้นักว่ายน้ำลอยตัวได้มากขึ้นด้วย

หลังจากนักว่ายน้ำที่ Speedo เป็นสปอนเซอร์ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น คนก็ออกมาวิจารณ์กันยกใหญ่ว่าจะแข่งกีฬาหรือจะแข่งเทคโนโลยี (จากต้นปีจนถึงเดือนมีนาคม นักกีฬาว่ายน้ำทำลายสถิติไป ๑๔ รายการ, ๑๓ รายการเป็นนักกีฬาที่ใส่ LZR Racer ข่าวจาก ESPN ตั้งแต่ต้นปีถึงก่อนการแข่งขันโอลิมปิกมีการทำลายสถิติรวม ๕๑ รายการ, ๔๕ รายการเป็นนักกีฬาที่ใส่ชุด LZR Racer)

ฝ่ายสนับสนุนชุดไฮเทค (ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาที่ใช้ชุดของ Speedo) ออกมายอมรับว่า ชุดของ Speedo ดีจริงๆ (รวมทั้งไมเคิล เฟลป์สด้วย) แต่ก็มีหลายคนช่วยเถียงแทนว่า แค่ชุดว่ายน้ำดีๆ จะช่วยให้ชนะไม่ได้ถ้านักว่ายน้ำไม่มีฝีมือพอ (ถึงขนาดประชดว่า ได้ลองใส่ชุดว่ายน้ำนี้แล้ว ก็ยังต้องว่ายเต็มที่เหมือนเดิม เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่เห็นจะลอยไปไหน)

ส่วนฝ่ายต่อต้าน (ซึ่งเป็นทีมนักกีฬาที่ไม่ได้ใช้ชุดของ Speedo กับบริษัทผู้ผลิตชุดกีฬายี่ห้ออื่น) บอกว่าการใช้ชุดกีฬาแบบนี้ก็เหมือนการโกง (ทีมอิตาลีถึงกับพูดว่า การใช้ชุดแบบนี้ ก็เหมือนกับใช้เทคโนโลยีมาโด๊ปนักกีฬา)

การอนุญาตให้ใช้ชุดว่ายน้ำไฮเทคทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในหมู่นักกีฬา ทั้งด้านความสามารถในการซื้อหาชุดมาใส่ (เราเคยได้ยินมาว่าชุดว่ายน้ำแบบพอดีตัวราวกับเป็นผิวหนังชั้นที่สอง ใส่ครั้งเดียวทิ้ง ไม่แน่ใจว่าชุดรุ่น LZR Racer ราคา ๕๕๐ เหรียญนี่ใส่ได้กี่ครั้ง) และปัญหาสปอนเซอร์ (ทีมนักว่ายน้ำที่มีชุดกีฬายี่ห้ออื่นเป็นสปอนเซอร์ ต้องเลือกเอาว่าจะใส่ชุดของตัวเองแล้วเสี่ยงกับการแพ้คู่แข่งที่ใช้ชุดดีกว่า หรือเปลี่ยนไปใส่ชุดของ Speedo แล้วโดนปรับเพราะไม่ทำตามสัญญากับสปอนเซอร์)

หลายคนยังคิดว่า การใช้เทคโนโลยีขนาดนี้เป็นตัวช่วย ทำให้การทำลายสถิติไร้ความหมาย เพราะสถิติไม่ได้เกิดจากนักกีฬาที่สามารถว่ายน้ำได้เร็วที่สุด แต่เกิดจากนักกีฬาที่ใส่ชุดว่ายน้ำที่ดีที่สุด (ถ้าอยากจะวัดฝีมือของนักว่ายน้ำจริงๆ ให้ทุกคนว่ายน้ำในชุดวันเกิดดีไหม :P)

แต่ไม่ว่าใครจะว่ายังไงก็ตาม คนที่แฮ้ปปี้ที่สุดตอนนี้ก็คือ Speedo เพราะเชื่อได้เลยว่าในโอลิมปิก ๒๐๐๘ พวกเราต้องได้เห็นชุดว่ายน้ำ Speedo เกลื่อน Water Cube ที่ปักกิ่งแน่ๆ (แต่ Speedo อาจจะแฮ้ปปี้ได้ไม่นาน เพราะผู้ผลิตอื่นๆ อย่าง TYR ก็กำลังจะออกชุดว่ายน้ำไฮเทคออกมาสู้แล้วเหมือนกัน!!)

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป (๒) แอลกอฮอล์

สมัยเราเรียนมหา’ลัย เรารู้สึกว่าการกินเหล้าในมหา’ลัยเป็นเรื่องธรรมดา-ยอมรับได้ เวลาเลิกประชุมเชียร์แล้วรุ่นพี่เอาเหล้ามาให้รุ่นน้องกินก็ธรรมดา เวลาเลิกเรียนแล้วพวกเพื่อนๆ ตั้งวงกินเหล้ากันข้างตึกเรียนก็ไม่เห็นแปลกอะไร การที่ผู้หญิงกล้าชนเหล้ากับผู้ชายก็ดูเท่ดีเหมือนกัน เวลาเพื่อนๆ จะนัดกันไปเฮฮาก็ไปนั่งกินเหล้าตามผับ เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในเสบียงหลักที่ต้องเตรียมไปด้วย

ถ้าพูดกันตามจริง เราไม่เคยคิดว่าการกินเหล้ามันเอร็ดอร่อย กินแค่นิดเดียวก็หน้าแดง-มึนงง แต่ความที่คนทั่วๆ ไปดูจะรู้สึกว่าถ้ามีเหล้าเป็นองค์ประกอบจะทำให้บรรยากาศสนุกสนานขึ้น เราก็ไม่ได้ทักท้วงหรือตั้งคำถามว่าจะกินเหล้ากันไปทำไม(วะ) อีกด้านหนึ่งก็มองแบบเด็กๆ ว่ากินเหล้าก็เท่ดี เพราะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ทำไม่ได้ นี่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราทำได้

แต่พอแก่ๆ แล้วเราไม่รู้สึกสนุกกับการไปกินเหล้าอีกต่อไป ไม่ถึงกับต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากทำกิจกรรมที่ปราศจากแอลกอฮอล์มากกว่า เพื่อนชอบนัดกันตามผับหรือคาราโอเกะ สั่งเหล้ามากินไปร้องเพลงไป แต่เรารู้สึกว่ากินข้าวตามร้านอาหาร นั่งคุยกัน เมาธ์ดารา-นินทานาย สนุกกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นเรารู้สึกว่าการกินเหล้ามันไม่มีอะไรดีเลย ทำให้คนเมา-ขาดสติ ทำอะไรที่ไม่ควรทำ ก่อความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น แล้วไหนจะยังสิ้นเปลืองอีก อย่างพวกที่ฐานะไม่ค่อยดี-ไม่มีเงินใช้เหลือเฟือ บางคนหาเช้ากินค่ำ ทำไมเอาเงินไปซื้อเหล้า(วะ) แล้วก็มาบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้

บางคนบอกว่าก็กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุขหรือลืมความทุกข์ได้ แต่เราว่ามันแค่ชั่วแวบเดียว ไม่ถาวร หายเมาแล้วก็กลับไปไม่สุขหรือมีทุกข์เหมือนเดิม อาจจะทุกข์หนักกว่าเพราะจนลงหรือไปก่อเรื่องตอนเมาอีกตะหาก

ตอนนี้มีกฎหมายห้ามกินเหล้าในสถานศึกษา, ในวัด, ในสวนสาธารณะ เราเห็นด้วยเต็มที่โดยเฉพาะในสถานศึกษา แต่ก็นึกสงสัยว่าเป็นเพราะเราแก่แล้วเลยเห็นด้วยหรือเปล่า?

สมมติว่าในมุมมองของเด็กๆ ถ้าเขาเพิ่งเข้ามหา’ลัยปีแรก แล้วปีก่อนหน้ายังกินเหล้ากันในมหา’ลัยได้ พอปีนี้เขาออกกฎหมายห้ามซะแล้ว เด็กๆ จะโอเคไหม? หรือจะรู้สึกว่าโดนจำกัดสิทธิ์? หรือจะคิดว่าเขาโตพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะกินเหล้าหรือไม่กิน ถ้าจะกินก็มีความรับผิดชอบพอที่จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ต้องออกกฎหมายมาบังคับ?

ความคิดเรื่องการกินเหล้าในมหา’ลัยเราเปลี่ยนไปขนาดคิดว่า พวกเด็กนักศึกษารุ่นพี่ “ไม่ควร” เอาเหล้าให้น้องกิน ไม่ว่าจะเป็นการให้ลองเพื่อให้รู้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศ หรือเพื่ออะไรก็ตาม เราคิดกังวลไปถึงขนาดว่า รุ่นพี่ให้รุ่นน้องกินเหล้าแล้วจะดูแลกันยังไง จะมั่นใจได้ไงว่าน้องจะกลับถึงบ้านโดนสวัสดิภาพ

ที่เรามากังวลเรื่องพวกนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนมหา’ลัย(บ้านนอกอย่าง)เราไม่ค่อยมีคนขับรถไปเรียน ยิ่งเด็กปีหนึ่งที่ขับรถไปนี่นับหัวได้เลย ส่วนใหญ่นั่งรถไฟนั่งนรถเมล์กัน ถ้าเลิกเชียร์แล้วเมากลับบ้าน อย่างมากก็ลากขึ้นรถไฟกันไป ไม่ต้องกลัวจะไปขับรถชนกับคนอื่นหรือขับตกทางด่วน แต่สมัยนี้ถ้าเป็นไปได้ ใครๆ ก็จะหารถให้ลูกขับไปเรียน ถ้าพ่อแม่รู้ว่าลูกมีโอกาสกินเหล้าหลังเลิกเรียน เวลารอลูกกลับบ้านใจจะระทึกแค่ไหน

ความคิดแบบนี้เมื่อก่อนไม่เคยมีอยู่ในหัวสมอง ต้องแก่ก่อนใช่ไหมถึงได้คิดแบบนี้?

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินไอเดียเรื่องการทำความดีระดับโครงสร้าง (คิดว่าเรียกประมาณนี้นะ) ปกติถ้าเราลงมือทำความดีอะไรซักอย่าง (เช่น เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา ช่วยคนตาบอดข้ามถนน ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด ทำความดีถวายในหลวง ฯลฯ) เป็นความดีเฉพาะตัวเรา แต่การทำความดีระดับโครงสร้างคือการทำความดีที่ทำให้คนอื่นๆ ได้ทำความดีด้วย

เขายกตัวอย่างว่า ช่วงปีใหม่ผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดออกนโยบายว่า งานเลี้ยงจะต้องไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ยอมให้ของขวัญหรือรับของขวัญที่เป็นแอลกอฮอล์ อันนี้แหละเป็นความดีระดับโครงสร้าง เพราะทุกคนต้องร่วมกันทำความดี เรียกว่าเป็นนโยบายความดีก็ว่าได้ แต่เราลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารของบริษัท ออกมาประกาศว่างานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทจะไม่มีการเลี้ยงแอลกอฮอล์ พนักงานคงไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบายความดี แต่คงมีคนด่าเสียงขรมว่างานเลี้ยงไม่มีแอลกอฮอล์ได้ไง(วะ)

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป (๑) เรื่องดูดวง

เมื่อก่อนเราค่อนข้างเชื่อเรื่องดวงชะตาราศี ชอบอ่านคำทำนายว่าคนเกิดราศีนี้เป็นแบบนี้แบบนั้น อยากดูหมอดู อยากฟังคำทำนายว่าอนาคตเรื่องการเรียน ความรัก การเงิน การเดินทาง ฯลฯ จะเป็นยังไง แต่เราไม่ค่อยได้ดูดวงกับหมอจริงๆ เท่าไหร่ เท่าที่จำได้มีแค่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกไปดูกับแม่ หมอดูเป็นญาติกัน ตอนนั้นเราเรียนมหา’ลัยใกล้ๆ จะจบแล้ว เขาบอกว่าดวงเราจะได้เดินทางไปต่างประเทศ พอเราเรียนจบมหา’ลัยก็ไปเรียนต่ออังกฤษ ๒ ปี

อีกครั้งหนึ่งเป็นตอนที่เรียนจบกลับมาทำงานแล้ว เราถ่อไปดูถึงเพชรบุรี เพราะคนที่ทำงานชวนไป เหมารถตู้ไปกันหลายคน เขาบอกว่าแม่นมากๆ หมอดูว่าดวงเดินทางเราเด่นมากๆ น่าจะได้เดินทางไปต่างประเทศ (อีกแล้ว!) หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทอื่นๆ เลย์ออฟพนักงานกันกันเป็นเบือ แต่บริษัทเราไม่อยากเลย์ออฟ เพราะคิดว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นก็ต้องมาจ้างคนใหม่ เขาเลยก็เลยส่งพนักงานไปทำงานที่ออฟฟิศที่อเมริกาฆ่าเวลา เราก็เลยไปเป็นกะเหรี่ยงทำงานที่อเมริกาปีครึ่ง

จากประสบการณ์ดู ๒ หมอนี้ จะว่าหมอดูแม่นก็แม่น เพราะใครจะไปคิดว่าเราจะได้ไปเรียนต่างประเทศ บ้านเรามีพี่น้อง ๕ คน เราเป็นเดียวที่ได้ไป (ขนาดพี่สาวเราเตรียมตัวจะไปแล้ว แต่กะว่าจะไปพร้อมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตอนหลังเพื่อนยกเลิกไม่ไป พี่เราเลยยกเลิกไม่ไปตามไปด้วย) หรืออย่างไปทำงานที่อเมริกาก็เหมือนกัน คงมีไม่กี่บริษัทที่ พอไม่มีงานให้พนักงานทำ แล้วจะส่งพนักงานไปทำงานที่ออฟฟิศต่างประเทศ ถ้าเป็นสมัยนี้เราว่าเขาคงเลือกจะเลย์ออฟคนมากกว่า

แต่ก็มีเรื่องที่หมอดูไม่แม่นเหมือนกัน แต่เราจำไม่ค่อยได้แล้วว่าเขาดูอะไรไว้มั่ง ก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่คนที่ไปดูหมอดูละมั้ง ที่มักจะจำได้แต่สิ่งที่หมอดูทายถูก ที่ทายไม่ถูกก็ลืมๆ ซะหมด (เราจำได้ได้เลาๆ ว่าเขาทายว่าเราจะได้แต่งงานตอนอายุเท่านั้น-เท่านี้ ซึ่งถ้าหมอดูพนันกับเราเรื่องนี้ หมอดูก็เสียชื่อเสียอนาคต!)

เราไม่รู้ตัวว่าหมดความเชื่อกับเรื่องหมอดูไปตอนไหน คิดว่ามันค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อย จนในช่วงปี (หรืออาจจะสองปี) ที่ผ่านมาเราก็หมดความเชื่อโดยสิ้นเชิง (เรายังอ่านคำทำนาย พวกดวงดาว-ราศี ตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่บ้างนะ แต่ออกแนวอ่านขำๆ อ่านฆ่าเวลา ไม่ได้อ่านเอาสาระ)

อาจเป็นเพราะช่วงปีสองปีนี้มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในชีวิตเราที่ทำให้เรารู้สึก “ตาสว่าง” ขึ้น เริ่มเข้าใจว่าอะไรสำคัญกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน (อะไรที่ไม่ถึงตาย ไม่ได้สำคัญสักเท่าไหร่) อะไรที่ทำให้เรามีความสุข-ความทุกข์ (สุข-ทุกข์ เกิดจากใจเราเป็นหลัก การมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น การรู้จักปล่อยวางหรือ มีสติมีสมาธิกับปัจจุบัน ทำให้เรามีความทุกข์น้อยลง) พอมองเห็นสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น เราก็หมดความรู้สึกอยากจะรู้ว่าอนาคตเป็นยังไง

อืมม์ จะว่าไม่อยากรู้ว่าอนาคตเป็นยังไง ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เรายังอยากรู้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่คิดว่าหมอดูจะบอกเราได้ว่าอนาคตเราเป็นอย่างไร เพราะอนาคตของเราขึ้นอยู่กับการกระทำของเราทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างหาก แต่ถ้ามีหมอดูที่แม่นจริงๆ เขาอาจจะมีวิชาดี มีพลังสมาธิแก่กล้า สามารถ “มองเห็น” อนาคตได้จริงๆ เราก็กลับไม่อยากรู้อีกนั่นแหละ เพราะมันจะสนุกอะไรถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้าเราจะเป็นอะไร

เราว่าการไม่รู้ก็ทำให้เรามีจุดประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกัน มันทำให้แต่ละนาที แต่ละวันมันมีค่าในตัวของมันเอง อันนี้เป็นความคิดที่เราได้จากตอนดูหนังเรื่องหนึ่ง (จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว) เขามีเครื่องที่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่ตอนหลังพระเอกก็ตัดสินใจทำลายเครื่องนี้ไป เพราะเขาบอกว่าถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง เราจะอยู่ไปทำไม (เรานึกว่า ถ้าเรารู้ว่าเราจะอยู่ไปอีกกี่วัน จะตายวันไหน เพราะอะไร ชีวิตคงหมดความตื่นเต้นไปเลย)

วันก่อนเราบังเอิญได้ยินเพื่อนร่วมงานห้องข้างๆ โทรศัพท์คุยกับเพื่อน (คาดว่าเป็นเพื่อนร่วมเรียนด้วยกันในระดับใดระดับหนึ่ง) ได้ความว่าเขาแนะนำหมอดูให้เพื่อนคนนั้น ฟังน้ำเสียงแล้วเหมือนเป็นหมอดูที่ตัวเขาเองไปดูมาแล้ว เรารู้สึกประหลาดใจหน่อยๆ เพราะเพื่อนร่วมงานเราเป็นผู้ชาย อายุเยอะกว่าเรา เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะเป็นที่เชื่อเรื่องหมอดู

เรารู้สึกว่าคนที่จะไปดูหมอดู จริงๆ แล้วเป็นคนที่กำลังต้องการที่พึ่งทางใจ หรือที่ปรึกษามากกว่า พอได้ยินว่าคนข้างห้องไปดูหมอดู ก็ทำให้สงสัยว่า เขาอาจจะกำลังรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควร หรือรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงกับชีวิตหรือหน้าที่การงานอยู่หรือเปล่า ที่น่าสงสัยมากไปกว่านั้นคือ ไม่รู้เราเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ให้เขารู้สึกไม่ค่อยสุขเท่าที่ควรหรือเปล่า

แต่เราคงจะไม่ไปค้นหาคำตอบหรอก เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับอนาคตอ่ะนะ ไม่รู้ น่าจะดีกว่า!!

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์