วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

ลดใช้ถุง ช่วย(ไม่ให้)โลกร้อน

ห้างเซ็นทรัลจัดโปรโมชั่น No Bag Day วันที่ ๒๔-๓๐ มีนาคม คนที่เอาถุงมาใส่สินค้าเอง จะได้ลดราคา ๑๐-๓๐% (เฉพาะสินค้าที่ร่วมรายการ) เราไม่ได้จะช่วยโฆษณาให้เซ็นทรัล แต่จะบอกว่าความจริงไอเดียแบบนี้ น่าจะมีคนทำกันเยอะๆ

สมัยที่เราที่เราไปเรียนที่อังกฤษตอนแรกๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่มีถุงก๊อบแก๊บใส่ของให้ ต้องเอาถุงไปใส่ของเอง หรือจะซื้อถุงพลาสติกของเขาก็ได้ ถ้าจำไม่ผิดราคา ๕๐ เพนซ์ จะเป็นถุงพลาสติกหนาๆ คุณป้าๆ ชาวอังกฤษ ซื้อถุงแบบนี้แล้วก็เก็บไว้ใช้หลายๆ ครั้งจนกว่าจะพัง ตอนหลังๆ เขาถึงจะเริ่มมีถุงก๊อบแก๊บให้ฟรี แต่คนก็ยังเอาถุงไปใส่ของกันเอง ไม่รู้ว่าผ่านมา ๑๐ กว่าปีแล้ว เขายังเอาถุงไปใส่ของกันเองอยู่หรือเปล่า

ช่วงนี้เขาหันมารณรงค์ถุงผ้ากัน เรามีมาตรการส่วนตัวด้วยการหิ้วถุงผ้าใบเล็กไปกินข้าวตอนกลางวัน เอาไว้ใส่ผลไม้ที่ซื้อจากรถเข็น เราก็ต้องคอยรบกับพ่อค้าผลไม้ เพราะเขาก็จะคอยหยิบผลไม้ที่ใส่ถุงพลาสติกอยู่แล้ว ไปใส่ในถุงก๊อบแก๊บก่อนจะยื่นให้เราด้วยความเคยชิน เราต้องคอยบอกว่าไม่เอาถุงๆ ทุกครั้งไป ความจริงก็เกรงใจเขาหน่อยๆ เหมือนกันที่ทำให้เขาเสียกระบวนการผลิตอัตโนมัติของเขา แต่เราก็อดสงสารโลกไม่ได้...

มาตรการอื่นๆ ของเราก็อย่างเช่น เวลาไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็เอาถุงผ้าที่บริษัทแจกไปใส่ของ (ปีนี้บริษัทเราเขา “ฮิต” เรื่องปัญหาโลกร้อนกับเขาเหมือนกัน) บริษัทเราเป็นอเมริกัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความมโหฬาร เพราะฉะนั้นถุงผ้าที่แจก ใบใหญ่ขนาดถ้าใส่ของเต็มถุง ก็แทบจะหิ้วไม่ใหว เพราะฉะนั้นเวลาเราไปซื้อของครั้งหนึ่งๆ จะประหยัดถุงก๊อบแก๊บไปได้อย่างน้อย ๒-๓ ถุง

เวลาเราไปซื้อของตามร้านหรือห้างสรรพสินค้า ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่เอาถุง จะให้เขาใส่มาในกระเป๋าถือ หรือถุงผ้าที่เราหิ้วไปเอง (อันนี้ก็ต้องดูจังหวะด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีพนักงานเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเราไม่อยากจะสร้างขยะ จะยืนยันใส่ถุงให้เราท่าเดียว)

โปรโมชั่นอย่างที่เซ็นทรัลทำเนี่ย เราไม่อยากให้มันเป็นแค่แฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความจริงเขาก็จะต้องมีโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากันอยู่เนืองๆ ตลอดปีอยู่แล้ว การลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเพิ่มยอดขายให้ตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน

เรานึกไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือซุปเปอร์สโตร์ ก็น่าจะอะไรทำนองนี้ได้ เช่น ใครเอาถุงมาใส่ของเอง ลดราคาให้เลย ๑-๕% ของยอดซื้อ ยี่ห้อไหนใจป้ำก็ลดให้เยอะหน่อย (แต่ถ้าเอาถุงของคู่แข่งมาใส่ อาจจะลดให้น้อยหน่อย... ฮา!!) ถ้าจะให้ดึงดูดใจมากไปอีก ทำเลนพิเศษให้จ่ายเงินไปเลย ใครเอาถุงมาเอง เข้าช่อง No Bag Lane ได้ลดราคา แถมได้จ่ายเงินเร็ว

ทำแบบนี้ค่อยทำให้คนอยากจะลดใช้ถุง ช่วย(ไม่ให้)โลกร้อนกันหน่อย

ซ้ายหรือขวา?

ได้ฟอร์เวิร์ดเมลจากคนที่ออฟฟิศ บอกว่าให้ลองมองรูปสาวน้อยเต้นระบำคนนี้ดูว่า หมุนตัวไปทางไหน? หมุนตามเข็มนาฬิกา หรือ ทวนเข็มนาฬิกา เป็นแบบทดสอบ เพื่อดูว่าเราใช้สมองข้างไหนเป็นหลักในการตัดสินใจ

(หมายเหตุ: รูปข้างล่างนี้เป็น animated gif แต่เราอัพโหลดรูปในบล็อกเกอร์นี่ แล้วดูเหมือนว่ามันจะไม่ animated เอาเป็นว่าใครไม่เห็นว่ารูปสาวน้อยข้างล่างนี้หมุนตัว... ให้กดไปดูรูป >>ที่นี่)


ถ้าเห็นสาวน้อยหมุนตัวตามเข็มนาฬิกา หมายความว่า ใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก ถ้าเห็นสาวน้อยหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา หมายความว่า ใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก

แล้วก็มี “คำทำนาย” บอกลักษณะนิสัยของคนสองแบบ – พวกสมองซีกซ้าย กับพวกสมองซีกขวา (เราอ่านลักษณะนิสัย ๒ ด้านแล้ว เราว่าไม่น่าจะเรียกว่า ว่า พวกสมองซีกซ้าย หรือ พวกสมองซีกขวา แต่น่าจะเรียกว่า เป็นพวก “ใช้สมอง” กับพวก “ใช้หัวใจ” มากกว่า)

สมองซีกซ้าย (LEFT BRAIN FUNCTIONS)สมองซีกขวา (RIGHT BRAIN FUNCTIONS)
- ใช้เหตุผล (uses logic)- ใช้ความรู้สึก (uses feeling)
- เน้นรายละเอียด (detail oriented)- เน้นภาพรวม (“big picture” oriented)
- เชื่อข้อเท็จจริง (facts rule)- เชื่อจินตนาการ (imagination rules)
- คำพูดและภาษา (words and language)- สัญลักษณ์และรูปภาพ (symbols and images)
- ปัจจุบันกับอดีต (present and past)- ปัจจุบันกับอนาคต (present and future)
- คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (math and science)- ปรัชญาและศาสนา (philosophy & religion)
- เข้าใจความสำคัญหรือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ (can comprehend)- เข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ (can “get it” (i.e. meaning))
- มีความรู้ (knowing)- มีความเชื่อ (believes)
- ยอมรับเพราะความรู้ รับรู้ถึงความมีอยู่และความเป็นจริง (acknowledges)- ยอมรับเพราะความซาบซึ้ง รับรู้ถึงคุณภาพและความสำคัญ (appreciates)
- สนใจลำดับ/รูปแบบ (order/pattern perception)- สนใจมิติและระยะ (spatial perception)
- รู้จักชื่อของสิ่งของ (knows object name)- รู้การทำงานของสิ่งของ (knows object function)
- อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง (reality based)- อยู่บนโลกของความเพ้อฝัน (fantasy based)
- วางกลยุทธ์ (forms strategies)- นำเสนอโอกาสและความน่าจะเป็น (presents possibilities)
- ทำตามหลักการ/ความเหมาะสม/วิถีปฏิบัติ (practical)- ทำตามสิ่งกระตุ้น/แรงจูงใจ/อารมณ์ (impetuous)
- ปลอดภัยไว้ก่อน (safe)- กล้าได้กล้าเสีย (risk taking)

เราดูภาพแล้วก็รู้สึกว่าสนุกดี เพราะครั้งแรกเรามองเห็นสาวน้อยหมุนทวนเข็มนาฬิกา (พวกสมองซีกซ้าย – สำหรับวิศวกรก็เหมาะสมดี!) แต่พอเราหันไปมองทางอื่น แล้วกลับมามองใหม่ สาวน้อยหมุนตามเข็มนาฬิกาไปซะแล้ว และพอมองๆ ไปซักพัก เราก็สามารถจะเปลี่ยนทิศทางการหมุนได้ โดยโฟกัสสายตาไปตรงอื่นแล้ว คิดว่าจะให้สาวน้อยหมุนไปทางไหน แล้วกลับมาโฟกัสที่สาวน้อยอีกทีหนึ่ง

ตอนแรกเราก็เชื่อว่ามันเกี่ยวกับการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาจริงๆ เลยคิดซื่อๆ เอาเองว่า ถ้างั้นเราก็น่าจะ “ฝึก” ใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งได้ โดยการพยายามเลือกทิศทางการหมุนของสาวน้อย

ว่าแต่เรื่องของการทำงานของสมองนี่มันจริงหรือเปล่า เราชักสงสัย ก็เลยไปลองเสิร์ชดูว่ามีคนเขียนอะไรเกี่ยวกับสมองซีกซ้าย-สมองซีกขวาเอาไว้มั่ง ก็ไปเจอเรื่องสาวน้อยหมุนตัวนี้ในบล็อกเกี่ยวกับสมองที่เขียนโดยดร.สตีเวน โนเวลลา ดร. โนเวลลาเป็นอาจารย์แพทย์ด้านสมองสอนอยู่ที่ Yale University School of Medicine

เขาบอกว่า เรื่องสมองซีกซ้ายสมองซีกขวานี้ เป็นความเชื่อฝังใจของคนทั่วไปมานาน และน่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน แน่นอนว่าเรามีสมองสองซีก แต่ละซีกมีหน้าที่ความสามารถในการทำงานด้านต่างๆ แตกต่างกัน แต่มันเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น และทำงานเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร้รอยต่อ

มันเป็นความจริงว่าคนแต่ละคนจะใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งเป็นหลัก แต่เรื่องนี้มีผลกับความถนัด (ซ้ายหรือขวา) และการประมวลผลด้านภาษามากกว่า นอกจากนี้ยังมีความไม่สมมาตรกันของสมองในด้านความทรงจำ คือบางคนอาจจะใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลักในการเก็บความทรงจำ ในขณะที่บางคนอาจจะใช้ซีกขวา

แต่การบอกว่าคนเรามีความสามารถหรือบุคลิกภาพแบบนั้นแบบนี้ เป็นเพราะเราใช้สมองซีกซ้ายหรือสมองซีกขวามากกว่า เป็นเรื่องไร้สาระ

คุณหมอยังบอกต่อไปอีกว่า การมองภาพสาวน้อยคนนี้ (หรือภาพลวงตาอื่นๆ) เป็นแค่การบอกว่าสมองของเราแปรข้อมูลที่ตามองเห็นไปเป็นภาพในสมองอย่างไรเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นทดสอบว่าเราใช้สมองซีกไหนเป็นหลัก หรือ หรือใช้เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพ ได้แต่อย่างใด

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2551

แก่ง่ายตายยาก

พอดีย้อนกลับไปเจอข้อมูลเก่าๆ ที่เราเสิร์ชหาตอนจะเขียนโพสต์เก่าๆ ที่เราเคยสงสัยว่าตกลงอายุเฉลี่ยคนไทยเป็นเท่าไหร่กันแน่

เอาให้ละเอียดๆ หน่อยก็คือ...

จากข้อมูลปี ๒๐๐๖ คนไทยทุกเพศ มีอายุเฉลี่ย ๗๒.๕๕ ปี (ทีแรกจะบอกว่า “คนไทยเพศชายและหญิง” แต่นึกได้ว่าเดี๋ยวนี้มี “เพศทางเลือก” ด้วย เลยใช้ทุกเพศแทนดีกว่า!) ส่วนคนไทยเพศชาย ๗๐.๒๔ ปี คนไทยเพศหญิง ๗๔.๙๘ ปี

จะเห็นว่าโดยเฉลี่ย ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ถึง ๔ ปี

เหตุผลที่เคยได้ฟังมาก็คือ ผู้ชายมักจะใช้ชีวิตด้วยความสุ่มเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เช่น ขับรถเร็วๆ กินเหล้าเยอะๆ สูบบุหรี่ และเที่ยว (ทั้งท่องเที่ยวทั่วไป และเที่ยวสถานอโคจร??) ผู้ชายไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ทำให้อายุไม่ยืนเท่าผู้หญิง

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นความเห็นจากผู้หญิง... แต่ผู้ชายบางคนอาจจะแย้งว่าที่อายุเฉลี่ยของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เพราะ “ผู้หญิงแก่ง่ายและตายยาก” ตะหาก อืมม์... อันนี้ก็น่าคิด... มาลองดูตัวเลขอื่นๆ กันอีกหน่อยดีกว่า

จากข้อมูลปี ๒๐๐๖ มีสถิติจำนวนประชากรเพศชายต่อเพศหญิง ตามช่วงอายุต่างๆ ดังนี้ (ในวงเล็บเป็นคำอธิบายของเราเอง)
แรกเกิด: จำนวนเพศชาย ๑.๐๕ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๑,๐๕๐ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี: จำนวนเพศชาย ๑.๐๔๗ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๑,๐๔๗ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุ ๑๕-๖๔ ปี: จำนวนเพศชาย ๐.๙๗๖ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๙๗๖ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
อายุเกิน ๖๕ ปี: จำนวนเพศชาย ๐.๘๓๔ คน ต่อ เพศหญิง ๑ คน (เพศชาย ๘๓๔ คน ต่อ เพศหญิง ๑,๐๐๐ คน)
จากช่วงแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น มีจำนวนผู้ชายเยอะว่าผู้หญิง แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้หญิงจะเริ่มเยอะกว่าผู้ชาย จากแรกเกิดถึงอายุ ๖๕ ปี ผู้ชาย ๑๐๕๐ คน ตายไปตั้ง ๒๑๖ คน แต่ผู้หญิงยังไม่ตายซักคน แสดงว่า ผู้หญิงแก่ง่ายตายยาก ซ.ต.พ.

ปล. ข้อมูลตัวเลขในโพสต์นี้ ได้จาก The world fact book แต่ข้อสรุปต่างๆ เราโม้เอาเองทั้งสิ้น แหะๆ
ปล. ๒ แถมการ์ตูนจาก http://www.shoecomics.com/ ให้อ่านเล่น

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551

Five Stages of Grief

วันก่อนในซีรีส์ House, M.D. พูดถึง Five Stages of Grief (๕ ช่วงเวลาของความโศกเศร้า) เราฟังไม่ทันแต่ไปเสิร์ชเจอในเน็ท มันเป็นไอเดียของจิตแพทย์ชื่อเอลิซาเบ็ธ คูเบลอร์-รอส (Elizabeth Kübler-Ross) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “On Death and Dying” เมื่อปีค.ศ. ๑๙๖๙

คุณหมอคูเบลอร์-รอสนำเสนอ Kübler-Ross Model ซึ่งเป็นขบวนการที่คนจะจัดการกับความเศร้าโศกและความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง เช่น ในเวลารู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา กำลังจะเผชิญหน้ากับความตาย คนมักจะต้องผ่านช่วงเวลา ๕ ช่วง

๑. ปฏิเสธ (Denial): ช่วงเริ่มต้น “ไม่จริงหรอก... มันเป็นไปไม่ได้”
๒. โกรธ (Anger): “ทำไมถึงเป็นฉัน? ไม่ยุติธรรมเลย”
๓. ต่อรอง (Bargaining): “ยังไงก็ขอให้ได้อยู่จนเห็นลูกเรียนจบ”
๔. หดหู่ (Depresison): “ฉันเศร้าสุดๆ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต”
๕. ยอมรับ (Acceptance): “แล้วมันก็จะโอเค”

คุณหมอคูเบลอร์-รอสบอกว่า นอกจากตอนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายแล้ว คนมักจะผ่านขบวนการแบบนี้ด้วยเหมือนกัน เวลาเกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวง (เช่น ตกงาน สูญเสียรายได้ หรืออิสรภาพ) รวมทั้งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือการหย่าร้าง และแต่ละคนอาจจะไม่ได้ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตามลำดับที่ว่านี้ และไม่จำเป็นจะต้องมีครบทั้งห้าข้อ แต่ทั่วไปมักจะต้องผ่านอย่างน้อย ๒ ช่วงเวลา

ช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินและอ่านเรื่องราวของน.พ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางวิทยุ ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณหมอมากนัก แต่หลังจากคุณหมอเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้รู้เรื่องราวบางส่วนของคุณหมอมากขึ้น (แต่คิดว่ายังรู้น้อยมากเทียบกับผลงานและคุณงามความดีของคุณหมอซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่องระบบบริการสุขภาพของไทย)

มติชนสุดสัปดาห์เอาบันทึกของคุณหมอมาลง คุณหมอเขียนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่ได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดต่างๆ มากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับโรคมะเร็ง

บางกอกโพสต์วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาเอา “บัญญัติ ๑๐ ประการสำหรับนักสู้ (มะเร็ง)” มาลงในคอลัมน์ Health Tips บางคนอาจจะได้เคยผ่านตามาแล้ว เพราะรู้สึกว่าจะเอามาจากหนังสือ “เปลี่ยนมะเร็งให้เป็นพลัง” ของคุณหมอ เราสรุปมาให้อ่าน (อาจจะแปลกๆ แปร่งๆ ซักหน่อย เพราะเราแปลมาจากภาษาอังกฤษ)

๑. หลังจากที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่าตกใจ ทำใจให้สงบ คิดและเสาะหาที่ปรึกษาทางการแพทย์ และวิธีการรักษาทันที
๒. คิดในทางบวก อย่ายึดติดกับความเชื่อที่ว่า เป็นมะเร็งแล้วต้องตาย
๓. เปิดใจกว้างยอมรับทั้งการรักษาจากแพทย์สมัยใหม่และแพทย์แผนโบราณ เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเอง
๔. ทำงานกับแพทย์ผู้รักษาเราเหมือนเป็นทีมเดียวกัน เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับคนไข้มะเร็ง และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
๕. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพมากขึ้น กินอย่างมีสุขภาพมากขึ้น
๖. เข้าใจความสำคัญของสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจ สภาพทางอารมณ์ที่ไม่ดีทำให้สภาพทางร่างกายแย่ไปด้วย
๗. มีความอดทน เพราะคนไข้มะเร็งจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และจะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรง
๘. ดูแลรักษาจิตใจ พยายามปล่อยวางและเรียนรู้ที่จะให้อภัย
๙. ช่วยเหลือผู้อื่น หลังจากฟื้นตัวแล้ว หาโอกาสทำความดีให้กับคนอื่น อาจจะไปเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม
๑๐. มีสติกับความตาย และเตรียมตัวที่จะจัดการสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ

ถ้าย้อนกลับไปดู Five Stages of Grief บัญญัติ ๑๐ ประการของคุณหมอ ข้ามช่วงที่ ๑-๔ พรวดมาที่ช่วงที่ ๕ เลย ซึ่งเราว่าคนที่จะทำแบบนี้ได้เวลาเผชิญหน้ากับความตาย ต้องมีสติและมีใจหนักแน่นมากๆ

คนเราเกิดมาต้องสูญเสีย ต้องเสียใจ และต้องตายกันทุกคน ถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้น ต้องตั้งสติให้ดี จับอารมณ์ให้ได้ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน และพยายามทำใจไปให้ถึงช่วงสุดท้ายให้ได้ แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนความโศกเศร้าสูญเสียให้กลายเป็นพลังได้เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

พอเพียง

วันก่อนเพิ่งอ่านนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนคอลัมน์ การ์ตูนที่รัก ในมติชน บ่นเรื่องการ์ตูนหรือหนังสือที่หน่วยงานราชการทำออกมาส่งเสริมเรื่องราวต่่างๆ (เช่น เศรษฐกิจพอเพียง) ว่ามันไม่สนุก เพราะมักจะโดนกำหนดกรอบมาจากหน่วยงาน คิดสร้างสรรค์แหวกแนวไม่ได้

สิ่งที่ได้ก็เลยเป็นแนวเดิมๆ เช่น เศรษฐกิจพอเพียงก็ภาพซ้ำๆ ของการใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย ออกแนวสอนสั่งไปเรื่อยเจื้อย มันไม่จ๊าบ (วันก่อนดูรายการตาสว่าง แล้วพิธีกรสอนว่า อย่าไปชื่นชมอะไรว่ามัน “จ๊าบ” เพราะมันตกยุคไป ๑๐ ปีเป็นอย่างน้อย... อืมม์ สงสัยต้องชมว่า เก๋ไก๋ไก่เต่า ละมั้ง :) )

เราเห็นด้วยกับคุณหมอประเสริฐ เพราะได้อ่านหนังสือแนวนี้ผ่านๆ มาบ้าง รู้สึกว่าไม่สามารถกระตุกใจ คนที่จะทำตามได้ ก็เป็นเพราะเขาเป็นคนที่มีชีวิตในแนวทางนั้นอยู่แล้ว แต่คนที่ทำไม่ได้ อ่านแล้วก็ไม่น่าจะเอามาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ เพราะมันจับต้องไม่ได้ หรือไกลตัวเกินไป

ช่วงที่ผ่านมาได้เห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเว็บไซท์พอเพียงไลฟ์ ที่บอกว่ามีโฆษณาที่ไม่ขายของ แต่สร้างความพอเพียง สร้างความสุขในสังคม ก็สงสัยอยู่หน่อยๆ ว่าจะเป็นอีหรอบเดียวกับการ์ตูนส่งเสริมแบบที่ว่านี้หรือเปล่า

วันนี้ตอนขับรถกลับบ้าน ได้ฟังวิทยุเขาพูดถึงโฆษณานี้อีกแล้ว ว่าคนทำเป็นสุดยอดฝีมือในวงการโฆษณาและภาพยนตร์ของไทย (๘ คนกับโฆษณา ๘ เรื่อง) ฟังแล้วเลยชักอยากดูว่ามันจะขนาดไหน จะแปลกใหม่ติดหูติดตา สู้โฆษณาขายของได้ไหม (ล่าสุดนี้ได้ดูโฆษณา “อ้ายวี” เราว่าเข้าท่าดี น่าจะได้ใจบรรดาแม่เจ้าประคุณรุนช่องที่เอาแต่เล่น “ฮิห้า” อยู่บ้าง)

เขาพูดถึงโฆษณาชิ้นที่เป็นของคุณเป็นเอก รัตนเรืองว่าเกี่ยวกับ “นมแม่” เราเลยต้องไปดาวน์โหลดมาดู ส่วนตัวดูแล้วก็ไม่รู้ว่า “โดน” ซักเท่าไหร่ อยากรู้ว่าคนอื่นดูแล้วจะรู้สึกยังไง จะสร้างกระแสนมแม่สู้กับโฆษณาหลอกลวงของนมผงนมวัวได้ไหม?

แต่เราว่าโฆษณาชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ก็น่าจะถูกเผยแพร่ส่งต่อๆ กันไปในระดับหนึ่ง เพราะคนมักจะชอบพูดว่า “เรื่องดีๆ ก็ต้องช่วยกันส่งเสริม” และสังคมส่วนใหญ่ก็ช่วยส่งเสริมด้วยการ “บอกคนอื่น” ว่าอันนี้มันดี น่าจะทำตาม ใครทำตามได้จะดีมาก แต่แล้วตัวคนที่บอกต่อส่งต่อก็ลืมไป

เหมือนเวลาคนชื่นชมคนอื่นที่ทำดี เสียสละเพื่อสังคม แต่พอถามย้อนกลับไปว่าทำไมคุณไม่ทำบ้าง ก็บอกว่า “ฉันยังเอาตัวเองไม่รอดเลย แล้วจะไปช่วยเหลือสังคมเป็นคนดี ได้ไง?” เราว่าทำความดี เป็นคนดี เสียสละเืพื่อสังคม ไม่ต้องรอให้พร้อมนะ ตั้งใจดีแล้วลงมือทำได้เลย!


ปล. ทีแรกเราพยายามจะอัพโหลดวิดีโอไฟล์โฆษณานมแม่แต่ไม่สำเร็จ ก็เลยให้ลิงก์เว็บไซท์พอเพียงไลฟ์ไว้ (http://www.porpeanglife.com/2008/ ) ให้คนที่อยากดูไปดูที่นั่นเอง แต่สุดท้ายก็มาอัพโหลดวิดีโอจากออฟฟิศได้สำเร็จ ดูแล้วเห็นว่าไงก็บอกกันได้ ส่วนคนที่ไปเว็บพอเพียงไลฟ์แล้ว ได้ดูอันอื่นๆ แล้วเห็นว่าเป็นไงก็เล่าให้ฟังได้นะ เพราะเราได้ดูแค่อันนี้อันเดียวอะแหละ :P

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์