วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Ignorance is a bliss

เมื่อวาน (๒๖ สิงหาคม) เรามีประชุมตอนแปดโมงครึ่ง ก่อนเข้าประชุมต้องปั่นงานของเมื่อวานซืนที่ทำไม่เสร็จ ออกจากประชุมตอนสิบโมงครึ่ง มาปั่นงานต่อ... พักกลางวันเดินไปกินข้าวคนเดียว เพราะก่อนเที่ยงคุยงานติดพัน น้องที่ปกติไปกินข้าวด้วยกัน ก็เลยไปกินก่อน พอเรากลับจากกินข้าว ก็มาปั่นงานต่ออีก...

ตอนห้าโมงกว่าๆ มีน้องมาถามว่า พี่ๆ เราควรจะต้องเตือนให้พวกฝรั่งรีบกลับบ้านไหม? (ตอนนี้ที่ออฟฟิศมีฝรั่งเพ่นพ่านเต็มออฟฟิศ เพราะได้โปรเจ็คต์ใหม่) เราถามว่าทำไมต้องรีบกลับล่ะ กลัวพวกประท้วงเหรอ น้องตอบว่า ใช่ เราบอกว่า โฮ้ย... ไม่ต้องหรอก ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็ถือว่าให้เขาได้หัดรู้จักเอาตัวรอดมั่ง (ฝรั่งคงไม่โง่ขนาดเดินสุ่มเสี่ยงไปชนม็อบหรอกมั้ง) น้องก็เลยกลับบ้านไป

เราออกจากออฟฟิศทุ่มกว่าๆ เพิ่งได้ฟังข่าววิทยุ ฟังไปก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว ถึงได้รู้ว่า พวกม็อบพันธมิตรบุกยึดสถานี NBT ตั้งแต่เช้ามืด สั่งให้งดออกอากาศรายการ แล้วก็ม็อบกลุ่มอื่นๆ ก็กระจายกันไปยึดทำเนียบ ยึดกระทรวงการคลังด้วย น่าหวาดเสียวว่าจะเกิดความวุ่นวาย ลุกลามจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ถึงขนาดมีข่าวลือปฏิวัติ ข่าวลือว่ารัฐบาลจะใช้กำลังสลายม็อบ ฯลฯ

เราฟังแล้วก็เพิ่งเข้าใจว่า ทำไมน้องเขาถึงมาถามว่า ควรจะต้องเตือนฝรั่งไหม ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าม็อบพันธมิตรกำลังจะเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก แต่ไม่ได้ติดตามข่าว ก็เลยคิดว่าก็คงแค่ปิดถนนให้ชาวบ้านลำบากเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำอะไรวุ่นวายรุนแรง

พอฟังรายการวิทยุต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้ว่าหลายๆ คนที่ได้ติดตามข่าวตั้งแต่เช้า ไม่จะเป็นฝ่ายไหน-สีอะไร หรือไม่มีฝ่ายไม่มีสี ก็น่าจะรู้สึกกังวลและไม่สบายใจกับสถานการณ์ เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะไปจบกันตรงไหน (จะจบได้ไหม) ในขณะที่ตัวเราไม่ได้รับรู้ข่าวสารอะไรเลย รู้สึกสบายอารมณ์มาตลอดวัน (ไม่นับอารมณ์เซ็งเรื่องงานนะ อันนั้นเป็น constant parameter ติดตามข่าวหรือไม่ติดตามข่าว ก็เซ็งพอกัน!!)

บางทีการไม่ต้องรับรู้เรื่องราวอะไร ก็เป็นเรื่องดี ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด ไม่กังวล ยิ่งสมัยนี้สื่อมวลชนชอบเสนอข่าวแบบใส่อารมณ์มากกว่าเสนอข้อเท็จจริง เสนอข่าวแบบเลือกข้าง (ถึงนายกจะเพิ่งประกาศว่า ให้สื่อเลือกข้าง แต่เราว่าหลายๆ สื่อเลือกข้างไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว) คนรับสารหลายๆ คนก็เลือกข้าง ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง คนที่ไม่เข้าข้างไหนอย่างเรา ไม่รู้เลยซะสบายใจกว่า...

ปล. วันก่อนอ่านจดหมายที่มีคนเขียนไปลงในมติชนสุดสัปดาห์ เขาเล่าเรื่องเล่าคดีแม่แย่งลูกให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้หญิงสองคน ต่างอ้างตัวว่าเป็นแม่ของทารกคนหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยไปให้ผู้พิพากษาช่วยตัดสิน ผู้พิพากษาฟังเหตุผลที่ทั้งคู่ยกมาอ้างแล้ว ก็ตัดสินไม่ได้ว่าใครเป็นแม่ตัวจริง ผู้พิพากษาก็เลยบอกว่า ให้แม่สองคนจับทารกไว้ ถ้าใครแย่งทารกไปได้ คนนั้นก็ได้เป็นแม่ของทารกนั้น

แม่สองคนจับทารกไว้คนละข้าง ต่างคนต่างยื้อ ทารกน้อยรู้สึกเจ็บก็ร้องไห้ออกมา ทันทีที่ทารกร้องไห้แม่คนหนึ่งก็เลยปล่อยมือออกทันที แม่คนที่แย่งทารกไปได้ ก็กระหยิ่มยิ้มย่องบอกว่าตัวเองเป็นแม่ของเด็กจริงๆ แต่ผู้พิพากษาบอกว่า อีกคนหนึ่งต่างหากที่เป็นแม่ตัวจริง เพราะไม่มีแม่คนไหนที่จะทนเห็นลูกเจ็บได้ ในขณะที่แม่คนที่แย่งทารกได้ ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย กลับฉวยโอกาสจากความเจ็บปวดของทารก เพื่อให้ได้ตามความต้องการของตัวเอง

ผู้ที่เขียนจดหมายมา ก็สงสัยต่อไปว่า ถ้าทารกนั้น คือประเทศไทย และผู้หญิงสองคนคือสองฝักสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้ทางการเมืองกันอยู่ แล้วใครจะเป็นแม่ตัวจริงกันแน่?? หรือว่ามีแต่แม่ตัวปลอม??

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นการเขียนที่จบได้งดงามดีค่ะ

nitbert กล่าวว่า...

คุณ miu hung, ต้องให้เครดิตกับผู้อ่านของมติชนสุดสัปดาห์ที่เขียนจดหมายมาเล่าค่ะ ที่สามารถยกเรื่องเล่ามาเทียบกับเหตุการณ์ได้อย่างแหลมคม

พอดีตอนที่โพสต์บล็อกนี้ ไม่มีหนังสืออยู่กับตัว เลยไม่ได้บอกชื่อเจ้าของจดหมาย พอคุณ miu hung ชม ก็เลยไปค้นมาเปิดดู ชื่อ คุณ “จินตนิติ” จากประจวบคีรีขันธ์ค่ะ มติชนสุดสัปดาห์เอามาลงใน บทบรรณาธิการ (ขอแสดงความนับถือ) ฉบับที่ ๑๔๖๐ วันที่ ๘-๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ หน้า ๔ ค่ะ b(^^)d

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์