สมัยเราเรียนมหา’ลัย เรารู้สึกว่าการกินเหล้าในมหา’ลัยเป็นเรื่องธรรมดา-ยอมรับได้ เวลาเลิกประชุมเชียร์แล้วรุ่นพี่เอาเหล้ามาให้รุ่นน้องกินก็ธรรมดา เวลาเลิกเรียนแล้วพวกเพื่อนๆ ตั้งวงกินเหล้ากันข้างตึกเรียนก็ไม่เห็นแปลกอะไร การที่ผู้หญิงกล้าชนเหล้ากับผู้ชายก็ดูเท่ดีเหมือนกัน เวลาเพื่อนๆ จะนัดกันไปเฮฮาก็ไปนั่งกินเหล้าตามผับ เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในเสบียงหลักที่ต้องเตรียมไปด้วย
ถ้าพูดกันตามจริง เราไม่เคยคิดว่าการกินเหล้ามันเอร็ดอร่อย กินแค่นิดเดียวก็หน้าแดง-มึนงง แต่ความที่คนทั่วๆ ไปดูจะรู้สึกว่าถ้ามีเหล้าเป็นองค์ประกอบจะทำให้บรรยากาศสนุกสนานขึ้น เราก็ไม่ได้ทักท้วงหรือตั้งคำถามว่าจะกินเหล้ากันไปทำไม(วะ) อีกด้านหนึ่งก็มองแบบเด็กๆ ว่ากินเหล้าก็เท่ดี เพราะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ทำไม่ได้ นี่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราทำได้
แต่พอแก่ๆ แล้วเราไม่รู้สึกสนุกกับการไปกินเหล้าอีกต่อไป ไม่ถึงกับต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากทำกิจกรรมที่ปราศจากแอลกอฮอล์มากกว่า เพื่อนชอบนัดกันตามผับหรือคาราโอเกะ สั่งเหล้ามากินไปร้องเพลงไป แต่เรารู้สึกว่ากินข้าวตามร้านอาหาร นั่งคุยกัน เมาธ์ดารา-นินทานาย สนุกกว่า
ยิ่งไปกว่านั้นเรารู้สึกว่าการกินเหล้ามันไม่มีอะไรดีเลย ทำให้คนเมา-ขาดสติ ทำอะไรที่ไม่ควรทำ ก่อความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น แล้วไหนจะยังสิ้นเปลืองอีก อย่างพวกที่ฐานะไม่ค่อยดี-ไม่มีเงินใช้เหลือเฟือ บางคนหาเช้ากินค่ำ ทำไมเอาเงินไปซื้อเหล้า(วะ) แล้วก็มาบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้
บางคนบอกว่าก็กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุขหรือลืมความทุกข์ได้ แต่เราว่ามันแค่ชั่วแวบเดียว ไม่ถาวร หายเมาแล้วก็กลับไปไม่สุขหรือมีทุกข์เหมือนเดิม อาจจะทุกข์หนักกว่าเพราะจนลงหรือไปก่อเรื่องตอนเมาอีกตะหาก
ตอนนี้มีกฎหมายห้ามกินเหล้าในสถานศึกษา, ในวัด, ในสวนสาธารณะ เราเห็นด้วยเต็มที่โดยเฉพาะในสถานศึกษา แต่ก็นึกสงสัยว่าเป็นเพราะเราแก่แล้วเลยเห็นด้วยหรือเปล่า?
สมมติว่าในมุมมองของเด็กๆ ถ้าเขาเพิ่งเข้ามหา’ลัยปีแรก แล้วปีก่อนหน้ายังกินเหล้ากันในมหา’ลัยได้ พอปีนี้เขาออกกฎหมายห้ามซะแล้ว เด็กๆ จะโอเคไหม? หรือจะรู้สึกว่าโดนจำกัดสิทธิ์? หรือจะคิดว่าเขาโตพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะกินเหล้าหรือไม่กิน ถ้าจะกินก็มีความรับผิดชอบพอที่จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ต้องออกกฎหมายมาบังคับ?
ความคิดเรื่องการกินเหล้าในมหา’ลัยเราเปลี่ยนไปขนาดคิดว่า พวกเด็กนักศึกษารุ่นพี่ “ไม่ควร” เอาเหล้าให้น้องกิน ไม่ว่าจะเป็นการให้ลองเพื่อให้รู้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศ หรือเพื่ออะไรก็ตาม เราคิดกังวลไปถึงขนาดว่า รุ่นพี่ให้รุ่นน้องกินเหล้าแล้วจะดูแลกันยังไง จะมั่นใจได้ไงว่าน้องจะกลับถึงบ้านโดนสวัสดิภาพ
ที่เรามากังวลเรื่องพวกนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนมหา’ลัย(บ้านนอกอย่าง)เราไม่ค่อยมีคนขับรถไปเรียน ยิ่งเด็กปีหนึ่งที่ขับรถไปนี่นับหัวได้เลย ส่วนใหญ่นั่งรถไฟนั่งนรถเมล์กัน ถ้าเลิกเชียร์แล้วเมากลับบ้าน อย่างมากก็ลากขึ้นรถไฟกันไป ไม่ต้องกลัวจะไปขับรถชนกับคนอื่นหรือขับตกทางด่วน แต่สมัยนี้ถ้าเป็นไปได้ ใครๆ ก็จะหารถให้ลูกขับไปเรียน ถ้าพ่อแม่รู้ว่าลูกมีโอกาสกินเหล้าหลังเลิกเรียน เวลารอลูกกลับบ้านใจจะระทึกแค่ไหน
ความคิดแบบนี้เมื่อก่อนไม่เคยมีอยู่ในหัวสมอง ต้องแก่ก่อนใช่ไหมถึงได้คิดแบบนี้?
ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินไอเดียเรื่องการทำความดีระดับโครงสร้าง (คิดว่าเรียกประมาณนี้นะ) ปกติถ้าเราลงมือทำความดีอะไรซักอย่าง (เช่น เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา ช่วยคนตาบอดข้ามถนน ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด ทำความดีถวายในหลวง ฯลฯ) เป็นความดีเฉพาะตัวเรา แต่การทำความดีระดับโครงสร้างคือการทำความดีที่ทำให้คนอื่นๆ ได้ทำความดีด้วย
เขายกตัวอย่างว่า ช่วงปีใหม่ผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดออกนโยบายว่า งานเลี้ยงจะต้องไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ยอมให้ของขวัญหรือรับของขวัญที่เป็นแอลกอฮอล์ อันนี้แหละเป็นความดีระดับโครงสร้าง เพราะทุกคนต้องร่วมกันทำความดี เรียกว่าเป็นนโยบายความดีก็ว่าได้ แต่เราลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารของบริษัท ออกมาประกาศว่างานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัทจะไม่มีการเลี้ยงแอลกอฮอล์ พนักงานคงไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบายความดี แต่คงมีคนด่าเสียงขรมว่างานเลี้ยงไม่มีแอลกอฮอล์ได้ไง(วะ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
3 ความคิดเห็น:
โปรดระวังคนข้างๆเรียก "ป้า" นะคร๊าบบบบบ 8)
^
^
^
คิดว่า ระวังไม่ทันแล้วล่ะ ฮ่าๆๆๆๆ
^
^
^
เฮ้ออออออ!!!!
แสดงความคิดเห็น