วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ทำเพื่อคนอื่น ออกแบบเพื่อคนจน

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจในมติชนฉบับล่าสุดเขียนเรื่องสุนทรพจน์ของบิล เกทส์ที่กล่าวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปี ๒๐๐๗ พูดถึงสิ่งที่ฮาร์วาร์ดไม่ได้สอน แต่เขาได้เรียนรู้หลังจาก ๓๐ ปีผ่านมา

บิล เกทส์พูดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคนในโลก และการที่คนธรรมดาๆ อย่างเราจะสามารถทำให้ช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนที่ไร้โอกาสแคบเข้ามา (ถ้าเรามีเวลาว่างอาทิตย์ละสองสามชั่วโมง มีเงินเหลือสองสามเหรียญต่อเดือน ทีเราสามารถเสียสละหรือบริจาคได้ เราจะเอาไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างหรือเปล่า)

ในฐานะคนที่มีโอกาสเหนือกว่าคนอื่นมากมาย ในฐานะคนที่ได้เป็นบัณฑิตในสถาบันอันทรงเกียรติอย่างฮาร์วาร์ด พวกเขาน่าจะได้ทำอะไรๆ เพื่อคนที่ด้อยโอกาสนับล้านๆ ในโลกนี้บ้าง เป็นไปได้ไหมที่คนของฮาร์วาร์ดจะทำอะไรเพื่อคนที่ไม่เคยกระทั่งได้ยินชื่อฮาร์วาร์ด?

หนุ่มเมืองจันทน์เขียนบทความนี้ไว้แค่เป็นน้ำจิ้ม ทำให้เราต้องเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาสุนทรพจน์ตัวจริงของบิล เกทส์มาอ่าน แต่ด้วยความยาวขนาด ๕ หน้ากระดาษเอสี่ ก็ทำเอาเราชะงักไปหน่อยหนึ่ง โชคดีที่เสิร์ชต่อไปอีกหน่อย ก็เจอที่คุณ ‘คนชายขอบ’ แปลเป็นไทยไว้ให้อ่านแล้ว ที่ http://www.fringer.org/?p=249

(ตอนที่เราเสิร์ชหาเรื่องนี้ ก็มีคนพูดถึงสุนทรพจน์ของสตีฟ จ็อบส์ที่สแตนฟอร์ดปี ๒๐๐๕ ซึ่งเราเคยอ่านจากฟอร์เวิร์ดเมล (หรือบล็อกไหนสักแห่งหนึ่ง) แต่ลืมไปแล้ว ได้มาอ่านอีกรอบหนึ่งก็ถึงได้นึกได้ว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีอีกอันหนึ่ง อันนี้คุณ ‘คนชายขอบ’ ก็แปลเป็นไทยให้อ่านได้ที่ http://www.fringer.org/?p=30 แถมยังมีคนอื่นๆ แปลไว้อีกหลายเวอร์ชัน ตามลิงก์ในคอมเมนต์ของคุณ iMenn โพสต์ไว้ เลือกอ่านกันได้ตามใจชอบ)

เรารู้สึกดีใจที่คนที่มีเหลือจนเกินพอ รู้จักพอ และรู้จักคิดถึงคนอื่น คนมองโลกในแง่ร้ายบางคน อาจจะสงสัยว่าบิล เกทส์ตั้งมูลนิธิโดยมีจุดประสงค์แอบแฝง ทำบุญเอาหน้า มากกว่าทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ ครั้งแรกที่เราได้ยินเราก็คลางแคลงใจเหมือนกัน แต่พอได้อ่านสุนทรพจน์เขาครั้งนี้ ก็คิดว่าน่าจะของจริง แต่ถึงจะไม่ใช่ของจริง ถึงเขาจะทำบุญเอาหน้า เราว่าก็ยังดีกว่า ไม่ทำบุญแล้วยังเอาหน้า ซะอีกนะ

อ่านเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องคนอภิสิทธิ์กับคนจน แล้วก็ไพล่ไปนึกถึงคอลัมน์เล็กๆ ที่ได้อ่านในบางกอกโพสต์ อ่านมานานแล้ว ว่าจะเขียนถึงแต่ก็ยังไม่ได้จังหวะจนวันนี้ โดนัลด์ จี แม็คนีล จูเนียร์ เขียนเรื่อง “การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนทั่วโลก”


พอล โพแล็ค กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มนักประดิษฐ์ว่า “ผู้บริโภคนับล้านล้านคนในโลกนี้กำลังรอคอยจะซื้อแว่นตาอันละ ๒ เหรียญ โคมไฟพลังแสงอาทิตย์ราคา ๑๐ เหรียญ และบ้านหลังละ ๑๐๐ เหรียญ”

พอลซึ่งเคยเป็นจิตแพทย์และในปัจจุบันทำงานให้กับองค์กรที่ช่วยให้ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนกลายเป็นนักคิดนักธุรกิจ บอกว่า นักออกแบบที่ฉลาดที่สุดในโลกทำงานรับใช้บรรดาคนรวยที่สุดซึ่งมีจำนวนแค่ ๑๐% ของประชากรโลก ทุ่มเทมันสมองสร้างสรรค์ผลงานอย่าง ฉลากขวดไวน์ กูตูร์ (Couture เสื้อผ้าไฮโซหรูระยับ) และมาเซอราติ (รถยนต์สปอร์ตราคาแพง)

เขาบอกว่า “ต้องมีการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอัตราส่วนที่ไร้สาระนั่น”

เพื่อการปฏิวัติ พิพิธภัณฑ์ Cooper-Hewitt National Museum (ซึ่งอยู่ในแมนชันขนาด ๖๔ ห้องของแอนดรู คาร์เนกี บนถนนฟิฟท์แอฟเวนิว และมีออมสินรูปหมูทำด้วยทองแดงขายในร้านขายของที่ระลึกในราคา ๒๕๐ เหรียญ) ได้ให้เกียรติกับบรรดานักประดิษฐ์ที่อุทิศตัวให้กับ “ประชากรอีก ๙๐% ที่เหลือ” ประชากรนับล้านล้านคนที่มีรายได้น้อยกว่า ๒ เหรียญต่อวัน

ผลงานของนักประดิษฐ์เหล่านี้ได้นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในสวนของพิพิธภัณฑ์จนถึงวันที่ ๒๓ กันยายน เป็นผลงานที่ต้องยกนิ้วให้ ประมาณว่า “ทำไมถึงไม่มีคนคิดเรื่องนี้มาก่อน”

หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่ายที่สุดแต่ก็สง่างามที่สุด สร้างขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งผู้หญิงและเด็กนับล้านต้องใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงทำ นั่นก็คือการไปตักน้ำ การเทินคนโทน้ำไว้บนหัวอาจจะทำให้ท่าทางการเดินสง่างาม แต่มันก็เป็นงานที่ทำให้ปวดหลังและบางครั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงพิการได้ด้วย ผลงานประดิษฐ์ที่เรียกว่า Q-Drum เป็นภาชนะทรงกลม บรรจุน้ำได้ ๙๑ ลิตรและกลิ้งไปตามพื้นได้ง่ายขนาดที่เด็กเล็กๆ สามารถลากไปได้ด้วยเชือก

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ นักออกแบบส่วนใหญ่ที่กล่าวปราศรัยในวันเปิดนิทรรศการต่อต้านแนวความคิดของการบริจาค

มาร์ติน ฟิชเชอร์ วิศวกรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง KickStart บอกว่า “ความต้องการอันดับ ๑ ของคนยากคนจนคือ วิธีหาเงินเพิ่มขึ้น” KickStart เป็นองค์กรซึ่งบอกว่าได้ช่วยเหลือคน ๒๓๐,๐๐๐ คนให้พ้นจากความยากจน โดยขายปั๊มน้ำแบบใช้แรงคนราคา ๓๕-๙๕ เหรียญ

ปั๊มน้ำช่วยให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวในหน้าแล้งซึ่งผลผลิตจะมีราคา ๓ เท่าของราคาปกติ ฟิชเชอร์เล่าถึงลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งยอมอดมื้อกินมื้อเป็นสัปดาห์เพื่อเก็บเงินมาซื้อปั๊ม และทำเงินได้ ๑,๐๐๐ เหรียญในการขายพืชผลในปีถัดมา

มาร์ตินบอกว่า “คนยากคนจนส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาที่พยายามจะเอาชีวิตรอด พวกเขาต้องการ business model ที่ช่วยให้เขาทำเงินได้ภายใน ๓-๖ เดือน ซึ่งเท่ากับระยะเวลาของหนึ่งฤดูเพาะปลูก” KickStart ยอมรับเงินบริจาคเพื่อนำมาใช้ทำโฆษณาและหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะขายสินค้าและชิ้นส่วนอะไหล่

มาร์ตินบอกว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขาไม่สำรวจตลาดก่อนซื้อสินค้า หลายๆ คนไม่เคยเดินทางออกนอกหมู่บ้านด้วยซ้ำ

เราหันมามองตัวเอง คิดถึงคุณค่าของสิ่งที่เราทำ งานของเราทำประโยชน์ให้กับใครหรือเปล่า สร้างผลกระทบให้กับชีวิตของคนบ้างไหม เราคงไม่สามารถทำอะไรที่เป็นปรากฏการณ์ ที่แน่ๆ มันทำให้เรามีรายได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก และใช้ส่วนที่เหลือ (ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเวลา) ทำประโยชน์เล็กๆ ให้กับสังคมเท่าที่เราจะทำได้

ไม่มีความคิดเห็น:

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์