วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

ความรู้กับความบันเทิง

เราเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาเราไปต่างประเทศ เราถึงรู้สึกอยากจะไปเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์ อยากไปดูงานศิลปะ แต่เมืองไทยก็มีพิพิธภัณฑ์ตั้งเยอะแยะ ผลงานศิลปะของเราไม่ได้ไม่ได้น้อยหน้าใครๆ เลย ทำไมเราไม่รู้สึกว่าอยากไปดูอยากไปชมสักเท่าไหร่ หรือว่าเราจะเป็นพวกไม่รักของไทย ไม่ชาตินิยม

พอได้มาอ่านที่อาจารย์นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ก็เพิ่งเข้าใจสาเหตุ ว่าเรายังไม่สามารถให้ความรู้ได้มากพอที่จะสร้างสำนึก สร้างความรู้สึกซาบซึ้งกับคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็น ได้ดูในพิพิธภัณฑ์หรืองานแสดงต่างๆ พอไปเข้าดูพิพิธภัณฑ์ไทย มันเลยไม่รู้สึกสนุก ไม่เห็นคุณค่า ไม่เข้าใจความหมาย

ในสังคมไทยดูเหมือนว่าความรู้กับความบันเทิงเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ความบันเทิงของไทยจึงมีแต่ความไร้สาระ ไม่สมจริงสมจัง ในขณะที่ความรู้ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ หนักหัวสมอง เคร่งเครียด ไปซะงั้น

...ศิลปะและรสนิยมทางศิลปะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่าทักษะและทัศนคติบางด้าน สังคมใดไปฝากศิลปะไว้กับการศึกษามวลชนจึงมักไม่สามารถปลูกฝังรสนิยมอันดีทางศิลปะแก่มวลชนได้

อย่าเพิ่งคิดเอาไปฝากไวก้บครอบครัวนะครับ เพราะฝากกับครอบครัวนั้นถูกแน่ แต่ถูกแบบกำปั้นทุบดิน เนื่องจากครอบครัวของมวลชนเองก็อ่อนแอในเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นในสังคม เพื่อช่วยครอบครัวด้วย เครื่องมือสำคัญก็คือ สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่แทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคนในตลาด

สื่อในเมืองไทยเอื้อต่อการเรียนรู้และเสพย์ศิลปะมากน้อยแค่ไหน ก็เห็นๆ กันอยู่แล้วนะครับ ผมจะไม่พูดถึง

แต่ผมอยากจะพูดถึงสถาบันที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันไปเที่ยวเตร่เยี่ยมเยือน เช่น พิพิธภัณฑ์, สวนสนุก, สถาบันดนตรี, หอศิลป์, มหกรรม, งานนิทรรศการ, งานแสดงสินค้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้มากกว่า

สิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายที่ซ้อนกันอยู่หลายมิติ หากำไรก็ใช่, ให้ความบันเทิงก็ใช่, และที่ไม่ควรขาดอย่างยิ่งก็คือ ให้การเรียนรู้ด้วย เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกันเองนะครับ ถ้าไม่หน้ามืดกับการหากำไรจนเกินไป ก็จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ในอนาคต ไม่ใช่การลงทุนเปล่า

พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ที่แสดงของพร้อมป้ายอธิบายอย่างหยาบๆ เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ (ทุกชนิด) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนุกและให้การเรียนรู้มาก แต่ต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย เช่น สร้างแกนเรื่อง (theme) ที่น่าสนใจขึ้น และมีบริการนำชมเป็นรอบๆ ไป

ใครเข้าชมหอศิลป์ ก็อาจจะซื้อตั๋วเพื่อชม “อิทธพลของ Impressionism ในศิลปะไทย” ซึ่งจะได้ชมภาพของศิลปินไทยหลายท่าน รวมทั้งได้ความรู้ว่าอะไรคือ Impressionism ในทางศิลปะ, อิทธิพลนั้นแสดงออกในภาพเขียนอย่างไร, ยังมีสืบมาถึงปัจจุบันหรือไม่, เทคนิควิธีของการเขียนภาพแบบต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งอาจซักไซ้ผู้นำชมได้อีกมากมายโดยไม่มีคำตอบตายตัว

แกนเรื่องมีมากมายหลายเรื่อง และต้องสร้างขึ้นใหม่ให้น่าสนใจอยู่เสมอ

ผมจึงพูดอยู่บ่อยๆ ว่า หัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์, หอศิลปะ, นิทรรศการ, ฯลฯ นั้นคือวิจัย นอกจากต้องมีความรู้ว่าจะเก็บและตั้งแสดงอย่างไรแล้ว ต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการพอที่จะสร้างแกนเรื่องให้ใหม่สดและอยู่ในความสนใจใคร่รู้ของผู้คนได้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างสถาบันทางดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกสักแห่งหนึ่งเป็นตัวอย่าง นั่นคือ Lincoln Center แห่งนิวยอร์ก

ผู้คนรู้จักศูนย์ลิงคอล์นว่าเป็นโรงแสดงดนตรีอันมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วศูนย์ลิงคอล์นเป็นมากกว่านั้นมาก

ห้องประชุมใหญ่ของที่นี่ชื่อ Avery Fisher Hall อันเป็น “บ้าน” ของ New York Philharmonic Orchestra อันลือชื่อ นอกจากใช้แสดงแล้วยังใช้ฝึกซ้อม วงดนตรีนี้ไม่ห้อยอยู่บนบันไดชั้นบนเฉยๆ แต่ยังพยายามปลูกฝังรสนิยมการฟังดนตรีแก่เยาวชนและคนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยที่ Leonard Bernstein เป็นผู้อำนวยการและอำนวยวง ตัวเขานั่นเองแหละที่จะนำวงมาสอนทุกวันอาทิตย์ และว่ากันว่า เขาเป็นครูชั้นยอดทีเดียว

ที่สังกัดอยู่กับ Lincoln Center ยังมีศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากดนตรีคลาสสิค เช่น สถาบันอุปรากรและบัลเลต์, มีสมาคมภาพยนตร์, มีแจ๊ซ, และเชมเบอร์มิวสิคอยู่ด้วย นอกจากนี้ ก็มีห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่ใหญ่มาก มีพิพิธภัณฑ์การดนตรี และมีการขายทัวร์นำผู้สนใจเข้าชมทั้งศูนย์ได้ด้วย

สถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Lincoln Center คือโรงเรียนดนตรีชื่อ Julliard ซึ่งถือกันว่าโรงเรียนนี้ผลิตนักดนตรีดีที่สุดของโลก นักเรียนดนตรีที่นี่จัดแสดงดนตรีในหอประชุมต่างๆ ของศูนย์เกือบตลอดปี แม้มีชื่อเสียงระดับสุดยอด โรงเรียนดนตรี Julliard ก็ยังจัดสอนภาคพิเศษตอนเย็น ซึ่งเปิดรับคนทั่วไปเข้าเรียนได้ แล้วแต่จะเลือกสนใจเรื่องอะไรของดนตรี แม้แต่นักท่องเที่ยวซึ่งมีเวลาอยู่นิวยอร์กนานพอ ก็สามารถไปลงทะเบียนเลือกเรียนได้

ทั้งนี้ ยังไม่พูดเรื่องเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากบอกกล่าวกิจกรรมของศูนย์หรือวงนิวยอร์กฟิลฮาร์มอนิกแล้ว ยังให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีและศิลปะการแสดงแขนงอื่นอีกมากมายด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถทำตลาดให้เป็นมากกว่าที่ขายของได้ นั่นก็คือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย เพราะชีวิตคนปัจจุบันอยู่ในตลาด หากตลาดไม่ให้การเรียนรู้ ผู้คนจะ “มีการศึกษา” ไม่ได้ ไม่ว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปเป็น ๑๒ หรือ ๒๔ ปี

ตลาดศิลปะที่มีคุณภาพเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีการเรียนรู้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นในชีวิตปรกติของตลาด อันไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะการจัดแสดงเพียงอย่างเดียว เดินเข้าไปชมภาพศิลปะร่วมสมัยในหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยไทย โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตกรรมสมัยใหม่เลย จะไม่ให้ความรู้สึกว่ามีเท้าที่มองไม่เห็นถีบออกมาได้อย่างไร

ตลาดที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้ ย่อมไม่สามารถอุปถัมภ์ศิลปะและวิทยาการที่ดีเลิศได้เป็นธรรมดา และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในตัวตลาดนั้นเองได้ ทั้งยังเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดด้วย เพราะสัมพันธ์กับชีวิตคนยิ่งกว่าโรงเรียน, วัด, หรือภาพเขียนและดนตรีเลิศใดๆ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของการอุปถัมภ์ศิลปะจากอภิชนมาสู่สามัญชนนั้น ต้องมาพร้อมกับการทำให้ความรู้เป็นสมบัติของประชาชนด้วย (popularization of knowledge) แต่นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยใส่ใจตลอดมาตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงได้แต่หงุดหงิดงุ่นง่านไปตามลำพัง เพราะไม่มีใครยอมเผยแพร่แบ่งปันความรู้กันตามที่แกเรียกร้องอยู่เสมอเลย

ตัดตอนมาจาก “ศิลปะในตลาดที่ไม่ได้เรียนรู้” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ – มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๔๔๐ วันที่ ๒๑-๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น:

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์