วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โจรกรรมทางวรรณกรรม

เว็บ Reference.com เขียนเรื่อง Plagiarism (เพล้-เจอะ-ริ-ซึ่ม) ว่า
“Plagirism คือ การอวดอ้างหรือทำให้คิดว่าว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ตัวจริง โดยการเอางานเขียนหรือผลงานสร้างสรรค์ของคนอื่น (ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด) มาใช้ในงานของตัวเองโดยไม่มีการให้เครดิตอย่างเหมาะสม...” **

“ในวงการวิชาการ Plagiarism (ไม่ว่าจะกระทำโดยนักศึกษา อาจารย์ หรือนักวิจัย) ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์หรือการทุจริตทางการศึกษา ผู้กระทำผิดจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือหมดความน่าเชื่อถือในวงการศึกษาได้ ในวงการสื่อสารมวลชน Plagiarism คือการขาดจริยธรรมของสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับได้ว่า plagiarise มักจะโดนโทษทางวินัยตั้งแต่ถูกพักงานถึงโดนไล่ออก ทั้งในวงการวิชาการหรือสื่อสารมวลชน คนที่โดนจับได้ว่า plagiarise ผลงานคนอื่นมักจะอ้างว่า “บกพร่องโดยสุจริต” คือ “ลืม” ใส่เครื่องหมายคำพูด หรือ “ลืม” ให้เครดิตเจ้าของตัวจริง ถึงแม้ Plagiarism ในวงการศึกษาและสื่อสารมวลชนจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นร้อยปี แต่การมีอินเทอร์เน็ททำให้การลอกเลียนผลงานของคนอื่นทำได้ง่ายมากขึ้น เพียงแค่การก็อปปี้และเพสต์ (copy and paste) ข้อความจากเว็บหนึ่งไปอีกเว็บหนึ่ง” **

ราชบัณทิตยสถาน บัญญัติคำว่า Plagiarism ไว้ ๒ คำ คือ “โจรกรรมทางวรรณกรรม” (สาขาวิชาวรรณกรรม) กับ “การลอกเลียนวรรณกรรม” (สาขาวิชานิติศาสตร์)

เมื่อเร็วๆ นี้คุณ Golb (เจ้าของบล็อกบ้านสวนที่เวิร์ดเพรส) ก็เพิ่งประสบเหตุการณ์ Plagiarism คือไปเจอะบทความของตัวเองในบล็อกคนอื่นที่ gotoknow.org คุณ Glob ไม่ได้ไปทักท้วงอะไร แต่เอามาเล่าแบบขำๆ (ที่จริงน่าจะเป็นแบบปลงๆ มากกว่า?)

พอมีคนไปทักท้วง แทนที่จะยอมรับก็กลับแก้ตัวแบบที่เราฟังยังไงก็ไม่เข้าใจว่า เป็นบทความที่เพื่อนส่งมาให้ทางเมล บอกว่าเขียนแล้วไม่มีเวลาโพสต์ เลยวานเจ้าของบล็อกช่วยโพสต์ให้ด้วย เธอก็เลยเอามาโพสต์โดยไม่รู้ว่าเป็นบทความของคุณ Golb

ถึงจะพยายามทำความเข้าใจคำแก้ตัวของเจ้าของบล็อกสุดๆ แต่การที่ที่เจ้าของบล็อก “ลืม” ใส่เครื่องหมายคำพูด “ลืม” ให้เครดิตคุณ Golb (อ้อ... ที่จริงต้องเป็น เพื่อนคนที่ส่งเมลมาให้สิเนอะ!) แต่ไม่ลืมเปลี่ยนสรรพนามในบทความจาก “ผม” เป็นชื่อตัวเอง และคำลงท้ายจาก “ครับ” เป็น “ค่ะ” ก็ผิดข้อหา Plagiarism เต็มประตู

สุดท้ายเรื่องนี้จบลงโดยบล็อกเจ้าปัญหาโดนปิด เพราะทาง gotoknow ตรวจเจอว่ามีการก็อปปี้ข้อความจากที่อื่นๆ อีกมากมาย หลังจากตักเตือนแล้วก็ยังมีการก็อปปี้ข้อความจากที่อื่นมาโพสต์อยู่อีก

กรณีของคุณ Golb หรือหลายๆ คนที่โดนก็อปปี้บทความไปโพสต์นี่ชัดเจนว่าเป็น Plagiarism แต่ยังมีเว็บอีกเยอะที่ก่อปัญหา Plagiarism อีกแบบหนึ่ง แม้จะไม่ได้โจรกรรมหรือลอกเลียนกันโต้งๆ แต่ก็ไม่ให้เครดิตอย่างเหมาะสม คือ Online Plagiarism โดยการก็อปปี้ข้อความจากเว็บคนอื่นไปใส่เว็บตัวเองโดยไม่ได้ให้เครดิตกับเว็บต้นฉบับ

Reference.com เขาบอกว่า “สมัยนี้มี Online Plagiarism เพิ่มขึ้นเยอะมาก แรงจูงใจอาจจะเป็นการพยายามดึงให้คนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บตัวเอง โดยขโมยผู้เข้าชมเว็บไซท์ไปจากเว็บต้นฉบับ ทำให้เว็บมีรายได้จากโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น” **

เราเจอเองกับตัวว่า มีคนก็อปปี้เรื่องที่เราแปลให้กับเว็บหนึ่งไปโพสต์ในเว็บของเขา ชื่อของเรายังอยู่ครบถ้วนในฐานะคนแปล แต่คนโพสต์ “ลืม” บอกว่าไปก็อปปี้ข้อความนี้มาจากเว็บไหน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่เขา ๑. ไม่ให้เครดิตกับเว็บที่เราแปลบทความให้ ๒. อาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่าเราแปลเรื่องนั้นให้เว็บของเขา

เราคิดว่าการให้เครดิตเว็บต้นฉบับก็สำคัญ เพราะถ้าบทความที่เราแปลมีคุณภาพถูกใจคนอ่าน คนอ่านก็ควรจะได้รู้ว่าจะไปอ่านบทความทำนองนี้ได้อีกที่เว็บไหน (หรือถ้าบทความไม่ดี คนอ่านก็ควรจะได้รู้ว่าควรจะหลีกเลี่ยงเว็บไซท์ไหน :P)

ที่เขียนมายืดยาวนี่ไม่ใช่อะไรหรอก แค่ต้องการจะบอกว่าถ้าใครจะเอาบทความที่เราเขียนหรือแปลไป “ช่วยเผยแพร่” อย่าก็อปปี้เอาไปแต่บทความกับชื่อ ช่วยบอกด้วยว่าเอาไปจากเว็บไหน เราไม่ได้หวังผลเรื่องรายได้ เพราะนี่ไม่ใช่เว็บการค้า แต่ยังไงก็ช่วยเพิ่มเรทติ้งให้บล็อกของเรามั่งเถอะ คนอ่านยิ่งน้อยๆ อยู่ (ไม่ฮา!) :P

** อ้างอิงข้อมูลจาก
American Psychological Association (APA):
Plagiarism. (n.d.). Wikipedia, the free encyclopedia. Retrieved July 19, 2008, from Reference.com website: http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism.

Chicago Manual Style (CMS):
Plagiarism. Reference.com. Wikipedia, the free encyclopedia. http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism (accessed: July 19, 2008).

Modern Language Association (MLA):
"Plagiarism." Wikipedia, the free encyclopedia. 19 Jul. 2008. Reference.com http://www.reference.com/browse/wiki/Plagiarism.

7 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มันน่ากลัวที่ว่าพฤติกรรมตัดแปะลักษณะนี้ถูกปลูกฝังมาจากสถานศึกษา

ครูผู้สอน (ส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้างด้วย)อายุไล่เลี่ยกับผู้เรียน จบออกมาจากสภาพแวดล้อมตัดแปะเหมือนกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยความไม่มั่นคงในวิชาชีพ ไม่รู้เค้าจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ .. แล้วจะเอาอะไรไปสอนเด็ก?

ครูอาวุโส เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นคงและสวัสดิการ เลยขาดความกระตือรือล้นในการสอน และเริ่มแหงนหน้ามองเก้าอี้ผู้บริหาร .. แล้วจะเอาเวลาไหนไปใส่ใจเด็ก?

ไม่ต้องพูดถึงผู้บริหารสถานศึกษา

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบรรดาหลักสูตรเร่งรัด จ่ายครบ จบไว ทั้งหลาย

เมื่อเบ้าหลอมกลายเป็นเบ้าหลวมซะเองอย่างนี้แล้ว

จะขำหรือปลงก็คงไม่แตกต่างกัน

nitbert กล่าวว่า...

คุณ Glob ลากไปเรื่องการศึกษา แล้วอดไม่ได้...

วันก่อนเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ในมติชนของมาร์ติน วีลเลอร์ (คิดว่าชื่อนี้นะ) ฝรั่งที่ไปเป็นชาวนาอยู่แถวอีสาน อ่านแล้วชื่นชมมาก (แต่ก็ทำให้เศร้าใจ+หมดอาลัยไปด้วย) ไม่ได้ชื่นชมเพราะเป็นฝรั่งมาพูด แต่ชื่นชมเพราะเขาพูดได้ตรงเป้าตรงประเด็นมาก

เขาบอกว่า คนไทยสนใจแต่เปลือกนอกฉาบๆ ฉวยๆ ไม่สนใจแก่นแท้ อย่างเรื่องระบบการศึกษา ไม่สนใจการเรียนรู้หรือการมีความรู้ที่แท้จริง แต่ไปยึดถือบูชากับการมีปริญญา เขาบอกว่า ลองไปถามเด็กๆ ในมหาลัยปี ๓ ปี ๔ ว่า ถ้าจ่ายเงินแล้วจบเลยได้ใบปริญญา ไม่ต้องเรียนให้เหนื่อย เอาไหม ส่วนใหญ่บอกว่าเอากันทั้งนั้นแหละ

โดนเลยไหม?!!?

จะขำหรือจะปลงก็คงไม่แตกต่างกัน... เนอะ!!!

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วรู้เลยว่าคนเขียน "เงินเฟ้อ" นะเนี่ย...อิอิ

nitbert กล่าวว่า...

เงินเฟ้อ ยังไงอ่ะ คุณ mymoney ไม่เก็ทจริงๆ -_-"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

"เงินเฟ้อ" ---> "ของขึ้น" นิ...

nitbert กล่าวว่า...

โอ้ววว... มุขนี้ ซุ่ดย่อดดดด :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แฮ่...

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์