วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ช่วยๆ กันสอนดีไหม

วันก่อนเราไปซื้อหนังสือ แล้วก็เอาไปให้ห่อปกพลาสติกฟรี ตรงแผนกห่อปกมีเจ้าหน้าที่ของร้านกับเด็กแต่งชุดนักศึกษาอีก ๒ คน เราซื้อหนังสือหลายเล่ม มีหนังสือสำหรับเด็กเป็นชุดใส่ในกระเป๋าพลาสติกด้วย เด็กนักศึกษาหยิบไปแล้วก็พูดว่า เอ๊ะ... อันนี้จะทำยังไงเนี่ย แล้วก็หยิบไปวางแยกไว้แบบไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง แล้วก็หยิบหนังสือเล่มอื่นไปห่อแทน

เราก็เลยต้องหยิบกระเป๋าพลาสติกมาเปิดออก หยิบหนังสือออกมาวาง เขาถึงเข้าใจว่า อ้อ... ต้องเอาหนังสือออกมาจากกระเป๋าพลาสติกก่อน ถึงจะห่อปกได้ เฮ้อออ (รอบที่ ๑)

เราสังเกตว่าคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของร้านจะเลือกปกพลาสติกที่ใหญ่กว่าหนังสือ แล้วก็ใช้คัทเตอร์ตัดมุมส่วนที่เกินออก แล้วพับทบด้านบน-ล่าง และด้านหลัง แล้วติดสก็อตเทป ในขณะที่เด็กนักศึกษาคนที่หนึ่งจะใช้วิธีหาปกที่พอดีกับขนาดหนังสือ แล้วก็ทบปลายด้านหลังเข้าไปเฉยๆ (แบบแรกต้องใช้ฝีมือและความประณีตมากกว่า เพราะต้องตัดส่วนเกินออก, พับ, และติดสก็อตเทป) ส่วนเด็กนักศึกษาคนที่สอง หยิบหนังสือไป แล้วก็ถามว่า เล่มนี้มีปกขนาดพอดีไหม นี่แค่วัดขนาด ยังไม่คิดจะทำเลยเหรอเนี่ย เฮ้ออ... (รอบที่ ๒)

มีหนังสือเราเล่มหนึ่งขนาดมันกว้างกว่าพ็อคเก็ตบุคปกติ เราก็คอยดูว่าเด็กนักศึกษาจะห่อยังไง เพราะปกที่ขนาดพอดีกับความสูง ความยาวก็จะสั้นเกินกว่าที่จะพับทบตรงปกหลังได้ เรามองปราดเดียวก็รู้ว่าไม่พอแน่ๆ แต่เขาก็ยังเอาไปห่อ และพยายามทบปลายอยู่หลายรอบ แต่ก็ไม่ได้ สุดท้ายเขาใช้คัทเตอร์ตัดลิ้นด้านในออก ค่อยพับปลายทบเข้ามา จะเอาสก็อตเทปติด ถึงตอนนี้เราทนไม่ไหวก็เลยบอกให้เขาเอาปกขนาดใหญ่กว่าไปห่อ

ในระหว่างนี้เด็กคนที่สองห่อปกหนังสือของคนอื่นเสร็จแล้ว ก็เลยมาเอาหนังสือของเราไปห่อ ปรากกฏว่านอกจากจะใช้เวลานานมากๆ แล้ว คุณน้องยังห่อได้ชุ่ยมากๆๆ ดึงพลาสติกไม่ตึง พับไม่เรียบร้อย ปกก็เลยหลวมๆ จะหลุด แถมตัดมุมไม่เรียบร้อย จนเราต้องบอกให้เจ้าหน้าที่ของร้านช่วยตัดขอบออกให้มันเรียบๆ ในใจคิดว่ารู้งี้ขอปกพลาสติกกลับมาห่อเองคงจะดีกว่า

ระหว่างนี้ก็มีคนอื่นเอาหนังสือมาให้ห่ออีก มีบางเล่มเป็นปกแข็ง เด็กนักศึกษาก็บอกว่าห่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ร้านก็พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ไม่เห็นมีใครห่อได้ซักคน เราฟังแล้วก็รู้สึกเห็นใจ เพราะแค่เท่าที่สังเกตอยู่ไม่กี่นาที เราก็รู้ว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เรื่องจริงๆ ก็แค่ห่อปกหนังสือให้เรียบร้อยก็ยังทำไม่ได้ เฮ้อออ (รอบที่ ๓)

เรากลับมาเล่าให้พี่สาวฟังว่า เนี่ย.. เด็กสมัยนี้ ไปเป็นเด็กฝึกงาน หางานพาร์ทไทม์ทำ เหมือนจะดี ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้การทำงาน แต่เท่าที่เห็น กลับสักแต่ว่าไปทำ แต่ไม่ตั้งใจทำงานให้ดี ขนาดงานที่เหมือนจะง่ายๆ ก็ยังไม่ตั้งใจ แล้วใครจะกล้าวางใจให้ไปทำงานยากๆ

พนักงานประจำเจอเด็กฝึกงานหรือเด็กพาร์ทไทม์แบบนี้ก็คงเซ็ง แทนที่จะได้เด็กมาช่วยแบ่งเบาภาระ ก็เหมือนจะมีภาระเพิ่ม เพราะน้องทำอะไรไม่เป็น และไม่คิดจะขวนขวายทำให้ดีๆ ขึ้นเลย

พี่สาวเราฟังแล้วแทนที่จะหงุดหงิดหรือปลงสังเวชกับเรา กลับบอกว่าแล้วทำไมแกไม่สอนเขาไปล่ะ บอกไปเลยว่า เนี่ย... น้องทำแบบนี้ไม่เรียบร้อยเลย มาพี่(เอ.. หรือต้องเป็นป้า?)จะทำให้ดู สอนเขาว่าทำให้ดีๆ ต้องทำยังไง เราก็เลยนึกได้ว่า การที่เราเอาแต่บ่น หรือหงุดหงิดมันไม่ช่วยอะไร เพราะเด็กพวกนั้นก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองบกพร่องอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าเราช่วยๆ กันสอน ช่วยๆ กันบอก เด็กพวกนี้ก็น่าจะพัฒนาขึ้นได้ เพราะคุณน้องๆ คงไม่ได้เป็นบัวใต้น้ำกันซะทุกคนไปหรอกเนอะ!

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ฮ่าๆๆๆ เราปลงไปกะคนเขียนน่ะ เครียดแม้กระทั่งห่อปกหนังสือ

ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าเป็นเรา เราจะทำไง คงสะกิดเจ้าหน้าที่ แล้วบอกว่า คุณๆสอนน้องเค้าหน่อยสิ (เป็นกรรมของเธอ ที่เจ้าของรับเด็กฝึกงานห่วยๆมา เธอต้องสอนเอง เพราะเธอเป็นนายเด็กเหล่านี้)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ฮ่า...ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม

หายไปเกือบ ๒ เดือน กลับมายังซีเรียสเหมือนเดิม เดือนหนึ่งอัดหนึ่งครั้ง

วีวิชยูอะเมอรร์รี่คริสต์มัส...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมนั้นแล คุณ nitbert อย่าเครียด อย่าเครียด

nitbert กล่าวว่า...

อ้าววว อ่านแล้วรู้สึกว่าคนเขียนเครียดเหรอ ที่จริงไม่เครียดเล้ยยยย เขียนเรื่องนี้เสร็จไปนั่งดูข่าวการเมือง สบายใจ!!!

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์