วันก่อนในซีรีส์ House, M.D. พูดถึง Five Stages of Grief (๕ ช่วงเวลาของความโศกเศร้า) เราฟังไม่ทันแต่ไปเสิร์ชเจอในเน็ท มันเป็นไอเดียของจิตแพทย์ชื่อเอลิซาเบ็ธ คูเบลอร์-รอส (Elizabeth Kübler-Ross) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “On Death and Dying” เมื่อปีค.ศ. ๑๙๖๙
คุณหมอคูเบลอร์-รอสนำเสนอ Kübler-Ross Model ซึ่งเป็นขบวนการที่คนจะจัดการกับความเศร้าโศกและความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวง เช่น ในเวลารู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา กำลังจะเผชิญหน้ากับความตาย คนมักจะต้องผ่านช่วงเวลา ๕ ช่วง
๑. ปฏิเสธ (Denial): ช่วงเริ่มต้น “ไม่จริงหรอก... มันเป็นไปไม่ได้”
๒. โกรธ (Anger): “ทำไมถึงเป็นฉัน? ไม่ยุติธรรมเลย”
๓. ต่อรอง (Bargaining): “ยังไงก็ขอให้ได้อยู่จนเห็นลูกเรียนจบ”
๔. หดหู่ (Depresison): “ฉันเศร้าสุดๆ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต”
๕. ยอมรับ (Acceptance): “แล้วมันก็จะโอเค”
คุณหมอคูเบลอร์-รอสบอกว่า นอกจากตอนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายแล้ว คนมักจะผ่านขบวนการแบบนี้ด้วยเหมือนกัน เวลาเกิดความสูญเสียอันใหญ่หลวง (เช่น ตกงาน สูญเสียรายได้ หรืออิสรภาพ) รวมทั้งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือการหย่าร้าง และแต่ละคนอาจจะไม่ได้ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตามลำดับที่ว่านี้ และไม่จำเป็นจะต้องมีครบทั้งห้าข้อ แต่ทั่วไปมักจะต้องผ่านอย่างน้อย ๒ ช่วงเวลา
ช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินและอ่านเรื่องราวของน.พ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางวิทยุ ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณหมอมากนัก แต่หลังจากคุณหมอเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ได้รู้เรื่องราวบางส่วนของคุณหมอมากขึ้น (แต่คิดว่ายังรู้น้อยมากเทียบกับผลงานและคุณงามความดีของคุณหมอซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่องระบบบริการสุขภาพของไทย)
มติชนสุดสัปดาห์เอาบันทึกของคุณหมอมาลง คุณหมอเขียนเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่ได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอด อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดต่างๆ มากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับโรคมะเร็ง
บางกอกโพสต์วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาเอา “บัญญัติ ๑๐ ประการสำหรับนักสู้ (มะเร็ง)” มาลงในคอลัมน์ Health Tips บางคนอาจจะได้เคยผ่านตามาแล้ว เพราะรู้สึกว่าจะเอามาจากหนังสือ “เปลี่ยนมะเร็งให้เป็นพลัง” ของคุณหมอ เราสรุปมาให้อ่าน (อาจจะแปลกๆ แปร่งๆ ซักหน่อย เพราะเราแปลมาจากภาษาอังกฤษ)
๑. หลังจากที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่าตกใจ ทำใจให้สงบ คิดและเสาะหาที่ปรึกษาทางการแพทย์ และวิธีการรักษาทันที
๒. คิดในทางบวก อย่ายึดติดกับความเชื่อที่ว่า เป็นมะเร็งแล้วต้องตาย
๓. เปิดใจกว้างยอมรับทั้งการรักษาจากแพทย์สมัยใหม่และแพทย์แผนโบราณ เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเอง
๔. ทำงานกับแพทย์ผู้รักษาเราเหมือนเป็นทีมเดียวกัน เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับคนไข้มะเร็ง และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
๕. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพมากขึ้น กินอย่างมีสุขภาพมากขึ้น
๖. เข้าใจความสำคัญของสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจ สภาพทางอารมณ์ที่ไม่ดีทำให้สภาพทางร่างกายแย่ไปด้วย
๗. มีความอดทน เพราะคนไข้มะเร็งจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และจะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงที่รุนแรง
๘. ดูแลรักษาจิตใจ พยายามปล่อยวางและเรียนรู้ที่จะให้อภัย
๙. ช่วยเหลือผู้อื่น หลังจากฟื้นตัวแล้ว หาโอกาสทำความดีให้กับคนอื่น อาจจะไปเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม
๑๐. มีสติกับความตาย และเตรียมตัวที่จะจัดการสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ
ถ้าย้อนกลับไปดู Five Stages of Grief บัญญัติ ๑๐ ประการของคุณหมอ ข้ามช่วงที่ ๑-๔ พรวดมาที่ช่วงที่ ๕ เลย ซึ่งเราว่าคนที่จะทำแบบนี้ได้เวลาเผชิญหน้ากับความตาย ต้องมีสติและมีใจหนักแน่นมากๆ
คนเราเกิดมาต้องสูญเสีย ต้องเสียใจ และต้องตายกันทุกคน ถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้น ต้องตั้งสติให้ดี จับอารมณ์ให้ได้ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน และพยายามทำใจไปให้ถึงช่วงสุดท้ายให้ได้ แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนความโศกเศร้าสูญเสียให้กลายเป็นพลังได้เหมือนกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
1 ความคิดเห็น:
ผมพยายามนึกเอาไว้เสมอว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกาม เฮ้ย.. ตามกรรม สิ
เวร เอิ๊กกก...
แสดงความคิดเห็น