วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันก่อนฟังวิทยุ เขาคุยกันเรื่องทีวีสาธารณะ มีนักข่าวคนหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ที่เคยทำงานกับบีบีซีในอังกฤษ เขาเล่าว่าหนังสือพิมพ์ในอังกฤษจะไม่ค่อยลงข่าวที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือไม่ดัง เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่ไปจับภาพคนคนนั้นกำลังโดนลากออกมาจากซากรถ โดนหามเข้าโรงพยาบาล ฯลฯ

ส่วนใหญ่เขาจะทำข่าวเป็นเป็นภาพรวม หรือการแสดงให้เห็นผลกระทบต่อสังคมโดยรวม การจุดประเด็นให้เกิดการค้นหาความจริง หรือตั้งคำถามให้เกิดการแก้ไขต่อไป มากกว่าจะนำเสนอเพื่อกระตุ้นอารมณ์หรือความสะใจ

พอลองมามองที่หนังสือพิมพ์ไทยนี่ค่อนข้างจะเป็นตรงกันข้าม เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ส่วนใหญ่ภาพที่นำเสนอออกมา จะใส่อารมณ์ให้ดูเกินความเป็นจริง (รถชนกัน ก็ให้เห็นกันจะจะว่ายับเยินแค่ไหน คนโดดตึก ก็ให้เห็นว่าลงมากองอยู่ท่าไหน) ชี้นำความคิดหรือตัดสินเหตุการณ์ไปก่อนล่วงหน้า (แม่ทำร้ายลูก ก็พาดหัวข่าวว่า แม่ใจโหด, เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ก็เรียกผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย แสดงความสะใจเวลาผู้ต้องสงสัยโดนรุมประชาทัณฑ์) รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวและไม่มีผลกระทบต่อสังคม (อันนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องรักๆ เลิกๆ ของดารา)

เรานึกไม่ออกว่าไอ้การที่เราเห็นหนังสือสือพิมพ์นำเสนอข่าวแบบนี้ ว่ามันไม่เหมาะสมเนี่ย มันไม่เหมาะสมเพราะอะไร แต่คุณนักข่าวบีบีซีคนนั้น เขาบอกว่า ที่หนังสือพิมพ์อังกฤษเขาไม่นำเสนอข่าวแบบนี้ เพราะมัน “ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนในข่าว เราฟังแล้วก็ เออ... ใช่เลยแฮะ

หลายๆ เรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นข่าว หรือเป็นข่าวก็ไม่ต้องโอเวอร์ เพราะมันไม่จรรโลงใจ เห็นแล้วสลดหดหู่ บางคนเขาประสบชะตากรรมต่างๆ ก็แย่พอแล้ว ยังเหมือนมาโดนประจานทางหนังสือพิมพ์อีก

ส่วนเรื่องส่วนตัวของบุคคลก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ซึ่งการพยายามไปล้วงแคะแกะเกาเพื่อนำมาเปิดเผย มักจะสร้างความอึดอัด/อับอายให้กับคนที่เป็นเจ้าของเรื่อง บางข่าวอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเฉพาะเจาะจงกับคนๆ นั้น

อย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวคดีตชด. ในแง่ของข่าว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยออกมา เพราะอาจจะมีคนที่โดนเหตุการณ์แบบเดียวกันอีกมาก แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยคนที่โดนกระทำโดยละเอียดขนาดนั้นก็ได้ เราเห็นภาพเวลาที่คุณผู้หญิง (จำชื่อไม่ได้อีกแล้ว) เขาต้องเล่าเหตุการณ์ ต้องตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็แล้วรู้สึกแย่แทนเขาไปด้วย ทำไมเขาต้องออกมาบอกเล่าอะไรแบบนี้ให้คนทั่วประเทศรับรู้

แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทย ที่บางทีคนก็ต้องยอมแลกศักดิ์ศรีกับความอยู่รอด คุณผู้หญิงที่โดนตชด. ทำร้าย ก็ต้องยอมกล้ำกลืนเล่าเรื่องตัวเองให้คนทั้งประเทศฟัง เพราะในประเทศไทยถ้าเรื่องไหนไม่ดัง เรื่องนั้นก็ไม่ค่อยได้รับการแก้ไข

พวกดาราก็ต้องยอมจัดงานแถลงข่าวงานหมั้นงานแต่งงาน ทนตอบคำถามสอดรู้สอดเห็นของนักข่าว เพื่อแลกกับการไม่โดนรุมด่า เพราะหนังสือพิมพ์สมัยนี้ทำให้กลายเป็นมาตรฐานว่า พวกคุณไม่ควรมีชีวิตส่วนตัว จะแต่งจะเลิกต้องบอกให้คนอื่นเขารู้ ใครไม่จัดงานแถลงข่าว จะโดนมองว่าน่าจะทำอะไรผิด ถึงไม่กล้าออกมาสู้หน้าสื่อ

ในขณะที่หลายๆ คนก็โดนปล้นศักดิ์ศรีไปโดยไม่รู้ตัว (เช่น พวกเหยื่อหรือผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุต่างๆ ที่นักข่าวชอบไปถ่ายภาพเขาในสภาพรุ่งริ่งไม่น่าดูออกมา)

เราว่าถ้าลองนึกถึงใจเขาใจเรา ลองคิดว่าถ้าเราเป็นคนในข่าวเหล่านั้น เราอยากจะให้เรื่องราวเหล่านั้นถูกเปิดเผยไหม และเปิดเผยมากแค่ไหน หรือลองนึกดูว่าถ้าคนในข่าวเป็นสามี, เป็นภรรยา, เป็นลูก, เป็นญาติพี่น้องของเรา เรารู้สึกยังไงถ้าภาพของพวกเข้าปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในรูปแบบนั้นๆ เราคิดว่าถ้าคิดไว้แบบนี้ตลอด หนังสือพิมพ์ไทยอาจจะน่าอ่านมากกว่านี้

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เอ๊...ก็เตือนแล้วว่าอย่าไปอ่านหนังสือพิมพ์ อย่าไปอ่านหนังสือพิมพ์ ยังไม่เชื่ออีก เดี๋ยวตีตายเลยนี่ ;)

แฮ่ ล้อเล่นนะคร๊าบบบ

nitbert กล่าวว่า...

เออ... นั่นสินะ ไปอ่านทำไม?? อยู่ดีไม่ว่าดีแท้ๆ เลยตรู -_-"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยกับเรื่องนี้มากๆเลยค่ะ
บางทีแค่เราร้องไห้ เรายังไม่อยากให้กล้องมาจับจ้องหน้าตาที่แย่ดูไม่ได้ของเราเลย
เรื่องกล้องที่ไปจับภาพคนที่บาดเจ็บ หรือกำลังจะเสียชีวิตเนี่ยไม่ดีเลยค่ะ
คิดว่าถ้าเป็นญาติเราเพื่อนเรา เราจะรู้สึกอย่างไร

nitbert กล่าวว่า...

สื่อมวลชนสมัยนี้คิดน้อยเกินไปนิดนึง... ว่าไหมคะ คุณเอื้ออารีย์

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์