เคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ ๕ ปีก่อน ตั้งแต่สมัยยังเป็นไดอะรี่ไม่ใช่บล็อก ลองย้อนกลับไปอ่านดู เนื้อหาก็ยังไม่ล้าสมัยซะทีเดียว (เก่งเหมือนกันนะคนเขียนเนี่ย ฮ่าๆๆ) เลยเอามาแปะให้อ่านซ้ำ เป็นความรู้พื้นๆ เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต :)
Credit Card 101 Thursday, Jun. 13, 2002
ช่วงที่ผ่านมาในออฟฟิศคุยกันเรื่องบัตรเครดิตค่อนข้างบ่อย เพราะมีธนาคารต่างๆ มาตั้งโต๊ะรับสมัครที่ใต้ตึกบ่อยๆ บางทีก็มีคนมารายงาน “ข้อเสนอดีๆ” ให้ฟัง พวกเราส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตกันคนละใบสองใบกันแล้ว ก็จะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอดีมีน้อง ๒-๓ คนที่เพิ่งจบจากมหาลัยเข้ามาทำงานใหม่ เขาก็ทำท่าสนใจแต่ก็ลังเลว่าจะสมัครดีไหม สมัครกับของธนาคารอะไรดี
เขาซักโน่นถามนี่เยอะแยะ เราก็เลยรู้ว่าคนบางคนก็ยังไม่ค่อยรู้อะไรมากเกี่ยวกับบัตรเครดิต โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคยมีบัตร เราก็เลยจัดการเล็คเชอร์ Credit Card ๑๐๑ ให้น้องเขาฟัง
บ้านเราเป็นคนทำการค้า คำว่า “เครดิต” ในความหมายของเตี่ยกับแม่ คือ “ดอกบี้ย” เรา “มีเครดิต” คือ เราสามารถเอาเงินของคนอื่นมาใช้ได้ก่อน แต่ถ้าเรา “ใช้เครดิต” คือ เราจะต้องจ่ายคืนเขาไปภายหลังพร้อมดอกเบี้ย เพราะฉะนั้น “การมีเครดิต” เยอะๆ เป็นเรื่องดี แต่ “การใช้เครดิต”เยอะๆ เป็นเรื่องไม่ดี
เตี่ยกับแม่เป็นคนยุคเงินสดอย่างแท้จริง ไม่ยอมใช้บัตรเครดิตใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะตอนที่เตี่ยกับแม่รู้จักบัตรเครดิตครั้งแรก เราต้องไป “ขอ” ธนาคารทำบัตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี มีร้านค้าอยู่แค่ไม่กี่ร้านที่รับบัตรเครดิต และเวลาจ่ายบัตรเครดิตร้านค้าจะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากราคาสินค้า (ประมาณ ๒-๕%) สรุปว่าการใช้บัตรเครดิตสมัยก่อนไม่มีข้อดีอะไรเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ต้องการ “ใช้เครดิต” ของคนอื่น
แต่สมัยนี้เป็นยุคทองของคนใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง ธนาคารต้องหันมา “อ้อนวอน” ให้คนทำบัตรเครดิต มีข้อเสนอจูงใจต่างๆ นานา ถ้าใครมีบัตรเครดิตที่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้กับธนาคาร ควรรีบโทรไปยกเลิกบัตรโดยด่วน เพราะตอนนี้มีธนาคารหลายที่ ที่พร้อมจะให้เราใช้บัตรเครดิตได้ฟรีตลอดชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไข บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่ใบสมัครได้รับการอนุมัติ บางธนาคารแจกของแถมทันทีที่เรายื่นใบสมัครด้วยซ้ำ การใช้บัตรก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะใช้ได้แทบทุกที่ เวลาจ่ายเงินก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม แถมตอนเวลาที่มีโปรโมชั่นยังอาจจะได้ของแถมอีกต่างหาก
แต่บัตรเครดิตก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย บัตรเครดิตจะทำให้คนใช้เงินฟุ่มเฟือย เพราะมันสะดวกและไม่เป็นรูปธรรม ลองนึกดูว่าถ้าเราจะซื้อของราคา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าจ่ายด้วยเงินสด เราก็อาจจะต้องไปเบิกเงินจากเอทีเอ็ม (มีเวลาคิดไตร่ตรองว่ามันสมควรซื้อจริงหรือเปล่า) ต้องนับแบ็งค์พันห้าใบและเห็นมันปลิวจากมือเราไปเข้ามือคนขาย (เกิดอาการตกใจหรือเสียดายว่าเงินเยอะจัง) แต่ถ้าจ่ายบัตรเครดิต เราดูราคาปุ๊บตัดสินใจซื้อปั๊บ คนขายพิมพ์สลิปบัตรมาปุ๊บเราก็รับมาเซ็นปั๊บ แค่กระดาษใบเดียว มันไม่ทำให้รู้สึกว่าได้จ่ายเงินออกไปจริงๆ กว่าจะมารู้อีกทีว่าใช้เงินไปก็ตอนที่เขาส่งบิลมาเก็บตังค์
เหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้ ถ้าเราเผลอไปใช้เงินเกินกว่าที่เรามีอยู่ เพราะปกติบัตรเครดิตจะให้วงเงินมากกว่าเงินเดือนของเราประมาณ ๒ เท่า คนที่ไม่รู้จักควบคุมการใช้เงินอาจจะซื้อของจนเต็มวงเงิน พอเขาส่งบิลมาเรียกเก็บก็อ้วกแตกเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย
ถ้าเอาเงินไปจ่ายไม่ทัน หรือจ่ายไม่เต็มจำนวนที่เราใช้ไป ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแพงมากขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอาย นอกจากนี้แล้วธนาคารก็ยังพยายามจะโปรโมทให้คนถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ ถอนได้ครั้งละหลายหมื่นบาท ถอนได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ฯลฯ แต่เขามีตัวหนังสือเขียนไว้เล็กนิดเดียวว่าเขาคิดค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ถอนเงิน และคิดดอกเบี้ย (ขนาดที่แขกอาบังที่ออกเงินกู้ยังอายอีกเหมือนกัน)
พวกค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยพวกนี้แหละคือสิ่งที่ธนาคารต้องการ เพราะเขาจะได้กำไรจากการใช้บัตรเครดิตของเราก็จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยเป็นหลัก
ถ้าถามเราว่าใช้บัตรเครดิตดีไหม เราก็ว่าดีนะเพราะสะดวก ไม่ต้องพกเงินเยอะๆ แต่เราต้องใช้ให้ฉลาด จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราใช้วิธีคิดว่าบัตรเครดิตเป็นเหมือนกับบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็ม คือ ไม่สนใจวงเงินที่ธนาคารกำหนดให้มา แต่คิดว่าเรามีเงินอยู่เท่าไหร่ ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิต จ่ายค่าอะไรไปเท่าไหร่ก็ลดจำนวนเงินที่เรามีอยู่ลงไปเท่านั้น เมื่อไหร่ที่เงินหมด ก็ต้องหยุดใช้บัตรแล้ว (เพราะเรากำลังจะเริ่มใช้เงินที่ไม่ใช่ของเรา ซึ่งเป็นเงินที่เราจะต้องคืนเขาไปพร้อมกับดอกเบี้ย)
นอกจากนี้แล้วเราก็จะไม่ถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เวลามีบิลมาเรียกเก็บก็จะจ่ายเงินเต็มจำนวนทุกครั้ง และจ่ายให้ตรงเวลา (มีเทคนิคอีกอันหนึ่งจะแนะนำ คือถ้าเราลืมจริงๆ เอาเงินไปจ่ายไม่ทัน ปกติธนาคาจะคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินช้า (ไม่แน่ใจว่า ๒๐๐ หรือ ๔๐๐ บาท) โดยไม่สนใจว่าจะช้าไปกี่วัน ถ้าบิลของเราครบกำหนดเมื่อวาน แต่เพิ่งนึกได้วันนี้ ให้ลองโทรไปที่ธนาคารแล้วคุยกับเขาดู บอกเขาว่าเราลืม และจะเอาเงินไปจ่ายภายในวันนั้น บางที “อาจจะ” ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ๒๐๐ บาทนั้น แต่เราต้องรีบๆ โทรนะ ไม่ใช่รอไป ๗ วันแล้วค่อยโทร. แต่ทางที่ดีที่สุดคือจ่ายให้ตรงเวลา)
ส่วนจะทำบัตรของธนาคารอะไรดี ก็ต้องดูข้อเสนอที่ได้ ตอนนี้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ทำบัตรฟรีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมปีแรกเหมือนกันหมด (ปีต่อๆ ไปอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เท่าที่ผ่านมาเรายังไม่เคยต้องเสีย แต่จะใช้เทคนิค (ที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้กัน) โทรไปบอกว่าจะยกเลิกบัตรเพราะไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียม ถ้าเราใช้บัตรนั้นเป็นประจำและจ่ายเงินค่อนข้างตรงเวลา ส่วนใหญ่เขาจะยอมให้เราใช้ต่อโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม)
หลายๆ บัตรมีโปรแกรมสะสมแต้ม บางคนบอกว่าโปรแกรมของธนาคารโน้นดีกว่าธนาคารนี้ ธนาคารนี้ดีกว่าธนาคารนั้น แต่เราว่าไม่ค่อยแตกต่างกันมาก บางธนาคารมีบัตรโคแบรนด์ (Co-Brand) คือ ธนาคารไปร่วมกับห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทำบัตรเครดิตขึ้นมา ก็อาจจะได้ส่วนลดเวลาซื้อของที่ห้างที่ธนาคารไปร่วม แบบนี้ก็เลือกเอาตามใจชอบ เราก็ว่าไม่ค่อยแตกต่างอีกเหมือนกัน ที่เราสนใจมากกว่า คือ วิธีการจ่ายเงิน เรามักจะเลือกธนาคารที่เราสามารถไปจ่ายเงินได้สะดวกเป็นหลัก เพราะถ้าจ่ายเงินไม่สะดวก เรามีโอกาสจะพลาดจ่ายเงินไม่ทันได้
ที่เขียนวันนี้อาจจะน่าเบื่อ แต่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้มี “เด็กๆ” ผ่านเข้ามาอ่านไดอะรี่เราบ้างเหมือนกัน เลยคิดว่าบางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะเรื่องพวกนี้ไม่มีสอนที่ไหน (เพราะมันไร้สาระเกินไป ฮ่าๆๆๆ)
วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก If we don't care, who will? โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
2 ความคิดเห็น:
ผมก็เด็กนะครับ
เด็กหนวด ฮ่า...
แหม่... พอพูดเรื่อง เด็กๆ ขึ้นมา คุณ mymoney ก็รีบมารับสมอ้างเลยเชียวนะ... เอิ๊กๆๆ
แสดงความคิดเห็น