วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ออทิสติก

เรื่องออทิสติกนี่ เมื่อประมาณสี่ห้าปีที่แล้ว** เป็นเรื่องที่มีให้อ่านให้รู้กันค่อนข้างเยอะ ในเมืองไทยมีเด็กที่เป็นออทิสติกเขียนหนังสือออกมาขายด้วย ถ้าจำไม่ผิดน้องเขาชื่อ นัฐ เราไม่ได้อ่านหนังสือที่เล่มนี้ แต่เคยได้อ่านเรื่องออทิสติกจากบทความในไทม์ เขาบอกลักษณะของคนที่เป็นออทิสติกว่า เป็นคนที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของคนรอบข้างที่แสดงออกทางสีหน้าหรือน้ำเสียงได้ เช่น มีคนออทิสติกคนหนึ่งอายุสามสิบกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ บอกว่า เขาเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้เองว่า เวลาที่คนนิ่วหน้า หมายความว่าคนนั้นรู้สึกไม่พอใจ (รู้เพราะได้อ่านจากหนังสือ)

นอกจากนี้คนที่เป็นออทิสติกจะไม่ชอบการสัมผัสกอดรัด เพราะรู้สึกเหมือนโดนบุกรุกความเป็นส่วนตัว เด็กเป็นออทิสติกจะกรีดร้องโวยวายเวลามีคนมากอดรัดหรือสัมผัส น่าสงสารพ่อแม่ของเด็กออทิสติกที่ไม่สามารถกอดลูกตัวเองได้ เพราะการกอดคือการทำร้ายจิตใจลูกตัวเอง

คนเป็นออติสติกไม่สามารถจินตนาการเป็นตัวเองเป็นคนอื่นหรือมองภาพจากมุมมองของคนอื่นได้ นี่เป็นสาเหตุต่อเนื่องไปว่าคนเป็นออทิสติกจะโกหกไม่เป็น เพราะถ้าเขารู้เห็นอะไร เขาจะคิดว่าคนอื่นก็ต้องรู้เห็นเหมือนเขาด้วยเช่นกัน

และเช่นเดียวกันกับดิสเล็กสิก ออทิสติกไม่เกี่ยวกับสติปัญญา มีเรื่องซับซ้อนทางคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, หรือศิลปะมากมายที่คนเป็นออทิสติกเข้าใจได้ แต่เขาไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น มีเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ของคนที่เป็นออทิสติกที่เรารับรู้จากการอ่านแล้วก็เลือนๆ ไป แต่ที่มาพูดถึงออทิสติกตอนนี้ ก็เพราะเพิ่งได้อ่านเรื่องของคนเป็นออทิสติกที่ชื่อ “ฆาตกรรมหมาในยามราตรี” เป็นเรื่องแต่งที่คนเขียนทำเหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่เขียนโดยเด็กที่เป็นออทิสติก เขาอธิบายระบบความคิดและพฤติกรรมของเด็กที่เป็นออทิสติกออกมาในรูปของนิยายสืบสวนสอบสวนของเด็ก

เราอ่านฆาตกรรมหมาฯอย่างสนุกสนานและจบในเวลาอันรวดเร็ว แต่พี่สาวเรา (ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ในการให้ยืมหนังสือเล่มนี้) กลับบอกว่าหนังสือเล่มนี้ก็ดี แต่ไม่ได้รู้สึกว่าวางไม่ลง คือว่างก็หยิบมาอ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าต้องหยุดอ่านไปทำอะไร ก็ไม่ได้เดือดร้อนกระวนกระวายอยากรู้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันวางไม่ลง แต่เราก็อ่านจบอย่างเร็ว เพราะว่ามันสนุกดี ในขณะที่เรายังอ่านหนังสือเกี่ยวกับออทิสติกค้างอยู่อีกเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือแปลชื่อ “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” อันนี้คนเขียนเป็นออทิสติกจริงๆ และเขียนเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง

เขาว่าหนังสือเล่มนี้ดังเพราะคนค่อนข้างแปลกใจกับการที่คนเป็นออทิสติกสามารถเขียนเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นเข้าใจได้ เพราะอย่างที่บอกว่า คนเป็นออทิสติกไม่เข้าใจว่าคนอื่นต่างจากเขา เขาจึงไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจความแตกต่างของตัวเองได้ (ยิ่งเขียนก็ยิ่งงงเว้ย...)

เอาเป็นว่า คนเขียน “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้” เป็นออทิสติกที่เข้าใจตัวเองแล้ว แล้วก็พยายามถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจด้วย แต่ความที่มันเป็นเรื่องเล่าของตัวเขาเอง มันจึงไม่ได้มีพล็อตที่ขมวดปมตรงนี้ แล้วไปคลายเอาตอนจบ เราก็เลยอ่านแบบเรื่อยๆไม่จบซะที นับเป็นหนังสือที่อ่านแล้วก็ได้ความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นหนังสือที่สนุกจนวางไม่ลง เพราะไม่งั้นก็คงอ่านจนจบไปนานแล้ว

**โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗ (ตอนต่อ ดิสเล็กสิก)**

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์