วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ไทยรัฐกับ CSR

สองสามวันนี้เห็นคอลัมนิสต์ในไทยรัฐพร้อมใจกันพูดถึงคุณกำพล วัชรพลกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เราอ่านคร่าวๆ ก็เป็นการชื่นชมความดีของคุณกำพลที่คืนกำไรสู่สังคมด้วยการสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาตั้ง ๗๐ กว่าโรงทั่วประเทศ รวมทั้งให้ทุนการศึกษากับเด็กนักเรียนยากจน เขาบอกว่านับเป็น CSR โครงการแรกๆ ของเมืองไทยเลยเชียว

CSR คือ Corporate Social Responsibility หรือการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นกระแสที่องค์กรใหญ่ๆ กำลังพยายามทำกันอยู่ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจดีต่อสังคมจริงๆ หรือจะเพราะโดนกดดันจากสังคม หรือจะต้องการสร้างภาพก็ตามที

เราก็ชื่นชมกับเรื่องสร้างโรงเรียน เรื่องให้ทุนการศึกษากับเด็กยากจนะ แต่ถ้าคนของไทยรัฐจะคิดถึงสังคมกันจริงๆ น่าจะทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ ที่ช่วยกันนำพาสังคมไปในทางที่ถูกที่ควรด้วย

การเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทยติดต่อกันยาวนาน ย่อมมีอิทธิพลอย่างล้นเหลือ สามารถชี้นำมวลชนได้ การทำธุรกิจก็ต้องหวังกำไร ต้องนำเสนอเรื่องที่ “ตลาด” สนใจ แต่เราว่าทุกวันนี้ไทยรัฐก็ตลาดเกินไป เสนอแต่ข่าวที่คิดว่าจะขายได้อย่างเดียว ที่สร้างสรรค์จรรโลงใจมีน้อย

เราเคยได้ยินคนที่ไปทำงานวิจัยที่เยอรมันอยู่ห้าหกเดือน เขาเล่าว่าชอบหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนที่เยอรมัน เพราะไม่มีอาชญากรรมเยอะแยะ ไม่มีภาพน่าหวาดเสียว มีแต่ข่าวดีๆ อย่างตอนนี้สามารถปรับปรุงรถไฟให้วิ่งได้เร็วขึ้นไปอีกเท่านั้นเท่านี้กม.ต่อชั่วโมง บางคนอาจจะเถียงว่า ก็เมืองไทยมันมีแต่ข่าวแย่ๆ ข่าวร้ายๆ แต่เราก็ยังเชื่อว่าสื่อมวลชนสามารถนำเสนอในมุมมองที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ได้

เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องนำเสนอเลย เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์ แล้วยังสร้างค่านิยมไปในทางที่ผิด (เช่น ข่าวฉาวของดารา รูปเกือบเปลือยของดาราทุกวันอาทิตย์ ฯลฯ) จะบอกว่าคนชอบดู คนอยากรู้ก็เลยนำเสนอ เราว่ามันง่ายเกินไป ปัดความรับผิดชอบเกินไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ ลูกเรามันไม่ชอบไปโรงเรียน มันชอบอยู่บ้าน นอนอ่านการ์ตูน เล่นเกม คุยโทรศัพท์กับเพื่อนทั้งวัน เราจะปล่อยให้มันทำเรื่องที่มันชอบ หรือจะบังคับให้มันทำเรื่องที่เหมาะที่ควร?

สไปเดอร์แมนเขาบอกว่า “With Great Power, Comes Great Responsibility” ไทยรัฐมีอำนาจเยอะ มีอิทธิพลเยอะ ก็มีความรับผิดชอบเยอะด้วย

เราว่าถ้าไทยรัฐอยากจะทำ CSR อยากจะคืนกำไรให้กับสังคม ก็แค่ช่วยปรับเปลี่ยนแนวการนำเสนอข่าว ลองทำหนังสือพิมพ์ที่พ่อแม่ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะให้ลูกอ่าน ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะกลายเป็นคนชินชากับความรุนแรง ไม่สร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับคนในสังคม แค่นี้สามารถให้ของขวัญให้คนไทย โดยไม่ต้องเสียเงินซักบาท

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

... อย่าขับ

ตอนนี้ใกล้ปีใหม่ คนใช้รถใช้ถนนกันเยอะ ทั้งขับกลับบ้านต่างจังหวัด ขับไปเที่ยว เขาก็ออกมารณรงค์ลดอุบัติเหตุ (แบบไฟไหม้ฟาง?) กันอีกแล้ว

ตอนนี้การรณรงค์ “เมาไม่ขับ” ค่อนข้างจะติดหูคนทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติเราว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะพวกที่ดื่มเหล้าส่วนใหญ่ ไม่เห็นมีใครยอมรับว่าเมากันซักคน

ในโฆษณาทางวิทยุที่บอกว่า กินเหล้าไปแก้วหนึ่ง พวงมาลัยจะเล็กลง กินอีกแก้วคันเร่งจะจม กินอีกแก้วเบรคจะลึก กินอีกแก้วกระจกจะฝ้า กินอีกแก้วกระโปรงหน้ารถจะยุบเข้ามา แล้วไปจบที่โรงพยาบาล ฯลฯ อันนั้นน่ะของจริง

แต่คนกินเหล้า พอเหล้าเข้าปากแล้วก็จำกันไม่ได้ว่ากินไปแล้วกี่แก้ว ตอนกินไปก็รู้สึกว่าแค่กรึ่มๆ ยางม่ายมาววว...กันทั้งนั้น แต่ไอ้อาการกรึ่มๆ นี่แหละที่ทำให้คนประมาทจนเกิดอุบัติเหตุมานักต่อนักแล้ว เราว่าถ้าไม่อยากจะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่น ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า “ดื่มไม่ขับ” ดีกว่านะ

นอกจากดื่มไม่ขับแล้ว สำหรับคนไม่ดื่ม เราขอนำเสนอ “ง่วงไม่ขับ” เพราะจริงๆ แล้วอาการง่วงจนหลับในระหว่างขับรถนี่มันอันตรายสุดๆ เหมือนกัน เราเคยมีประสบการณ์แล้วขอบอกว่าน่าหวาดเสียวมากกกก

กำลังขับรถอยู่แล้ววูบไปประมาณ ๑-๒ วินาที สะดุ้งขึ้นมาแล้วเห็นรถเฉออกไปข้างๆ โชคดีที่เป็นถนนไม่มีรถสวนและกว้างหลายเลน เลยไม่ไปเฉี่ยวชนกับใครหรืออะไรเข้า แต่ใครจะรู้ว่าโชคดีจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร ถ้ามีรถคันอื่นอยู่ข้างๆ มีรถตัดหน้า ฯลฯ เฮ้อออ... ไม่อยากจะคิด

ถ้าจะต้องขับรถไกลๆ แล้วง่วงนอน ควรจะหาที่จอดรถนอนพักซักงีบก่อน แต่ถ้าไปคนเดียว จอดนอนพักไม่สะดวก กลัวมิจฉาชีพ อย่างน้อยก็ควรจอดตามปั๊ม ลงไปยืดเส้นยืดสาย ล้างหน้าล้างตาซะหน่อย แล้วค่อยไปต่อ

อีกวิธีหนึ่งที่เราใช้สู้อาการง่วงได้แล้วค่อนข้างเวิร์ก คือ หาคนคุยด้วย (มีคนบอกว่าเปิดเพลงดังๆ ก็ช่วยได้ แต่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่) ถ้าไม่มีคนนั่งไปด้วย ก็ใช้โทรศัพท์ให้เป็นประโยชน์ โทรหาคนอื่น คุยเป็นเพื่อนๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายง่วง (แต่อาจจะไปขัดกับอีกเรื่องหนึ่งที่เขารณรงค์กันคือ “โทรไม่ขับ” เอาเป็นว่าถ้าจะโทรแก้ง่วง กรุณาใช้อุปกรณ์ Hand-free ด้วย)

เรานึกว่าน่าจะมีแค่ “ดื่ม” กับ “ง่วง” (และ “โทร”) ที่ต้องรณรงค์ไม่ให้ขับรถ แต่วันก่อนไปอ่านเจอในรีดเดอร์ไดเจสต์ เลยได้เพิ่มมาอีกข้อหนึ่ง คือ “จามไม่ขับ” เพราะเขาบอกว่า เวลาที่เราจาม ปฏิกริยาอัตโนมัติระหว่างจามคือหลับตา

ในการจามตาเราจะหลับไปประมาณ ๑-๒ วินาที ซึ่งในเวลาเท่านี้ก็นานพอๆ กับหลับใน และพอที่จะเกิดอุบัติเหตุแล้ว เพราะเวลาเราขับรถที่ความเร็ว ๙๐ กม.ต่อชั่วโมง เวลา ๒ วินาทีที่เราจามและหลับตาอยู่ รถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ๕๐ เมตร

เขาเตือนว่า ถ้าเป็นหวัดจามบ่อยๆ หรือมีอาการแพ้อากาศ ให้เตรียมกระดาษทิชชู่ไว้ใกล้มือ และถ้าเริ่มมีอาการฟุดๆ ฟิดๆ ให้ลดความเร็วลง ขับชิดซ้าย จะปลอดภัยกว่า...

ทั้งหมดนี้ เราขอรณรงค์ให้ตระหนักกันไว้ทุกครั้งที่จะขับรถ ขอให้ทำกันไปตลอดปี ไม่ใช่แค่ช่วง ๗ วันอันตราย ๑๐ วันตายหมดอย่างที่ฮิตๆ กัน!!!

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ฝรั่งมองไทย

วันก่อนมีเด็กในบริษัทส่งลิงก์ Presentation เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาให้ มันเป็นสไลด์ที่เอาไว้พรีเซนต์ให้ฝรั่งที่ออฟฟิศที่ต่างประเทศฟัง เขาจะได้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมไทยและคนไทย ประมาณว่าจะได้ช่วยให้ทำงานด้วยกันได้สะดวกขึ้น เราอ่านเร็วๆ แล้วมีมุมมองที่ “น่าสนใจ” หลายข้อ

การศึกษา
คำว่าการศึกษา หมายถึง การ “ให้” ความรู้ ไม่ใช่ “แลกเปลี่ยน” ความรู้
- ระบบการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารทางเดียว ครูเป็นผู้สอน นักเรียนเป็นผู้ฟังและเรียนรู้
- เพราะระบบอาวุโส นักเรียนมักจะไม่ตั้งคำถามหรือท้าทายความคิดความเห็นของครู
- เน้นที่การยอมรับและท่องจำเนื้อหามากกว่า การสำรวจ ทดลองทำ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ครอบครัว
ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวขยายและรักพวกพ้อง – ทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน
- คำว่า “ครอบครัว” ของคนไทยหมายรวมถึงทุกคน ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันจริงๆ หรือญาติญาติพี่น้อง
- ความคิดเห็นของพ่อแม่มีความสำคัญ และมักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
- การขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาจากผู้ที่อาวุโสกว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งปัญหาส่วนตัวและธุรกิจการงาน
- การมีพวกพ้องและได้รับการยอมรับจากคนในกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ

คุณสมบัติและค่านิยมของคนไทย
- เป็นกันเองและสุภาพ
- ง่ายๆ ไม่เรื่องมาก
- ชอบความสนุกสนาน
- ให้ความสำคัญกับภาพพจน์และหน้าตา
- ตั้งรับและประนีประนอม
- เคารพความมีอาวุโส ระบบชนชั้น และอำนาจปกครอง

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ - ความสัมพันธ์เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ
- คนไทยชอบตกลงธุรกิจกับคนรู้จักมากกว่า พอใจคนที่ยอมใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ และจะสนับสนุนช่วยเหลือคนเหล่านั้นมากกว่า
- ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้การงานสำเร็จได้รวดเร็วและราบรื่นขึ้นเสมอ

การสื่อสารกับคนไทย
- ระมัดระวังในการใช้ภาษา และพูดจาให้ชัดเจน
- พูดช้าๆ หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์แสลง และคำที่ยืดยาวเกินจำเป็น
- ต้องคอยตรวจสอบว่ามีความเข้าใจตรงกัน
- วิจารณ์ในที่ส่วนตัว
- อดทน
- ให้เน้นที่คน และอย่าพูดจาชื่นชมเกินจริง
- ละเอียดอ่อนต่อเรื่องทางวัฒนธรรม
- คอยสังเกตสิ่งที่ไม่ใช่คำพูด

วัฒนธรรมไทย - เวลา
- ความตรงต่อเวลาไม่ใช่คุณธรรมประจำใจ
- ความล่าช้าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
- การไม่ตรงต่อเวลาไม่ใช่ความผิด ดังนั้นจึงไม่มีบทลงโทษ

การประนีประนอม คือ วิถีไทย
- เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ควรเลือกข้อสรุปที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
- การประนีประนอมและสร้างความสมานฉันท์และสันติ สง่างามกว่า การบีบบังคับเพื่อเอาชนะ
- การโอนอ่อนผ่อนตาม สำคัญกว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นจึงควรจะต้อง
- รักษาหน้าผู้อื่น ไม่เผชิญหน้า และ สงบปากสงบคำ
- อย่าพูดจาดูถูกหรือทำให้เขาเสียหน้าในที่สาธารณะหรือต่อหน้ากลุ่มเพื่อน
- รักษาความสัมพันธ์อันดี และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
- คนไทยจะไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อเหตุการณ์ แต่จะเก็บความรู้สึกเอาไว้หลังรอยยิ้ม

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550

อานุภาพสาวผมบลอนด์ร้ายลึก

อานุภาพสาวผมบลอนด์ร้ายลึก สกัดสติปัญญาชายหนุ่มตกฮวบ [ไทยรัฐ ๑๒ ธ.ค. ๕๐]
นักวิทยาศาสตร์ทดลองพบว่าสาวผมบลอนด์นั้นมีอานุภาพร้ายลึก ถึงขนาดทำให้ชายหนุ่มที่ดูรูปภาพของเธอทำคะแนนทดสอบลดลงฮวบฮาบ

หนังสือพิมพ์ เดลี เทเลกราฟ ในอังกฤษรายงานผลการทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ปารีส เอ็กซ์นองแตร์ ในฝรั่งเศสที่ได้ทดสอบความสามารถของผู้ชายในเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป หลังจากที่ให้ชายหนุ่มเหล่านั้นดูรูปของหญิงสาวที่มีสีผมแตกต่างกัน ผลปรากฏว่าตลอดการทดลองทั้งสองครั้ง ชายหนุ่มที่ได้ดูรูปภาพสาวผมบลอนด์ทำคะแนนทดสอบได้ต่ำที่สุด

“นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนเราเผชิญหน้ากับภาพเหมารวมทั่วไป โดยประพฤติเลียนแบบตามนั้น” เธียร์รี เมเยอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม ผู้ร่วมการศึกษากล่าว สำหรับกรณีสาวผมบลอนด์นี้มีศักยภาพทำให้คนเราทำตัวไปในทางที่โง่ลง เพราะว่าเป็นการเลียนแบบภาพเหมารวมของสาวผมบลอนด์ว่าโง่ในระดับจิตไร้สำนึก.

ข้อสังเกต
๑. “ภาพเหมารวมของสาวผมบลอนด์ว่าโง่ในระดับจิตไร้สำนึก” << สาวผมบลอนด์น่าจะรวมตัวกันฟ้องผู้ทำการทดลองเรื่องนี้นะ
๒. ผลการทดลองนี้ไม่น่าจะเชื่อถือได้ ข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องทำการทดลอง คือ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทำตัวไปในทางที่โง่ลงอยู่แล้ว เวลาเห็นสาวสวย ไม่ว่าสาวนั้นผมสีอะไร
๓. ระดับความโง่ของผู้ชายจะแปรผันตรงกับระดับความสวยของผู้หญิงเหล่านั้น และจะแปรผกผันกับปริมาณเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมใส่
๔. แค่การดูภาพที่มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อยังมีอานุภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนขนาดนี้ แล้วการดูภาพที่แสดงพฤติกรรมอย่างโจ่งแจ้งทางสื่อมวลชน ข่าวหนังสือพิมพ์ ละครทีวี จะขนาดไหน เราชักจะเห็นด้วยแล้วที่ละครน้ำเน่าต่างๆ ต้องพะเรตติ้ง น.๑๘

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ฮีโร่กับสารบัญชีวิต

วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่ดีมากๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่ว่าดีมากๆ เพราะเป็นคนที่เราชื่นชมมากๆ คนหนึ่ง คือพี่เก้ง จิระ มะลิกุล เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ที่พี่เก้งจะทำ คือเรื่อง “เหมืองแร่” บทประพันธ์ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ

พี่เก้งบอกว่า อ่านเรื่องชุดเหมืองแร่ตั้งแต่ยังเด็กๆ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่จำได้และประทับใจ และต่อมาตอนโตได้มาอ่านอีก ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อยากจะเอามาทำเป็นหนังมากๆ แต่ในหนังสือคุณอาจินต์เคยเขียนไว้ประมาณว่า เขามองเห็นภาพของ “เหมืองแร่” เป็นแอ็คชั่นที่ผ่านการอ่านผ่านตัวหนังสือไม่ใช่ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งแบบนี้ก็เป็นการบอกกลายๆ ว่า ไม่ขาย

ตอนหลังพี่เก้งก็ไปรอคุณอาจินต์ในงานเปิดตัวหนังสือของ “เชิด ทรงศรี” เรื่อง “นั่งคุยกับความตาย” (เขียนเป็นตอนๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ก่อนจะเอามารวมเล่มขาย) พอเข้าไปก็คุยกับคุณอาจินต์ว่าประทับใจหนังสืออย่างไร มองว่าเรื่องราวในหนังสือมีความเป็นแอ็คชั่นที่จะนำมาถ่ายทอดเป็นหนังได้อย่างไร (ซึ่งเรื่องราวที่เขายกขึ้นมา เป็นประมาณว่าแสดงความเป็น “แฟนนานุแฟน” และ “อิน” กับเรื่องเหมืองแร่เอามากๆ)

คุณอาจินต์ฟังจบแล้วพูดมาสั้นๆ ๕ คำว่า “ผมขายให้คุณ” (อ้าว... นี่มันแค่ ๔ คำเองอ่ะ คำพูดจริงๆ ว่าอะไรจำไม่ได้อ่ะ จำได้แต่ว่า ๕ คำ และตกลงว่าคุณอาจินต์ขายเรื่องเหมืองแร่ให้พี่เก้ง :P) หลังจากได้เรื่องเหมืองแร่มา พี่เก้งก็ทำบทขึ้นมาแล้วก็ไปคุยกับคุณอาจินต์ คุณอาจินต์บอกว่า ผมขายเรื่องให้คุณแล้วคุณจะไปทำอย่างไรเป็นสิทธิ์ของคุณ ผมขอดูบทแรกอย่างเดียว อยากรู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง

พี่เก้งมีความประทับใจกับเรื่องราวการเรียนรู้ของตัวละคร (คุณอาจินต์) มาก ในการที่ต้องไปใช้ชีวิต ๔ ปีที่เหมืองแร่ในจังหวัดพังงา หลังจากโดนรีไทร์จากคณะวิศวะ เป็นเหมือนกับการถูกส่งไปดัดสันดาน เป็นยุคสมัยที่จังหวัดพังงามีความกันดารพอๆกับเมืองจีน (ผู้ชายที่ถูกส่งไปพังงา เกิน ๓ ปี เมียมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะมีสามีใหม่ กันดารประมาณนั้น) เป็นยุคสมัยที่ลูกผู้ชายพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำ และ เกียรติยศ เป็นเรื่องที่คุณต้อง “ขุด” ขึ้นมาเอง

เรื่องเหมืองแร่ก็มีแค่นี้ แต่ที่อยากจะเล่าคือมีคำถามอื่นๆ ที่คนสัมภาษณ์ถามพี่เก้ง แล้วพี่เก้งตอบถูกใจเรา อย่างคำถามเรื่องประมาณว่า มีใครเป็นฮีโร่ที่คิดว่าจะเอาเป็นแบบอย่างหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ในการทำงาน พี่เก้งเล่าว่า เขาเคยมีคนที่เป็นฮีโร่ในใจเขา แล้วไปเจอคนนี้ตัวเป็นๆ ก็แอบไปด้อมๆ มองๆ ส่องเข้าไปในรถเขา ดูว่าฮีโร่ของตัวเองฟังเพลงอะไร อ่านหนังสืออะไร แต่ปรากฏว่า พี่ฮีโร่ไม่ได้ฟังเพลงแบบที่เขาชอบ ไม่ได้อ่านหนังสือประเภทที่เขาอ่าน ก็บอกว่า ฮีโร่ ไม่ได้มีไว้ให้เขาปฏิบัติตัวตาม แต่มีไว้เป็นคำเรียกคนที่รู้สึกชื่นชอบชื่นชมในผลงาน อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นการชื่นชมฮีโร่อย่างมีสติโดยแท้จริง

เขาพูดเรื่องผลงานหรือความสำเร็จว่า เป็นเหมือนกับสารบัญของชีวิต ถ้าสิ่งไหนอันไหนที่เขาตั้งใจทำแล้ว ประสบความสำเร็จก็น่าภูมิใจ แต่ถ้าอันไหนที่ทำได้ไม่ดี หรือไม่ได้ตั้งใจทำให้ดี เราก็ไม่ค่อยอยากจะเอ่ยถึง อยากจะเปิดข้ามบทนั้น–ตอนนั้นไป ดังนั้นในการ ทำงานก็ตั้งใจว่า จะให้มีแต่บทที่อยากจะเปิดไปอ่าน อยากจะบันทึกไว้ในสารบัญ มากกว่าที่จะให้มีบทที่เราอยากเปิดข้ามมันไป มานึกถึงชีวิตเราเอง ก็มีบางช่วงบางตอนที่เรารู้สึกไม่ภูมิใจ รู้สึกพ่ายแพ้ล้มเหลว และไม่อยากจะเอ่ยไม่อยากจะจำเหมือนกัน แถมไอ้ส่วนที่ประสบความสำเร็จภูมิใจเสนอก็ไม่ค่อยมี สารบัญชีวิตเราสั้นน่าดูเลย

สูตรสำเร็จของความสำเร็จ

วันนี้ขับรถกลับบ้าน ฟังรายการไอทีทางช่อง ๑๐๐.๕ อย่างเคย ทันได้ฟังสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทซีทีเอเชีย เป็นบริษัทที่ขายซอฟท์แวร์ (ไม่แน่ใจว่าขายฮาร์ดแวร์ด้วยหรือเปล่า) ที่จัดการเกี่ยวกับ Multimedia Messaging Control (อะไรประมาณนั้น) เท่าที่ฟังทัน เขาบอกว่า จะเป็นการจัดการทั้งข้อความที่เป็นเสียง (คนโทรศัพท์เข้ามาหาเรา ฝากข้อความได้) ที่เป็นอีเมล และที่เป็นภาพ ที่ต่างจากระบบฝากข้อความทั่วไปคือ ข้อความเสียงจะมาปรากฏบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเราต้องการฟอร์เวิร์ดข้อความให้คนอื่น ก็ส่งเป็นไฟล์เสียงผ่านอีเมลไปหาคนอื่นได้ (อะไรประมาณเนี้ย)

คอนเซ็ปต์นี้ เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้แล้วตอนที่ยังทำหน้าที่ไอทีโคฯ มีบริษัทที่เราใช้ตู้ PBX (สลับสายโทรศัพท์+จัดการ Voice Mail) มาพรีเซนต์ให้ฟังเหมือนกัน (ก่อนหน้านี้รู้สึกจะเป็นของ AT&T แล้วตอนหลังโดน Lucent ซื้อไป ตอนนี้ตู้ก็เลยติดโลโก้ของ Lucent) แต่บริษัทเราไม่ได้ใช้เพราะต้องอัพเกรดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อีกหลายแสน ก็เลยใช้แค่ระบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่เราฟังคุณเฉลิมพล (ผู้บริหารซีทีเอเชีย) เล่าให้ฟังว่าทำอะไร เราว่าเขามีแนวความคิดที่น่าสนใจมาก

เขาบอกว่า บริษัทของเขาเป็นคนไทยล้วน แต่ต้องพรีเซนต์ตัวเองให้เหมือนไม่ใช่คนไทย เพราะลูกค้าคนไทยเห็นแล้วไม่ค่อยเชื่อถือคนไทยด้วยกัน พวกโบรชัวร์ต่างๆ ต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นบริษัทฝรั่ง เขาบอกว่าเขาเคยไปทำโร้ดโชว์ตั้งบูธตามงานคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในต่างประเทศ ก็ล้มเหลวไม่ได้เรื่อง เพราะภาพพจน์ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ส่งออกข้าว ส่งออกผลไม้อาหารการกิน ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ขายซอฟท์แวร์ ตอนหลังเขาต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเปิดตลาดจากบริษัทในไทยที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ พิสูจน์ให้บริษัทในไทยเห็นว่าซอฟท์แวร์ใช้งานได้ดี ระบบใช้งานได้ดี ราคาถูก แล้วขยายไปขายต่อให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ

คนจัดรายการให้แนะนำว่าทำยังไงถึงสร้างชื่อได้ ทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ คำตอบของเขาคือ “ต้องอดทน มุ่งมั่น และพึ่งตัวเอง” คำตอบนี้เก่าจริงๆ ได้ยินจนเบื่อแล้วอ่ะ ไปถามคำถามนี้กับเจ้าสัวใหญ่ที่ในอดีตมีแค่เสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ก็ได้คำตอบแบบนี้เหมือนกัน เหมือนไม่ใช่ของใหม่ ก็น่าจะรู้ๆ กันหมด แต่ทำไมทำไม่ได้อย่างเขา ก็คงเป็นประมาณว่า ที่ว่า “อดทน” ต้องอดทนแค่ไหน ขีดจำกัดของคนมันก็ไม่เท่ากัน ที่ว่า “มุ่งมั่น” ต้องมุ่งมั่นแค่ไหน (คุณเฉลิมพล บอกว่า คนไทยฉลาดมีไอคิวสูง แต่ไม่มุ่งมั่นพอ ทำให้เวลาเจออุปสรรคเจอปัญหา ก็เลือกไปทางง่าย ไปทางสบาย)

คนจัดรายการถามว่า เท่าที่เจอปัญหาที่ต้องต่อสู้ ต้องแก้ไขมากมาย คิดว่าต้องการให้รัฐสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างไร คุณเฉลิมพลบอกว่า ในการจะประสบความสำเร็จในธุรกิจซอฟท์แวร์นี้ มันต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก จะให้รัฐบาลช่วยโน่นช่วยนี่ไม่ได้ ที่รัฐบาลช่วยก็เป็นเรื่องดี (อย่างบริษัทเขาได้บีโอไอก็ได้ส่วนลดทางภาษี) แต่ยังไงก็ต้องพึ่งตัวเอง (เราว่าถ้าทุกคนคิดแบบคุณคนนี้ ประเทศไทยไม่มีคนจน)

เขายังบอกอีกว่า การทำธุรกิจต้องทำเป็นทีม มีพาร์ทเนอร์ที่มีความเป็นมืออาชีพในทุกทาง บริษัทของเขาก่อตั้งกันมากับเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน และไปเรียนต่อที่ USC ด้วยกัน เพื่อนเขาเป็นคนดูแลด้านเทคนิค ส่วนเขาดูด้านกลยุทธ์การตลาด ด้านเทคนิคต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ดี แล้วก็ต้องมีด้านการตลาดเพื่อที่จะรู้จักขายรู้จักหาช่องทางนำเสนอไปหาลูกค้า ได้ยินว่าบริษัทเขากำลังไปได้ดี ฟังการพูดการจาของเขา แล้วรู้สึกชื่นชมความมีวิสัยทัศน์ และไม่แปลกใจที่เขาประสบความสำเร็จ

ในรายการเดียวกัน หลังจากเล่าเรื่องบริษัทซีทีเอเชียไปแล้ว เขาเล่าเรื่องดร.หนุ่มๆ จากจุฬา (ที่จริงได้ดร.จากต่างประเทศนะ) รวมตัวกันเปิดโรงเรียนกวดวิชาไอฟาสต์ (คิดว่าประมาณนี้นะ เขาไม่ได้สะกดให้ฟัง เลยไม่รู้ว่าจริงๆ จะสะกดยังไง) โดยเริ่มเปิดตัวจากการสอนฟิสิกส์ในโรงหนัง (อีจีวีลาดพร้าว) ไอเดียก็คือเป็นการสอนแบบกึ่งบันเทิง เอาไอทีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน

พวกดร.ที่ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา เขาบอกว่าที่อยากทำก็เพราะในปัจจุบันคะแนนสอบของเด็กนักเรียนคือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นข้อสอบปรนัย ๔ คำตอบ กาคำตอบแบบเดาสุ่มไม่ใช้สมองเลย ก็มีโอกาสถูก ๑ ใน ๔ คือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แสดงว่าระบบการเรียนของเรามีปัญหา เรียนหรือไม่เรียนก็ได้คะแนนพอๆ กัน เขาเลยอยากจะนำเสนอแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่คิดว่า (หรือหวังว่า) จะทำให้การเรียนรู้ได้ผลมากขึ้น

เราเห็นด้วยว่า “มีปัญหา” แต่เราสงสัยว่า มันเกิดจากระบบการเรียนการสอนที่น่าเบื่อ เน้นการท่องจำจริงๆ หรือ เราสงสัยว่า ระบบการเรียนการสอนแบบโบราณมันไม่ได้ผลจริงๆ หรือ ถ้ามันจริง ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยโบราณมันเกิดจากอะไร

เรามองแบบคนหัวโบราณ ก็ต้องบอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ค่านิยมของคนสมัยนี้ พ่อแม่สมัยนี้บอกว่า ไม่บังคับลูก ให้ลูกได้เรียนอย่างที่ชอบ ให้เป็นคนดีก็พอแล้ว ชีวิตไม่มีแรงกดดัน ไม่ต้องพยายามอะไรเลย จนกลายเป็นความเฉื่อย รักสบาย ไม่อดทน (อ๋อ เรื่องเรียนมันน่าเบื่อ ยากลำบาก เดี๋ยวมีคนคิดวิธีการเรียนแบบบันเทิงขึ้นมาให้ ชีวิตมันมีจะแต่บันเทิงหรือไง ลำบากกันไม่เป็นแล้ว) แล้วก็เลี้ยงลูกมาแบบพ่อแม่อยู่ค้ำฟ้า จะทำให้ลูกหมดทุกอย่าง อาหารป้อนให้ถึงปาก เงินทองข้าวของเครื่องใช้หยิบให้ถึงมือ นี่ถ้าความรู้มันฟีดตรงใส่สมองเข้าไปได้ก็คงทำกันไปแล้ว นี่แหละความเจริญและการพัฒนายุคนี้

ปล. เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่เคยเขียนไว้ และโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ คงจะหายแปลกใจว่าทำไมหนังเหมืองแร่ฉายตั้งหลายปีแล้ว ทำไมพี่เก้งเพิ่งมาให้สัมภาษณ์ไป “เมื่อวันก่อน” :)

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์