วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เป้าหมายกับทัศนคติ

ความจริงตั้งใจไว้ว่าที่บล็อกนี้ จะไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเขียน (เพราะกลัวเจอโจทก์) แต่พอดีมีเรื่องเพื่อนที่เรารู้สึกว่าน่าจะเอามาเขียนได้ (นินทาเพื่อนไม่เป็นไร ฮ่าๆ) ก็เลยขอเขียนเรื่องส่วนตัว (ของเพื่อน) ซะหน่อย เหตุจุดประกายเกิดจากการที่มีเพื่อนคนหนึ่งมาบ่นเพื่อนอีกคนให้ฟังด้วยความกลุ้มใจว่า ทำไม๊... ทำไม เพื่อนถึงชอบตัดสินใจทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา

เราฟังเขาบ่นยาวยืดแล้ว ก็สรุปว่า คนสองคนนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น คนหนึ่งก็ตัดสินใจไปอย่างหนึ่ง อีกคนก็ตัดสินใจไปทางตรงกันข้าม ต่างฝ่ายต่างก็คิดในมุมของตัวเองว่าที่ทำนี่แหละถูกต้องดีแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจ รับไม่ได้กับการตัดสินใจการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง

คนหนึ่งเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ไม่ว่าเรื่องงานเรื่องส่วนตัว มีเป้าหมายแล้ว ก็ “มุ่งมั่น” ที่จะประสบความสำเร็จทุกเป้าหมาย ส่วนอีกคนหนึ่งดูจะเหมือนจะไม่เคยตั้งเป้าหมายในชีวิตเลย ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว เพราะเขามี “ความเชื่อมั่น” อยู่ลึกๆ ว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เหมือนคนอื่นๆ

ในด้านความสามารถแล้ว เราคิดว่าทั้งสองคนนี้มีศักยภาพที่จะสำเร็จในเป้าหมายของตัวเองได้พอๆ กัน แต่ความแตกต่างคือ คนหนึ่ง “มุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จในทุกอย่าง” แต่อีกคนหนึ่ง “เชื่อมั่นว่าจะล้มเหลวในทุกอย่าง”

ถ้ามองจากภายนอกคนทั่วไปก็คงคิดว่าคนทั้งสองคนนี้ก็ดูจะรับมือกับสถานการณ์ ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในด้านจิตใจแล้วเราคิดว่า ทั้งสองคนต้องดิ้นรนพอๆ กัน เพราะในชีวิตของคนเรา มีแพ้มีชนะปะปนกันไป ไม่มีใครที่จะชนะได้ตลอด หรือแพ้ได้ตลอด

คนที่ต้องการประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง เจอ “เรื่องไม่กี่เรื่อง” ที่ตัวเองทำไม่สำเร็จ (หรือยังไม่สำเร็จ) ก็กลุ้มใจ หงุดหงิด รำคาญ คิดแต่จะแก้ปัญหา จะเอาชนะอุปสรรคให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยได้นึกถึง “เรื่องส่วนใหญ่” ที่ตัวเองจัดการได้ดี

การไม่ยอมปล่อยวางเรื่องบางเรื่อง ไม่ยอมรับว่าเป้าหมายบางอย่างเราก็ไม่มีวันจะไปถึงได้ การไม่ใช้เวลาชื่นชมความสำเร็จของตัวเองมากเท่าที่ควร ทำให้ชีวิตของคนซึ่งคนภายนอกมองว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง กลายเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ยังต้องแก้ มีแต่เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึงในความรู้สึกของเจ้าตัว

สำหรับคนที่เชื่อมั่นว่าจะล้มเหลวตลอดเวลา (ความจริงที่บอกว่า เขาเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลยก็อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว แต่น่าจะเป็นว่าเขาไม่กล้าที่จะตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิต เพราะตัวเองปักใจเชื่อไปแล้วว่า ตั้งไปก็ไม่มีทางสำเร็จ) เขาก็ยังสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คนทั่วไปอาจจะไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่ล้มเหลวในชีวิต

ในสายตาของเจ้าตัว เขากลับคิดถึงความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตของเขา ว่าได้มาเพราะ “ฟลุค” บ้าง “โชคดีที่มีคนช่วยบ้าง” ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็คิดตอกย้ำความรู้สึกตัวเองว่า “เห็นไหม เราไม่มีความสามารถจริงๆ ก็สมควรแล้วที่เราจะทำไม่สำเร็จ”

เราคิดว่าถ้าเพื่อนเราจะเริ่มให้เครดิตตัวเองมากขึ้น ว่าความสำเร็จเกิดจากความสามารถของเขาด้วย ค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่า ตัวเองมีโอกาสประบความสำเร็จได้เท่าๆ กับคนอื่น (หรือมากกว่า) และในเรื่องที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็กล้าที่จะคิดว่า มันสำเร็จได้ ไม่ใช่ ไปเตรียมใจที่จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำ เพราะมันเป็นการสะกดจิตตัวเอง และยังกลายเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่มุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคอีกด้วย

เราไม่แน่ใจว่าที่เราเขียนมานี้จะเป็นการวิเคราะห์ที่ตรงประเด็นหรือเปล่า จะเป็นสิ่งที่เพื่อนต้องการได้ยินหรือเปล่า และที่สำคัญสุดเพื่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือเปล่า (เพราะที่จริงก็อายุก็ป่านนี้เข้าไปแล้ว มันก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง) แต่ก็เขียนไปก่อน... ตามอุดมการณ์ของบล็อกนี้คือ ถ้าเราไม่แคร์ แล้วใครจะแคร์ล่ะฟระ? :)

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ธรรมชาติเอาคืน

ตอนนี้ที่อังกฤษน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะภาคกลาง เขาบอกว่าเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ ๖๐ ปี (หรืออะไรประมาณนั้น) ในขณะเดียวกันทางยุโรปตะวันออกก็เจอภัยร้อนภัยแล้ง เขาบอกว่านักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวตามป่าตามภูเขาก็เจอไฟป่า ต้องหนีตายลงมาตามชายหาด

อาทิตย์ก่อนเราดูทีวี เขามีข่าวอากาศโคตรร้อนที่อิตาลี ร้อนขนาดตอกไข่ใส่กระโปรงหน้ารถแล้วสุก พี่สาวเราบอกว่ากระโปรงหน้ารถมันก็ร้อนอยู่แล้ว เพราะเครื่องยนต์ร้อน เออ... ก็เป็นไปได้ แต่เขามีภาพว่ามันร้อนขนาดยางมะตอยที่ราดถนนละลาย สาวอิตาลีใส่รองเท้าส้นเข็ม เดินไปแล้วส้นรองเท้าจมลงไปในพื้นถนน อันนี้จะบอกว่าไม่ร้อนก็ไม่ไหวแล้ว

ในขณะเดียวกันก็มีข่าวหิมะตกที่ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๒ ปี คนออกมาเล่นหิมะกันยกใหญ่ ก็น่าตื่นเต้นดี แต่เรารู้สึกว่าน่ากลัวอยู่ในที เพราะรู้สึกว่าอากาศมันชักจะวิปริตเกินขนาด (นึกถึงหนังเรื่อง The day after tomorrow) เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยก็อ่วมอรทัยกับอุทกภัย แล้วเมื่อต้นปีก็เจอไฟป่า (บวกกับการเผาป่าแบบไม่มีความรู้) จนเชียงใหม่เชียงรายและอีกหลายๆ จังหวัดกลายเป็นเมืองในหมอก (ควันพิษ)

ตอนที่ An Inconvenient Truth ออกมา คนก็ตื่นตัวเรื่องโลกร้อน เวลาเกิดภัยพิบัติตามที่ต่างๆ คนก็วิตกกังวล และเริ่มจะหันมาใส่ใจธรรมชาติ แต่พอเหตุการณ์ผ่านไปความรู้สำนึกก็ชักจางไป เราอยากให้พวกสื่อมวลชนออกมาย้ำกันบ่อยๆ คนจะได้ไม่ลืมดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

วันก่อนเราไปกินสลัดซิซเลอร์ เพื่อนก็บอกว่า ตอนนี้โลกร้อน เอาจานเดิมไปตักสลัดดีกว่า (จะได้ไม่เปลืองต้องล้างจานเยอะ) ทุกวันนี้เราก็ไม่ค่อยได้เปิดแอร์นอน เปิดหน้าต่าง แล้วก็เปิดพัดลมแทน มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ประหยัดตรงไหนได้ก็ประหยัด ลดตรงไหนได้ก็ลด อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปใช้ ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยหลายๆ คนทำมันก็เยอะขึ้นเอง

เรื่องประหยัดเรื่องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า อย่าไปคิดว่าของเขาของเรา บางคนอยู่บ้านประหยัด แต่พอไปที่ทำงานหรือตามที่สาธารณะ ก็ไม่ใส่ใจ นึกว่าที่เสียเปล่าฟุ่มเฟือยไปมันไม่ใช่ของของเรา ไม่เดือดร้อน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นของประเทศของเรา เป็นของโลกของเรา อย่าทำร้ายโลก ทำร้ายธรรมชาติมากไปกว่านี้ เพราะเวลาธรรมชาติเอาคืน เขาเอาคืนทีเดียวหมด ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นใครหน้าไหน ประเทศไหน เดือดร้อนกันไปทั้งโลกนั่นแหละนะ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ - วิถีแห่งความสุข

เราได้ฟังสัมภาษณ์คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่ง Open ครั้งหนึ่ง เขาพูดว่าเขารู้สึกว่าหลังจากทำงานมานานๆ ปัญหาที่เขาต้องเผชิญมากๆ คือ ต้องพยายามทนรับกับ “สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” ให้ได้ เขาบ่นว่า บางทีทำงานกับคนเยอะๆ (โดยเฉพาะคนใหญ่ๆ โตๆ) คุยประชุมกันทีเป็นชั่วโมงๆ งานไม่ไปถึงไหน ไม่มีใครยอมตัดสินใจ ฯลฯ น่าโมโหหงุดหงิด เพราะ “มันไม่ได้ดั่งใจ”

เราฟังแล้วคิดว่า ไม่ใช่เฉพาะในการทำงานเท่านั้น ที่เราต้องทนกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่ที่จริงคือเราต้อง “ทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” แทบจะทุกขณะของการดำเนินชีวิต

ลองมองดูดีๆ ชีวิตคนเรา มีเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจเยอะมาก มีเรื่องที่ได้ดั่งใจเราน้อยมาก ตั้งแต่เด็กๆ ก็ ทำไมต้องไปเรียน ทำไมดูทีวีอ่านการ์ตูนทั้งวันไม่ได้ ทำไมพ่อแม่ไม่ให้ค่าขนมเยอะกว่านี้ ทำไมสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยคณะที่อยากเรียน ทำไมเรียนได้เกรดน้อย ทำไมต้องทำงาน ทำไมเงินเดือนน้อย ทำไมหัวหน้าไม่เห็นความดี ทำไมลูกน้องขี้เกียจทำงาน ทำไมสามีไม่รวย ทำไมลูกงอแง ทำไมฝนตก ทำไมรถติด ทำไมเราต้องเกิด แก่ เจ็บตาย ทำไม.... ทำไม... ฯลฯ

ตราบใดที่เรามีความต้องการและผลลัพธ์มันไม่เป็นตามที่เราต้องการ ก็คือ มันไม่ได้ดั่งใจเรา ถ้าทนไม่ได้เราก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นการทนสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจให้ได้ ก็คือ วิถีแห่งความสุข

ใน 1 ชีวิตเราจะเผชิญอยู่แค่ 2 สิ่ง คือ “สิ่งที่ได้ดั่งใจ” กับ “สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ” ถ้าเวลาเจอกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แล้วเราทนได้ – เราก็ไม่ทุกข์ แล้วเวลาเจอสิ่งที่ได้ดั่งใจเรา – เราก็สุข โดยรวมชีวิตเราก็จะมีแต่สุขกับสุข เหมือนถูกหวย 2 เด้ง

แต่อย่าเพิ่งคิดว่า การทนรับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ หมายความว่าให้เราไม่ต้องสนใจอะไรเลย งอมืองอเท้า ยอมรับชะตากรรมกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนะ

เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ ให้พยายามตัดอารมณ์ทิ้งไป หยุดบ่น หยุดคร่ำครวญ หรือโทษโชคชะตาฟ้าลิขิต ฯลฯ แล้วพยายามมองทะลุเข้าไปหาต้นตอ พิจารณาว่าสาเหตุของมันคืออะไร คิดว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถแก้ไขหรือควบคุมให้สิ่งเหล่านั้นมันได้ดั่งใจเรา พยายามแก้ไขในจุดเหล่านั้น แต่ถ้าพิจารณารอบด้านแล้ว แก้ไขเต็มที่แล้ว ก็ยังแก้ไม่ได้ คราวนี้ก็ถึงค่อยทำใจยอมรับกับมัน

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

อย่าโดนสะกดจิต

เคยได้ยินเรื่องนี้กันหรือเปล่า ที่บริษัทผลิตยาสีฟันยี่ห้อดังพยายามจะคิดวิธีเพิ่มยอดขาย ก็ให้พนักงานระดมสมองกันคิดหาไอเดียใหม่ๆ หลังจากที่กลยุทธ์เดิมๆ เช่น การโหมโฆษณา ลดแลกแจกแถม ส่งกล่องชิงรางวัล ฯลฯ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ก็มีคนเสนอไอเดียขึ้นมาว่า ให้ทำปากหลอดยาสีฟันให้ใหญ่ขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่บีบยาสีฟัน ก็มักจะบีบปรื้ดยาวเท่าแปรงสีฟัน ถ้าปากหลอดใหญ่ขึ้น แปรงฟันแต่ละครั้งก็จะใช้ยาสีฟันมากขึ้น ยาสีฟันก็จะหมดเร็ว คนก็ต้องซื้อบ่อยๆ

ตอนที่เราได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรก เขาเอามาเล่ากันว่าเป็น “ความสำเร็จ” ของการคิดแก้ปัญหาแบบ “คิดนอกกรอบ” แต่เรากลับสงสัยว่าการคิดแบบนี้ เป็นการคิดแบบเอาแต่ได้เกินไปหรือเปล่า?

คนขายของต้องพยายามหาวิธีทำให้คนบริโภคของเขามากขึ้นๆ อยู่เรื่อยๆ ไป บางทีเราก็รู้เท่าทันกลเม็ดของเขา บางทีก็รู้ไม่ทัน (บางทีต้องสังเกตดีๆ ถึงจะรู้) อย่างโทรศัพท์มือถือ มีโปรโมชั่นประเภทยิ่งโทรนานยิ่งคุ้ม ยิ่งโทรมากยิ่งคุ้ม ฯลฯ จริงๆ ต้องย้ำเตือนกันว่า ไม่มีอะไรที่ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้ม มีแต่ยิ่งใช้มากยิ่งเปลืองมาก

เหมือนที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในอเมริกา พยายามจะ super size ทุกอย่างใน “เมนูสุดคุ้ม” แทนที่จะขายน้ำอัดลมถ้วยเล็ก ก็ขายถ้วยใหญ่ กำหนดราคาต่างกันเล็กน้อย ให้คนซื้อคิดว่า เพิ่มเงินอีกนิดเดียว ได้ปริมาณเยอะกว่าเยอะ ดูแล้วคุ้มค่าเงินกว่า แต่ที่จริงมันเกินกว่าที่เราจะบริโภคเข้าไปได้ สุดท้ายก็เหลือทิ้ง นอกจากเราจะเปลืองเงินแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรโลกแบบสุรุ่ยสุร่าย บริโภคเกินความจำเป็นอีกด้วย

ล่าสุดเราเจออีกแล้ว... โฆษณาครีมนวดผมยี่ห้อหนึ่ง เขาพยายามย้ำว่า “ใช้ทุกครั้งหลังสระ” (ให้นางแบบคนหนึ่ง มีผมสวยสะดุดตากว่าคนอื่นๆ จนกระทั่ง ช่างภาพต้องขอถ่ายรูปเดี่ยว นางแบบคนนี้ผมสวยกว่าคนอื่น เพราะใช้ครีมนวดผม “ทุกครั้งหลังสระ”)

ถ้าคนอื่นดูแล้วไม่สังเกตก็แล้วไป แต่เราดันไปสังเกต (จับผิด) ว่าเป็นความพยายามเพิ่มยอดขายครีมนวดผมโดย “การสะกดจิต” ผู้บริโภค

เขาคงได้ผลวิจัยมาว่า คนส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้ครีมนวดผมทุกครั้งที่สระผม (อย่างน้อยก็เราคนหนึ่งหละ เพราะไม่รู้สึกว่าจำเป็น ผมไม่ได้แห้งจนต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งที่สระ บางทีเป็นหลายๆ อาทิตย์ไม่ได้ใช้เลยด้วยซ้ำ) เลยต้องออกโฆษณามาสะกดจิตว่า ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ...ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ... ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ...

ผู้ใช้อย่างเราก็ต้องมานั่งคิดเอาเองว่า มันจำเป็นจริงๆ เหรอ ที่ต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระ?

เราไปนึกถึงอีกโฆษณาหนึ่งที่เป็นเรื่องของหมอ (หรือหมอฟัน?) ที่ไปอยู่ต่างจังหวัด และใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ ด้วยแรงบันดาลใจจาก “หลอดยาสีพระทนต์” ของในหลวงที่บีบจนบี้แบน ขนาดในหลวงยังทรงใช้ของอย่างประหยัดมัธยัสถ์ คุณหมอในโฆษณาก็อยู่อย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น (สังเกตว่าคุณหมอก็บีบยาสีฟันนิดเดียว)

สิ่งที่เราใช้ๆ อยู่ทุกวันนี้ ต้องผลิตต้องสร้างมาจากสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ้น พวกคนขายของก็เอาแต่มุ่งเน้นการขาย นึกถึงแต่ยอดขายผลกำไร โดยไม่คิดถึงสังคมหรือโลก พวกเราก็ต้องคอยเตือนสติกันเองว่า ให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด บริโภคอย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น

เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เรากำลังทำเพื่อลูกๆ หลานๆ ของเราในอนาคต ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อโลกด้วย

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ฉ.ฉิ่ง น.หนู ท.ทหาร

ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องจัดเรทติ้งรายการทีวีกันเยอะ ทีวีเมืองไทยมีระบบเรทติ้งมาพักใหญ่แล้ว (จำระยะเวลาไม่ได้แน่ เหมือนได้ยินแว่วๆ ว่า ๙ เดือนแล้ว) แต่เราก็ไม่เห็นว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไร เดิมเขากำหนดว่า รายการที่มีความรุนแรง ภาษาไม่สุภาพ เนื้อหาไม่เหมาะสม ก็ให้ได้เรทติ้ง น.หนู (แนะนำ คือ ไม่เหมาะจะให้เด็กดูตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ) หรือ ฉ.ฉิ่ง (เฉพาะ)

เราเห็นละครที่ฉายช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวก็ติดเรทติ้ง น.หนู กันทั้งนั้น กลายเป็นว่าการจัดเรทติ้งไม่ได้ทำให้คนทำรายการ พยายามทำรายการให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น แต่แค่ทำให้พวกเราได้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ในช่วงหนึ่งทุ่ม-สามทุ่ม ทีวีเมืองไทยมีรายการที่ไม่เหมาะกับเด็กมากขนาดไหน (เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์) ที่น่าขำปนเศร้ามากกว่า คือ รายการทีวีตอนดึกๆ ยังมีรายการ ท.ทหาร (ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วไป) เยอะกว่าตอนค่ำซะอีก

เรื่องเรทติ้งมาฮ็อตอีกรอบก็เพราะคราวนี้เขาจะเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ว่า นอกจากจะจัดเรทติ้งแล้วยังมีการกำหนดช่วงเวลาฉายด้วย คือ รายการที่ได้เรทติ้งน. ขึ้นไป จะต้องไปฉายหลัง ๓ ทุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่ คนทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น กว่าพ่อแม่จะกลับบ้าน ก็มืดค่ำ ถ้าปล่อยให้ทีวีฉายรายการน.หนูช่วงหัวค่ำ พ่อแม่ยังไม่กลับมาถึงบ้าน ก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้รับคำแนะนำจากใคร) และรายการฉ.ฉิ่งเริ่มฉายได้หลังสี่ทุ่ม

ปรากฏว่าพวกผู้จัดรายการออกมาโวยวายกันยกใหญ่ ว่าจะทำให้รายการไม่มีคนดู ไม่มีสปอนเซอร์ พวกผู้จัดรายการอยู่ไม่ได้ ฯลฯ พวกที่โดนผลกระทบเต็มๆ ก็มีแต่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าที่ฉายช่วงหนึ่งทุ่ม-สี่ทุ่มนั่นแหละ

ปกติเราก็ดูละครหลังข่าวนะ แต่ดูเป็นบางเรื่องและที่จริงเราก็ชอบ “ละครน้ำเน่า” นะ แต่คำว่า “น้ำเน่า” ของเรา คือ มีฉากกุ๊กกิ๊กโรแมนติก นางเอกต้องสวย พระเอกต้องหล่อ ถึงชีวิตมีอุปสรรค แต่สุดท้ายพระเอกกับนางเอกต้องลงเอยกันด้วยดี เราเรียกแบบนี้ว่าน้ำเน่า เพราะในชีวิตจริงชีวิตมันยุ่งยาก ซับซ้อน ลำบากกว่านั้นเยอะ

ยกตัวอย่างเรื่อง “รักเธอทุกวัน” ที่เพิ่งจบไป พล็อตเรื่องน้ำเน่ามาก พระเอกรวย นางเอกจน แต่ความแตกต่างด้านฐานะไม่สามารถแบ่งแยกความรักได้ แต่ในความน้ำเน่า ยังมีเรื่องดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมจิตใจได้ พระเอกรักนางเอกมากๆ รักเดียวใจเดียว รักนางเอกตั้งแต่แรกเจอและรักทุกวันสมชื่อเรื่อง นางเอกก็เป็นคนดี จิตใจดีงาม มีความตั้งใจมุ่งมั่นและพยายามทำตามความฝันของตัวเอง (คือเป็นช่างตัดผมที่มีชื่อเสียง หาเงินมาปลูกบ้านให้ได้ตามที่พ่อแม่ตั้งใจไว้)

เราว่าละครเรื่องนี้สามารถทำออกมาให้เป็นเรทติ้ง ท.ทหารได้สบายๆ การสร้างอุปสรรคให้พระเอก/นางเอก ไม่จำเป็นต้องให้ตัวอิจฉามาด่าทอ ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด ไม่จำเป็นต้องมีตัวร้ายที่เกลียดชังริษยาพระเอกนางเอกอย่างไร้เหตุผลและความสมจริง มีฉากหนึ่งที่เรารับไม่ได้เลยคือ ตอนที่ตัวร้ายจะเอาน้ำกรดไปสาดหน้านางเอก (เราเคยดูรายการสัมภาษณ์คนที่เป็นเหยื่อโดนน้ำกรดสาดหน้า น้ำกรดกัดเนื้อลึกลงไปถึงกระดูก เป็นแผลเหวอะหวะ ขนาดรักษาแผลหายแล้ว แต่แผลเป็นก็ยังดูน่าหวาดเสียวและสลดใจมากๆ) โชคดีที่ตัวร้ายซุ่มซ่ามทำขวดน้ำกรดตกแตก นางเอกเลยรอดไม่โดนน้ำกรดสาด แต่ตัวร้ายก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำชั่ว คว้าหม้อแบบที่ใส่กุ้งอบวุ้นเส้นจากร้านอาหารข้างถนน มาตีหัวนางเอกจนสลบและมีผลกับสมองจนตาบอด เราว่าฉากแบบนี้ควรจะโดนตัดทิ้งไปตั้งแต่ตอนเขียนบทแล้ว

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่เราดูก็คือ “รักแท้แซ่บหลาย” (เพิ่งจบไปเหมือนกัน) เราไม่ได้ดูตอนแรกๆ แต่จับเรื่องได้ประมาณว่านางเอกเป็นแม่ค้าขายปลาร้า น้องสาวเรียนเมืองนอก แล้วพ่อแม่ตายเลยต้องกู้หนี้ยืมสินมาส่งให้น้องเรียนจนจบ น้องสาวมีแฟนเป็นลูกเจ้าของโรงแรม ก็เลยอายไม่ยอมบอกว่าครอบครัวตัวเองขายปลาร้า หลอกว่าขายผ้าไหมส่งออก กะว่าหลังจากได้แต่งงานกันแล้วเรื่องก็จะจบ แต่ความแตกซะก่อน แฟนของน้องสาวก็เลยโกรธและเลิกกันไป (แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาคืนดีกันตามสไตล์ละครน้ำเน่าอยู่แล้ว)

ข้อคิดดีๆ ของเรื่องนี้ ก็คือ ตัวนางเอกที่รักในอาชีพของตัวเอง เป็นแม่ค้าปลาร้าที่ตั้งใจและมุ่งมั่น พยายามทำของดีมีคุณภาพออกมาขาย มีหนี้สินก็ไม่คิดจะเบี้ยว และไม่ยอมแพ้ พยายามจะหาเงินมาใช้หนี้ด้วยวิธีสุจริต

ละครน้ำเน่าพวกนี้ ตอนที่เป็นฉากธรรมดาๆ เราก็ดูอย่างสบายใจ แต่พอถึงฉากที่มีตัวอิจฉาออกมากรี๊ดๆ ด่ากันฉอดๆ ทำตัวไม่สร้างสรรค์ เว่อร์จนเกินเหตุ เราจะเบื่อมากจนบางทีต้องเปลี่ยนไปดูช่องอื่น พวกผู้จัดละครเขาบอกว่า “ต้องใส่ฉากพวกนี้เข้าไป เพราะคนดูชอบดู” เราไม่แน่ใจว่าที่มันเป็นความจริงหรือเขาคิดเอาเอง โอเค... คงมีคนส่วนหนึ่งที่ชอบดูจริงๆ ดูแล้วมันสะใจดี แต่น่าจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบดู แต่จำใจดูเพราะเขาไม่มีทางเลือก เปิดไปช่องไหนก็แย่เหมือนกันไปหมด ทีนี้จริงๆ แล้วคนดูกลุ่มไหนมากกว่ากันล่ะ?

วันก่อนเราฟังรายการวิทยุ “แทนคุณ จิตต์อิสระ” ให้ความเห็นที่น่าคิดว่า ผู้จัดรายการโวยวายว่า การกำหนดช่วงเวลาฉาย คือการที่รัฐบาลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดูรายการทีวี แต่พวกเขาน่าจะได้ลองคิดในมุมกลับด้วยว่า การที่ผู้จัดรายการทำละครออกมา (ไม่สร้างสรรค์) เหมือนกันหมดทุกช่อง ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มที่ไม่อยากดูรายการแบบนี้เหมือนกัน เพราะเขาไม่มีสิทธิจะเลือกดูรายการแบบอื่นเลย

เราว่าเรื่องนี้มันเป็น “วงจรอุบาทว์” คนทำรายการบอกว่า ต้องทำแบบนี้ก็เพราะคนดูชอบดู แต่ที่คนชอบดูรายการแบบนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการโดนสะกดจิต ได้ดูแต่เรื่องทำนองเดียวกันซ้ำๆๆๆๆ จนฝังในจิตใต้สำนึก หรือคนดูจำต้องดูเพราะไม่มีอะไรดีๆ ดู

เราจะตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริโภคสื่อตัดสินใจประท้วงไม่ยอมดูรายการที่ไม่สร้างสรรค์พวกนี้ หรือ คนทำรายการมีจิตสำนึกที่จะผลิตรายการที่สร้างสรรค์มากขึ้น เราว่ามันยากทั้งสองทาง เพราะคนจำนวนมากก็ยังอยากบริโภคสิ่งที่ตอบสนองกิเลส คนบางส่วนก็โดนสะกดจิต ส่วนที่เหลือก็ได้แต่บ่นหรือไม่ก็เลิกดูไปเลย จะหวังทางผู้ผลิตก็ยาก เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ รายได้มหาศาล ที่ได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า สังคมจะเลวร้ายหรือแย่ลงยังไง

เราไพล่ไปนึกถึงที่ ดร. สมเกียรติ (อ่อนวิมล) พูดเรื่องอยากทำนิตยสารดีๆ อย่างไทม์ แต่หานายทุนไม่ได้ เพราะนายทุนบอกว่าขายคนไทยไม่ได้หรอก ดร. สมเกียรติ บอกว่า อย่าไปดูถูกคนอ่าน คนที่มีความคิดและต้องการบริโภคสิ่งดีๆ ยังมีอยู่เยอะ และถึงกระทั่งว่าคนอ่านมีไม่เยอะ ในฐานะคนเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อควรเป็นคนนำตลาด นำมวลชนไปในทางที่สร้างสรรค์ สื่อสามารถยกระดับการบริโภคของคนได้ แต่เท่าที่พวกผู้จัดละครน้ำเน่าทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นการลดระดับของผู้บริโภค นำพากันไปในทางเสื่อมทั้งสิ้น

วันก่อนเราอ่านความเห็นของคนหนึ่งในนสพ. เขาบอกว่าความจริงเขาไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่หรอกว่า รายการทีวีจะเรทติ้งอะไร ฉ.ฉิ่ง น.หนู หรือ ท.ทหาร แต่ถ้าคนทำรายการ ตั้งใจว่าจะทำสิ่งดีๆ ทำด้วยเจตนาที่ดี มีสำนึกที่ดี รายการมันก็จะออกมาดี แถมเรื่องร้ายๆ ในสังคมนี้ มันไม่ได้มีแค่ในทีวี นอกจากละครน้ำเน่าในทีวีแล้ว เรื่องอื่นก็น่าห่วงเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ที่เราเคยคุยกับพี่สาวเรื่องทำนองนี้ พี่สาวเราบอกว่า อยากจะเขียนจดหมายไปหาคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล บอกว่า ไหนๆ ไทยรัฐก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศ มีนโยบายสร้างทำเพื่อสังคม ไปสร้างโรงเรียนให้ตั้ง ๗๐-๘๐ โรง ไทยรัฐน่าจะตัดสินใจเลิกลงรูปดาราโป๊ๆ ทุกวันอาทิตย์ เลิกเสนอข่าวความรุนแรง ลงเรื่องคนไปไหว้อะไรต่ออะไรขอหวย ฯลฯ คือนำตลาดไปในทางที่สร้างสรรค์ เราบอกว่า ทำยากนะ พี่เราบอกว่า แต่เขาทำได้ถ้าเลือกจะทำ เพราะเขาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จมากแล้ว

เรากลับคิดไปในอีกทางหนึ่งว่า เราอยากเขียนจดหมายไปหาผู้จัดละครต่างๆ ว่า ทำไมไม่ลองทำละคร ทำรายการที่สร้างสรรค์ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีการทำร้ายกันทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ส่งเสริมค่านิยมดีๆ ให้คนรู้จักทำงานหนัก แข่งขันกันอย่างยุติธรรม เราเชื่อว่ายังมีคนอยากดูอีกเยอะ

ละครซิทคอมหลายๆ เรื่องดูสนุกโดยไม่ต้องอาศัยตัวอิจฉาที่วันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่แต่งตัวโป๊ๆ ทำท่าร้ายกาจด่าทอคนอื่น และยั่วยวนพระเอก เกมโชว์/ทอล์คโชว์หลายๆ รายการดูสนุกโดยไม่ต้องให้พิธีกรพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือเล่นเกมไร้สาระ เรายังเชื่อว่าคนไทยเก่งกาจ มีสติปัญญามากพอที่ทำรายการทำละครที่มีคุณภาพได้ แต่พี่เราก็บอกว่า ทำยากเหมือนกัน เพราะก็ต้องไปเกี่ยวพันกับเจ้าของเวลา สปอนเซอร์ ฯลฯ

เท่าที่เราเขียนๆ ที่บล็อกนี้มา ผลตอบรับน้อยมากๆๆ (แทบไม่มีคนคอมเมนต์เลย... เดาว่าอาจจะไม่มีคนอ่านจนจบ) แต่ถ้าที่เราเขียนไปวันนี้มีคนอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองช่วยแสดงความเห็นกันหน่อยได้ไหม ว่าถ้าเราจะล่ารายชื่อให้ได้ซักปริมาณหนึ่ง แล้วทำจดหมาย (ไม่ว่าจะไปถึงไทยรัฐ หรือผู้จัดละคร) ว่าไม่เอาแล้วรูปโป๊ๆ ในหนังสือพิมพ์ หรือละครน้ำเน่าในทีวี จะมีใครสนใจมาร่วมลงชื่อกับเราบ้างไหม

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ต้มยำกุ้ง ๑๐ ปี

เมื่อวานฟังวิทยุตอนเช้า เขาพูดถึงประโยคทองของคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ตอนสมัยฟองสบู่แตกใหม่ๆ แล้วก็มีหนี้ท่วมตัว ที่บอกว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เราก็ไม่ทันได้คิดอะไร พอกลับบ้านไปอ่านไทยรัฐ ถึงได้รู้ว่า เมื่อวานเป็นวันครบรอบ ๑๐ ที่รัฐบาลบิ๊กจิ๋วประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

ไม่น่าเชื่อเลยว่าผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี...

ที่น่าประหลาดใจก็คือ เมื่อวานเป็นวันที่ตลาดหุ้นปิดตัวในระดับเกือบ ๘๐๐ จุด สูงที่สุดในรอบ ๑ ปี ๑ เดือนที่ผ่านมา

เราจำเหตุการณ์ตอนฟองสบู่แตกไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีผลกระทบกับเรามากนัก (คงเพราะยังเด็ก เพิ่งเรียนจบ ทำงานใหม่ๆ) ที่เท่าที่จำได้ก็คือ เงินเดือนไม่ขึ้นอยู่ ๓ ปี แต่การงานเราก็มั่นคงดี ถึงแม้จะต้องระเห็ดไปเป็นกะเหรี่ยงขายแรงงานอยู่ต่างชาติถึง ๑๘ เดือน

ไม่น่าเชื่อเลยว่าผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี...

ในไทยรัฐเขาสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนั้นให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นความอู้ฟู่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โครงการที่มีแค่กระดาษร่างแบบ ก็ขายเป็นเทน้ำเทท่า ที่ดินบูมขนาดซื้อมาวันนี้ พรุ่งนี้ก็ขายได้กำไรเป็นแสนๆ ตลาดหุ้นรุ่งโรจน์ดัชนีอยู่ในระดับพันกว่าจุด

แล้วพอฟองสบู่แตกก็สิ้นเนื้อประดาตัวกันหมด ค่าเงินบาทอ่อนไปถึง ๕๐ กว่าบาท คนที่เคยมีโครงการเป็นร้อยๆ พันๆ ล้าน แต่เป็นเงินที่กู้มาจากต่างชาติ เพียงข้ามคืนหนี้บานเป็นพันๆ หมื่นๆ ล้าน (วันก่อนไปรพ.กรุงเทพ ยังเจอคุณศิริวัฒน์ อดีตเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์และเหยื่อ “ต้มยำกุ้ง” ที่สุดท้ายต้องไปขายแซนด์วิชช์ จนในปัจจุบันก็รู้สึกจะปลดหนี้ได้เกือบหมดแล้ว)

ตลาดหุ้นรูดจากพันกว่าจุดลงไปสองร้อยกว่า คนที่เคยรวยอู้ฟู่จากหุ้น เหลือแค่ใบหุ้นที่มีค่าเท่ากับเศษกระดาษ ธนาคารหลายๆ ธนาคารต้องปิดตัว อีกหลายธนาคารพยายามเอาตัวรอดด้วยการขายหุ้นให้ต่างชาติ หรือควบรวมกิจการกัน

เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนต้องปิดกิจการ บางคนก็ต้องขายหุ้นให้กับคนอื่น บางคนก็สู้ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี (เช่น คุณสวัสดิ์ ที่ว่าไป ถึงจะบอกว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” แต่ก็เจรจากับเจ้าหนี้ทุกราย ตัดสินใจขายกิจการบางส่วน และพยายามค่อยๆ ใช้หนี้ไป จนปัจจุบันก็หมดแล้ว หรืออย่างคุณบุญชัย เบญจรงคกุล เจ้าของยูคอม หรือกระทั่งกิจการของเจ้าสัวใหญ่ระดับอินเตอร์อย่างเครือซีพี) แต่บางรายก็ตัดสินใจหนีหนี้หรือล้มบนฟูก ปล่อยให้หนี้ตัวเองกลายเป็นหนี้เน่าที่รัฐต้องเข้าไปรับภาระ

ไม่น่าเชื่อเลยว่าผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี...

ตอนกลางคืนเราฟังวิเคราะห์ ว่าตอนนี้เศรษฐกิจเมืองไทยก็ดูท่าจะสดใส แต่บางคนก็เป็นกังวลว่า จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว มีคนไปสัมภาษณ์คุณสวัสดิ์ว่ามีความเห็นว่าอย่างไร คุณสวัสดิ์บอกว่า คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีกแล้ว เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย ไม่ได้เป็นแบบสมัยก่อน การโจมตีค่าเงินบาทจะไม่ง่ายเหมือนสมัยโน้นแล้ว

นักธุรกิจตอนนี้ก็ได้บทเรียนจากคราวนั้นและมีความระมัดระวังรอบคอบในการทำธุรกิจกันมากขึ้น รู้จักการวางแผนประกันความเสี่ยงต่างๆ กันมากขึ้น คุณสวัสดิ์บอกว่า คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับเมื่อปี ๒๕๔๐ ในช่วงชีวิตของคุณสวัสดิ์ “เพราะคนเราตายหนเดียวก็เกินพอแล้ว”

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ทำเพื่อคนอื่น ออกแบบเพื่อคนจน

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจในมติชนฉบับล่าสุดเขียนเรื่องสุนทรพจน์ของบิล เกทส์ที่กล่าวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปี ๒๐๐๗ พูดถึงสิ่งที่ฮาร์วาร์ดไม่ได้สอน แต่เขาได้เรียนรู้หลังจาก ๓๐ ปีผ่านมา

บิล เกทส์พูดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคนในโลก และการที่คนธรรมดาๆ อย่างเราจะสามารถทำให้ช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนที่ไร้โอกาสแคบเข้ามา (ถ้าเรามีเวลาว่างอาทิตย์ละสองสามชั่วโมง มีเงินเหลือสองสามเหรียญต่อเดือน ทีเราสามารถเสียสละหรือบริจาคได้ เราจะเอาไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างหรือเปล่า)

ในฐานะคนที่มีโอกาสเหนือกว่าคนอื่นมากมาย ในฐานะคนที่ได้เป็นบัณฑิตในสถาบันอันทรงเกียรติอย่างฮาร์วาร์ด พวกเขาน่าจะได้ทำอะไรๆ เพื่อคนที่ด้อยโอกาสนับล้านๆ ในโลกนี้บ้าง เป็นไปได้ไหมที่คนของฮาร์วาร์ดจะทำอะไรเพื่อคนที่ไม่เคยกระทั่งได้ยินชื่อฮาร์วาร์ด?

หนุ่มเมืองจันทน์เขียนบทความนี้ไว้แค่เป็นน้ำจิ้ม ทำให้เราต้องเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาสุนทรพจน์ตัวจริงของบิล เกทส์มาอ่าน แต่ด้วยความยาวขนาด ๕ หน้ากระดาษเอสี่ ก็ทำเอาเราชะงักไปหน่อยหนึ่ง โชคดีที่เสิร์ชต่อไปอีกหน่อย ก็เจอที่คุณ ‘คนชายขอบ’ แปลเป็นไทยไว้ให้อ่านแล้ว ที่ http://www.fringer.org/?p=249

(ตอนที่เราเสิร์ชหาเรื่องนี้ ก็มีคนพูดถึงสุนทรพจน์ของสตีฟ จ็อบส์ที่สแตนฟอร์ดปี ๒๐๐๕ ซึ่งเราเคยอ่านจากฟอร์เวิร์ดเมล (หรือบล็อกไหนสักแห่งหนึ่ง) แต่ลืมไปแล้ว ได้มาอ่านอีกรอบหนึ่งก็ถึงได้นึกได้ว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีอีกอันหนึ่ง อันนี้คุณ ‘คนชายขอบ’ ก็แปลเป็นไทยให้อ่านได้ที่ http://www.fringer.org/?p=30 แถมยังมีคนอื่นๆ แปลไว้อีกหลายเวอร์ชัน ตามลิงก์ในคอมเมนต์ของคุณ iMenn โพสต์ไว้ เลือกอ่านกันได้ตามใจชอบ)

เรารู้สึกดีใจที่คนที่มีเหลือจนเกินพอ รู้จักพอ และรู้จักคิดถึงคนอื่น คนมองโลกในแง่ร้ายบางคน อาจจะสงสัยว่าบิล เกทส์ตั้งมูลนิธิโดยมีจุดประสงค์แอบแฝง ทำบุญเอาหน้า มากกว่าทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ ครั้งแรกที่เราได้ยินเราก็คลางแคลงใจเหมือนกัน แต่พอได้อ่านสุนทรพจน์เขาครั้งนี้ ก็คิดว่าน่าจะของจริง แต่ถึงจะไม่ใช่ของจริง ถึงเขาจะทำบุญเอาหน้า เราว่าก็ยังดีกว่า ไม่ทำบุญแล้วยังเอาหน้า ซะอีกนะ

อ่านเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องคนอภิสิทธิ์กับคนจน แล้วก็ไพล่ไปนึกถึงคอลัมน์เล็กๆ ที่ได้อ่านในบางกอกโพสต์ อ่านมานานแล้ว ว่าจะเขียนถึงแต่ก็ยังไม่ได้จังหวะจนวันนี้ โดนัลด์ จี แม็คนีล จูเนียร์ เขียนเรื่อง “การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนทั่วโลก”


พอล โพแล็ค กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มนักประดิษฐ์ว่า “ผู้บริโภคนับล้านล้านคนในโลกนี้กำลังรอคอยจะซื้อแว่นตาอันละ ๒ เหรียญ โคมไฟพลังแสงอาทิตย์ราคา ๑๐ เหรียญ และบ้านหลังละ ๑๐๐ เหรียญ”

พอลซึ่งเคยเป็นจิตแพทย์และในปัจจุบันทำงานให้กับองค์กรที่ช่วยให้ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนกลายเป็นนักคิดนักธุรกิจ บอกว่า นักออกแบบที่ฉลาดที่สุดในโลกทำงานรับใช้บรรดาคนรวยที่สุดซึ่งมีจำนวนแค่ ๑๐% ของประชากรโลก ทุ่มเทมันสมองสร้างสรรค์ผลงานอย่าง ฉลากขวดไวน์ กูตูร์ (Couture เสื้อผ้าไฮโซหรูระยับ) และมาเซอราติ (รถยนต์สปอร์ตราคาแพง)

เขาบอกว่า “ต้องมีการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอัตราส่วนที่ไร้สาระนั่น”

เพื่อการปฏิวัติ พิพิธภัณฑ์ Cooper-Hewitt National Museum (ซึ่งอยู่ในแมนชันขนาด ๖๔ ห้องของแอนดรู คาร์เนกี บนถนนฟิฟท์แอฟเวนิว และมีออมสินรูปหมูทำด้วยทองแดงขายในร้านขายของที่ระลึกในราคา ๒๕๐ เหรียญ) ได้ให้เกียรติกับบรรดานักประดิษฐ์ที่อุทิศตัวให้กับ “ประชากรอีก ๙๐% ที่เหลือ” ประชากรนับล้านล้านคนที่มีรายได้น้อยกว่า ๒ เหรียญต่อวัน

ผลงานของนักประดิษฐ์เหล่านี้ได้นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในสวนของพิพิธภัณฑ์จนถึงวันที่ ๒๓ กันยายน เป็นผลงานที่ต้องยกนิ้วให้ ประมาณว่า “ทำไมถึงไม่มีคนคิดเรื่องนี้มาก่อน”

หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่ายที่สุดแต่ก็สง่างามที่สุด สร้างขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งผู้หญิงและเด็กนับล้านต้องใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงทำ นั่นก็คือการไปตักน้ำ การเทินคนโทน้ำไว้บนหัวอาจจะทำให้ท่าทางการเดินสง่างาม แต่มันก็เป็นงานที่ทำให้ปวดหลังและบางครั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงพิการได้ด้วย ผลงานประดิษฐ์ที่เรียกว่า Q-Drum เป็นภาชนะทรงกลม บรรจุน้ำได้ ๙๑ ลิตรและกลิ้งไปตามพื้นได้ง่ายขนาดที่เด็กเล็กๆ สามารถลากไปได้ด้วยเชือก

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ นักออกแบบส่วนใหญ่ที่กล่าวปราศรัยในวันเปิดนิทรรศการต่อต้านแนวความคิดของการบริจาค

มาร์ติน ฟิชเชอร์ วิศวกรซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง KickStart บอกว่า “ความต้องการอันดับ ๑ ของคนยากคนจนคือ วิธีหาเงินเพิ่มขึ้น” KickStart เป็นองค์กรซึ่งบอกว่าได้ช่วยเหลือคน ๒๓๐,๐๐๐ คนให้พ้นจากความยากจน โดยขายปั๊มน้ำแบบใช้แรงคนราคา ๓๕-๙๕ เหรียญ

ปั๊มน้ำช่วยให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวในหน้าแล้งซึ่งผลผลิตจะมีราคา ๓ เท่าของราคาปกติ ฟิชเชอร์เล่าถึงลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งยอมอดมื้อกินมื้อเป็นสัปดาห์เพื่อเก็บเงินมาซื้อปั๊ม และทำเงินได้ ๑,๐๐๐ เหรียญในการขายพืชผลในปีถัดมา

มาร์ตินบอกว่า “คนยากคนจนส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาที่พยายามจะเอาชีวิตรอด พวกเขาต้องการ business model ที่ช่วยให้เขาทำเงินได้ภายใน ๓-๖ เดือน ซึ่งเท่ากับระยะเวลาของหนึ่งฤดูเพาะปลูก” KickStart ยอมรับเงินบริจาคเพื่อนำมาใช้ทำโฆษณาและหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะขายสินค้าและชิ้นส่วนอะไหล่

มาร์ตินบอกว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขาไม่สำรวจตลาดก่อนซื้อสินค้า หลายๆ คนไม่เคยเดินทางออกนอกหมู่บ้านด้วยซ้ำ

เราหันมามองตัวเอง คิดถึงคุณค่าของสิ่งที่เราทำ งานของเราทำประโยชน์ให้กับใครหรือเปล่า สร้างผลกระทบให้กับชีวิตของคนบ้างไหม เราคงไม่สามารถทำอะไรที่เป็นปรากฏการณ์ ที่แน่ๆ มันทำให้เรามีรายได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก และใช้ส่วนที่เหลือ (ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเวลา) ทำประโยชน์เล็กๆ ให้กับสังคมเท่าที่เราจะทำได้

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์